“เยื่อไม้” มิติใหม่ของเพลงสุนทราภรณ์

“เยื่อไม้”

มิติใหม่ของเพลงสุนทราภรณ์

 

เจตนา  นาควัชระ

 

พวกเราเป็นจำนวนมากที่แห่แหนกันเข้าไปฟังและชมรายการ “บานเช้า-บานเย็น”  ของวงดนตรี  เยื่อไม้ ที่โรงละครแห่งชาติ  เมื่อวันที่  2  ตุลาคม  2531  คงจะไม่ใช่ผู้ที่ไม่รู้จัก  เยื่อไม้ มาก่อน  ส่วนใหญ่คงจะเป็นผู้ที่มีใจสวามิภักดิ์ต่อนักร้องนักดนตรีกลุ่มนี้อยู่แล้ว  จากการที่ได้ฟังเทปบันทึกเสียงที่วางขายอยู่ทั่วไป  หรือได้ชมมิวสิควิดีโอมาก่อน  กล่าวได้ว่าเรามุ่งที่จะได้รับการยืนยันบางอย่างมากกว่าที่หวังจะได้ค้นพบสิ่งแปลกใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก  บางคนซึ่งเป็นคนช่างสงสัยและไม่ไว้วางใจธุรกิจบันเทิงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็คงต้องการจะพิสูจน์ว่า  เวลาบรรเลงจริงวง เยื่อไม้ จะทำได้ดีเท่ากับที่อัดลงแถบบันทึกเสียงไว้หรือไม่  เพราะเทคนิคการตัดต่อในยุคปัจจุบันพัฒนาไปได้ไกลมากเสียจนสามารถกลบข้อบกพร่องต่าง ๆ ไปได้

 

สำหรับผมเองนั้นเป็นโรคที่อาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Suntharapornmania” มาตั้งแต่เด็ก  ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังรักษาไม่หาย  เมื่อ เยื่อไม้ จัดรายการ  “ต้อนรับกึ่งศตวรรษสุนทราภรณ์”  ผมก็ต้องดั้นด้นไปถึงโรงละครแห่งชาติให้จงได้  ดังที่ผมได้เคยให้อรรถาธิบายไว้โดยพิสดารแล้วในบทความเรื่อง  “มรดกสุนทราภรณ์”  (หน้า 18)  ผมเชื่อว่าเพลงสุนทราภรณ์จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่นำคีตนิพนธ์มา  “ตีความใหม่”  ผมจึงชื่นชมกับวง  เยื่อไม้ ที่ได้สร้างคุณูปการต่อวงการดนตรีสากลของไทยด้วยการเสนอผลงานของสุนทราภรณ์ในรูปของการตีความใหม่  ที่บ่งบอกถึงความสามารถในทางคีตศิลป์และสติปัญญาที่ล้ำลึก  โดยเฉพาะทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ของครูเอื้อนั้น  เขาได้บูชาครูด้วยวิธีที่ดีที่สุดแล้ว  คือนำงานของครูมาตีความใหม่  เรียกได้ว่าเป็นการคิดเลยครูออกไปโดยมิใช่คิดเป็นการนอกครูหรือล้างครู

 

การแสดงสดในวันที่  2  ตุลาคม ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวัง  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผมได้สังเกตเห็นข้อบกพร่องบางประการที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้

 

กล่าวโดยทั่วไป  รายการ  “บานเช้า-บานเย็น”  จัดได้ดีมาก  คงมีการตระเตรียมกันอย่างรอบคอบ  และคงได้ใช้ความคิดกันมามากในการหากรอบมากำกับรายการ  อันจะทำให้การแสดงครั้งนี้มีความหมายและมีเอกภาพ  กรอบที่กล่าวถึงนี้  คือ  กรอบแห่งเวลา  คือตั้งแต่ยามเช้าไปถึง     ยามเย็น  การคัดสรรเพลงจึงเป็นไปอย่างมีระบบ

ญาณี  ตราโมท  ทำหน้าที่โฆษกได้อย่างพอเหมาะพอดี  ใช้อารมณ์ขันอย่างไม่ขาดไม่เกิน  ในช่วงที่อรุณโรจน์  เลี่ยมทอง  เข้ามาร่วมสนทนาด้วย  ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศเป็นกันเองยิ่งขึ้น  (แม้ว่าเราจะสังเกตได้ว่ามีสคริปต์วางอยู่บนโต๊ะ  ก็มิได้ทำให้เสียรส)  การสนทนาแต่ละช่วงเป็นการเข้าสู่เพลงที่จะบรรเลง  มิใช่เป็นการคุยกันอย่างเรื่อยเจื้อยโดยไร้จุดหมายเหมือนอย่างรายการดนตรีบางรายการ  แสงสีที่ใช้บนเวทีก็ไม่มากเกินไปจนเป็นการเบนความสนใจไปจากการฟังเพลง  (ผมได้แต่เป็นห่วงว่า  การเอานกพิราบมาปล่อยในโรงละครแห่งชาติ  เป็นการยุติธรรมแล้วหรือกับนก  และกับผู้ที่ต้องมีหน้าที่ทำความสะอาดโรงละคร)  กล่าวโดยสรุป  การจัดฉากและการกำกับเวทีเป็นไปอย่างมีรสนิยม  เป็นการเสริมรสแห่งคีตศิลป์์

 

