อ่านรวมเรื่องสั้นชิงรางวัลซีไรต์ . . . ไปพร้อมๆ กับกรรมการ พ.ศ. ๒๕๖๓

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’  kalapapruek@hotmail.com

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วยหรือไม่ ที่ทำให้จำนวนหนังสือที่ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ‘ซีไรต์’ รอบ ‘รวมเรื่องสั้น’ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้มีจำนวนลดลงเหลือเพียง ๔๐ เล่ม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มักจะมีจำนวนสูงกว่า ๖๐ เล่ม อยู่เสมอ  แต่ถึงแม้ว่าจะมีผู้ที่ส่งเข้าประกวดน้อยลงเพียงใด แต่สุดท้ายคณะกรรมการรอบคัดเลือกก็ยังสามารถเฟ้นสรรหนังสือ ‘รวมเรื่องสั้น’ ชั้นเยี่ยมให้เข้ารอบ Longlist ได้ถึง ๑๓ เล่ม และรอบสุดท้ายหรือ Shortlist ได้ถึง ๘ เล่ม ไม่น้อยหน้ากว่าปีก่อน ๆ เลย  นั่นย่อมแสดงว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ต่างอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ และยังมีผลงานดี ๆ ที่คู่ควรกับการประทับตรารางวัลเป็นจำนวนถึง ๑ ใน ๕ ของจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด

ซึ่งหลังจากได้อ่านงาน ‘รวมเรื่องสั้น’ ทั้ง ๘ เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมา ก็สามารถรู้สึกได้เลยว่านี่คือการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมตามชื่อเต็มของรางวัล ‘ซีไรต์’ จริง ๆ  ผลงานแต่ละเล่มล้วนโดดเด่นด้วยเนื้อหาและลีลาเฉพาะตัวของผู้ประพันธ์ที่แตกต่างกันอย่างไม่ซ้ำทาง ทั้งยังรังสรรค์ผลงานในแนวทางนั้น ๆ ออกมาได้อย่างหนักแน่นและเข้มข้น พิถีพิถันกับทุก ๆ เรื่องที่คัดสรรรวบรวมมา จนไม่ว่าสุดท้ายเล่มไหนจะคว้ารางวัลไปก็สามารถแสดงเหตุผลอธิบายอย่างไร้ข้อกังขาได้ทั้งสิ้น แถมปีนี้ก็เป็นอีกปีที่มี ‘แชมป์เก่า’ มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายให้ได้ลุ้นปรากฏการณ์ ‘ดับเบิลซีไรต์’ สามปีซ้อน มากถึงสามรายด้วยกัน นั่นคือ จเด็จ กำจรเดช / วิภาส ศรีทอง และ แดนอรัญ แสงทอง เท่ากันกับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ อุทิศ เหมะมูล / จเด็จ กำจรเดช และ วิภาส ศรีทอง เคยได้ลุ้นรางวัล ‘ดับเบิลซีไรต์’ พร้อม ๆ กันมาก่อนแล้วกับการประกวดงานประเภทนวนิยาย

และสำหรับผลงานในปีนี้ ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ารวมเรื่องสั้นที่พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกย้อนหลังไปไม่เกิน ๓ ปี ที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย แต่ละเล่มก็มีหมุดหมายแห่งวาระการตีพิมพ์ที่สะท้อนนานาเหตุการณ์ ตั้งแต่อดีตกาลกระทั่งถึงวันเวลาร่วมสมัยในปัจจุบันกันอย่างมีนัยยะตามสภาวะและสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป เราจึงเห็นได้ทั้งเรื่องเล่ารำลึกความหลังในวัยเยาว์จากหมู่บ้านชนบทไทยในยุคกึ่งพุทธกาล  ไล่มาจนถึงช่วง ‘กักตัว อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นกันมา  ณ ในโอกาสนี้จึงขออนุญาตแนะนำหนังสือรวมเรื่องสั้น Shortlist ซีไรต์แต่ละเล่ม ไล่เรียงไปตามลำดับก่อนหลังของการตีพิมพ์ครั้งแรกดังต่อไปนี้

๑.แพรกหนามแดง  โดย  แดนอรัญ แสงทอง

(สำนักพิมพ์สามัญชน  พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม ๒๕๖๐)

สำหรับรวมเรื่องสั้นรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนใครเพื่อนก็คือ แพรกหนามแดง ของ แดนอรัญ แสงทอง แชมป์เก่าที่ขอมาลุ้นรางวัลดับเบิลซีไรต์กันอีกครั้ง โดยพิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐  ซึ่งโครงสร้างเนื้อหาของ แพรกหนามแดง มิได้ผิดแผกแตกต่างไปจากรวมเรื่องสั้นอีก ๗ เล่มที่เหลือที่ผ่านเข้ามาชิงชัยด้วยกันเท่านั้น หากยังแตกต่างจากรวมเรื่องสั้นทุกเล่มที่เคยผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์กันมาเลยทีเดียว  นั่นเป็นเพราะ แพรกหนามแดง มิได้เป็นรวมเรื่องสั้นที่รวบรวมเอาเรื่องสั้นที่มีห้วงเวลาการเขียนต่างกรรมต่างวาระมารวมเป็นชุดเดียวกันดังที่เรามักเห็นโดยทั่วไป (ไม่เว้นแม้แต่เล่ม อสรพิษ และเรื่องอื่น ๆ ของ แดนอรัญ แสงทอง ที่คว้ารางวัลนี้มาได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗)  หากกลับมีลักษณะของ ‘เรื่องสั้นชุด’ ที่อาศัยฉากและตัวละครกลุ่มเดียวกัน ในการเล่าเรื่องราวย่อย ๆ ที่หลากหลาย ทว่ายังอยู่ภายใต้จักรวาลของวันเวลา บรรยากาศ และสถานที่เดียวกัน คล้ายคลึงกับงานชุด เหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หรือ เสเพลบอยชาวไร่ กับ ผู้มียี่เกในหัวใจ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เลยทีเดียว

                แพรกหนามแดง เป็นงานวรรณกรรมจำลองหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพของคุณครูประยงค์ สีสันอำไพ ในรูปแบบอนุทินบันทึกเรื่องราวความทรงจำในวัยเยาว์ช่วงเข้าเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ณ ตำบลแพรกหนามแดง ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๑๐ ของเหล่าศิษยานุศิษย์ ซึ่งก็มีทั้งที่เขียนขึ้นมาใหม่ในเวลาปัจจุบัน และเมื่อครั้งที่พวกเขาเคยได้เขียนเป็นเรียงความเอาไว้สมัยที่ยังได้เรียนกับคุณครู  แต่ละบทแต่ละเรื่องจึงเป็นการบันทึกเรื่องเล่าในหนหลังของเด็ก ๆ ในวัยที่เพิ่งจะจำความได้ ว่าพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์การร่ำเรียน การผจญภัย การได้เปิดโลกเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการก้าวผ่านและเติบใหญ่ในช่วงวัยอย่างไรกันบ้าง  ซึ่งถึงแม้ว่าในแต่ละบทจะมีการกำกับชื่อผู้แต่งแต่ละคนเอาไว้อย่างชัดเจน ทว่าเรื่องราวทั้งหมดใน แพรกหนามแดง กลับถูกเล่าด้วยสำนวนภาษาและลีลาอันเป็นแบบฉบับของ แดนอรัญ แสงทอง เองในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งก็ทำให้รวมเรื่องสั้นเล่มเขื่องถึง ๔๓๑ หน้าเล่มนี้ กลายเป็นงานที่อ่านได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน ทั้งจากประสบการณ์อันแสนน่ารักน่าชังในโลกอดีตของเหล่าเด็ก ๆ ซึ่งหลาย ๆ ช่วงก็ดิ่งลึกไปสู่พฤติกรรมและความคิดอันแปลกประหลาดของตัวละครในระดับคาดไม่ถึง จากช่วงวัยที่ไม่ใคร่มีนักเขียนนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านสักเท่าไหร่ พร้อม ๆ ไปกับพลังเชิงวรรณศิลป์และการใช้ภาษาการประพันธ์ที่ แดนอรัญ แสงทอง ทำได้อย่างมีเอกลักษณ์ควรค่าแก่การคารวะเสมอมา จนน่าจะเรียกขานได้ว่าเป็น อังคาร กัลยาณพงศ์ แห่งสำนวนร้อยแก้วเลยทีเดียว

                ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ แพรกหนามแดง เป็นรวมเรื่องสั้นที่มี ‘เอกภาพ’ หนักแน่นมากที่สุดในบรรดาทั้ง ๘ เล่มที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายมาด้วยกันในปีนี้  ทั้งยังมีท่าทีในการทลายกรอบขนบการแบ่งแยกงานประพันธ์กลุ่มนวนิยายและรวมเรื่องสั้นออกจากกัน เพราะหากได้ลองพิจารณาเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดในเล่มนี้แล้วจริง ๆ แดนอรัญ แสงทอง ก็ยังสามารถเรียกขาน แพรกหนามแดง ให้เป็น ‘นวนิยายเล่มใหม่’ ได้อย่างไม่ขัดเขิน และไม่น่าจะมีใครมาโต้แย้งได้ จนชวนให้เราต้องหันมาคิดทบทวนถึงกรอบเกณฑ์การแบ่งแยกงานประพันธ์ระหว่างนวนิยายและรวมเรื่องสั้นว่ามันควรหรือไม่ควรมีแนวกระบี่กรีดแบ่งให้ชัดเจนว่าเล่มไหนควรจัดอยู่ในกลุ่มใด เพราะงานอย่าง แพรกหนามแดง ก็สามารถจะเข้าพวกกับทั้งสองกลุ่มได้ ภายใต้หมวดหมู่ใหญ่แห่งงานวรรณกรรม

๒.ในโลกเล่า  โดย  วัฒน์ ยวงแก้ว

(สำนักพิมพ์ต้นโมกข์  พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)

เช่นเดียวกับรวมเรื่องสั้นชุด บันไดกระจก ซึ่งผู้เขียน วัฒน์ ยวงแก้ว ได้พิมพ์รวมเล่มในนาม ‘สำนักพิมพ์ต้นโมกข์’ ของเขาเองส่งเข้าประกวดและผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ก่อนที่สำนักพิมพ์มติชนจะช่วยจัดพิมพ์ซ้ำเพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง  รวมเรื่องสั้น ในโลกเล่า เล่มใหม่ของเขาก็เหมือนจะมีชะตากรรมเดียวกัน เพราะ วัฒน์ ยวงแก้ว ได้ตีพิมพ์ผลงานเล่มนี้ออกมาแบบจำกัดจำนวนในนามสำนักพิมพ์ต้นโมกข์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อส่งเข้าประกวด และเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์ซ้ำโดยผจญภัยสำนักพิมพ์หลังจากที่งานได้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์แล้วเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงการกัดฟันต่อสู้ของนักเขียนไทยในยุคปัจจุบันที่แม้จะมีชื่อเสียงคว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ มาได้อย่างมากมายเพียงไหน ก็มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่าผลงานใหม่จะได้รับการต้อนรับจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เสมอไป และหลาย ๆ ครั้งก็ต้องหาวิธีจัดพิมพ์ออกมาเองเพื่อให้ผลงานสำเร็จเป็นรูปเล่มสู่สายตาผู้อ่าน

                เรื่องสั้นในเล่ม ในโลกเล่า ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ‘เล่าเรื่องโลก’ สำหรับกลุ่มเรื่องสั้นที่เล่าภาวะชีวิตจริงของผู้คนในสังคม และ ‘โลกเรื่องเล่า’ สำหรับกลุ่มเรื่องสั้นที่เน้นเทคนิควิธีการเล่าในแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไล่สลับลำดับกัน

เรื่องสั้นในกลุ่ม ‘เล่าเรื่องโลก’ ประกอบด้วยเรื่อง ‘จระเข้’ เล่าตำนานในอดีตของจระเข้ขอนและความทรงจำของเพื่อนในวัยเด็ก  ‘ใบหน้าและรอยทาง’ เล่าถึงสำนึกของมารดาที่ทิ้งลูกตัวเองและที่คิดจะทำแท้ง  ‘วันสิ้นเสียง’ เล่าเหตุการณ์น่าหวั่นกลัวของการวางระเบิดในงานคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าเยาวชน  เรื่อง ‘ในหมอก’ ที่ถ่ายทอดความบาดหมางระหว่างคุณปู่ผู้เป็นคอมมิวนิสต์กับคุณพ่อนักการเมืองท้องถิ่นผ่านสายตาของผู้เป็นบุตรชาย เรื่อง ‘แมวและกรงขัง’ แนวไสยศาสตร์ระทึกขวัญเมื่อหลานสาวตัวน้อยสามารถเชื่อมโยงกับอดีตหลอนของคุณยายที่ตายไปแล้วได้ผ่านเจ้าแมวดำ และเรื่อง ‘ในสายตาของผู้เฝ้ามอง’ ที่ถ่ายทอดการพินิจกิเลสผ่านความรู้สึกหึงหวงกันเองของเหล่าพระภิกษุ  ซึ่งเรื่องสั้นทั้งหมดในกลุ่มนี้ วัฒน์ ยวงแก้ว ได้มุ่งเน้นการศึกษาสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมนุษย์ในสภาวการณ์ต่าง ๆ อย่างลุ่มลึกและจริงจัง อ่านแล้วก็ชวนให้สะเทือนใจไปกับเรื่องราวที่ล้วนสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกความเป็นจริงทั้งสิ้น

ในขณะที่เรื่องสั้นในกลุ่ม ‘โลกเรื่องเล่า’ ประกอบไปด้วยเรื่อง ‘พื้นที่/ฉาก(ชีวิต)’ เกี่ยวกับนักแสดงหนุ่มที่หมดอนาคตจากกระสุนลูกหลงในการปราบกลุ่มผู้ชุมนุมและสุดท้ายต้องข้องแวะกับหมอผีมนต์ดำ ที่เล่าผ่านการตัดฉากคล้ายภาพยนตร์  เรื่อง  ‘ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม’ ที่ใช้ ‘ว่าว’ เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครชายหลากวัยหลายบทบาท  เรื่อง ‘ขบวนรถไฟในความซ้อนซ้ำ’ ถ่ายทอดกระแสสำนึกของฆาตกรหญิงฆ่าหั่นศพขณะกำลังพบจิตแพทย์โดยไร้การแบ่งย่อหน้า  เรื่อง ‘นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)’ และเรื่อง ‘ของเล่น’ ที่เล่าเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ และการนอกใจระหว่างตัวละครนักเขียนผู้มีมันสมองและนักอ่านผ่านการอ้างอิงนักเขียนดังหลาย ๆ รายในโครงสร้างแบบตัดถอยและย้อนเรื่องตามลำดับ  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นเรื่องสั้นที่ ‘ทดลอง’ กับเทคนิคการประพันธ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้ร่วมทำงานกับส่วนเนื้อหาที่ผู้แต่งเลือกสรรและร้อยเรียงมาอย่างหนักแน่นเข้มข้น จนไม่เกิดอาการเทคนิคเด่นนำ

โดยหากได้อ่านเรื่องสั้นครบทั้ง ๑๑ เรื่องแล้ว ก็คงจะรู้สึกได้ทันทีว่า วัฒน์ ยวงแก้ว เป็นนักเขียนที่มีฝีมือในการเล่าเรื่องอันเฉียบขาดมาก แม้ตัวละครของเขาจะไม่ได้มีบุคลิกหรือลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากตัวละครในงานวรรณกรรมที่เราเคยอ่านกันทั่วไป แต่ในส่วนของการผูกเรื่อง วัฒน์ ยวงแก้ว ได้นำพาเราเข้าสู่ความซับซ้อนและยอกย้อนของสถานการณ์และชะตาชีวิตของตัวละครที่ไม่อาจคาดเดาอะไรได้เลย ส่งผลให้เรื่องเล่าของเขามีความสดใหม่ ให้รสชาติของการเป็นงานวรรณกรรมร่วมสมัย และถึงแม้ว่าเขาจะใช้เทคนิคเชิงทดลองด้านการประพันธ์อย่างหลากหลาย แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งสาระสำคัญในส่วนเนื้อหาที่สุดท้ายก็นำพาผู้อ่านไปสู่จุดสะเทือนของแต่ละเรื่องได้เสมอ  ทำให้ชื่อของ วัฒน์ ยวงแก้ว เป็นอีกหนึ่งนักเขียนเรื่องสั้นฝีมือดีที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้เลย

และหากคุณสมบัติสำคัญของวรรณกรรมประเภท ‘เรื่องสั้น’ คือการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านได้สัมผัสเรื่องราว ประสบการณ์ รวมถึงการเรียนรู้มนุษย์และโลกในมิติมุมมองใหม่ ๆ  รวมเรื่องสั้น ในโลกเล่า ก็นับว่าตีโจทย์แตกได้อย่างครบถ้วนทุกแง่มุม คุ้มค่ากับการติดตามอ่านในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ ย่อหน้า ทุก ๆ บรรทัด ทุก ๆ ตัวอักษร ซึ่ง วัฒน์ ยวงแก้ว ได้กลั่นออกมาอย่างแสนประณีตบรรจ

