อ่านบทกวีชิงซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ: ภาค Shortlist พ.ศ. ๒๕๖๒

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’  kalapapruek@hotmail.com

หลังจากได้แนะนำหนังสือกวีนิพนธ์ทั้ง ๑๐ เล่ม ซึ่งผ่านการคัดเลือกถึงรอบ Longlist การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ กันไปแล้ว  ในคราวนี้ก็ถึงโอกาสได้แนะนำหนังสือกวีนิพนธ์อีก ๘ เล่มที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาต่อไปว่าเล่มใดเหมาะสมและคู่ควรกับการประทับตรารางวัลซีไรต์มากที่สุด

                และขอชี้แจงเช่นเดิมว่าการประกวดในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ ‘กัลปพฤกษ์’ ได้รับเชิญไปร่วมเป็นกรรมการรอบคัดเลือก เพื่อเฟ้นสรรงานกวีนิพนธ์ที่ส่งประกวดจำนวน ๖๖ เล่ม เข้าสู่รอบ Longlist และ Shortlist ด้วย  ดังนั้นโดยมารยาทแล้วการเขียนถึงผลงานที่เข้ารอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ในครั้งนี้ จะไม่ขอเขียนในลักษณะการวิจารณ์เต็มรูปแบบ  แต่จะเขียนในเชิงรีวิว แนะนำหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบแต่ละเล่มว่ามี เนื้อหา ลีลา และความโดดเด่น ในแง่ใดกันบ้าง  โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักชวนให้ผู้ที่สนใจ ได้ลองหามาอ่านและแสดงทรรศนะขนานไปกับคณะกรรมการ สร้างบรรยากาศการอ่านงานกวีนิพนธ์ให้คึกคักไม่แพ้บทประพันธ์ประเภทอื่น ๆ เช่น นวนิยาย หรือรวมเรื่องสั้นเลย

สำหรับหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มีรายชื่อตามลำดับตัวอักษรดังนี้

๑. การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง  โดย  ธัชชัย  ธัญญาวัลย

(สำนักพิมพ์อาร์ตี้เฮ้าส์  พิมพ์ครั้งที่สอง เพิ่มเติมเนื้อหา)

การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง  เป็นงานกวีนิพนธ์ที่น่าจะสดแปลกแหวกแนวและล้ำสมัยที่สุดในบรรดากวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้  ประกอบไปด้วยบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ที่ ธัชชัย  ธัญญาวัลย  อธิบายความหมายของถ้อยคำต่าง ๆ  เช่น ‘ความเป็นจริง’ ‘ศีลธรรม’ ‘ความผิดบาป’ ‘ความย้อนแย้ง’ ‘ความสำเร็จ’ ‘ความสมบูรณ์’ ‘ความเกรี้ยวกราด’ ‘ความผิดหวัง’ ในลักษณะของการถกปรัชญา เพื่อสะท้อนว่า นิยามเหล่านี้ ไม่เคยมีข้อตกลงที่ตายตัวหรือเที่ยงแท้ว่าควรจะแปลความหมายออกมาทางใด แต่ละคนก็อาจมีมุมมองต่อคำ ๆ เดียวกันที่แตกต่างหลากหลายได้ แถมในบางครั้งความหมายก็อาจย้อนแย้งกลับไปกลับมา สร้างภาวะแบบปฏิทรรศน์ หรือ paradox ที่ชวนให้รู้สึกว่า แท้แล้วสองสิ่งซึ่งเราเคยเข้าใจว่าเป็นคู่ขั้วตรงข้ามกัน อาจมีต้นกำเนิดมาจากสิ่งเดียวกันก็เป็นได้ เช่น ในบท “เมื่อกล่าวถึง ความเกลียดชัง”

                                                                ในเหง้าที่งอกหน่อแห่งความรัก

                                                                ออกมาเป็นลำต้น กิ่ง ใบ และ ดอก ผล

                                                                คือเหง้าเดียวกับที่งอกหน่อแห่งความเกลียดชัง

                                                                เมื่อความเกลียดชังได้เติบโตขึ้น

                                                                จนบางครั้งเบียดเบียนความรัก

                                                                เราก็จะเป็นผู้ที่มีความเกลียดชัง

                                                                ลำต้น กิ่ง ใบ และ ดอก ผล

                                                                ของความเกลียดชัง

                                                                ย่อมสะพรั่งพร้อมแสดงปาฏิหาริย์…

                ลีลายุกยิกยียวนก่อกวนทุกขนบดั้งเดิมในแบบหลังสมัยใหม่หรือ post-modernism ของกวีนิพนธ์เล่มนี้ ได้สะท้อนมุมมองความคิดแบบคนร่วมสมัย ที่อาศัยคำกลอนอิสระมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ผ่านวรรณศิลป์ภาษาที่พยายามสื่อประเด็นความคิดอย่างตรงไปตรงมา ไม่มุ่งเน้นการประดิดประดอย  มีการใช้สัญลักษณ์หรือวิธีการบุคลาธิษฐานอยู่บ้าง หากจินตภาพที่ได้จะสอดคล้องกับมุมมองที่กวีต้องการจริง ๆ เช่นในบท “เมื่อกล่าวถึง ความโง่เขลา”

