จอห์น วู และนางนาก : ความตื่นตาตื่นใจในยุคโพสต์โมเดิร์น

จอห์น วู และนางนาก : ความตื่นตาตื่นใจในยุคโพสต์โมเดิร์น

อัญชลี ชัยวรพร

                ในช่วงของการก่อกำเนิดภาพยนตร์นั้น มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งซึ่งสร้างอาการตกตะลึงให้กับคนดูจนแทบตกเก้าอี้  ภาพยนตร์ดังกล่าวคือ Arrivee d’un train en gare (The Arrival of A Train) ซึ่งมีความยาวเพียง 2 -3 นาที  โดยตั้งกล้องแช่ไว้กับที่เพื่อบันทึกภาพหัวรถไฟที่กำลังแล่นเข้าชานชาลา  ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับกำลังซูมภาพจากลองช็อตเป็นโคลสอัพ  ยิ่งเมื่อรถไฟเข้าใกล้สถานีมากเท่าไร  ขบวนรถไฟก็จะดูใหญ่เกินจริง  ราวกับจะพุ่งเข้าชนกลุ่มคนดู

อาการตกตะลึงที่เกิดขึ้นเป็นความไม่คาดฝันของคนดูหนังยุคเริ่มต้น  ที่จะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวได้  เป็นความตื่นตาตื่นใจในสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต  เพราะภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่าภาพยนตร์นั้นเพิ่งถือกำเนิดขึ้น  เมื่อเห็นขบวนรถไฟพุ่งจากจอราวของจริง  จึงรู้สึกเหมือนกับจะถูกรถไฟชน  ความตกใจที่เกิดขึ้นเพราะแยกไม่ออกระหว่างของจริงกับของใหม่ที่เรียกว่าภาพยนตร์

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในหมู่คนดูเกิดจากความตื่นตาตื่นใจในภาพที่มองเห็น  เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า spectacle  เป็นประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นกับคนดูหนังไทยขณะชมภาพยนตร์เรื่อง นางนาก  ซึ่งสร้างปรากฎการณ์กวาดทั้งเงินและกล่องในปีที่แล้ว  …เช่นเดียวกับความรู้สึกของคนดูหนังในยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์  ต่างกันเพียงแค่ว่ามิติที่ตื่นตาตื่นใจในยุคโพสต์โมเดิร์นเป็นการปรับจากพื้นฐานในอดีต  มิได้เป็นของใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาทั้งมวล

ภาพแห่งความตื่นเต้นนี้เองที่เป็นกลยุทธ์สำคัญในกระบวนการทำหนังกระแสหลักของฮอลลีวู้ด  เป็นศาสตร์ที่มีวิวัฒนาการและไม่หยุดนิ่ง  ….และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับหนังอย่างฮ่องกงมีที่ยืนอยู่ในฮอลลีวู้ดขณะนี้

ในการประเมินคุณค่าของภาพยนตร์มักจะมีวิธีที่ง่ายที่สุดจากการวัดความสนุกสนาน  ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามรสนิยมส่วนบุคคล  คอหนังที่ต้องดูหนังเป็นประจำอาจจะไม่นิยมชมชอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด  เพราะมีสูตรตายตัว  เล่าเรื่องแบบเรียงลำดับที่เรียกว่า narrative  ใกล้จบก็มีฉากไคลแมกซ์ที่จะแก้ปมปัญหาของเรื่อง  พระเอกนางเอกหรือผู้ร้ายก็มีลักษณะเป็นแบบแผนเฉพาะไป

ฮอลลีวู้ดจึงต้องสร้างจุดเด่นใหม่ที่จะตรึงคนดูให้อยู่กับที่  สนุกสนานกับโครงสร้างเดิม ๆ ได้เป็นเวลานาน  และจุดขายสำคัญที่ฮอลลีวู้ดใช้ผลได้ตลอดก็คือ การสร้างภาพที่ตื่นตาตื่นใจที่   จะตรึงคนดู  ฮอลลีวู้ดรู้จักที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจมาตลอดและมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง  เมื่อคนดูเริ่มเคยชินกับภาพที่ตื่นตาตื่นใจในยุคหนึ่ง  ฮอลลีวู้ดก็จะคิดวิธีการใหม่เพื่อทำให้คนดูตื่นเต้นอีก  ภาพแห่งความตื่นตาตื่นใจจึงมีวิวัฒนาการไม่หยุดนิ่ง  ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของภาพยนตร์และการเติบโตของคนดู