๓. อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่นๆ  โดย  กำพล นิรวรรณ

(ผจญภัยสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๖๒)

ถึงจะคลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน แต่ กำพล นิรวรรณ ก็เพิ่งจะมีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิตชื่อ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ  ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้เอง ซึ่งผลงานเล่มนี้ก็เป็นเล่มที่นำเสนอประสบการณ์การเป็นนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ผู้เข้าป่าหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ของผู้เขียนเอง ผนวกกับตำนานเรื่องเล่าจากท้องถิ่นพื้นที่ต่าง ๆ ที่เขาได้เดินทางไป ผสานกับจินตนาการ fantasy เหนือจริงอันหลากหลาย กลายเป็นรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนประสบการณ์ด้านการเดินทางและการผจญภัยทั้งในและนอกประเทศที่เปิดโลกให้ผู้อ่านในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างโดดเด่น

                เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องในเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็น ๓ ภาคอย่างชัดเจน นั่นคือ

ภาค ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ ที่เน้นเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์การเข้าป่าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงมุมมองด้านอำนาจและการเมืองอื่น ๆ ประกอบไปด้วยเรื่อง ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ เล่าเหตุการณ์นายพรานหาอาหารของกองทัพปลดแอกประชาชนที่หลงทางในป่าจนไปเจอหมู่คนธรรพ์ลึกลับขณะออกหาปลาหวดมาเลี้ยงกอง  เรื่อง ‘วีรชน’ เกี่ยวกับนักปฏิวัติธาตุร้อนที่ไม่สามารถนอนแบบสวมเสื้อผ้าในโรงนอนกลางป่าร่วมกับสหายชายได้ สุดท้ายต้องไปผูกเปลนอนแก้ผ้าจ๊ะเอ๋ศัตรูแล้วจับพลัดจับผลูได้กลายเป็นวีรชน  เรื่อง ‘แนวซุ่มของเรา’ เล่าถึงพื้นที่ทุ่งสังหารจากการปะทะกันของกองกำลังสองฝ่าย ซึ่งทำเลแนวซุ่มปลอดภัยดันกลายไปเป็นสุขา outdoor ของเหล่าชาวบ้าน  เรื่อง ‘ถ้ำ’ ที่หันไปถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของครูหนุ่มรุ่นใหญ่กับการท่องเที่ยวผจญภัยในถ้ำกับกลุ่มลูกศิษย์สาว ซึ่งชวนให้นึกไปถึงเหตุการณ์ทีมหมู่ป่าติดถ้ำหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑  และเรื่อง ‘บนเส้นทางไปโรงพยาบาล’ ที่แม้จะเล่าผ่านเหตุการณ์สั้น ๆ ของการโดยสารรถ taxi ไปโรงพยาบาล แต่ก็สามารถถ่ายทอดมุมมองความคิดด้านอำนาจและการเมืองระดับใหญ่ได้อย่างเฉียบร้าย

                ส่วนในภาค ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’ ก็จะเป็นกลุ่มเรื่องสั้นที่ให้อารมณ์ลึกลับสยองขวัญเล่าด้วยบรรยากาศอันชวนขนหัวลุกจนกลายเป็นกลุ่มเรื่องสั้นที่อ่านแล้วได้รสชาติมากที่สุดในเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘บางโก้งโค้ง’ เกี่ยวกับพรานป่าเจนพื้นที่ที่ทำหน้าที่นำทางให้เหล่าผู้มีอำนาจสีกากีในการเข้าป่าล่าสัตว์จนนำไปสู่นานาเหตุการณ์ชวนขนหัวลุก เรื่อง ‘โรงสีไฟ’ เกี่ยวกับชายหนุ่มตกอับที่สุดท้ายต้องรับจ้างไปค้างคืนท้าทายผีสาง ณ โรงสีผีสิง กระทั่งได้เผชิญกับสิ่งไม่คาดฝัน และเรื่องสุดท้าย ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’ เกี่ยวกับชายผู้หมกมุ่นกับการวาดภาพเสือดำ และได้พบปะกับ จ่าง แซ่ตั้ง ผู้ชักนำเขาให้รู้จักกับนิทรรศการการเมืองเรื่อง ‘วันสังหารสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๖’ อันอาจนำไปสู่การไขปริศนาอาถรรพ์จองเวรของภาพวาดเสือดำที่โยงมาสู่กรณีเศรษฐีล่าสัตว์สงวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร

                และในภาคสุดท้าย ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ กำพล  นิรวรรณ ก็นำพาผู้อ่านออกนอกประเทศไปท่องโลก กับเรื่องสั้น ‘คูการ์เจ้าภูผา’ ที่เผยเล่ห์เหลี่ยมการค้าโคเคนหลังฉากร้านอาหารขายปีกไก่ทอดราสซอสพริกริมหาดในเม็กซิโก  เรื่อง ‘ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ’ กับเหตุการณ์ไต่สวนคดีแรงงานไทยที่ขับรถชนคนตายในซาอุดิอาระเบียและต้องอาศัยพ่อครัวไทยผู้พิสมัยชายหนุ่มหน้ามนก้นงามงอนเป็นล่ามจำเป็นให้  เรื่อง ‘สวนสรรค์’ ที่ให้บรรยากาศในแบบ gothic เมื่อสตรีลึกลับในชุดแดงได้นำพาชายหนุ่มไปเยี่ยมสุสานนักเขียนชื่อดังกลางกรุงลอนดอน และปิดท้ายด้วยเรื่อง ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ ที่เล่าเรื่องราวการเผชิญหน้ากับสิ่งลี้ลับบนภูเขาใหญ่คล้ายกับเรื่อง ‘คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด’ แต่เปลี่ยนฉากหลังและเรื่องราวเป็นตำนานแห่งหุบเขาเซียน็อกบนเกาะสุมาตราแห่งอินโดนีเซียแทน

                ความโดดเด่นของ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ คือการรวบรวมประสบการณ์เฉพาะของผู้เขียน กำพล นิรวรรณ ที่เขาได้พบเจอจากหลากหลายห้วงเวลาและสถานที่มาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าเขาเคยผ่านพบเจออะไรในชีวิตมาบ้าง อย่างที่คนนอกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมเหล่านั้นก็สามารถจินตนาการนึกภาพและรู้สึกร่วมไปได้ แต่ที่สำคัญคือ แม้ว่าบริบทเนื้อหาโดยเฉพาะในส่วนการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองจะฟังดูหนักหน่วงจริงจังอย่างไร กำพล นิรวรรณ กลับไม่เคยใช้น้ำเสียงเกรี้ยวกราดแสดงความไม่พอใจต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ในทางกลับกัน เขากลับเล่าถึงสถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยอารมณ์ขันผ่านสายตาการมองอันเป็นส่วนตัว เติมแต่งความ fantasy ลงไปในเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นหรือกับบุคคลที่เคยมีตัวตนจริง ๆ  สร้างอรรถรสใหม่ ๆ ของเรื่องเล่าที่ทำให้เราได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแบบที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน

๔. 24 ชั่วโมง  โดย  แพรพลอย วนัช

(สำนักพิมพ์นาคร  พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม ๒๕๖๒)

นักเขียนหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่มีผลงานผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ในปีนี้ก็คือ แพรพลอย วนัช กับงานเล่มใหม่ 24 ชั่วโมง ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒  ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจที่เมื่อได้อ่านผลงานเล่มนี้เทียบกับเล่มอื่น ๆ อีก ๗ เล่มที่เข้ารอบมาด้วยกัน จะรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า 24 ชั่วโมง เป็นรวมเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดห้วงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ แห่งการเป็นมนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างดิ่งลึก เข้มข้น และชวนให้สะเทือนใจได้มากที่สุดในบรรดา  เพราะในขณะที่กลุ่มนักเขียนชายมักมีจุดเด่นที่ฝีไม้ลายมือเทคนิคลีลาการประพันธ์อันโดดเด่นและแปลกใหม่ จนบางครั้งก็อาจรู้สึกได้ว่าตัวงานค่อนข้างจะหนักไปในทางที่ภาษาการวิจารณ์เรียกกันว่า cerebral คือ กระตุ้นสมองและปัญญาความคิดมากกว่าจะลงลึกและดิ่งทิ้งไปสู่สิ่งที่อยู่ภายในหัวใจ แต่เรื่องสั้นใน 24 ชั่วโมง กลับเน้นการเปิดเปลือยภาวะภายในต่าง ๆ ของตัวละครอย่าง emotional จนทำให้เราได้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ของพวกเขามากกว่า  อีกทั้งเนื้อหาก็ยังจำกัดบริเวณท้องเรื่องให้อยู่กับพื้นที่ในบ้าน การใช้ชีวิตกับคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ณ สถานที่ทำงานต่าง ๆ อย่างสมถะเจียมตัว

