ด้วยใจปรารถนาของผู้เล่น – สมใจปรารถนาของผู้ฟัง: คอนเสิร์ตดนตรีเชมเบอร์ของสถาบันคารายานแห่งกรุงเบอร์ลิน

ด้วยใจปรารถนาของผู้เล่น – สมใจปรารถนาของผู้ฟัง:

คอนเสิร์ตดนตรีเชมเบอร์ของสถาบันคารายานแห่งกรุงเบอร์ลิน

เจตนา  นาควัชระ

 

มาเบอร์ลินคราวนี้ในช่วงสั้นมากเพียง  1  สัปดาห์ (19-25 มิถุนายน 2561)  และต้องเข้าประชุมวิชาการมาราธอนแบบเช้า – บ่าย – เย็น  (ซึ่งโดยปกติผมไม่รังเกียจ  ถ้าได้ความรู้และปัญญา  แต่คราวนี้ไม่ได้)  โชคดีที่ก่อนประชุม  1  วันไปพบรายการคอนเสิร์ตประเภทให้ฟังฟรี  ซึ่งหาได้ยากในเยอรมนี  เป็นรายการแสดงของสถาบันดนตรีคารายาน  (Karajan-Akademie)  ซึ่งวาทยกรผู้ทรงบารมี Herbert von Karajan (1908-1989) ที่ล่วงลับไปแล้วตั้งขึ้น  เพื่อเฟ้นหานักดนตรีรุ่นเยาว์ที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาเรียนเครื่องดนตรีกับนักดนตรีของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก  ซึ่งก็เป็นนักดนตรีชั้นครูทั้งนั้น

          อาจจะต้องของอนุญาตเอ่ยถึง  Kalajan-Akademie  สักเล็กน้อยก่อนวิจารณ์การแสดง  ในปี 1972 
คารายานเริ่มโครงการที่จะหานักดนตรีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่นักดนตรีรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณไป  แต่วาทยกรรุ่นเก่ามักจะคิดถึงการสร้างวงดนตรีจากกลุ่มนักดนตรีที่ได้รับการฝึกฝนมาในแนวที่คล้ายคลึงกัน  อันจะทำให้วงดนตรีมีเอกภาพ (วง Vienna Philharmonic  ยังรับนักดนตรีที่จบจากเวียนนาเป็นส่วนใหญ่  บางช่วงในอดีตกลุ่มเครื่องสายเกือบจะเป็นศิษย์ครูเดียวกันทั้งหมด)  Karajan  เองใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีปรับวง Berlin Philharmonic ให้มีเสียงและวิธีการเล่นที่มีอัตลักษณ์  (มีผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวเป็นทำนองขบขันว่า  เขาปรับเสียงของวงไว้เพื่อกิจหนึ่งโดยเฉพาะ คือการอัดเสียง  ขณะนี้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่  วิศวกรอัดเสียงแก่งกาจเสียจนทำให้วง Berlin Philharmonic ทำเสียงได้เหมือนๆ กันในทุกๆ เพลง  โปรดลองฟังทาง Digital Concerthall)  นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาใน Karaja-Akademie ในปัจจุบันได้รับโอกาสดีมาก  เพราะได้แทรกตัวเข้าไปในการบรรเลงจริงเป็นครั้งคราว  หลักการของสถาบันฯ  ชัดเจนว่า จะผลิตนักดนตรีชั้นเลิศสำหรับวงดนตรีซิมโฟนี   ไม่ใช่เรื่องของฝีมือในการเล่นดนตรีเท่านั้น  แต่รวมไปถึงการฝึกฟังซึ่งกันและกัน และการร่วมแสวงหาเอกภาพในการแสดงตามที่วาทยกรต้องการ  เกี่ยวกับเรื่องของผู้เล่นดนตรีด้วยกัน  ร่วมกัน และฟังกันนั้น  Lord Yehudi Menuhin ยืนยันว่าไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการเล่น chamber music  ท่านจึงตั้งโรงเรียนขึ้นมา  โดยรับนักเรียนจำนวนเท่าที่จะรวมเป็นวงเชมเบอร์ได้   นั่นคือ International Menuhin Music Academy  (IMMA)  ในสวิตเซอร์แลนด์  (มี่นักเรียนไทยได้เป็นนักเรียนที่นั่นมาแล้ว  2  คน)  ผู้ที่จบจากหลักสูตร  3  ปีที่นั่น  จะไปเล่นดนตรีในแบบใดก็ได้  เพราะท่านลอร์ดเชื่อว่าการเตรียมตัวนักดนตรีอาชีพด้วยการเล่นเชมเบอร์เป็นวิธีการที่ดีที่สุด  สำหรับ Karajan-Akademie นั้น  ศิษย์เก่าเข้ามาเป็นนักดนตรีในวง Berlin Philharmonic  เป็นจำนวนถึงเศษหนึ่งส่วนสาม  ในขณะนี้  (ซึ่งน้อยกว่าวง Vienna Philharmonic อย่างแน่นอน)  ที่เหลือไปเป็นนักดนตรีในวงต่างๆ ซึ่งเขาเอ่ยถึงวงดนตรีชั้นนำของยุโรปไว้ด้วย  เช่น  วง London Symphony Orchestra และวง Concertgebouw Orchestra  แห่ง Amsterdam (ผมก็คงจะต้องขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ถ้าสถาบันฯ มีสิทธิ์ที่จะดีใจที่ลูกศิษย์ติดเข้าไปในวง Concertgebouw ได้  แต่เขาลืมไปว่าศิษย์ของเขาต้องไปอยู่ในอาณัติของศิษย์เก่าสถาบัน IMMA  ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าวง [Concertmaster] อยู่ในปัจจุบัน)  แล้วเราจะสรุปว่าวิธีการเรียนการสอนอย่างไหนดีกว่ากันได้ละหรือ