ความตื่นตาตื่นใจในยุคแรกนั้นเกิดขึ้นเพราะภาพยนตร์เป็นของใหม่  เพราะการดำเนินชีวิตของคนในยุคร้อยปีเศษที่แล้วยังเรียบง่าย  ไม่มีสิ่งประดิษฐ์อะไรมากนัก  ภาพเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากที่สุดเห็นจะมีแต่ ตู้มอง (Kinetoscope) ผลิตโดยโธมัส อัลวา เอดิสัน  ลักษณะคล้ายกล้อง  เวลาจะดูต้องมองเข้าไปในตัวกล้อง  พร้อมใช้มือหมุนภาพให้เลื่อนไป  ภาพก็จะหมุนตาม  ตู้มองก็มีลักษณะแบบนี้เช่นเดียวกัน

คนดูในยุคแรกไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน  ไม่เคยเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ที่ปรากฎลงบนจอภาพ  จึงเกิดความตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์  สิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน  ความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ได้ไปดูโชว์  ได้ดูมายากล  อันที่จริงแล้ว ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในยุคกำเนิดนั้น  ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรนักถ้ามองในสายตาปัจจุบัน  หนังส่วนใหญ่มีความยาวเพียงสองสามนาที  เนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีความเป็นพิเศษ  หนังของลูมิแอร์ช่วงแรก ๆ ก็ถ่ายรูปลูกชายรดน้ำต้นไม้  ลูกชายกินข้าว  คนงานเดินออกจากโรงงาน  แต่คนก็แห่กันไปดู  เพราะตื่นเต้นที่ได้ดูของใหม่  ตื่นตาตื่นใจกับการบันทึกภาพที่จู่ ๆ ก็เคลื่อนไหวได้

เมื่อเกิดยุคหนังเสียง  ความตื่นตาตื่นใจเปลี่ยนจากภาพมาเป็นเสียง  หลังจากที่ดูหนังโดยไม่มีเสียงมานาน  หนนี้คนดูเฮโลกันไปดูหนังพูดได้  ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกอย่าง The Jazz Singer ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า งานนี้ขายเสียงล้วน ๆ (โดยไม่ทำลายชาติ)  ดังนั้นเมื่อเกิดยุคหนังสี  ภาพกลับมาสร้างความตื่นตาอีกครั้ง  ดังจะเห็นได้จาก Becky Sharp ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เกิดจากการพัฒนาด้านเทคนิคคัลเล่อร์อย่างเต็มรูปแบบ  ทั้งเรื่องก็จะขายสีสันของเสื้อผ้าตัวละครที่เกินความจริง  เช่น สีเหลือง  สีเขียว  สีแดง  เพื่อตอบสนองความต้องการมาดูภาพสีของผู้ชม

……เข้าสู่ยุคหนังเพลง หนนี้ฮอลลีวู้ดสร้างความตื่นตาตื่นใจทั้งจากภาพและเสียง  บวกด้วยลีลาการเต้นนักแสดง  รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่  จังหวะดนตรี  ทั้งที่ยีน เคลลี่ ใน Singing In the Rain ไม่ได้เป็นคนร้องเพลงเอง  แต่คนดูก็ชอบ  เพราะภาพที่เห็นได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เกิดขึ้น  …แถมยังแผ่อิทธิพลไปนอกอเมริกาอีกด้วย  เพราะหนังเพลงสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดูทุกชาติทุกภาษา  โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้าใจเนื้อเพลงได้หรือไม่  หนังเพลงจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของฮอลลีวู้ดในช่วงนั้นที่เริ่มส่งหนังไปขายประเทศอื่น