                สิ่งที่เห็นได้ชัดมาก ๆ ในรวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง คือ แพรพลอย วนัช ใช้ปัจจัยพื้นฐานเรื่อง ‘อาหารการกิน’ มาเป็น theme ใหญ่ โดยมีเรื่องสั้นถึง ๕ เรื่องจาก ๑๔ เรื่องที่ใช้ชื่ออาหารเป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง นั่นคือ เรื่อง ‘ซูชิชิ้นสุดท้าย’ ที่เทียบการรับประทานซูชิแทนความกินดีอยู่ดีของคุณหมอไร้จิตวิทยาผู้สร้างหายนะด้านกำลังใจในการรักษาอาการเดินคอเอียงของบุตรชายในหัวอกของผู้เป็นพ่อแม่  เรื่อง ‘กระดูกซุป’ กับการมองเจตนาความเมตตาที่นายจ้างหญิงปรุงกระดูกซุปให้คนงานชายแขนขาดผ่านสายตาคนนอกที่คอยแต่จะตัดสินผู้อื่น  เรื่อง ‘ซุปฟักทอง’ กับชายชราผู้โหยหารสชาติอร่อยนุ่มของซุปฟักทองที่ภรรยาเคยทำให้ในวันที่เขาล้มป่วยจนมีอาการเลอะเลือน  เรื่อง ‘สเต๊ก’ กับการเปรียบเทียบเสน่ห์ทางเพศในตัวเองของดาราสาวว่าช่างคล้ายความอร่อยนุ่มของสเต็กชั้นดี  และเรื่อง ‘พิซซ่า’ ที่เทียบภาวะของศรีภรรยาสามีหน่าย โดยไม่ว่าจะพยายามให้ตายอย่างไร ก็ไม่สามารถกลับมาสดใหม่เหมือนพิซซ่าร้อน ๆ ที่กรุ่นจากเตา และต้องหมดสภาพทั้งเหี่ยวทั้งเฉาราวพิซซ่าที่ถูกทิ้งไว้ค้างคืน

                นอกจากนี้ยังมีอีก ๔ เรื่องที่แม้ไม่ได้ตั้งชื่อให้เกี่ยวกับอาหาร แต่ก็ยังยกให้เมนูจานเด็ดต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการเดินเรื่อง นั่นคือเรื่อง ‘แชนเดอเลียร์’ ที่ใช้ ยากิโซบะ เป็นสัญลักษณ์แสดงพฤติกรรมหมกมุ่นในเรื่องเพศอันประหลาดพิลึกของคนญี่ปุ่นผ่านตัวละครชายไทยที่ซุกซ่อนความปรารถนาบางอย่างเอาไว้ในห้องลับบนคอนโดฯ ส่วนตัว  เรื่อง ‘บังเหียน’ ที่ใช้ ซุปหูฉลาม เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเอาเถิดเจ้าล่อยั่วยุเชิงกามารมณ์ระหว่างหญิงสาวหุ่นสะคราญกับหนุ่มหล่อนักลงทุน  เรื่อง ‘ตุ๊กแก’ ที่อาศัยการซ้ำฉากมารดาตอกไข่ทำ ข้าวไข่ข้น ให้บุตรสาวเป็นเวลา ๗ วันแทนกิจวัตรอันซ้ำซากของการเป็นแม่บ้าน ขนานไปกับการใช้ตุ๊กแกเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าขยะแขยงจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศคนใกล้ชิดในวัยเด็กอันชวนสะเทือนใจ  และเรื่อง ‘คนแปลกหน้า’ ที่ให้ตัวละครพนักงานสาวมีพฤติกรรมซ้ำซากจากการสั่ง คะน้าผัดน้ำมันหอย ทานคนเดียวทุกวัน อันนำไปสู่ความสนใจจากชายหนุ่มแปลกหน้าที่อยากรู้จักเธอ  ซึ่งเรื่องสั้นทั้งหมดที่ใช้อาหารจานต่าง ๆ ในการเดินเรื่อง ก็ล้วนเป็นเรื่องสั้นที่แฝงนัยให้ความหมายของอาหารประเภทต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยงกับเนื้อหาหลักสำคัญได้สร้างสรรค์และกลมกลืน นับเป็นการหยิบเอาสิ่งพื้นฐานง่าย ๆ ที่สุภาพสตรีส่วนใหญ่สนใจมาใช้ได้อย่างมีชีวิตชีวาและน่ารับประทานมากขึ้น

                สำหรับเรื่องสั้นอื่น ๆ ในเล่มซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารโดยตรง ก็มีเรื่อง ‘รุ่นพี่’ เกี่ยวกับการผิดใจในการหยิบยืมเงินของครอบครัวรุ่นน้องรุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัย  เรื่อง ‘แผลสีเทา’ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนปมภายในระหว่างนักเขียนหนุ่มผู้นิยมการศึกษาเรียนรู้ชีวิตกับโสเภณีสาวชั้นสูง  เรื่อง ‘เต่ากับเส้นด้าย’ ที่ไล่เหตุการณ์การขาดผึงของขีดความอดทนหลังพบชะตากรรมไม่รู้จบของคุณพ่อหัวร้อน  เรื่อง  ‘ผีเสื้อ’ เกี่ยวกับมารดานักเขียนบทที่พยายามเรียกกำลังใจในชีวิตอีกครั้งหลังป่วยหนักและจมดิ่งอยู่กับประสบการณ์มรณานุสติในช่วงไปเยือนเมืองพาราณสีที่อินเดีย  และเรื่อง ‘รอยเวลา’ เกี่ยวกับนักเขียนหนุ่มผู้รู้สึกผิดกับการทอดทิ้งหญิงสาวที่เคยชื่นชมตัวตนและผลงานของเขา  ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดภาพชีวิตผู้คนที่ถูกกดทับด้วยสารพันปัญหา สร้างความรู้สึกอ่อนล้าสิ้นหวังจนบางครั้งก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ถ่ายทอดชะตากรรมอันหนักหน่วงของตัวละครออกมาภายใต้เรื่องราวที่บางครั้งก็กินพื้นที่เพียงไม่กี่หน้า ชวนให้รู้สึกว่า แพรพลอย วนัช ไม่เคยประนีประนอมด้วยการให้ความหวังต่อผู้อ่านจากการมุ่งศึกษาภาพชีวิตของตัวละครในโลกของความเป็นจริงเหล่านี้เลย

                ในด้านวรรณศิลป์ภาษา แพรพลอย วนัช ก็รังสรรค์ถ้อยคำต่าง ๆ ออกมาอย่างประณีตและพิถีพิถัน มีน้ำเสียงแห่งความเป็นสตรีที่แตกต่างจากนักเขียนชายท่านอื่น ๆ ที่ร่วมชิงชัยอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งหากจะวัดกันด้วยผลกระทบด้านอารมณ์ความรู้สึกในการอ่านแล้ว  24 ชั่วโมง ดูจะมีภาษีเหนือกว่าเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบมาด้วยกัน กับเรื่องสั้นแนวสัจนิยมที่นำพาเรากระโจนสู่ห้วงแห่งความทุกข์ระทมจากนานาปัญหาของเพื่อนมนุษย

๕. ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ  โดย  ภาณุ ตรัยเวช

(สำนักพิมพ์มติชน  พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)

Fan fiction อาจเป็นคำศัพท์ใหม่ในวงการวรรณกรรมร่วมสมัย เมื่อผู้อ่านที่คลั่งไคล้ผลงานที่แสนจะถูกอกถูกใจอดรนทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาขีดเขียนสร้างเรื่องราวจากฉากและตัวละครที่นักเขียนคนโปรดได้จินตนาการไว้ สานต่อเป็นเรื่องราวใหม่ ๆ ให้หมู่แฟนคลับที่ชอบในเรื่องราวเดียวกันได้ผลัดกันเสพ  ถึงแม้ต้นกำเนิดของ Fan fiction อาจมิได้แลดูจริงจังแต่อย่างใด ทว่าปฏิกิริยาลักษณะนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มวรรณกรรมสายคลาสสิกอมตะ ดังที่นักเขียน ภาณุ ตรัยเวช  ได้คารวะลีลาและสไตล์ของนักเขียนรุ่นใหญ่หลาย ๆ รายที่เขาชื่นชอบเอาไว้ในรวมเรื่องสั้นชื่อ ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่น ๆ ที่เพิ่งจะตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้

                ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่น ๆ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง ที่นักเขียนและหนอนหนังสือตัวยง ภาณุ ตรัยเวช ใช้เป็นเวทีในการอภิวาทคารวะลีลาการประพันธ์งานของนักเขียนชื่อดังในอดีตหลากหลายราย ซึ่งก็มีตั้งแต่กลุ่มที่จำลองเล่าแนวการเขียนมาตรง ๆ อย่างเรื่อง “บูเครแองเกลส” หรือที่ออกเสียงตรงตามภาษาฝรั่งเศสว่า “บู-เคร-ออง-เกลส” ซึ่งอาศัยการเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนในแบบ Agatha Christie มาเล่าเรื่องราวการสืบคดีจารกรรมข้อมูลลับ ณ สถานทูตเยอรมันของหลวงสรรพสิทธิ โดยอาศัยเทคนิคการประพันธ์ดนตรีแบบแบ่งแนวทำนองสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยวท่อน Bourrée Anglaise จาก Flute Partita in A minor, BWV 1013 ของ Johann Sebastian Bach มาเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนา  เรื่อง “นาวาคนเขลา” ที่อาศัยตัวละครและเค้าโครงจากบทละคร The Tempest ของ William Shakespeare มาเล่าเรื่องราวการผจญภัยย้อนยุคในการออกตามหาผลไม้วิเศษที่สามารถรักษาคนบ้าจากนาวาคนเขลาสู่เกาะผู้ทรงปัญญา  เรื่อง “เรื่องที่ ๑๑” กับการต่อยอด นิทานเวตาล สำนวนแปลของ น.ม.ส. เป็นเรื่องที่ ๑๑ เล่าเรื่องคำถามปริศนาท้าหัวใจสตรีของสี่ศิษย์หนุ่ม  ไปจนถึงวรรณกรรมชวนหลอนในแบบ เหม เวชกร  เรื่อง “คำสาปอันหอมหวานของแม่ทองอิ่ม” เกี่ยวกับตำนานแม่ค้าขนมเสน่ห์สุดลึกลับแห่งย่านตลาดน้ำ และ “ตั้งแต่คอลงมา”  เมื่อกองถ่ายภาพยนตร์ต้องมาเผชิญหน้ากับพิธีกรรมเข้าทรงตัดแขนขาที่ให้บรรยากาศคล้าย plot หนังสยองขวัญไทยร่วมสมัย

                กลุ่มเรื่องสั้นที่อาศัยหยิบยืมชื่อจากวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ เรื่อง “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” จากบทละคร A Midsummer Night’s Dream ของ William Shakespeare ทว่าเล่าเหตุการณ์แนวมิติพิศวงเมื่อนักประวัติศาสตร์หนุ่มได้พบกับมหรสพหลอนจากโลกอดีตขณะเดินทางไปเยี่ยมพระราชฐานโบราณ  เรื่อง “เกมกลคนอัจฉริยะ” จากการ์ตูนญี่ปุ่น Yu-Gi-Oh! ของ Kazuki Takahashi เล่าเรื่องราวการพยายามไขปริศนาคลายห่วงโลหะเกือบตลอดทั้งชีวิตของอดีตหนุ่มเนิร์ด  เรื่อง “อย่ามองนะ” จากเรื่องยาว Don’t Look Now ของ Daphne du Maurier แต่เนื้อหากลับพาดพิงถึงนักมายากลสะกดจิตคนจากเรื่อง Mario and the Magician ของ Thomas Mann  เรื่อง  “น้ำพุแห่งวัยเยาว์” จากตำนานญี่ปุ่น The Fountain of Youth เล่าโดย Lafcadio Hearn กับการใคร่ครวญคำถามปรัชญาจากพรายน้ำช่างปุจฉาว่า “อะไรคือการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์กับตัวเอง?”

                และกลุ่มสุดท้ายคือการหยิบยืมชื่อเสียงเรียงนามของนักเขียนดังทั้งไทยและเทศมาเป็นตัวละคร ดังในเรื่อง  “คาลวิโนในรัตติกาล”  ที่อัญเชิญ Italo Calvino มารับบทเป็น ‘ผี!’ ในภาควิชาวรรณกรรมที่ทำให้อาจารย์หนุ่มกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์สาวต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ ด้วยความหลอน  และเรื่องที่โดดเด่นอีกชิ้นในเล่มคือ  “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เล่าถึงชะตากรรมของนายคำสิงห์ ศรีนอก (นามจริงของ ‘ลาว คำหอม’) พ่อค้าขายกระเป๋าที่พยายามหันมาเอาดีในการขีด ๆ เขียน ๆ และเผลอหลุดปากไปว่าตนเองใช้นามปากกาว่า ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ กระทั่งได้รับเชิญไปพูดบนเวทีต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งเจตนาในการเล่าของเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็มีประเด็นที่อ่อนไหวกับช่วงเวลาโดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน และถึงแม้ว่ารวมเรื่องสั้น ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่น ๆ เล่มนี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓  แต่จริง ๆ แล้ว ภาณุ ตรัยเวช เขียนเรื่องสั้น  “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”  เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เมื่อครั้งได้ลงในหนังสือ ชายคาเรื่องสั้น 03 เปลือยประชาชน ซึ่งบทบาททางสังคมของคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในเวลานั้นกับในเวลานี้ก็แตกต่างกันอย่างช่วยไม่ได้ การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ใน พ.ศ. นั้นกับใน พ.ศ. นี้ จึงอาจนำไปสู่การตีความที่แตกต่างออกไป ทำให้บางครั้งการไล่ศึกษาประวัติการประพันธ์ผลงานแต่ละชิ้นเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยก็ยังเป็นอะไรที่สำคัญอยู่

                ลีลาการอ้างอิงถึงงานวรรณกรรมและนักเขียนชื่อดังทั้งหลายของ ภาณุ ตรัยเวช ใน ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่น ๆ นี้ มิได้มีท่าทีอวดโอ่เทียบชั้นหรืออวดภูมิยกอ้างไปอย่างนั้นในลักษณะ namedropping  ทว่าจากน้ำเสียงการเล่า เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาศรัทธาและมี passion กับงานวรรณกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จริง ๆ จนสามารถถ่ายทอดลีลาของอัครศิลปินแต่ละรายด้วยท่วงทำนองที่ว่า อยากจะขอลองเป็นแบบพวกท่านบ้าง  คล้ายการแต่งกาย cosplay เลียนแบบศิลปินหรือตัวละครที่ตนชื่นชอบด้วยความรัก ทำให้ผลงานล้วนมีความน่าอ่าน และที่สำคัญคือต่อให้ผู้ที่ไม่รู้จักงานวรรณกรรมหรือนักเขียนที่อ้างอิงถึงเหล่านี้มาก่อน ก็ยังสามารถสนุกไปกับเรื่องราวแฝงปริศนาที่ ภาณุ ตรัยเวช นำเสนอไว้ในแต่ละเรื่องได้โดยไม่ขาดอรรถรส  จึงไม่น่าประหลาดใจหากรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจต่อทั้งเหล่าคอวรรณกรรมไทย-เทศและกลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่ไปพร้อม ๆ กัน  และอาจเลยรวมไปถึงคณะกรรมการชุดตัดสินที่กำลังคร่ำเคร่งพิจารณาผลงานทั้ง ๘ เล่มกันอยู่ในขณะนี้ด้วย

๖. รยางค์และเงื้อมเงา  โดย  วิภาส ศรีทอง

(สำนักพิมพ์สมมติ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๓)

แชมป์เก่ารายที่สองที่ได้กลับมาลุ้นรางวัลดับเบิลซีไรต์อีกครั้งในปีนี้ก็คือ วิภาส ศรีทอง เจ้าของรางวัลประเภทนวนิยาย จากเรื่อง คนแคระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕  คราวนี้เขากลับมาพร้อมรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ รยางค์และเงื้อมเงา ที่เพิ่งจะตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓  และหากจะยังจำกันได้ว่านวนิยายเรื่อง คนแคระ เป็นงานที่หดหู่มืดดำชวนให้ไร้ความหวังกันอย่างไร ก็คงต้องขอเตือนไว้ว่าใน รยางค์และเงื้อมเงา จะยิ่งดิ่งถลำดำมืดมากกว่าหลายเท่า กับเรื่องสั้นหลายเรื่องที่แข่งกันสะท้อนภาพอันเคว้งคว้างไร้จุดหมายของตัวละครในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ตัวตนและความเป็นมนุษย์เริ่มแปรเปลี่ยนไปภายใต้การรุกคืบของเทคโนโลยี เรียกได้ว่าหน้าปกหนังสือมืดดำอย่างไรเนื้อหาภายในก็มืดดำเช่นนั้น จนอาจจะแลดูไกลห่างจากคุณสมบัติแห่งการเป็นงานให้ความบันเทิง

