ถึงไม่เติมก็เต็มอยู่แล้ว : ว่าด้วยสตริงควอเต็ทของชอสตาโตวิช

เจตนา นาควัชระ

ภาพที่เห็น  ถ้าเป็นภาวะปกติ  ก็น่าจะสร้างความชื่นชมให้แก่เราว่า  ผู้จัดช่างไปเฟ้นหาสถานที่ที่เอื้อต่อการแสดงดนตรีได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง  รายการแสดง String Quartet No. 8 ของ Shostakovich เมื่อเย็นวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เป็นการจัดแสดงที่มิใช่การแสดงคอนเสิร์ตธรรมดา   แต่มีการสร้างกรอบที่นัยว่าจะเสริมคุณค่าทางสุนทรียะ โดยการเริ่มต้นด้วยการอ่านบทกวี และมีการฉายภาพขึ้นจอที่นัยว่าเป็นการเสริมความหมายให้กับการแสดงดนตรี ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีการเตรียมงานมาอย่างดียิ่ง กลุ่ม Pro Musica String Quartet รักษามาตรฐานของตัวเองไว้ได้อย่างดี บทกวีที่คัดสรรมาก็เสริมความของดนตรีได้อย่างน่าประทับใจ การสร้างเสียงและภาพ ถ้ามองในด้านเทคนิค ก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานของมืออาชีพ แต่ปัจจัยใดเล่าที่ทำให้ผมกระอักกระอ่วนใจกับการที่ได้ไปนั่งอยู่ ณ ที่นั้น

จะขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงดุริยางคนิพนธ์ของคีตกวีชาวรัสเซียเสียก่อน ข้อมูลที่มีอยู่พ้องกันว่าชอสตาโควิชเกิดความอัดอั้นตันใจเป็นอย่างมากกับสภาพแวดล้อมทางสังคมของโซเวียตที่เผด็จการมิได้จำกัดวงอยู่กับเรื่องการเมืองและการปกครองเท่านั้น แต่ยังเข้ามากดดันการสร้างสรรค์งานของศิลปินทั้งหลายด้วย การที่เขาได้ผ่านสงครามอันโหดร้ายมา และได้รับรู้ถึงความหฤโหดของพวกนาซีที่สตาลินและพลพรรคพร้อมที่จะแข่งขันด้วย ทำให้เขาเกิดสภาพวะปั่นป่วนทางจิต มีผู้ให้ข้อมูลแถมไปว่าเมื่อเขาสร้างงานชิ้นนี้เสร็จแล้ว  เขาก็จะฆ่าตัวตาย (ซึ่งครอบครัวเขาเองไม่ยอมรับเรื่องเล่าฉบับนี้) ถึงอย่างไรก็ตาม String Quartet  บทนี้กระชากอารมณ์ของผู้ฟังได้อย่างแน่นอน ผมเองคิดว่าไม่ว่าอารมณ์ของผู้ประพันธ์จะรุนแรงเพียงใด คุณค่าทางสุนทรียภาพก็ยังปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด การได้ฟังการแสดงสดยิ่งทำให้เกิดความประทับใจ เมื่อได้เห็นนักดนตรีตอบสนองความมุ่งประสงค์ของคีตกวีอย่างไร แต่ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า การแสดงออกซึ่งความรุนแรงของอารมณ์ไม่จำเป็นที่จะต้องไปในทางของความกร้านที่เกือบจะทำลายอารมณ์สุนทรียะ สรุปได้ว่าผู้ประพันธ์เดินมาถึงพรมแดนของงานศิลปะแล้ว พ้นเส้นพรมแดนนี้ไปก็คืออาณาจักรของความไร้ศิลปะ โชคดีที่ผมได้เคยฟัง Cello Concerto No. 1 ของคีตกวีท่านนี้มาถึง 2 ครั้ง โดยผู้เดี่ยวเชลโล่คือ Rostropovich ในสองวาระที่ห่างกันถึง 20 ปี  งานชิ้นหลังนี้นำแก่นของ String Quartet มาสร้างใหม่ด้วยความละเมียดที่มีคุณค่าทางศิลปะสูงยิ่ง คีตกวีทำงาน Cello Concerto นี้ 1 ปีให้หลังจาก String Quartet อะไรเกิดขึ้นภายในเวลา 1 ปี ? วุฒิภาวะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้นหรือ ? ขอให้ท่านผู้รู้เป็นผู้ตอบก็แล้วกัน

