จาก “The Grand Tango” ถึง “Crossover” : คอนเสิร์ตหีบเพลงชักจากอาคันตุกะ 2 ทวีป

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

ช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ผู้ฟังชาวไทยได้มีโอกาสต้อนรับนักดนตรีประเภทหีบเพลงชักจาก 2 ทวีป คือ ดาเนียล รุจเจียโร (Daniel Ruggiero)จากประเทศอาร์เจนตินา และ คานาโกะ คาโตะ (Kanako Kato)จากประเทศญี่ปุ่น โดยมีวง Pro Musica เป็นผู้จัดงาน และได้ อ.ดร.ทัศนา นาควัชระ ร่วมบรรเลงกับนักดนตรีรับเชิญทั้ง 2 รายการ โดยรายการแรกของคุณรุจเจียโร ใช้ชื่อว่า “The Grand Tango” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ณ หอแสดงดนตรี อาคารสยามกลการ ส่วนอีกรายการหนึ่งของคุณคาโตะ ชื่อว่า “Crossover” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ณ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ทั้งสองรายการนี้ถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านดนตรีคลาสสิกให้แก่ผู้ฟังชาวไทยเป็นอย่างยิ่งซึ่งผมเองได้ไปร่วมรับฟังการแสดงทั้ง 2 รายการ

Daniel Ruggiero
(ภาพจาก http://www.quintoelementoweb.com.ar/daniel-ruggiero-el-tango-tiene-su-convocatoria-y-como-atraccion-cultural-es-de-gran-riqueza.html)

Kanako Kato
(ภาพจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000001982

หากพูดถึงหีบเพลงชัก ในบ้านเราอาจจะคุ้นเคยกับแอคคอร์เดียน (accordion) ที่ครูเพลงลูกกรุงและลูกทุ่งบ้านเราในสมัยก่อนนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย แต่เครื่องดนตรีประเภทหีบเพลงชัก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า free reed aerophone นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหมายรวมไปถึงเครื่องเป่าที่ใช้ลิ้นโลหะกำเนิดเสียงด้วย (เราอาจคุ้นเคยกับ harmonica หรือหีบเพลงปาก และ melodica ซึ่งนิยมใช้สอนนักเรียนระดับประถม) โดยที่แอคคอร์ดเดียนก็เป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีประเภทนี้ แต่เครื่องดนตรีที่คุณรุจเจียโรนำมาแสดงนั้น เป็นหีบเพลงชักอีกแบบหนึ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งดนตรีแทงโกและประเทศอาร์เจนตินา เรียกว่า บันโดเนออน (bandoneón) ซึ่งจริงๆ แล้วมีถิ่นกำเนิดในเยอรมนี แต่ไปแพร่หลายจนกลายเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติของอาร์เจนตินาเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ข้อแตกต่างที่สำคัญของแอคคอร์เดียนกับบันโดเนออน คือแอคคอร์เดียนจะสะพายเครื่องไว้ที่ไหล่และหน้าอก และใช้มือซ้ายชักหีบเพลงไปมา แต่บันโดเนออนจะใช้มือชักหีบเพลงทั้งสองมือ โดยจะวางเครื่องไว้บนตักหรือหน้าขาไม่มีอะไรยึดตัวเครื่องไว้กับร่างกาย จึงต้องนั่งเล่นหรือยกเข่าสูงขึ้นมารองเครื่องในกรณียืนเล่น แต่สุ้มเสียงโดยรวมแล้ว ผมในฐานะที่ฟังเครื่องดนตรีประเภทนี้มาไม่มากนักยังไม่สามารถแยกความแตกต่างได้

ภาพบน : แอคคอร์ดเดียนแบบเปียโน (piano accordion) ภาพล่าง : แอคคอร์ดเดียนแบบปุ่ม (button accordion)
(ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Accordion)

ภาพบันโดเนออน (bandoneon)
(ภาพจาก http://daletango.com/en/la-historia-del-bandoneon-de-las-iglesias-en-alemania-al-tango-rioplatense/)