                                                                เมื่อเราปรารถนาจะออกจากความโง่เขลา

                                                                ความโง่เขลาที่เราเผชิญหน้าอยู่

                                                                ก็จ้องลึกเข้ามาในดวงตาของเรา

                                                                ราวกับจะถามว่า

                                                                แน่ใจแล้วหรือ

                                                                และเมื่อเรากะพริบตา…

                                                                อย่างโง่เขลา

                                                                เพียงเท่านั้น

                                                                ความโง่เขลาก็กลายร่างเป็นความฉลาด…

                ได้อ่าน การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง แล้ว ก็ชวนให้นึกย้อนไปถึงลีลาลักษณะคล้าย ๆ กันในงานกวีนิพนธ์ร้อยแก้ว หรือ prose poetry ชื่อ The Prophet (1926) ของ คาลิล ยิบราน ซึ่งเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ ปรัชญาชีวิต โดย ระวี ภาวิไล  ที่ให้นักปราชญ์มาอธิบายความหมายของคำแต่ละคำซึ่งย้อนแย้งกับนิยามเดิมที่เราเคยรับรู้ผ่านการปลูกฝังกันมาเช่นเดียวกัน  เพียงแต่น้ำเสียงและเนื้อหาของ ธัชชัย ธัญญาวัลย ใน การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง จะมีความร่วมสมัยมากกว่า ทั้งยังสามารถอธิบายภาวะหลังสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันได้อย่างดี โลกใบที่ความโลเลไม่แน่นอน ได้กลายมาเป็นสรณะแห่งทุกสรรพสิ่งไปเสียแล้ว

                การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ A Fool’s Guide to Making a Fool of Yourself โดยฝีมือการแปลของ Cholatep Nabangchang ซึ่งก็แปลได้ไพเราะงดงาม จนสามารถนำมาอ่านเป็นภาคต่อยุคปัจจุบันของ The Prophet โดย คาลิล ยิบราน ต้นฉบับภาษาอังกฤษได้อย่างดี

๒. กุมภาพันธ์บางทีก็มีฝน  โดย  วิสุทธิ์  ขาวเนียม

(นกเช้าสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งแรก)

วิสุทธิ์  ขาวเนียม  ดูจะเป็นกวีที่มีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการประพันธ์ที่โดดเด่นมากอีกคนหนึ่งในยุคสมัยนี้  เนื้อหาและลีลาใน กุมภาพันธ์บางทีก็มีฝน จึงยังมีสไตล์ที่คล้ายกับบทกวีชุด พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของเขาเอง ซึ่งเคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙

                กุมภาพันธ์บางทีก็มีฝน เป็นงานกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ กลอนสุภาพ และกาพย์ฉบัง ๑๖ ผสมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของมนุษยชาติ จากเรื่องราวตำนานของบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในโถงถ้ำ พัฒนามาสู่ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี ที่มนุษย์ผ่านอะไรต่าง ๆ มามากมาย กลายเป็นพงศาวดารฉบับย่อที่ วิสุทธิ์  ขาวเนียม ผสมผสานเกร็ดประวัติศาสตร์อันหลากหลายในบรรยากาศเหนือจริง ซ้อนทับกับภาพเหตุการณ์จริงในลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากบท “บนการเลื่อนไหลของความจริงจำนวนหนึ่ง” ที่สะท้อนภาพรวมของงานกวีในเล่มนี้ได้อย่างดี

                                                     บนโลกที่ใบไม้กลายเป็นหิน                          ซากสัตว์กลายเป็นฟอสซิลใต้ดินดิบ

                                                ดึกดำบรรพ์สสารผ่านกระซิบ                              เสียงเวลาล่องลิบเคลื่อนเวลา

                                                ยาวนานวานรสัญจรย่ำ                                        จากวิถีอารยธรรมหุบถ้ำผา

                                                สู่เรือนร่มเรียงราย บ้าน ชายคา                           ถึงคอนโดฯ โอ่อ่าใต้ฟ้าคราม

                                                การเลื่อนไหลของความจริงยิ่งชัดฉาย                เรือหนังกวางท้าทายหลายคำถาม

                                                ขวานหินขัดท้าทายหลายนิยาม                           ของพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดูฯลฯ

                ลีลากวีที่โดดเด่นของ วิสุทธิ์  ขาวเนียม คือการสลับแทรกสัญลักษณ์แปลกประหลาดชวนฉงน ปะปนกับประโยควลีที่สื่อความอย่างตรงไปตรงมา ท้าทายให้ผู้อ่านต้องพินิจใคร่ครวญว่า แต่ละสิ่งที่กวีกล่าวถึงนั้นหมายถึงสิ่งใด ถ้อยกวีของ วิสุทธิ์  ขาวเนียม จึงอุดมไปด้วยปริศนาที่อาจมิได้มีเจตนาให้ผู้อ่านต้องเข้าใจในทุก ๆ สิ่งอย่าง  ทว่ายังสามารถสัมผัสบรรยากาศเหลื่อมสลัวพร่ามัวแบบเบลอ ๆ ที่กวีสร้างขึ้นมาอย่างได้อรรถรส  อ่านแล้วจะเหมือนเข้าใจในทุก ๆ ถ้อยคำที่กวีเอ่ยออกมา แต่ถ้าจะให้เล่าต่อว่าเขากำลังกล่าวถึงอะไร บางครั้งก็ให้คำตอบได้ยากอยู่เหมือนกัน เช่นในบท “เหนือโค้งสะพานที่ยี่สิบเอ็ด”

