รักแห่งสยาม , ทุกชีวิตเติบโตได้ด้วยความรัก

รักแห่งสยาม , ทุกชีวิตเติบโตได้ด้วยความรัก

 

หมายเหตุ : หากไม่ชอบหนังดราม่าอบอุ่นหัวใจ เห็นด้วยว่าหนังเรื่องนี้จะไม่เหมาะกับคุณ แต่นึกเสียดายที่หนังไทยเรื่องนี้จะถูกกระแสบอกต่อให้ความสำคัญเพียงแค่ว่า หนัง y หรือไม่ y ทั้งที่มันไม่ใช่ประเด็นหลักของหนัง และ จะทำให้หลายคนต้องพลาด หนังดราม่าครอบครัวชั้นดี กับ เรื่องราวการเติบโตของวัยรุ่น ที่มีประเด็นล่อแหลมของสังคม เหมือนที่เคยเล่าถึงไว้ก่อนหนังฉายที่ blog นี้ที่

รักแห่งสยาม (ไม่สปอยล์) , หนังไทยที่ผมฯชอบมากที่สุดของปี กับ การโปรโมทที่ “มันไม่ใช่อะ กิ๊บ มันไม่ใช่”
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aorta&month=17-11-2007&group=5&gblog=93

Spoilers alert : เนื้อหาถัดจากนี้เปิดเผยจุดสำคัญและเฉลยเรื่องราว

บางคนบอกไม่อยากมีรัก เพราะ ความรักทำให้ต้องผิดหวัง ต้องพบการสูญเสีย ต้องเจ็บปวด

จะรักไปเพื่ออะไร หากรู้ว่าสุดท้ายไม่สามารถสุขสมหวัง หากสุดท้ายก็ลงท้ายด้วยการแยกจากกัน

… เพลง’กันและกัน’ที่ประกอบหนังเรื่องนี้ มีเนื้อเพลงที่เขียนไว้วา เพลงรักนั้นคงเขียนขึ้นมาไม่ได้ ถ้าผู้แต่งไม่เคยมีความรัก เช่นเดียวกัน ถ้าคนเราไม่เคยได้รับความรักก็ยากยิ่งนักที่จะรักใครเป็น ถ้าเริ่มต้นมนุษย์ส่งแต่ความเกลียดชัง เราคงหมดสิ้นเผ่าพันธุ์มานานนับพันปี

มิใช่เพราะรักหรอกหรือ เราจึงยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ความรักที่พ่อแม่หรือปู่ย่ามีให้ ความรักที่พี่และน้ามอบให้ ความรักที่เพื่อนๆส่งมา ความรักที่เรามอบให้ตัวเองคอยดูแลตัวเองและมีชีวิตอยู่ต่อไป

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ทำให้หญิงชราคนหนึ่งยังมีกำลังใจใช้ชีวิตอยู่ แม้คู่ครองของตัวเองจากไปแสนนาน

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ สอนให้เด็กผู้ชายคนหนึ่งรับความรักจากคนเลี้ยงดูและมีพลังในการดำรงชีวิตอยู่ รู้จักที่จะรักคนอื่นและ ค้นพบท่วงทำนองจนออกมาเป็นบทเพลง

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ หญิงสาวคนหนึ่งไม่ทอดทิ้งคนรัก คอยดูแลแม้ถูกต่อว่า คอยหาอาหารมาแม้ถูกละเลย

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ ประสานครอบครัวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่แหลกสลายให้ยังคงความเป็นครอบครัวอยู่ได้

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ เยียวยาคนที่เจ็บปวดรวดร้าวสูญเสียให้กลับมาหยัดยืนมีชีวิตอีกครั้งได้ในท้ายที่สุด

มิใช่ความรักหรอกหรือ ที่ เด็กสาวคนหนึ่งที่สูญเสียพ่อแม่ไปแต่ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยไม่เสียผู้เสียคน