          ขอกลับเข้าเรื่องคอนเสิร์ตที่เบอร์ลิน  เขาตั้งชื่อรายการแสดงชุดนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า  Carte blanche-Konzert  คำว่า “carte blanche” แปลตรงตัวว่าเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา  รายการในวันที่ 20 มิถุนายน  2018  จึงไม่ประกาศล่วงหน้าว่าจะแสดงคีตนิพนธ์บทใดของใคร  ให้เป็นไปตามใจปรารถนาของนักดนตรีก็แล้วกัน  สำหรับคนฟังนั้นเดินเข้ามาในสถานที่แสดงได้เลยตามใจปรารถนาอีกเช่นกัน  (สถานที่แสดงดนตรีประเภท chamber ของโรง Philharmonie  แห่งกรุงเบอร์ลินเกือบเต็มในครั้งนี้)  นักฟังที่แท้จริงคงไม่มุ่งที่จะฟังเฉพาะแต่ผู้ที่มีชื่อเสียงแล้วเท่านั้น  แต่คงจะสนใจศิลปินที่ฉายแววว่าจะเติบโตได้ต่อไปในทางดนตรีในอนาคต

            รายการเริ่มต้นด้วย Concerto for Oboe und Small Orchestra (ค.ศ. 1955) (ฉบับเรียบเรียงใหม่สำหรับโอโบและเปียโน) ของคีตกวีชาวเชค  Bohuslav Martinu (1890-1959)  นักโอโบสาว Doga Sacilik  คงได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในด้านการสร้างเสียงที่ดัง  ชัดเจน  และไพเราะ  เธอลากวลียาวๆ ได้อย่างน่าฟัง  โดยเฉพาะโน้ตสูงๆ นั้น  ผู้แสดงเดี่ยวเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ  แต่ก็อีกนั่นแหละ  ครูของเธอเตรียมเธอไว้ให้เล่นวงใหญ่ในหอประชุม  หรือห้องแสดงขนาดใหญ่  เช่น โรง Philharmonie ที่เบอร์ลิน ซึ่งเธอย่อมจะทำได้ดี  ผมหลับตาเห็นเธอเล่นเดี่ยวโอโบในกระบวนที่ 2 ของ Violin Concerto  ของ  Brahms  แล้วก็ช่วยฝันถึงอนาคตของเธอไปด้วย  แค่คีตนิพนธ์ของ Martinu ต้องการความแตกต่างของเสียง (differentiation)  มาก  ซึ่งเธอไม่ค่อยจะสนใจ  นอกจากนั้น  บทเปียโนที่เรียบเรียงมาจากวงเชมเบอร์ก็ปราศจากสีสัน  ไม่น่าสนใจเอาเลย  ทำให้นักเปียโน Anna Kirichenko  ไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ  ถ้าได้ฟังต้นฉบับต้นแบบที่ใช้วงดนตรีคงจะน่าสนใจกว่านี้