                                                                หลังมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์คผ่านมาเคาะประตูบ้าน

                                                                หอยทากอนาล็อกก็เลิกสร้างรอยแผลแก่ดอกโฮย่า

                                                                แมวสีสวาดผสมพันธุ์กับแมวเปอร์เซีย

                                                                ดีเอ็นเอนกแขกเต้าหลอมรวมกับดีเอ็นเอนกแก้วมาคอร์

                                                                หลานชายของโจรขมังเวทย์เปลี่ยนรูปโปรไฟล์

                                                                เป็นรูปพระพุทธเจ้าอุลตร้าแมน…

                อย่างไรก็ดี ความคมคายเชิงวรรณศิลป์ที่ปรากฏใน กุมภาพันธ์บางทีก็มีฝน ของ วิสุทธิ์  ขาวเนียม ก็ทำให้ความรู้สึกฉงนฉงายอาจกลายเป็นความงดงามที่มีเสน่ห์เย้ายวนชวนให้ทำความเข้าใจ ไม่ต่างจากที่อัครกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ เคยสร้างความน่าอัศจรรย์อันชวนตะลึงพรึงเพริดไว้ในงานกวีนิพนธ์แฟนตาซีหลาย ๆ ชิ้นของเขา

๓. ด้วยก้าวของเราเอง  โดย  ‘ธมกร’

(แพรวสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งแรก)

นามปากกา ‘ธมกร’ อาจเป็นนามที่ค่อนข้างใหม่ เนื่องจากมีผลงานกวีนิพนธ์ตีพิมพ์ออกมาเล่มนี้เป็นเพียงเล่มที่ ๓ และเคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วกับผลงาน เมฆาจาริก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖  แต่จริง ๆ แล้ว ‘ธมกร’ เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของกวีที่สร้างผลงานชั้นดีให้วงการกวีนิพนธ์ไทยมายาวนานหลายสิบปี  และ ด้วยก้าวของเราเอง ก็เป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี ว่ากวีผู้นี้มีความช่ำชองในการประพันธ์คำกานท์สมกับที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน จากผลงานที่กวีสามารถร้อยเรียงถ้อยคำได้อย่างไพเราะลื่นไหล ไม่ว่าจะฉันทลักษณ์ใด หรือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไร กวี ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างหมดจดงดงามราวไม่ต้องใช้ความพยายามเลย

                เนื้อหาใน ด้วยก้าวของเราเอง เป็นการเฝ้ามองผู้คนตัวเล็ก ๆ หรือปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ รอบตัวกวี ที่อาจมิได้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ทว่าด้วยสายตาที่มองทะลุอย่างผู้ที่ผ่านเรื่องราวชีวิตมาอย่างยาวนาน ความคิดอ่านของกวีก็ยังคงไว้ซึ่งความลึกซึ้งคมคาย ฉายมุมมองเล็ก ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามได้ ในลักษณะของคนช่างสังเกตช่างคิด

                จุดเด่นในงานกวีของ ‘ธมกร’ คือการใช้ภาษาที่ฟังดูคล้ายการชวนสนทนาอย่างน่าฟัง หลาย ๆ บทก็แต่งออกมาเป็นการพูดคุยของตัวละครคล้ายบทละคร สร้างความมีชีวิตชีวาด้วยภาษาพูดที่จัดลงฉันทลักษณ์ได้อย่างงดงาม ดังตัวอย่างในบท “ไอ้ทิดข้าวดิบ”

                                                     “หม้อข้าวมิทันจะเดือด                    น้ำมิทันเหือด

                                                ฉิบหาย! ใครหวาราไฟ”

                                                เสียงยายสบถพึมไป                             ขณะเกรียกไม้

                                                เป็นเชื้อไฟใหม่ใส่เตา

                                                “ข้าเห็นไอ้ทิดมันเอา                              ตะหลิวตักถ่านเถ้า

ต่อไฟไปตีผึ้งรวง…”

                นอกจากนี้ ‘ธมกร’ ยังนิยมใช้อักษรตัวเอียง เพื่อแสดงเสียงหรือความคิดที่ต่างมุมไปอยู่บ่อยครั้ง สร้างมิติให้กาพย์กลอนของเขามีแง่มุมที่หลากหลายและลึกซึ้งได้มากขึ้น เช่นในบท “ศัลยกรรมข้ามศตวรรษ” ที่มุ่งแดกดันเสียงโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมความงามด้วยตัวอักษรเอียง

                                      …แถลงการณ์ศัลยกรรมยังย้ำกล่าว             ผ่าตัดตาตาเห็นยาวโลกเหลนหลาน

                                    อนาคตที่มืดมนอนธการ                             จะบันดาลทิศทางสว่างชีวิต

                                    ผ่าตัดหูหูจะเพียงยินเสียงใจ                         ยินเสียงเท็จสาไถยแยกถูกผิด

                                    เข้าถึงคำทุกคำถึงความคิด                          แม้เสียงจิตใต้สำนึกอันลึกลี้…

                ความไพเราะงดงามของบทกวีแต่ละบทใน ด้วยก้าวของเราเอง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ‘ธมกร’ เป็นนักประพันธ์ที่มีความเป็น ‘กวี’ อยู่ในสายเลือดจริง ๆ  ถ้อยโวหารของเขาพรั่งพรูออกมาโดยไม่ต้องกางผังฉันทลักษณ์คิดหาตำแหน่งสัมผัส ราวภาษากวีเป็นภาษาที่เขาพูดอยู่แล้วเป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะชวนคุยด้วยจังหวะคำใด หรือหยิบยกประเด็นเรื่องราวไหน  ‘ธมกร’ ก็พร้อมจะตอบโต้สนทนาด้วยภาษาแห่งคำกานท์ได้เสมอ

๔. ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ  โดย  รินศรัทธา  กาญจนวตี

