SSMS Orchestra 2018 ค่ายดนตรีคุณภาพ เพื่อสร้างเยาวชนดนตรีคุณภาพ

SSMS Orchestra 2018 ค่ายดนตรีคุณภาพ เพื่อสร้างเยาวชนดนตรีคุณภาพ

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

ภาพประกอบจาก Facebook : Silpakorn Summer Music School

ท่านผู้ที่ติดตามดนตรีคลาสสิกบ้านเราคงรู้จักค่ายดนตรีภาคฤดูร้อน “เรียนดนตรีวิธีศิลปากร”(Silpakorn Summer Music School : SSMS) เป็นอย่างดี เพราะเป็นค่ายดนตรีสำหรับเยาวชนที่สอนประสบการณ์ในการเล่นวงออร์เคสตราเต็มรูปแบบด้วยครูชั้นนำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ (ซึ่งปีนี้ได้ NikolayShugaevนักเชลโลดาวรุ่งฝีมือเยี่ยมชาวรัสเซีย และ Luca Sanzòนักวิโอลาระดับอาจารย์ชาวอิตาเลียน มาร่วมให้ความรู้แก่นักเรียนและร่วมเล่นกับวงด้วย) ที่เป็นยอดฝีมือในแต่ละเครื่องดนตรีนั้นๆ รวมทั้งได้อาจารย์ฮิโคทาโร ยาซากิ (HikotaroYazaki) วาทยกรระดับโลกชาวญี่ปุ่น มาควบคุมการฝึกซ้อมตลอด 1 สัปดาห์ในการเข้าค่าย ซึ่งในปี 2561 (ค.ศ.2018) นี้ ก็เป็นปีที่ 15 ของค่าย SSMS นี้แล้ว โดยได้แสดงคอนเสิร์ตของค่ายไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ (สำนักงานใหญ่)

          รายการในปีนี้ ใช้ชื่อว่า “Let’s Dance” (ซึ่งคาดว่าเนื่องจากเพลงต่างๆ ในรายการเป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับการเต้นรำทั้งสิ้น) ประกอบด้วย 3 บทเพลง ได้แก่ ศรีปราชญ์ (Symphonic Poem “Sri Praj”)โดย หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช (พ.ศ. 2477-2560: คีตกวีและศิลปินแห่งชาติชาวไทย) Danse sacrée et danse profane, for Harp and Strings โดย โคลด เดอบูซซี(Cluade Debussy, 1862-1918 : คีตกวีชาวฝรั่งเศส)  The Rite of Spring  โดยอิกอร์ สตราวินสกี้ (Igor Stravinsky, 1882-1971: คีตกวีชาวรัสเซีย) ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผมได้ฟังมา ถือว่าปีนี้เป็นปีที่เลือกเพลง “โหด” มากเป็นพิเศษมาบรรเลง (แม้ว่าในปีก่อนๆ ก็มีเพลงยากๆ และมีความเข้มข้นลึกซึ้งมากมายเช่นกัน)  โดยเฉพาะThe Rite of Spring ซึ่งแม้แต่นักดนตรีอาชีพยังขยาด  โดยการจัดวงในวันนี้ก็ค่อนข้างแปลกกว่าปกติ คือให้วงดนตรีนั่งบรรเลงอยู่กลางหอประชุม แล้วให้ผู้ชมล้อมรอบวงทุกทิศทาง ซึ่งก็จะให้ประสบการณ์ในการฟังที่แปลกออกไปจากปกติที่วงดนตรีจะอยู่บนเวที  เพราะผู้ฟังจะเห็นการสนทนากันระหว่างเครื่องดนตรีต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น