จุดเด่นของรายการนี้อยู่ที่วงดนตรีและนักร้องอย่างไม่ต้องสงสัย  วง  เยื่อไม้ เป็นวงดนตรีที่แตกต่างไปจากวงดนตรีต้นแบบของสุนทราภรณ์  อันเป็นวงประเภทบิ๊กแบนด์  การประสมวงของเยื่อไม้เป็นการประสมวงแบบหลวม ๆ เสียงของวงจึงมิได้เป็นเสียงแน่นแบบวงเครื่องเป่าของเดิม  คงไม่จำเป็นต้องแจกแจงในที่นี้ว่า  วงเยื่อไม้ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอะไรบ้าง  เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว  เท่าที่สังเกตได้  ผู้ที่ควบคุมวงที่แท้จริงจะเป็นผู้เล่นเปียโน  และผู้เรียบเรียงเสียงประสาน  คือ  ทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ซึ่งไม่พยายามแสดงตัวให้โดดเด่นหรือเน้นว่าเครื่องดนตรีของตนเป็นตัวนำ  ถ้าพูดภาษาดนตรีตะวันตก  ก็คงจะทำหน้าที่ราวกับจะเป็นคีย์บอร์ดประเภทเล่นคลอวง  (bass  continuo)  ในดนตรีสมัยบารอค  นักดนตรีที่มีบทบาทนำ  คือ  นพ  โสตถิพันธุ์  ผู้เล่นไวโอลิน  ทำหน้าที่ราวกับเป็นหัวหน้าวง  (leader)  ของวงดนตรีแบบตะวันตกที่ไม่มีวาทยกร

 

คงไม่มีความจำเป็นจะต้องเน้นว่า  นพเป็นตัวจักรสำคัญที่สุดในกระบวนการ        “ตีความใหม่”  ของวง  เยื่อไม้ ที่ทำให้การบรรเลงของวงนี้แตกต่างไปจากวง  สุนทราภรณ์ เสียงไวโอลินของนพเหมาะมากสำหรับการการบรรเลงด้วยวงดนตรีประเภทนี้  ลีลาการเล่นหลากหลาย  ปรับเปลี่ยนได้ตามอารมณ์ของเพลง  หวานก็ได้  ห้วนก็ได้  ตลกก็ยังได้  บางตอนจะเล่นเป็น  “ด้น”  (improvisation)  นักดนตรีบางคนอาจจะมีข้อกังขาอยู่บ้างกับการบรรเลงของนพในแง่ที่ว่า  การด้นในบางครั้งดูจะเป็นการผละหนีจากแก่นของทำนองเพลงไปไกลมาก [คล้ายๆกับ คาเดนซา  (cadenza)  บางชิ้นนี้ดูเหมือนจะไม่สนใจแก่นแท้ของตัวคอนแชร์โต้เอง เช่น  cadenza  ของชนิตเค  (Schnitke)  ที่แต่งขึ้นให้บรรเลงกับไวโอลินคอนแชร์โต้ของเบโธเฟน]  อีกประการหนึ่ง  การแสดงความเข้มข้นของอารมณ์ด้วยการ  “รูด”  หรือ  “ลาก”  ที่นพทำอยู่บ่อยครั้งนั้น  ในบางครั้งอาจจะหวานเกินไปจนเสียรส

คงจะต้องขอจบรายการ  “สอนหนังสือสังฆราช”  แต่เพียงเท่านี้ก่อน  และขอย้อนกลับมาพิจารณาการบรรเลงของวงเยื่อไม้ทั้งวง  การปรับเสียงของวงตามลีลาของทำนองที่เปลี่ยนไปทำได้น่าประทับใจเช่นกัน  จาก  “แน่น”  เป็น  “เบา”  จาก  “ดัง” เป็น  “ค่อย”  จาก  “หนา”  เป็น  “บาง ” ทำได้แนบเนียน  เพลง  ปาหนัน อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความสามารถของ  เยื่อไม้ ในด้านนี้

 

การบรรเลงสดในรายการ  “บานเช้า-บานเย็น”  พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า  วงดนตรีวงนี้มีความมั่นใจในตนเองมาก  ผมคิดว่าบางเพลงบรรเลงได้มีชีวิตชีวากว่าที่อัดลงเทปไว้เสียด้วยซ้ำ  เช่น  พรจุมพิต และ มั่นใจไม่รัก เรื่องของความแตกต่างระหว่างการบรรเลงจริงกับการบรรเลงในห้องอัดเสียงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ที่อยู่ในการวงดนตรีทราบกันดี  นักดนตรีที่ดีมักจะสามารถส่งโทรจิตกับผู้ดู  ผู้ชม  ผู้ฟัง  ไปในทางที่เสริมคุณค่าทางคีตศิลป์ของการแสดงไดของ          ของการแสดงได้

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า  รายการนี้เป็นการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์ที่วงเยื่อไม้ได้นำมาบันทึกเสียงไว้เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้  วงดนตรียามาฮาซาวนด์  (Yamaha  Sound)  ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมรายการ  จึงมีโอกาสบรรเลงน้อยมาก  มองไปบนเวทีแล้วดูราวกับว่าผู้จัดรายการไปเชิญวงยามาฮาซาวนด์มาฟังวง เยื่อไม้ แต่เท่าที่วงยามาฮาซาวนด์ได้มีโอกาสบรรเลง  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการประกอบลีลาศบนเวที  ผมอดคิดเข้าข้างคนรุ่นใหม่ไม่ได้ว่า  ความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกในบ้านเราได้ก้าวหน้าไปมาก  ผมคงจะต้องยอมเอาคอมาขึ้นเขียง  และให้ข้อคิดเห็นในเชิงประเมิน    คุณค่าอย่างตรงไปตรงมาว่า  วงดนตรียามาฮาซาวนด์บรรเลงเพลงสุนทราภรณ์ได้ดีกว่าวงสุนทราภรณ์เอง  ไม่ว่าในยุคใดที่ผมเคยได้ยินได้ฟังมาด้วยตัวเอง  ผมได้แสดงความหวังเอาไว้ในบทความเรื่อง    “มรดกของสุนทราภรณ์”  ว่าสักวันหนึ่งการตีความใหม่ในลักษณะที่สร้างสรรค์น่าจะเกิดขึ้นได้  และมันก็ได้เกิดขึ้นแล้วให้เราได้เห็นประจักษ์  ผมไม่คิดว่าที่ผมกล่าวมาเช่นนี้เป็นการยุยงให้คนรุ่นหลัง “ล้างครู”

 

ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มคลางแคลงใจแล้วว่า  เหตุใดผมยังไม่วิจารณ์การขับร้องของ  “ดารา”  ทั้งสอง  คือ  อรวี  สัจจานนท์  และวีระ  บำรุงศรี  ผมขอเรียนว่าจงใจให้เป็นเช่นนั้น  เพราะผมเชื่อว่าความสำเร็จของ  เยื่อไม้ เป็นความสำเร็จในระดับหมู่คณะ  และถ้าจะมีผู้ใดสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นดาราก็เห็นจะเป็นทั้งนักดนตรีและนักร้องที่ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่ง  ถึงอย่างไรก็ตาม  เราคงจะต้องแสดงความยินดีต่อ  “ผู้ใหญ่”  ในวงการที่ได้  “ค้นพบ”  นักร้องทั้งสองและฝึกปรือให้เขาได้มามีส่วนในกระบวนการตีความใหม่ที่สำคัญยิ่งในครั้งนี้  นอกจากจะมีความสามารถในการร้องแล้ว  อรวีและวีระยังพูดจาได้แคล่วคล่อง  ทำหน้าที่เป็นโฆษกไปด้วยในตัวในบางครั้ง  และกล้าที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่เป็นของตัวเอง  ต่อคำถามที่ว่าเหตุใดจึงชอบร้องเพลงสุนทราภรณ์  อรวีให้คำตอบที่เน้นความหลากหลายของคีตนิพนธ์ของสุนทราภรณ์  ซึ่งเธอเองก็ได้พิสูจน์ให้พวกเราได้เห็นแล้วว่า  เธอร้องเพลงสุนทราภรณ์ได้ในหลายแบบ  ทั้งที่เป็นเพลงที่บุษยา  รังสี  เคยร้อง  หรือเพลงของรวงทอง  ทองลั่นทม  รวมไปจนถึงเพลงเร็วของศรีสุดา  รัชตวรรณ  แสดงว่าเธอรู้ดีว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่

 

สำหรับวีระนั้น  เขาให้คำตอบที่มีลักษณะท้าทายอยู่มากทีเดียว  โดยเน้นว่าเพลงสุนทราภรณ์นั้นยาก  ถ้าร้องเพลงของสุนทราภรณ์ได้ก็ร้องเพลงของคนอื่นได้  ผมอยากจะคิดเข้าข้างวีระว่าเขาเองก็คงจะสำนึกได้ว่า  เขายังไต่บันไดขึ้นไปหาสุนทราภรณ์อยู่  และถ้าพิจารณาจากเทปทั้ง  4  ชุดที่ออกมาแล้ว  ผมเชื่อว่าวีระร้องได้ดีที่สุดในชุดที่  2  ซึ่งมิใช่เพลงสุนทราภรณ์  โดยเฉพาะเพลงที่ชรินทร์  นันทนาคร  เคยร้องด้วยแล้ว  วีระเข้าถึงวิญญาณของเพลงเหล่านี้ได้อย่างดียิ่ง  เราอาจจะต้องยอมรับว่า  ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ขวางกั้นมิให้วีระเข้าถึงแก่นของเพลงสุนทราภรณ์ได้ในทุกกรณีไป  ดังจะได้อภิปรายตอนท้ายของบทวิจารณ์นี้

 

ประเด็นที่วีระกล่าวมาข้างต้นเป็นประเด็นที่น่าคิดมาก  เพราะถ้าเพลงสุนทราภรณ์เป็นจุดสุดยอดของเพลงไทยสากล  เราก็คงต้องตั้งคำถามว่า  ถ้าเราจะสร้างแบบฝึกหัดที่เป็นขั้นเป็นตอนสำหรับนักร้อง  ในรูปของแบบฝึกหัดทางดนตรีที่เรียกว่า  progressive  study  เราจะเริ่มที่ใด  จะผ่านเพลงประเภทใดจนกว่าจะมาถึงสุนทราภรณ์  ผมยังไม่มีเวลาที่จะอภิปรายประเด็นนี้โดยพิสดาร  เพียงแต่จะขอตั้งประเด็นไว้ให้ผู้รักดนตรีมีการถกเถียงกันต่อไป  แม้แต่ภายในกรอบของเพลงสุนทราภรณ์เองก็อาจจะมีระดับของความยากง่าย  ซึ่งผู้รู้ในทางดนตรีน่าที่จะแนะนำนักร้องรุ่นเยาว์ทั้งสองได้  การที่สนับสนุนให้นักร้องหน้าใหม่กระโดดไปร้องเพลงเช่น  ขอพบในฝัน เลยทีเดียว  (ซึ่งวีระร้องอัดลงเทปไว้แล้ว  แต่ไม่ได้ร้องสดในการบรรเลงเมื่อวันที่  2  ตุลาคม)  อาจจะเป็นการกระโดด ข้ามขั้น    ครูแก้ว  อัจฉริยะกุล  เคยให้สัมภาษณ์  (ร่วมกับครูเอื้อ  สุนทรสนาน)  ไว้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร  ณ  พระราชวังสนามจันทร์  เมื่อวันที่  30  สิงหาคม  2522  ว่ายังไม่มีใครร้องเพลงนี้ได้ถึงระดับที่ผู้แต่งคาดหวังไว้  แม้แต่ครูเอื้อเองก็ยังร้องได้ไม่ถูกใจ  ผมคิดว่าในปี  2531  ก็ยังไม่มีใครแก้สภาวะที่ว่านี้ได้  ในกรณีของอรวีก็เช่นกัน  เพลง  ฝากรัก ที่เธอร้องบันทึกเทปชุดที่  4 ไปแล้ว  (แต่ไม่ได้นำมาร้องในวันที่  2  ตุลาคม)  จัดได้ว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพึงพอใจ  เพราะเป็นเพลงที่ยากมาก  แม้แต่เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี  ก็ยังตีความเพลงนี้ไม่ได้ถึงใจ  ข้อสรุป  ณ  ที่นี้ก็คือว่า  ผู้รู้ในทางดนตรีคงจะต้องทำงานหนักกว่านี้ในด้านของการวิเคราะห์องค์คีตนิพนธ์ทั้งหมดของสุนทราภรณ์

 

เมื่อได้ยกปัญหาของสุนทราภรณ์มาอภิปรายถึงขั้นนี้แล้ว  ผมก็คงจะต้องแสดงความชื่นชมต่อนักร้องทั้งสองไว้ว่า  เขาทั้งสองร้องเพลงสุนทราภรณ์ด้วยวิธีการที่เป็นของตัวเอง  มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบแผนการร้องของนักร้องอาวุโสดังที่กระทำกันอยู่ในแวดวงของสุนทราภรณ์เอง  อันเป็นเหตุให้  “ดาวรุ่ง”  ทั้งหลายไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง  และก็ดับแสงไปทีละดวงในที่สุด  เราจำเป็นจะต้องยกย่อง  เยื่อไม้ ในแง่นี้  ที่สามารถแสดงให้เห็นว่า  การตีความใหม่อย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นอย่างไร

 

ผมยังอยากจะกล่าวเลยไปเสียด้วยซ้ำว่า  อรวีร้องเพลงของบุษยาไม่เหมือนบุษยา  และในบางเพลงมีชีวิตชีวากว่าบุษยาเองเสียด้วยซ้ำ เพราะเสียงของบุษยานั้นมีลักษณะกระเดียดไปในทางเสียงเครื่องดนตรี  (instrumental  quality)  มากเกินไป  อรวีร้องเพลงของรวงทองโดยมิได้ลอกแบบรวงทอง  โดยเฉพาะ  ปาหนัน กับ  วิมานสีชมพู นั้น  เธอร้องได้ดียิ่ง  อาจจะเป็นการตีความเพลงทั้งสองโดยเสนอทางเลือก  (alternative)  ใหม่ให้แก่ผู้ฟัง  ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับน้อง ๆ ของรวงทองเลยทีเดียว  เสียงของอรวีมีเสน่ห์  (และผมใคร่ขอย้ำว่า  เสน่ห์ในการร้องเพลงกับเสน่ห์ของบุคลิกภาพบนเวทีการแสดงเป็นคนละเรื่องกัน)  การเอื้อนหรือลูกคอในบางตอนมีเสน่ห์เสียจนผู้ฟังอดลุ่มหลงไม่ได้  หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งได้ว่า  irresistible  จะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาให้ท่านผู้อ่านได้ตรวจสอบสักสองตัวอย่าง

 

ตัวอย่างที่  1  จากเพลง  จำได้ไหม (ทำนอง เอื้อ  : สุนทรสนาน คำร้อง : “ ธาตรี ”,  ดูเนื้อเพลงหน้า  89)  บรรทัดที่  11  “ คุณชมกลิ่นแก้มว่าหอมละมุน ”  ตัวอย่างที่  2  จากเพลง  ปาหนัน (ทำนอง เอื้อ  : สุนทรสนาน คำร้อง : แก้ว  อัจฉริยะกุล,  ดูเนื้อเพลงหน้า  90)  บรรทัดที่  10  “โอ้น่าเวทนา  เสียดายน้ำตาปาหนัน ”  ก็หวังว่าเธอจะพัฒนาจุดเด่นเหล่านี้  ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ  ให้เป็นกลวิธีในการร้องที่เรียกใช้ได้ทุกเมื่อ  เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งรวงทองเคยทำได้  สำหรับอรวีเองนั้นก็ส่อแววให้เห็นแล้วว่า  เธอสามารถรักษาระดับการร้องที่มีเอกภาพและมาตรฐานสม่ำเสมอได้ตลอดทั้งเพลง  เช่นในกรณีของ  มั่นใจไม่รัก เมื่อกล่าวถึง  “ เพลงรวงทอง ”  แล้ว  ก็คงจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้ว่า  การจะตีความเพลงเหล่านี้ให้ถึงแก่นนั้น  ผู้ร้องจะพอใจแต่เพียงการแสดงออกซึ่งลักษณะของ         “ เด็กสาวผู้น่ารัก ”  เท่านั้นคงจะไม่พอ  แต่จะต้องพัฒนาบุคลิกภาพ  (ในการร้อง)  ให้ไปถึงขั้น  “หญิงสาวผู้ชอกช้ำ”  ซึ่งมิใช่เรื่องที่ผูกอยู่กับวัยวุฒิ  เพราะรวงทองทำสิ่งนี้ได้เมื่อเธอเองอายุยังน้อยมาก  ผมไม่ใช่นักวิจารณ์ที่ชอบเอาศิลปะกับชีวิตของศิลปินเข้ามาปะปนกัน  และไม่เชื่อว่าศิลปินจะต้องชอกช้ำมาในชีวิตจริงเสียก่อนจึงจะสามารถแสดงออกซึ่งความชอกช้ำที่ว่ามานั้นได้  พัฒนาการในทางศิลปะมิใช่เรื่องของการพัฒนาเทคนิคและกลวิธีแต่ถ่ายเดียว  แต่เป็นพัฒนาการของวุฒิภาวะในทางอารมณ์ด้วย  อันเป็นสิ่งที่สร้างได้  ผมจึงหวังว่าอรวีจะไม่หยุดอยู่แค่ระดับของ  “เด็กสาวผู้น่ารัก”  เป็นแน่

 

กรณีของ  วีระ  บำรุงศรี  นั้น  ยากแก่การวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง  เพราะน้ำเสียงของวีระดูจะยังปรับให้เข้ากับเพลงของสุนทราภรณ์ได้ไม่สนิทนัก  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  การผูกติดกับลีลาการร้องในแบบของชรินทร์  นันทนาคร  ดูจะเป็นทางที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางของเพลงสุนทราภรณ์ส่วนใหญ่  เสียงของวีระค่อนข้างจะบาง  หางเสียงกระเดียดไปในทาง  “ลูกทุ่ง”  เสียด้วยซ้ำ  แต่วีระเป็นศิลปินที่มีสติปัญญาสูง  พยายามจะแสวงหาลีลาที่เหมาะสมกับเพลงแต่ละเพลง  โดยทั่วไปวีระจะร้องเพลงที่เย็น ๆ ที่ไม่หวานจนเกินไป  หรือเร่งเร้าจนเกินไปได้ดี  โดยเฉพาะในกรณีที่เขาใช้น้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ  ไม่จงใจหรือตั้งใจเน้นความหรือคำในตอนนั้นตอนนี้มากเกินไป  เช่นในเพลง  สาวอัมพวา และ  รักเอาบุญ วีระยังมีปัญหาอยู่มากในการร้องเพลงเร็ว  เพราะอาจยังมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับเพลงสุนทราภรณ์

 

ในการแสดงเมื่อวันที่  2  ตุลาคม  ทั้งโฆษกและทั้งนักร้องได้แสดงทัศนะบางประการที่ผมคิดว่าเป็นการชวนให้เขว  นั่นก็คือการแบ่งประเภทเพลงสุนทราภรณ์ออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ ๆ คือ  เพลงหวาน-ซึ้ง  กับเพลงเร็ว-เร้าใจ  ซึ่งอาจจะเป็นหลักการที่วีระพยายามจะเดินตาม  เมื่อเวลาร้องเพลงเร็วที่จังหวะกระชับ  วีระจึงกระแทกเสียงและรวบคำตามจังหวะของเพลง  เช่นในเพลง  พรจุมพิต ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน  การออกเสียงคำตายในภาษาไทย  เช่น  “ชีวิต”  นั้น  ห้วนและกระแทกกระทั้นเกินไป  ถ้าเราลองกลับไปฟังวินัย  จุลบุษปะ  ร้องเพลงสุนทราภรณ์จังหวะแทงโก้ดูบ้างก็จะสังเกตได้ว่า  แม้ตัวเพลงจะมีจังหวะที่กระชับแน่นมาก  แต่วินัยสามารถที่จะออกเสียงเอื้อนได้อย่างไพเราะอย่างยิ่ง  เป็นการลบเส้นพรมแดนระหว่างเพลงสองประเภทที่มีผู้มาจัดระบบแยกออกจากกันดังที่กล่าวมาข้างต้น  ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการแนะนำให้วีระกลับไปลอกแบบการร้องของวินัย  แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงหลักการบางอย่างที่ควรคำนึงถึงในการตีความเพลงสุนทราภรณ์  นั่นก็คือว่า  แนวการร้องไม่จำเป็นจะต้องตามแนวการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีเสมอไป  นักร้องที่มีความสามารถจะรู้ว่าเมื่อใดจะเล่นลูกล้อลูกขัดกับวงดนตรี  ถ้าจะอธิบายด้วยความเปรียบก็คงจะต้องกล่าวว่า  นักร้องไม่จำเป็นต้องเดินตามนักดนตรี  แต่ควรจะเดินเคียงกัน  คือ  เดินจูงมือกันไป  และไม่จำเป็นจะต้องเดินแบบทหารที่ต้องปรบเท้าให้พร้อมกันอย่างตายตัว

 

นับเป็นโชคดีที่ผู้จัดได้เชิญนักร้องอาวุโสมาร่วมรายการด้วยในวันนั้นสองท่าน  คือ  เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี  และสมศักดิ์  เทพานนท์  จะขอกล่าวถึงการร้องของสมศักดิ์ก่อน  เพราะเกี่ยวโยงไปถึงการขับร้องของวีระ  ก่อนที่จะมาชมการแสดงในวันที่  2  ตุลาคม  ผมได้มีโอกาสฟังเทปเพลง  เพราะที่รัก ซึ่งวีระร้องบันทึกเอาไว้  แล้วเกิดความอึดอัดเป็นอันมาก  เพราะรู้สึกว่าห้วนจนเสียรส  แต่ก็คิดไม่ออกเช่นกันว่าจะหาทางออกอย่างไร  พอได้ฟังสมศักดิ์ร้องเพลงนี้ในฐานะนักร้องรับเชิญในรายการ    “บานเช้า – บานเย็น”  แล้วจึง     “ถึงบางอ้อ”  แม้ว่าอายุจะล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว  แต่สมศักดิ์ก็ยังแสดงให้เห็นว่าร้องอย่างไรจึงจะได้รส  นั่นก็คือร้องตามหลักการที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น  คือ  จับจังหวะกับทำนองให้ได้แม่นเสียก่อน     แล้วหาแนวของเสียงร้องที่ไม่ต้องตามแนวของของดนตรีอย่างเคร่งครัดเกินไป  ผมคิดว่าวีระคงจะปรับตัวได้  ถ้าได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของนักร้องอาวุโสให้มากกว่านี้  โดยไม่จำเป็นต้องลอกแบบ  ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่จำจะต้องนำมาอภิปราย  ณ  ที่นี้  คือ  เรื่องของการแสดงอารมณ์ขันในเพลงสุนทราภรณ์  ซึ่งแสดงได้ด้วยการเปล่งเสียงที่เหมาะสม      วีระมีปัญหาอีกเช่นกัน  โดยเฉพาะในการเปล่งคำที่เป็นเสียงแต่ไม่มีความหมายเช่นในเพลง  เริงลีลาศ ซึ่งมีเสียงประเภท  “ เฮฮา  ฮ้าไฮ้  ฮิฮิ” อยู่มาก  ไม่ควรจะเน้นด้วยเสียงที่แหลมจนเกินไป  ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นในเพลง  นกเขาไพร เช่นกัน  ในตอนที่ต้องทำเสียงล้อเลียนนกเขา  ซึ่งอรวีทำได้กำลังพอดี  ในขณะที่วีระตั้งใจเกินไป

 

สำหรับเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี  ดารารับเชิญอีกท่านหนึ่งนั้น  คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก  เธอเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งที่นักร้องรุ่นใหม่พึงให้ความเคารพ  เพราะนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของวงการดนตรีสากลในเมืองไทยที่นักร้องผู้หนึ่งเจริญวุฒิภาวะทางศิลปะต่อเนื่องมาได้กว่าสามสิบปี  ในการร้องครั้งนี้  แม้ว่าเสียงจะแกว่งบ้าง  แต่ความสามารถในการตีความ  ในการสอดใส่อารมณ์  ในการทอดเสียง  โดยเฉพาะในการเปล่งคีตวลี  (phrasing)  นับได้ว่าเยี่ยมยอด  ถ้าได้ศึกษาวิวัฒนาการในการร้องเพลงของเพ็ญศรีแล้ว  ก็จะเห็นได้ว่าพรสวรรค์อย่างเดียวนั้นไม่พอ  แต่การศึกษาที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันทั้งที่เป็นการศึกษาด้วยตนเอง  และการศึกษาจากผู้รู้  ช่วงที่เพ็ญศรีอายุ  14 –15 ปี และถูก  “เคี่ยว”  โดยครูเวส  สุนทรจามร  นั้น  เป็นช่วงที่สำคัญในชีวประวัติของเธอ  ซึ่งนักร้องรุ่นใหม่น่าที่จะได้สำเหนียกเอาไว้  เพ็ญศรีร้องเพลง  สิ้นรัก  สิ้นสุข ด้วยความยากลำบากพอสมควร    เพราะเธอขึ้นเสียงสูงได้ไม่สะดวกดายเหมือนเมื่อก่อนเสียแล้ว  แต่วุฒิภาวะทางคีตศิลป์์  ยังเป็นสิ่งที่เราจะต้องก้มหัวให้ คำถามที่นักวิจารณ์อยากจะถามก็คือ  เธอได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่นักร้องรุ่นลูกรุ่นหลานไว้บ้างหรือเปล่า มีเวลาจะให้ “การศึกษา” แก่ตนเองหรือไม่เพียงใด ภาพที่อรวีร้องเพลงคู่กับสมศักดิ์ และภาพที่วีระร้องเพลงคู่กับเพ็ญศรี เป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่ง   ภาพที่หนุ่มสาวคู่นี้กล่าวมธุรสวาจาราวกับเป็นการฝากตัวเป็นศิษย์กับผู้อาวุโสทั้งสอง  และภาพที่ผู้อาวุโสให้ศีลให้พรแก่นักร้องรุ่นลูกรุ่นหลาน  เป็นภาพที่สร้างความอบอุ่นใจแก่ผู้ดูและผู้ชมอย่างผมและเพื่อนๆ เป็นอันมาก  มันเป็นจุดเด่นของวัฒนธรรมไทยที่เราพึงช่วยกันรักษาไว้  แต่คนช่างสงสัยอย่างผมก็อดที่จะตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า  หลังจากวันที่  2  ตุลาคม  ไปแล้ว  มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ในด้านของการถ่ายวิชาจากผู้อาวุโสมาสู่ศิลปินรุ่นใหม่  หรือว่าภาพอันงามงดนั้นเป็นเพียงละครฉากหนึ่ง

 

กล่าวโดยสรุป  ผมอดห่วงนักร้องรุ่นใหม่ไม่ได้  เพราะโดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว  และก็   ดับหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน  ส่วนใหญ่ไม่รู้จักถนอมตัว  ไม่รู้จักแสวงหาความรู้  ไม่รู้จักหาทางหรือหาเวลาที่จะให้การศึกษาแก่ตนเอง  นักร้องนักดนตรีบางคนมุ่งแต่จะ     “หากิน”  และหมดแรง  หมดลม  หมดไฟ  ไปในระยะเวลาอันสั้น  ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการก็เป็นที่พึ่งไม่ได้เสมอไป  เพราะบางคนก็หมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมที่เป็นธุรกิจ  สำหรับอรวีและวีระนั้น  ผมคิดว่าเป็นนักร้องที่มีศักยภาพมหาศาล  ถ้าได้ฝึกปรือศิลปะในการร้องเพลงของตนต่อไปอย่างเป็นระบบ  ก็จะพัฒนาตนเองขึ้นมาให้เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ได้  ทำอย่างไรเราจะยืด  “อายุการใช้งาน”  ของนักร้องของเราให้ยาวกว่าที่เป็นอยู่  การจะแข่งกับเพ็ญศรีคงจะมิใช่สิ่งที่ง่าย  แต่ก็น่าแข่ง  พวกเราที่รักดนตรีการก็คงอยากจะเห็นนักร้องทั้งสองอยู่กับพวกเราได้อีกเป็นทศวรรษ  และถ้าคิดจะพัฒนาตนเองต่อไปก็คงจะต้องหาเวลาไป  “เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ”  ดังที่เขาทำกันในวงการศึกษาระดับอุดม  คงจะต้องศึกษาคีตนิพนธ์ของคีตกวีอื่น  ไม่ควรจะผูกอยู่กับเฉพาะสุนทราภรณ์หรือเพลงรุ่นสุนทราภรณ์  ผมอยากจะขอวิงวอนให้  เยื่อไม้ หันมาสนใจดนตรีร่วมสมัยบ้าง  อาจจะเลือกเฟ้นเพลงบางเพลงที่แต่งขึ้นในระยะหลังนี้มาเรียบเรียงเสียใหม่  ผมเชื่อในฝีมือของ เยื่อไม้ ว่าทำได้  นอกจากนั้นก็อาจจะเปิดโอกาสให้นักร้องอื่นเข้ามาร่วมวงด้วยบ้าง  ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว  นักร้องที่มีแววว่าจะพัฒนาไปได้ไกลยังมีอีกมาก  แต่ไม่มีโอกาสได้ร่วมงานใกล้ชิดกับผู้มีภูมิรู้และมีฝีมือในทางดนตรีเช่นกลุ่ม  เยื่อไม้ ทางข้างหน้ายังเป็นทางที่น่าจะเป็นทางแห่งความหวัง

 

ผมก็ได้แต่อ้อนวอนพระคีตเทวาธิราชให้ช่วย  “พิทักษ์ปกป้องปวงภัย”  แก่ศิลปินผู้มีคุณูปการอันมากหลายกลุ่มนี้ด้วยเถิด  เพราะภัยพิบัตินั้นมาถึงได้ทุกเวลาในทุกรูปแบบในสังคมผู้บริโภคอันน่าสะพรึงกลัวของเรา  นักวิจารณ์คงจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าช่วยให้กำลังใจ  และช่วยเตือนสติกันบ้างในโอกาสอันสมควร

 

เราจำเป็นจะต้องขอบคุณ  เยื่อไม้ ที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดแล้วว่า  สุนทราภรณ์มิใช่สมบัติของ  “ วงใน ”  ของสุนทราภรณ์  แต่เป็นสมบัติของโลก

 

 

ที่มา:      เจตนา นาควัชระ. “ ‘เยื่อไม้’ มิติใหม่ของสุนทราภรณ์”. เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ 2540.

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

 

บทวิจารณ์นี้ผู้เขียนได้ชมการแสดงของวงเยื่อไม้  ซึ่งนำเพลงของสุนทราภรณ์มาบรรเลงและขับร้องใหม่  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีอะไรที่แตกต่างไปจากของเดิม  และผู้เขียนได้แสดงความชื่นชมพร้อมทั้งข้อสังเกตในหลายด้านที่เกี่ยวกับการแสดงนี้  รวมถึงการเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้เขียนจากที่เคยฟังเพลงสุนทราภรณ์ในแบบดั้งเดิม  มาเปรียบเทียบกับครั้งนี้ได้อย่างดี  ซึ่งประเด็นต่าง ๆ ที่นำมาอภิปรายนั้น  นับได้ว่าเป็นทั้งการวิเคราะห์แล้วจึงนำมาวิจารณ์  หาใช่การวิจารณ์โดยการใช้ความรู้สึกที่มีต่อการแสดงเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่น่าสนใจในบทความนี้  เป็นการกล่าวถึง  การพัฒนาของดนตรีที่ไม่ได้ยึดติดเพียงแค่ตัวเพลง  แต่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า  เยื่อไม้  ได้คิดต่อจากของเดิม  โดยวิธีการของตัวเองและผลที่เกิดขึ้นนั้นก็มิได้ทำให้คุณค่าของตัวผลงานเดิมเสียไป  แต่แสดงให้เห็นถึง  การตีความใหม่ทั้งในด้านของดนตรีและการขับร้องที่ให้ความพอดีในสัดส่วนของวงดนตรีที่แตกต่างจากเดิม  และลีลาการเรียบเรียงรวมทั้งการบรรเลงที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์  ซึ่งผู้เขียนแสดงความเห็นสนับสนุนการตีความใหม่ในลักษณะเช่นนี้  รวมถึงการชี้นำถึงแนวทางของการตีความและพัฒนาดนตรีไปให้กว้างขึ้น  โดยนำเพลงสมัยนิยมอื่น ๆ มาบรรเลงลักษณะนี้ได้รับในตอนท้ายของบทความ  และยังเชื่อมโยงกับลักษณะของการบรรเลง  Cadenza  และบทบาทของคีย์บอร์ดในดนตรีบารอค  ซึ่งทำให้ประเด็นนี้มีความชัดเจนขึ้นมากว่า  เยื่อไม้มีพัฒนาการทางดนตรีที่สูง  และสามารถดึงเอาลักษณะสำคัญทางดนตรีหลายประการเข้ามารวมกันไว้ได้อย่างดี  และชี้ให้เห็นถึงความแหลมคมในการเชื่อมโยงประสบการณ์ทางดนตรีที่หลากหลายให้เป็นเหตุผลสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนให้เด่นชัดขึ้น

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความแตกต่างของวงดนตรีสุนทราภรณ์กับยามาฮาซาวนด์  ได้อย่างชัดเจนว่าคุณภาพทางดนตรีนั้นเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกัน  ซึ่งเป็นการประเมินคุณค่าอย่างชัดเจนของผู้เขียน  รวมทั้งการอภิปรายถึงรูปแบบของการจัดการแสดงในด้านต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของรายการ  ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนอย่างยิ่งต่อการทำให้รายการดำเนินไปอย่างราบรื่น  นอกเหนือจากการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับดนตรีและการขับร้อง

เนื่องจากผู้เขียนบทความนี้ได้ติดตามและศึกษาผลงานของสุนทราภรณ์มาอย่างต่อเนื่อง  จึงทำให้การแสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้ขับร้องและการขับร้องในรายการแสดงของเยื่อไม้เป็นไปอย่างลุ่มลึก  พร้อมทั้งการวิเคราะห์ความหมายของบทเพลงที่แสดงได้โดยละเอียด  รวมทั้งบริบทด้านต่างๆอันเกี่ยวกับบุคคลก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ  และทำให้งานวิจารณ์ชิ้นนี้ไม่พียงเป็นบทวิจารณ์ที่แสดงความชื่นชม  หรือตั้งข้อสังเกตต่างๆ เพียงประการเดียว  ยังเป็นบทวิจารณ์ที่ให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่ากับผู้อ่านด้วย  และในส่วนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้ขับร้องทั้ง  2  ท่านนั้นผู้วิจารณ์ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการร้องของ  วีระ  บำรุงศรี  ที่มีทั้งการวิเคราะห์ลักษณะเด่นและปัญหาที่มีในการขับร้องเพลงสุนทราภรณ์  ซึ่งมีความแยบยลที่จะชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมในการเลือกบทเพลงต่าง ๆ มาขับร้อง

หากพิจารณาเนื้อหาของการนำเสนอในด้านของการบรรเลงและขับร้องก็นับได้ว่าให้ข้อมูลด้านต่างๆที่นับว่าสมบูรณ์มาก  แต่ในด้านบริบทต่างๆ ผู้เขียนได้แฝงเจตนาที่มีนัยบอกถึงวิถีทางแห่งความอยู่รอดและแนวทางในการพัฒนาทั้งผู้เล่นและผู้ฟังไปพร้อมๆ กันซึ่งคงจะเห็นได้ชัดในเรื่องที่ว่า  การศึกษาทำความเข้าใจในองค์ประกอบและบริบททางดนตรีล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการจรรโลงคุณค่าให้แก่ดนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งหากคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะเรียนรู้และถ่ายทอดซึ่งกันและกันแล้ว  ปัญหาของการสูญหายและการหลงทิศทางในการพัฒนาก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

โดยสรุปแล้วจากบทวิจารณ์ชี้ให้เห็นได้ว่า  ความสมบูรณ์และความมีคุณค่าในทางศิลปะจะต้องแสดงคุณค่านั้นให้ประจักษ์ในความเป็นสากลได้  ไม่จำกัดแค่เฉพาะเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  และการดำรงคุณค่าไว้นั้นก็คือการคิดต่อ  และทำใหม่ให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา  ซึ่งในบทความนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเหล่านี้ด้วยวิธีการที่แยบยลที่มีตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจน

 

รังสิพันธุ์  แข็งขัน : ผู้วิเคราะห์

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้”เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*