(สำนักพิมพ์ออน อาร์ต  พิมพ์ครั้งแรก)

ตามที่ประกาศไว้เป็นคำโปรยบนหน้าปกกวีนิพนธ์เล่มนี้ รินศรัทธา  กาญจนวตี เป็นกวีหญิง “ผู้ไร้ดวงตา” เนื่องจากเธอได้สูญเสียการมองเห็น งานกวีนิพนธ์ ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ จึงโดดเด่นด้วยเนื้อหาของผู้ที่มีลักษณาการทางร่างกายเฉพาะที่มิอาจมองเห็นโลกผ่านดวงตาอีกต่อไป และจะมาบอกเล่าสื่อสารกับผู้อ่านที่ยังมองเห็นว่าโลกของเธอมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผ่านบทกลอนเป็นฉันทลักษณ์หลัก

                เนื้อหาของ ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ แบ่งออกเป็น ๔ ภาคด้วยกัน คือ “โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา” เล่าประสบการณ์ส่วนตนของผู้ที่สูญเสียการมองเห็น “ประจักษ์ค่าชีวิต (แม้มิดแสง)” สะท้อนมุมมองต่อผู้คนอื่น ๆ ในสังคม “รู้สึก ความรัก ความเปลี่ยนแปลง” ระบายความรู้สึกต่าง ๆ เกี่ยวกับความรัก และ “ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด” ใคร่ครวญถึงการเติบโตทางปัญญาและอุดมการณ์

                บทกวีที่น่าจะเป็นเสียงแทนเนื้อหาหลักใน ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ของ รินศรัทธา  กาญจนวตี ได้อย่างดี ก็เห็นจะเป็นบท “จากฉัน ผู้ไร้ดวงตา” ในส่วนของคำนำ ที่เธอเล่าว่าโลกในความมืดของเธอเป็นเช่นไร

                                                     ฉันมิได้มองโลกกว้างเหมือนอย่างคุณ           ถึงโลกหมุนอย่างไรฉันไม่เห็น

                                                แม้แต่ภาพตะวันและจันทร์เพ็ญ                           รูปเงาเป็นอย่างไรฉันไม่รู้

                                                โลกของฉันมืดยิ่งกว่าหลับตาสนิท                      แต่ดวงจิตฉันสว่างกระจ่างอยู่

                                                และทุกวันฉันใช้หัวใจดู                                        ยังคงสู้และพร้อมไม่ยอมแพ้…

                ในขณะที่บางบท รินศรัทธา  กาญจนวตี กลับสามารถใช้โวหารสร้างจินตภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมทรงพลัง ราวประพันธ์โดยกวีที่ดวงตายังคงมองเห็น เช่นในบท “แรงเทียน” จากภาค “ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด”

                                                     พายุจัดพัดกล้าฟ้ามืดมิด                                 ทั้งสี่ทิศมัวหม่นทุกหนแห่ง

                                                ทั้งสองเท้าก้าวข้ามแม้หนามแทง                         ทั้งสองมือถือแสงจากแรงเทียน

                                                เอาไออุ่นจากอกช่วยปกป้อง                               ค่อยประคองคงแผ่มิแปรเปลี่ยน

                                                เก็บความหลังทั้งหมดเป็นบทเรียน                      เร่งพากเพียรรวมแสงต้านแรงลม…

                นอกเหนือจากจินตภาพและมุมมองที่แตกต่างจากกวีที่ยังมองเห็นโดยทั่วไปแล้ว บทกวีของ รินศรัทธา  กาญจนวตี ยังมีความพิเศษที่แสดงให้เห็นเลยว่า กวีให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘เสียง’ เป็นอย่างมาก ทั้งจังหวะ และการลงตำแหน่งคำ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสสระ สัมผัสอักษร ที่กวีได้ร้อยเรียงไว้อย่างพิถีพิถันและใส่ใจเป็นพิเศษ กลอนของ รินศรัทธา  กาญจนวตี จึงอ่านแล้วลื่นไหลให้สุ้มเสียงที่ไพเราะ จนชวนให้รู้สึกว่า กวีนิพนธ์ เป็นงานประพันธ์ที่ต้องสัมผัสด้วยการอ่านออกเสียงเท่านั้น ไม่สามารถอ่านเงียบ ๆ ในใจได้เลย หากไม่เชื่อคุณผู้อ่านลองอ่านออกเสียงบทกวีที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นเปรียบเทียบดู ก็น่าจะสัมผัสรู้ได้ว่า ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ให้สังคีตสำเนียงที่ฟังแล้วกำซาบผ่านโสตประสาทหู พุ่งเข้าสู่หัวใจเราได้จริง ๆ

๕. ฝันของฝูงกระต่าย  โดย  ศิริวร  แก้วกาญจน์

(ผจญภัยสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งแรก)

ผลการคัดเลือกงานกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ ได้สร้างสถิติใหม่ให้กับงานวรรณกรรม S.E.A. Write Shortlist เป็นที่เรียบร้อย เมื่อ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้ครองตำแหน่งนักเขียนที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือจำนวนถึง ๙ เล่ม มากกว่า วัฒน์  วรรลยางกูร และ ประชาคม  ลุนาชัย ที่มีคนละ ๘ เล่มเท่ากัน  ซึ่งจะขอย้อนทวนสถิติทั้ง ๙ เล่มที่ว่า ไล่มาตั้งแต่กวีนิพนธ์ ประเทศที่สาบสูญ พ.ศ. ๒๕๔๗  รวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง พ.ศ. ๒๕๔๘  นวนิยาย กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด พ.ศ. ๒๕๔๙  กวีนิพนธ์ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก กับ ลงเรือมาเมื่อวาน พ.ศ. ๒๕๕๐ พร้อมกัน  รวมเรื่องสั้น ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่น ๆ พ.ศ. ๒๕๕๑  กวีนิพนธ์ ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง พ.ศ. ๒๕๕๓  นวนิยาย โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า พ.ศ. ๒๕๕๕  และมาถึงกวีนิพนธ์ ฝันของฝูงกระต่าย สำหรับพ.ศ. ๒๕๖๒ นี้