เพราะ ความรักมิได้จำกัดแค่แฟน คนรัก แต่มีทั้ง ความรักของแม่มีต่อพ่อ ความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก ความรักที่เพื่อนห่วงใยกัน ความรักที่เป็นความปรารถนาดีที่เรามีให้กับคนรู้จัก หรือ แม้กระทั่ง ความรักที่มีให้กับตัวเอง ฯลฯ

ดั่งเรื่องราวใน รักแห่งสยาม ที่ ความรัก ของหลายคนมิได้ลงเอยด้วยความสุขสมหวัง แถมทุกชีวิตในหนังล้วนเริ่มต้นจากการสูญเสีย แต่ ความรักที่แต่ละตัวละครมอบให้ต่อกันนั้นเป็นพลังที่ช่วยให้พวกเขายังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป

…เด็กสาวชื่อ จูน สูญเสียพ่อแม่ โดยไม่มีโอกาสได้บอกพวกเขาถึงเป้าหมายที่ตั้งใจว่าจะกลับไปทำให้พวกเขาภาคภูมิ

มิว สูญเสียอาม่า ความรักเพียงหนึ่งเดียวที่เขาสัมผัสได้ และ ต้องใช้ชีวิตต่อมาเพียงลำพัง

พ่อ สูญเสียลูกสาว กลายเป็นคนขี้เหล้า พร้อมแบกรับความรู้สึกผิดฝังใจ ในฐานะที่ตัวเองเป็นคนเอ่ยปากอนุญาตให้เข้าป่ากับเพื่อนๆ

แม่ สูญเสียลูกสาว ตามมาด้วยสูญเสียสามี เพราะ แม้เขาจะยังมีชีวิตแต่ใจที่แหลกสลายก็ทำลายความเป็นหัวหน้าครอบครัวลงสิ้น

โต้ง ลูกชายของบ้านนี้ก็ไม่ได้แค่สูญเสียพี่สาว แต่ยังสูญเสียพ่อ กับ แม่ที่ต้องแบกรับหน้าที่หนัก จนคล้ายกับเป็นลูกที่ไม่เหลือใครเพราะคนในบ้านหายใจเข้าออกอยู่กับคนที่จากไปแล้ว

…ภาวะโศกเศร้าจากการสูญเสียมีศัพท์เรียกว่า Grief และ หากความเศร้าโศกนั้นกินเวลายาวนาน หรือ ส่งผลให้คนที่มีชีวิตอยู่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจจนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เราเรียกว่า Pathological grief 

หลายครอบครัวที่ไม่อาจทำใจยอมรับการสูญเสีย คนที่มีชีวิตอยู่ก็ใช้ชีวิตเหมือนตายไปแล้ว เช่นเดียวกับ ครอบครัวของโต้ง ที่สูญเสียลูกไปหนึ่งคน แต่ ครอบครัว กลับเหมือนสูญเสียคนเป็นพ่อไปกับความรู้สึกผิด สูญเสียแม่ที่น่าจะมีเวลาดูแลลูกคนที่เหลือมากกว่านี้แต่กลับต้องไปดูแลพ่อและหาเลี้ยงชีพครอบครัว โต้ง จึงไม่ได้สูญเสียแค่พี่สาว เพราะในทางจิตวิทยาการเติบโตหลายปีที่ผ่านมา เขาสูญเสียพ่อกับแม่ไปพร้อมๆกัน

…การก้าวผ่านช่วงเวลาของความรวดร้าวนั้น จำเป็นต้องอาศัยยาวิเศษที่เรียกว่า “ความรัก”

เราไม่จำเป็นต้องทิ้งข้าวของคนที่จากไปให้หมดสิ้น เราไม่จำเป็นต้องคิดเสมือนว่าเราไม่เคยมีเขามาก่อนในชีวิต (เช่น บอกใครต่อใครว่าไม่เคยมีเขา , ทิ้งข้าวของที่เคยมีให้หมดสิ้น ฯลฯ) แต่ เราก็ไม่ควรที่จะใช้ชีวิตราวกับเขายังคงอยู่ในบ้าน เราไม่ควรที่จะลืมเลือนคนใกล้ตัวที่มีชีวิตอยู่เพราะหมกมุ่นกับคนที่เสียไป (เช่น ยังคงจัดโต๊ะอาหารเผื่อไว้ให้ , ปูเตียงไว้ทุกวัน ทั้งที่ใครคนนั้นจากไปแล้ว ฯลฯ)

