Memento ชั้นเชิงของหนังอเมริกันนัวร์รุ่นใหม่

Memento ชั้นเชิงของหนังอเมริกันนัวร์รุ่นใหม่

ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์

 

เสน่ห์ของหนังไม่ได้เกิดจากเนื้อเรื่องที่กินใจหรือความประทับใจในแง่ของสไตล์หรือองค์ประกอบภาพ หรือการแสดงที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น หลายครั้งที่เรามักจะมองข้าม (หรือถูกทำให้มองข้าม) ความสำคัญของโครงสร้างของหนังไป

โครงสร้างของหนัง (plot) กับเนื้อเรื่องของหนัง (story) ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เนื้อเรื่องคือเรื่องราวทั้งหมดของหนังเรื่องนั้นๆ ซึ่งเราจะทำความเข้าใจได้โดยการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังเข้าด้วยกัน แล้วจินตนาการเป็นเนื้อเรื่องทั้งหมดขึ้น ขณะที่โครงสร้างของหนังนั้นหมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในหนัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับลำดับเวลาหรือต้องถ่ายทอดรายละเอียดทุกอย่างตามเนื้อเรื่อง ตามปกติแล้วหนังส่วนใหญ่มักกำหนดโครงสร้างหนังให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โดยการเริ่มต้นเรื่องด้วยสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วดำเนินเรื่องราวต่อเนื่องไปตามเหตุและผลที่เกิดจากการกระทำของตัวละคร ซึ่งเหตุและผลเหล่านี้ก็จะนำไปสู่สถานการณ์ที่สรุปเรื่องราวทั้งหมด เป็นอันจบเรื่อง แต่ก็มีหนังอีกหลายเรื่องที่จัดลำดับโครงสร้างหนังเสียใหม่เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับเรื่อง อย่างเช่น Pulp Fiction (Quentin Tarentino, 1994) ที่จงใจแบ่งการดำเนินเรื่องออกเป็นฉากๆ (sequence) โดยไม่เรียงลำดับตามเวลาที่เหตุการณ์เกิดก่อนหลัง ซึ่งคนดูจะสามารถทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องได้โดยสมบูรณ์ก็จากการปะติดปะต่อเรื่องราวในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน

วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้มักใช้กันมากในหนังประเภทสืบสวนสอบสวน หนังเมโลดรามากึ่งสืบสวนสอบสวนอย่างเช่น Mildred Pierce (Michael Curtiz, 1945) ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ซึ่งหนังเปิดฉากด้วยการฆาตกรรม ที่นำไปสู่การสอบสวนคดี ซึ่งผู้ต้องสงสัยในเรื่องนี้ก็คือตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวย้อนหลัง (flashback) ทั้งหมดให้ตำรวจฟัง แต่ในขณะที่ flashback ดำเนินไปนั้น เรื่องก็จะถูกคั่นจังหวะด้วยการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งการดำเนินเรื่องโดยการเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่าง flashback กับเหตุการณ์ในห้องสอบสวนอันเป็นฉากปัจจุบันของหนัง ก็เป็นกลวิธีการเลือกเปิดเผยหรือปิดบังข้อมูลบางส่วน ขยักข้อเท็จจริงและขมวดปมสำคัญของเรื่องไว้เพื่อสร้างความใคร่รู้และความตื่นเต้นท้าทาย ก่อนที่จำไปสู่การเปิดเผยฆาตกรตัวจริงในท้ายที่สุด

Memento (เขียนบทและกำกับโดย Christopher Nolan, 2000) นอกจากจะใช้กลวิธีตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแล้ว เนื้อเรื่องยังเพิ่มความซับซ้อนให้กับหนัง โดยการกำหนดให้ตัวละครหลักที่เป็นผู้ดำเนินเรื่องทั้งหมด คือ เลนนี่ (แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมโดย Guy Pearce จาก L.A. Confidential และ Pricilla: Queen of the Desert) เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ทำให้เขาไม่สามารถที่จะสร้างความทรงจำใหม่ๆ ได้ ซึ่งเลนนี่เชื่อว่าฆาตกรผู้ฆ่าภรรยาของเขาเป็นต้นเหตุ และเลนนี่มีความต้องการที่จะสืบหาตัวฆาตกรคนนี้ เพื่อแก้แค้นให้ภรรยาและเพื่อแก้แค้นที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่การที่เขาไม่สามารถที่จะจดจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้นานกว่า 5-10 นาที ทำให้มีหนทางเดียวที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ก็คือเขาต้องบันทึกข้อมูลและสาระที่สำคัญไว้ ไม่ว่าจะโดยการสักไว้ตามร่างกาย หรือการจดโน้ตไว้ตามที่ต่างๆ