                ด้วยจำนวนผลงานที่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายมามากถึงขนาดนี้ก็คงเป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีว่า ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นนักประพันธ์ร่วมสมัยที่มีฝีไม้ลายมือเจนจัดมากที่สุดคนหนึ่ง และไม่เฉพาะกับรูปแบบการประพันธ์ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น ทว่าเขายังช่ำชองทั้งการเขียน นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ และไร้ฉันทลักษณ์ เลยทีเดียว

                ฝันของฝูงกระต่าย  เป็นงานกวีนิพนธ์ที่ผสมผสานบทกวีฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์เข้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย ๔ ภาค คือ “ชนเผ่าเร่ร่อนในโลกออนไลน์” “ฝันของฝูงกระต่าย” “กาแฟและหนังสือ” และ “ต้นไม้ไม่อยากเป็นเรือ”  จุดเด่นในงานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ คือการแสดงปฏิกิริยาต่อภาพข่าว เหตุการณ์สำคัญทั้งทางด้านสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเรื่องอื่น ๆ ด้วยสายตา อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความคิดนึกในแบบกวี  แม้รายละเอียดของเนื้อหาอาจเป็นสิ่งที่ผู้อ่านรับรู้อยู่แล้ว จากข่าวสารและความเป็นไปรอบตัว แต่ ศิริวร แก้วกาญจน์ ก็มีมุมมองและกลวิธีที่น่าสนใจมาเล่าใหม่ได้เสมอ ทำให้งานกวีนิพนธ์ของ ศิริวร  แก้วกาญจน์ รวมถึงใน ฝันของฝูงกระต่าย มักจะสดใหม่ด้วยเนื้อหาร่วมสมัย เป็นบทบันทึกอันเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ของเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ทีมนักฟุตบอลหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑  ศิริวร  แก้วกาญจน์ ก็ชวนให้เราระลึกถึงคืนวันอันตึงเครียดเหล่านั้นได้อย่างสะเทือนอารมณ์ ในบท “เจ้าหมูป่า เจ้าหมาน้อย (1)”

                                                                                เจ้าหมูป่า…                            หนึ่ง สอง สาม เล่นซ่อนหา อย่าซ่อนหาย!

                                                สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า เจ้าซ่อนกาย                   ซอกมุมมืดมากมายให้เสาะค้น

                                                     เส้นทางวกวนยากค้นหา…                              เจ้าก็รู้มิถุนาฯ ฟ้าอาบฝน

                                                ฤดูกาล ขานกู่ฤดูกล                                      เถอะเลิกเล่นซุกซน เลิกซุกทราย

                                                     นอกก็มืด ในก็หนาว เจ้าก็รู้                             ลมลำเลียงเสียงกู่ แล้วเงียบหาย

                                                เจ้าหมูป่า ยินไหมเล่าเจ้าลูกชาย                        เลิกละเล่นเร้นกาย หมายเล่นกล…

                ในส่วนบทกวีฉันทลักษณ์ เช่น กลอนต่าง ๆ ศิริวร  แก้วกาญจน์ นิยมใช้วิธีการตัดจำนวนคำ การเว้นวรรค และการใช้เครื่องหมาย … ในการขับเน้น ‘ช่องไฟไร้เสียง’ ให้มีบทบาทโดดเด่นเทียบเท่ากับช่วงของการเปล่งคำ ทำให้จังหวะกวีของ ศิริวร แก้วกาญจน์ มีการทอดห้วงเวลา เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สัมผัสภาษาและเนื้อหาของบทกวีอย่างมีสุนทรียะยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างบท “เจ้าหมูป่า เจ้าหมาน้อย (1)” ข้างต้น

                ไม่เพียงแต่เรื่องราวความเป็นไปในประเทศไทยเท่านั้น ศิริวร แก้วกาญจน์ ยังสนใจความเป็นไปอันชวนสะเทือนใจในต่างประเทศ ดังจะเห็นจากตัวอย่างบท “ตุ๊กตาพลีชีพ” ที่กล่าวถึงข่าวเด็กหญิงวัยสิบขวบกับระเบิดพลีชีพที่ไนจีเรียเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘

                                                                กลายเป็นระเบิดพลีชีพ

                                                                เด็กหญิงชาวไนจีเรีย

                                                                อายุ 10 ขวบ

                                                                ผู้ใหญ่ใจดีคนไหนหนอ

                                                                ส่งเธอออกมากับตุ๊กตาแปลกประหลาด

                                                                ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวันเด็ก

                                                                ซื้อตั๋วไปสวรรค์ด้วยชีพเพื่อนร่วมชาติ

                                                                กลางตลาดสด

                                                                เพียงพริบตา

                                                                วันเวลาหนึ่งทศวรรษวับหาย

                                                                เลือดเนื้อและลมหายใจ

                                                                ถูกทำให้ไร้ค่า

                ฝันของฝูงกระต่าย จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่คล้ายเป็นบทบันทึกร่วมสมัย ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์อันไม่น่าเชื่อใดบนโลกใบนี้บ้าง ถ่ายทอดอย่างพิถีพิถันด้วยลีลากวีที่มีความเฉพาะตัว เป็นตัวอย่างได้อย่างดีว่างานกวีนิพนธ์ยังเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่ไปด้วยกันได้กับน้ำเสียงและประเด็นร่วมสมัย ไม่แพ้เรื่องสั้น หรือนวนิยาย