เช่นเดียวกับการตีตลาดโลกในปัจจุบัน  ฮอลลีวู้ดสร้างความตื่นตาตื่นใจโดยการนำวิวัฒนาการเทคนิคพิเศษหรือที่มักจะรู้จักกันดีว่า สเปเชียลเอ็ฟเฟ็ค  มาเป็นจุดยืนในการขายเพื่อให้เข้ากับยุคเทคโนโลยี่ในปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์   ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการสร้างความตื่นตาตื่นใจในหมู่คนดูได้ง่ายที่สุดและได้ผลที่สุด  คล้ายกับการสร้างภาพที่เคลื่อนไหวได้ในยุคกำเนิดภาพยนตร์  หนังแนววิทยาศาสตร์จึงนำจุดนี้มาดึงความสนใจของผู้ชม  ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2  ซึ่งเน้นการโฆษณาของตัวหุ่ นยนตร์ที่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างคล่องตัว  แม้แต่ในภาพยนตร์ความรักแห่งศตวรรษอย่าง Titanic ก็ได้นำความสมจริงของเทคนิคที่ใช้ในตอนขุดเรือที่อับปางมาเป็นตัวจุดขายอย่างหนึ่ง  นอกจากประเด็นในเรื่องของความรักแล้ว

สำหรับภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นนั้น การสร้างภาพเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นนั้นมีหลายวิธีการ  ความเพลิดเพลินในการชมภาพยนตร์ชุดเจมส์บอนด์ คือ การที่ได้เห็นบอนด์วางแผนโค่นเหล่าร้ายพร้อมเครื่องมือช่วยล้ำยุค  หนังแอ็คชั่นของดาราที่มีพื้นฐานมาจากนักกีฬาเพาะกล้ามอย่างซิลเวสเตอร์ สตาโลน หรืออาร์โนลด์ ชวากเซเนเกอร์ ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจโดยภาพที่เน้นพละกำลังของตัวผู้แสดง  หนังแอ็คชั่นอีกแนวที่มักจะนำแสดงโดยดาราเจ้าประจำอย่างฌอง คล็อด แวนแดม หรือสตีเว่น ซีกัลนั้น ก็จะมีลวดลายกังฟูของดาราทั้งสองเป็นจุดดึงดูดของภาพยนตร์  เพราะทั้งแวนแดมและซีกัลเป็นดาราฝรั่งเพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถในการเล่นกังฟู  จนเป็นที่ต้องการของฮอลลีวู้ดก่อนที่ดาราหรือผู้กำกับฮ่องกงจะเป็นที่ยอมรับเสียอีก  และนี่เองคือคำตอบที่ทำให้ดาราที่ไม่ได้มีความหล่อโดดเด่นอย่างเฉินหลงมีที่ยืนอยู่ในฮอลลีวู้ดขณะนี้  เพราะผู้ชมเพลิดเพลินในการที่ได้ดูลีลากังฟูของเฉินหลง

ด้วยเหตุผลตรงนี้เองที่ทำให้ผู้กำกับฮ่องกงได้รับการยอมรับจากฮอลลีวู้ด  เพราะว่าพวกเขาต่างคุ้นเคยกับการสร้างความตื่นตาตื่นใจในภาพ  ไม่ว่าจะเป็นลีลากำลังภายในหรือกังฟู และที่สำคัญคือ พวกเขารู้จักที่จะออกแบบฉากแอ็คชั่น  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ งานกำกับฉากแอ็คชั่นของจอห์น วู

