L’ELISIR D’AMORE โอเปร่าหรรษา กลางมหานครชานม
โดย ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทุกครั้ง ที่งาน ‘อุปรากร’ หรือ ‘โอเปร่า’ อมตะคลาสสิกในอดีต จะถูกนำมาตีความใหม่ด้วยบริบทร่วมสมัย ผ่านฝีมือของผู้กำกับผู้เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ เพื่อสะท้อนว่าเรื่องราวที่เคยเล่าขานกันมากว่าสองร้อยปี มันมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับโลกในยุคสมัยปัจจุบันอย่างไรบ้าง
เมื่อผู้กำกับหนุ่มไฟแรง ธาริน ปริญญาคณิต ซึ่งเพิ่งเรียนจบด้านการกำกับโอเปร่าจากอิตาลี มีโอกาสนำผลงานดังอย่าง L’elisir d’amore (เลลิซีร์ ดามอเร่) ของคีตกวีอิตาเลียน Gaetano Donizetti ซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1832 มาเล่าใหม่ด้วยการปรับฉากหลังให้กลายเป็นใจกลางกรุงเทพมหานครยุคปัจจุบัน ยุคที่ผู้คนต่างเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมสมัยซึ่งช่างแตกต่างห่างไกลจากเมืองเล็ก ๆ ในชนบทของอิตาลีเมื่อ 188 ปีที่แล้ว มันย่อมกลายเป็นงานมหรสพสุดพิเศษที่เปี่ยมไปด้วยความน่าสนใจ เชื้อเชิญให้ทั้งคนดูรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ต้องลองหาโอกาสสัมผัสกันด้วยตาตนเอง ว่าขนบแห่งการแสดงโอเปร่ามันสามารถคลี่คลายไปในทางใดในสหัสวรรษนี้
L’elisir d’amore ฉบับกรุงเทพฯ ของ ธาริน ปริญญาคณิต ไม่ได้จัดแสดง ณ โรงละครขนาดใหญ่ตามขนบการแสดงโอเปร่าโดยทั่วไป แต่ปรับมาเล่นที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยลดขนาดทั้งฉาก จำนวนนักแสดงประกอบ และวง orchestra ที่บรรเลง ให้เป็นการแสดงขนาดย่อม ๆ ทว่ายังรักษาเนื้อร้องและบทเพลงที่ Donizetti ใช้ในการเล่าเรื่องตามต้นฉบับภาษาอิตาเลียนกันแบบถ้วนครบ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มกับท่วงทำนองและเสียงร้องอันไพเราะตามต้นฉบับกันแบบไม่เสียอรรถรสเลย
เนื้อหาดั้งเดิมของ L’elisir d’amore เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อหนุ่มชาวนาขี้อาย Nemorino ที่ดันไปหมายปอง Adina สาวเจ้าของที่ดินผู้เลอโฉมและเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ โดยศัตรูหัวใจหมายเลขหนึ่งของ Nemorino ก็คือจ่าทหารหนุ่มหล่อ Belcore ที่ดีกว่าเขาในทุก ๆ ด้าน สุดท้าย Nemorino ก็ได้ไปขอยาเสน่ห์จากคุณหมอขายยากำมะลอ Dulcamara เพื่อทำให้ Adina หันมาสนใจเขา โดยที่ Nemorino ไม่ล่วงรู้เลยว่าในยาเสน่ห์ขวดนั้น มันผสมอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งใน L’elisir d’amore ฉบับนี้ ผู้กำกับ ธาริน ก็ได้ปรับตัวละคร Nemorino ให้กลายเป็นพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีเสื้อสีคุ้นผู้ขี้อาย ซึ่งได้มารู้จักกับ Adina เจ้าของร้านชานมที่ให้บริการพนักงานออฟฟิศใจกลางย่านสรรพสินค้า และต้องมาชิงรักหักสวาทกับจ่า Belcore นายทหารหนุ่มผู้มีอนาคต จนต้องไปอาศัยขอสูตรยาเสน่ห์จากพ่อค้าออนไลน์ Dulcamara จอมเจ้าเล่ห์ กลายเป็นเรื่องรักชวนหัวที่รักษาขนบดั้งเดิมของการแสดง opera buffa หรือ อุปรากรหรรษา ทว่านำเสนอในลีลาร่วมสมัยแบบละครเพลง romantic comedy
ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาเนื้อร้องและบทเพลงต่าง ๆ ของโอเปร่าเรื่องนี้ให้ยังคงมีความไพเราะตามต้นฉบับเดิมโดยให้นักร้องทุกรายร้องเป็นภาษาอิตาเลียน (ประกอบคำบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ไล่ฉายให้ได้อ่านกัน) และไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของบทเพลงแต่อย่างใด ทำให้การดัดแปลงในส่วนของท้องเรื่องให้มีความร่วมสมัยอาจทำได้ยาก แต่การแสดงฉบับนี้ก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการสร้างจอขนาดใหญ่เอาไว้ตรงริมซ้ายของฉาก เพื่อแสดงภาพสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ smartphone ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นข้อความใน Line หน้าจอ Facebook สำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่สามารถกด share กด like ไปจนถึงการตั้งกระทู้ปุจฉาในบอร์ดสนทนาว่าควรจะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ทำให้การแสดงสามารถสะท้อนมิติแห่งความร่วมสมัยของเรื่องราวได้อย่างประจักษ์ชัด ทั้งยังเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันที่ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ เพิ่มเติมอีก ในส่วนของฉากหลังที่เล่นสีสันแหววหวานด้วยโทนสดใสของบรรดาร้านค้าและป้ายประกาศต่าง ๆ ยั่วล้อกับการออกแบบลายทางของเครื่องแบบ uniform ที่ดัดแปลงมาจากแถบเส้นของ barcode สินค้า ก็สามารถขับเน้นพฤติกรรมบริโภคนิยมร่วมสมัยของผู้คนออกมาได้อย่างเด่นชัดยิ่ง ในขณะที่เรื่องราวชิงรักหักสวาทระหว่างสองหนุ่มก็สามารถสะท้อนภาพของมนุษย์ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาไม่ว่าพวกเขาจะมาจากยุคสมัยใด เชื่อมโยงโลกเก่าและโลกใหม่ให้หลอมรวมเป็นจักรวาลเดียวกันได้อย่างริเริ่มสร้างสรรค์จนน่าชื่นชม
ศศินี อัศวเจษฎากุล รับบทนำเป็น Adina ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องที่ไพเราะก้องกังวาน การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร โดยเฉพาะการแสดงกิริยาท่าทีต่าง ๆ ในแต่ละห้วงตอนที่แลดูถูกต้องและลงตัวไปเสียทุก ๆ ขณะ และถึงแม้ว่าการแสดงในคืนวันที่ 4 ตุลาคม ในช่วง climax เธอจะฟังดูอ่อนแรงลงไปบ้าง แต่ก็ยังอุตส่าห์พยายามประคับประคองอย่างสุดพลัง จนฟังดูเผิน ๆ ก็อาจไม่ทันสังเกตว่าเธอแรงหมด ส่วน นิคโคลัส มาลากุล ผู้รับบท Nemorino ด้านการร้องก็ไม่มีจุดน่าห่วงอะไร แต่ในการสวมบทบาทอาจยังขาดเสน่ห์การเป็น loser อันสำคัญจำเป็นที่จะมาต่อกรกับหนุ่มหล่อ Belcore ได้ ในขณะที่ ธนภัทร ตรีภูวนันทกุล และ พิชญะ เขมะสิงคิ ผู้รับบทเป็น Belcore และ Dulcamara ต่างก็ทำหน้าที่สนับสนุนตัวละครหลักทั้งสองของเรื่องได้อย่างดี