‘แสงทองผ่องอำไพ’ ถ้อยวจีวิถีไทยในบทละคร Absurd
โดย ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีเรื่องราว absurd ไร้เหตุผลเกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่มากมาย การได้ชมงานต้นตำรับละคร Theatre of the Absurd สัญชาติฝรั่งเศส ผ่านการแปลงให้มีบริบทแบบไทย ๆ จึงเป็นอะไรที่ถูกที่ถูกเวลายิ่งนัก งานแสดงละครเวทีชิ้นล่าสุดของคณะ The Producer and I เรื่อง ‘แสงทองผ่องอำไพ’ ซึ่งดัดแปลงเนื้อเรื่องจากบทละคร absurd ชิ้นอมตะองก์เดียวจบ เรื่อง The Bald Soprano หรือ La cantatrice chauve (1950) ของ เออแฌน อิโอเนสโก (Eugène Ionesco) จัดแสดงที่โรงละคร Host BKK ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จึงนับเป็นความเฮฮาส่งท้ายปีที่เหมาะกับบรรยากาศใกล้ปีใหม่ นำเสนอความไร้สาระอันชวนให้ฉุกคิดพิจารณาว่า ระหว่างภาวะไร้เหตุผลจนวายป่วงของเหตุการณ์ในบทละครกับความเป็นจริงรอบ ๆ ตัวเราทุกวันนี้ อะไรจะมีความ absurd ยิ่งกว่ากัน
บทละครเรื่อง ‘แสงทองผ่องอำไพ’ ดัดแปลงจากบทละครต้นฉบับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย มือเขียนบทผู้เชี่ยวชาญการดัดแปลงงานละครอมตะมาเป็นงานตลกชวนหัวแบบไทย ๆ หัวเรี่ยวหัวเรือใหญ่ของคณะละคร New Theatre Society และได้ผู้กำกับหญิง ญาดามิณ แจ่มสุกใส มารับหน้าที่ตีความและสร้างชีวิตให้กับบทละครผ่านการกำกับอันจัดจ้านในแบบไทย ๆ อาศัยฉากตามท้องเรื่องเพียงฉากเดียว และนักแสดงชายหญิงทั้งหมดสามคู่ รวมเป็นหกคน
ซึ่งถ้าได้อ่านบทละครต้นฉบับ The Bald Soprano หรือ La cantatrice chauve ของ เออแฌน อิโอเนสโก มาก่อน ก็คงพอจะจินตนาการได้ว่า การแปลและดัดแปลงละครเรื่องนี้ออกมาเป็นภาษาไทยด้วยบริบทแบบไทย ๆ มันเป็นงานที่หินขนาดไหน เพราะแม้แต่ฉบับที่แปลภาษาอังกฤษจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเอง ก็ยังไม่สามารถเก็บรายละเอียดการเสียดสียียวนในทางภาษาที่แตกต่างกันระหว่างภาษาต่างรากนี้ได้อย่างถ้วนครบ เออแฌน อิโอเนสโก เขียนบทละครเรื่องนี้ในช่วงที่เขาเริ่มต้นศึกษาภาษาอังกฤษ และได้เห็นความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศส โดยเฉพาะการใช้คำคุณศัพท์ที่ไม่ได้เจาะจงเพศชายเพศหญิงของภาษาอังกฤษ ทำให้เขารู้สึกขบขันที่บางครั้งประโยคภาษาอังกฤษก็ไม่สามารถระบุได้เลยว่ากล่าวถึงประธานที่เป็นเพศใด
เออแฌน อิโอเนสโก จึงใช้วิธีล้อเลียนให้ท้องเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้านของคุณชายและคุณหญิง Smith ณ กรุงลอนดอน โดยมีสาวใช้ชื่อ Mary คอยปรนนิบัติดูแล รอคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากเมืองแมนเชสเตอร์ นั่นคือ คุณชายและคุณหญิง Martin แต่ให้ตัวละครทุกรายพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด โดยระหว่างการมาเยือนของคุณชายและคุณหญิง Martin