จะล้างบาปขั้นปฐมอย่างไร: เมื่อนักเปียโนระดับหัวเเถวสร้างวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่

เจตนา นาควัชระ

ผมเคยพูดถึงการเล่นเปียโนอันล้ำลึกของสาวใหญ่ชาวฝรั่งเศสชื่อ Helene Grimaud ไปเเล้วหลายครั้ง เเละอยากที่จะได้ฟังเธอเล่นสดสักครั้ง สิ่งที่ผมเดาเอาไว้หลังจากที่ได้ฟังผลงานที่เธออัดเสียงเอาไว้หลายชิ้นก็คือ ความเป็นดนตรีของเธอไม่ใช่เรื่องของดนตรีโดยเฉพาะ เเต่ตั้งอยู่บนฐานทางความคิดและรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคง หนังสือเล่มเเรกของเธอเป็นการเล่าอัตชีวประวัติทางดนตรี เต็มไปด้วยความคิดที่หลักเเหลมเกี่ยวกับคีตกวีเเละนักดนตรี ทำให้เข้าใจได้ว่าเธอเป็นคนช่างคิด มิน่าเล่าเธอจึงรัก Brahms เป็นชีวิตจิตใจ

หนังสือเล่มที่สามของเธอที่ผมเพิ่งอ่านจบ ชื่อ “Retour a Salem” (กลับไปหาซาเลม) เเละซาเลมก็คือชื่อสถานที่ในมลรัฐนิวยอร์กที่เธอไปลงเเรงตั้งศูนย์อนุรักษ์หมาป่าเอาไว้ ซึ่งปัจจุบันเป็นมูลนิธิที่อยู่ตัวเเล้ว โดยที่เธอสามารถดูเเลอยู่ห่างๆ ชื่อหนังสือดูจะชี้ทางไปสู่การสร้างความสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งคุณ Grimaud ออกมารณรงค์อย่างจริงจังต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษเเล้ว

เเต่หนังสือเล่มนี้มีความทะเยอทะยานมากกว่าการเป็น “วรรณกรรมสีเขียว” เธอ “ปล่อยของ” อย่างน่าทึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ทางด้านวรรณกรรมและปรัชญา สำหรับเรื่องดนตรีนั้นเหมาเอาได้ว่าเธอไม่ได้รู้ซึ้งเฉพาะตัวงาน เเต่เธอทำงาน “วิจัย” ในด้านดนตรีวิทยาและประวัติการดนตรีอยู่เเล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกลุ่ม Schumann-Clara-Brahms

ความทะเยอทะยานของเธอในฐานะนักเขียนเห็นได้จากการประสมประเภทต่างๆของวรรณกรรมเข้าด้วยกัน (ซึ่งจะทำให้ครูภาษาฝรั่งเศสทุกคนต้องเปล่งวาจาออกมาพร้อมกันว่า “Preface de Cromwell” ของ Victor Hugo) เเต่คุณ Grimaud ไปไกลกว่านั้นมาก อ่านเเล้วไม่รู้ว่า ส่วนไหนเป็นเรื่องจริง ส่วนไหนเป็นนิยาย บางตอนเป็นบันทึกประจำวันของเธอ บางตอนเป็นเรื่องเล่าที่เธออนุมานเอาว่าบราห์มส์เป็นผู้เขียนเอาไว้ ซึ่งเธอพยายามจะเอาไปทาบกับสถานจริงที่เธอเข้าไปทำ “วิจัยสนาม” ส่วนที่น่าสนใจยิ่งก็คืองานเขียนของบราห์มส์ชิ้นนี้ไม่เคยตีพิมพ์ เธอไปได้ต้นฉบับตัวเขียนมาจากร้านขายของเก่าที่ Hamburg พร้อมภาพประกอบที่เพื่อนของบราห์มส์วาดไว้ให้ เพื่อนชาวเยอรมันของเธออาสาเเปลให้เเผ่นต่อเเผ่น