          จุดเด่นของรายการคือ  การเดี่ยวไวโอลินโดยสาวน้อย Johanna  Schreiber  ในคีตนิพนธ์ที่จัดได้ว่าเป็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในบรรดาเพลงสำหรับไวโอลิน คือ Chaconne จาก Partita in D Minor (1720)  ของ Bach  ซึ่งพวกนักไวโอลินไฟแลบทั้งหลายในยุคหลังมาทำให้เพลงไว้อวดฝีมือ  ความจริงถ้าจะวัดเพลงนี้กันจริงๆ แล้วละก็  เป็นเรื่องของการตีความมากกว่า  ว่าจะเข้าถึงส่วนลึกทางอารมณ์ได้อย่างไรหรือไม่  ซึ่งเมื่อมีผู้ไปวิจัยงานของ Bach แล้วพบว่าส่วนลึกของ Chaconne นี้คือคีตนิพนธ์ทางศาสนาซึ่งรับแรงกระตุ้นจากมรณกรรมของศรีภรรยาของท่าน Bach เอง  นักดนตรีจำนวนหนึ่งไม่ใส่ใจในเรื่องนี้  แต่แม่หนูน้อย (หรือครูของเธอ) ต้องให้ความสนใจกับประเด็นนี้อย่างแน่นอน  เธอเริ่มต้นโดยเน้นลักษณะทาง lyrical  ของเพลง  และค่อยๆ แสวงหาความรู้สึกส่วนลึกที่คลี่คลายออกมาทีละน้อยๆ  ยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจอารมณ์ของเพลงว่ามันโศกเกินกว่าที่จะเศร้า  คือโศกเสียจนนิ่ง  เมื่อเธอเล่นจบผู้ฟังอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง  แล้วจึงปรบมือให้เธออย่างกึกก้อง  เรียกเธอกลับมาบนเวทีอีกหลายครั้ง  ถ้าผมมีอะไรจะเสนอเธอ  ผมก็คงจะบอกเธอว่า “หนูอย่าไปจมอยู่กับวงดนตรีขี้แอ๊กวงนี้เลย  ออกไปสู่โลกอันกว้างขวางดีกว่า  หาทางเล่มเชมเบอร์ หรือเล่นโซโล่ไปเลย  เพราะหนูมีบุคลิกภาพทางดนตรี และมีความสามารถในการตีความที่ไม่ธรรมดา”  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ในระยะแรก  วงการดนตรีเยอรมันไม่สามารถสร้างนักไวโอลินระดับแนวหน้าได้เลย   ประกวดกันที่ไหนก็พวกรัสเซียเอาไปกินหมด  ต่อมาก็พวกเอเชียตะวันออก  แต่ในช่วง 30 ปีหลังนี้  ตั้งแต่คุณเธอ  Anne-Sophie Mutter  พุ่งขึ้นมา  เยอรมันก็สามารถสร้างนักไวโอลินระดับโลกได้นับไม่ถ้วน  และก็เป็นสุภาพสตรีเสียเป็นส่วนใหญ่  ผมไม่อยากจะเป็นอะแซหวุ่นกี้ให้คำทำนาย  เพราะนักดนตรีจะรุ่งหรือโด่งดังหรือไม่ในขณะนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ไม่ใช่ดนตรีเสียก็มาก 

          คีตนิพนธ์ลำดับที่ 3  ที่เป็นการเรียบเรียงใหม่เช่นกัน  แต่เป็นผลงานของคีตกวีเอก คือ เพลงร้องชื่อ “Trockene Blumen” (Dry Flower)  จากเพลงร้องชุด  Die schöne Müllerin  ของ Franz Schubert   โดยใช้ชื่อว่า “Introduction and Variations for Flute and Piano”  ผู้เล่นฟลุ๊ตคือ Zofia Neugebauer  โดยมี Dominic Chamot เป็นผู้เล่นเปียโน