ในคอนเสิร์ตของคุณรุจเจียโรนั้น ยังมีนักดนตรีชาวไทยร่วมบรรเลงด้วยอีก 2 คน คนแรกคือ อ.ทัศนา ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อีกคนหนึ่งคือ ปัญญพัทธ์ วงศ์เวชวิวัฒน์ นักเชลโลดาวรุ่งฝีมือดีที่กำลังมีผลงานด้านการเล่นออร์เคสตราและเชมเบอร์มิวสิคที่หลากหลาย บทเพลงที่นำมาบรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของอัสตอร์ เปียซโซลา (Astor Piazzolla, 1921-1992: คีตกวีและนักบันโดเนออนชาวอาร์เจนตินา) ได้แก่ Adios Nonino, Soledad, Escualo, Tanguedia, Milonga en Re, Libertango, Le Grand Tango, Buenos Aires hora cero, Oblivion, La Muerte del Angel และมี 2 เพลงที่ประพันธ์โดยคุณรุจเจียโรเอง ได้แก่ Rapsodia para Cello y Bandoneón, Cuadernos de Laura ซึ่งเปียซโซลานั้นถือว่าเป็นคีตกวีที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงแทงโกไว้มากมาย และยกระดับเพลงแทงโกให้มีความลึกซึ้งยิ่งกว่าการเป็นเพียงแค่เพลงเต้นรำ จากการที่เขาได้เรียนวิชาการประพันธ์เพลงคลาสสิกมาอย่างจริงจัง  และเคยไปฝากตัวเป็นศิษย์ครูของ Nadia Boulanger ปรมาจารย์ด้านการประพันธ์เพลงแห่งฝรั่งเศส ที่เป็นครูของคีตกวีแนวหน้าของตะวันตกหลายคนทั้งยุโรปและอเมริกา

          สำหรับการบรรเลงนั้น คุณรุจเจียโรได้เปิดประสบการณ์ใหม่ในการฟังให้แก่ผู้ฟังชาวไทยอย่างแน่นอน เสียงของบันโดเนออนมีความหลากหลายมาก และแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างหลากหลายเช่นกัน โดยเฉพาะความรู้สึกเหงาหงอย ลี้ลับ เศร้า และหม่น สามารถทำได้อย่างดีเป็นพิเศษ แต่ก็สลับด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ราวกับมีการเต้นรำอยู่ตรงหน้าผู้ชม อย่างไรก็ตามด้วยอิทธิพลของเพลงคลาสสิก ทำให้เสียงประสาน (harmony) ของบางเพลงอย่าง Milonga en Re  หรือ Buenos Aires hora cero จะมีความแปลกและแปร่งหู น่าจะเรียกได้ว่าเป็นแทงโกที่ผ่านการคิดใหม่มาแล้ว ขณะเดียวกันจังหวะของเพลงก็ค่อนข้างจะไม่ตายตัวและจับได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในท่อนช้าทั้งหลาย ซึ่งหากเอามาใช้เต้นแทงโกจริงๆ แล้ว นักเต้นที่ยังไม่เชี่ยวชาญพอมีอาจจะหลุดจังหวะได้โดยง่าย ส่วนในเสียงของไวโอลินและเชลโลนั้น มีความสอดคล้องกลมกลืนกับบันโดเนออนได้อย่างน่าประหลาดใจ เพลงที่นักฟังทั่วไปค่อนข้างคุ้น เช่น Adios Nonino, Libertango, Le Grand Tango, Oblivion ซึ่งเป็นเพลงดังของเปียซโซลาและมักได้รับการบรรเลงเป็นวงขนาดใหญ่บ่อยครั้ง เมื่อบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี 3 ชิ้นนี้ก็ดูมีความลงตัวและแสดงรายละเอียดที่สลับซับซ้อนได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผมเพิ่งรู้สึกว่าเพลงแทงโกก็เหมือนกับดนตรีเชมเบอร์ชั้นดีที่ต้องการนักดนตรีที่มีฝีมือมาถ่ายทอด ซึ่งนักดนตรีของบ้านเราก็สามารถบรรเลงเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักบันโดเนออนผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีแทงโกจากปรมาจารย์ได้อย่างดีเยี่ยม ดังที่คุณรุจเจียโรก็ได้กล่าวยอมรับต่อผู้ฟังเอาไว้ในช่วงสุดท้ายของการแสดง เราผู้ฟังที่ได้ชมการแสดงในครั้งนั้นนับว่าเป็นผู้โชคดีมาก เพราะดนตรีแทงโกแท้ๆ แบบนี้คงยากที่จะหาชมได้ในประเทศไทย และไม่แน่ใจว่าคุณรุจเจียโรจะได้กลับมาแสดงในเมืองไทยอีกเมื่อใด

