อ่านบทกวีชิงซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ: ภาค Longlist พ.ศ. ๒๕๖๒
โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับกวีนิพนธ์ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบตัดสิน หรือ Shortlist ของการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา โดยมีผลงานในรอบ Shortlist จำนวน ๘ เล่มด้วยกัน
ซึ่งการประกวดในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ ‘กัลปพฤกษ์’ ได้รับเชิญไปร่วมเป็นกรรมการรอบคัดเลือก เพื่อเฟ้นสรรงานกวีนิพนธ์ที่ส่งประกวดจำนวน ๖๖ เล่ม เข้าสู่รอบ Longlist และ Shortlist เพื่อส่งไปยังรอบตัดสินด้วย ดังนั้นโดยมารยาทแล้ว การเขียนถึงผลงานที่เข้ารอบรางวัลซีไรต์ดังที่เคยนำเสนอกันมาสำหรับรอบ พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ จะไม่ขอเขียนในลักษณะการวิจารณ์เต็มรูปแบบ แต่จะเขียนในเชิงรีวิว แนะนำหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบแต่ละเล่มว่ามี เนื้อหา ลีลา และความโดดเด่นในแง่ใดกันบ้าง โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักชวนให้ผู้ที่สนใจได้ลองหามาอ่านและแสดงทรรศนะขนานไปกับคณะกรรมการ โดยจะขอเริ่มต้นจากกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Longlist จำนวน ๑๐ เล่ม ไล่ไปตามลำดับตัวอักษร ก่อนจะมาแนะนำหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Shortlist อีก ๘ เล่มในลำดับถัดไป สำหรับหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Longlist รางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจในลีลาของตนเอง มีรายชื่อดังต่อไปนี้
๑. ขณะเดินทางใน โดย วัฒนา ธรรมกูร
(สาระฅนสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่สอง ปรับปรุงใหม่)
สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ วัฒนา ธรรมกูร มีผลงานกวีนิพนธ์ผ่านเข้าสู่รอบ Longlist พร้อมกันถึง ๒ เล่ม เล่มแรกเป็นรวมบทกวีกาพย์ยานี ๑๑ ล้วน ที่มีเนื้อหาสะท้อนห้วงความคิดแห่งการเจริญสติตนตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา เพื่อนำพาชีวิตไปสู่ครรลองแห่งความสงบง่าย หลุดพ้นจากกิเลสและความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง กวีได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ บรรพ คือ บรรพ ๑ “คราเริ่มต้น” บรรพ ๒ “ด้นทางตัน” บรรพ ๓ “ผ่านผันไป” แต่และบรรพก็จะมีบทประพันธ์ กาพย์ยานี ๑๑ ยาวสองบทหลายสำนวน เรียงร้อยสัมผัสไปตลอดทั้งเล่ม
เนื้อหาของ ขณะเดินทางใน เรียกได้ว่าเป็นการใคร่ครวญหลักธรรมะของผู้ที่แสวงหาความสงบในชีวิต จากผู้ที่เข้าใจ และได้นำไปปฏิบัติจริง ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนแบบเล่าให้ฟัง โดยปราศจากท่าทีแบบเทศนาโวหารจนผู้อ่านไม่รู้สึกว่าถูกสั่งสอนแต่อย่างใด ด้านวรรณศิลป์ภาษาก็ดำเนินไปอย่างละมุนละไม ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ๆ ในการอธิบายข้อคิดต่าง ๆ ดังตัวอย่างบทที่ ๑๒ ในบรรพ ๒
เพราะจิตเข้าตามจับ เพียงวะวับเงาเคลื่อนไหว
ก็รู้ตื่นเรืองไร ลึกซึ้งนัยสิ่งเหล่านั้น
แท้แล้วกาลเวลา ล้วนนำพาทุกแปรผัน
ขณะปัจจุบัน จึงรู้ทันความจริงแท้
หรือบทที่ ๒๘ ในบรรพ ๒
ไม่ปล่อยยิ่งอ่อนเปลี้ย ถือละเหี่ยยิ่งไห้โหย
ร่ำไรยิ่งร่วงโรย ยิ่งเฆี่ยนโบยจิตตะบัน
หน่วงเหนี่ยวยิ่งทุกข์หนัก ไม่ผ่อนพักยิ่งเพี้ยนผัน
บาปกรรมของใครกัน นี่สวรรค์ นั่นนรก!