          เป็นที่รู้กันว่า  เพลงนี้เป็นเพลงลาจาก  แต่ในขณะเดียวกันในตอนจบ  คีตกวีก็ยังให้อารมณ์แห่งความหวังเอาไว้บ้างตามกวีนิพนธ์ต้นฉบับว่า “เดือนพฤษภาฯ มาถึง  ฤดูหนาวก็สิ้นสุดลงแล้ว”  แต่แก่นของเพลงก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของความตาย  ถ้าต้นเรื่องเป็นเช่นนี้  การสร้าง variations ขึ้นมาต้องเป็นงานที่ท้าทายทีเดียว  ซึ่งไม่มีวันที่จะเกินความสามารถของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่  ประเด็นที่พึงสังเกตก็คือ  การเรียกร้องทางเทคนิคของผู้แสดงอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก  โดยเฉพาะบทของเปียโนนั้น  ไม่ใช่เพียงการเล่นคลอฟลุ้ตอย่างแน่นอน  เมื่อไปค้นที่มาของเพลง  จึงได้ความว่า Schubert แต่งให้เพื่อน  2  คน  ซึ่งทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์ด้านดนตรีที่อยู่ Conservatoire แห่งกรุงเวียนนา  นักดนตรีจาก Karajan-Akademie ได้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ด้วยการโชว์เทคนิคชั้นสูง  และการตีความอารมณ์อันลึกซึ้ง  เพลงนี้ไม่ค่อยจะมีผู้เล่นบ่อยครั้งนัก  เพราะยากมาก  และการสร้างความสมดุลระหว่างเครื่องดนตรีทั้งสองก็มิใช่ง่ายเช่นกัน  ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าผู้เล่นเปียโนไม่ยอม “ปล่อยของ”  อย่างเต็มที่  เพราะกลัวจะกลบเสียงฟลุ้ต  ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะตามประวัติของเพลงระบุไว้ว่า  ท่านศาสตราจารย์ด้านเปียโนขอร้องให้ Schubert เขียนบทเปียโนให้เขาได้แสดงความเก่งกาจ (virtuosity)  อย่างเต็มที่  นักเรียนดนตรีสมัยนี้เขาไม่ขยาดของยากกันแล้ว  น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

          คีตกวีเจ้าของงานลำดับที่ 4  เป็นชาวญี่ปุ่น  คือ Toru Takemitsu เป็นผู้ที่ยกย่องดนตรีฝรั่งเศสมาก  โดยเฉพาะงานของ Claude Debussy และ Olivier Messiaen คีตนิพนธ์ที่นักศึกษาของ Karajan-Akademie นำเสนอในครั้งนี้คือ A String Around Autumn (1989)  ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อออกแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ Autumn Festival ที่กรุงปารีส  ในวาระครบ 200 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1989 เป็นผลงานสำหรับวิโอลากับวงซิมโฟนี  ซึ่งการแสดงที่เบอร์ลินใช้ฉบับที่เรียบเรียงสำหรับวิโอลาและเปียโน  กวีนิพนธ์อันเป็นฐานของคีตนิพนธ์บทนี้เรียบง่ายและลึกซึ้งตามแนวของญี่ปุ่น  มีความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sink / Don’t sing. / be simply / Silent. / Be Simple: / A String / To wind around / Autumn”  เราคงจะอดคิดถึงความสงบของสวนญี่ปุ่นไม่ได้  แต่ก็เป็นความสงบที่มนุษย์สร้างขึ้น  การเอาเส้นใยไปล้อมฤดูใบไม้ร่วงเอาไว้ช่างเป็นภาพพจน์ที่ละเมียดจริงๆ นักดนตรีทั้ง 2 คนเป็นชาวญี่ปุ่น  คือ  Kei Tojo (Viola)  และ Tomoko Takahashi (Piano)  ทั้งสองจับความรู้สึกของคีตกวีได้เป็นอย่างดี  เล่นได้นิ่งมาก  แต่ผู้ฟังอย่างผมที่ไม้คุ้นกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น  แม้จะมีการแสดงออกด้วยเครื่องดนตรีตะวันออกและรูปแบบของดนตรีตะวันตก  แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า  นี่คือลักษณะ นิ่ง แต่ยังไม่นิ้ง  ทั้งๆ ที่ในด้านเทคนิคไม่มีอะไรที่จะติเธอทั้งสองได้เลย

คีตนิพนธ์ลำดับที่ 5  อันเป็นลำดับสุดท้าย  เป็นผลงานของคีตกวีชาวอิตาเลียน Luciano Berio  (1925-2003)  ในชื่อ  ‘Naturale’ for Viola, Percussion and Recorded Voice (1985)  คำว่า “naturale” ใช้เป็นศัพท์ทางดนตรีในความหมายที่ว่า  “เล่นให้เป็นธรรมชาติ”  สำหรับเสียงเพลงที่อัดไว้ล่วงหน้านั้น  เป็นเพลงพื้นเมืองของเกาะ Sicily ขับร้องโดยนักร้องพื้นเมืองชื่อ  Celano  ซึ่งเป็นผู้ที่  Berio  ยกย่องมาก  เขาเป็นคีตกวีหัวก้าวหน้า (Avant-garde)  ที่มีความสนใจอันลึกซึ้งต่อดนตรีและเพลงพื้นเมือง  ลักษณะดั้งเดิมของเพลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับการเต้นรำแบบชาวบ้าน  และ Berio ก็ยังนำลักษณะดังกล่าวมาใช้ในคีตนิพนธ์บทนี้   การใช้
วิโอลาเป็นเครื่องดนตรีนำคงเป็นด้วยมิตรภาพที่คีตกวีมีต่อนักวิโอลาแนวหน้าของ Sicily คือ Aldo Bennici

