เมื่องานเล็กกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่: จากการสนทนากับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งกรุงเบอร์ลิน

เมื่องานเล็กกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่:

จากการสนทนากับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งกรุงเบอร์ลิน

เจตนา นาควัชระ

95c30/huch/1035/hm0584

Dietrich Fischer-Diskau กับ

Gerald Moore

สถาบันศิลปะแห่งกรุงเบอร์ลินที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า “Unversität der Künste” แปลเป็นภาษาไทยได้ตรงกับคำว่า “ศิลปากร” เลยทีเดียว ผมเลยทึกทักว่าเราเป็นเพื่อนกัน ผมรู้จักกับศาสตราจารย์ Jürgen Werner มากว่าสิบปีแล้ว ท่านเคยมาเมืองไทย และเรารู้จักกันจากการแนะนำของผู้กำกับการแสดงชาวเยอรมัน คือ คุณ Gert Pfatterodt (ซึ่งเคยมาเป็นวิทยากรให้กับโครงการการวิจารณ์ของเราแล้ว 2 ครั้ง) อาจารย์ Werner สอนวิชาที่ไม่มีใครอยากจะสอน เพราะไม่ทำให้ตัวเองเด่นดัง ไม่ว่าในแง่ของความเป็นนักดนตรีหรือความเป็นนักวิชาการ วิชานั้นคือ การแสดงเปียโนคลอนักร้องหรือนักดนตรี เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “piano accompaniment” มีความเข้าใจผิดกันว่าผู้เล่นเปียโนในลักษณะผู้เล่นคลอ (accompanist) นั้นคือมือรองบ่อน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดุริยางค์นิพนธ์บางชิ้นเขียนบทที่ยากมากให้กับเปียโน นักเปียโนส่วนใหญ่พอได้ยินชื่อของ Johannes Brahms ก็ขยาดแล้ว เพราะไม่ว่าจะให้เล่นกับคลาริแนตหรือกับเชลโล หรือกับไวโอลิน หรือกับนักร้อง บทบาทของเปียโนมันระดับคอนแชร์โตเราดีๆนี่เอง ยกเว้นเพลงบางเพลง เช่นเพลงที่มาจากพื้นบ้าน ซึ่งเขาเขียนบทเปียโนให้นักดนตรีสมัครเล่นเล่นได้ ในงานรุ่นก่อนหน้านั้น เช่น ไชนาตา ของ Mozart ซึ่งเขียนให้เปียโนเล่นกับไวโอลีน ก็ใช้ชื่อเรียกที่ให้เปียโนมาก่อน คือ Sonatas for Piano and Violin พอ Mozart สร้างงานประเภทนี้ไปสักระยะหนึ่ง เขาจึงเพิ่มความสำคัญของไวโอลินขึ้นเรื่อยๆ จนคนรุ่นหลังเรียกว่า Violin Sonatas ของ Mozart

สำหรับ Beethoven ก็เช่นกัน เมื่อคราวที่นักเปียโนรุ่นใหม่ระดับแนวหน้าของรัสเซีย คือ Andrej Gugnin มาเล่น “Kreutzer” Sonata ของเบโธเฟนกับนักไวโอลินของไทย ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เบโธเฟนกำหนดให้เปียโนต้องใช้ความสามารถสูงมาก การแสดงในประเทศไทยครั้งนั้นเท่ากับเป็นการอุ่นเครื่องให้กับ Gugnin ก่อนที่เขาจะไปชนะเลิศการแข่งขันเปียโนระดับนานาชาติที่ Sydney ในปีนี้เอง เพราะ “เพลงบังคับ” เพลงหนึ่งก็คือ “Kreutzer” Sonata นั่นเอง นักร้องและนักดนตรีแนวหน้าระดับโลกจะต้องเฟ้นหาผู้เล่นเปียโนที่มีความสามารถสูงและที่ปรับตัวให้เข้ากับการแสดงเดี่ยวได้ โดยในบางครั้งไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย โอกาสที่จะได้ซ้อมกันก่อนการแสดงจริงก็มีน้อย บางครั้งซ้อมเพียงครั้งเดียวแล้วต้องออกแสดงเลย “ผู้ตาม” ในที่นี้ย่อมต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงเป็นพิเศษ หน้าที่อันยากยิ่งอีกประการหนึ่งคือการเล่นคลอนักร้องอุปรากรในการซ้อมขั้นเริ่มแรก ก่อนที่จะซ้อมกับวงดนตรีทั้งวง ผู้ที่ทำหน้าที่นี้เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “répétiteur” แปลตรงตัวว่า “ผู้ฝึกซ้อม” (การซ้อมเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “répétition” ซึ่งแปลว่าเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เข้าที่) งานนี้หนักหน่วงมาก เพราะวาทยกรจะมากำกับการซ้อมร่วมกับนักร้องอุปรากร บางครั้งดาราระดับโลกคือที่เป็นนักร้องและวาทยกรมาเจอกัน ถ้าเข้ากันได้ก็ดีไป ถ้าเข้ากันไม่ได้ นักเปียโนอยู่ตรงกลางย่อมวางตัวลำบากมาก นอกจากนั้นนักเปียโนจะต้องมีองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางมาก นอกจากจะต้องเตรียมตัวมาให้ดีก่อนซ้อมแล้ว ความสามารถในการอ่านโน้ตโดยฉับพลัน (sight-reading) ก็ต้องดีด้วย ผมกำลังจะสรุปว่า วิชา piano accompaniment เป็นวิชาที่ยากมาก ยากแล้วยังไม่เปิดโอกาสให้เป็นดาราดวงเด่น จะมีใครสักกี่คนที่พร้อมที่จะทุ่มเทให้กับวิชานี้ ผมชอบสนทนากับศาสตราจารย์ Werner มาก เพราะเป็นผู้มีความรู้กว้างขวางมาก ยิ่งเรื่องภูมิหลังทางวัฒนธรรมดนตรีของตะวันตกแล้วหาตัวจับยาก ทุกครั้งที่ผมมาเบอร์ลิน ผมต้องหาโอกาสสนทนากับท่านให้ได้ ครั้งนี้อาจารย์ Werner เชิญไปที่บ้าน ซึ่งอยู่ชานเมืองเบอร์ลินที่ตำบล Frohnau นั่งรถไฟฟ้าไปใช้เวลา 45 นาที

ผมเริ่มต้นด้วยการเอ่ยถึงนักร้องเสียงบาริโทนที่โด่งดังที่สุดของโลกซึ่งเพิ่งจะล่วงลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2012 คือ Dietrich Fischer-Diskau (เกิด ค.ศ.1925) ซึ่งผมทราบดีว่าท่านผู้นี้เป็นผู้เบิกทางให้กับเพลงร้องเดี่ยวคลอเปียโน ที่เรียกกันเป็นภาษาเยอรมันว่า “Kunstlied” (ภาษาอังกฤษว่า art song) ทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นที่นิยมชมชอบในวงที่กว้างมาก เพลงประเภทนี้แต่เดิมได้แรงกระตุ้นมาจากเพลงพื้นบ้าน (ภาษาเยอรมันว่า “Volkslied” และภาษาอังกฤษเรียกว่า folk song) คีตกวีปลายยุคศตวรรษที่ 18 ต่อกับศตวรรษที่ 19 เป็นผู้ก่อให้เกิดเพลงประเภทใหม่ทั้งที่ปรับจากเพลงพื้นบ้านและทั้งที่แต่งขึ้นใหม่ ผู้ที่มีบทบาทสูงสุดคือ Franz Schubert (ค.ศ.1797-1828) ถ้าไม่มีชูเบิร์ด บราห์มส์ก็จะเกิดไม่ได้ในฐานะนักแต่งเพลง art song เมื่อได้ฟัง  Fischer-Diskau ร้องสดที่เมือง Stuttagart สมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่เมือง Tübingen ซึ่งอยู่ใกล้กัน ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า แม้ Fischer-Diskau จะร้องยอดเยี่ยมปานใด แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นจากการร้องนั้นเหมือนกับการที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา และโรงคอนเสิร์ตซึ่งจุคนได้ประมาณพันคนก็ได้กลายเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ไป ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ขลังหรือถูกปรับให้ขลัง อาจารย์ Werner อธิบายว่าการร้องของ Fischer-Diskau มิได้มีแต่คุณค่าทางสุนทรียะ แต่มีพลังทางจิตวิญญาณที่สามารถตรึงผู้ชมและผู้ฟังเป็นจำนวนเรือนพันได้จริงๆ การที่นักร้องคนเดียวกับเปียโนที่เล่นคลอสามารถสร้างประสบการณ์เช่นนั้นได้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าอัศจรรย์ เพราะแต่เดิมในสมัยของชูแบร์ตเองก็ร้องเพลงฟังกันในบ้าน หรือไม่ก็ไปชุมนุมกันในสถานที่ที่ผู้คนมาพบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มกันที่เรียกว่า “ซาลอง” (salon) (ซึ่งตามขนบทางสังคมของกรุงเวียนนานั้นมุ่งสมานไมตรีและความบันเทิงเป็นใหญ่ ต่างจากขนบฝรั่งเศสอันเป็นที่ชุมนุมของศิลปินหรือผู้สนใจศิลปะจนเกิดเป็น “สำนัก” ทางศิลปะขึ้นมาได้) การที่จะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้เราจะต้องรับรู้ภูมิหลังทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของยุโรปด้วย

          อาจารย์ Werner อธิบายว่า ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ๆ สื่อบันเทิงประเภทคลาสสิกถือว่าเป็นของหายาก สถานที่แสดงดนตรีก็พังพินาศไปกับสงคราม แม้แต่วงดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น วง Berlin Philharmonic ก็ต้องออกแสดงที่โรงภาพยนตร์ (ซึ่งนครเบอร์ลินยังรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์) การแสดงสดหาฟังยาก สถานีวิทยุกระจายเสียงจึงเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่ง (ก็เช่นเดียวกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกับการเผยแพร่เพลงไทยสากล อันเป็นประเด็นที่ผมได้นำมาอภิปรายหลายครั้งแล้ว) การออกอากาศสดนั้นมีผลดีไม่น้อย เพราะนักดนตรีและนักร้องต้องพยายามแสดงให้ดีที่สุด บางครั้งรายการเดียวกันออกอากาศซ้ำกัน 2 ครั้ง สถานีก็ไม่มีเครื่องมือทางเทคนิคที่ดีพอที่จะอัดเสียงเอาไว้ให้ได้มาตรฐานเทียบได้กับการแสดงจริง วงดนตรีประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงจึงมักมีคุณภาพยอดเยี่ยม เช่นวงดนตรีของสถานีวิทยุ BBC ซึ่งมีหลายวงกระจายไปตามภูมิภาค นักดนตรีไม่รู้จะไปแสดงท่าทางขี้โอ่เป็นของแถมให้กับใคร ต้องตั้งใจเล่นให้ “ผู้ฟังในจินตนาการ” ฟัง ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Tübingen วงดนตรีประจำแคว้นคือ วง South West German Radio Symphony Orchestra ซึ่งส่งกระจายเสียงมาจากเมือง Bade-Baden มีความเชี่ยวชาญเป็นอันดับต้นๆของโลกในด้านดนตรีสมัยใหม่ แต่ด้านคลาสสิกดั้งเดิมก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ผมเขียนถึงวงดนตรีวงนี้เอาไว้แล้วในหนังสือ ในบทวิจารณ์ชื่อ “The Death of a Great Orchestra” (www.thaicritic.com/?p=2808) แต่นักการเมืองก็ตัดสินใจยุบวงดนตรีวงนี้ไปแล้ว โดยให้ไปรวมกับวงดนตรีประจำสถานีวิทยุ South West German Radio Symphony Orchestra แห่งเมือง Stuttgart ผมไม่ได้อยากจะพูดให้แสลงน้ำใจคน แต่ถ้าผมใช้หูของผมเองเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพ มันควรจะยุบวง Stuttgart ไปรวมกับวงที่ Baden-Baden มากกว่า! การแสดงซ้ำอาจเป็นปัญหาสำหรับวาทยกรบางคนที่เบื่อง่าย มีเรื่องเล่าว่า เมื่อวาทยกรชาวอังกฤษ Sir Thomas Beecham (ค.ศ.1879-1961) ได้รับเชิญมากำกับวง BBC Symphony Orchestra รายการนั้นต้องออกอากาศสด 2 ครั้ง ท่านเซอร์ตัดสินใจกำกับวงเฉพาะครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 นั้นยกให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าวง (เรียกว่า Leader หรือ Concertmaster ชื่อ Paul Beard [ค.ศ.1901-1989] ทำหน้าที่แทน หัวหน้าวงทั้งหลายโปรดระวังตัวให้ดี วันใดวันหนึ่งท่านอาจต้องผันตัวไปเป็นวาทยกรโดยไม่มีโอกาสได้เตรียมตัว!) ผมเล่าเรื่องวัฒนธรรมการส่งกระจายเสียงให้ฟังเพื่อให้เห็นว่า การแสดงสดเป็นตัวประกันคุณภาพ สำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยนั้น แต่เดิมก็ออกอากาศสดด้วยวงกรมโฆษณาการ (ซึ่งต่อมาเป็นชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นผู้กำกับวง ผมเคยติดตามพ่อไปดูการแสดงสด ขอยืนยันว่ายอดเยี่ยมจริงๆ ซ้อมกันมาดีมาก จริงอยู่สมัยนั้นมีการอัดเสียงด้วยแผ่นครั่งเอาไว้เปิดซ้ำ แต่เราก็ทราบกันดีอยู่ว่าคุณภาพเป็นอย่างไร

สำหรับ Dietrich Fischer-Diskau นั้นเขาใช้โอกาสที่จะเผยแพร่ผลงานอันยอดเยี่ยมของเขาด้วยวิธีอื่นอีก นั่นคือการอัดแผ่นเสียง เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง เทคโนโลยีการอัดเสียงก้าวหน้าไปมาก โดยในปี 1948 มีการผลิตแผ่นเสียงที่เรียกว่า long play ออกมาเป็นครั้งแรก โดยบริษัท Columbia ต่อจากนั้นก็ขยายตัวไปสู่ยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งบริษัท EMI เป็นผู้นำแผ่นเสียงใหม่หมุนช้าลงที่ 33 1/3 รอบต่อนาทีออกเผยแพร่ แผ่นเสียงแบบใหม่นี้บรรจุเนื้อหาได้มากและคุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนักร้องเดี่ยว นักดนตรีเดี่ยวและวงดนตรีแสดงฝีมือได้เต็มที่ วงดนตรีที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมเช่น Philhamonia Orchestra of London ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนอุตสาหกรรมการอัดเสียง สำหรับอังกฤษนั้นโชคดีที่มีนักธุรกิจที่เป็นทั้งวิศวกรอัดสียงและเป็นผู้รู้ทางด้านดนตรีชื่อนาย Walter Legge (ค.ศ.1906-1979) เข้ามาอยู่ในวงการ เขารู้จักวงการดนตรีดีมากมาตั้งแต่ก่อนสงคราม พูดภาษาเยอรมันได้คล่องแคล่ว และรู้ดีว่านักร้องระดับ Dietrich Fischer-Diskau นั้นจะให้โอกาสแก่ผู้ฟังแต่เฉพาะแต่การแสดงสดเท่านั้นไม่เป็นการยุติธรรม ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากได้ฟังการร้องของเขาด้วยการอัดแผ่นเสียง ยิ่งไปกว่านั้นนาย Legge ก็รู้ดีว่าจะหานักเปียโนที่ไหนที่ไม่ทะเยอทะยานจะโด่งดังในฐานะนักแสดงเดี่ยว แต่มีความชอบและความเชี่ยวชาญในด้านการแสดงคลอ (accompaniment)  เขารู้ดีว่านาย Gerald Moore (ค.ศ.1889-1987) คือบุคคลที่จะนำพาวงการให้ก้าวหน้าไปได้ด้วยการประกบกับนักแสดงเดี่ยว และนักร้องเดี่ยว เมื่อ Dietrich Fischer-Diskau กับ Gerald Moore มาเจอกันก็เกิดความร่วมมือกันที่นับได้ว่าอยู่ในระดับอุดมคติ ผลงานที่อัดเสียงออกมามีมากมาย นักร้องคนนี้มีองค์แห่งคีตนิพนธ์ที่ กว้างมาก ไม่ใช่แต่เพลงร้องภาษาเยอรมันเท่านั้น แต่รวมไปถึงเพลงฝรั่งเศสและอังกฤษอีกด้วย ซึ่งเขาก็ร้องได้ดีมาก (แสดงว่าการศึกษาภาษาต่างประเทศในเยอรมนีไม่ได้ถูกทำลายไปในตอนสงคราม) สำหรับเรื่องของเทคโนโลยีนั้น ไม่ช้าไม่นานก็ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง stereophonic sound เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นำมาใช้ในการอัดแผ่นเสียงในปี 1957 ดนตรีคลาสสิกได้รับอานิสงส์อย่างมากมายจากเทคโนโลยีใหม่นี้ โดยเฉพาะการอัดเสียงซิมโฟนีและอุปรากร แต่การอัดเสียงนักร้องเดี่ยวคลอด้วยเปียโนก็สร้างความชัดเจนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

เราสนทนากันอยู่นาน โดยที่ศาสตราจารย์ Werner ลงความเห็นว่า เราไม่ควรต่อต้านเทคโนโลยีเสมอไป ในกรณีของนักร้องเยอรมันผู้นี้ ผู้คนแย่งกันซื้อบัตรไปฟังเขาร้องสด ก็เป็นเพราะผู้คนจำนวนแสนจำนวนล้านได้รู้จักเขามาเป็นอย่างดีแล้วจากแผ่นเสียงที่เขาอัดไว้ นอกจากจะฟังจากแผ่นจริงแล้ว สถานีวิทยุกระจายเสียงก็นำแผ่นเสียงเหล่านี้ไปเปิดเป็นประจำ เพลงร้องทั้งที่เป็น folksong  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง art song กลายมาเป็นที่นิยมอย่างมิได้มีผู้คาดฝันกันมาก่อน สำหรับคุณภาพในการร้องของ Fischer-Diskau นั้น อาจารย์ Werner คิดว่า นอกจากความสมบูรณ์ในด้านเทคนิคแล้ว ยังเป็นเรื่องของบุคลิกภาพที่มาจากเสียงด้วย ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่ไม่มีใครจะเลียนแบบได้ ความสามารถในการสื่อสารอยู่ในระดับที่อธิบายได้ยาก ยิ่งเวลาร้องสดด้วยแล้ว การถ่ายทอดอารมณ์ในสถานที่แสดงสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างศิลปินกับผู้ฟัง/ผู้ชม ศิลปินตรึงมหาชนได้ด้วยบุคลิกภาพทางศิลปะที่อยู่เหนือการอธิบายด้วยภาษาและคำพูด ผมเองได้ซึ่งเคยฟัง Fischer-Diskau ร้องสดมาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นจริงอย่างที่อาจารย์ Werner พูด ผมคิดว่าศิลปินกับมหาชนสื่อสารกันสองทาง นักไวโอลินเอกของโลก Lord Yehudi Menuhin (ค.ศ.1916-1999) เคยกล่าวเอาไว้ว่า ท่านสัมผัสกลุ่มผู้ฟังของท่านได้ โดยกล่าวว่า “I can feel my audience” ในขณะเดียวกันการที่ศิลปินปรากฏตัวให้เห็นด้วยการแสดงสด เอื้อให้ผู้ฟังตอบสนองทางอารมณ์ในลักษณะที่เรียกว่า สามารถสัมผัสการปรากฏตัว (stage presence) ของศิลปินได้ ผมเคยกล่าวเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า นักร้องชั้นนำของเรา คือ รวงทอง ทองลั่นธม มี stage presence ที่นักร้องจำนวนมากไม่มี แม้แต่ในขณะที่ยังไม่ได้ร้องเพลงออกมา แม้แต่เพียงวรรคเดียว เราก็สัมผัสถึงบุคลิกภาพของเธอได้ พูดไปพูดมาจะกลายเป็นประสบการณ์ทางสุนทรียะที่มีลักษณะคล้ายศาสนาขึ้นทุกที ในเมื่อการสื่อสาร (communication) กลายสภาพเป็นพิธีกรรมรับศีลมหาสนิท (communion) ไปแล้ว ผมก็ควรจะเปลี่ยนเรื่องได้แล้ว

          คนเราไม่ใช่เทวดา ย่อมมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน อาจารย์ Werner พูดอย่างหนักแน่นว่า Dietrich Fischer-Diskau ไม่ถนัดร้องอุปรากร เคยทดลองหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในตอนวัยล่วงเลยมากแล้วก็ยังไม่ยอมรับความจริง ต้องการจะร้องอุปรากรให้ได้ ฝืนตัวเองจนเสียงเสียไปเลย (เรื่องเช่นนี้ต้องผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะจับได้และเข้าใจได้) ข้อจำกัดอีกแง่หนึ่งคือ การสอน ผมเคยได้ไปฟังท่านสอนในชั้นเรียนตัวอย่าง (masterclass) ก่อนที่ท่านถึงแก่กรรมสักปีหนึ่ง แล้วก็ต้องลงความเห็นว่าท่านไม่มีความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง นักเรียนคนไหนถูกใจก็จะให้ความเห็นมากหน่อย กับบางคนท่านไม่ติไม่ชม คือไม่พูดอะไรเลย ทาบกับรวงทองของเราไม่ติด ซึ่งเป็นผู้มีพรสวรรค์ในฐานะครู อาจารย์ Werner ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง Dietrich Fischer-Diskau จะสนใจนักเรียนบางคน และไม่สนใจนักเรียนบางคน เอาแน่ไม่ได้

ผมทราบมาว่าลูกของท่านเป็นนักดนตรีเช่นเดียวกับท่าน โดยเฉพาะลูกชายคนโตเป็นนักไวโอลีนเอกของโลก (แต่ระยะหลังหันมาเอาดีในการกำกับวง และการบริหาร เคยเป็นอธิการบดีสถาบันดนตรีชั้นสูง Hanns Eisler ที่กรุงเบอร์ลิน ทำให้สถาบันนั้นโดดเด่นขึ้นมาอย่างมิอาจปฏิเสธได้) เขาชื่อ Christoper Poppen (เกิด ค.ศ. 1956) เคยมาแสดงในประเทศไทยหลายครั้ง และมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลเบโธเฟนที่สถาบันเกอเธ่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ผมไม่ทราบว่าเหตุใดเขาจึงใช้ชื่อสกุลว่า Poppen อาจารย์ Werner ตอบว่า เขาเลือกใช้นามสกุลของมารดา (ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อคลอดลูกคนที่ 4) เพราะต้องการเป็นตัวของตัวเอง พิสูจน์ความสามารถของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งบารมีพ่อ การเป็น “ลูกตัวน้อยๆของพ่อผู้ยิ่งใหญ่” (a small son of a big father) ทำให้เกิดโสกนาฏกรรมในทางศิลปะมาแล้วหลายราย นอกเสียจากจะเป็นอัจฉริยะจริงๆ ดังเช่นในกรณีของ Carlos Kleiber (ค.ศ.1930-2004) ซึ่งเป็นวาทยกรเอก โดยที่บิดาก็เป็นวาทยกรที่โดดเด่นในยุคของท่านมาก่อนเช่นกัน คือ Erich Kleiber (ค.ศ.1890-1956) ในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ลูกเก่งกว่าพ่อ ก็นับว่าโชคดีไป

christoph-poppen

Christoph Poppen (คนที่ 2 จากซ้าย) กับ

Cherubini String Quartet อันเลื่องชื่อ

          ก่อนจะลากลับ ไหนๆก็คุยกันตอนสุดท้ายในเรื่องของวาทยกร ผมเลยถามท่านศาสตราจารย์ว่า วาทยกรประจำวง Berlin Philharmonic เป็นอย่างไร ท่านตอบแบบไม่อ้อมค้อมเลยว่า ผู้ที่รักดนตรีที่แท้จริงกำลังรอในวาทยกรคนใหม่คือ Kirill Petrenko (เกิด ค.ศ.1972) มารับตำแหน่งใหม่ในปี 2018 สำหรับวาทยกรคนปัจจุบันคือ Sir Simon Rattle (เกิด ค.ศ. 1955) นั้น น่าเสียดายมากที่ไม่ได้มีสมาธิที่เที่ยงเพียงพอในเรื่องของดนตรี ทั้งๆที่ผู้รู้คาดหวังจากเขาไว้มาก เพราะผลงานตอนหนุ่มที่เมือง Birmingham ในอังกฤษนั้นดีจริงๆ แต่พอมาอยู่เบอร์ลินก็มัวแต่ไปสนใจเรื่องทำ PR ให้กับตัวเองและวง Berlin Phil ถือได้ว่า “เสียของ” คำนี้ไม่มีในภาษาเยอรมัน ผมสรุปเอาเอง เพราะอาจารย์ Werner ใช้คำอุทานว่า “Schade!” (น่าเสียดาย)

สำหรับ Dietrich Fischer-Diskau นั้น เขาเป็นนักดนตรีด้วยวิญญาณ ไม่เคยวอกแวกไปทางใด ฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา ก่อนแสดงก็เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีเสมอ เมื่อจริงใจกับดนตรีก็ย่อมมีความมั่นใจในฐานะศิลปิน โปรดิวเซอร์ Walter Legge เคยพยายามจะสอน Fischer-Diskau ให้ร้องอย่างนั้นอย่างนี้ (ภรรยาของเขาคือนักร้องเสียงโซปราโนระดับแนวหน้า Elisabeth Schwarzkopt [ค.ศ.1915-2006] คงยอมให้แกสอน เลยลืมไปว่า หน้าที่ของโปรดิวเซอร์อยู่ที่ไหน) นักร้องเอกของเราก็เพียงแต่บอกว่า “ขอบคุณ แต่เรื่องร้องเพลงเป็นหน้าที่ของผมเอง” สะใจดีไหม?

การที่ผมเป็นนักวิจารณ์สมัครเล่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ ถ้าเราใช้ความรู้สึกเข้าไปจับโดยปราศจากความรู้ก็เป็นการเสี่ยงอยู่ไม่น้อย อาจารย์ Werner อ่านหนังสือเกี่ยวกับดนตรีอยู่เสมอ และก็มักแนะนำเล่มที่ไม่เน้นประเด็นด้านเทคนิคมากเกินไป ซึ่งผมก็พยายามเป็นศิษย์ที่ดีในการไปตามอ่านเท่าที่จะหาได้

prof-juergen-werner

Professor Jürgen Werner

แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเบอร์ลิน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*