ขอเพียงยังมีรักให้กัน

ช่วงเวลาแห่งความรวดร้าวนั้นจะค่อยๆผันผ่านไป เพราะกระบวนการสูญเสียนั้นก็มีกลไกเยียวยาในตัวเองอยู่แล้วที่เรียกว่า Mourning process แต่ครอบครัวของโต้งผ่านช่วงเวลานี้ไปไม่ได้ เพราะวิธีการหักดิบพยายามลบลูกสาวออกไปจากความทรงจำของแม่ กับ วิธีการหลอกตัวเองย้ำว่าลูกสาวยังคงอยู่และจะกลับมาของพ่อ คือ สองขั้วของการทำใจที่ยากจะกลับมาเป็นปกติ

แท้จริงไม่ใช่แค่พ่อที่อยู่ในภาวะ Pathological grief แม่เองที่พยายามลบทุกอย่างของแตงทิ้งไปก็อาจจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกันแต่แสดงออกต่างกัน

… บทหนังที่เริ่มต้นด้วย การหายไปของ แตง พี่สาวของบ้าน และ เริ่มปริศนาให้คนดูสงสัยด้วยการกลับเข้ามาของ จูน หญิงสาวหน้าตาเหมือนแตงราวกับถอดแบบออกมา แม้หนังจะไม่บอกบทสรุปว่า สุดท้ายแล้ว แตง คือ จูน หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นที่เราได้เห็นคือ

การมาของ จูน เหมือน ซานตาคลอสที่มามอบของขวัญวันคริสต์มาสให้กับครอบครัวที่เหมือนจะแตกสลายครอบครัวนี้ การมาของ จูน ทำให้พวกเขาได้หันมามอง ความรัก ที่พวกเขายังมีให้ต่อกัน เพียงแต่ พวกเขามองไม่เห็นเพราะถูกความเศร้าโศกนั้นบดบังไว้ การมาของจูน ช่วยประคองให้แต่ละฝ่ายค่อยๆยอมรับได้ว่า แตงจากไปแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่เหลือแตงไว้ในความทรงจำ

ภาพถ่ายของ พ่อแม่และโต้ง ถูกนำกลับมาอีกครั้งในฉากสุดท้าย จากเดิมที่แม่พยายามปฏิเสธมาตลอดว่า รูปนี้เขาไม่อยู่กับเราแล้ว ความจริงก็คือ แตงยังอยู่ในรูปนี้ เพียงแต่การที่ไม่มีแตงก็เพราะแตงเป็นคนขอถ่ายรูปนี้ด้วยตัวเอง อีกนัยหนึ่งคือ แม้แตงจะจากไป แต่ เขายังอยู่กับเราตลอดมา เพียงแต่อาศัยอยู่ในความทรงจำที่งดงาม

ขอเพียงยังหลงเหลือความรัก

ทุกชีวิตก็ยังสามารถเติบโตต่อไป

ดั่งเช่นฉากหนึ่งในหนังที่ถ่ายภาพ ผึ้งกำลังพยายามไต่ขึ้นมาจากแก้วน้ำหวานหลังจากที่มันเกือบจะจม ความพยายามของผึ้งตัวนั้นช่วยให้มันค่อยๆปีนขึ้นมาและมีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่ง

หากชีวิตของเราเป็นเหมือนผึ้ง ความรักก็คงเหมือนปีก ที่หากเราจะตกลงน้ำไปซักกี่ครั้ง จะล้มลุกคลุกคลานกี่หน หากยังมีปีก เราก็ยังมีโอกาสกลับไปโบยบิน