ก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดไม่อาจหาเหตุผลมาอธิบายอยู่มากมาย เช่น การให้คุณหญิง Smith บ่นพล่ามเรื่องอาหารการกินและพฤติกรรมของบุตร โดยให้คุณชาย Smith โต้ตอบด้วยการส่งเสียงกระดกลิ้น การกล่าวถึงบุรุษนาม Bobby Watson ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว แต่พวกเขาเพิ่งจะมาตื่นเต้นตกใจเอาตอนนี้ ก่อนที่จะซุบซิบนินทาภรรยาของ Bobby Watson ที่ชื่อ Bobby Watson เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่วงศาคณาญาติของพวกเขาที่แห่ใช้ชื่อเดียวกันทั้งครอบครัวจนไม่รู้ว่ากำลังเอ่ยถึงใคร เสียงระฆังนาฬิกาที่ตีบอกเวลาสลับกันไปมาอย่างโกลาหล เหตุการณ์อลวนเมื่อคุณชายและคุณหญิง Martin เกิดลืมอย่างหน้าตาเฉยว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน และต้องมาไล่เหตุการณ์การเดินทางจากเมืองแมนเชสเตอร์มายังกรุงลอนดอนด้วยรถไฟที่นั่งติดกัน มีบุตรสาวตาข้างหนึ่งสีแดงข้างหนึ่งสีดำเหมือนกัน กระทั่งตระหนักได้เองว่าแท้แล้วพวกเขาเป็นสามีภรรยากัน เสียงออดปริศนาและการปรากฏตัวของกัปตันนักดับเพลิงหนุ่มผู้ชอบเล่านิทาน การระเบิดคำพูดเล่นเสียงโต้ตอบกันอย่างไร้ความหมาย โดยจะเน้นการใช้คำคุณศัพท์แบ่งเพศ เช่น anglais/anglaise ที่ใช้แสดงความเป็นอังกฤษของคนหรือสิ่งของเพศชาย/หญิง ตลอดเวลา ในขณะที่ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า English เพียงรูปเดียวในทุกกรณี ทำให้บางครั้งก็ไม่รู้ว่าบุคคลหรือสิ่งของที่กล่าวถึงเป็นเพศชายหรือเพศหญิงกันแน่
บทละครต้นฉบับของ เออแฌน อิโอเนสโก จึงสร้างบรรยากาศแบบ absurd ด้วยพฤติกรรม ความคิดอ่าน และสถานการณ์อันแปลกประหลาดจนไม่อาจอธิบายอะไรได้ของเหล่าตัวละคร ไปพร้อม ๆ กับการเสียดสีข้อจำกัดและสถานะการเป็นเพียงถ้อยสัญญะบรรจุความหมายผ่านการตกลงร่วมกันของแต่ละภาษาที่ไม่สามารถจะยึดถือเป็นความจริงแท้ได้
ซึ่งถึงแม้ว่าละครเรื่อง The Bald Soprano จะสามารถสร้างความขบขันหรรษาในลีลาที่ถือว่าแปลกใหม่ในช่วงเวลานั้น จนเป็นที่นิยมนำมาแสดงใหม่กันอยู่เสมอ และได้ขึ้นทำเนียบเป็นงานต้นตำรับชิ้นสำคัญของละครกลุ่ม Theatre of the Absurd ก่อนหน้าจะมีงานชิ้นดังเรื่องอื่น ๆ อย่าง Waiting for Godot (1953) ของ แซมมวล เบกเกตต์ (Samuel Beckett) หรือ Rhinoceros (1959) ของ เออแฌน อิโอเนสโก ตามมา แต่ก็ถือได้ว่า The Bald Soprano เป็นละครที่แปลเป็นภาษาอื่นได้ยากมาก เนื่องจากมีรายละเอียดเฉพาะของภาษาฝรั่งเศสที่ไม่สามารถสื่อด้วยภาษาต่างตระกูลได้อย่างครบถ้วนตรงตัว ซึ่งบทละครเรื่อง ‘แสงทองผ่องอำไพ’ ของ ปานรัตน กริชชาญชัย เรื่องนี้ ก็ได้พยายามรักษาเรื่องราว สถานการณ์ และพฤติกรรมตัวละครต่าง ๆ เอาไว้ตามบทต้นฉบับอย่างให้เคารพ แต่ในส่วนของลีลาภาษา ปานรัตน ได้เลือกใช้คำพูดคำจาแบบเจ้าขุนมูลนายไทยสมัยกลางยุครัตนโกสินทร์ และเลือกสร้างความตลกด้วยการเขียนบทแบบเล่นคำเล่นภาษาหรือ wisecrack ตบมุกด้วยการบิดผันเสียงและความหมายของคำที่ดาวตลกคาเฟ่ไทยนิยมใช้กัน และเล่นล้อกับชื่อตัวละครต้นฉบับที่สามารถเป็นได้ทั้งตัวละครหญิงและชาย ด้วยนามไทย ๆ แบบ unisex เช่น แปลงชื่อคุณชายและคุณหญิง Smith เป็น ‘อนุโลมราชธานี’ และปรับชื่อตัวละคร Bobby Watson และ นักร้องอุปรากรไร้เกศาซึ่งกัปตันนักดับเพลิงเอ่ยถึง ให้เป็น ‘แสงทอง ผ่องอำไพ’ เป็นต้น อารมณ์ขันของบทละคร ‘แสงทองผ่องอำไพ’ จึงกระเดียดไปในทางละครตลกแบบเล่นคำชิงไหวชิงพริบมากกว่าจะเน้นความ absurd ของภาษา แม้ว่าจะยังรักษาสถานการณ์และเหตุการณ์ absurd ต่าง ๆ ของละครต้นฉบับไว้อย่างถ้วนครบ
ทว่าเมื่อบทละคร ‘แสงทองผ่องอำไพ’ ถูกนำมาเล่นเป็นละครเวทีผ่านการกำกับของ ญาดามิณ แจ่มสุกใส ผู้กำกับหญิงก็ได้เลือกใช้แนวทางที่เป็นความถนัดเฉพาะตัวนำเสนอเรื่องราวด้วยสีสันของตัวละครและองค์ประกอบทางศิลปะอันจัดจ้าน ผ่านบรรยากาศของท้องเรื่องราวและการแต่งองค์ทรงเครื่องของตัวละครในแบบไทยประยุกต์สมัยรัชกาลที่ ๕ เปิดโอกาสให้นักแสดงเล่นใหญ่ด้วยมุกตลกกึ่ง physical ออกท่าออกทาง สร้างความขบขันด้วยอาการเยอะล้นทางการแสดง จนตัวบทและเรื่องราวแบบ absurd แลดูเป็นละครตลกโปกฮาในลวดลายลีลาแบบละคร farce
ซึ่งสำหรับการแสดงในคืนวันที่13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 แม้ว่านักแสดงทั้งหมดจะสามารถสาดใส่พลังทางการแสดง สลับแย่งกันตบมุกอย่างได้จังหวะจะโคน สร้างเสียงหัวเราะแบบตัวโยนให้ผู้ชมได้สนุกสนานคึกคักตลอดความยาวของละคร แต่ก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าความแพรวพราวต่าง ๆ เหล่านี้ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อจะจี้เส้นผู้ชมให้รู้สึกสนุกขบขันมากกว่าจะผลักดันแก่นสารแห่งความ absurd อันเป็นหัวใจสำคัญของละครเรื่องนี้หรือไม่ เพราะดูเหมือนอาการตลกเล่นใหญ่เหล่านี้จะทำให้เสน่ห์แห่งความหมิ่นเหม่ของเรื่องราวระหว่างโลกจริง-ลวงมลายสลายไป เนื่องจากมันจะกลายเป็นชวนให้รู้สึกว่าอะไร ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นปกติธรรมดาในโลกแห่งความตลกโปกฮาบ้า ๆ บวม ๆ ระดับนี้
หัวใจสำคัญประการหนึ่งในการแสดงบทตลกไม่ว่าจะประเภทขนบตระกูลใดคือความจริงใจที่ผู้เล่นต้องไม่คิดเลยว่ากำลังแสดงอยู่ในละครตลก ทุกความรู้สึก ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละรายจะต้องมีความสมจริงและนิ่งในลักษณะ drama ซึ่งจะทำให้ภาพที่ออกมาสามารถตลกในสายตาของคนดูได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่คณะนักแสดงในการแสดง ‘แสงทองผ่องอำไพ’ รอบนี้ต่างเล่นกันเหมือนกำลังประชันมุกตลกกันอย่างผิวเผินและตื้นเขิน ไม่ปรากฏอารมณ์สงสัยงุนงงกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างจริงใจจนกลายเป็นการแสดงที่เปล่ากลวง