๖. ระหว่างทางกลับบ้าน  โดย  อังคาร  จันทาทิพย์

(ผจญภัยสำนักพิมพ์  พิมพ์ครั้งที่สาม เพิ่มเติมเนื้อหาจากการพิมพ์ครั้งแรก)

แชมป์เก่าเพียงหนึ่งเดียวที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์อีกในปีนี้ คือ อังคาร  จันทาทิพย์ เจ้าของรางวัลซีไรต์จากหนังสือรวมบทกวี หัวใจห้องที่ห้า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่กลับมาร่วมชิงชัยกับผลงานเล่มใหม่ ระหว่างทางกลับบ้าน และอาจสร้างปรากฏการณ์ ‘ดับเบิลซีไรต์’ สองปีซ้อน หลังจากที่ วีรพร นิติประภา เคยทำสำเร็จไว้ในการประกวดเมื่อปีก่อน

                ระหว่างทางกลับบ้าน เป็นงานกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่  กวี อังคาร  จันทาทิพย์  ได้วางโครงเนื้อหาของบทกวีแต่ละชิ้นให้มีความเกี่ยวโยงกับความหมายของ ‘บ้าน’ ในหลากหลายมิติ  ทั้งบ้านที่เป็นรูปธรรมของตัวอาคารเหย้าเรือน  บ้านที่หมายถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว  บ้านที่หมายถึงประเทศและถิ่นฐานมาตุภูมิ  ไปจนถึงภาวะไกลบ้าน ไร้บ้าน หรือการถูกขับออกจากบ้านของชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งผู้อพยพลี้ภัย หรือชาวโรฮิงญา เป็นต้น

                บทที่โดดเด่นมากที่สุดในเล่ม ก็เห็นจะเป็น “คนสร้างบ้าน” ที่ อังคาร  จันทาทิพย์ ใช้อุปกรณ์สร้างบ้านชนิดต่าง ๆ มาเป็นต้นความคิดหรือสัญลักษณ์บอกเล่าชีวิตอันแร้นแค้นขัดสนของชนชั้นแรงงานได้อย่างมีจินตนาการ เช่น

                                                                        ‘สว่านและดอกสว่าน’

                                                   แขนขา เคยฝากไว้ในโรงจำนำ                          เติมค่าแรงขั้นต่ำ ระส่ำระสาย

                                                น้อง ม.ต้น เปิดเทอมที พี่ ม.ปลาย                       ครั้นจะขาย กลัวบาปกรรม เครื่องทำกิน

                                                มีเงิน มีงาน มีบ้านอยู่                                            แรงกายสู้ แรงใจไม่เคยสิ้น

                                                สัมมาอาชีพบีบให้ชิน                                            มาจากดิน กร้านดำ ธรรมดา

                                                ดอกเจาะไม้ ใช้เจาะปูน สูญเสียเปล่า                 ผู้ผ่อนหนัก ผ่อนเบา อย่างเขาว่า

                                                ตื้น ลึก เจาะอย่างไร ใช้เวลา                                                งานบางหน้า บ้านบางหลัง ทั้งชีวิต

                ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ภาพเทียบและสัญลักษณ์ ซึ่ง อังคาร  จันทาทิพย์ สรรค์สร้างไว้อย่างคมคายเสมอในบทกวีหลาย ๆ ชิ้นของเขา  นอกจากนี้จุดเด่นอีกประการในงานกวีนิพนธ์ของ อังคาร  จันทาทิพย์ ก็คือ เขานิยมใช้ ภาษา สัญลักษณ์ เครื่องหมาย อีโมติคอน และวิธีการสื่อสารร่วมสมัย ของผู้คนในยุคปัจจุบัน มาสลับคั่นกับคำกวี สร้างสีสันและบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกถึงความทันสมัย นำฉันทลักษณ์เก่ามาผสมผสานกับลีลาภาษาใหม่ ๆ ได้อย่างลงตัว เช่นในบท “บ้านของเรา (อยู่ในสังคมออนไลน์)”

“ขำจุงเบย คิดบวก พวกล้าหลัง… ^__^”

“พ่อเคยบอกหลายครั้ง  หยุดทั้งคู่…!”

“$%#^ พวกโลกสวย เดี๋ยวซึ้ง เดี๋ยวมรึงรู้…”

“พ่อคะหนูอ่านตำราจนตาลาย… @__@”

“อัพเฟซ เล่นไลน์ สิไม่ว่า… *__*”

“*^&$# บลา บลา บลา ยิ่งเล่น เฟรนด์ยิ่งหาย…”

“พักรบก่อน พี่ขอสั่งครั้งสุดท้าย!…”

“ไอ้ปากร้าย พ่อคะพ่อ มันล้อเลียน… %#&^”

                ระหว่างทางกลับบ้าน จึงเป็นงานที่ร่วมสมัย มีเนื้อหาใกล้ตัวและเป็นสากล อ่านง่าย ใช้ภาษาได้อย่างสนุก มีการอ้างอิงวัฒนธรรมร่วมสมัย และที่สำคัญคือให้ภาพสัญลักษณ์ที่ชัดเจนและคมคาย เข้าถึงได้ทั้งนักอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

