เหลียวหลังแลหน้า….การวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย

เหลียวหลังแลหน้า….การวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย

ดาวน์โหลดวัตถุประสงค์ที่นี่

ดาวน์โหลดกำหนดการที่นี่

ลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่
goo.gl/D6qYVf
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
**ปิดรับลงทะเบียนสำรองที่นั่งเมื่อมีผู้ลงทะเบียนครบ 280 คน**

สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ลงทะเบียนสำรองที่นั่งที่
เพจ “เอกภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ”
https://goo.gl/KIUx6g
**ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป**

 

การสัมมนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้าการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย”

โครงการวิจัย “เครือข่ายการวิจารณ์: การวิจัยและพัฒนา” ร่วมกับ

โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย

ภาควิชาภาษาไทย  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความเป็นมา

โครงการวิจัย “เครือข่ายการวิจารณ์: การวิจัยและพัฒนา” ระยะที่ ๒  (๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐)  ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  โดยมีศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ เป็นหัวหน้าโครงการ  โครงการนี้เป็นการวิจัยเครือข่ายการวิจารณ์ศิลปะใน ๕ สาขาในประเทศไทย  อันได้แก่ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร  ภาพยนตร์ และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทย) ทั้งในโลกจริง (ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค)  และโลกเสมือน  อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นการทำวิจัยสืบเนื่องมาจากชุดโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะ จำนวน ๔ โครงการ ซึ่งดำเนินการมาตลอดในระยะเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมา  จึงได้สั่งสมองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะในหลากหลายประเด็น  หากพิจารณาเฉพาะการวิจัยในสาขาวรรณศิลป์พบว่า โครงการฯ ที่ผ่านมาต่างได้ศึกษาและวิเคราะห์การวิจารณ์วรรณกรรมของไทยในหลากหลายแง่มุม  ดังนี้

  1. การรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์การวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย  โดยศึกษาจากบทวิจารณ์ที่เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๔๔  พร้อมคัดสรรบทวิจารณ์ตัวอย่างที่มีพลังทางปัญญา ทั้งบทวิจารณ์ไทยและต่างประเทศจำนวน ๕๐ บทในแต่ละสาขาพร้อมบทวิเคราะห์  ในโครงการวิจัย  “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค ๑”   
  2. การขยายการวิจัยไปสู่การกระตุ้นการสร้างบทวิจารณ์จากผู้รับทั่วไปด้วยการวิจัยในรูปของห้องทดลอง (laboratory research) โดยให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ในรูปแบบหนึ่ง  นับว่าเป็นการบุกเบิกวิธีการวิจัยแบบใหม่  ในโครงการวิจัย  “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค ๒” 
  3.  การเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์การวิจารณ์ศิลปะเข้าสู่สังคม โดยศึกษาว่าการวิจารณ์ศิลปะมีผลกระทบต่อสภาวะและการเปลี่ยนแปลงต่อปรากฏการณ์ของสังคม    ทั้งในด้านของการรับ การเสพ และการบริโภคงานศิลปะ  รวมทั้งชี้ให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ใหม่ของโลกไซเบอร์ที่จะเอื้อต่อการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์  ในโครงการวิจัย  “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ ภาค ๑ และ ๒” 
  4. การขยายพื้นที่การศึกษาการวิจารณ์จากสื่อลายลักษณ์ไปยังสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การวิจารณ์ศิลปะในสื่อสิ่งพิมพ์ถดถอยไปมาก  ขณะเดียวกันสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ใหม่ที่เสริมวัฒนธรรมลายลักษณ์ในด้านของการวิจารณ์ได้อย่างมีนัยสำคัญ  ในโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง”   และในภาค ๒ ที่ใช้ชื่อว่า  “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต”

จากองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยที่ผ่านมา  ทำให้เห็นภาพรวมของการวิจารณ์วรรณกรรมในปัจจุบันอย่างชัดเจนว่า  สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศลดพื้นที่ในการวิจารณ์ลง  ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มกลายเป็นพื้นที่เผยแพร่บทวิจารณ์เพิ่มมากขึ้น     นอกจากนี้ยังพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการ กล่าวคือ  นักวิจารณ์วรรณกรรมที่ทำงานโดดเดี่ยวเพียงลำพังในสื่อสิ่งพิมพ์มีน้อยลง  เพราะขาดแคลนทั้งพื้นที่วิจารณ์และนักวิจารณ์  อนึ่ง  ปัจจุบันเครือข่ายวรรณกรรมที่ใช้การวิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเครือข่ายเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  และกระจายอยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เครือข่ายดังกล่าวนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของการวิจารณ์วรรณกรรมในภาพรวม