                รวมเรื่องสั้น รยางค์และเงื้อมเงา ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นรวม ๑๐ เรื่อง ที่มีน้ำเสียงการมองมนุษย์ภายใต้ห้วงเหวแห่งความมืดดำไร้ความสดใสในชีวิต และบางครั้งก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวละครลงอย่างเย็นชา เช่นในเรื่อง  “วันหนึ่งของเธอ” ที่ใช้ฉากตัวละครฝูงซอมบี้แทนภาพเหล่ามนุษย์ผู้ ‘ชำรุด’ เดินตระเวนทั่วเมืองราวยังเป็นบุคคลที่มีชีวิต หรือในเรื่อง  “ลิงภูเขา” ที่เล่าถึงชีวิตแรงงานต่างถิ่นจากชนบทบนยอดเขาเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ทว่าปรับให้ตัวละครกลายเป็นลิงที่ทำทุกอย่างเหมือนมนุษย์  บางเรื่องก็สะท้อนความผูกพันระหว่างวิทยาการเทคโนโลยีกับภาพชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ดังในเรื่อง “จาริกไปในความเงียบงัน” ที่เล่าชีวิตของชายหนุ่มหลังประกาศตัดขาดจากการมีตัวตนเสมือนในโลก social media แบบสิ้นเชิง ว่าจะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และในเรื่องสั้นรวมเรื่องขนาดสั้น “สามสหาย” ที่ วิภาส ศรีทอง นำเสนอตัวละครสุดประหลาดสามรายนั่นคือ ‘ตัวกะลาง’ สัตว์เลี้ยงสี่ขาผู้น่ารักที่มีนิสัยชอบทำตัวอยู่ระหว่างกลางของสิ่งต่าง ๆ  ‘คา’ เงาเสมือนของตัวตนคนเราที่หลอมกลืนไปกับเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสมัย ชอบหลบเร้นอยู่ใต้เส้น cursor และแสงวาบจากการ click ไปจนถึงตัวละคร ‘เขา’ มิตรนิรนามผู้มีพฤติกรรมที่ทำให้เราไม่รู้สึกเดียวดายแม้จะไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่า ‘เขา’ เป็นมนุษย์  ซึ่งก็นับเป็นอีกเรื่องที่ช่างคิดและถ่ายทอดนำเสนอออกมาได้อย่างแตกต่างและสร้างสรรค์

                แม้แต่เรื่องราวที่สะท้อนแง่มุมด้านความรักและกามารมณ์ วิภาส ศรีทอง ก็ยังเลือกเล่าด้วยท่าทีของการครุ่นคิดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความปรารถนา”  ที่สำรวจหน้าตาของอารมณ์ความรู้สึกทางเพศของสตรีที่เปลี่ยนไปตามช่วงวัย และเรื่อง “สุนทรีย์มืด” นิยายวายชายรักชายระหว่างเพื่อนหนุ่มมาดแมนสองรายที่กลับขั้วจากเรื่องราวความรักสว่างไสวกลายเป็นการพุ่งกระโจนสู่ภาวะภายในอันมืดมนอนธการของตัวละครแทน  หรือในเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียวที่ย้อนเวลาไปเล่าเรื่องตำนานในอดีตอย่าง “ตำนานซิซีฟุส: ภาคถัดมา” วิภาส ศรีทอง ก็ฉลาดที่จะปรับเรื่องให้ ซิซีฟุส สามารถกลิ้งหินขึ้นไปตั้งแน่นิ่งบนยอดเขาได้สำเร็จ นำไปสู่ภาวะสั่นคลอนของสัจธรรมแห่งตัวตนจนต้องฉงนว่าแล้วเขาจะทำสิ่งใดต่อไป เสียดเย้ยความหลงเคว้ง ณ ปลายทางแห่งความสำเร็จที่หลายคนต่างใฝ่หาได้อย่างเจ็บแสบยิ่ง

                ความรู้สึกแปลกแยกวิปริตผิดปกติ จะปรากฏชัดในเรื่องสั้นเปิดเล่มอย่าง “ตัวประกอบ” ที่ วิภาส ศรีทอง ได้บรรยายถึงสถานการณ์ที่ชายหนุ่มสำรอกสิ่งมีชีวิตผิวนิ่มหยุ่นลักษณะคล้ายมือทารกออกมาจากลำคอ และได้เฝ้าเลี้ยงดูมันให้เติบโตแม้จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าสิ่งนั้นหลุดออกมาจากร่างกายเขาได้อย่างไร ให้บรรยากาศหลุดหลอนคล้ายงานอย่าง Metamorphosis ของ Franz Kafka เลยทีเดียว  ในขณะที่เรื่อง “ศูนย์อัสดง”  วิภาส ศรีทอง ก็สะท้อนภาพชีวิตอันเหี่ยวเฉาซังกะตายไร้จุดหมายปลายทางในการดำเนินชีวิตของเหล่าคนชรา ณ ศูนย์ไร้นามคอยรอความตายอย่างชวนให้หดหู่ กับการเดินทางสู่ตึกไข่ที่เสียดเย้ยสัญลักษณ์แห่งการให้กำเนิดให้กลายเป็นอาคารแห่งวาระสุดท้ายของชีวิต  แต่เรื่องสั้นที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมากที่สุดไม่เฉพาะในเล่มนี้ ทว่าในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมด ๑๑๑ เรื่องใน ๘ เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้เลยก็คือเรื่อง “เด็กระเบิด” ที่ วิภาส ศรีทอง ได้ฉายภาพการละเล่นของเหล่าวัยเยาว์ซึ่งดูเหมือนพวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่ห่างไกลจากวาระสุดท้ายแห่งความตาย แต่หารู้ไม่ว่าการละเล่นของพวกเขาล้วนมีความเกี่ยวข้องหรือเข้าใกล้เงื้อมมือแห่งมัจจุราชตลอดเวลา กลายเป็นเรื่องสั้นที่ให้บรรยากาศประหลาดหลอนที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนจากงานเขียนอื่นไหน ปรับเฉดภาพความสดใสของเหล่าเด็ก ๆ ให้กลายเป็นสีหม่นมัวทึมเทาได้อย่างน่าสะพรึง!

                สิ่งที่จะไม่ปรากฏเลยในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือ อารมณ์ขันอันชวนผ่อนคลาย  ภาษาการบรรยายของ วิภาส ศรีทอง ดำเนินไปอย่างหนักแน่น เคร่งขรึม และจริงจัง นำพาผู้อ่านไปสู่ห้วงความคิดและส่วนลึกภายในของตัวละครอย่างไม่มีระยะยั้งด้วยความตั้งใจจะเปิดเปลือยภาวะต่าง ๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือผู้แต่งไม่เคยพิพากษาตัดสินตัวละครของเขาเลย สิ่งที่เขาทำคือการบอกเล่าให้เรารับรู้ว่าตัวละครแต่ละรายกำลังพบเจออะไรและนำไปสู่พฤติกรรมใด เพราะในการศึกษาทำความเข้าใจตัวละคร มันไม่ควรนำไปสู่การตัดสินพิพากษา จึงไม่ประหลาดใจที่เรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่องในเล่มนี้จะมีการลีลาการจบแบบปลายเปิด หวังเพียงให้ผู้อ่านเกิดปัญญาจากการได้อ่านและได้ทำความรู้จักกับเหล่าตัวละครที่ผู้แต่งไปพบเจอมาด้วยสายตาตัวเอง

                ผลงานสุดหม่นทว่าดำดิ่งได้อย่างล้ำลึกเข้มข้นอย่าง รยางค์และเงื้อมเงา จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ดีสำหรับคำถามที่ว่า เราจะเสียเวลามาอ่านงานวรรณกรรมที่รังแต่จะทำให้จิตตกเหล่านี้ไปทำไม สู้ไปอ่านอะไรที่มันชุบชโลมจิตใจ มีความหวังที่จะต่อสู้กับชีวิตในโลกความเป็นจริงไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นที่แย้งค้านได้ยาก  แต่เรื่องสั้นสุดดำมืดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็กลับมีพลังในการส่องสว่างหลายสิ่งอย่างในจิตใจมนุษย์ที่เราอาจไม่เคยพบเห็นหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี สะท้อนภาวะแห่งการเป็นมนุษย์ในอีกโมงยามสำคัญอันจะทำให้เรารู้จักตนเองและเพื่อนร่วมโลกได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

๗. ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่นๆ  โดย  บัญชา อ่อนดี

(สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๓

หลังจากที่ บัญชา อ่อนดี เคยมีผลงานนวนิยายเรื่อง เสือตีตรวน ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และงานกวีนิพนธ์ บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเช่นกันในปี พ.ศ. ๒๕๕๙  เมื่อเขามีรวมเรื่องสั้น ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่น ๆ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ ก็ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนไทยคนที่ ๗ แล้ว ที่สามารถมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ครบทั้ง ๓ ประเภท ต่อจาก วาณิช จรุงกิจอนันต์ / วัฒน์ วรรลยางกูร / พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ / ศิริวร แก้วกาญจน์ / จเด็จ กำจรเดช และ พลัง เพียงพิรุฬห์+เกริกศิษฏ์ พละมาตร์  แสดงให้เห็นว่า บัญชา อ่อนดี เป็นนักเขียนอีกท่านที่จัดเจนในทุก ๆ กระบวนการประพันธ์ สามารถรังสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน

                แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในวงการขีด ๆ เขียน ๆ มาเป็นเวลานาน แต่รวมเรื่องสั้น ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่น ๆ ก็เป็นรวมเรื่องสั้นเพียงเล่มแรกของ บัญชา อ่อนดี และเพิ่งจะมีโอกาสรวมพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้เอง ในเล่มประกอบไปด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๐ เรื่อง ที่ บัญชา อ่อนดี เล่าด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนานเป็นกันเองตามแบบฉบับของนักเขียนผู้ผ่านชีวิต เรื่องเล่าต่าง ๆ อาจไม่ได้กล่าวถึงอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่ความอ่อนโยนและจริงใจในการมองโลกและชีวิตของผู้คนรอบกาย ก็ทำให้งานเรื่องสั้นของ บัญชา อ่อนดี ให้ภาพชัดลึกของตัวละครเล็ก ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในมุมหลืบของสังคมจนบางครั้งก็ถูกหลงลืม

                ส่วนที่โดดเด่นที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ก็คือ การที่นักเขียน บัญชา อ่อนดี เหมือนจะร่วมกระโจนลงไปโลดแล่นในเรื่องสั้นของเขาร่วมกับตัวละครสมมติอื่น ๆ ด้วย ไล่มาตั้งแต่เรื่องแรก “ฉากหนึ่งในชีวิต” ซึ่งเล่าถึงงานศพสุดประหลาดของนักเขียนที่ชื่อ บัญชา อ่อนดี ที่จู่ ๆ ไฟก็ดับทั้งศาลาแล้วปรากฏภาพวีดิทัศน์ของนักเขียนเองขณะยังมีชีวิตโผล่มาทักทายแขกเหรื่อ แถมยังกำชับให้หยิบรวมเรื่องสั้น ‘ไร้สัญชาติ’ ของเขากลับไปเป็นที่ระลึกด้วย  เรื่อง “นัยความพร่าเลือน” ที่ตัวละครนักเขียนหนุ่มใหญ่ได้ผูกสัมพันธ์กับสาวรุ่นสายตาพิการและฝันอยากเป็นนักเขียน โดยเขาเองก็กำลังลุ้นรางวัลประกวดวรรณกรรมรอบรวมเรื่องสั้นระดับชาติ ที่จะแถลงข่าวประกาศผลกันที่โรงแรมใหญ่ ในเวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่แสนคุ้น!  และเรื่อง “แมวไม่มีสัญชาติ” ที่ผู้เขียนคอยกำชับกับผู้อ่านตลอดเวลาว่าอย่านำเรื่องนี้ไปเล่าต่อ ซึ่งก็ขอทำตามด้วยการไม่เล่าอะไรเลยก็แล้วกัน แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องสั้นที่โดดเด่นและน่าประทับใจมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งลีลาการทลายกำแพงทางตัวตนระหว่างคนเขียนกับเรื่องราวของเขาแบบนี้ ก็ทำให้เรื่องสั้นมีอารมณ์ขันในความทีเล่นทีจริง แม้ในบางเรื่องอาจมีเป้าหมายในการนำพาผู้อ่านไปสู่จุดสะเทือนใจอยู่ด้วยก็ตาม

                เรื่องสั้นอีกกลุ่มก็เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มตัวละครชายหลากวัยหลายอาชีพและที่มา ไม่ว่าจะเป็น “จังหวะคืบคลานของสัตว์เลือดอุ่น” ที่เล่าผลกระทบต่าง ๆ นานาที่มีต่อเหล่าบุรุษในพื้นที่และที่สัญจรไปมาในขณะที่ช้างเชือกใหญ่เดินไล่ตัดเลียบถนน เรื่อง “หนองอีด่อน” วรรณกรรมบ้านทุ่งที่แสดงถึงความรุนแรงอันเกิดจากการทะเลาะบาดหมางเพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีของเหล่านักเลงบ้านนอกที่มาพร้อมอาวุธปืน และเรื่อง “วงกลมกลางสี่เหลี่ยม” เกี่ยวกับชีวิตของชายพลัดถิ่น ๔ นายที่ได้มาพบกันเพื่อช่วยเฝ้าดูแลเกสต์เฮ้าส์ที่สังขละบุรีในช่วง low season ซึ่ง บัญชา อ่อนดี ก็สร้างบุคลิกตัวละครออกมาได้อย่างมีสีสัน โดยเฉพาะเจ้าหนุ่มบอยผู้ใจดีแต่แทบไม่มีใครมองเห็น กลายเป็นตัวละครแสนน่ารักที่ไม่ใคร่จะมีนักเขียนคนไหนเลือกมาใส่ในเรื่องเล่ากันสักเท่าไหร่ ซึ่งก็นับเป็นอีกเรื่องที่มีลีลาน่าสนใจมากในเล่ม

                สำหรับเรื่องสั้น “ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน” และ “กุญแจดอกสอง” ต่างก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้นหาคำตอบภายในของตัวละครชาย โดยในเรื่องแรกเป็นกรณีของอาจารย์ประวัติศาสตร์หนุ่มที่ฝันเห็นเหตุการณ์เดิมต่อกันเป็นซีรีส์ย้อนยุคยาวนานถึง ๓ เดือน ๑๗ คืน ในขณะที่เรื่องหลังจะเป็นการใคร่ครวญโลกและจักรวาลสองฝั่งฝ่ายของตัวละครชายระหว่าง ผม กับ ผมอีกคน

                ปิดท้ายด้วยเรื่องสั้นขนาดสั้นเนื้อหาง่าย ๆ เบา ๆ เรื่อง “ตากฟ้า 6” ที่ว่าถึงการเดินทางของพืชพันธุ์ผลิบานที่สุดท้ายถูกนำไปสานทอเป็นผืนอาภรณ์ และเรื่อง “อาณาจักรวิญญาณ” เล่าเรื่องราวในครอบครัวเมื่อบุตรชายเรียกร้องขอที่ดินฮวงซุ้ยของเตี่ยไปสร้างโรงเรียนจนกลายเป็นเรื่องบาดหมางใหญ่โต

                ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่น ๆ จึงเป็นรวมเรื่องสั้นอีกเล่มที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน มีวิถีแห่งการมองโลกทั้งในแง่งามและแง่ไม่ค่อยงามตามครรลองที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในชีวิต ด้วยอารมณ์ขันที่ใส่เข้ามาในจังหวะกำลังดี ผ่านน้ำเสียงที่เป็นมิตรกับผู้อ่านอยู่เสมอจนชวนให้นึกไปถึงงานเรื่องสั้นหลาย ๆ เล่มของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ที่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วหลายครั้ง

๘. คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ  โดย  จเด็จ กำจรเดช

(ผจญภัยสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งแรก เมษายน ๒๕๖๓)

ไม่แน่ใจว่าจะถือเป็นข้อได้เปรียบหรือไม่ สำหรับรวมเรื่องสั้น คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ ของ จเด็จ กำจรเดช มือซีไรต์เก่าที่หวนกลับเข้ามาชิงรางวัลอีกครั้ง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาช้ากว่าเล่มอื่น ๆ นั่นคือในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ในช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยพอดี จนรัฐบาลต้องมีมาตรการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ‘ ออกมารับมือ  จเด็จ กำจรเดช จึงมีวัตถุดิบร่วมสมัยที่สามารถนำมาใช้เขียนเรื่องสั้นให้จับใจและใกล้ชิดกับผู้อ่านที่ผ่านประสบการณ์ด้วยกันมาสด ๆ ร้อน ๆ ได้มากกว่าเล่มอื่น ๆ  และนอกจากจะเป็นรวมเรื่องสั้นที่พิมพ์ออกมาล่าสุดแล้ว คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ ก็ได้ทำลายสถิติเป็นรวมเรื่องสั้นที่หนามากที่สุดเมื่อนับจำนวนหน้าเท่าที่เคยเข้ารอบมาในกลุ่มรวมเรื่องสั้น ด้วยความยาวถึง ๕๕๖ หน้า กับเรื่องสั้นจำนวนเพียง ๑๑ เรื่องเท่านั้น

