การเติบโตของหนูน้อยมหัศจรรย์

การเติบโตของหนูน้อยมหัศจรรย์

เจตนา  นาควัชระ

          ภาษาเยอรมันมีคำว่า “Wunderkind” แปลว่า เด็กน้อยที่ทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจได้  วงการดนตรีอาจจะได้พบกับหนูน้อยมหัศจรรย์ได้มากกว่าวงการอื่น  จิตรกรอายุยังไม่ถึง 10 ปี หรือนักประพันธ์ที่อายุระดับนั้นผู้สามารถสร้างงานที่ทัดเทียมกับผู้ใหญ่ฝีมือดีน่าจะหายาก  ปัญหาของ Wunderkinder (เติม –er ให้เป็นพหูพจน์)  ก็คือ เมื่อเขาเติบโตขึ้นแล้ว  เขาจะสร้างวุฒิภาวะทางศิลปะที่เหมาะกับอายุที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ Itzhak Perlman นักไวโอลินเอกของโลกบอกว่า  เมื่อเขาออกแสดงทางโทรทัศน์และประสบความสำเร็จสูงมากเมื่ออายุ 9 ขวบนั้น เขาขอยืนยันด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า “ผมก็เล่นเท่าที่เด็ก 9 ขวบจะทำได้”  และเขากล่าวต่อไปว่าในประวัติการดนตรี  หนูน้อยมหัศจรรย์ที่อายุ 10 กว่าปีที่มีวุฒิภาวะสูงเท่าผู้ใหญ่มีอยู่เพียงคนเดียว นั่นคือ Yehudi Menuhin (ซึ่งครูของ Menuhin เอง คือ Georges Enesco และ Adolf Busch ก็ยืนยันว่าไม่เคยพบศิษย์รุ่นเยาว์ที่มีความสามารถเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต)  และเมื่อ Menuhin ออกแสดงที่กรุงเบอร์ลินเมื่ออายุ 13 ปี  Albert Einstein ได้ไปฟังเขาเล่น  แล้วอุทานออกมาว่า “ผมเชื่อแล้วว่ามีพระเจ้าอยู่ในสรวงสวรรค์จริง”  แต่ Menuhin เองก็มีปัญหาในการรักษาคุณภาพของเขาไว้  เมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้น  โดยที่เขายอมสารภาพว่า เขาเล่นงานยากๆ ได้ในตอนเด็ก  ทั้งๆ ที่ได้ฝึกทำแบบฝึกหัดพื้นฐานมาน้อยมาก  อัจฉริยภาพที่ปราศจากหลักวิชาก็มีปัญหาเช่นกัน

ผมตั้งใจอารัมภบทเสียยืดยาวก่อนที่จะกล่าวถึงการแสดงของ พิชญาภา  เหลืองทวีกิจ (หรือน้องเมย์) เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2562  เพราะผมได้ฟังเธอครั้งแรกเมื่อเธอขึ้นประกวดรางวัลเบโธเฟนของสถาบัน
เกอเธ่หลายปีมาแล้ว  และก็ได้ชมวิเดโอการแสดง “Symphonie espagnole” ของ Lalo กับ Thailand Philharmonic Orchestra  (TPO) เมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว  โดยต้องยอมรับว่าเธอเล่นคีตนิพนธ์ประเภท “ไฟแลบ” ได้อย่างน่าทึ่ง  สิ่งที่ผมคิดเอาไว้ในใจก็คือ  ถ้าผู้ใหญ่สนับสนุนให้เธอไฟแลบต่อไปนานๆ  ในที่สุดเธออาจจะกลายเป็นนักดนตรีที่ไปในทางลึกไม่ได้  ผมดีใจมากที่ได้ทราบว่าเธอได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” (ผมแปลไม่ผิดแน่  เพราะชื่อเยอรมันคือ “Universität der Künste”) แห่งกรุงเบอร์ลิน  และได้มีโอกาสพบเธอในระยะต่อมา  อีกทั้งได้รับทราบว่าครูของเธอจับเธอมา “นวด” ด้วย chamber music  ผมว่าเธอคงจะมีทางปรับ “ไฟแลบ” ให้เป็น “ไฟเย็น” ได้  การแสดงเมื่อวันที่ 16  มีนาคม ทำให้ผมมีความหวัง