๗. ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้  โดย  ชญรัตน์  ชญารัตน์

(สำนักพิมพ์สมมติ  พิมพ์ครั้งแรก)

ผลงานกวีนิพนธ์เล่มแรกของกวีหนุ่ม ชญรัตน์  ชญารัตน์ ที่สะท้อนห้วงความคิดของคนหนุ่มผู้ไม่พอใจต่อสภาพชีวิต สังคม การเมือง และผู้คนในยุคปัจจุบัน กึกก้องไปด้วยน้ำเสียงแห่งความเกรี้ยวกราดและอัดอั้น สลับกับการกล่าวถึงคนใกล้ชิดและหญิงคนรัก ด้วยท่าที หนักแน่น ครุ่นคิด ขึงขัง เอาจริงเอาจังในทุก ๆ วรรควลี  กวีระบายความรู้สึกต่าง ๆ จากห้วงภายในผ่านบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่มีทั้ง บทกวีแคนโต้ กลอนเปล่า กลอนอิสระ กวีนิพนธ์ร้อยแก้ว ไปจนถึงนิทานกวีนิพนธ์  ด้วยถ้อยคำที่กระแทกกระทั้น ใช้กระบวนสัญลักษณ์เป็นอาวุธในการกล่าวโจมตีผู้มีอำนาจจากความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย ให้ภาพอันหดหู่ชวนสิ้นหวังของสังคมรอบตัวเราในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็ดูจะไร้แสงสว่างส่องชี้ทางออก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบท “ความทรงจำในคืนวันอันปกติ” ที่กล่าวถึงการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

                                                                …ความทรงจำในคืนวันอันแสนปกติ

                                                                รถถังเพ่นพ่านตะกุยผิวถนนเหวอหวะ

                                                                ท่านนายพลประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี

                                                                คำรามกร้าวกลบเสียงประชาชนนับล้านล้าน

                                                                ฉีกรัฐธรรมนูญปลิวว่อนดุจห่าฝน

                                                                รุ่งสางอาทิตย์ส่องแสงสะท้อนภาพเดิมสู่นัยน์ตา

                                                                คืนวันอันปกติสุขผ่านพ้นไปอีกเช่นเดิม

                                                                ความทรงจำประทับฝังแน่น

                                                                รอคอยการปฏิวัติครั้งหน้าด้วยหัวใจอันเป็นปกติสุข

                ความโดดเด่นของบทกวีใน ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ คือ ชญรัตน์  ชญารัตน์ ใช้วิธีและน้ำเสียงการบอกเล่าอันหลากหลายในการถ่ายทอดความคิดอ่านของเขาเอง มีทั้งการเล่าสถานการณ์จากมุมมองของบุรุษที่สาม การใช้สรรพนามแทนตนเองในหลายนัยยะทั้ง ผม ฉัน ข้า ข้าพเจ้า ไปจนถึงการถ่ายทอดด้วยบทพูดเดี่ยว monologue หรือบทสนทนาระหว่างตัวละคร แต่ที่สำคัญคือ ชญรัตน์  ชญารัตน์  สามารถเฟ้นสรรถ้อยคำเพื่อระบายความคิดอ่านของเขาออกมาได้อย่างจริงใจ ทุกถ้อยคำตัดพ้อ บริภาษ ล้วนแสดงว่าสถานการณ์ได้ผ่านพ้นเลยจุดที่เขาจะทนต่อไปไหว จึงต้องระเบิดความไม่พอใจผ่านการแสดงทรรศนะอันทรงพลัง ดังเช่นในบท “อารยชนผู้ชอบตะเบ็งเสียงอย่างรื่นรมย์” ที่ประชดประชันผู้ประกาศตนว่าเป็น ‘คนดี’ ทั้งหลายได้อย่างแสบสัน

                                                                เพียงเพื่อจะบอกว่าคุณเป็นคนดี

                                                                คุณไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงกรอกใส่หูผม

                                                                ผมรู้แล้ว,

                                                                จริงจริงนะ  ผมรู้แล้วคุณเป็นคนดี

                                                                แต่บางครั้งคุณควรจะให้เกียรติแก้วหูผมบ้าง

                                                                มันรู้ว่าคุณเป็นคนดี

                                                                ก่อนที่สมองจะสั่งการให้ผมรู้ว่าคุณเป็นคนดีเสียอีก

                ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่แสดงภาพแทนน้ำเสียงของกวีรุ่นใหม่ผู้ไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมืองในยุคปัจจุบัน  ถึงแม้เนื้อหาออกจะหนักหน่วง หม่นมืด เลือกข้าง และชวนให้หดหู่สิ้นหวังถึงเพียงไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือเสียงที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่มกำลังรู้สึกอยู่จริง ๆ  พวกเขาจึงต้องออกมาตัดพ้อต่อคนรุ่นก่อน ๆ ว่า เหตุใดจึงยอมปล่อยให้พวกเขาเติบโตมาในสังคมที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้…

๘. ไฮโซ…เชียล  โดย  ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย

(Hi-So-Cial Publishing  พิมพ์ครั้งแรก)

จากงานกวีเล่มหนัก ๆ อย่าง ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ ก็ขอปิดท้ายกันด้วยกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์เนื้อหาข้ามผ่านกาลเวลาลีลาอ่อนหวาน ขบขัน น่ารัก ๆ ชื่อ ไฮโซ…เชียล ของกวีนามใหม่ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย  ไฮโซ…เชียล เป็นงานกวีนิพนธ์กาพย์กลอน ที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านจากชีวิตในโลกแอนะล็อก สู่ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล ท่ามกลางสังคมแห่งการสื่อสารผ่านตัวตนและรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ๆ ภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย เพื่อสะท้อนว่าภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนสามารถแตกต่างราวเป็นคนละโลกได้อย่างไร