ขณะเดินทางใน จึงเป็นงานกวีนิพนธ์แฝงคติธรรมที่นำเสนอได้อย่างง่ายงาม ผสานความคิดและความรู้สึกแห่งความสงบนิ่งของชีวิตได้อย่างลงตัว ทั้งยังมีความเป็นสากลจนผู้อ่านไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็น่าจะเข้าถึงได้ไม่ยาก
๒. คืนเหง้าเหล่ากอ โดย วัฒนา ธรรมกูร
(สาระฅนสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก)
งานกวีนิพนธ์เล่มที่สองของ วัฒนา ธรรมกูร ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Longlist สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นการรวมบทกลอนดอกสร้อยสำเนียงท้องถิ่นอีสานสะท้อนภาพชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่นไปตลอดทั้งเล่ม กวีเลือกใช้ภาษาอีสานในการสร้างบรรยากาศ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่รู้ภาษาอีสานไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้ อย่างไรก็ดี กวีได้ผสมผสานคำท้องถิ่นอีสานเหล่านี้กับคำไทยที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ทำให้ผู้อ่านที่แม้ไม่รู้ภาษาอีสานก็ยังพอจับเนื้อความสำคัญได้ โดยที่คำท้องถิ่นเหล่านี้ กลับกลายเป็นสีสันที่ทำให้กลอนดอกสร้อยในกวีนิพนธ์ “สร้อยมาลีลาวอีสาน” เล่มนี้ มีจิตวิญญาณความเป็นอีสานที่แท้ คล้ายเป็นการเปิดประตูเชื้อเชิญให้ผู้อ่านจากภาคอื่น ๆ เข้าไปทำความรู้จักภาพชีวิตและภาษาถิ่นของแดนอีสานด้วยท่าทีอันเป็นมิตร จนถ้อยคำที่ไม่รู้ความหมายเหล่านั้น มิได้เป็นอุปสรรคสำคัญแต่อย่างใด
คืนเหง้าเหล่ากอ แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ สดมภ์ คือ สดมภ์ ๑ “ฮีตเก่า-คองหลัง” สดมภ์ ๒ “บ้าน-วัด-โฮงเฮียน” สดมภ์ ๓ “วิถีคน-ป่า-อาหาร-งานชีวิต” สดมภ์ ๔ “ฟ้า-ดิน-น้ำ-นา” และ สดมภ์ ๕ “เยียวยาปัจจุบัน” มีตัวอย่างกลอนดอกสร้อยบทเด่น ๆ เช่น “เฮ็ดบุญ”
เฮ็ดเอ๋ยเฮ็ดบุญ ได้แต่คุณบ่มีโทษประโยชน์หลาย
ผู้เฮ็ดบุญคุณค้ำอยู่ซำบาย ทุกข์ฮ้อนคลายภายในหัวใจเฮา
ใผเฮ็ดดีให้ซ่อยดันซ่อยกันยู้ ซ่อยยกซูญ้องส่าสาธุเขา
กำลังใจให้เกิดประเสริฐเนา สืบฮากเหง้าเผ่าพงศ์บุญส่งเอย
หรือ บท “ขัวหอย”
ขัวเอ๋ยขัวหอย เลาะนำฮอยหอยลี้หอยหนีหน้า
ฮอดยามแล้งลมอ้าวส่งข่าวมา หิ้วกะต่าคอนเสียมน้อยค่อยขัวเอา
เอาแค่พอเพียงอยู่พอฮู้ค่า ฮู้หม่องหาหอยเป็นเห็นฮากเหง้า
ฤดูกาลหอมกลิ่นผืนดินเฮา แลงนี้เข้าครัวพร้อมอ่อมหอยเอย
กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงนับเป็นงานกวีนิพนธ์ท้องถิ่นที่ถ่ายทอดภาพชีวิตและวัฒนธรรมแห่งความเป็นอีสานได้อย่างน่ารัก และจริงใจ รักษาถ้อยภาษาที่สะท้อนอัตลักษณ์แห่งตัวตนเอาไว้ ในขณะที่ยังคงเป็นมิตรกับผู้อ่านต่างท้องที่
๓.จุดตัดบนฟากฟ้า โดย มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม
(สำนักพิมพ์สมมติ พิมพ์ครั้งแรก)
นับเป็นกรณีที่น่าเศร้า เมื่อกวีผู้ประพันธ์ผลงานชื่อ จุดตัดบนฟากฟ้า นั่นคือคุณ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม จะเสียชีวิตลงระหว่างการพิจารณาผลงานที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่การพิจารณาของคณะกรรมการก็ยังดำเนินต่อไป เนื่องจากคุณ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ยังมีชีวิตอยู่ขณะส่งผลงานเข้าประกวดตามที่กำหนดไว้ในกติกา