          ในบทเพลงแรก ศรีปราชญ์ นั้น ผมคิดว่าผู้ฟังจำนวนมากในหอประชุม (รวมทั้งผมเองด้วย) น่าจะไม่เคยได้ฟังบทเพลงนี้มาก่อน ซึ่งแต่เดิม บทเพลงนี้ ท่านอาจารย์หม่อมหลวงอัศนี  ปราโมช  ท่านได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนแสดงที่กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมปฏิบัติการดนตรีเยาวชนอาเซียนเมื่อปี 2529 และต่อมาได้ดัดแปลงเป็นการแสดงบัลเลต์ในปี 2535 (ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ เคยเขียนถึงบทเพลงนี้เมื่อครั้งแสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อปี 2529 ไว้ในหนังสือ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น” หน้า 215-225 ซึ่งเป็นการบรรเลงของวงดุริยางค์เยาวชนอาเซียน โดยการรวมตัวของวงนี้มีลักษณะคล้ายวง SSMS เช่นกัน คือนำเยาวชนจาก 5 ชาติสมาชิกอาเซียนมาเข้าค่ายฝึกซ้อมร่วมกัน 2 สัปดาห์ แล้วแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตให้แก่สาธารณชนได้รับฟัง) ถือว่าเป็นเพลงที่เก่ามากเพลงหนึ่งของท่านอาจารย์หม่อม ท่านใช้บทเพลงนี้บรรยายถึงเรื่องราวชีวิตของศรีปราชญ์ กวีเอกของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจุดจบของชีวิตด้วยการถูกประหารด้วยการ “ตัดคอ” โดยที่ก่อนตัดคอ ท่านก็ได้ร่ายโคลงที่เรารู้จักกันดีคือ “ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน“ บทเพลงนี้ก็เลยมีหลากหลายอารมณ์ ทั้งสนุกสนาน รุกเร้า หม่นเศร้า และน่ากลัว รวมทั้งมีช่วงที่ท่านศรีปราชญ์ร่ายโคลง ก็ใช้เสียงไวโอลินของหัวหน้าวง (concertmaster) ที่เลียนแบบจังหวะจะโคนของการร่ายโคลง และเสียงที่ระทึกใจที่สุดคือการตัดคอท่านศรีปราชญ์ โดยแทนด้วยเสียงกลองใหญ่ (bass drum) ดังสนั่น แล้วเพลงก็ค่อยๆ แสดงความหม่นหมองเศร้าเสียใจไปจนจบเพลง ในส่วนของการบรรเลงนั้น โดยส่วนตัวผมค่อนข้างชอบเสียงโอโบกับฮาร์ปเป็นพิเศษ ซึ่งมีท่วงทำนองที่งดงาม ส่วนกลองก็เร่งจังหวะให้เร้าใจได้อย่างน่าฟัง ในส่วนของเครื่องสาย เนื่องจากผมได้นั่งใกล้กลุ่มไวโอลิน 1 มากเป็นพิเศษ จึงพอสังเกตได้ว่ามีบางช่วงที่นักดนตรีเหลื่อมกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย เพราะเสียงของเครื่องสายโดยรวมก็มีความหนักแน่นเป็นเอกภาพกันดี โดยรวมแล้วถือว่าเป็นดนตรีพรรณนา (programme music) ที่น่าฟัง ให้อารมณ์ที่หลากหลาย และใช้ศักยภาพของเครื่องดนตรีทุกกลุ่มได้อย่างครบถ้วน