ผมขออนุญาตไม่พรรณนาการแสดงของเธอตามลำดับก่อนหลัง  คงเป็นความจงใจของเธอที่เก็บดนตรีประเภท “ไฟแลบ” เอาไว้สุดท้าย นั่นคือ “Polonaise in D major” ของ Wieniawski  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคนิคของเธอไม่มีปัญหาเลย  และเธอก็จับสไตล์ของเพลงได้อย่างดียิ่ง  เป็นการจบรายการที่ชวนให้ผู้ฟังต้องตื่นเต้นตามเธอไป  แต่คีตนิพนธ์ที่ช่วยให้ผู้ฟังต้องขบคิดว่าเธอยืนอยู่ตรงไหน ณ ขณะนี้ ก็คือ “Méditation”  จากอุปรากรเรื่อง “Thaïs” ของ Jules Massanet เพลงนี้เป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักกันดี  และนักไวโอลินอาชีพหลายคนนำมาใช้เป็นเครื่องสื่อฝีมือไวโอลินของตนด้วยการ “ทึ้ง” มันเสียจนหมดรูป  โดยลืมไปว่า  ผู้แต่งเขากำหนดเอาไว้ว่า “ช้าอย่างมีนัยทางศาสนา” (Andante religioso)  ลองไปฟังสาวงามชาวเยอรมัน Anne-Sophie Mutter เล่นดูบ้าง  แล้วจะเห็นได้เลยว่า  เธอยังทิ้งความเป็น “รถถังประจัญบาน” แต่ดั้งเดิมของเธอไม่ได้  น้องเมย์ของเรามาแบบ “นิ่ง” ซึ่งถ้าพัฒนาต่อไปก็คงจะกลายเป็น “นิ้ง” ได้  ผมฟังแล้วรู้สึกว่าเธอโชคดีที่ “ได้รับการศึกษาที่ดี” มา  โดยเข้าใจดีว่าเพลงแบบไหนต้องเล่นอย่างไร

คีตนิพนธ์ที่ทำให้ผมมีความหวังมากๆ กับเธอก็คือ “Sonata for Violin and Piano in A major” ของ Gabriel Fauré  อันเป็นงานที่แสดงอารมณ์อันหลากหลาย  การผันทำนองโดยเปลี่ยนบันไดเสียงไปเรื่อยๆ ในกระบวนที่ 1 สร้างความแปลกใหม่ให้กับงาน  และถ้านักไวโอลินเสียสมาธิก็จะเล่นเพี้ยนได้ง่ายมาก ซึ่งน้องเมย์ทำได้ดี  ไม่หลงทางเลย  เสียงไวโอลินของเธอหลากหลาย  สนองความต้องการของงานได้เป็นอย่างดี  ซอของเธอก้องกังวานในกระบวนที่ 2 ที่ซาบซึ้ง  จะมีปัญหาบ้างก็แต่ในกระบวนที่ 3 ซึ่งอาจจะสะดุดบ้างเล็กน้อยเป็นบางตอน  และในท่อนจบเธอก็ใช้โอกาสแสดงฝีมือได้อย่างงดงาม  โดยไม่หลงเสน่ห์ของความสามารถทางไวโอลินของเธอเองจนเกินไป  ผมยอมรับว่าการแสดงของเธอมิใช่เป็นการเล่นไปตามโน้ตที่ผู้แต่งบันทึกไว้  แต่เป็น “การตีความ” (interpretation)  ที่มีลักษณะเป็นของตัวเอง  เธอฉายแววแล้วว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้อีกไกล

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเธอได้นักเปียโนที่มีความสามารถสูงมาแสดงร่วมกับเธอ  ผมเพิ่งได้ฟัง  มรกต  เชิดชูงาม  เล่นเปียโนเป็นครั้งแรก  และก็อดที่จะชื่นชมไม่ได้ว่า  นี่คือ นักเปียโนที่จะช่วย “อุ้ม” นักแสดงเดี่ยวทั้งหลายได้อย่างดีมาก  เขาไม่ได้มาเล่นเปียโน  เขาไม่ได้มาทำหน้าที่ “คลอ” เฉยๆ เขาพยายามเข้าใจ
คีตนิพนธ์โดยองค์รวม  และมาแสดงร่วมกับไวโอลินในสถานะที่เสมอกัน  แม้ว่าการแสดงของเขาจะไม่มีแววใดๆ เลยว่าต้องการจะแย่งความเด่นไปจากไวโอลิน  หลังการแสดงผมรีบเข้าไปแสดงความยินดีกับนักเปียโนประเภท “Made in Thailand”  ผู้นี้  ความเข้าใจในทางดนตรีของเขาสูงมาก  ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลย  เพราะเขาเป็นคีตกวีด้วย  ผมคงจะเฝ้าติดตามหนุ่มคนนี้ต่อไป