โดยเฉพาะในบทบาทของ Dulcamara ที่ต้องอาศัยการร้องแบบเร็วและรัวจนแทบไม่มีจังหวะพักหายใจ ซึ่ง พิชญะ ก็ยังสามารถถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างมีความหมายในทุก ๆ คำที่เขารัวเปล่งออกมาเลย แต่สำหรับนักแสดง ensemble ที่แม้จะทำหน้าที่ประสานได้อย่างดีในส่วนของการร้อง แต่ในด้าน blocking และการ choreography ท่าทางในช่วงต่าง ๆ ของแต่ละคน ผู้กำกับ ธาริน อาจยังไม่ละเอียดสักเท่าไหร่ หลาย ๆ รายจึงยังออกอาการเก้ ๆ กัง ๆ บางช่วงก็ยกไม้ยกมือกันอย่างสะเปะสะปะกระจัดกระจาย หรือบางช่วงก็ยืนตระหง่านแบบทื่อ ๆ ไม่เห็นอากัปกิริยาสื่อความใด ๆ ซึ่งพอได้ดูการแสดงแบบใกล้ ๆ ก็อาจจะรู้สึกขัดได้มากเป็นพิเศษ
ทว่าเมื่อหันไปมองน้อง ๆ นักดนตรีที่อายุอานามของแต่ละคนไม่น่าจะเกิน 30 ปี ก็ไม่แปลกใจเลยที่การบรรเลงจะสนุกคึกคักและมีพลังแห่งวัยเยาว์ได้ถึงขนาดนี้ ภายใต้การควบคุมวงดนตรีโดยวาทยกร วรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ ซึ่งจะต้องลดขนาดวง orchestra จากเดิมทีควรจะมีนักดนตรีไม่น้อยกว่า 60 รายในการแสดงตามขนบเดิม เหลือเพียง 15 รายในการแสดงครั้งนี้ โดย วรปรัชญ์ ก็ใช้วิธีลดจำนวนผู้เล่นเครื่องสายให้เหลือเพียงชนิดละ 1-2 คน และให้นักดนตรีเครื่องเป่าทั้งเครื่องลมไม้และเครื่องทองเหลืองซึ่งมีเพียงชนิดละ 1-2 คนเช่นกัน ช่วยกันแบ่งไปเล่นแนวทำนองของเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่จำนวนผู้เล่นไม่เพียงพอ ส่วนเครื่องดนตรี harp ซึ่งอาจหาทั้งผู้เล่นและเครื่องดนตรีได้ยากเย็นก็แก้ปัญหาด้วยการเล่นด้วยการใช้เสียง harp จากเครื่อง digital piano แทน เรียกได้ว่า วรปรัชญ์ จำเป็นต้องเรียบเรียงแนวประสานสำหรับการแสดงในครั้งนี้อยู่มากพอสมควร เพื่อให้นักดนตรีทั้ง 15 ราย สามารถรับมือกับแนวดนตรีทั้งหมดได้ โดยยังรักษาความสมดุลของเสียงดนตรีที่ต้องไม่ดังกลบเสียงร้องของนักแสดงอีกด้วย แต่จากผลลัพธ์ที่ออกมาก็เรียกได้ว่า วรปรัชญ์ สามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้อย่างดี การบรรเลงยังคงมีความหนักแน่นและอลังการ ฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรตกหล่นไปจากงานต้นฉบับเลย
มองในภาพรวมแล้ว L’elisir d’amore ฉบับกรุงเทพฯ ของ ธาริน ปริญญาคณิต ที่เพิ่งจัดแสดงไปในช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงนับได้ว่าเป็นการแสดงโอเปร่าร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จและชนะใจได้ทั้งคอโอเปร่าที่ติดตามดูกันมานาน และผู้ชมที่เพิ่งมีประสบการณ์ชมเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ด้วยการประกาศชัดว่าการแสดงโอเปร่าแท้แล้วเป็นสิ่งที่แสนจะร่วมสมัย มิได้เป็นของเก่าโบราณแต่อย่างใด หรือคนที่อาจเคยรู้สึกหวั่นกลัวกับการชมโอเปร่าก็คงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ในทันทีว่า โอเปร่าเป็นอะไรที่สนุกหรรษาจะตาย!