กวีนิพนธ์ จุดตัดบนฟากฟ้า เป็นผลงานรวมกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ที่สะท้อนมุมมองความคิดของกวีที่มีต่อตนเอง ครอบครัว และความเป็นไปต่าง ๆ ในสังคม ด้วยท่าทีขึงขัง ครุ่นคิด ผสมผสานลีลาแบบสัจนิยมกับจินตนาการเหนือจริงเอาไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว น้ำเสียงงานกวีของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม มีความเกี้ยวกราด รักความยุติธรรมในแบบคนหนุ่ม สุ้มเสียงถ้อยคำของเขามักเป็นการกู่ร้องให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมทั้งหลายในสังคม กระตุกกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นจากงานกลอนอิสระชิ้นเด่น ๆ เช่น “เขียนชื่อของพวกเราลงไปสิ”
ด้วยแรงงานของพวกเรา
แลกเหงื่อบำรุงชาติ
หากประวัติศาสตร์
ลืมเขียนชื่อของพวกเราในธนบัตร
เพื่อนเอ๋ย… จงหยิบดินสอขึ้นมา
เขียนว่า ‘ประชาชน’ …
หรือในบท “เราหั่น จิตร ภูมิศักดิ์ ออกเป็นท่อน”
จิตร ภูมิศักดิ์ มีคนเดียว
จะหั่นแบ่งกันอย่างไร
หากคุณวาดความตายครั้งต่อมา
ตวัดเส้นปากกาให้ถึงท้องพระคลัง
จะค้นภาพเหมือนเช่นความตายของ จิตร ภูมิศักดิ์
ที่คุณนักคิดนักเขียนอัครศิลปินวันนี้
ไม่อยากละลืม…
จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจยิ่ง ที่กวีหนุ่มฝีมือดีและมีวี่แววว่าอนาคตจะไปได้ไกล จะด่วนจากโลกวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยก่อนเวลาอันควร ‘กัลปพฤกษ์’ ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไป ของกวีหนุ่ม มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ไว้ ณ ที่นี้
๔. ตามฝูงปลาออกไป โดย ปราชญ์ อันดามัน
(ผจญภัยสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก)
ตามฝูงปลาออกไป เป็นงานกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ที่กวี ปราชญ์ อันดามัน แสดงทรรศนะความคิดที่เขามีต่อสังคมรอบตัว ไปจนถึงโลกกว้าง โดยมีภาพของฝูงปลาเป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทางเพื่อเรียนรู้ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล เนื้อหาของ ตามฝูงปลาออกไป แบ่งออกเป็น ๔ ภาค คือ “หายไปในมหาสมุทร” “หลุดลอยจากแรงโน้มถ่วง” “ผ่านไปทางนั้นบ้างไหม?” และ “ชิ้นส่วนจากงานรื่นเริง”
งานกลอนอิสระส่วนใหญ่ใน ตามฝูงปลาออกไป เป็นการผสมผสานการใช้สัญลักษณ์ และการวิพากษ์ถึงประเด็นทางสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเมืองร่วมสมัยอย่างตรงไปตรงมา กวีแสดงความคิดเห็นที่แสดงขั้วข้างอย่างชัดเจน เหน็บแนม ประชดประชัน นักการเมืองชนชั้นปกครอง ด้วยถ้อยคำที่อ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงใครหรืออะไร เช่น ในบท “ไม่มีอาชญากรที่มีชื่อนายพลนักรัฐประหาร”
ไม่มีอาชญากรที่มีชื่อนายพลนักรัฐประหาร
พวกเขากลายเป็นเจ้าของความยุติธรรม
อยู่เหนือคำพิพากษาทั้งปวง
เป็นนักรบที่ไม่มีสมรภูมิ
เป็นนักประกอบสร้างความดี
ผู้คอยสั่งสอนศีลธรรมที่ตัวเองไม่มี
เป็นนักเศรษฐศาสตร์คิดคำนวณจีดีพีให้แก่เจ้าสัว
เป็นญาติสนิทที่รักใคร่กับพ่อค้าอาวุธ
ผู้เสกสรรถ้อยคำตัวโน้ตดนตรีกล่อมเกลาพลเมือง…
แต่จุดที่พิเศษคือ ตามฝูงปลาออกไป ไม่ได้สนใจวิพากษ์ถึงประเด็นสังคมการเมืองในบ้านเราเท่านั้น หากยังสนใจความเป็นไปโดยเฉพาะสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกกว้างอีกด้วย เช่น ในบท “ยังเหลือบันไดอีกกี่ขั้น”
คุณไปทริโปลี ลิเบียอีกสักครั้งไหม?