น้องเมย์เลือกคีตนิพนธ์มาบรรเลงที่เป็นการตั้งโจทย์ที่ยากยิ่งให้แก่ตนเองด้วยการนำเอา “Chalonne” from “Partita No. 2” ของ Bach มาไว้เป็นเพลงลำดับที่ 2  นี่มันภูเขาเอเวเรสต์สำหรับนักไวโอลินทุกคนที่จะต้องพยายามพิชิตให้ได้ และครูไวโอลินส่วนใหญ่จะให้ “เพลงครู” บทนี้ก็ต่อเมื่อศิษย์ของตัวพร้อมแล้ว (Menuhin เล่าว่า เมื่อเขาไปเรียนกับ Enesco ที่บ้านของท่านที่ Bucharest ท่านให้พ่อหนูเล่นเพลงนี้ไปเที่ยวหนึ่ง  ซึ่งพ่อหนูก็แทบจะหมดแรงอยู่แล้ว แต่ครูรู้ดีว่าศิษย์ของตนไปได้ไกลกว่านั้น  ก็เลยให้เล่นเป็นครั้งที่ 2 ต่อกันไป)  ความยากของงานชิ้นนี้คงมิได้อยู่ที่เทคนิคเท่านั้น  แต่เป็นเรื่องของการแสวงหามโนทัศน์โดยองค์รวมและเอกภาพของงานให้ได้  น้องเมย์ทำได้ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้  แต่เธอยังมีเวลาอีกมากที่จะเติบโตไปพร้อมกับงานชิ้นนี้  ถ้าเธอพยายามต่อไป  และมีสมาธิเป็นเลิศ  เธอคงจะกล้าแข่งกับ Isabelle Faust ที่แสดงงานสำหรับเดี่ยวไวโอลินทั้งหมดของ Bach ในเย็นวันเดียวกัน (ซึ่งผมได้ฟังที่เมือง Ludwigsberg เมื่อหลายปีมาแล้ว) และก็ต้องยอมรับว่ารายการมาราธอนดังกล่าว เป็นการอวดสมาธิทางดนตรีและความสามารถในการตีความมากกว่าอวดฝีมือไวโอลิน

น้องเมย์มาถูกทางแล้วที่ได้ตัดสินใจไปเรียนที่เยอรมนี  เพราะที่นั่นมิใช่ที่ที่มุ่งสร้างจอมพลังสายฟ้าแลบ  แต่เป็นที่ฝึกนักดนตรี และความเป็นดนตรี  เธอก้าวไปไกลแล้วในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา  และก็มีแววว่าจะก้าวต่อไปได้เรื่อยๆ  chamber music เป็นฐานที่แน่นที่สุดของนักดนตรีทุกคน  ไม่ว่าจะพัฒนาไปสู่การแสดงเดี่ยว   หรือการเป็นนักดนตรีในวงซิมโฟนี  เธอดูจะเข้ากับแนวทางของเยอรมันได้  และเมื่อผมได้สนทนากับเธอหลังการแสดง  เธอก็ตั้งใจว่าจะกลับบ้านมาสอนนักดนตรีไทยให้พัฒนาฝีมือขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว  ทั้งประเทศไทยอาจมีครูไวโอลินที่ “ครบเครื่อง” อยู่เพียงคนเดียว!  (ไม่ต้องเอ่ยชื่อท่านว่าเป็นใคร  ก็รู้กันดีอยู่แล้ว)  ขณะนี้จำนวนได้เพิ่มขึ้นมากแล้ว  แต่ก็ยังไม่อาจทาบกับวงการเครื่องเป่าได้  เมื่อน้องเมย์กลับบ้านเป็นการถาวร  เธอคงจะช่วยให้นักดนตรีของเรากระทบบ่ากับชาติในเอเชียอื่นๆ ได้บ้าง  เธอคือความหวังของวงการอย่างแน่นอน

One comment

  • ภีมภาส เทวะประทีป

    เป็นเรื่องราวแสนอัศจรรย์เมื่อได้อ่านไปแล้วทั้งหมดรู้สึกทึ่งจริงๆและขอแสดงความยินดีอย่างสุดซึ้ง.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*