การจะอ่านงานเขียนของบราห์มส์เเละจับสาระได้ต้องการพื้นฐานทางด้านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมเยอรมันยุคโรเเมนติก รวมถึงกวีนิพนธ์พื้นบ้านซึ่งบราห์มส์รักเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเธอรักบราห์มส์ คุณ Grimaud จึงเพาะตัวเองขึ้นมาเป็นผู้รู้ในด้านนี้ด้วย เรื่องเล่าของบราห์มส์มีมิติที่น่าสนใจยิ่ง นั่นก็คือธรรมชาติมิได้มีเเต่เเง่สวยสดงดงาม เเต่มีส่วนที่โหดร้ายเเละน่ากลัว เเต่คีตกวีกลั่นกรองประสบการณ์ทุกด้านออกมาให้เป็นงานที่เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพได้ เป็นเพราะบาปขั้นปฐม มนุษย์จึงตกสวรรค์ลงมาเเละประทุษร้ายต่อโลกกายภาพเเละโลกมนุษย์ด้วยกัน ทั้งวรรณกรรมเเละคีตศิลป์สะท้อนเเง่มุมนี้ อ่านเเล้วทึ่งมากว่า Grimaud สามารถที่จะโยงงานของกวี เช่น Rimbaud ให้เข้ามาสนทนากับปกรณัมเละวรรณกรรมของยุโรปตอนเหนือได้อย่างไร เธอก้าวไปไกลกว่านั้น ขบวนการทำลายโลกเป็นขบวนการต่อเนื่องที่ยุคปัจจุบันมีส่วนทำให้เลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิม (เธอเขียนได้ละเอียดลึกซึ้งราวกับเป็นรายงานของ UN) ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนจากการเสื่อมทรุดของสิ่งเเวดล้อม เเละความหฤโหดของมนุษย์เช่นพวกภัตตาคารในภูมิภาคตะวันออกไกลที่เสิร์ฟสมองลิงสดๆเป็นอาหารอันโอชะ เราก็โดนเธอกวาดลงกระโถนเเห่งบาปขั้นปฐมไปด้วย

สัตว์ที่ว่าโหดร้ายเช่นหมาป่านั้น ถ้าเข้าใจมันให้ลึกพอ จะรู้ว่าถ้าเราเลี้ยงมันด้วยความรักก็จะกลบสันดานดิบได้ เธอจึง “กลับไปหาซาเลม” ของเธออยู่เสมอ ศิลปะสร้างสรรค์ไม่ปลีกหนีจากความเป็นจริงของโลก เเต่เผชิญกับความเป็นจริง เเละพยายามทำหน้าที่ของ “พระมหาไถ่” ให้ได้ดีที่สุดที่จะทำได้ มีนักดนตรีกี่คนที่คิดเเละมุ่งมั่นที่จะทำเช่นนี้

เเนวคิดของ Grimaud ที่จัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมอย่างเเท้จริง คือสิ่งที่ Brahms ได้รับสืบทอดจาก Schumann นักดนตรีหรือนักดนตรีวิทยาส่วนใหญ่จะมองไปที่อิทธิพลทางดนตรีที่พี่ชายที่แสนดีมีอีกต่อน้องชายที่แสนดี เเต่ Grimaud มองได้เเหลมคมกว่านั้น ตอนที่ Schumann สมัครใจย้ายไปรับการบำบัดที่สถาบันประสาท Brahms ไปเยี่ยมเขาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ฟั่นเฟือนหรือตั้งสติได้ Schumann จะบอกความในใจกับน้องชายที่เเสนดีผู้นี้ (เเพทย์ไม่ให้ศรีภรรยาไปเยี่ยม) บางครั้งก็เขียนเป็นจดหมาย ชายหนุ่มรับได้หมด ตรองให้หมด เเล้วนำมา คิ ด เ ป็ น ด น ต รี ความปวดร้าวที่เเฝงอยู่ในงานของบราห์มส์ที่เราตีความกันไปต่างๆนานาส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนดนตรีสุดโหดเเห่งนี้แหละ เขาผ่านประสบการณ์นี้มาได้เเล้วกลายเป็นอภิมหาคีตกวีที่เจนจัดในการกลั่นกรองประสบการณ์มนุษย์ในทุกด้าน ขอบคุณนะคุณ Grimaud ที่อ่านเขาออกอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ มิน่าเล่า การตีความงานของ Brahms ของคุณจึงเหนือนักดนตรีอีกเป็นจำนวนมากที่ทำได้เเค่เล่นดนตรี

วัฒนธรรมต้นกำเนิดของ Helene Grimaud มีฐานรากที่มั่นคงมากในเรื่องการซึมซับประสบการณ์มนุษย์ในเเง่มุมต่างๆ กวีฝรั่งเศส Charles Baudelaire สร้างกวีนิพนธ์ชุดที่ชื่อว่า “Les Fleurs du mal” (มาลีเเดนทราม) ขึ้นมาได้ เพราะเชื่อมั่นในพลังทางปัญญาของศิลปะ เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “เจ้าเอาขี้โคลนมาให้ข้าฯ เเละข้าฯก็ทำให้มันเป็นทองขึ้นมาได้”

นานๆจะได้อ่านหนังสือที่ให้ความหฤหรรษ์ เจริญใจ เเละประเทืองปัญญาเท่าเล่มนี้ นี่คือมรดกของภูมิปัญญาตะวันตกซึ่งคีตศิลป์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นักดนตรีจากโพ้นทะเลทั้งหลาย อย่ามัวเเต่มุ่งพรมนิ้ว ทุบเปียโน หรือส่ายตัวไปมาอยู่เลย ถ้าได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกให้ลึกซึ้ง ท่านจะเข้าถึงวิญญาณของโลกตะวันตกได้ดีกว่านี้ อย่าไปหวังพึ่งคนปลายเเถวอย่างพวก PR อยู่เลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*