….นอกจาก การเติบโตผ่านช่วงเวลาวิกฤติแสนยาวนานของครอบครัวหนึ่งๆ หนังก็ยังพูดถึงอีกหนึ่งแกนการเติบโต ของ เด็กหนุ่มสองคนที่เรียนรู้ชีวิตไปพร้อมๆกัน

การแสวงหาอัตลักษณ์ หรือ ความเป็นตัวของตัวเอง การหาเพื่อน หาคู่รัก หาวิชาที่ชอบ หาอาชีพที่เหมาะสมหา ฯลฯ ล้วนเป็น ระยะที่วัยรุ่นทุกคนพบเจอและฟันฝ่ามันไปให้ได้ ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตวิทยาของอีริคสันส์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า ทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ จะมีจุดหมายที่เราต้องผ่านข้าม เพื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตช่วงถัดไป เช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ มิว และ โต้ง

แม้ภาวะความเป็นเพศที่สามยังไม่มีบทสรุปชี้ชัดฟันธงว่าเกิดจากเหตุใด แต่ หนึ่งในเหตุปัจจัยคือการเลี้ยงดูที่เด็กเติบโตมากับพ่อที่ล้มเหลวในความเป็นพ่อ เช่น พ่อที่นิยมใช้ความรุนแรง พ่อที่ทอดทิ้งไม่ใส่ใจ ปล่อยให้ครอบครัวมีแต่คนเลี้ยงที่เป็นเพศหญิงเป็นต้นแบบ เหมือนกับ มิวที่โตมาแต่กับอาม่า ส่วน โต้ง ก็ขาดความรักจากคนที่ทำหน้าที่เป็นพ่อเพราะพ่อเมาเหล้าหยำเป

แต่ นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กทุกคนที่เป็นเช่นนี้ มีสาเหตุมาจากพ่อ เพราะ ความเป็นเพศที่สามจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า มาจากเหตุใด แต่สิ่งหนึ่งที่ฟันธงบอกได้คือ สิ่งนี้ถูกกำหนดมา มิใช่ สิ่งที่พวกเขาจู่ๆก็เลือกอยากจะเป็น

….ความรู้สึกที่ มิว มีให้ โต้ง เป็น ปัญหาที่พ่อแม่และสังคมส่วนใหญ่ยังไม่สามารถยอมรับได้

พ่อแม่หลายคนไม่อยากให้ลูกเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นทอม เป็นดี้ และ เมื่อรู้ว่าลูกเป็น ก็ใจสลาย รับไม่ได้ จนลืมไปว่า คนที่อยู่ตรงหน้าคือ ลูกคนเดิม ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป

พ่อแม่และสังคม มักจะเคยชินกับการตัดสิน ว่า สิ่งที่เห็นตรงหน้า ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ โดยลืมไปว่า สังคมที่คอยพิพากษามีมามากพอแล้ว

พ่อแม่และสังคมส่วนหนึ่งยังขาดความเข้าใจว่า ความเป็นเพศที่สามไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเลือกเหมือนเลือกซื้อขนม แต่มันเป็นความเป็นตัวตนที่ถูกกำหนดผ่านปัจจัยมากมายไม่ว่าจะเป็นยีน ฮอร์โมน หรือ สิ่งแวดล้อม ผสมปนเปกำหนดมา

ดังนั้นการพิพากษานอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ช่วยให้พวกเขาเติบโต นอกจากรู้สึกผิดละอายและอยากหนีออกไปจากสังคมนั้นๆ

คงจะดีไม่น้อย หากเราจะลดสังคมการพิพากษา และ เพิ่มสังคมที่ยอมรับและเข้าใจ

…‘ยอมรับ’ ไม่ได้แปลว่า ต้องชอบหรือเห็นดีเห็นงาม ‘ยอมรับ’ ไม่ได้ทำให้คนเป็นตุ๊ดเป็นเกย์เป็นทอมเป็นดี้กันมากขึ้น เพราะคนที่จะเป็นอย่างไรก็เป็น คนที่ไม่เป็นอย่างไรก็ไม่เป็น

