รายการสังคีตภิรมย์ 15 ส.ค. 21

รายการสังคีตภิรมย์ 15 ส.ค. 21

สายเอก

 

ผู้ที่ฟังดนตรีไทย คงคุ้นกับรายการสังคีตภิรมย์ ซึ่งได้พยายามจัดหาดนตรีไทยมาให้ได้ฟังกัน คราวนี้รายการสังคีตภิรมย์ก็มีมโหรีให้ฟัง

เมื่อเอ่ยถึงวงมโหรี ก็เป็นอันซึมซาบดีว่า เป็นวงขนาดใหญ่ที่สุดในการประสมวงของดนตรีไทย ทั้งนี้ไม่นับรวมวงมหาดุริยางค์ที่เพิ่งประสมขึ้นใหม่ โดยเหตุที่มโหรีเป็นของใหญ่ ใช้คนมาก –เครื่องมาก ผู้ที่จะมีวงมโหรีจึงต้องร่ำรวย ใครที่มีมโหรีก็นับว่า เป็นเครื่องประดับหน้าตาไปอีกโสดหนึ่ง และงานใดที่มีมโหรีเล่น งานนั้นเป็นงานใหญ่ถึงขั้นหรูทีเดียว

 

ปัจจุบันถึงดนตรีไทยจะซบเซา เราก็มีมโหรีดี ๆ ฟังหลายวง หนึ่งในจำนวนนั้นมีวงกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งบรรเลงดนตรีไทยด้วยวงมโหรีเป็นส่วนมาก เมื่อจะมีการลงโรงกันจึงน่าสนใจเป็นพิเศษ

 

ว่ากันที่จริงแล้วรายการสังคีตภิรมย์คราวนี้ ไม่ได้มีมโหรีอย่างเดียว ยังมีเดี่ยวมีรำด้วย บทวิจารณ์จะเป็นในแง่ดนตรี ไม่พูดถึงรำมากนัก เพราะดู ๆ ท่านผู้จัดรายการท่านจงใจจะให้มีอยู่เสมอในปริมาณที่มาก ๆ มาพินิจดูแล้ว ถ้าขืนรำมากขึ้นอีกเพียงท่าเดียว ก็เห็นสมควรจะเปลี่ยนชื่อรายการ จากสังคีตภิรมย์เป็นนาฏภิรมย์ได้ ทั้งนางรำก็ซ้ำหน้าทุกครั้งจนจำได้หมด เหมือน ๆ กับพูดถึงหน้าข้าวเหนียว ก็นึกถึงหน้าสังขยา ปลาแห้ง กระฉีก ไม่มีพ้นไปได้ จึงเลยไม่ขอวิจารณ์ ในข้างฝ่ายดนตรีนั้นมีมโหรีขับร้อง 3 เพลงด้วยกันคือ

เพลงชมแสงจันทร์เถา

เพลงบังใบเถา

เพลงเขมรกล่อมพระบรรทม

เดี่ยวเครื่องดนตรี 2 ชนิดคือ

ระนาดเอกเพลงเชิดนอก

จะเข้เพลงมุล่ง

เพลงจีนขิมใหญ่

ทั้งเดี่ยว ทั้งวง แบ่งกันคนละครึ่งกันน่าเหมาะสมดี แต่ถ้าได้ติดตามดูรายการนี้มา ดูท่านจะจงใจให้ฟังเดี่ยวกันร่ำไป มีทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 2 เครื่องมือ ซ้ำหน้ากันบ้าง ซ้ำเครื่องมือกันบ้าง

 

ก็ดนตรีนั้น ท่านคิดให้เล่นเป็นวงไม่ใช่ให้เดี่ยวกันเรื่อย ไม่เช่นนั้นก็จะต้องคิดมาหลายๆ อย่างทำไม การเดี่ยวนั้นเป็นเรื่องแสดงความสามารถส่วนบุคคลโดยเฉพาะ ผู้มีฝีมือถึงจึงจะทำกันและทำได้ไพเราะ ถ้าฝีมือยังอ่อนก็เป็นว่า เพลงเดี่ยวมาผลาญทางให้ย่อยยับเสียเท่านั้น ขอให้ท่านผู้จัดรายการ พึงสำเหนียกในปณิธานที่รักษาศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ให้ลึกซึ้งกว่าที่เป็นอยู่นี้สักหน่อย ก็จะเป็นพระเดชพระคุณแก่ดนตรีไทยเป็นหนักหนา

 

ข้างฝ่ายวงมโหรีนั้น เมื่อเอ่ยถึงการเล่นก็ต้องพูดเรื่องเพลงที่เล่นก่อน คราวนี้การเลือกเพลงก็ทำพอใช้ ได้เริ่มรายการด้วยชมแสงจันทร์ อันเป็นเพลงเย็นๆเหมาะแก่บรรยากาศดี เพลงที่สอง คือ เพลงบังใบเถา เป็นเพลงออกลูกล้อลูกขัด สนุกสนานเปลี่ยนบรรยากาศ เพลงที่สามเป็นเพลงลา คือ กล่อมพระบรรทม จุดมุ่งหมายก็ตามชื่อคือ กล่อมให้นอน ว่าโดยการจัดเพลงถึงแม้จะน้อยไป และไม่มีอะไรแปลกก็ยังนับว่าใช้ได้ เพราะเพลงที่เป็นทางมโหรี เพลงสำหรับมโหรีโดยเฉพาะนั้น ก็ลี้ลับไปนานเสียแล้ว

 

ในการเล่นดนตรีต้องมีเครื่องดนตรี เครื่องของมโหรีในปัจจุบันกล่าวง่ายๆ  คือ เอาเครื่องสาย วงใหญ่ ประลงไปบนปี่พาทย์วงใหญ่ก็ร่วม 20 ชิ้นเป็นวงหนึ่ง แต่ก่อนท่านลดขนาดระนาด ฆ้อง และทำให้มีเสียงแหลมเพื่อสู้เสียงเครื่องสาย ปัจจุบันก็ทำตามนี้ ขนเอาระนาดฆ้องของปี่พาทย์ลงไปทั้งชุด การบรรเลงในวันนี้ก็เป็นดังประการหลังนี้ ผลก็คือ ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย นอกจากจะเข้กับซออู้ เสียงอื่นๆ นอกนั้นกระเส็นกระสายมาสู่โสตบ้างในบางเวลา เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการจัดไมโครโฟน และอุปกรณ์ทางด้านเสียงด้วย แต่ก็คงคาดเดาได้ว่า ผู้กำกับเสียง ท่านก็ไม่ทราบว่าอะไรควรดังควรค่อยอีก ก็เห็นจะต้องปลงว่า เป็นกรรมของดนตรีไทย

 

มาถึงช่วงสำคัญคือ การบรรเลง ซึ่งจะหมายถึงความไพเราะ จังหวะจะโคน ความไพเราะของดนตรีไทยนั้น เป็นเรื่องขึ้นแก่นักดนตรี จะคิดประดิษฐ์ทางของตนให้เหมาะสมแก่ท่วงทำนองเพลงในแต่ละช่วงแต่ละตอน วงมโหรีนั้นมีคนเล่น 20 กว่าคน ต่างคนต่างคิดออกมาจะให้ดีนั้นยากนัก เพราะหลายใจ ยิ่งถ้าผู้เล่นไม่ได้ใส่ใจ ก็เป็นอันว่าได้ดูงิ้ว หรือลำตัดแทนฟังมโหรี การบรรเลงในครั้งนี้เป็นงิ้วจริงๆ ไม่เป็นมโหรี

 

เริ่มแต่การขับร้อง ไม่มีผู้สอดผู้สวมเหมือนกับว่าไม่ได้ซ้อมกันมาเลย พอรับมาแล้วก็ฉวยพรวดเอาไป เหมือนกับจะไปแข่งวิ่งร้อยเมตรในกีฬาโอลิมปิค ดูจะเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว ว่าเล่นเร็วได้เท่าไรเป็นเก่ง ผู้เขียนเห็นว่าคิดผิด เล่นเร็วมากเท่าไรก็ยิ่งโง่มากเท่านั้น เพราะผู้เล่นดนตรีต้องซาบซึ้งและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเพลงที่ตนเล่นเสียก่อน ก็ถ้าเล่นเร็วอย่างนั้นจะมีเวลาอะไรมารู้สึกตัวให้จับอกจับใจ เมื่อคนเล่นเองยังไม่รู้เรื่อง จะให้คนฟังซาบซึ้งนั้นไม่ใช่ฐานะอันจะเป็นไปได้เลย

 

ถ้าผู้เล่นจำลงเนื้อเห็นว่า เพลงบังใบนั้นเป็นเพลงลูกล้อลูกขัด ต้องเล่นเร็วก็ถูก ไม่มีข้อแย้ง แต่ความเร็วของวงปี่พาทย์ไม้แข็ง กับความเร็วของวงมโหรีจะเท่ากันไม่ได้ ความเร็วของแต่ละวงก็ต้องมีขนาดพอดีจะฟังได้รู้เรื่อง เพราะหัวคนรับคลื่นได้จำกัด การบรรเลงนั้นต้องให้คนจับจิตจับใจ เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่ค้นหาความละเอียดอ่อน เป็นสิ่งเร้าความละเอียดอ่อนของอารมณ์ การบรรเลงอย่างเร็วเกินขนาด ก็เหมือนกับการถูกบังคับให้กินแกงร้อนๆ เทพรวดเข้าไปในปาก ผ่านคอลงไปเลย รสก็ไม่รู้ จะได้ก็แต่ความปวดแสบปวดร้อน เพราะถูกลวก การที่ต้องฟังเพลงที่เร็วจนลุกลนก็ปวดแสบโสตประสาทเช่นกัน

 

อีกประการหนึ่งการบรรเลงที่เร็วถึงเช่นนั้น ความพร้อมเพรียงย่อมมีได้ยาก เพลงบังใบที่บรรเลงนั้น มีเสียงจะเข้ตัวหนึ่งคลานตามหลังอยู่ตลอด และถึงกับพลัดจังหวะในเวลาเหลื่อมทั้งเครื่องอื่น เช่น ฆ้อง  ก็ไม่ต้องมีเวลาประคบมือไม้หวดตามกันไป ดังเพล้งๆ เมื่อพูดถึงเรื่องความพร้อมเพรียงก็มาถึงเรื่องจังหวะ เครื่องกำกับจังหวะของเราคือ ฉิ่งและกลอง ในส่วนฉิ่งนั้น ท่านผู้ตีจงใจจะเร่งให้เร็วเหลือเกิน หรือบางทีท่านอาจจะเห็นว่าจะรั้งไว้ก็ไม่อยู่ก็เป็นได้ ในส่วนกลองนั้นผู้เขียนยังเห็นว่าผู้ตีสำคัญตนผิด เพราะฟาดเอาๆ โดยไม่ได้ดูเหนือ ใต้ ทำนองเพลงไทยนั้น ท่านแต่งประสานสัมพันธ์ไปกับหน้าทับกลอง ขึ้นมาซัดโครมลงไป เพลงก็แตกกระจายป่นปี้หมด กลองนั้นเปรียบเหมือนการบังคับจังหวะหนักเบาในภาษาพูด อย่างที่เรียกกันว่า Intonation นั่นเอง ก็ถ้าผู้ตีลืมตน ไม่รู้ว่าตนมีหน้าที่ควบคุมสิ่งนี้แล้ว ก็ย่อมจะขนสิ่งที่ไม่ใช่หน้าทับ (คือจังหวะกลอง) ลงไปทับตัวทำนองเพลงจนหมด ในเพลงกล่อมพระบรรทมนั้น กลองคลั่งอยู่คนเดียวไปตลอด ทำเอาฉิ่งซึ่งดูจะไม่ค่อยแม่น และคนร้อง  เฉไฉไปด้วย ฟังไปฟังมาจะไม่ใช่หน้าทับเสียแล้ว มันจะกลายเป็นกลองป๋องแป๋งของเจ๊กรับย้อมผ้าเสียละมากกว่า

 

ข้างฝ่ายคนร้องนั้น ท่านแรกผู้เขียนฟังไม่ทัน ท่านที่ร้องคือ คุณณรงค์ รวมบรรเลง ก็ร้องได้เพราะสมควร แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดท่านชอบลงอีกท้ายคำทุกคำ คำเลยขาดเป็นห้วงๆ ตัดขาดเด็ด หาเยื่อใยระหว่างคำไม่ได้เอาเสียเลยทีเดียว ท่านสุดท้ายก็ร้องเพลงกล่อมพระบรรทมเก่งอย่างสาหัส เพราะร้องไปกลางๆ เพลงเสียงก็เพี้ยนไปไม่คงเส้นคงวา พอจะลงก็อุตส่าห์คัดทางเสียงมาลงได้

 

สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในวงมโหรี คือ ซอสามสาย เพราะเป็นเครื่องดนตรีในวงมโหรีเป็นชิ้นแรก การบรรเลงคราวนี้ก็มีมาด้วย ซึ่งก็บรรเลงได้สนุกสนาน โดยเฉพาะเพลงบังใบนั้น เล่นกันเร็วจนนึกว่า ซอสามสายกำลังสีข้าวอยู่มากกว่าสีซอ ผู้เล่นดนตรีไทยคงทราบว่า คันชักซอสามสายมีวิธีใช้พิสดาร แต่เท่าที่เห็นคราวนี้ท่านสีเป็นซอด้วง อีกประการหนึ่งซอสามสายนั้นได้ชื่อว่าร้องแทนคนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดว่า ผู้สีนั้นต้องรู้ทางร้อง ถ้าไม่รู้ทางร้องมาสีคลอร้องไป ก็เท่ากับบีบคอคนร้องให้ตายเสียตรงนั้นนั่นเอง

 

ข้าพเจ้าผิดหวังที่มาได้ยินวงกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเคยบรรเลงได้อย่างไพเราะหนักแน่น เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มากลายเป็นเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ในส่วนลูกศิษย์ที่ออกมาเดี่ยวก็พลอยไปด้วย

 

การเดี่ยวระนาดเอกเชิดนอกนั้น ตามความเห็นของผู้วิจารณ์เห็นว่ายังต้องฝึกไปอีกนาน และที่น่าเจ็บใจคือ นักดนตรีทั้งหลายท่านไม่รู้เรื่องหรือว่า ระนาดยืนนั้นเพี้ยน เป็นอันน่าสงสารเด็กที่เดี่ยวเป็นยิ่งนัก

 

ยิ่งการเดี่ยวจะเข้ด้วยแล้วยิ่งตลก เมื่อผู้เดี่ยวเพลงมุล่งพลาดไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็เกิดมีเสียงเดี่ยวช่วยแทรกขึ้นมา เช่นนี้เป็นการดูถูกผู้เดี่ยวรวมทั้งผู้ฟังด้วย ในส่วนผู้เดี่ยวไม่ต้องเอ่ยถึง แต่ในส่วนผู้ฟังนั้น ท่านคิดหรือว่าจะไม่มีผู้รู้ว่าเป็นเสียงคนละเสียง ทั้งสายลวดเพี้ยน แสดงว่าไม่ได้รับการตั้งสายอย่างระมัดระวังเลย เมื่อมาถึงจีนขิมใหม่ ก็ต้องบอกศาลาอีก เพราะเธอพล่านเป็นเด็กแก่แดด ทำอะไรเต็มไปหมด โดยไม่รู้ว่าจะทำให้เพราะได้อย่างไร เพราะฝีมือยังด้อยนัก ทั้งจังหวะก็ไม่มีเลย ก็ถ้าไม่มีจังหวะแล้วจะเรียกดนตรีกระไรได้

 

ดนตรีไทยนั้นเป็นของละเอียดอ่อน ผู้เล่นควรเป็นผู้เข้าใจดี เพราะจะต้องทำหน้าที่รักษาสมบัติอันมีค่า ถ้าไม่รู้ว่าตนเองได้รักษาของมีค่าเพียงไร ก็เป็นอันลดค่าตัวเองด้วย  ทำลายวัฒนธรรมของตนเองด้วย นานๆ ไปก็จะเข้ารอยว่า “เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ” เท่านั้น

.


บทวิเคราะห์

บทวิเคราะห์นี้แสดงความเห็นที่มีต่อการแสดงอย่างชัดเจน และสามารถเจาะลึกถึง      รายละเอียดของข้อบกพร่องต่าง ๆ รวมทั้งการกล่าวถึงความเหมาะสมและความน่าจะเป็นที่ผู้เขียนได้แสดงอย่างมีความรู้ในสิ่งที่ตนได้วิจารณ์ ทั้งนี้การวิจารณ์การแสดงมีความหมายที่แสดงให้เห็นถึง บทบาทความสำคัญต่อการแสดงที่มีผลต่อผู้ฟัง ซึ่งควรเป็นสำนึกของนักแสดงเอง ซึ่งหากการแสดงนั้นสมบูรณ์เรียบร้อยดี ย่อมหมายถึงความประทับใจและเกิดความรู้สึกในคุณค่าของการแสดงนั้นๆ ในทางตรงกันข้าม หากเกิดกรณีเช่นที่ผู้วิจารณ์ได้กล่าวไว้ผลเสียที่ตามมาคือ ทัศนคติที่ไม่ดีต่อการแสดง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ฟังที่อาจมีประสบการณ์น้อย หรือเพิ่งฟังเป็นครั้งแรก การแสดงนั้นก็คงไม่สร้างความประทับใจได้เลย จากข้อสังเกตเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อย ในขณะที่นักดนตรีทั้งหลายต่างมีฝีมือเฉพาะตนอย่างยอดเยี่ยม แต่หากขาดการฝึกซ้อมนัดหมายที่ดี ความบกพร่องในการบรรเลงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะกระตุ้นให้นักดนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทของตนที่จะต้องรับผิดชอบต่อการแสดง และคำนึงถึงผู้ฟังให้มากขึ้น นอกเหนือจากการมุ่งแสดงฝีมือของตนเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้เขียนบทวิจารณ์นี้ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “…ดูจะเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้วว่าเล่นเร็วได้เท่าไรเป็นเก่ง ผู้เขียนเห็นว่าคิดผิด…” และควรจะคำนึงถึงการถ่ายทอดอรรถรส อารมณ์ทางดนตรีเป็นหลัก

ในบทวิจารณ์นี้ได้กล่าวถึงการแสดงในรายการเดียวกันอีกว่า เมื่อถึงคราวที่นักดนตรีแสดงเดี่ยวที่จะต้องแสดงฝีมือจริง ๆ กลับไม่สามารถแสดงได้อย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่เป็นบทบาทที่จะต้องแสดง เหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่อาจพบได้ในหลายโอกาส ที่นักดนตรีอาจละเลยต่อผู้ฟังจนส่งผลต่อดนตรีไทยได้ในที่สุด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในเนื้อหาที่กล่าวถึงการวิจารณ์การแสดงนั้น ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในวงดนตรีและนักดนตรีที่มีฝีมือเช่นนั้น

บทบาทของเทคโนโลยีกับการแสดงดนตรีไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหานี้ก็ส่งผลเสียกับการแสดงได้ไม่น้อยไปกว่าความบกพร่องของนักดนตรี รวมถึงเป็นการสูญเสียอรรถรสในการฟังด้วย ในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีและระบบเสียงนี้ อาจจะต้องมีการศึกษาวิธีการที่เหมาะสมกับดนตรีไทยโดยเฉพาะ ซึ่งวิธีการการใช้ไมโครโฟนอาจแตกต่างกันจากเครื่องดนตรีตะวันตก เพราะไมโครโฟนถูกออกแบบมาให้ใช้กับแหล่งและการกำเนิดเสียงที่ต่างกัน และเนื่องจากเครื่องดนตรีไทยมีลักษณะทางกายภาพของการเกิดเสียงที่ต่างจากเครื่องดนตรีตะวันตก รวมทั้งการจัดวางเมื่อเป็นวงลักษณะต่างๆ จึงควรได้รับการเอาใจใส่และศึกษาถึงความเหมาะสมที่จะมีต่อเสียงที่เกิดขึ้นด้วย จากข้อสังเกตเหล่านี้อาจจะเชื่อมโยงได้ถึงการบันทึกเสียงเพลงไทยสมัยก่อน ที่บรรเลงด้วยนักดนตรีชั้นครู ฝีมือเป็นเลิศ แต่คุณภาพของเสียงนั้นทำให้คุณค่าของเพลงและฝีมือดูด้อยค่าลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนบทวิจารณ์นี้ได้ให้ความสำคัญไว้อีกเช่นกัน

โดยสรุปถึงนัยที่ความสำคัญของบทความนี้ น่าจะอยู่ที่ความตระหนักในคุณค่าของสมบัติทางดนตรีและบทบาทของนักดนตรี ที่จะทำหน้าที่ในการแสดงคุณค่าให้ประจักษ์กับสาธารณะด้วย นอกเหนือจากความพึงพอใจของนักดนตรีเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การที่จะเรียกร้องให้คนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของดนตรีไทยคงจะเป็นไปได้ยาก ถ้านักดนตรีไทยไม่แสดงคุณค่าเหล่านั้นให้เห็นด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

รังสิพันธุ์ แข็งขัน :    ผู้วิเคราะห์

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้”เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*