                ความพิเศษของบทกวีใน ไฮโซ…เชียล คือ แม้ว่าส่วนเนื้อหาจะแสดงความรู้สึกโหยหาชีวิตอันเรียบง่ายในอดีตกันอย่างชัดเจน แต่ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย ก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะต้องงดงามและน่าจดจำกว่าโลกในยุคปัจจุบันเสมอไป  ทว่ากวีสามารถแสดงทรรศนะที่สะท้อนได้อย่างสมดุลว่า โลกเก่ากับโลกยุคปัจจุบันมันก็มีทั้งข้อที่น่าพิสมัยและไม่น่าพิสมัยในมุมที่ต่างกันไป และไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคไหน มันก็มักจะมีปัญหามากวนอกกวนใจเราได้เสมอ  การเปรียบเทียบโลกอดีต-ปัจจุบัน ของ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย ใน ไฮโซ…เชียล จึงมักเป็นการส่องสะท้อนสัจธรรมแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่ทุกสิ่งอย่างจะต้องปรับรูปรอยให้เข้ากับยุคสมัย แม้ว่าในส่วนของกิเลสและความต้องการของมนุษย์ทั้งหลายจะยังคงเผาไหม้และลุกโชนต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด ดังตัวอย่างจากบท “ดารา”

                                                                     จอเงินเดินทางสู่จอแก้ว                   ยุคผ่านลมแผ่วแล้วขื่นขม

                                                                หนังโศก ทีวีสีเศร้าตรม                         เด็กก้มจิ้มหน้าจอ, ไม่ง้อดารา

                                                                พื้นที่มีให้ได้ปล่อยของ                          ทุกช่องทุกทางดั่งปรารถนา

                                                                เฟซบุ๊ก ไอจี ยูทูปท้า                              ชั่วพริบตา ชั่วเลื่อนจอก็โด่งดัง

                อย่างไรก็ดี งานกวีของ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย ก็มิได้ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับรูปธรรมแต่เพียงผิวเผินเท่านั้น หากยังพิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของผู้คน ว่าการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างไรบ้าง ดังเช่นในบท “ดอกรัก” ซึ่งสะท้อนถึงระดับการแสดงออกที่ต่างกันของคนสองรุ่นได้อย่างเห็นภาพ

                                                                     รักใครชังใครไม่ปริปาก                    ชอบมากรักมากอยากชิดใกล้

                                                                เกลียดเขาชังเขาไม่เข้าใจ                     ซ่อนเก็บข้างในไม่ให้รู้

                                                                ปล่อยวางปล่อยไว้ให้เวลา                  เผื่อว่าต่อไปได้เคียงคู่

                                                                อาจเกลียดอาจกลายเป็นเชิดชู           ศัตรูอาจกลับกลายเป็นมิตร

                                                                เด็กน้อยคนนั้นในวันก่อน                     นึกย้อนสะท้อนใจในวิกฤติ

                                                                ยุคนั้นความลับปิดมิดชิด                      ยุคนี้ความคิดเปิดเผยนัก

                                                                “นี่คุณกำลังคิดอะไร?”                          รักใครชอบใครไม่เก็บกัก

                                                                โกรธใครเกลียดใครด่าทะลัก                               ให้โลกรู้จักด้านมืดตน

                ไฮโซ…เชียล ของ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย  จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่เปรียบดั่งสะพานทอดเชื่อมโลกอดีตแห่งความทรงจำกับความล้ำสมัยแห่งยุคปัจจุบันได้อย่างสมดุลและมั่นคง จากสายตาของผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ในโลกใบเก่า ทว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหม่ได้อย่างชวนพิเคราะห์  เหมาะจะเป็นงานกวีที่คนรุ่นเก่าควรอ่านเพื่อรับรู้ทรรศนะมุมมองของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตแบบเก่าว่าเคยมีมุมงามอย่างไร แม้จะเป็นความงามที่พวกเขาไม่อาจย้อนเวลากลับไปสัมผัสได้อีกแล้ว . . .

กวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้ง ๘ เล่มนี้ จึงถือเป็นผลงานที่มีความเข้มข้นในแนวทางของตัวเอง พอที่จะเป็นภาพแทนส่วนหนึ่งของความหลากหลายของงานกวีนิพนธ์อีก ๕๘ เล่มที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ได้  ซึ่งสุดท้ายแล้วเล่มไหนจะคว้ารางวัลใหญ่ไป ก็คงต้องลุ้นกันจากการประกาศของคณะกรรมการชุดตัดสิน  แต่สำหรับผู้อ่านโดยทั่วไปแล้ว งานกวีนิพนธ์เล่มที่ถูกใจ ก็อาจเป็นกวีเล่มอื่น ๆ ที่ผ่านเข้ารอบ Shortlist, Longlist หรือที่ไม่ได้เข้ารอบมาก็เป็นได้  ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินกว่าในบรรดากวีนิพนธ์ทั้ง ๖๖ เล่มนี้ คงต้องมีอย่างน้อยสักหนึ่งเล่ม ที่จะกลายเป็น

ขอขอบคุณ  คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ สำหรับหนังสือกวีนิพนธ์ที่ใช้ในการรีวิวครั้งนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*