อีกทางก็คือการใช้รูปถ่ายโพลารอยด์ช่วยในการอ้างอิงตัวบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ ผลสะท้อนจากการที่เลนนี่ไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ๆ ได้ ทำให้เลนนี่กลายเป็นตัวละครหลักที่เป็นจุดศูนย์กลางของอารมณ์และความรู้สึกร่วมของคนดูแต่ไม่สามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับคนดูได้ แหล่งข้อมูลเดียวที่คนดูรู้สึกว่าจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงได้ก็คือรูปถ่ายโพลารอยด์ โน้ตและรอยสัก ข้อเท็จจริงจึงอธิบายได้โดยการย้อนกลับไปตรวจสอบความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

หนังจึงดำเนินเรื่องราวย้อนกลับโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การให้ข้อมูลความเป็นมาของรูปถ่าย โน้ต และรอยสักเหล่านั้น มากกว่าที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละคร บทหนังจึงใช้ช่องว่างตรงจุดนี้บิดเบือนข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่คนดูใช้เป็นแหล่งอ้างอิง ล้อเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกที่คนดูมีต่อตัวละคร  ดังนั้น ในแต่ละฉาก แทนที่คนดูจะรู้สึกว่าตนกำลัง “รู้จัก” ตัวละครมากขึ้น ก็กลับกลายเป็นถูกกันให้ถอยห่างออกมา ความห่างเหินที่คนดูมีต่อตัวละครใน Memento จึงนำไปสู่ความรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และความเคลือบแคลงใจในพฤติกรรมและการกระทำของตัวละคร

การใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขความด้อยทางสภาพร่างกายของตัวเอก มาเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของหนังนี้ ทำให้ Memento เป็นหนังนัวร์แนวสืบสวนสอบสวน (detective – noir) ที่มีลีลาการถ่ายทอดเนื้อเรื่องได้อย่างลึกซึ้งและเฉียบคม เพราะลักษณะเด่นของหนังประเภทนี้ก็คือ การเล่าเรื่องแบบเลือกปกปิดและเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการแสดงถึงด้านมืดของจิตใจของตัวละคร  ดังนั้น การเล่าเรื่องย้อนหลังโดยแบ่งออกเป็นฉากย่อยๆ ไม่ปะติดปะต่อกันของ Memento ก็เป็นการใช้โครงสร้างหนังช่วยอำพรางความเท็จ และปกปิดความจริงของเนื้อเรื่องไว้ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งถ้าจะเปรียบกับการเล่นเกมต่อจิกซอว์ โครงสร้างหนังของ Memento ก็ทำหนังที่เป็นตัวกำหนดขั้นตอนการต่อจิกซอว์แต่ละตัว  ขณะที่รูปโพลารอยด์ โน้ต และรอยสัก แทนตัวจิกซอว์ที่รอการต่อเติมเข้าด้วยกัน  ดังนั้นกว่าเราจะรูว่าภาพที่แท้จริงคืออะไร ก็เมื่อเกือบที่ภาพจะต่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว  โฉมหน้าที่แท้จริงของความชั่วร้ายและความเลวในจิตใจของตัวละคร จึงค่อยๆ ปรากฏระหว่างที่ “ข้อเท็จจริง” กำลังถูกเปิดเผย เราจึงพบว่าตัวละครทุกตัวต่างหลอกใช้เลนนี่ หรือไม่ก็เอาเปรียบเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะทุกคนก็รู้เท่าๆ กันว่าพวกเขาจะทำอย่างไร พูดอะไรกับเลนนี่ก็ได้ ยังไงเลนนี่ก็จำไม่ได้อยู่ดี อย่างเช่น นาตาลี (แสดงโดย Carrie-Anne moss จาก The Matrix) ผู้หญิงที่ เลนนี่ เชื่อว่าจะช่วยเขาหาตัวฆาตกร ก็หลอกใช้ เลนนี่  เป็นเครื่องมือในการกำจัด ด็อดด์ และ เท็ดดี้ ส่วน เท็ดดี้ ตำรวจที่ประกาศตนเป็นผู้ช่วย เลนนี่ ตามหาตัวฆาตกร ก็หลอกใช้เลนนี่ให้คอยตามฆ่าพวกอาชญากรที่มีชื่อย่อเป็นตัวอักษร JG  แม้กระทั่งพนักงานโรงแรม ก็ยังหลอกสับเปลี่ยนห้องพัก ย้ายเลนนี่ให้ไปอยู่ในห้องที่เกรดต่ำกว่าเดิม