(ภาพจาก Facebook : Pro Musica)

ขอสลับมาที่การแสดงของคุณคาโตะเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 เธอใช้เครื่องดนตรีแอคคอร์เดียนบรรเลง แต่แอคคอร์เดียนของเธออาจไม่คุ้นตาคนไทยนัก เพราะเป็นแบบปุ่ม (button accordion) ซึ่งต่างจากแบบที่นิยมในไทยซึ่งเป็นแบบคีย์หรือลิ่มกดคล้ายเปียโน ก็ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่คนฟังในบ้านเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก การบรรเลงครั้งนี้นอกจากคุณคาโตะแล้ว ยังมี อ.ทัศนา ร่วมบรรเลงด้วย โดยทั้งคู่จะมีเพลงเดี่ยวกันคนละ 1 เพลง แล้วที่เหลือเป็นการบรรเลงคู่กัน คล้ายกับไวโอลินกับเปียโน เพียงแต่การแสดงครั้งนี้เปลี่ยนเป็นไวโอลินกับแอคคอร์เดียนแทน

          เพลงแรกเริ่มต้นด้วย Fantasy on Bohemian Rhapsody ซึ่งเป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินที่ดัดแปลงมาจากเพลง Bohemian Rhapsody ของ Freddie Mercury และวง Queen เรียบเรียงโดย Elena Abad และปรับปรุงเพิ่มเติมโดย อ.ทัศนา  โดยส่วนตัวผมมองว่าเหมือนเป็นการพยายามเอาเทคนิคแบบปากานินี หรือซาราราเต มาเล่นทำนองของเพลงนี้ โดยพยายามจะถ่ายทอดทั้งทำนองและจังหวะ (rhythm) ออกมาให้ชัดเจนที่สุดด้วยไวโอลินเพียงตัวเดียว ซึ่งผมคิดว่าก็ออกมาได้ดีทีเดียว  แต่โน้ตค่อนข้างหนาไปสักหน่อยและทำนองกับจังหวะมันซับซ้อนเกินไปสำหรับเครื่องดนตรีเครื่องเดียว  ถัดมาเป็นเพลง Gekki Asobi  ซึ่งเป็นเพลงเดี่ยวแอคคอร์เดียน ผลงานการประพันธ์ของคุณคาโตะเอง ซึ่งเป็นเพลงที่มีลีลาที่หลากหลาย ทั้งสนุกสนานและหม่นๆ โดยเฉพาะกระบวนที่ 2 ที่คล้ายกับแทงโก ซึ่งผมคิดว่าเป็นการประมวลประสบการณ์ในการเล่นแอคคอร์เดียนของคุณคาโตะมาสร้างทำนองและลีลาที่เหมาะสมกับเครื่องดนตรีชนิดนี้ ซึ่ง 2 เพลงแรกนี้ เราก็จะได้รับทราบถึงศักยภาพของเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิดในฐานะเครื่องดนตรีเดี่ยวที่สามารถเล่นทั้งทำนองและจังหวะได้ด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว แต่แน่นอนว่าแอคคอร์ดเดียนย่อมได้เปรียบกว่า  เพราะสามารถเล่นโน้ตจำนวนมากในคราวเดียวกัน (polyphony) ได้สะดวกกว่า

