ลาวแพนเพลงที่สะท้อนวิญญาณแห่งการต่อสู้ของประชาชน

ลาวแพนเพลงที่สะท้อนวิญญาณแห่งการต่อสู้ของประชาชน

 

สมชาย ปรีชาเจริญ

 

ลาวเเพน
คุณครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ขับร้อง
คุณครูระตี วิเศษสุรการ เดี่ยวจะเข้

ที่มาคลิป https://www.youtube.com/watch?v=mExl3j0flto

 

มีเพลงไทยสากลอยู่เพลงหนึ่ง ซึ่งสังเกตได้ว่าออกอากาศจากสถานีวิทยุต่างๆบ่อยครั้งกว่าเพลงอื่นๆหลายเพลง ถ้าหากเข้าใจไม่ผิด เพลงนี้ดูเหมือนจะเป็นเพลงใหม่ ชื่อของเพลงและชื่อผู้ประพันธ์เพลงนั้นได้พยายามเงี่ยหูฟังอยู่ แต่ทว่ายังไม่พบว่าได้มีการประกาศเป็นกิจจะลักษณะ จึงน่าเสียดายที่ไม่สามารถจะบันทึกมาเสนอได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีได้พยายามจดจำเนื้อเพลงไว้ได้ตอนหนึ่ง เนื้อในตอนท้ายของเพลงนั้นมีอยู่ว่า “ชื่นๆใจมีน้องมาเชยมาชม อย่ามาดอมมาดมชมน้องดังมวลมาลี” (ถ้าหากจะมีถ้อยคำผิดพลาดก็ขออภัยท่านผู้ประพันธ์เพลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

 

เพลงนี้ เท่าที่ฟังและจำได้ เข้าใจว่าได้ดัดแปลงมาจากเพลงลาวแพนอันเป็นเพลงไทยเดิมลือชื่อเพลงหนึ่ง ผู้ที่สนใจฟังเพลงไทยเดิมอยู่บ้าง คงจะไม่มีใครลืมเพลงลาวแพนนี้เสียได้ เพราะในกระบวนเพลงที่บรรเลงเดี่ยวอวดฝีมือแล้ว ลาวแพนเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งที่นิยมเดี่ยวกัน ทั้งโดยทางปี่ ทางระนาดเอก, ทางฆ้อง, ทางขิม, ทางจะเข้, และอื่นๆที่ได้ยินบรรเลงกันบ่อยที่สุดในยุคนี้ก็คือเดี่ยวลาวแพนทางขิมและทางจะเข้

 

เพลงลาวแพนนั้น เป็นเสมือนสำรวมใหญ่ของเพลงลาวพื้นเมือง กล่าวคือมีเพลงลาวพื้นบ้านตามชนบทรวมอยู่ในเพลงใหญ่นั้นหลายเพลง ทุกเพลงที่นำมารวมกันเข้าไว้นั้นต่างมีกลิ่นไอของชีวิตแบบลาวอยู่อย่างสมบูรณ์ คือมีลักษณะทำนองที่ส่อให้เห็นความรักในธรรมชาติเจือระคนอยู่ด้วย ถ้าจะพูดเป็นศัพท์ก็ต้องว่ามีลักษณะแห่งชนชาติ บรรจุอยู่อย่างเด่นชัดบริบูรณ์

 

ในการฟังเพลงลาวแพนที่บรรเลงกันในปัจจุบันนี้ ความรู้สึกที่ผู้ฟังได้รับก็คือ ความระรื่น, ร่าเริง, อ่อนหวาน, บรรยากาศของเพลงดูคล้ายกับจะแสดงให้เห็นชีวิตของประชาชนชาวลาวที่รื่นเริง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงามชื่นสดใส ความพริ้วไหวของท่วงทำนองที่อ่อนหวาน ทำให้ดูเหมือนว่าเพลงนี้จะทำการสะท้อนถ่ายความอ่อนหวานที่ประชาชนลาวได้รับจากธรรมชาติออกมาเสนอผู้ฟัง ในบางครั้ง การหลบเสียงและเปลี่ยนระดับเสียงของเพลง ทำให้ดูเหมือนการฉอเลาะเร้าวอนและรำพึงออดอ้อนระหว่างหนุ่มสาวพื้นบ้านที่เอียงอาย และบางครั้งก็แสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของฝ่ายชายที่เฝ้าวิงวอน หรืออะไรทำนองนั้น

 

ความรู้สึกดังกล่าวนี้เอง ที่ได้เป็นเครื่องบันดาลใจให้ผู้ประพันธ์เพลงแห่งยุคปัจจุบัน นำเพลงลาวแพนมาประพันธ์ขึ้นใหม่เป็นเพลงในจังหวะสากล ถ้าเราจะพิจารณากันในด้านรูปแบบ หรืออีกนัยหนึ่งท่วงทำนองของเพลงที่ดัดแปลงมาประพันธ์ใหม่ ก็จะต้องยอมยกย่องผู้ประพันธ์ว่าดัดแปลงได้นิ่มนวล และรักษาท่วงทำนองหรือลีลาของเพลงลาวแพนเดิมไว้ได้อย่างงดงาม คือยังรักษาลักษณะแห่งชนชาติของเพลงไว้ได้แม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ต้องเรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์ แต่ถ้าพิจารณาในด้านเนื้อหาของเพลงก็อาจจะรู้สึกว่า ผู้ประพันธ์ตัดเอาความรู้สึกทางด้านความรักธรรมชาติออกไปเสียเกือบหมด สิ่งที่เหลืออยู่เป็นชิ้นเป็นอันในเพลงที่ประพันธ์ดัดแปลงใหม่ก็คือลักษณะฉอเลาะและเร้าวอนระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ดี ลักษณะที่ฉอเลาะเร้าวอนที่เหลืออยู่ก็ถูกดัดไปจากรูปเดิมเสียเกือบจะสิ้นเชิง นั่นคือแทนที่จะเป็นการแสดงการฉอเลาะเร้าวอนแบบชาวบ้านๆ ดังที่เพลงลาวแพนเดิมแสดงออก มันกลับกลายมาเป็นการแสดงความกระเง้ากระงอดแง่งอนแบบของชนชั้นกลางเสียฉิบ เป็นอันว่าถ้าจะมีข้อเสีย มันก็เสียอยู่ตรงผู้ประพันธ์ได้ดึงเอาเพลงที่รับใช้ชีวิตของประชาชนพื้นบ้านอย่างง่ายๆ มาเป็นเพลงที่รับใช้รูปแบบชีวิตของชนชั้นกลางแห่งยุคเสียอย่างน่าเสียดาย!

 

เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการกล่าวโดยเปรียบเทียบเพลงลาวแพนที่ดัดแปลงใหม่เข้ากับเพลงลาวแพนเดิมตามลีลาที่บรรเลงกันอยู่อย่างอ่อนหวานในปัจจุบัน

 

เพลงลาวแพนนี้ ถ้าหากจะกล่าวกันถึงลักษณะดั้งเดิมของมันทีเดียวแล้ว มันมิได้มีลักษณะอ่อนหวานเร้าวอนดังที่บรรเลงกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย ลักษณะเพลงลาวแพนดั้งเดิมเป็นเพลงที่สะท้อนถ่ายความเคียดแค้น, ความเร่าร้อน, ความทุกข์ทนและทุกข์ระทม, ความปวดร้าว ในบางตอนก็มีลักษณะฮึดสู้ มีลักษณะโกรธแค้นบางครั้งมีลักษณะอ่อนโยน ซึ่งหมายถึงการดับอารมณ์เคียดแค้นให้สงบลง และมีการบรรเลงในทางอ่อนหวานอยู่บ้าง ซึ่งเป็นความหมายของการปลอบใจผู้ที่ทุกข์ยากคั่งแค้น

 

ลักษณะของเพลงลาวแพนเดิมที่มีดังกล่าวนั้นก็เนื่องมาจากมันเป็นเพลงของพวกเชลยลาวที่ถูกจับกวาดต้อนลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์เวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่สาม พวกเชลยลาวเหล่านี้คือพวกประชาชนที่เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์ลงมาโจมตีกรุงเทพฯ เพื่อปลดแอกเวียงจันทน์จากไทย แต่เมื่อยกมาถึงเพียงนครราชสีมาก็ถูกต้านตีจนแตกยับเยิน เชลยลาวที่ถูกจับได้ถูกกวาดต้อนลงมาในกรุงเทพฯ พวกเจ้าขุนมูลนายฝ่ายศักดินาไทยกระทำการทารุณเอาตามอำเภอใจ พวกเชลยเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส แต่เนื่องด้วยพวกเชลยลาวปราศจากการนำอันเข้มแข็งปราศจากการจัดตั้งอันมีระเบียบ การที่จะลุกฮือขึ้นต่อสู้จึงกลายเป็นเรื่องในฝัน เป็นเรื่องท้อแท้ เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ ทางออกของเขาก็คือระบายความเคียดแค้น ความเร่าร้อน ความปวดร้าว และทุกข์ยากออกมาเป็นบทเพลง เพลงบทนั้นก็คือเพลงลาวแพน ถ้าหากจะพิจารณาดูเนื้อร้องของเพลงลาวแพนเดิม ก็จะได้พบเนื้อร้องที่สะท้อนถ่ายความรู้สึกของเชลยลาวไว้อย่างสมบูรณ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้ :

 

“ฝ่ายพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ มาสอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน เป็นใจความยามยากจากเวียงจันทน์ ตกมาอยู่เขตขัณฑ์อยุธยา อีแม่คุณเอ๋ยเฮาบ่เคยจะตกยาก ตกระกำลำบากแสนยากนี้หนักหนา พลัดทั้งที่ดินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา พลัดทั้งปู่ พลัดทั้งย่า ทั้งยาย พลัดทั้งแม่ลูกเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า พลัดทั้งพงศ์เผ่า ทั้งลูกเต้าก็หนีหาย บักไทยมันเฆี่ยนบักไทยมันขังจนไหล่จนหลังของข้อยนี่ลาย จะตายเสียแล้วหนาที่ในป่าดงแดน ผ้าทอก็บ่มีนุ่งผ้าถุงก็บ่มีห่ม คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลมหนาวลมนี่เหลือแสน ระเหินระหกตกยากต้องเป็นคนกากคนแกน มีแต่แคนคันเดียวก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน ตกมาอยู่ในเมืองต้องถีบกระเดื่องกระด้อย สีซ้อมต่ำต้อยตะบิดตะบอยบ่ฮู้สิ้น ถือแต่เคียวหญ้าเอาไปให้ม้าของเพื่อนมันกิน เที่ยวซมซานไปทุกบ้านทุกถิ่นจะได้กินก็แต่เดน แสนอึด (อด) แสนจนเหมือนอย่างคนตกนาฮก (นรก) มืดมนฝนตกเที่ยวหยกๆถกเขมรถือข้องส่องคบจับกบทุ่งพระเมรุ เปื้อนเลนเปื้อนตมเหม็นขมเหม็นคาว จับทั้งอ่างท้องขึงจับทั้งอึ่งท้องเขียว จับทั้งเปี้ยวทั้งปู จับทั้งหนูท้องขาว จับเอามาให้สิ้น มาต้มกินกับเหล้าเป็นกรรมของเรา เพราะอ้ายเจ้าเวียงจันทน์เพื่อนเอย”

 

ข้อความของเพลงในตอนต้นทั้งหมดได้แสดงถึงความเคียดแค้นและความทุกข์ยากของเชลยลาวไว้อย่างแจ่มชัดและตรงไปตรงมา ถ้าหากจะหวนนึกไปถึงการบรรเลงเพลงลาวแพนด้วยจะเข้ ซึ่งมีการกระแทกจังหวะโดยการดีดสายทบพร้อมกันทั้งสามสายดังกระหึ่ม เราก็จะมองเห็นอารมณ์อันอึดอัดและเคียดแค้นของผู้ประสบความทุกข์ยากและถูกกดขี่ได้อย่างดี ลีลาของลาวแพนบางตอนที่อ่อนพริ้วโหยหวน และการกลบเสียงเปลี่ยนระดับเสียง ได้แสดงให้เห็นความปวดร้าวในดวงใจของผู้ถูกกดขี่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

สิ่งที่น่าสังเกตในเพลงนี้ก็คือ ในตอนสุดท้ายที่พวกเชลยยึดเอาการด่าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นทางออกลักษณะป้ายโทษเช่นนี้ เป็นลักษณะของแนวคิดศักดินาที่ไม่ยอมนำตนเองเข้าเผชิญหน้ากับสภาพความจริง ความทุกข์ยากของเชลยลาวมาจากการทรมานของศักดินาไทย มิได้มาจากเจ้าอนุวงศ์ ตรงข้ามเจ้าอนุวงศ์เสียอีกที่ได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์นั่นคือ ได้ต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชนลาวจากการกดขี่ของศักดินาไทย แต่การปราศจากการนำอย่างหนึ่ง และการต่อสู้ของเจ้าอนุวงศ์มิได้กระทำโดยระดมปลุกประชาชนให้ตื่นตัวอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนลาวมองไม่เห็นชัดเจนว่าใครคือมิตรและใครคือศัตรู การวิเคราะห์ปัญหาจึงได้ไขว้เขวไปลงเอยที่เจ้าอนุวงศ์ ว่าเป็นผู้สร้างกรรมทำเข็ญให้พวกตน แต่ถึงกระนั้นก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ก็มีส่วนจริงอยู่บ้างตรงที่เจ้าอนุวงศ์เองทำการต่อสู้ก็เพื่อสถาปนาตนเองเป็นศักดินาใหญ่แทนศักดินาไทยเป็นจุดหมายสำคัญมิได้มีความประสงค์ที่จะปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนแต่อย่างใด

 

เท่าที่พิจารณามาแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเพลงลาวแพนแต่ดั้งเดิมเป็นเพลงที่สะท้อนถ่ายวิญญาณแห่งการต่อสู้ของประชาชนลาว ซึ่งแม้จะไขว้เขวอยู่บ้างก็ยังอยู่ในขั้นที่ดีกว่าเพลงต่างๆอีกหลายเพลง ที่มิได้สะท้อนถ่ายวิญญาณเช่นนี้เลยแม้แต่น้อย

 

สาเหตุที่เพลงลาวแพนจะกลายมาเป็นเพลงอ่อนหวาน เพลงร่าเริง เพลงรักนั้น ดูเหมือนจะอยู่ที่นักดนตรีไทยของศักดินา ที่ได้บิดเบือนเอาเพลงนี้มาเน้นหนักตรงช่วงอ่อนหวาน แล้วบรรเลงเสียด้วยลีลาใหม่ตามความนิยมของตนซึ่งมองไม่เห็นพลังแห่งการต่อสู้ของประชาชนในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ เพลงลาวแพนจึงได้ถูกแปรโฉมจากเพลงของประชาชนมาเป็นเพลงของศักดินา และจนกระทั่งกลายมาเป็นเพลงกระเง้ากระงอดของชนชั้นกลางในที่สุด

 

 

ที่มา: สมชาย ปรีชาเจริญ. “ลาวแพนเพลงที่สะท้อนวิญญาณแห่งการต่อสู้ของประชาชน”. ชีวิตและศิลปะ. กรุงเทพฯ : ชัยวัฒนาการพิมพ์, 2523.

 

บทวิเคราะห์

 

บทความชิ้นนี้อยู่ในหนังสือ “ชีวิตและศิลปะ” ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมบทความต่างๆ โดยมุ่งเน้นในการแสวงหางานศิลปะที่ปลุกเร้าให้ประชาชนตื่นขึ้นมามองดูความเป็นจริงของชีวิต และปลุกเร้าให้หาหนทางแก้ไขความอัปลักษณ์ทั้งมวลในชีวิตให้กลายเป็นสิ่งดีงาม ในบทความชิ้นนี้ได้แสดงถึงประเด็นสำคัญ คือการถ่ายทอดความหมายและอารมณ์แท้จริงของบทเพลง “ลาวแพน” ซึ่งผู้เขียนได้ยกถึงความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่มาของบทร้องและลีลาการบรรเลง ซึ่งได้แสดงและบรรยายได้อย่างชัดเจนตามความเป็นจริงของตัวบทเพลง ซึ่งแสดงถึงความสอดคล้องกันทั้งในแง่ความหมายและลีลาในการบรรเลง สิ่งที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตและเป็นประเด็นสำคัญในบทความนี้คือ การตีความและทำให้ความหมายของบทเพลงนี้เปลี่ยนไป ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันในวงการดนตรีไทย และในการบรรเลงดนตรีไทยก็มักจะเป็นการพูดถึง ลีลา ความไพเราะของตัวบทเพลงมากกว่าความหมายที่แท้จริง ซึ่งในตอนท้ายของบทความนี้ผู้เขียนได้แสดงความเห็นว่า “สาเหตุที่เพลงลาวแพนจะกลายเป็นเพลงอ่อนหวาน เพลงร่าเริง เพลงรักนั้น ดูเหมือนจะมีอยู่ที่นักดนตรีไทยของศักดินาที่ได้บิดเบือนเอาเพลงนี้มาเน้นหนักตรงช่วงอ่อนหวานแล้วบรรเลงเสียด้วยลีลาใหม่ตามความนิยมของตน” ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาและการกลับไปมองในการแสวงหาความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างบริบทและชีวิตจริงในตัวงานศิลปะดนตรีไทย ที่นับวันดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงกระแสไปตามผู้ที่มีอิทธิพลต่อดนตรีนั้น จนละเลยต่อการเข้าใจและศึกษาในความหมายและความเป็นมาเพื่อจะให้ผู้ฟังได้มีความเข้าใจในความหมาย นอกเหนือจากการนำเสนอในเรื่องเทคนิค การบรรเลงและลีลาในทางดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ดนตรีไทยกำลังเป็นอยู่

นอกจากนั้นข้อสังเกตที่ผู้เขียนได้นำเสนอในตอนต้นนั้น  เป็นสิ่งที่ทำให้ชวนคิดว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการผันแปรความหมายและลีลาของดนตรีไทยนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ขึ้นกับรสนิยมและแนวคิดเฉพาะบุคคลมากกว่าการคำนึงถึงความเหมาะสมดังที่กล่าวมาแล้ว ประเด็นเหล่านี้อาจจะเป็นการเสนอทัศนะเกี่ยวกับวิธีหรือแนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ของไทยที่ไม่ยึดในเรื่องรูปแบบความหมายที่แท้จริงเท่ากับการแสดงความคิด ความสามารถเฉพาะบุคคล ดังจะเห็นได้จาก “ลาวแพน” ซึ่งในปัจจุบันจะสามารถพบเห็นได้ในหลายลีลา และหลายเนื้อร้องที่แตกต่างกันไป โดยไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความหมายและบริบทในภาพประวัติศาสตร์เท่าใด นอกจากการใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการแสดงความสามารถของผู้เล่นเท่านั้น

สาระและจุดประเด็นต่างๆในบทความนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นและปลุกให้เกิดการศึกษาในแง่ของความหมายในดนตรีไทย และบทเพลงต่างๆมากขึ้น มากกว่าพูดถึงความสามารถในการบรรเลงที่ในที่สุดก็ยากที่จะตอบว่าอะไรคือความเหมาะสม แต่หากมีการศึกษาและการพูดถึงบริบท และความหมายที่เป็นที่มาที่แท้จริงแล้ว ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มในการวิเคราะห์ วิจารณ์ดนตรีไทยได้ชัดเจนขึ้นทั้งในด้านของการอนุรักษ์และพัฒนา

 

รังสิพันธุ์  แข็งขัน : ผู้วิเคราะห์

 

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้”เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์

 

2 comments

ส่งความเห็นที่ Watanawadee Promwesh ยกเลิกการตอบ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*