จอห์น วูเป็นผู้กำกับจากเอเชียคนแรกที่ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีฮอลลีวู้ด  แตกต่างจากผู้กำกับคนอื่นที่เติบโตในอเมริกาอย่างเวยน์ หวัง  หรือจบการศึกษาด้านภาพยนตร์ในอเมริกาอย่างอั้ง ลี (New York University) เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่ฮอลลีวู้ดได้นั้นก็เพราะการออกแบบฉากแอ็คชั่นได้สวยงาม  โดยมีความแตกต่างจากเพื่อนผู้กำกับคนอื่น ๆ อย่างริงโก้ แรม  ฉี เคอะ  ตรงที่ว่าพระเอกคู่ใจอย่างโจว เหวินฟะไม่เคยโชว์พละกำลังหรือลวดลายการเล่นกังฟู  ภาพทุกภาพ ฉากทุกฉากล้วนเกิดจากการออกแบบไว้ล่วงหน้า  ในงานหนังฉบับฮ่องกงของจอห์นวูมักจะเป็นที่รู้จักกันดีในแบบฉบับเฉพาะตัวของเขา  ไม่ว่าจะเป็นฉากดวลปืนที่นิยมใช้สโลว์โมชั่น  จนเป็นที่รู้จักกันในนามของการดวลปืนดั่งบัลเลต์ (ballectic shootout)  พร้อมกันนี้ยังมีท่าถือปืนพร้อมกันสองกระบอกของตัวละครเอก  หรือฉากต่อกรของตัวเอกที่จะจ่อปืนที่ศรีษะหรือตามร่างกายเพื่อรอดูชั้นเชิงของอีกฝ่าย  อันที่จริงแล้ว พระเอกของจอห์น วูเล่นกังฟูไม่เป็น  ท่าชกต่อยก็ไม่งาม  แต่ผู้กำกับรู้จักใช้เทคนิคภาพยนตร์ที่ทำให้เหมือนกับว่าพวกเขากำลังเล่นกำลังภายใน  ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตัวสไลด์ผ่านรถเข็น ผ่านราวบันได  โหนเชือกมาจากหลังคา  และการจัดฉากเพื่อให้เกิดภาพสวยเป็นพิเศษ  ไม่ว่าจะมีนกบินสลับฉากเป็นร้อย  มีเทียนไขจุดเป็นร้อยเป็นพัน เป็นต้น

ลักษณะคล้ายกันนี้ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในงานภาพยนตร์อย่าง นางนาก  แตกต่างเพียงแต่แนวหนังเท่านั้น  ทุกฉากทุกตอนของหนังจอห์น วูและ นางนาก ล้วนเต็มไปด้วยการออกแบบอย่างระแวดระวังและพินิจพิเคราะห์ เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ชม

เรื่องของแม่นาคนั้นสร้างกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวี  จนเป็นที่คาดคะเนว่า น่าจะเป็นเรื่องที่มีการนำมาสร้างซ้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์บันเทิงไทย  ในความทรงจำของคนพ้นวัยเยาวชนของคนเขียนเอง  จำได้ว่ามีแม่นาคปรียา รุ่งเรือง จนเป็นบทคู่ใจของเธอและเล่นเป็นแม่นาคอยู่หลายภาคหลายตอน  จนคนสร้างในยุคต่อมาก็ได้พยายามปั้นลูกสาว….ยอดสร้อย โกมารชุนในบทเดียวกัน  ในช่วงเดียวกันรุ่นปรียานี้ ยังมี แม่นาคอเมริกา ให้ดาราฝรั่งเล่น  แล้วก็ยังมีแม่นาคตรีรัก การดี  แม่นาคหนังทดลองของเกอเต้  เรียกได้ว่า ถ้าเป็นคนไทยทุกคนจะต้องรู้จักแม่นาคกันทุกคน

เพราะความที่เนื้อเรื่องแม่นาคเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยอยู่ก่อนแล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องยากนักที่ผู้กำกับอย่างนนทรีย์ นิมิตบุตร จะนำมาปรุงแต่งใหม่ โดยยืนพื้นบนตำนานเก่าแก่ของไทย  หลายคนมองว่าแม่นาคฉบับล่าสุดเป็นการตีความใหม่  ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นการปรุงแต่งใหม่เสียมากกว่า  ตัวหนังเองก็ได้รับอิทธิพลหนังฮอลลีวู้ดอย่างเต็มที่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการสร้างภาพเพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ  พร้อมกับการเขียนประวัติศาสตร์แม่นาคเสียใหม่  จึงทำให้ นางนาก กลายเป็นภาพแห่งความตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ใหม่คาดฝันในตำนานเก่าที่เป็นที่รู้จักกันดี