ด้วยสภาวะความซบเซาของการวิจารณ์วรรณกรรมในปัจจุบัน  โครงการวิจัยฯ เห็นความสำคัญของการจัดสัมมนาทางวิชาการ  “เหลียวหลังแลหน้าการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย”  เพื่อหวนกลับไปศึกษาจุดกำเนิดและเหตุปัจจัยสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และความเข้มข้นของการวิจารณ์วรรณกรรมในอดีต  จนถึงการเปลี่ยนผ่านพื้นที่วิจารณ์จากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่พื้นที่อินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน  และการร่วมกันแสวงหาทิศทางที่เหมาะสมอันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับการวิจารณ์วรรณกรรมในอนาคต   ซึ่งเป็นการทบทวนและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย  พร้อมๆ กับการกระตุ้นและสร้างบรรยากาศการวิจารณ์วรรณกรรมและวรรณคดีศึกษาให้ตื่นตัวเพิ่มขึ้น    การสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณกรรมของโครงการฯ  ที่ใช้เวลาศึกษาและสั่งสมองค์ความรู้มานานเกือบสองทศวรรษ  ขณะเดียวกันยังได้เชิญวิทยาการทั้งที่เป็นนักวิชาการ  นักวิจารณ์ และบรรณาธิการนิตยสารเฉพาะทางวรรณกรรม  ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการส่งเสริม  พัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย  มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้โครงการฯ เห็นว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นสถานที่เหมาะที่จะจัดการสัมมนาในครั้งนี้  เนื่องจากเป็นสถาบันแห่งแรกที่วางรากฐานการเรียนการสอนการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างเป็นระบบ  และได้สร้างบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการวิจารณ์วรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นต้นมา  ทั้งอาจารย์ผู้สอนวรรณกรรมวิจารณ์  นักวิชาการ และนักวิจารณ์วรรณกรรม 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย
  2. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่สนใจการวิจารณ์วรรณกรรม
  3. เพื่อกระตุ้นและสร้างบรรยากาศในการวิจารณ์วรรณกรรมทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์

 ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการวรรณกรรมในประเทศไทย
  2. การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่สนใจในการวิจารณ์วรรณกรรม
  3. การกระตุ้นและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทยต่อไป

ระยะเวลาในการดำเนินการ

            วันเสาร์ที่ ๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐  เวลา ๘.๓๐-๑๗.๐๐ น.

สถานที่

            ณ ห้อง ๓๐๑-๓๐๒ (ชั้น ๓) อาคารมหาจักรีสิรินธร  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มเป้าหมาย

            อาจารย์  นักวิชาการ  นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ ๒๐๐-๒๕๐ คน

งบประมาณ

ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย  ภาควิชาภาษาไทย  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ

เหลียวหลังแลหน้า….การวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศไทย

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์  2560 เวลา 8.30 – 17.00 น.

ณ ห้องบรรยายรวม 301-302  (ชั้น 3) อาคารมหาจักรีสิรินธร

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

›š›š›š›š›š›š›š›š›š›š›š›š›šตั้งแต่ 8.00 น. เป็นต้นไป           ลงทะเบียน

08.30 – 08.45 น.                 หัวหน้าโครงการวิจัย “เครือข่ายการวิจารณ์: การวิจัยและพัฒนา”

(ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์) กล่าวแนะนำโครงการ

08.45– 09.00 น.                  คณบดีคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา)  กล่าวเปิดงาน

09.00 – 09.45 น.                  ปาฐกถา  “ความคิดเรื่องวุฒิภาวะในศิลปะและการวิจารณ์”

ศ.เกียรติคุณดร. เจตนา  นาควัชระ

09.45 – 10.30 น.                 ปาฐกถา “เมื่อผู้อ่านถือกุญแจไขรหัส”

ศ.เกียรติคุณดร.กุสุมา  รักษมณี

10.30 – 12.30 น.                 เสวนา  “วรรณกรรมวิจารณ์ : เมื่อวัฒนธรรมการอ่านถดถอย”

ผศ. สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์

ศ.ดร. ดวงมน  จิตร์จำนงค์

ศ. ดร. รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์

12.30 – 13.30 น.                 พักรับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัย

13.30 – 15.00 น.                 เสวนา “ตามรอยเครือข่ายการวิจารณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์”

อ. ชมัยภร  แสงกระจ่าง

รศ. ยุรฉัตร  บุญสนิท

อ. ฐนธัช  กองทอง

คุณขจรฤทธิ์  รักษา

15.00 – 16.30 น.                 เสวนา  “สู่เครือข่ายการวิจารณ์ในโลกดิจิตัล”

คุณจรูญพร  ปรปักษ์ประลัย

คุณอุทิศ  เหมะมูล

คุณกิตติพล  สรัคคานนท์

16.30 – 16.50 น.                 อภิปรายซักถาม

16.50 – 17.00 น.                 หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย (ผศ.ดร.ศิริพร ภักดีผาสุข) กล่าวปิดการประชุม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล  100years.thaidept@gmail.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*