พ่อแม่ที่ยอมรับว่า ความเป็นเพศที่สาม เป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่อาจเปลี่ยนแปลง พ่อแม่เข้าใจลูกว่าสิ่งที่เขาเป็นก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในชีวิต โดยพ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องชอบ’ความเป็นตุ๊ดเป็นเกย์เป็นทอมเป็นดี้’ แต่ขอให้คงความรักและเข้าใจใน’ตัวลูก’เหมือนที่เคยมี

เพราะเมื่อใดก็ตามที่ คอยตัดสินคอยชี้นิ้วด่าว่า หรือ พยายามเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่เข้าใจ เมื่อนั้น ช่วงเวลาความรักก็หดหาย กลายเป็นการสร้างระยะห่าง ระหว่างลูกกับพ่อแม่ให้ไกลออกไป ลูกมีปัญหาก็ไม่เข้าหาพ่อแม่ แต่ไปหาเพื่อน ไปติดเกมส์ ไปหาเหล้าไปหายา ไปหาคนรัก ที่สามารถทำหน้าที่คนรับฟังคนเข้าใจ ในขณะที่ พ่อแม่หรือคนในสังคมคอยทำหน้าทีผู้พิพากษาและคนลงทัณฑ์

และ เมื่อไปหาทางออกที่ผิดๆ ถึงตอนนั้น พ่อแม่คิดอยากดึงลูกกลับมา บางทีก็สายเกินไป

…ต้องชมหนังเรื่องนี้ ที่จุดประเด็นที่แรง เพราะไม่ใช่แค่กรณี ชายรักชาย แต่ยังเกิดขึ้นในระดับชั้นมัธยม ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องชมคือ หนังสามารถทำหน้าที่ สะท้อน มิใช่ ส่งเสริม หนังถ่ายทอดความเข้าใจ มิใช่ การตัดสินถูก-ผิด

หนังหาทางคลี่คลายตอนจบได้ดีทีเดียว ทำให้นึกถึง วัยอลวน 4 ขึ้นมา เพราะ สองเรื่องนี้ก็มีแง่มุมครอบครัวที่ล่อแหลมต่อการวิพากษ์ และ สะท้อนถึง แต่ การคลี่คลายตอนท้ายของ ประเด็น อยู่ก่อนแต่ง ในวัยอลวน 4 รีบนำไปสู่บทสรุปเร็วเกินไป ไม่หนักแน่นพอ และ ทำให้หลายคนตีความได้ว่า หนังเห็นดีด้วย ทั้งที่เจตนาของหนังไม่ได้ส่อเช่นนั้น ในขณะที่ประเด็น เพศที่สาม ใน รักแห่งสยาม ไม่ได้เชียร์ให้ต้องแสดงฉายชัดความเป็นเพศที่สามให้โดดเด่น ในสภาพความเป็นจริงที่สังคมมิได้เปิดกว้าง แต่ก็ไม่ได้บอกให้ต้องมองพวกเขาเป็นตัวประหลาดที่น่ารังเกียจในสังคม

หนังเพียงถ่ายทอด ความรัก ที่มีอยู่จริงและเป็นสิ่งที่สังคมน่าจะหันมามองด้วยสายตาอคติให้น้อยลง และ ถ่ายทอด ความรักความเข้าใจ ของคนรอบข้าง ที่เราจะเห็นว่า แม้เพื่อนๆในวงดนตรีจะรู้ว่ามิวเป็นอย่างไร แต่ เพื่อนๆก็ยังรอและพร้อมจะมอบมิตรภาพให้กับเขาตลอดมา

แม้แม่จะรู้ว่าโต้งเป็นเช่นไร แต่ ท้ายที่สุดเธอก็เพียงแค่ บอกให้ลูกชายหา สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองตอนเลือกตุ๊กตา เพียงเท่านี้ โต้งก็สามารถรู้ได้เองว่าทางเลือกที่เหมาะสมในช่วงวัยนี้ เขาควรเลือกทางใด

แม้ในหนัง จะมีหลายชีวิตที่จบลงด้วยความผิดหวังเสียใจ แต่ ความรักที่เกิดขึ้นก็จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นและเดินไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว

เหมือนกับเราทุกๆคน ที่แม้จะผิดหวังจากความรัก เจ็บปวดผิดหวังเสียใจ แต่ ทุกๆวันเดือนปีที่ผ่านไปเราก็จะเติบโตมากขึ้น เราก็จะเข้มแข็งขึ้น และ รู้จักความรักมากกว่าเดิม

ซึ่งแน่นอนว่าย่อมดีเสียกว่า คนที่ไม่เคยพบความรักเลยในชีวิต

… ชื่อ มะเดี่ยว คือ ชื่อที่ทำให้ผมคาดหวังไว้กับหนังเรื่องนี้สูง เพราะผลงานกำกับ คนผีปีศาจ , 12 ,13 กับ งานเขียนบทในบอดี้ ศพ 19 เป็นผลงานที่แสดงถึง คุณภาพที่พอจะวางใจล่วงหน้าได้ว่า หนังที่ออกมาอาจไม่สุดยอดที่สุดแต่อย่างน้อยทุกเรื่องก็เกินเกณฑ์มาตรฐานของหนังไทยส่วนใหญ่

เพียงแต่งานที่ผ่านมาของมะเดี่ยว เป็น ผลงานที่แสดงออกชัดว่าถนัดในการใช้’ความคิด’เป็นหลัก ยังไม่ใช่หนังที่ต้องเน้น’ความรู้สึก ‘ ดังนั้น ผมจึงลุ้นว่า รักแห่งสยาม จะทำให้คนดู อิน กับเรื่องราวได้มากแค่ไหน แถมประเด็น ชายรักชาย เป็นประเด็นที่ทำให้หลายๆคนเกิดความรู้สึกกึ๋มกึ๋ยมานักต่อนัก มีน้อยเรื่อง ที่จะส่งต่อ ความรัก โดยตัดบริบทความเป็นเพศออกไปให้คนดูอิน เหมือน Brokeback Mountain (ที่จะว่าไปหลายคนก็กึ๋มกึ๋ยอยู่บ้างแต่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ)

และความคาดหวังตรงนี้ต้องเปลี่ยนเป็นคำชมเมื่อดูหนังจบ เพราะ หนังเรื่องนี้ส่งต่ออารมณ์มาให้คนดูผ่านการกำกับและการแสดงชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกร้าวรานใจของครอบครัว ความรู้สึกสับสนของตัวละคร ความรู้สึกอิ่มเอิบใจเมื่อมีรัก ความรู้สึกมีพลังเมื่อเกิดความหวัง ฯลฯ หนังทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แถม ส่วนของชายรักชายก็มิได้ทำให้คนดูต้องรู้สึก กึ๋มกึ๋ย แต่อย่างใด

รุ่นเดอะในหนัง โดยเฉพาะ สินจัย ที่ห่างหายจากหนังใหญ่แต่ไม่ได้ทิ้งฝีมือไปตามช่วงเวลา มอบการแสดงชั้นอ๋องที่แค่ดูสินจัยก็ถือว่าคุ้มค่าตั๋ว รุ่นกลางอย่าง พลอย เฌอมาลย์ก็เล่นเนียนตาเหลือเกิน ที่ต้องยกนิ้วให้ด้วยคือสองหนุ่มที่รับบทโต้งกับมิวที่ แม้จะดูขัดๆในตอนเริ่มต้น แต่พอดูไปเรื่อยทั้งสองคนสามารถตีบทของตัวเองได้ดีเล่นได้เป็นธรรมชาติ ที่ประทับใจอีกคนคือ น้องนักแสดงสาวที่รับบทหญิง ที่ดูงุ้งงิ้งแอบแบ๊วได้ใจ ชวนให้นึกว่า ทำไมสมัยเราเรียนมัธยมไม่เจอคนมาปิ๊งแบบนี้บ้างหว่า