          ในเพลงถัดๆ มา เป็นเพลงบรรเลงคู่ไวโอลินกับแอคคอร์ดเดียน โดยในชุดแรก ได้แก่ Style Musete ของ Andre Verchuren และOblivion และ Libertango ของ Astor Piazzolla เป็นการแสดงเพลงในสไตล์แทงโกที่ผู้ฟังจะคุ้นเคยกับเสียงของหีบเพลงชัก โดยที่ทั้งไวโอลินกับแอคคอร์ดเดียนจะผลัดกันทำหน้าที่เล่นทำนองหลัก แต่แอคคอร์ดเดียนจะเน้นการให้จังหวะด้วย โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าคุณคาโตะค่อนข้างจะเล่นแบบเรียบร้อยไปสักนิด ส่วน อ.ทัศนา เล่นอย่างค่อนข้างรุกเร้า ซึ่งคาดว่าคงจะได้รับอิทธิพลมาจากการบรรเลงของคุณรุจเจียโรในการแสดงก่อนหน้านี้ ซึ่ง 2 เพลงนี้อาจจะเรียกได้ว่าตั้งใจที่จะแสดงเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีหีบเพลงชักก็เป็นได้

          ส่วนในครึ่งหลัง เป็นชุดการแสดงเพลงวอล์ทส์ สไตล์เวียนนา ได้แก่เพลง Roses from the South และ Treasure Waltz ของ Johann Strauss II ตามด้วย Liebesleid, Liebesfreud และ Schön Rosmarin ของ Fritz Kreisler และปิดท้ายด้วยเพลงสไตล์ฮังกาเรียนที่ผู้ฟังคุ้ยเคยกันดีอย่าง Csárdás ของ Vittorio Monti ซึ่งในชุดนี้ผมคิดว่าแอคคอร์ดเดียนได้ทำหน้าที่เสมือนเปียโน แต่เป็นเปียโนที่มีเสียงที่แตกต่างและทำเสียงต่อเนื่อง (sustained) ได้ยาวราวกับเครื่องเป่าหรือเครื่องสาย (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในเปียโน)  รวมถึงชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านเยอรมัน-ออสเตรีย ซึ่งใช้เครื่องดนตรีประเภทหีบเพลงชักเป็นหลักในการสร้างจังหวะ ส่วนไวโอลินก็เล่นทำนองที่ค่อนข้างชัดเจน และไพเราะน่าฟังตามแบบแผนปกติ โดยเฉพาะเพลงของไครส์เลอร์ซึ่งเป็นเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลินและใช้เปียโนประกอบ (accompaniment) ส่วนเพลงสุดท้าย ไวโอลินก็ได้มีโอกาสเล่นอย่างสนุกสนานและไฟแล่บตามประสาเพลงสไตล์ฮังกาเรียน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังเป็นอันมาก และคอนเสิร์ตก็จบลงด้วยเพลงแถม (encore) ที่น่าจะถูกใจผู้ฟังชาวไทย คือเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ ในรัชกาลที่ 9 ที่ผู้ฟังคุ้นเคย โดยไวโอลินและแอคคอร์ดเดียนเล่นได้อย่างสนุกสนาน ชวนให้นึกถึงเพลงเวียนนาอีกเพลงหนึ่งคือ Radetzky Marchของ Johann Strauss Sr.

(ภาพจาก Facebook : Pro Musica)

โดยสรุปแล้ว การแสดงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสไตล์เพลงจากการจับคู่ระหว่างไวโอลินกับแอคคอร์ดเดียน ซึ่งผมเห็นว่าแอคคอร์ดเดียนก็คือเปียโนเคลื่อนที่ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดไฟฟ้าหรือ Synthesizer ซึ่งสามารถจำลองเสียงเครื่องดนตรีได้แทบทุกชนิด แต่แอคคอร์ดเดียนหรือเครื่องดนตรีประเภทหีบเพลงชัก มีเสียงที่เฉพาะตัว  มีเสน่ห์ไม่เหมือนใครและไม่เหมือนเปียโน ดังนั้นจึงได้รสชาติและสีสันของเสียงไปอีกแบบหนึ่ง

