เรียนรู้จากอุดมศึกษาเยอรมัน
มิตรและศิษย์ของอาจารย์เจตนาที่แวะเวียนมาที่ตลิ่งชัน คงจะเห็นแฟ้มเอกสารขนาดใหญ่วางเรียงกันเป็นแนวยาว บทสันมีคำภาษาเยอรมันเขียนกำกับไว้ว่า “Komparatistik” เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ จ.น. เก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบในเยอรมนีเอาไว้ บางส่วนเป็นข้อมูลจดหมายเหตุที่ยังไม่มีนักวิชาการอื่นได้เคยนำไปใช้ ความตั้งใจเดิมคือจะเขียนเป็นหนังสือเป็นภาษาเยอรมัน แต่เมื่อได้มาคิดทบทวนดูแล้วก็เห็นว่า เรื่องราวของเยอรมันจะเป็นประโยชน์เกินขอบเขตของวงการวรรณคดีเปรียบเทียบของเยอรมันเอง และในที่สุดผู้สูงอายุก็จำต้องรับความจริงว่า หนังสือเล่มเขื่องที่คิดเอาไว้ในใจอาจจะไม่เสร็จในภพนี้ ทางออกคือเขียนเป็นบทความวิชาการซึ่งบัดนี้ได้ตีพิมพ์แล้วในวารสาร HASSS ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จ.น. ตั้งใจที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า วารสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยก็น่าจะอยู่ในฐานะที่สื่อความกับประชาคมนานาชาติได้
เรื่องราวของพัฒนาการของวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบในเยอรมนีในช่วง 30 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พิสูจน์ให้เห็นว่าวิชาการสนองการสร้างมิตรไมตรีในระดับข้ามชาติได้อย่างไร สำหรับประเด็นที่ว่าด้วยความแข็งแกร่งของอุดมศึกษาเยอรมันนั้น จ.น. ไม่ลังเลที่จะสรุปว่า อุดมศึกษาตามระบบที่ Wilhelm von Humboldt คิดขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 19 และได้ส่งอิทธิพลไปทั่วโลกนั้น เป็นระบบที่เอื้อต่อพัฒนาการทางปัญญาและทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง