อย่าไปเรียกพวกเธอว่า “เพชรภูธร” สาวน้อยเหล่านี้คือสะพานข้ามพรมเเดนวัฒนธรรม
เจตนา นาควัชระ
ผมเดินเป๋ออกมาจากการหอศิลป์ V.S. Gallery นราธิวาสฯ ซอย 22 ด้วยความงุนงงเป็นอย่างยิ่ง นี่มันเป็นไปได้อย่างไร เมื่อ 60 ปีที่เเล้ว วาทยกรเยอรมัน ชื่อ Herr Mommer ซึ่งสถาบันเกอเธ่ส่งมากำกับวง Pro Musica ไม่พอใจกับการเล่นเชลโล่ของนักดนตรีชาวไทยในวง ถึงขนาดทุบเชลโล่ของหัวหน้ากลุ่มพังไปหนึ่งตัว เกิดเป็นเรื่องราวกันใหญ่โตสำหรับฝ่ายเยอรมัน เขาเกือบจะถูกส่งตัวกลับไปเเล้ว เเต่ก็ประนีประนอมกันกันสำเร็จ เพราะฝ่ายไทยมีความนอบน้อมถ่อมตนเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว ถ้าครูไทยเอาไม้ระนาดโขกหัวศิษย์ได้ เยอรมันเขาจะระเบิดอารมณ์บ้างเพราะเราหย่อนมาตรฐานก็ยอมเขาเถิด
ถ้านาย Mommer มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้ฟังสาวน้อยสามคนนี้หาญไต่บันได้ขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรตส์เเห่งคีตนิพนธ์สำหรับเชลโล่เเล้ว เขาคงจะอุทานออกมาอย่างเเน่นอนว่า “Was? Wie ist das möglich?” (อะไรกัน [วะ] มันเป็นไปได้อย่างไร) เเต่มันก็เป็นไปเเล้ว
เมื่อท่านองคมนตรี ม.ล. อัสนี ปราโมชผู้ล่วงลับไปเเล้ว มอบงานของวง Pro Musica ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรไป พวกครูกลุ่มหนึ่งก็ใช้เวลาเป็นเเรมปีออกไปควาญหาช้างเผือกจากต่างจังหวัด นำมาประคบประหงม พรํ่าสอนวิชาการดนตรีของอัสดงคตประเทศให้กับเด็กหนุ่มเด็กสาวผู้รักดีจำนวนหนึ่ง เเละสามสาวที่ออกเเสดงผลงานเดี่ยวเชลโล่ของ Bach ในวันนี้ก็ยืนยันได้ว่าทุกอย่าง “สำคัญที่ใจ” เหตุใดเด็กสามคนนี้จึงใจถึงที่กล้าเสนองานอันลึกซึ้งเเละยากยิ่งชุดนี้ต่อสาธารณะอย่างที่เขาทำในวันนี้ เเล้วปริญญาเอกจากสถาบันอันเลื่องชื่อของตะวันตกทั้งหลายหาย (…)ไปไหนกันหมด (ผมไม่ได้พูดเรื่อเชลโล่โดยเฉพาะนะครับ) เหตุใดจึงไม่ยอมออกแสดง หรือ “สนิมเกิดเเต่เนื้อ ในตน”?
ระหว่างการเเสดงในบางตอน โดยเฉพาะในตอนกลางๆ ผมลองหลับตาฟังเเต่เสียง เเล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เสียงที่ผมได้ยินในบางช่วงบางตอนมันราวกับการเเสดงของนักดนตรีอาชีพที่ผมเคยได้ฟังมาที่ Wigmore Hall หรือ Philharmonie Berlin โรงเล็ก
ถึงอย่างไร พวกเธอก็ยังเด็กนัก ประสบการณ์ยังน้อยนิด เเต่มันมีบางสิ่งบางอย่างที่แฝงอยู่ในเนื้อในของดนตรีที่ถ่ายทอดข้ามยุคข้ามสมัยข้ามถิ่นที่ได้ด้วยวิธีการที่อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ยาก ไม่ว่าครูของพวกเขาจะพร่ำสอนมา หรือพวกเธอได้ยินได้ฟังผลงานมาจากการอัดเสียงสมัยใหม่ เเต่เสียงที่พวกเธอถ่ายทอดมานั้นมัน “ใช่เลย” เสียงเชลโล่ของพวกเธอมีความหลากหลายมาก ส่วนที่พวกเธอทำได้อีกส่วนหนึ่งคือ การจับจังหวะของเพลงเต้นรำที่ Bach หยิบยืมมาจากฝรั่งเศส เเละภายในกรอบนั้นอภิมหาคีตกวีบรรจุความหลากหลายเเละความลุ่มลึกของอารมณ์เข้าไป หนูน้อยทั้งสามทำได้เท่าที่จะเป็นไปได้ เเต่สังเกตได้ว่าในหลายๆตอน พวกเธอไม่ได้ยึดจังหวะอย่างตายตัว เเต่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ผ่อนสั้นผ่อนยาว พยายามจะเข้าถึงอารมณ์ของเพลงให้ได้ คงต้องบอกว่านี่คือ “ศิษย์มีครู” อย่างเเน่นอน สิ่งที่ควรชมอีกประการหนึ่งก็คือ พวกเธอเล่นไม่เพี้ยน เเม้จะเกิดความประหม่าเป็นครั้งคราวจนลืมโน้ต ก็ไม่มีใครว่าอะไร ผู้ชม (ซึ่งเป็นคนไทยเสียเป็นส่วนใหญ่) ปรบมือให้อย่างกึกก้องในตอนท้าย
สามสาวมีบุคลิกที่ต่างกัน เเละก็น่าประหลาดที่บุคลิกนั้นสะท้อนออกมาเป็นบุคลิกภาพทางดนตรี สาวคนที่หนึ่งเล่นบาคเเบบห้าวหาญ สาวคนที่สองมองบาคว่าเป็นนักคิด คนที่สามดูจะทึ่งกับเทคนิคที่ร้อยเรียงมาอย่างซับซ้อน พวกเธอยังมีเวลาที่จะเจาะลงไปถึงส่วนลึกของงานชุดนี้อีกนานมากนัก อย่าลืมว่า เมื่อ Pablo Casals ไปค้นพบต้นฉบับของงานชุดนี้นั้น เขาใช้เวลาอีก 12 ปี ในการ “แกะ” เอาเนื้อในเเละคุณค่าทางดนตรีออกมาเผยเเสดง นักเชลโล่ส่วนใหญ่เกาะงานชุดนี้ไว้ตลอดชีวิต
สำหรับเราในฐานะผู้ดูผู้ฟัง ก็คงจะต้องขอบคุณสาวน้อยทั้งสามที่เเสดงให้เห็นประจักษ์ชัดว่า ดนตรีข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมได้ ถ้าหมั่นเรียนรู้ เเละมุ่งมั่นตั้งใจจริง
“เพชรภูธร”ทั้งสามได้รับทุนเล่าเรียนตลอดหลักสูตรปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจากบริษัทเอกชน พวกเขาโชคดีกว่า Johannes Brahms มาก ที่ไม่ต้องเล่นดนตรีในบาร์ในตอนเด็กเพื่อความอยู่รอด วันนี้ผมกลับมาถึงบ้านเเล้วลงมือเขียนบทวิจารณ์นี้โดยฉับพลันอย่างเเทบไม่ได้ใคร่ครวญไตร่ตรอง ตอนนี้ผมหายงงเเล้ว “สว่าง” ขึ้นเเล้วด้วย คนเเก่เท่านั้นหรือที่อยู่ได้ด้วยอาหารใจ