การแสดงใน 2 รายการนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟัง คือเพลงแทงโกแบบอาร์เจนตินาแท้ๆ ของเปียซโซลา ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีต้นแบบที่ไม่น่าจะมีนักดนตรีในไทยเล่นได้ และเพลงคู่ไวโอลินกับแอคคอร์ดเดียน ที่แสดงให้เป็นถึงศักยภาพอันมหาศาลของเครื่องดนตรีประเภทนี้ทั้งในการเล่นคู่กัน (duo)  และการเล่นทำนองหลักหรือแม้แต่การเล่นเดี่ยว ซึ่งก็น่าเสียดายว่าในปัจจุบันนักดนตรีในบ้านเราสนใจเล่นเครื่องดนตรีประเภทหีบเพลงชักค่อนข้างน้อยลง โอกาสที่ผู้ฟังจะมีรับฟังเพลงที่ใช้หีบเพลงชักบรรเลงก็น้อยลงเรื่อยๆ (ในส่วนของเพลงไทยสากลขึ้น  ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า  ครูสง่า  อารัมภีร์ และครูแมนรัตน์  ศรีกรานนท์  ฝีมือแอคคอร์เดียนฉกาจนัก)  ยิ่งเป็นดนตรีคลาสสิกหรือมีพื้นฐานมาจากเพลงคลาสสิกด้วยแล้ว  ก็ยิ่งหาโอกาสฟังได้ยากขึ้นไปอีก การแสดงทั้ง 2 รายการนี้ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่มีนักดนตรีหีบเพลงชักฝีมือเยี่ยมจาก 2 ซีกโลกมาบรรเลงให้แก่เราผู้ฟังชาวไทยได้ฟังกัน ก็ได้แต่หวังไว้ว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับนักดนตรีทั้ง 2 ท่านนี้กลับมาอีก และก็หวังอีกว่าการบรรเลงของทั้ง 2 ท่านนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ได้มาชมการแสดงได้ติดตามหาเพลงประเภทนี้หรือใกล้เคียงมาฟังอีก หรือถ้าหากมีคนสนใจหัดเล่นเครื่องดนตรีประเภทนี้ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นคุณูปการของคอนเสิร์ตทั้ง 2 รายการนี้

ประเด็นที่น่าพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ  การบรรเลงร่วมระหว่างนักดนตรีไทยกับอาคันตุกะจากต่างประเทศ  วงการดนตรีคลาสสิกของไทยก็เดินตามแบบแผนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก  คือ  นักแสดงเดี่ยวรับเชิญ  (soloist)  บรรเลงคีตนิพนธ์มาตรฐานร่วมกับกลุ่มนักดนตรีของไทย  ในรูปของซิมโฟนี หรือวงเชมเบอร์  ในระยะหลังมีการบรรเลงดนตรีประเภทเชมเบอร์ กับนักแสดงเดี่ยวฝีมือระดับพระกาฬเป็นครั้งคราว  โดยยึดคีตนิพนธ์มาตรฐานของตะวันตกเช่นกัน  เป็นการตีกรอบหรือชักนำให้นักแสดงของเราต้องปรับตัวให้ถึงระดับสากลให้ได้  แต่การแสดงร่วมกับคุณ Ruggiero  และคุณ Kato  นั้น  นักดนตรีของเราต้องทำงานยากขึ้นอีก 2 มิติ  คือเรียนรู้องค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่เราเองไม่คุ้น และต้องปรับวิธีการเล่นให้เข้ากับเครื่องดนตรีและสไตล์การเล่นที่เราก็ไม่คุ้นอีกเช่นกัน  วงการดนตรีบ้านเราก้าวไปมากแล้ว  มีผู้มาร่วมรับรู้  ให้การสนับสนุน และชื่นชมสักกี่คน  ปัญหาของบ้านเราดูจะไม่ได้อยู่ที่ผู้เล่น  และอยู่ที่ผู้ฟัง  คงต้องร่วมกันแก้ต่อไป  และก็หวังว่านักดนตรีจะไม่ถอดใจเสียก่อน                                                       

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*