          ต่อมาในเพลงDanse sacrée et danse profane ของเดอบุซซี บรรเลงเดี่ยวฮาร์ปโดยอาจารย์เอมะ มิตาไร (EmaMitarai) นักฮาร์ปชาวญี่ปุ่นซึ่งทำงานดนตรีอยู่ในเมืองไทย โดยเป็นอาจารย์และนักดนตรีประจำวง Royal Bangkok Symphony Orchestra บรรเลงร่วมกับวง SSMS ซึ่งมีเฉพาะกลุ่มเครื่องสาย สำหรับเพลงนี้ถือว่าเป็น concerto สำหรับฮาร์ปเลยก็ว่าได้ เท่าที่หาข้อมูลมาพบว่าเดอบุซซี่แต่งเพลงนี้ขึ้นตามคำขอของช่างผลิตฮาร์ป ซึ่งสามารถคิดค้นฮาร์ปสมัยใหม่ที่มีศักยภาพในการเล่นสเกลโครมาติกได้เป็นอย่างดี เพลงนี้จึงมีสีสันและสำเนียงที่ออกจะแปลกหูอยู่บ้าง โดยเข้าใจว่าเดอบุซซีน่าจะได้รับอิทธิพลจากดนตรีตะวันออก ซึ่งอาจารย์มิตาไรสามารถแสดงศักยภาพของบทเพลงนี้ออกมาได้อย่างชัดเจน เสียงฮาร์ปของเธอไพเราะ และมีเทคนิคต่างๆ ในการบรรเลงให้เสียงมีแตกต่างหลากหลายน่าติดตาม (แม้ว่าจะจำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียงบ้าง เข้าใจว่าเสียงของฮาร์ปคงจะไม่สามารถสู้กับความใหญ่ของหอประชุมมหิศรได้) ส่วนกลุ่มเครื่องสายนั้นก็บรรเลงได้  โดยกลุ่มที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษคือกลุ่มวิโอลา ซึ่งนำโดยอาจารย์ซานโซ ที่บรรเลงได้อย่างน่าฟัง มีสุ้มเสียงที่ไพเราะไม่ธรรมดา โดยเฉพาะเสียงวิโอลาของอาจารย์ซานโซที่หวานจับใจเป็นพิเศษ