นนทรีย์เขียนประวัติศาสตร์แม่นาคใหม่อย่างให้ได้ชัด  จากตำนานการวิ่งไล่และวิ่งหนีระหว่างผีกับคน  มาเป็นเรื่องของความรักและความลำบากของหญิงสาวที่บูชารักผู้หนึ่ง  จากผีที่น่ากลัวกลายเป็นหญิงสาวที่น่าสงสารและเทอดทูน  ตำนานแม่นาคได้รับการประดิษฐ์ใหม่แทบทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นคำเรียก ‘แม่’ มาเป็น ‘นาง’ ในชื่อเรื่อง  แม้แต่ชื่อแม่นาคเองก็เปลี่ยนมาเป็น ‘นาก’  จากผมยาวกลายเป็นผมสั้น  จากผู้หญิงที่สวยมากกลายเป็นผู้หญิงหน้าตาธรรมดา  จนทราย เจริญปุระอาจจะเป็นแม่นาคที่สวยน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แม่นาค  จากผู้หญิงที่ความงามเป็นเลิศมาเป็นนางนากเคี้ยวหมาก  จากคำเรียกขานที่เคยรู้จักกันดีในตำนานแม่นาคอย่าง “พี่มากขา” กลายมาเป็น “ไอ้มาก” ไป

แล้วตำนานใหม่ของแม่นาคนี้ก็ได้สร้างความตื่นเต้นในกลุ่มคนดูไทย  ตื่นเต้นที่ได้เห็นภาพใหม่จากตำนานเก่าซึ่งเป็นที่คุ้นเคยอยู่แล้ว  โดยได้รับการปรุงแต่งให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นจากการอ้างพระสมเด็จพุฒาจารย์กับกระดูกหน้าผากของแม่นาคที่หายสาบสูญไป  เพื่อให้ดูเรื่องสมจริงมากขึ้น  ทั้งนี้ก็เพราะว่าความเป็นจริงในภาพยนตร์นั้นคือสูตรสำคัญประการหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์  โดยเฉพาะฮอลลีวู้ด  แม้ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องจะเกิดจากจินตนาการล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผี หรือเรื่องอวกาศ  ทุกล้วนต้องยืนพื้นของความจริงที่จะต้องสมเหตุสมผล (verisimilitude)  จะต้องทำให้คนดูเชื่อได้

ด้วยหลักการตรงนี้เองที่ทำให้ภาพยนตร์จากเอเชียมีปัญหาในฮอลลีวู้ด  อีกทั้งเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวเข้ามาสู่ฮอลลีวู้ดของจอห์น วู ที่ถูกกล่าวหาว่า ทำหนังไร้สาระแบบคนจีน  ในเวทีฮอลลีวู้ด จอห์นวูจะต้องเก็บพับแฟนตาซีอย่างเอเชียไว้  พร้อมปรุงแต่งเรื่องที่ดูแล้วมีเหตุมีผลเพียงพอ  เรื่องอย่างพระเอกถูกยิงจนเลือดกระฉูดแต่ไม่ตายก็ต้องตัดทิ้ง  เรื่องกองทัพนกบินหรือจุดเทียนเป็นร้อยเป็นพันในฉากแอ็คชั่นต้องเก็บเข้าหิ้งหมด  เพราะเมื่อเข้ามาเป็นหนังฮอลลีวู้ด  จะต้องมีคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องจุดเทียนไว้มากมาย  ทำไมถึงมีนกกระพือปีกจนเกินเหตุ          ไม่มีใครรู้ว่า ตำนานแม่นาคเป็นเรื่องจริงหรือไม่จนกระทั่งบัดนี้  แต่ผู้กำกับได้เน้นพล็อตนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น  ก่อนสรุปให้หนักแน่นยึ่งขึ้นในช่วงท้าย  โดยลืมทิ้งไว้เฉย ๆ ในช่วงดำเนินเรื่อง  ลักษณะความเป็นจริงที่เปิด ๆ ปิด ๆ เช่นนี้กลับสร้างเสน่ห์ให้เงื่อนงำตรงนี้ยิ่งขึ้น  เรื่องที่ดูไม่จริงกลับดูคล้ายเรื่องจริง  คนดูก็พยายามวิเคราะห์ว่าเรื่องจริงหรือไม่  เช่นเดียวกับหนังแนวแฟนตาซีของฮอลลีวู้ดที่เรารู้ว่าเป็นจินตนาการล้วน ๆ  เรารู้ว่าสตาร์วอร์ส เป็นเพียงจินตนาการที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดในโลกอนาคต  แต่เพราะกรรมวิธีการชี้นำที่มีมาตลอดเรื่องกลับทำให้เนื้อเรื่องดูน่าเชื่อถือในความรู้สึกของคนดูเป็นอย่างยิ่ง