ด้วยความที่ Memento เป็นหนังนัวร์สมบูรณ์แบบ ตัวละครที่น่าสงสารและถูกหลอกใช้อยู่ตลอดเวลาอย่างเลนนี่ จึงกลับกลายเป็นตัวละครที่อันตรายและไม่น่าไว้วางใจมากที่สุด นับตั้งแต่การฆ่าภรรยาโดยไม่เจตนา (เขาจำไม่ได้ว่าเขาฉีดยาให้ภรรยาไปกี่ครั้ง) การฆ่าจิมมี่ กับ เท็ดดี้ ที่แม้ว่าเท็ดดี้จะพยายามเล่าความจริงทั้งหมด แต่เพราะความจริงนั้นตรงข้ามกับความจริงที่ เลนนี่ ต้องการจะเชื่อ เท็ดดี้จึงต้องตาย ทั้งยังไม่นับการฆาตกรรมที่ เล่นนี่ อาจได้กระทำมาก่อนหน้านี้  (จากความจริงที่เท็ดดี้เล่า ทำให้เรารู้ว่าเขาหลอกใช้เลนนี่มาเป็นปีแล้ว)

          การกำหนดโครงสร้างหนังของ Memento ให้แบ่งออกเป็นฉากย่อยๆ แบบนี้ ทำให้การแก้ปมปริศนาตามแนวทางหนังสืบสวนสอบสวน ดำเนินไปอย่างออกรสชาติ ค่อยๆ เปิดเผยความซับซ้อนในด้านมืดของจิตใจตัวละครตามแบบหนังนัวร์ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเทคนิคที่สะท้อนสภาพความทรงจำอันมีช่วงเวลาจำกัดของเลนนี่ได้เป็นอย่างดี

ในแต่ละฉากของ Memento นอกจากจะเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังแล้ว ยังแทรกด้วยเรื่องเล่าของ เลนนี่ ถึงกรณีของลูกค้าคนหนึ่งของบริษัทประกันภัยที่เขาเคยทำงานให้ ความทรงจำในส่วนนี้ของเลนนี่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรอง (sub-plot) ที่เสริมปมความขัดแย้งให้กับเนื้อเรื่องของโครงสร้างหลัก ด้วยเทคนิคการย้อมภาพเป็นสีน้ำตาล ทำให้เนื้อเรื่องส่วนนี้มีน้ำหนักและสมดุล ไม่จมหายไปในความซับซ้อนวกวนของโครงสร้างหลัก และสร้างความรู้สึกน่าเชื่อถือให้กับ “ความทรงจำเก่า” ที่เลนนี่ฝังใจ

แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือ โครงสร้างของหนังทั้งสองส่วนนี้ กลับกำหนดให้การเล่าเรื่องดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ขณะที่โครงสร้างหนังหลักดำเนินเรื่องย้อนกลับไปในอดีต โครงสร้างหนังรอง กลับเล่าเรื่องตามลำดับเวลาก่อนหลัง ซึ่งในขณะที่เราดูหนังเราจะไม่รู้สึกถึงความขัดแย้งนี้ แต่กลับรู้สึกว่าเรากำลังได้รับข้อมูลในด้านลึกของตัวละครเลนนี่เพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการนี้ คนดูจึงรับเอาข้อมูลจากความทรงจำของเลนนี่มาเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแทนที่เนื้อเรื่องของโครงสร้างรองจะให้รายละเอียดและเพิ่มความลึกให้กับตัวละครเลนนี่ กลับทำหน้าที่เป็นกับดักอันใหญ่ที่ลวงให้คนดูเชื่อและคาดเดาไปผิดทาง จนกระทั่งในฉากสุดท้าย ที่เฉลยความจริงและแก้ปมความขัดแย้งของข้อเท็จจริงต่างๆ เราถึงได้รับรู้ว่าความทรงจำในส่วนนี้ของเลนนี่คือความทรงจำปลอมๆ ที่เลนนี่สร้างขึ้นเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง และเพื่อหนีความจริงที่ว่าภรรยาของเขาไม่ได้ถูกฆาตกรรมในคืนเกิดเหตุ แต่เขาเองคือฆาตกรที่ฆ่าภรรยาของตนเองโดยไม่เจตนาด้วยการฉีดอินซูลินให้เกินขนาด