          และในครึ่งหลังก็คือเพลงเอกของรายการ คือ The Rite of Spring  ซึ่งผู้ฟังที่ติดตามดนตรีคลาสสิกน่าจะเคยได้ยินได้ฟังกัน ถือเป็นบทเพลงโด่งดังมากที่สุดบทหนึ่งของสตราวินสกี แต่เดิมเป็นบทเพลงประกอบการแสดงบัลเลต์ ที่เมื่อแสดงครั้งแรกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงความแปลกใหม่ของท่วงทำนอง จนถูกคนในยุคนั้นมองว่าดิบเถื่อนและล้ำสมัยเกินกว่าที่จะรับได้ แม้ว่าปัจจุบันเราจะได้ยินอะไรที่แปลกกว่านี้จนกลายเป็นว่าเพลงของสตราวินสกีนี้ธรรมดาไปแล้ว แต่ในตัวเพลงก็ยังมีความยากและท้าทายผู้เล่นและผู้ฟังอยู่เสมอ ในส่วนการบรรเลงของเด็กๆ เรา ในช่วงขึ้นต้น บาสซูนและอิงลิชฮอร์นซึ่งเป็นเสียงหลักนั้นบรรเลงได้อย่างน่าฟัง มีการเน้นคีตวลี (phrasing) ที่น่าฟัง ส่วนในช่วงที่เร่งเร้านั้น กลุ่มเครื่องสายเสียงต่ำ และเครื่องเป่าทองเหลืองทั้งหลายก็บรรเลงได้อย่างหนักแน่นถึงอารมณ์ ช่วงที่จังหวะยากๆ ที่เป็นยาขมของนักดนตรีนั้น ก็เล่นได้อย่างพร้อมเพรียง ไม่มีอาการหลุดคิว การตอบสนองต่อการกำกับของวาทยกรยาซากินั้น อยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยม จังหวะจะโคนแม่นยำอย่างน่าชื่นชม ในส่วนของอารมณ์ต่างๆ ในตัวเพลงนั้น ผมคิดว่าวงพยายามบรรเลงให้ได้ตามที่วาทยกรต้องการ คือมีทั้งความลึกซึ้ง และมีความดิบเถื่อนในการบูชายัญนั้น ก็สะท้อนออกมาในเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ได้อย่างดี จนแทบไม่น่าเชื่อว่าวงที่เล่นอยู่เบื้องหน้าคือวงเยาวชน ซึ่งเพิ่งรวมตัวกันเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าอาจารย์ยาซากิ น่าจะพึงพอใจที่เยาวชนของเราเล่นงานชั้นครูชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนครูๆ ของเราและครูรับเชิญจากต่างประเทศ ก็ให้ความรู้และประสบการณ์แก่เด็กๆ ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่ง อาจารย์วรพล กาญจน์วีระโยธิน อาจารย์ฟลูตของค่าย ได้เล่าให้ฟังถึงการฝึกซ้อมของวง โดยเฉพาะการรับมือเพลงที่ยากอย่าง The Rite of Spring ว่า นักเรียนจะต้องเข้าใจตัวเพลง และเข้าใจจังหวะที่เปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ระหว่างเพลง โดยในการเริ่มซ้อมครั้งแรก ยังไม่ได้ซ้อมกับเครื่องดนตรีก่อน แต่เป็นการ “นับ” จังหวะ ของแต่ละเครื่องดนตรีที่ตนรับผิดชอบโดยนับร่วมกันทั้งวง เพื่อให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มซ้อมด้วยเครื่องดนตรีต่อไป ซึ่งครูอาจารย์ทุกคนก็ต้อง “ทำการบ้าน” มาอย่างดี เพื่อที่ทำให้ลูกศิษย์ของตนเข้าที่มาแล้ว จากนั้นจึงถึงมืออาจารย์ยาซากิ ในการคลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ในวงให้กลมกล่อม ซึ่งต้องยอมรับว่าท่านทำได้ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ซึ่งปีนี้แม้ว่าเพลงจะยากเป็นพิเศษ แต่ท่านก็ทำได้อย่างดีเยี่ยมเช่นเคย อย่างที่ผมและหลายๆ ท่านเคยเขียนถึงวง SSMS  Orchestra ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ที่หาได้ยาก คือการอยู่กับดนตรีทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์เต็ม โดยที่ไม่ต้องไปพะวงกับสิ่งใดนอกเหนือไปจากสิ่งที่วิทยากรทั้งหลายติวเข้มให้ และได้รับการสั่งสอนจากวาทยกรฝีมือระดับนานาชาติอย่างอาจารย์ยาซากิ ซึ่งท่านสามารถดึงศักยภาพของนักดนตรีออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยที่นักดนตรีก็พร้อมใจเล่นกันอย่างมอบกายถวายชีวิต ซึ่งเท่าที่สังเกตได้ว่าเด็กที่ผ่านค่ายนี้ไป หลายคนก็ก้าวขึ้นมาเป็นมืออาชีพ หรือร่วมในวงเยาวชนอื่นๆ ได้อย่างดี และก็มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาหาประสบการณ์ในค่ายนี้ต่อๆ ไป จึงอาจจะเรียกได้ว่าค่ายนี้ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างนักดนตรีคุณภาพให้แก่วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายแล้ว ผมอยากจะขอเสนอแนะความคิดเห็นส่วนตัวบางประการแก่ทางผู้จัด โดยส่วนตัวผมชื่นชมการแสดงและการจัดการของค่ายเป็นอันมาก แต่สิ่งที่อยากให้ทางผู้จัดช่วยพิจารณาคือการทำสูจิบัตรของคอนเสิร์ต ซึ่งออกจะขาดรายละเอียดของแต่ละบทเพลงที่นำมาบรรเลง และในวันนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น programme music หรือดนตรีพรรณนา ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สูจิบัตรจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเพลงนั้นๆ ในกรณีของThe Rite of Spring นั้น อาจจะรู้สึกว่าเป็นเพลงที่แพร่หลายและหาข้อมูลเอาเองได้ แต่กรณีของ ศรีปราชญ์ นั้น ต่อให้เราผู้ฟังคนไทยอาจจะรู้ประวัติของท่านศรีปราชญ์มาบ้างแล้ว อาจจะต้องเดาเนื้อหากันบ้าง ว่าท่อนนั้น ประโยคนี้ หมายถึงอะไร ยิ่งถ้าเป็นผู้ฟังชาวต่างประเทศซึ่งไม่รู้จักศรีปราชญ์เลย จะเข้าใจเนื้อหาที่คีตกวีพยายามสื่อออกมาได้อย่างไร และต่อให้เป็น The Rite of Spring  แน่ใจหรือว่าผู้ฟังทุกคนในที่นั้นจะรู้จักหรือเคยฟังเพลงนี้ หากทางผู้จัดเติมเต็มในประเด็นนี้ได้ ผมคิดว่าคอนเสิร์ตของ SSMS จะมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการฟังดนตรีคลาสสิกให้แก่สาธารณชนด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*