หลังกลับมาจากซูดาน
คุณไม่เบื่อที่จะไปอเลปโป ซีเรีย
คุณต่อบันไดกระดูกได้กี่ขั้นแล้ว
บันไดที่จะไปสู่สรวงสวรรค์ของคุณ
นับจากแบกแดด
ข้ามทะเลทรายไปถึงคาบูล อัฟกานิสถาน…
ตามฝูงปลาออกไป จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่สามารถจะลึกซึ้งคมคาย พร้อม ๆ กับกร้าดเกรี้ยวแสดงความไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมาได้ในเวลาเดียวกัน มีเนื้อหาที่มีความร่วมสมัยเป็นปัจจุบัน ส่องสะท้อนสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกบ้านเราได้อย่างกว้างขวางและมีพลัง
๕. นกในกรงของเพื่อนบ้าน โดย ปรเมศวร์ กาแก้ว
(ผจญภัยสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก)
นกในกรงของเพื่อนบ้าน เป็นงานกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์เชิงสัญลักษณ์ สะท้อนภาพสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันบูดเบี้ยว ซึ่งนักปกครองผู้มีอำนาจ บริหารบ้านเมืองเพียงเพื่อหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง มองประชาชนเป็นนักเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ที่ต้องมอมเมาให้กลับมาอยู่ในโอวาทและการควบคุม
แม้กวีจะมิได้ระบุชัดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในกวีนิพนธ์เล่มนี้หมายถึงเพื่อนบ้านของใคร ชาติใด แต่ภาพเปรียบที่กวีเลือกใช้ก็สามารถให้มโนภาพได้อย่างชัดเจนและทรงพลัง ด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันประชดประชันในระดับชวนสิ้นหวัง ถ่ายทอดผ่านมุมมองของนักปกครองที่ต้องกำราบประชาชนให้อยู่ในอาณัติตลอดเวลา โดยล่อลวงว่า พวกเขายังมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ เช่นในบท “เปิดประตูไว้ให้แล้ว” ที่ ปรเมศวร์ กาแก้ว ประชดประชันการเปิดประตูให้เสรีภาพแก่ประชาชน ที่โดนรัฐย่ำยีชำเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนไม่สามารถลุกเดินไปไหนเองได้ อย่างแสนเจ็บแสบ
แช่แข็งจินตนาการเรา
มัดมือมัดเท้าปิดปากปิดตา
เฆี่ยนตีด้วยอำนาจในมือ
เฝ้าดูมัดกล้ามเนื้อยึดกระดูกเราอ่อนแรง
กดหัวลงถังสวะความรู้
เฆี่ยนตีซ้ำ ๆ ให้เลือดซึม
ไหลออกทางรูขุมขนขื่นคาว
ขึงพืดขังเราไว้ในห้องอับชื้น
โยนถาดอาหารบิดเบี้ยวแสยะยิ้ม
ปรบมือชื่นชมลมหายใจ
แล้วเปิดประตูทิ้งเราไว้ในนั้น
กวี ปรเมศวร์ กาแก้ว มีพรสวรรค์ในการเฟ้นเลือกถ้อยคำที่ให้ภาพพจน์ สื่อความหมายและความคิดได้อย่างหนักแน่นคมคาย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากบทกวีสั้น ๆ เพียง ๔ บรรทัด ที่เจ็บแต่จุกในทุก ๆ วรรค อย่างบท “ไม่ต้องเก่งการฆ่า”
ไม่ต้องเก่งการฆ่า
แค่รู้วิธีทำให้ตายก็พอ
อาวุธอาจไม่ต้องคม
แค่เฉยชาและเลือดเย็น
นกในกรงของเพื่อนบ้าน จึงเป็นงานกวีนิพนธ์แนวสยองขวัญอิงการเมือง ที่สะท้อนพฤติกรรมอันอำมหิตเลือดเย็นของนักปกครองที่จ้องจะเอารัดเอาเปรียบประชาชนของตนตลอดเวลา ด้วยลีลาแดกดันประชดประชันอันหดหู่และหม่นมืด อย่างไม่รู้จักคำว่าประนีประนอม