แล้วคนดูก็ตื่นตาตื่นใจอีกครั้งเมื่อเห็นภาพและฉากอันตระการตาที่ได้รับการออกแบบ  อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์ไทย  ภาพทุกภาพที่ปรากฎให้เห็นในภาพยนตร์เรื่อง นางนาก เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความตั้งใจและการเตรียมการล่วงหน้าของผู้กำกับ  ระดับมาตรฐานเท่ากับสากลเลยทีเดียว  อย่างไรก็ตาม ภาพที่สวยวิจิตรเกินตาเหล่านั้นบางครั้งกลับไม่ได้สื่อความหมายใด ๆ ในเชิงภาษาภาพยนตร์  อาทิเช่น ในฉากที่พ่อมากป่วยหนัก  เมื่อได้รับการรักษาจากพระสมเด็จพุฒาจารย์แล้ว  กล้องตัดมาที่ทุ่งนาและโคลสอัพที่แมลงป่องและต้นข้าว  โดยไม่สามารถอธิบายว่าต้องการสื่ออะไรในเชิงภาษาภาพยนตร์

การตัดต่อโดยใช้ภาพที่ขัดแย้งกันเป็นอีกวิธีในการสร้างความตื่นเต้นให้เกิดกับคนดู  กล่าวคือเมื่อฉากหนึ่งใช้ภาพโคลสอัพ  ภาพต่อไปก็ใช้เทคนิคอีกขั้วหนึ่งเพื่อให้ภาพขัดแย้งกันอย่างสุดโต่ง  ซึ่งมีผลในการเร่งเร้าความตื่นตาตื่นใจในหมู่คนดูอีกชั้นหนึ่ง  ในฉากที่พ่อมากนอนป่วยหลังจากสงคราม  ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการถ่ายภาพจากมุมสูง (bird’s eyes view)  ทำให้ภาวะอารมณ์ของคนดูถูกเร่งเร้าด้วยภาพมุมสูงอยู่ยังไม่ทันหาย  แล้วคนดูก็ต้องเผชิญกับความสุดโต่งของภาพต่อไปซึ่งโคลสอัพที่หน้าพ่อมากกำลังนอนป่วยจนเห็นเหงื่อโซมกาย  ภาวะเช่นนี้ยิ่งทำให้อารมณ์ของคนดูถูกเร่งเร้าให้เกิดความตื่นเต้นมากขึ้น  เช่นเดียวกับลักษณะการใช้เพลง  ดนตรีประกอบเปิดเรื่องด้วยการใช้เทคนิคเสียงพิเศษตัดต่อเข้ามาราวกับสายฟ้าฟาด  จนอารมณ์ของคนดูรู้สึกขยายใหญ่ด้วยความตื่นเต้น  แต่ก็ถูกตัดแทรกเข้าด้วยเสียงดนตรีไทย  ทำให้ผู้ชมถูกกล่อมเกลาอย่างฉับพลัน

มิติแห่งความคาดไม่ถึงนั้นถูกสร้างมาตลอดเรื่องนางนาก  ตั้งแต่การเปิดเรื่องโดยให้แม่นาคล่ำลากับพี่มากเลย  ผิดจากเรื่องแม่นาคเก่า ๆ ที่มักจะดำเนินเรื่องตั้งแต่ความรักของแม่นาคกับพี่มาก  เมื่อพี่มากกลับมาอยู่บ้านและบอกนางนากว่าจะแวะไปเยี่ยมเยียนเพื่อน   ภาพที่ใช้ให้พ่อมากเพิ่งจะเดินพ้นประตูกระท่อมอยู่ดี ๆ  ก็รีบเปลี่ยนมาเป็นการเผชิญหน้ากับศพที่เน่าเปื่อยของเมียเพื่อน  ซึ่งเป็นความไม่คาดคิดทั้งพ่อมากและคนดู  กลายเป็นภาพที่เร่งความตื่นเต้นให้ไม่เพียงแต่พ่อมากเท่านั้น  แต่รวมทั้งคนดูด้วย