ที่ผมให้ข้อมูลเป็นภูมิหลังมานี้ก็เพื่อต้องการจะอธิบายว่า  เราไม่จำเป็นจะต้องขยาดกับดนตรีสมัยใหม่เสมอไป  คีตนิพนธ์บทนี้ฟังแล้วสนุกสนาน   เรายิ่งสนุกสนานตามไป  เมื่อได้เห็นการแสดงของนักดนตรีที่อยู่กับที่ไมได้   โดยเฉพาะผู้เล่นเครื่องเคาะจังหวะที่ถูกกำกับให้หันหลังเคาะโหม่งขนาดใหญ่เป็นครั้งคราวก็ยิ่งสนุกสนานตามเขาไปไม่ได้  เป็นการจบรายการที่ชวนให้เราคิดว่า  พัฒนาการของดนตรีตะวันตกนั้นไม่ได้มีความแปลกแยกระหว่างของเก่ากับของใหม่เสียจนเข้ากันไม่ได้  นักวิโอลา  Lev Loiko และผู้เล่นเครื่องเคาะจังหวะ  Vincent Vogel  เล่นดนตรีด้วยความหฤหรรษ์อย่างเห็นได้ชัด  ทำให้เราลืมไปว่างานชิ้นนี้ยากมากในเชิงเทคนิค  วิโอลานั้นไมได้เล่นแบบเรียบร้อย  แต่ทำหน้าที่คล้ายเครื่องเคาะจังหวะไปด้วยในบางตอน

เมื่อได้กลับไปอ่านวัตถุประสงค์ของ  Berio  เองในการสร้างคีตนิพนธ์ชิ้นนี้ขึ้นมา  ก็ยิ่งเข้าใจเขาดียิ่งขึ้น  ดังข้อความว่า:

“ด้วยผลงาน Naturale  นี้  ข้าพเจ้าหวังที่จะช่วยกระตุ้นความสนใจในดนตรีพื้นเมืองของซิซิลีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก  ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับดนตรีของเกาะซาร์ดิเนีย  เพราะเป็นแสงส่องทางอันมั่งคั่งและซับซ้อนที่สุดให้แก่วัฒนธรรมเมดิเตอเรเนียนของเรา”

พวกเราที่อยู่ห่างไกลย่อมจะอดคิดไมได้ว่า  ทะเลเมดิเตอเรเนียนแห่งนี้เป็นอู่อารยธรรมที่เชื่อมโยงเข้ากับทั้งตะวันตกและตะวันออก  และเป็นที่เกิดของวัฒนธรรมอันหลากหลายและลึกซึ้ง  ซึ่งบางส่วนได้กลายเป็นสมบัติของโลกไป  ผู้ที่ไม่ได้คิดถึงผืนน้ำแห่งนี้ในด้านของวัฒนธรรม  ก็คงจะมองเห็นแต่สภาพอันน่าสมเพชของผู้ลี้ภัยที่ต้องมาล้มตายลงบนท้องทะเลแห่งนี้  เพราะหนีตายมาจากแหล่งอื่นที่ผู้คนรังแต่จะประหัตประหารกัน  การได้มาฟังคอนเสิร์ตครั้งนี้  ทำให้ผมได้คิดอะไรหลายอย่างที่นอกเหนือไปจากเรื่องของดนตรี  การที่เขาจัดรายการแบบนี้อาจเริ่มต้นด้วยการแสวงหาคีตนิพนธ์ที่หลากหลายและน่าฟังมาให้นักศึกษาผู้มีความสามารถสูงได้ทดลองและแสดงออกต่อสาธารณชน  แต่ผมในฐานะครูด้านวัฒนธรรมตะวันตกอยากจะมองให้ลึกลงไปกว่านั้นอีก

คอนเสิร์ตที่ไม่เก็บเงินครั้งนี้   แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมตะวันตกอันมั่งคั่งด้วยความคิดและสุนทรียภาพ  และดนตรีนั่นเองที่เป็นสื่อแสดงออกถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านั้น  บ้านเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเขาหรอกในการสร้างสรรค์  เพียงแต่ในด้านของผู้รับนั้น  ความสนใจที่แท้จริงอาจจะมิได้เกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมชาติเสมอไป   ตลาดคือนายเรา  ในที่สุดเราก็หมกอยู่กับของตลาดๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*