๖. นิราศนรกานต์ และ เรื่องอื่น ๆ โดย จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี
(สำนักพิมพ์ยักษ์วรรณยุกต์ พิมพ์ครั้งที่สอง)
นิราศนรกานต์ และ เรื่องอื่น ๆ ของกวีหญิง จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี ประกอบไปด้วยกลอน ๘ จำนวน ๘ สำนวน โดยมีงานชิ้นเด่นเป็นคำประพันธ์ประเภทนิราศร่วมสมัยอยู่ ๒ สำนวน คือ “นิราศนรกานต์” และ “นิราศพระโขนง” ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘นิราศ’ แต่แนวทางการประพันธ์ก็ไม่ได้ยึดอิงกับขนบการครวญนางระหว่างการเดินทางแบบดั้งเดิม เนื่องจาก จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี ได้ให้เสียงของสตรีเป็นผู้เล่าทั้งใน “นิราศพระโขนง” และบางส่วนของ “นิราศนรกานต์” โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ฉากหลังของการเดินทางร่วมสมัย เช่นใน “นิราศนรกานต์” ที่เล่าถึงการพลัดพรากในนรกภูมิยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการบรรยายถึงการเดินทางผ่านสายน้ำ ดังตัวอย่าง
เรือลอยผ่านย่านตลาดนัดมือสอง ที่ริมคลองหลังคาผ้าใบเขียว
ขายอ้อยควั่นมันเผาข้าวไข่เจียว มะม่วงเปรี้ยวมันหวานละลานตา
เชิญลูกค้ามาลองชิมของอร่อย เนื้อลาบก้อยตั้งร้านอยู่ด้านขวา
ขนมไทยใส่มะพร้าวข้าวหนุกงา กล้วยน้ำว้าแผงหวยห่อกล้วยกวน
หรือใน “นิราศพระโขนง” ที่ จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี ได้นำตำนานแม่นากพระโขนง มาเล่าเป็นนิราศร่วมสมัย ใช้เสียงตัวละครสตรีคือ นางนากแม่ลูกอ่อน เป็นผู้บรรยาย และปรับการเดินทางมาเป็นการโดยสารรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท แทน ดังตัวอย่าง
สถานีแพรกษา ทางขึ้นรถไฟฟ้าตามลูกศร
เปิดขึ้นฟรีดีใจได้หลบร้อน แม่ลูกอ่อนพิงหลังนั่งสบาย
ศูนย์การค้าใหญ่ตั้งทั้งสองข้าง ตึกใหม่สร้างสองฝั่งยาวทั้งสาย
รถราเต็มถนนคนมากมาย แย่งกันเกิดแย่งกันตายแย่งหายใจ
ความแปลกใหม่ใน นิราศนรกานต์ และ เรื่องอื่น ๆ จึงเป็นการนำขนบการประพันธ์และตำนานเล่าขานดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี มาเล่าใหม่ในบริบทร่วมสมัย ให้ภาพที่แปลกต่างออกไป ถือเป็นการนำของเก่าผสมของใหม่ได้อย่างกลมกล่อมน่าลิ้มลอง
๗. แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน
โดย อานนท์ นานมาแล้ว
กวีนิพนธ์ซ่อนรหัสแฝงนัยชวนให้ฉงนฉงายไปกับความหมายที่ซุกเร้นทั้งระหว่างคำและระหว่างบรรทัด แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน ของ อานนท์ นานมาแล้ว เป็นหนังสือรวมบทกวีฉันทลักษณ์ ซึ่งมีทั้ง กลอน ๘ กาพย์ยานี ๑๑ และกาพย์ฉบัง ๑๖ แทรกด้วยกลอนอิสระในบางบท ที่มีน้ำเสียงและลีลาเฉพาะตัวอันโดดเด่น จะว่าอ่านยากก็ยาก จะว่าอ่านง่ายก็ง่าย เพราะกวีมักไม่ได้เอ่ยถึงสิ่งที่เขากำลังกล่าวถึงโดยตรง แต่ใช้กระบวนสัญลักษณ์หรือความคิดแบบนามธรรมมาสร้างมวลบรรยากาศที่อ่านแล้วก็ยังรับรู้ได้ว่าเขากำลังกล่าวถึงสิ่งใด
แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ภาค คือ “ฟ้าตอนนี้ ฟาฏอนี” และ “ปราการปรากฏ” โดยในภาคแรกมีบทกวีที่อ่านแล้วชวนให้สะเทือนใจแม้จะยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ากวีหมายถึงเสียงอะไร นั่นคือบท “เสียงที่ดังกว่าระเบิด”
เสียงที่ดังกว่าระเบิดเกิดอีกครั้ง ความหวังดั่งเรื่องเล่าแสนตลก
คุณอยากขำทั้งแววตาหวั่นสะทก โลกหมุนเวียนไหลวกความเกลียดชัง
เสียงที่ดังกว่าระเบิดเกิดอีกแล้ว แก้วกี่ใบแตกกระจายใครคลุ้มคลั่ง
เลือดใครไหลลูกฉันล่ะกลับหรือยัง แหละนั่นใครถูกฝังทั้งน้ำตา
หรือในภาคที่สองที่กวียังคงถ่ายทอดความคิดที่แฝงไว้ด้วยปริศนาชวนให้ตีความ อย่างในบท “เมื่อลมหายใจ”
เมื่อลมหายใจเล่าเรื่องตลก ความสะทกจะหัวร่องอขำ
เมื่อน้ำตารวมตัวเต้นระบำ เลือดที่หลั่งจะโค้งนำก่อนจูงมือ
เมื่อเสียงสะอื้นยาวนานกังวานเสนาะ เสียงปืนก็จำเพาะเพราะคนถือ
เมื่อความตายกลายเป็นคำร่ำลือ เสียงกระซิบจะกระพือปีกแห่งชัย
ซึ่งนับเป็นลีลาร่วมสมัยที่ทั้งแปลกใหม่และท้าทาย สะท้อนให้เห็นถึงชั้นเชิงการประพันธ์ของกวีที่ไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา ทว่ายังสามารถให้ภาพพจน์ในแบบที่กวีต้องการได้ด้วยพลังแห่งถ้อยคำ
๘.โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว โดย ภิรเดช แก้วมงคล
(กากะเยียสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก)
โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว เป็นงานรวมกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ที่วางกรอบโครงเนื้อหาหลักไว้อย่างชัดเจนว่าจะกล่าวถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่กวี ภิรเดช แก้วมงคล เคยทำงานเป็นครูสอนมามากกว่าสิบปี ในช่วงที่เทคโนโลยีร่วมสมัยทำให้วิถีแห่งการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ทับถมทบทวี แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีแบบสมัยใหม่ ด้วยประสบการณ์ตรงของกวีในฐานะครูผู้สอน ทำให้ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ใน โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว มีความกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งยังสะท้อนไปถึงต้นตอได้ว่ามูลเหตุของแต่ละความยุ่งยากกำเนิดมาจากสิ่งใดหรือผู้ใด แต่ด้วยความล่มสลายที่ลุกลามไปทั้งระบบ ก็ทำให้การแก้ปัญหาเฉพาะจุดไม่อาจช่วยอะไรได้ และต้องมองไปในภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้น
เนื้อหาของ โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว แบ่งออกเป็น ๕ บรรพ คือ “ประถม ก.ไก่” “โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว” “ห้องเรียนคุณธรรม” “ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ” และ “ภาพถ่ายทรงจำ” โดยมีบทเด่น ๆ ที่ประจานพฤติกรรมแบบผักชีโรยหน้าของสถานศึกษา เช่น “FACE OFF โรงเรียน”