นักแสดงเพียงรายเดียวที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ภายในไปกับเหตุการณ์ที่ดำเนินได้อย่างลุ่มลึกและจริงใจภายใต้การออกท่าออกทางแบบเล่นใหญ่คือ ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี ผู้รับบทเป็นกัปตันนักดับเพลิง ที่ดูจะเชื่อในทุก ๆ คำพูดและกิริยาอาการทุกอย่างที่เขากำลังแสดง แตกต่างจากนักแสดงรายอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ช่วงเวลาที่ให้บรรยากาศแห่งความ absurd ได้ดีที่สุดของละครคือตอนที่กัปตันนักดับเพลิงเล่านิทานไร้สาระเรื่องสุดท้าย ซึ่งเขาสามารถถ่ายทอดบรรยายเรื่องราวอันไร้สาระออกมาอย่างตั้งใจด้วยความเชื่อในตัวเรื่องจริง ๆ แม้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาจะไม่ได้สาระอะไรเลยก็ตาม
อย่างไรก็ดีกัปตันนักดับเพลิงรายนี้ก็เป็นตัวละครที่แปลกแยกจากตัวละครรายอื่น ๆ ตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว การแสดงที่แตกต่างไปของ ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี จึงอาจเป็นการทดลองบางประการของผู้กำกับหญิง ญาดามิณ แจ่มสุกใส เพื่อให้ตัวละครแลดูหลุดออกไป แต่ไม่ว่าจะตั้งใจทดลองหรือไม่อย่างไร ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังไม่ประจักษ์ชัดว่า ละครฉบับนี้มองความ absurd ของบทละครดั้งเดิมและบทดัดแปลงออกมาในมุมไหน ใครที่ตั้งใจจะไปชมละครเรื่องนี้เพื่อสัมผัสลีลาในแบบ absurd จึงอาจต้องผิดหวังที่เนื้อหาเรื่องราวอันแสนจะ absurd ดันกลับกลายเป็นละคร farce เน้นสีสันจัดจ้านของความตลกโปกฮาไป เพราะคุณสมบัติสำคัญของละคร absurd คือผู้ชมควรจะต้องรู้สึกเหวอพิศวงและมึนงงด้วยความประหลาดใจ ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏในละครฉบับนี้เลย
แต่หากจะยึดหลักกวียานุโลมที่ควรอนุญาตผู้กำกับสามารถเลือกดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนตัวบทไปในทิศทางใดก็ได้ในแนวทางของตนเอง สุดท้ายก็ต้องพิจารณาด้วยว่าลีลาที่ต่างออกไปนั้น มันยังสามารถ ‘เข้ม’ และ ‘ชัดเจน’ ได้เทียบเท่ากับงานต้นฉบับหรือไม่ มิเช่นนั้นมันก็อาจแลดูเป็นการนอกครูที่ผิดลู่ผิดทางโดยไม่เห็นเป้าหมาย ว่าเจตนาและหัวใจของผู้กำกับรักที่จะเลือกเดินไปสู่จุดไหนกันแน่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ละครเรื่อง ‘แสงทองผ่องอำไพ’ ก็ยังถือได้ว่าสร้างสีสันใหม่ ๆ ให้วงการละครเวทีไทยในบ้านเรา ที่แสดงความเคารพตัวบทละครระดับอมตะไปพร้อม ๆ กับความพยายามสร้างงานแนวสนุกบันเทิงเอาอกเอาใจผู้ชม ซึ่งการเลือกบทละครที่ยากระดับนี้มาดัดแปลงก็ถือเป็นความท้าทายที่สร้างโอกาสในการฝึกฝนและเรียนรู้ของผู้สร้างงานได้เป็นอย่างดี กว่าที่สุดท้ายจะสามารถหาจุดลงตัวพอดีได้ ว่าควรจะทำอะไรแค่ไหนอย่างไรให้รักษาจิตวิญญาณของตัวงานเดิม ด้วยลีลาลวยลายที่ยังแสดงตัวตนและความเป็นตัวของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน