วิจารณ์ละครเวที : Flu-Fool

วิจารณ์ละครเวที : Flu-Fool

น.ส.พัสตราภรณ์ บุญชู

 

“หากสิ่งที่คุณเชื่อกำลังล่มสลาย คุณจะคว้าความเชื่อใหม่ หรือยื้อความเชื่อเก่าไว้จนสุดแรง” ถ้านี่เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ สิ่งที่จะได้ก็น่าจะมีความหลากหลายต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคน แต่ละความคิด แต่ทว่าคำถามนี้มิได้ต้องการคำตอบแต่อย่างใด สิ่งที่พวกเขาต้องการจากผู้ชมคือความรู้สึกเสียมากกว่า นี่คือความประสงค์ขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนผู้ร่วมสร้างการแสดงที่มีชื่อว่า “Flu-Fool” ซึ่งเป็นการแสดงภาคต่อของ “Fool-Alright”

“Fool-Flu” เป็นการแสดงที่ใช้ร่างกายเป็นหลักในการนำเสนอ “สาร” หรือ “บางสิ่งบางอย่าง” ออกมาจากความรู้สึก จากเรื่องราวที่ถูกอัดแน่น และพร้อมที่จะพรั่งพรูข้อเท็จจริงเหล่านั้นออกมาเพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนในการรู้เห็น รับฟัง ไปจนถึงกระทั่งร่วมตัดสินจากความคิดของพวกเขา ผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้มีความพยายามและตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอออกมาให้ครบถ้วนในเนื้อหาสาระ และที่สำคัญคือมุมมองความคิดที่ต่างออกไปเกี่ยวกับสังคมและเหตุการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่ย่ำแย่อย่างมากถึงมากที่สุด จนยากแล้วที่จะสามารถไขว่คว้าหาเจอซึ่งแสงสว่าง ดังนั้นภาพการแสดงจึงถูกสะท้อนให้ออกมาด้วยรสชาติความเจ็บปวดที่ต่างกันออกไป ความเจ็บปวดที่นำมาซึ่งความน่าสมเพชเวทนา และน่าสงสารที่อาจไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว

B-Floor กลุ่มละครที่มีความโดดเด่นด้าน Physical Theatre Performance ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการสื่อสารงานแสดงที่มักจะสะท้อนสังคมหรือการเมือง โดยมุ่งหวังให้เกิดการตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่างที่พวกเราอาจจะคาดไม่ถึงหรือมองข้ามไป ได้กลับมามีบทบาท โลดแล่นอยู่ในสมองส่วนใดส่วนหนึ่งอีกครั้งอย่างไม่ทันตั้งตัว

“Flu-Fool” เป็นผลงานการกำกับของคุณ ธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละครบีฟลอร์ ที่มีความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์งานและพัฒนางานแสดงแนว Physical Theatre อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก้าวแรกของการแสดงของเขาเริ่มต้นที่พระจันทร์เสี้ยวการละคร ในยุคที่อาจารย์ คำรณ คุณะดิลก กำลังทำการฟื้นฟูพระจันทร์เสี้ยวขึ้นมาและพยายามพัฒนา Physical Movement จนมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง คาเงะ มีความรู้ความสามารถในด้านการใช้ร่างกายในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น บูโต, ตบมะผาบ ,viewpoint, modern dance เป็นต้น ซึ่งในหลายๆครั้งคาเงะก็ได้มีการนำศาสตร์เหล่านี้มาบูรณาการกันจนกลายเป็นการแสดงที่สวยงาม แข็งแรง และมีเสน่ห์ นำมาซึ่งทางเลือกที่แตกต่างออกไปในการแสดงออกของตัวละคร ตัวอย่างเช่น เรื่อง Crying Century ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนานการสร้างโลกและการเกิดของมนุษย์ของชาวไทในภูมิภาคต่างๆของอุษาคเนย์ โดยเรื่องนี้ได้มีการเล่าตั้งแต่การสร้างการเกิดโยงไปจนถึงยุคสมัยที่ต้องประสบพบปัญหาจนเกินความสามารถในการเยียวยาและแก้ไข ซึ่งการแสดงในครั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่ามีการนำเอาการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบมาบูรณาการจนเกิดเป็นเรื่องราว เขานำเอา “การตบมะผาบ” ที่เป็นศิลปะการต่อสู้ของภาคเหนือมาใช้ร่วมกับ กฎการใช้แรง (Effort) ของ Laban เพื่อสร้างสรรค์การแสดงให้ออกมาในลักษณะที่มีจุดมุ่งหมายในการใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารมิใช่ใช้ตามใจชอบ รวมถึงใช้เทคนิค Viewpoint ในการสร้างสรรค์ภาพการแสดงที่ออกมาบนเวทีได้อย่างหลากหลาย มาจากการผสมและเลือกสรรที่สวยงามอย่างเป็นกระบวนการและแข็งแรง ซึ่งการแสดงเรื่อง Crying Century นี้ก็ได้ถูกนำกลับมาทำซ้ำอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมานี้เอง

จากที่ได้ติดตามดูงานการกำกับของคุณคาเงะนั้น ทำให้เห็นได้ว่าเขามักจะสร้างงานที่สร้างความสะเทือนใจ หรือหดหู่ออกมาเสียมากกว่า ถึงแม้จะมีความตลกขบขัน สนุกสนาน เร้าใจในขณะแสดง แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้สุดท้ายก็คือความหดหู่ สะเทือนใจ ตระหนักถึงสิ่งเหล่านั้นตามมานั่นเอง ด้วยเจตนาของศิลปินผู้สร้างงาน เขาคงหวังว่าการแสดงของเขาจะสามารถทำให้คนเรากลับมาหวนคิดถึงอะไรบางอย่างที่เราอาจจะลืมมันไปแล้วเสียบ้าง เขาจึงพยายามสื่อสารกับผู้ชมโดยอาศัยความหดหู่ เศร้าสลดนี้เองเป็นตัวกลางในการสื่อสาร เหตุผลที่ทำให้คุณคาเงะมักจะถ่ายทอดการแสดงออกมาอย่างเศร้าสลดและอึดอัดเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเขาอาจจะเคยชินกับบูโต (Butoh) ศาสตร์การแสดงที่เลือกถ่ายทอดเอาความรู้สึกที่ข้นแค้น ความอึดอัด ความเจ็บปวดที่ทุกข์ทรมานออกมาแทนการจะให้เสียงหัวเราะแก่ผู้ชม โดยการแสดงบูโตนั้นเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะ Expressionism ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า ระบำแห่งความมืด

ดังนั้นละครเวทีเรื่อง Flu-Fool จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะถูกนำเสนอออกมาในแง่มุมที่จะให้ความสุข สบายใจแก่ผู้ชม คุณคาเงะคงไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นเด็ดขาด ถึงแม้ว่าเริ่มต้นเรื่องมานั้นดูเหมือนไม่มีอะไร นักแสดงใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดออกมา ทำท่าเหมือนจะเดินทาง แต่เมื่อการแสดงเริ่มต้นขึ้น มันจึงไม่ได้มีความหมายพียงเท่านั้น ฉากสนามบินฉากแรกนี้กลับทำหน้าที่สะท้อนภาพความจริงที่เคยเกิดขึ้นในแล้วในเมืองไทย ในเหตุการณ์ยึดสนามบิน ถึงแม้ว่าในเรื่องไม่ได้แสดงหรือเล่าเรื่องยึดสนามบินนี้ออกมาเลย แต่ตัวสถานที่ที่เขานำมาใช้มันเล่าเรื่องด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นคำถามน่าสนใจจากฉากนี้ก็คือ “มันสะกิดแผลในใจคนไทยตั้งแต่แรกเลยหรือ ? ” จากคำถามนี้จึงพอจะทราบแล้วว่าเรื่องนี้ต้องการจะเล่าอะไร บอกอะไร อ้างไปถึงเหตุการณ์ไหนอย่างชัดเจน  จากนั้นเหมือนผู้กำกับกำลังพยายามเปลี่ยนความคิดบางอย่างของคนไทยอยู่ เพื่อโน้มน้าวให้เข้าใจในสารของเขามากยิ่งขึ้น เหมือนอย่างที่เขาได้ประกาศลงในหน้าสูจิบัตรไปแล้วว่าละครเรื่องนี้ “มีช่องว่างให้จินตนาการแต่ไม่เป็นกลางและประนีประนอม” ดังนั้นเขาจึงเริ่มต้นปฏิบัติการพรั่งพรูเรื่องเล่าจากความคิดและความรู้สึกของเขาออกมาสู่ผู้ชมในทันที จากภาพสยามเมืองยิ้มที่เคยมีสวยงาม เต็มไปด้วยเสน่ห์ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว เมืองไทยกำลังจะกลายเป็น “สยามเมืองยักษ์” ต่างหาก เขาถ่ายโอนความแตกต่างของยิ้มและยักษ์ผ่านใบหน้าของผู้แสดงนั้นเอง จุดนี้ทำให้เข้าใจทันทีว่ารอยยิ้มทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย หลังจากที่เขาได้วางแผนให้คนเข้าใจความเปลี่ยนไปในรอยยิ้มที่มีของคนไทยแล้วนั้น เขาจงทำการตลบกลับด้วยการเปิดเพลงสยามเมืองยิ้มทันที การที่เขาใช้การแสดงสลับกันเช่นนี้ เพราะต้องการให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเขากำลังพยายามฝังความคิดของคนไทย(ผู้ชม) ว่า “โปรดจงคิดเสียใหม่ เราไม่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว” นั่นเอง จากนั้นจึงเริ่มมีการใช้สัญลักษณ์ในการเล่าเรื่องคือจาน จานที่ผู้กำกับเลือกนำมาใช้ก็เล่าความหมายตามบริบทที่ต่างๆกันออกไปในแต่ละช่วงของการแสดง แต่ช่วงที่กระทบจิตใจที่สุดน่าจะเป็นตอนที่จานถูกปล่อยออกมาจากมุม 2 ด้าน จากที่ตอนแรกกองของจานถูกยื้อแย่งให้ความรู้สึกของการกำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงและให้ได้มาซึ่งกองจานนี้ แต่สุดท้ายจานก็ถูกแยกออกเป็นสองทางอยู่ดี พวกมันกลิ้งไหลออกมาหมุนติ้วๆอยู่กลางลานเปล่า ตอนแรกก็ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ แต่สุดท้ายนักแสดงที่เหลือก็ต่างวิ่งเข้ามาเพื่อประคองจานเหล่านั้นไว้ไม่ให้ล้ม แต่สุดท้ายก็เปล่าประโยชน์อยู่ดี ฉากนี้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงประชาชนตาดำๆที่ก็ไร้ใครไหนจะมาเหลียวมองกันตั้งแต่แรก จะหันหลังกลับมามองก็ตอนที่เกิดการสูญเสียกันเสียแล้ว ในขณะนี้ก็มีวิดิโอตัดสลับกับไปพร้อมๆกับการแสดงอยู่ตลอดเวลาเป็นเหมือนการสื่อสารความหมายคู่ขนานไปด้วย แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถดูวิดิโอได้ทันที่จะเข้าใจและมีส่วนทำให้ดึงความสนใจออกไปจากการแสดงของนักแสดงที่แสดงจะเมามันกันอยู่นั้นอีกด้วย และก่อนจะจบครึ่งแรกนั้นก็เป็นการวางชนวนความคิดและความรู้สึกไว้อย่างดีทีเดียว นั่นก็คือฉากที่นักแสดงหันไปหยิบกระเป๋าเดินทางนำชุดทหารออกมาใส่ ถึงตอนนี้ดนตรีประกอบเริ่มมีความเร้ามากขึ้น  การแสดงของทหารทุกคนกลายเป็นท่าทางหุ่นเชิดที่มีความผิดปกติ ดูเหมือนกำลังถูกจูงหรือครอบงำด้วยบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งตอนนี้นักแสดงก็สามารถส่งอารมณ์ได้อย่างดีมาก ทุกคนสามารถรับส่งกันได้อย่างต่อเนื่อง สีหน้าทุกคนกำลังบูชาและมองตามบางสิ่งบางอย่างอย่างไม่ละสายตา สุดท้ายพวกเขาก็พยายามปีนป่ายขึ้นไปแล้วแตะหลอดไฟหลากสีได้สำเร็จ

ครึ่งหลังเริ่มต้นมาด้วยการให้ความหมายพร้อมกับการแสดงสะท้อนความหมายของ “ผีราษฎร” ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา ความหมายโดยตรงของผู้กำกับก็ไม่น่าจะหนีไปจากการเอาคนมาสังเวยเสาประตูเมืองเพื่อปกป้องเจ้าเมืองหรือผู้ที่เป็นใหญ่ในเมืองนั้นนั่นเอง การเปิดฉากออกมาของครึ่งแรกที่มีการเปิดประตูแล้วหามคนผ่านไปนั้น ให้ความรู้สึกของความเป็นนรกอเวจีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยแสงและฉากม่านดำที่อำนวย นัยหนึ่งนั้นผู้กำกับอาจจะต้องการเทียบเคียงพื้นที่ที่อาจไม่ต่างจากนรก ซึ่งนรกในความหมายของผู้เขียนก็คือ สถานที่ที่มีแต่ความบาป กิเลส ตันหา ความสกปรกนั่นเอง จากจานที่ถูกใช้ในครึ่งแรกนั้นในครึ่งหลังก็ได้มีการนำเอาออกมาใช้อีก ความหมายในนี้เปลี่ยนไปจากในตอนต้น คือให้ความหรูหรา สูงส่ง แต่สุดท้ายก็เหมือนเป็นตัวที่นำไปสู่ลางร้าย จากการที่จานนั้นถูกนำมาใช้เล่นเป็นผีถ้วยแก้ว ก็คือทางที่ใช้ในการสื่อสารกับความชั่วร้าย จากการดำเนินเรื่องมาถึงตอนนี้นั้นจะเห็นได้ว่ามีตัวละครตัวหนึ่งเป็นปริศนาและน่าสงสัยมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในฉากนี้เธอได้ออกมากับรถเข็นด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ในฉากที่เธอออกมานี้แสดงถึงความมีอิทธิพลอย่างมาก จนถึงตอนที่เป็นเหมือนจุดเร้ามากที่สุดของครึ่งหลังก็คือตอนที่เธอพยายามออกมาช่วยพวกที่เป็นอับดุลที่โดนพันตัวอยู่ ตอนนี้เธอเข็นออกมาด้วยตัวเองซึ่งก่อนหน้านี้เธอมีคนตามมาควบคุมอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เธอเหมือนเป็นอัศวินที่ขี่ม้ามาด้วยความพยายามจากใจจริง ผนวกกับภาพดินแตกระแหงที่ค่อยๆมีน้ำฝนหยดลงมา ตอนนี้เป็นภาพที่ผู้กำกับต้องการให้เราเห็นถึงความช่วยเหลือของคนๆหนึ่งที่ไม่ว่าอย่างไรก็มีให้ ซึ่งการที่เขานำเอาฉากนี้มาอยู่ช่วงท้ายทำให้สามารถผ่อนปรนความรู้สึกตะขิดตะขวงใจบางอย่างออกไปได้บ้าง มาถึงตอนจบของเรื่องที่มีการนำต้นไม้เข้ามาโดยที่นักแสดงทุกคนยกเว้นนักแสดงหญิงที่นั่งรถเข็น สะท้อนให้เห็นแง่มุมของความหวังของสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่หลังพายุร้ายผ่านพ้นไป ซึ่งผู้กำกับอาจจะต้องการสื่อถึงความหวังในวันข้างหน้าของประเทศไทยก็เป็นได้ พูดถึง “ฟ้าหลังฝน” ที่ถึงอย่างไรก็ต้องมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นหลังเรื่องร้ายๆผ่านไปเป็นแน่

การแสดงครั้งนี้ได้สร้างความรู้สึกประทับใจในความกล้าหาญที่จะนำเสนอในมุมมองที่ต่างแทบจะสุดโต่งก็ว่าได้ สำหรับคนไทย หรือใครก็ได้ที่ไม่เคยรู้เรื่องเช่นนี้มาก่อน แม้หลายครั้งมันจะเกิดการตั้งคำถามว่า “มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?” มันก็ยังดีกว่าที่เราจะไปดูละครแต่ไม่ได้เกิดการขมวดกันของความคิดเลย ในฐานะของคนทำละครแล้ว สิ่งที่เราคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ ทำให้เกิดความฉลาดขึ้นนั้นเราก็ควรที่จะนำเอาออกมาบอกต่อให้สังคม เพราะถึงแม้จะไม่เข้าใจวันนี้แต่สักวันก็ต้องเข้าใจอยู่ดี

แต่ก็มีอยู่บางสิ่งที่ผู้กำกับอาจจะบกพร่องไปบ้าง ถึงแม้จะมีความสำคัญในแง่ของการนำเสนอ นั่นก็คือ ภาพที่ปรากฏบนเวทีที่บางครั้งก็ยังไม่มีความกระจ่างมากพอที่จะให้ได้เข้าใจทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ละครแนว Physical Theatre ที่ผู้ชมอาจทำความเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด แต่ในเมื่อเรามีเพียงภาพที่จะนำเสนอให้ผู้ชมเท่านั้น ก็น่าจะต้องทำออกมาให้ชัดที่สุด และอาจจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเข้ามารบกวนความเข้าใจนั้นอีกทางหนึ่งด้วย แต่ก็ถือว่าผู้กำกับก็บรรลุจุดประสงค์ของตนเองแล้วที่ได้สามารถแสดงออกถึงความคิด ความเข้าใจของตนที่อาจจะต่างออกไปจากความคิดของคนอื่น และความกล้าที่จะคิดที่จะนำเสนอนี้แหละที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาละครเวทีที่มีคุณภาพ คุณประโยชน์จริงๆต่อสังคมได้ต่อไปในอนาคต

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*