                นั่นหมายความว่า เรื่องสั้นส่วนใหญ่ใน คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ ถือเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวถึงยาวมาก บางเรื่องก็อาจจะยังยาวกว่านิยายขนาดสั้นเล่มเล็ก ๆ ที่เคยตีพิมพ์ออกมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเป็น ‘เรื่องสั้น’ และ ‘นวนิยาย’ เริ่มจะพร่าเลือนไปคล้ายกับในกรณีของ แพรกหนามแดง ของ แดนอรัญ แสงทอง ที่กล่าวไป ว่าแค่ไหนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็น ‘เรื่องสั้นขนาดยาว’ หรือ ‘นิยายขนาดสั้น’ ซึ่งก็ไม่เคยมีกฎเกณฑ์ตายตัวมากำหนด

                ในส่วนของลีลาการประพันธ์ต้องยอมรับเลยว่า หลังจากที่ จเด็จ กำจรเดช คว้ารางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ไปได้แล้ว รวมเรื่องสั้นเล่มหลัง ๆ ของเขามีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดที่เห็นได้อย่างเด่นชัดมาก ในขณะที่เล่ม มะละกาไม่มีทะเล ซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้ขยับขยายกลายเป็นงานรวมเรื่องสั้นแนวไซไฟจินตนาการพิสดารแปลกล้ำฉีกแนวไปจากเล่มก่อนหน้าอย่างน่าตกใจ มาในเล่ม คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ รอบนี้ จเด็จ กำจรเดช ก็พัฒนาก้าวไกลไปอีกขั้น ด้วยการอาศัยลีลา fantasy เล่าเรื่องราวชีวิตผู้คนที่อิงอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงแบบไม่มี plot ต้น-กลาง-ปลาย แล้วปล่อยให้เหตุการณ์เลื่อนไหลดำเนินไปตามอำเภอใจ สามารถเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนเสียงตัวละคร เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนอารมณ์ทุกอย่างได้ใหม่ในทันทีที่เขากด Enter เพื่อขึ้นย่อหน้าท่อนใหม่ สร้างความท้าทายระดับสูงแก่ผู้อ่านที่ควรจะต้องละเลียดไปทีละบรรทัดกันอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะ จเด็จ กำจรเดช มักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการเล่าเรื่องราวด้วยการสร้างความขัดแย้งแบบฉูดฉาด มามุ่งเน้นบรรยากาศของภูมิทัศน์ ผู้คน และโลกที่เขาเคยสัมผัส จนสามารถจัดเป็นงานวรรณกรรมร่วมสมัยที่ไม่มีการอ้างอิงกับกรอบขนบทางการประพันธ์แบบดั้งเดิมข้อใดเลย

                และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้การเล่าเรื่องย่อของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่ม คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ เป็นสิ่งที่ทำได้แสนยาก อย่างดีก็ทำได้แค่เพียงบอกคร่าว ๆ ว่าในแต่ละเรื่องพาดพิงถึงสิ่งใด เพราะหัวใจสำคัญในการเสพงานเขียนของ จเด็จ กำจรเดช ในเล่มนี้ คือการกระโจนลงไปสัมผัสกับเสียงเล่าของเขาด้วยตัวเอง พร้อมเปิดใจยอมให้เขานำพาออกไปนอกเส้นทางที่ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร โดยไม่ยึดติดเสียดายกระหายรู้ในเรื่องราวส่วนที่เขาไม่ต้องการจะสานต่ออะไรอีก

                อย่างย่นย่อ เรื่องราวต่าง ๆ ใน คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ไล่ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปจนถึงเบตง เรื่องแรก “มีเป็ดบนหลังคา” มีลักษณะคล้ายนิทานกึ่งจริงกึ่งฝันเกี่ยวกับเด็กชายที่ยามกลางคืนจะได้ยินเสียงเป็ดออกไข่ทองคำในช่องใต้หลังคา นำพาไปสู่เรื่องเล่าพิสดาร  เรื่อง “นกกระยางโง่ ๆ” เล่าเรื่องร่วมสมัยเมื่อวิศวกรหนุ่มช้ำรักหันมาทำกสิกรรมแบบใหม่โดยอาศัยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล  เรื่อง “ข่าวว่านกจะมา” เกี่ยวกับผู้รับเหมาก่อสร้างที่ภรรยาหนีหายไปเป็นเวลาสามเดือน โยงใยไปสู่ประวัติศาสตร์เขมรแดงและการกลายเป็นนกที่ชวนให้นึกถึงนิยายเรื่อง Birdy ของ William Wharton  เรื่อง “ประแป้งไหมคะ” ที่ออกแนวไซไฟต่อยอดมาจากเล่ม มะละกาไม่มีทะเล เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ I-BOT แอช และ ปาล และเพลง ‘ประแป้งไหมคะ’ ที่เด็ก ๆ ชอบร้องให้นักท่องเที่ยว  เรื่อง “อยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา”  เล่าชีวิตของครอบครัวของ จูเลีย สตรีที่มีขนยาวเหมือนวานรแต่กลับได้สามีรูปหล่อดูดีที่โยงไปถึงกรณีการใช้แรงงานลิงให้บรรยากาศเรื่องแบบนิยาย The Planet of the Apes ของ Pierre Boule  เรื่อง “สัปเหร่อรุ่นสอง” ที่เล่าความสัมพันธ์ทางเพศผิดศีลธรรมของคนในครอบครัวโดยจั่วหัวด้วยเทคนิคเบื้องหลังการเขียนในแต่ละช่วงจำนวน ๑๐ ข้อแบบ metafiction  เรื่อง “บุรงแมน” ที่ไล่ฉากถ่ายภาพยนตร์โยงใยความสัมพันธ์ประหลาดระหว่างผู้กำกับ เซียนลูกแมว และช่างนก กับเรื่องราวการเช่าและสะสมพระเครื่อง พาดพิงไปถึงเหตุการณ์จ่าคลั่งยิงกราดที่โคราช เรื่อง “คืนปีเสือ” เมื่อผู้ใหญ่เหล่าหูแห่งเบตงสั่งไม่ให้ชาวบ้านมีปืนจนมีคนถูกเสือกัดตายกลายเป็นความเคียดแค้น เรื่อง “เป็นหมาป่า” metafiction แนวประหลาดอีกเรื่องที่ชายนิรนามแฝงตัวเป็นตัวละครมือปืนรับจ้างยิงนักร้องคนโปรดที่เขาชื่นชอบในนิยายของเขา ที่ใส่รายละเอียดให้เข้ากับบรรยากาศการกักตัวช่วง COVID เอาไว้ได้อย่างทันสมัย  เรื่อง “จระเข้ตาขุน” เล่าตำนานชายที่กลายเป็นจระเข้แค้นรัก สลับกับการทำงานของคนงานติดป้ายหาเสียงให้นักการเมือง และสุดท้ายเรื่อง “ปลดแร้ว” ว่าด้วยการผจญภัยในขุนเขาและป่าใหญ่ของหลากหลายตัวละคร รวมไปถึงคนขึ้นผึ้งเก็บน้ำหวาน

                ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้งเนื้อหาและลีลาการเขียนของ จเด็จ กำจรเดช ใน  คืนปีเสือ และเรื่องราวของสัตว์อื่น ๆ แล้ว ก็คงจะบอกได้ทันทีว่า รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือเป็นงานที่นำพาแวดวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยแนวทางการประพันธ์อันเฉพาะตัวอย่างแปลกต่างและล้ำสมัย และไม่คิดจะหันมาประนีประนอมกับผู้อ่านเลยว่าจะรับภาระในการติดตามตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายได้หรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญกว่าคือการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครเล่าหรือถ่ายทอดเอาไว้ สมกับการเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่ดูจะเข้าทางตรงตามชื่อเต็มของรางวัลซีไรต์อยู่ไม่น้อยเลย

                นับเป็นอีกปีที่เหน็ดเหนื่อยกับการไล่อ่านรวมเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ทั้ง ๘ เล่ม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓  ด้วยความหนาของหลาย ๆ เล่มที่นักเขียนต่างจัดเต็มด้วยเนื้อหาและเรื่องราวที่หลากหลาย แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่แสนจะอิ่มอกอิ่มใจกับการไล่เสพเรื่องเล่าร่วมสมัยจากนักเขียนฝีมือดีที่เข้ามาชิงรางวัลกันอย่างสมศักดิ์ศรีในทุก ๆ รายเลยทีเดียว ส่วนสุดท้ายแล้วเล่มไหนจะเข้าป้าย จะกลายเป็นดับเบิลซีไรต์สามปีซ้อนหรือจะได้นักเขียนซีไรต์คนใหม่ ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปในงานแถลงข่าวประกาศผลวันศุกร์ที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เวลา ๑๔.๐๐ น. พอดี ตามที่คุณบัญชา อ่อนดี เขาได้บอกใบ้ไว้!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*