Face off โรงเรียน
ในสลัมถ้อยคำ
กระจก ๗ ด้าน ๒๐ ตัวบ่งชี้ชะตากรรม
คุณธรรมข้างรั้ว
จริยธรรมข้างฝา
ภาพพจน์ไวนิล
ความดีภาพถ่าย
ศัลยกรรมรายงาน
ทาสีราชรถ
ตัดต่อพันธุกรรมนักเรียนอีพี
มอบโล่ความเด่น เน้นยอดกดไลน์
หรือในบท “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์”
คลีนนิ่งอาคารเรียน
ขณะคราบเลอะเกาะใจ
สร้างภาพวาดมโน
เพื่ออัพโหลดในโซเชียล
แข่งขันกันโปรยยิ้ม
ถือป้าย โชว์ไม้กวาด
ทั้งที่หลังคามีรูรั่ว
ความดีพลัดตกขอบหน้าต่าง…
โดยกวีได้แทรกเชิงอรรถ อธิบายศัพท์เฉพาะทางการศึกษาให้ผู้อ่านนอกวงการได้เข้าใจกันอย่างกระจ่างอีกด้วย โรงเรียนที่ไม่มีประตูและลืมล้อมรั้ว จึงเป็นงานกวีนิพนธ์ที่เจาะประเด็นเฉพาะด้านได้อย่างหนักแน่นและลึกซึ้ง ถ่ายทอดในลีลากวีไร้ฉันทลักษณ์ด้วยภาษาที่เรียบง่าย นำผู้อ่านไปสู่หัวใจของแต่ละปัญหาได้อย่างตรงจุด
๙. สายฝนบอกการมีอยู่ของฤดูหนาว โดย อนาคาริก
(สำนักพิมพ์โอเรกุรัม พิมพ์ครั้งที่สอง ปรับปรุงเนื้อหา)
สายฝนบอกการมีอยู่ของฤดูหนาว เป็นงานรวมกลอนอิสระไร้ฉันทลักษณ์ ที่กวีมุ่งสำรวจฤดูกาลแห่งอารมณ์ความรู้สึกภายในของตนเอง เปรียบเทียบกับฤดูกาลแห่งดินฟ้าอากาศ เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ “ฤดูหนาว” “ฤดูร้อน” และ “ฤดูฝน” แสดงการใคร่ครวญสัจธรรมแห่งชีวิต ตามหลักพุทธ เซน และเต๋า ผ่านการย้อนมองร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมต่าง ๆ ของกวีเอง ของผู้คนรอบข้าง รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ตามธรรมชาติในแต่ละฤดู วิธีการถ่ายทอดมีลักษณะของบันทึกอนุทิน แสดงสิ่งที่เข้ามากระทบใจกวีในแต่ละช่วงเวลา เพื่อค้นหาความหมายทางปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่กวีพบเห็น เช่น ในส่วนที่สี่ของบท “อย่ากลัวการเดินทาง”
พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนในสถานีเดินทาง
ที่ที่ไม่มีใครรู้จัก
ที่ที่ปัจเจกแสดงตัวอย่างอิสระ
จักเห็นจิตที่นิ่งและจิตที่วุ่นของตัวเอง
จิตที่วุ่นดุจดั่งผู้คนที่สัญจรรอบตัว
จิตที่นิ่งคือจิตที่มองเห็นจิตที่วุ่น
โลกคือสนามของการเรียนรู้ตัวเอง
นี่คือการฝึกจิตชั้นอนุโลมที่สุด
หรือถ้อยบันทึกในส่วนที่เจ็ดของบท “จงเป็นชีวิต”
ตื่นตอนเที่ยงวันพลันพบสบแดดจ้า
เมื่อคืนอุรายังจำถึงฟ้าขุ่นระเรื่อ
ฝนตกปรอย ๆ พรำลงมาประพรมทางเดิน
ไยฟ้าดินไม่รวมฤดูกาลทั้งมวลในชั่วอึดใจเดียว…
อนาคาริก ถ่ายทอดภวังค์ความคิดต่าง ๆ ด้วยน้ำเสียงที่เรียบง่าย อ่อนโยน ละมุนละไม ฉายให้เห็นประกายธรรมจากสิ่งที่เราพบเจอกันจนเป็นปรกติธรรมดา มีท่าทีอันอบอุ่นและเป็นมิตร ชวนให้ผู้อ่านอยากรู้จัก อยากติดตาม ไปตลอดความหนาถึง ๒๑๖ หน้า ของกวีนิพนธ์เล่มนี้
๑๐. ฮาบพนาสูง โดย คำเมือง ราวะรินทร์
(สาระฅนสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก)
สำหรับกวีนิพนธ์รอบ Longlist การประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี ๒๕๖๒ เล่มสุดท้าย ฮาบพนาสูง ก็เป็นกวีนิพนธ์ภาษาถิ่นอีสานที่มีความเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มอยู่พอสมควร เนื่องจากกวี คำเมือง ราวะรินทร์ นำเสนอเนื้อหาด้วยการใช้กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ลักษณะต่าง ๆ มาอธิบายความหมายและการใช้คำศัพท์อีสานโบราณ จากวรรณคดีที่จารึกบนเอกสารใบลานซึ่งไม่ใคร่เป็นที่รู้จักกันแล้ว โดยกวีได้เรียกถ้อยคำเหล่านี้ว่า “ซากคำจากสุสานศัพท์นิรนาม” คัดสรรเรียงตามลำดับตัวอักษร ก-ฮ แล้วแต่งกวีนิพนธ์อธิบายประกอบ ซึ่งคำอธิบายก็ยังคงใช้ภาษาอีสานคำอื่น ๆ ในการถ่ายทอดความหมายด้วย เช่นในคำว่า “เนี่ยน” ซึ่งเป็นชื่อกับข้าวชนิดหนึ่ง
เบิ่งโค้งปิ้งงูกระเพาะกระอึกกระอัก
บิดเกี้ยวเลี้ยวเบี่ยงสิหัก เพลารถ
ฮากแตกตาลายใจสั่นระรัวระทึกระทด
แหลกแหลวปานบักเขือบด อัน “เนี่ยน”
แฮ่งเห็นแฮ่งสิกระหืดกระหอบกระเหียน
กล้ำกลืนสิฝืนเลี่ยน เป็นลม
หรือในคำว่า “บ้อน” ซึ่งแปลว่า ผุดขึ้น
มีวังน้ำเอิ้นแก้งกลอย ลงลอยท่าปลาสลิด
ทั้งจอบ “บ้อน” หย่อนเบ็ดชิด หม่องสถิตซุมเด็กน้อย
ฮาบพนาสูง จึงเป็นงานกวีนิพนธ์เฉพาะกลุ่ม ที่ผู้ที่ไม่รู้ภาษาอีสานมาก่อนอาจทำความเข้าใจได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ภาษาถิ่นอีสาน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทย และ ฮาบพนาสูง ก็แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยด้านคลังคำศัพท์ของภาษาเฉพาะถิ่นในท้องที่นี้ได้อย่างมีสีสัน และเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงอันหลากหลายแห่งฉันทลักษณ์กวีนิพนธ์
สำหรับกวีนิพนธ์เล่มอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาในรอบ Longlist ก็ล้วนมีน้ำเสียงและแนวทางของกวีแต่ละรายที่น่าสนใจ แต่ละเล่มสามารถยกวรรคทอง หรือคัดบทเด่น ๆ ดี ๆ ออกมาได้ทั้งสิ้น และกรรมการบางท่านก็อาจประทับใจเล่มใดเล่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพียงแต่ในกระบวนการคัดเลือกร่วมกันในฐานะคณะกรรมการก็จำเป็นต้องพิจารณาจากภาพรวมของกวีนิพนธ์ทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวด และลงมติคัดเลือกในนามหมู่คณะ ในขณะที่กวีนิพนธ์อีกหลายเล่มที่ไม่แม้ได้เข้ารอบมา ก็ยังคงมีคุณสมบัติของความ ‘น่าอ่าน’ อย่างหลากหลาย เป็นหลักฐานอันดีว่าพลังสร้างสรรค์ของงานกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยยังคงลุกโชนไม่แพ้ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งยังวิวัฒน์พัฒนาไปสู่น้ำเสียงใหม่ ๆ ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
ขอขอบคุณ คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ สำหรับหนังสือกวีนิพนธ์ที่ใช้ในการรีวิวครั้งนี้