หากจะมีอะไรที่รู้สึกขัดๆขึ้นมา ก็คงเป็น ฉากจูบจะๆของเด็กนักเรียนสองคน ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าแรงเกินไปและไม่จำเป็น ไม่ใช่แค่เพราะ ประเด็นชายรักชาย จะหมิ่นเหม่ต่ออคติแล้ว แต่เพราะตัวละครสองคนนี้ยังเป็นเพียงเด็กมัธยม แถมหน้าหนังที่โปรโมทออกแนว ซีซั่น เช้นจ์ ก็อาจทำให้มีเด็กตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปดูเพียงลำพัง หรือพ่อแม่ทียังไม่เข้าใจจะมองว่าหนังส่อไปในทางส่งเสริมจนมองข้ามประเด็นที่หนังถ่ายทอด และเสียดาย คนที่รับบทโดนัทที่เล่นแข็งไปหน่อยจนเด่นชัดกว่าคนอื่น แต่ก็พออาศัยความหน้าหวานผ่านไปได้

…หนังเปิดเรื่องอย่างนุ่มนวลไม่รีบร้อน ใช้เวลาอยู่นานก่อนที่ไตเติ้ลหนังจะขึ้น เป็น การเปิดเรื่องราวที่ไม่หวือหวาแต่สามารถบอกทิศทางที่หนังจะไปให้คนดูได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ช่วงเวลากว่าสองชั่วโมงครึ่งไม่ทำให้ผมรู้สึกเบื่อแม้แต่น้อยนิด ช่วงแรกออกจะอึดอัดใจลุ้นว่าหนังจะคลี่คลายปมความรักของสองหนุ่มอย่างไร และ จะเฉลยที่มาของตัวละครพลอย เฌอมาลย์อย่างไร

เมื่อหนังจบก็อยากจะปรบมือให้สำหรับการหาทางออกให้กับหนัง เป็นอีกเรื่องที่หนังจบแต่ความรู้สึกของเราจะไม่จบตาม ตัวละครเหล่านั้นยังคงมีชีวิตกับเราต่อไป ทำให้เรามั่นใจว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เพราะ ในวันที่ล้ม วันที่ผิดหวัง พวกเขา ก็ยัง มี ความรัก อยู่กับตัวต่อไป

สรุป … แม้จะมีตัวอย่างชวนให้คิดถึงหนังแนวกระโปรงบานขาสั้นแต่นี่ไม่ใช่หนังรักกุ๊กกิ๊กคิกขุ และ การที่มีฉากความรักของเพศเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าหนังจะเป็นหนังเกย์หรือหนัง y แต่ รักแห่งสยาม คือหนังไทยดีๆ ที่ผสมผสานความเป็นหนังครอบครัวกับหนังแนว coming of age ได้อย่างลงตัว เล่าเรื่องสองแกนระหว่าง การเติบโตและค้นหาตัวเองของวัยรุ่น ไปพร้อมๆกับ การเติบโตของครอบครัวที่เกือบล่มสลายหลังการสูญเสีย โดยมี ความรัก เป็นตัวเชื่อมโยงหนังสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน

และนั่นก็ทำให้ ผมเลื่อน รักแห่งสยาม แซงหน้า พลอย กับ ไชยา ไปอยู่ที่แท่น หนังไทยที่ชอบที่สุดของปีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ป.ล. เพลง กันและกัน ของฟลัวร์ ฟังก่อนหนังเข้าเท่าไหร่ก็ไม่อิน แต่ตอนอยู่ในหนัง ช่างบรรจงหาจังหวะหยอดมาก เพราะ ดูหนังจบต้องรีบหาซีดีมาเปิดฟังพร้อมมีภาพในหนังมาอยู่ตาม

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*