MELANCHOLIA (2011) แฮปปี้เอนดิ้งในวันสิ้นโลก


MELANCHOLIA (2011) แฮปปี้เอนดิ้งในวันสิ้นโลก

ประวิทย์ แต่งอักษร

กำกับ-ลาร์ส ฟอน เทรียร์   ผู้แสดง-เคอร์สเท่น ดันสต์, ชาร์ล็อตต์ เกนสบูร์ก, คีเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์, ฯลฯ

ใครก็ตามที่อาจจะเคยนึกสงสัยเล่นๆว่า ถ้าหาก ‘คนทำหนังอาร์ตตัวพ่อ’ อย่างลาร์ส ฟอน เทรียร์ (Antichrist, Dancer in the Dark) ลงมือกำกับหนังแนวหายนะซักเรื่องจำพวก 2012, The Day after Tomorrow, Deep Impact หรือ Armageddon หน้าตาของหนังเรื่องนั้นจะเป็นเช่นใด

บัดนี้-คำตอบเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า เราก็จะได้หนังอย่าง Melancholia (2011) ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นหนังที่ว่าด้วยวันสุดท้ายของโลกมนุษย์ที่น่าตื่นเต้น, ทรงพลัง, บีบคั้นอารมณ์และชวนให้ตื่นตะลึงที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา และโดยที่หนังแทบจะละเว้นผู้ชมจากการให้เห็นภาพของความวินาศสันตะโรและการทำลายล้าง-ซึ่งกลายเป็นส่วนประกอบของหนังแนวนี้ที่คาดเดาได้และซ้ำซากจำเจ กระทั่งบางครั้งบางคราว น่าเบื่อและน่ารำคาญ

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชมจะไม่ได้ร่วมรู้เห็นเป็นพยานสภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นซากปรักหักพัง เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ในทางกายภาพ อันได้แก่ตึกรามบ้านช่องหรืออะไร แต่มันได้แก่สภาวะทางจิตวิญญาณของตัวละครที่ไม่มากไม่น้อย อยู่ในสภาพที่อาจเรียกได้ว่าระเกะระกะหรือระเนระนาดและหลายครั้งหลายครา น่าพิศวงงงงวย รวมทั้งอยู่เกินกว่ากำลังความสามารถของผู้ชมที่จะหยั่งรู้ได้ถึงว่ามันซุกซ่อนความเจ็บปวดชอกช้ำใด และใครก็ตามที่ได้ดูหนังของฟอน เทรียร์สมากพอ-ก็จะตระหนักได้ว่า ชั่วโมงนี้ ไม่มีผู้กำกับคนไหนที่มีความถนัดจัดเจนในการทำหนังเกี่ยวกับหญิงสาวที่โอบกอดความทุกข์ ความหดหู่ ความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง-ได้อย่างเข้าถึงรากเหง้าเท่ากับเขาอีกแล้ว

ในแง่ของการวางกรอบการถ่ายทอด มันมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Antichrist อยู่พอสมควร โดยเฉพาะการแบ่งเนื้อหาเป็นท่อนๆ กระทั่งฉากอารัมภบทหรือ prologue ก็ยังได้รับการนำเสนอด้วยภาพ ‘ซุปเปอร์สโลว์โมชั่น’ เหมือนกัน แต่ขณะที่ Antichrist ถูกใช้เพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่นำพาให้คู่ผัวตัวเมียต้องดำดิ่งลงไปในความโศกเศร้าและชดเชยความเจ็บปวดสูญเสียด้วยความรุนแรง ฉากเปิดของ Melancholia ทำหน้าที่ในลักษณะของการบรรยายสรุปถึงห้วงเวลาต่างๆในขณะที่โลกกำลังเดินทางมาถึงตอนจบของมัน

กระนั้นก็ตาม แต่ละช็อทที่ประกอบไปด้วยใบหน้าของตัวนางเอกของเรื่องท่ามกลางฉากหลังซึ่งมีฝูงนกร่วงหล่นจากท้องฟ้า, ภาพของโลกและดาวอีกดวงที่ดูเหมือนว่าจะโคจรเข้ามาใกล้กันมาก, ภาพของหญิงสาวที่อุ้มลูกน้อยและขาของเธอจมลงไปบนกรีนของสนามกอล์ฟ, ภาพของม้าสีดำที่ค่อยๆทรุดตัวลง, ภาพของนางเอกในชุดแต่งงานที่วิ่งฝ่ากระแสลมและรากไม้ที่ฉุดรั้งเธอไว้, ภาพของมุมสงบของบ้านที่มองเห็นหายนะที่คืบคลาน และอื่นๆ-ล้วนแล้วได้รับการปรุงแต่งจนดูเหนือจริง และบรรยายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่ามันหมดจดงดงามจนน่าจะสะกดให้ใครก็ตามที่ได้พบเห็นตกอยู่ในมนต์สะกดของมัน อีกทั้งช็อทที่เหมือนกับถูกทำให้หยุดนิ่งเหล่านั้นยังได้รับการขับกล่อมด้วยเสียงดนตรีจากอุปรากรที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักต้องห้ามที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมเรื่อง Tristan and Isolde ของริชาร์ด วากเนอร์ ที่ท่วงทำนองของมันให้ความรู้สึกอ่อนหวาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็บีบคั้น เศร้าสร้อยสะเทือนอารมณ์ และไม่น่าเชื่อว่ามันสอดประสานกลมกลืนไปกับฉากวันล้างโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น หนังแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองครึ่ง และครึ่งแรกเล่าเรื่องของจัสทิน (เคอร์สเท่น ดันสต์) ผู้ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ ในตอนที่หนังพาผู้ชมไปพบเธอกับไมเคิล (อเล็กซานเดอร์ สการ์การ์ด) คนรัก ทั้งสองนั่งอยู่ในรถลิมูซีนคันยาวที่กำลังหันรีหันขวางอยู่บนถนนแคบๆที่คดเคี้ยว และนั่นเป็นเหตุผลที่นำพาให้คู่บ่าวสาวไปถึงคฤหาสน์ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธี-ล่าช้าถึงสองชั่วโมง แต่สาวน้อยก็ยังคงอยู่ในมู้ดที่แสนบรรเจิดตามวิสัยของคนที่กำลังจะแต่งงาน

ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ ใครที่คิดว่าฟอน เทรียร์สได้ละทิ้ง ‘วัตรปฏิบัติ’ ของการถ่ายด้วยวิธีแฮนด์เฮลด์ในแบบเหวี่ยงซ้ายป่ายขวา และตัดภาพโดยไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงของเหตุการณ์-ก็ต้องบอกกล่าวกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าคุณสมบัติดังกล่าวยังคงเป็นทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องเครื่องของหนังทั้งเรื่องเหมือนเดิม และรวมถึงเป็นลางบอกเหตุ ตลอดจนความทะแม่งของงานแต่งงานนี้

ทีละน้อย ความไม่แน่ไม่นอนตลอดจนทำนายทิศทางล่วงหน้าไม่ได้ของกล้อง-ก็อธิบายถึงพฤติกรรมของจัสทินโดยปริยาย หมายความว่า-ในขณะหนึ่งที่เธอดูเหมือนจะเป็น ‘ผู้หญิงที่มีความสุขที่สุดในโลก’ แต่อีกสองสามนาทีถัดมา สีหน้าท่าทางตลอดจนอากัปกิริยาบ่งบอกถึงความเคลือบแคลงลังเล หรือกระทั่งทำในสิ่งที่ผู้ชมไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าเธอนึกคิดอะไร ตั้งแต่การแอบขึ้นไปม่อยหลับทั้งๆที่แขกเหรื่อยังอยู่เต็มงาน หรือกระทั่งนอนแช่น้ำอุ่นในอ่างทั้งๆที่ถึงเวลาที่ทุกคนเฝ้าคอยให้เธอตัดเค้ก หรือแม้กระทั่งในตอนที่อยู่ลำพังสองต่อสองกับเจ้าบ่าว เธอก็ยังขอแว่บออกไปมีเซ็กซ์กลางสนามกอล์ฟกับไอ้หนุ่มคนที่เธอเพิ่งจะพบหน้าค่าตาในงาน

แต่ครั้นจะบอกว่า ‘ความเจ็บไข้ได้ป่วย’ ของเธอปราศจากสมุฎฐานของโรคก็คงจะไม่จริง และไม่มากไม่น้อย พฤติกรรมของเด็กซ์เตอร์ (จอห์น เฮิร์ท) ผู้เป็นพ่อ และแกบี้ (ชาร์ล็อตต์ แรมพลิ่ง) แม่ของเธอ-ก็อธิบายโดยอ้อมถึงสภาวะการเติบโตของหญิงสาวได้อย่างดี แน่นอนว่าทั้งสองเลิกร้างกัน และขณะที่เด็กซ์เตอร์เป็นตาแก่ตัณหากลับที่ควงสาวรุ่นลูกถึงสองหรือสามคนมาร่วมงาน แกบี้ ‘กล่าวอวยพร’ ให้กับลูกสาวในแบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนกัน และคล้ายๆกับจะ ‘รู้แจ้งเห็นจริง’ นั่นก็คือการประกาศอย่างไม่อ้อมค้อมว่าเธอเกลียดการแต่งงาน และคำแนะนำอันสุดแสนมีค่า-ซึ่งประยุกต์ให้เข้าเนื้อหาที่ว่าด้วยวันสุดท้ายของโลกได้เป็นอย่างดี ก็คือ “ขอให้ตักตวงความสุขตราบเท่าที่มันยังคงหลงเหลือและยืนยาว”