ดังนั้น สาระหลักที่หนังท้าทายให้คนดูค้นหาก็คือ อะไรที่น่าเชื่อถือมากกว่ากันระหว่างข้อเท็จจริงกับความทรงจำ และอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความทรงจำ มีฉากหนึ่งที่ เลนนี่ ยืนยันกับ เท็ดดี้ ว่าเขาต้องการสืบหาตัวฆาตกรด้วยการอ้างอิงกับข้อเท็จจริงของเขาเอง คือรูปถ่าย โน้ต และรอยสัก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริง และเขาเชื่อในข้อเท็จจริงที่เขารวบรวมขึ้นมาเองมากกว่าความทรงจำที่บันทึกไว้ในแฟ้มของตำรวจ แต่เมื่อเรื่องราวคลี่คลายไปเรื่อยๆ เราก็จะค้นพบความจริงว่าข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านั้นก็เชื่อถือไม่ได้เช่นกัน  เนื่องจากผู้ที่สร้างและรวบรวมข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็คือเลนนี่  ด้วยเหตุนี้ คนดูจึงถูกกันออกห่างจากการมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในหนังโดยปริยาย กลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ได้แต่คอยสันนิษฐานและคาดเดาว่าที่แท้แล้วเรื่องจริงๆ คืออะไร  ใครเป็นฆาตกรที่ เลนนี่ ตามหาตัวอยู่ บทบาทของตำรวจจับผู้ร้ายที่คนดูถูกลวงให้เตรียมใจไว้ว่าจะได้ร่วมเล่นด้วยเมื่อตอนต้นเรื่อง จึงกลายเป็นเพียงผู้ดูที่ชะตากรรมตกอยู่ในมือผู้กำกับ

Memento เป็นตัวอย่างของหนังนัวร์แนวสืบสวนสอบสวนรุ่นใหม่ (Neo-noir) ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องของหนัง (film narrative) กับโครงสร้างของหนัง (plot) เป็นเครื่องมือในการนำเสนอเนื้อเรื่อง (story) ให้ดูซับซ้อนได้อย่างมีชั้นเชิง และเร้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยากต่อการติดตามและทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดนับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ที่เป็นภาพโคลส-อัพรูปถ่ายโพราลอยด์ของคนถูกฆาตกรรม แล้วภาพนี้ค่อยๆ จางหายไปจนกลายเป็นสีดำ ตามมาด้วยภาพการฆาตกรรมที่เคลื่อนไหวย้อนหลัง ลูกกระสุนปืนที่ย้อนหายเข้าไปในลำกล้อง เลือดที่ไหลกลับเข้าไปในบาดแผลกระสุน เสมือนเป็นการบอกใบ้ว่า นับจากนี้แม้ว่าตัวละครจะเคลื่อนไหวไปตามปกติ แต่เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นการเล่าแบบย้อนกลับ

หลัง ดู Memento จบแล้วก็รู้สึกว่าสาระสำคัญที่หนังสื่อออกมานั้น ไม่ใช่เนื้อเรื่องที่หักมุม หรือการสืบหาตัวฆาตกรอย่างที่หนังหลอกล่อให้เรารู้สึกมาตั้งแต่ต้น แต่หนังได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคนิคการเล่าเรื่อง และโครงสร้างของหนัง ที่มีอิทธิพลและส่งผลโดยตรงต่อการรับรู้ และความคาดหวังของคนดู และที่สำคัญที่สุดก็คือแสดงถึงความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ Nolan (ผู้กำกับอังกฤษซึ่งสร้างชื่อจากหนังขาว-ดำทุนต่ำเรื่อง Following) ที่ถ่ายทอดเรื่องราว ด้วยการใช้ภาษาภาพยนตร์ได้เร้าความสนใจของผู้ชมได้สูงสุด โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์ประกอบที่เรียกว่า “เครื่องประดับ” อย่างเช่น ดารา, สเปเชียลเอฟเฟค, หรือเทคนิคภาพละลานตาที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของผลิตภัณฑ์จากฮอลลีวูดในยุคนี้ไปเสียแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์จากทั้งสองฝั่งแอตเลนติค (Memento ชนะเลิศรางวัล Waldo Salt Screenwriting Award จาก Sundance Film Festival 2001 ประเทศสหรัฐอเมริกา, ได้รับรางวัล Jury Special Prize, International Critics Award          และ CineLive Award จาก Deauville Film Festival 2000 ประเทศฝรั่งเศส, และได้รับรางวัล Prize of Catalan Screenwriter’s Critic and Writer’s Association จาก Catalonian International Film Festival 2000 ประเทศสเปน) และจากรายได้เฉพาะจากการเข้าฉายในประเทศอังกฤษกว่าล้านปอนด์ ก็อาจกล่าวได้ว่า Memento เป็นสัญญาณการดำเนิดของหนังอเมริกันแนวทางใหม่ ที่ดึงดูดให้ผู้ชม “เข้าถึง” หนังได้ โดยปราศจากการใช้อิทธิพลของ “เครื่องประดับ” หรือกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิมๆ ของฮอลลีวูด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*