ถ้าตัวบทดุริยางคนิพนธ์เป็นอย่างที่ผมได้พรรณนาไว้ข้างต้น ผู้ชมเมื่อคืนวานก็คงจะต้องแสดงความยินดีกับผู้คัดสรรและผู้อ่านบทกวี เนื้อหาของบทกวีเหล่านั้นให้มิติใหม่ที่เสริมความหมายและคุณค่าของคีตนิพนธ์  โดยไม่เอาความรุนแรงไปถมความรุนแรงให้รุนแรงยิ่งขึ้น แน่นอนที่สุด ผมชอบบทของ Bertolt Brecht มากที่สุด (ซึ่งผมได้เคยแปลไว้แล้วโดยให้ชื่อว่า “แด่คนรุ่นหลัง”) ผมอาจจะคิดต่างจากผู้อ่านบทกวีไปบ้าง เพราะผมไม่คิดว่าการทำให้เป็นละครจะช่วยให้เราได้เข้าถึงความลึกซึ้งของบทกวีบทนี้ มันต้อง “เย็น” กว่านี้จึงจะจับใจคนได้ น้ำเสียงของต้นฉบับภาษาเยอรมัน “นิ่ง” จน “นิ้ง”

กระบวนการเสริมความหมายและอารมณ์ของ String Quartet ด้วยการนำภาพอันโหดร้ายของสงครามและค่ายกักกัน (concentration camp) ของพวกนาซีมาฉายขึ้นจอ รวมทั้งดนตรีประกอบที่หนักมากเป็นบางช่วง อาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เพราะคีตนิพนธ์บอกความได้ดีอยู่แล้ว ถ้าจะเสริมความ ต้องเสริมให้ถูกทาง  หาไม่จะเป็นการลดระดับของความรุนแรงลงมาสู่ความหยาบกระด้างและความโหดเหี้ยม ภาพที่เห็นทำลายสมาธิที่ดนตรีเรียกร้องมากกว่าจะเป็นการเสริมคุณค่า

ในที่สุดเราก็คงเลี่ยงการอภิปรายหลักการของสุนทรียศาสตร์ไปไม่ได้ งานศิลปะสร้างขึ้นจากรากฐานของความเป็นจริงหรือประสบการณ์จากชีวิตจริง แต่มิใช่ชีวิตจริงหรือความเป็นจริงที่ถ่ายทอดมาอย่างดิบๆ ในทางตรงกันข้าม ศิลปะเป็นสิ่งที่ศิลปินสร้างขึ้นใหม่ เป็นอาณาจักรของตนเองที่ไม่ใกล้และไม่ไกลจากชีวิตจริง การถ่ายกรองประสบการณ์ตรงด้วยการหาทางแสดงออกด้วยสุนทรียภาพที่เปี่ยมด้วยคุณค่า คือกระบวนการของการสร้างสรรค์ นักศึกษาปีที่สามของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกบังคับให้เรียนวิชา “หลักการวิจารณ์” ต่อเนื่องอยู่ประมาณ 30 รุ่น พวกเขาเข้าใจที่จะแยกแยะระหว่าง “ความจริง-ความลวง-ความสมจริง” ที่พูดมานี้มิได้มุ่งจะสั่งสอน แต่เพียงขอโอกาสทำความกระจ่างในบางประเด็นที่เราอาจจะมองข้ามไป สมการที่ว่า “ศิลปะ = ชีวิต/ความเป็นจริง” อาจใช้ไม่ได้ในทุกกรณี

นักดนตรี ผู้อ่านบทกวี ผู้ออกแบบการแสดง คงจะดีใจมากที่ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมที่เบียดเสียดกันเข้าไปใน Sing Sing Theater เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ผมอดประหวั่นพรั่งพรึงไม่ได้ว่า ความอบอุ่นที่ว่านั้นอาจจะได้รับความอนุเคราะห์เพิ่มเติมจากท้าวโควิดที่ 19 ที่เสด็จลงมาให้กำลังใจกับคีตกวีชาวรัสเซีย ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ซึ่งพร้อมที่จะยกย่องการจัดการกับโควิด 19 ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเป็นอย่างมากเสียจนแทบจะไม่มีคนใส่หน้ากากอนามัยกันเลย  มิหนำซ้ำยังสวัสดีกันด้วยธรรมเนียมตะวันตกด้วยการจุมพิตเสียอีกด้วย

พระสยามเทวาธิราชโปรดปกป้องพวกข้าน้อยและอาคันตุกะผู้น่ารักเหล่านี้ด้วยเถิด

21 ตุลาคม 2563

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*