เนื้อหาส่วนหลังเป็นเรื่องของแคลร์ (ชาร์ล็อตต์ เกนสบูร์ก) พี่สาวของจัสทินผู้ซึ่งในครึ่งเรื่องแรก บทบาทของเธอได้แก่การพยายามประคับประคองให้งานแต่งงานของน้องสาวที่จัดอย่างเลิศหรูและเต็มไปด้วยพิธีรีตองผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งผลลัพธ์กลับหันเหไปในทิศทางตรงกันข้าม ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเธอในครึ่งที่สอง ผู้ชมได้รับการบอกกล่าวว่าความห่วงกังวลของแคลร์เกี่ยวกับการประสานงาของดาวเคราะห์ที่ชื่อเดียวกับหนังเรื่องนี้กับโลกมนุษย์-เพิ่มขึ้นอย่างที่เจ้าตัวไม่สามารถควบคุม และตัวละครที่ดูเหมือนจะเป็นคนเยือกเย็นและสงบนิ่งในตอนที่ผู้ชมพบและรู้จักกับเธอตอนแรก-กลับผันแปรไปเป็นคนละคน ความว้าวุ่นสับสนของแคลร์มาจากการที่แจ็ค (คีเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์) สามีผู้เป็นเจ้าของคฤหาสน์ที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงานและนักดูดาวสมัครเล่น-ยืนยันว่าดาวเคราะห์ที่ไม่ได้รับเชิญนั้นจะเพียงแค่เฉียดกรายโลกมนุษย์และผ่านพ้นไป แต่ทว่าข้อมูลที่เธอสืบค้นจากในอินเทอร์เน็ตบ่งชี้ในทางตรงกันข้าม

แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญของเนื้อหาครึ่งหลัง-ก็ยังคงหนีไม่พ้นแง่มุมที่เชื่อมโยงกับชีวิตแต่งงานที่ตื้นลึกหนาบางของมันผูกโยงอยู่กับการปกปิดความจริง การโกหกหลอกลวง และการทรยศหักหลัง และในขณะที่เนื้อหาที่ว่าด้วยบทอวสานของโลกมนุษย์-เป็นเพียงสิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือสมมติขึ้นในหนังเรื่องนี้ แต่มันก็อนุมานได้ไม่ยากว่าประโยคที่จัสทินเอ่ยกับพี่สาวของเธอในฉากสำคัญฉากหนึ่งช่วงครึ่งท้าย-เป็นทั้งคำพูดของฟอน เทรียรส์และทัศนะของเขาต่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติโดยตรง นั่นก็คือ ชีวิตบนโลกใบนี้มันชั่วร้าย และเป็นเรื่องป่วยการที่จะไปอาลัยอาวรณ์ในกรณีที่มันพินาศดับสูญลงไป เพราะคงจะไม่มีใครหวนระลึกถึงคุณงามความดีของมัน

แน่นอนว่านั่นเป็นมุมมองโลกในแง่ร้าย แต่ใครจะกล้าโต้แย้งว่ามันปราศจากความจริงโดยสิ้นเชิง

เคอร์ส์เท่น ดันสต์ได้รับรางวัลผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ไปครอง-กับบทของหญิงสาวอารมณ์แปรปรวน แต่ก็ไม่ใช่ดันสต์คนเดียวที่ถ่ายทอดบทบาทที่น่าจดจำ หากยังรวมถึงนักแสดงหลักทั้งหมด อันได้แก่สเตลแลน สการ์การ์ดในบทเจ้านายที่เห็นแก่ได้ของจัสทิน และชาร์ล็อตต์ เกนส์บูร์กในบทแคลร์ผู้ซึ่งอาการสติแตกของเธอยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีกเป็นทวีคูณ

แต่ส่วนที่พิเศษที่สุดและทำให้ Melancholia ของฟอน เทรียร์ส แตกต่างจากหนังแนวหายนะตามมาตรฐานสากล-ก็ตรงที่คนทำหนังไม่ต้องมาห่วงกังวลความรู้สึกของผู้ชมในตอนเดินออกจากโรงทำนองว่าพวกเขาจะสิ้นสุดการชมด้วยความห่อเหี่ยวสิ้นหวังแต่อย่างหนึ่งอย่างใด และไม่จำเป็นต้องมาแสวงหาซักหนทางในการกอบกู้ความหวังและความศรัทธาในมวลมนุษยชาติกลับคืนตามธรรมเนียมปฏิบัติที่คุ้นเคย

และดังที่กล่าวนั่นเอง เขาเสนอไอเดียที่มืดหม่นและมืดมิด แต่ทว่าท้าทาย และอาจถือเป็นมิติใหม่ของหนังแนวหายนะ นั่นก็คือ ถ้าหากเราไม่ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเกินไป บางที ความพินาศย่อยยับของโลกมนุษย์-ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และอาจจะถือเป็นแฮปปี้เอนดิ้งในแง่มุมหนึ่งได้เหมือนกัน

ตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2011

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*