เพราะการเน้นภาพที่ต้องการสร้างความตื่นตาตื่นใจเช่นนี้  จึงทำให้มีฉากหนึ่งไปพ้องจองกับซีนหนังฉบับฮ่องกงของจอห์นวู  ในฉากดังกล่าวพี่มากรู้ความจริงและหนีผีแม่นาคเข้าวัด  ทั้งเณร หลวงตาและพี่มากเองต่างหลบผีแม่นาคในวงล้อมของสายสิญจน์  และเทียนไขเป็นร้อยเป็นพัน  ซึ่งถ้าใครได้ดูฉากเปิดเรื่อง The Killer ของจอห์นวู  จะเห็นความคล้ายคลึงกันอยู่  คนเขียนเองก็เชื่อว่า นนทรีย์เองอาจจะไม่เคยดูหนังฉบับฮ่องกงของจอห์นวูด้วยซ้ำ  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบังเอิญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมโพสต์โมเดิร์น  ….สังคมที่ “ไม่อาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่ได้  เพราะทุกอย่างในโลกนี้ล้วนถือกำเนิดเกิดขึ้นหมดแล้ว  อย่างดีก็เพียงแค่การผสมผสานและปรับปรุงสิ่งที่เคยคิดมา” (เฟรเดอริค เจมสัน : ผู้ศึกษาด้านภาพยนตร์กับโพสต์โมเดิร์น)  งานชิ้นหนึ่งของคน ๆ หนึ่งจึงอาจไปพ้องกับงานของอีกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสังคมข่าวสารในปัจจุบัน  ที่ทุกอย่างสามารถสื่อถึงกันได้ด้วยการกดแป้นคอมพิวเตอร์เพียงคลิ๊กเดียว

ทั้งงานของนนทรีย์และจอห์นวูต่างก็หลีกเลี่ยงอิทธิพลข้อนี้ไม่ได้  งานของพวกเขาไม่ได้เป็นของใหม่ที่เพิ่งจะคิดค้นขึ้น  แต่เป็นการดัดแปลงวิธีการที่เคยมีอยู่หรือถูกลืมไปแล้วมาใช้เพื่อให้เข้ากับกลุ่มคนดูในปัจจุบัน  การออกแบบฉากแอ็คชั่นของจอห์นวูนั้นก็ได้อิทธิพลจากหนังจีนกำลังภายในของฉางเชอะ  แทนที่จะใช้ดาบก็มาใช้ปืน  แทนที่จะเหาะอย่างหนังจีนกำลังภายใน  ก็สไลด์ผ่านรถเข็น ผ่านราวบันได  แม้แต่การใช้ภาพสโลว์โมชั่นในฉากบู๊ล้างผลาญก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นอิทธิพลจากงานของผู้กำกับอย่างแซม แพ็กกินพาห์

เช่นเดียวกับที่นนทรีย์พยายามสร้างความตื่นตาตื่นใจมาใช้กับภาพยนตร์ที่เป็นตำนานเก่าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี  เนื้อเรื่องที่เป็นตำนานและเอื้ออำนวยต่อบรรยากาศของวันวานยิ่งสร้างภาพขัดแย้งกับเทคนิคภาพและเสียงสมัยใหม่  นางนากจึงเป็นการผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่  นางนาก อาจจะมีการโฆษณาว่าเป็นการตีความตำนานแม่นาคเสียใหม่  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการดัดแปลงวิธีการสร้างความตื่นตาตื่นใจสมัยใหม่มาปรับปรุงใช้กับตำนานเก่า  หลาย ๆ ฉากทำให้คนเขียนอดนึกถึง แผลเก่า ของเชิด ทรงศรี  และหนังทดลองเรื่อง แม่นาค ของพิมพกา โตวีระ  เพียงแต่กรรมวิธีการดีกว่าเท่านั้นเอง

งานของจอห์นวู และนางนาก จึงเป็นผลลัพท์ของวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างเก่าและใหม่  เป็นการผสมผสานงานศิลปะชั้นสูงที่เข้าไม่ถึงและศิลปะมวลชน  จึงไม่น่าแปลกใจที่ นางนาก จะกวาดเงินอย่างถล่มทลายเมื่อปีที่แล้ว  เพราะภาพยนตร์ได้ตอบสนองภาวะด้านลึกในจิตใจของคนไทย  ภาวะที่ตกอยู่ระหว่างการปะทะของวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่  ระหว่างวัฒนธรรมระดับสูงอย่างโมเดิร์นนิสต์ที่ยากแก่การเข้าใจและวัฒนธรรมมวลชนที่ดูไร้ศิลปะ  ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก  ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่นางนากสามารถชนะภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่างสตาร์วอร์สได้  อันที่จริง Star Wars ก็ได้นำเสนอทวิมิติของวัฒนธรรมในลักษณะคล้ายคลึงกัน  ไม่ว่าจะเป็นคติพจน์แบบอนุรักษ์นิยมที่แสดงถึงด้านลบของวิทยาการและเทคโนโลยี่  หรือแม้แต่การแทรกอารยธรรมตะวันออกในตัวผู้แสดง  ที่เห็นได้ชัดคือ เสื้อผ้าของเจ้าหญิงนั้นดัดแปลงมาจากชุดซูสีไทเฮาและเจ้าหญิงญี่ปุ่นมาทั้งสิ้น  อีกทั้งการใช้ภาพที่แสดงความตื่นตาตื่นใจ  ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ดูซับซ้อน  และตัวการ์ตูนต่าง ๆ  แต่เนื่องจากภาพอันตื่นตาตื่นใจในสตาร์วอร์สมีมากและรายละเอียดมากเกินไป  ทำให้ได้ผลไม่มากเท่าที่ควร เพราะสายตาและอารมณ์ของคนดูจะต้องทำงานหนักที่จะรับความตื่นเต้นนั้นอยู่ตลอดเวลา  จึงทำให้ผลตอบรับได้ไม่ดีนัก

ความตื่นตาตื่นใจยังคงเป็นสูตรสำเร็จในโลกภาพยนตร์ต่อไปอีกนาน  ขึ้นอยู่กับว่าผู้สร้างสามารถปรับปรุงวิธีการใหม่ ๆ ได้อีกมากน้อยแค่ไหน  อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภาพยนตร์ที่เน้นภาพตื่นตานั้น  ใช่ว่าจะสัมฤทธิผลไปตลอดหรือไม่  สิ่งสำคัญก็คือ ความสามารถในการผสมผสานความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมของผู้กำกับ และปริบทสังคมในช่วงนั้น ๆ  กรณีความสำเร็จของนางนากในเวทีสากลจึงมิใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก  เพราะความไม่คาดฝันกับตำนานของแม่นาคที่เกิดขึ้นในหมู่คนไทย  ได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นความไม่คาดฝันกับวัฒนธรรมของโลกที่สาม   และงานยกระดับด้านภาพที่จะหาได้จากหนังไทยให้เกิดขึ้นในหมู่คนดูสากลนั่นเอง

ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า  การสร้างความตื่นตาตื่นใจโดยใช้ภาพที่วิจิตรสวยหรูเกินกว่าที่จะพบในหนังไทยทั่วไปอย่างที่เห็นในนางนาก  จะพบความสำเร็จได้อีกหรือไม่ในภายภาคหน้า  ถ้ามองกันอย่างผิวเผินแล้ว  เมื่อคนดูเริ่มจับแนวทางของนนทรีย์ได้  สิ่งเหล่านั้นน่าจะถึงจุดคลายความนิยม  เพราะความละเมียดละไมเรื่องภาพอย่างที่เห็นในงานหนังของนนทรีย์นั้นเปรียบเสมือนการดูภาพนิ่ง  แตกต่างจากงานของจอห์นวู  ที่อาจจะใช้ภาพที่ตื่นตาตื่นใจคล้ายกัน  แต่การดูงานของจอห์นวูนั้นเปรียบเสมือนกับโชว์เต้นรำที่จะดูได้ตลอดเวลา  ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนดูว่าจะเป็นผู้ตัดสินอย่างไร

 

 

 

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*