“พรจากฟ้า” หนังเพลงหลากลีลา หนังรักหลากอารมณ์

“พรจากฟ้า” หนังเพลงหลากลีลา หนังรักหลากอารมณ์

%e0%b9%82%e0%b8%9b%e0%b8%aa%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%9f

วฤธ วงศ์สุบรรณ

ในฐานะที่เป็นคนชอบดนตรีอยู่แล้ว ผมเองจึงเป็นคนที่ชอบภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับดนตรีมากเป็นพิเศษ ในบ้านเรานั้นหนังดนตรีที่อยู่ในระดับคลาสสิกและสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมได้นั้น เท่าที่ผมนึกออกคือเรื่อง “โหมโรง” และ “Seasons Change : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” มาในปีนี้ก็ได้มีหนังดนตรีอีกเรื่องหนึ่งผลิตขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าพลังอยู่ในระดับ “ปรากฏการณ์” เช่นกัน หนังเรื่องนั้นคือ “พรจากฟ้า”

          “พรจากฟ้า” เป็นภาพยนตร์ที่นำเอาบทเพลงพระราชนิพนธ์ 3 บท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเพลง theme ของแต่ละตอนย่อยทั้ง 3 ตอนในเรื่อง และก็ช่างบังเอิญโดยแท้ว่าทางคนทำหนังนั้นก็มีโครงการหนังเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว และตั้งใจจะฉายในช่วงสิ้นปี แต่เหตุการณ์โศกสลดที่เราท่านทราบกันอยู่ ก็ยิ่งทำให้ใครหลายคนที่ได้ยินเพลงจากหนังเรื่องนี้ก็อดคิดถึงพระองค์ท่านผู้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงทั้ง 3 นี้มิได้ แต่หนังก็มีความฉลาดที่มิได้กล่าวถึงพระองค์ท่านโดยตรง แต่แฝงว่า บทเพลงของพระองค์ท่านอยู่กับเราในทุกชั่วขณะ และจะอยู่กับคนไทยตลอดไป

          ในตอนที่ 1 นั้น ใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” (Love at Sundown) มาเป็นเพลงหลักของการเล่าเรื่อง เป็นเรื่องราวของสาวนักร้องวงคอรัสที่เพิ่งอกหักหมาดๆ บังเอิญมาพบกับหนุ่มว่าที่นักเรียนนอกผู้มีเทคนิคการจีบสาวแพรวพราว และความสัมพันธ์ในระหว่างที่พวกเขาต้องรับบทเป็นตัวแสดงแทนของ “ท่านทูต” และ “ภริยาท่านทูต” ก็ได้ก่อตัวขึ้น ส่วนตอนที่ 2 ใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์” (Still on My Mind) มาเป็นเพลงหลักของการเล่าเรื่อง เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ต้องลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์และเพิ่งสูญเสียภรรยาคู่ชีวิตไป โดยมีบทเพลง “ในดวงใจนิรันดร์” เป็นสื่อกลางที่สร้างความสุขและรื้อฟื้นความทรงจำ โดยมีช่วงจูนเปียโนหนุ่มคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ และในตอนที่ 3 ใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” (New Years Greetings) มาเป็นเพลงหลักของการเล่าเรื่อง โดยเป็นเรื่องราวของอดีตนักดนตรีร็อคซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในสายดนตรี จนต้องเบนเข็มมาทำงานออฟฟิศ จนมาเจอกับกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มีความรักดนตรีในหัวใจ ที่จุดประกายไฟในการเล่นดนตรีของเขากลับมา

          โดยในทั้ง 3 ตอนนั้นเป็นเรื่องราวที่แยกขาดกันในตัวเอง แต่ก็มีตัวละครบางตัวเชื่อมโยงเนื้อเรื่องเข้าหากัน ตอนที่ 1 นั้นเป็นเรื่องราวโรแมนติกน่ารักของหนุ่มสาววัยรุ่นที่ใช้ทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่และการสนทนาเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งก็ดูเพลิดเพลินและชวนให้ลุ้นในความสัมพันธ์ของคู่พระนาง แม้ว่าความสัมพันธ์นั้นจะแสนสั้นก็ถึงจุดที่ต้องอำลาจากกัน เหมือนเพลง “ยามเย็น” ที่กล่าวถึงการจากลา ส่วนตอนที่ 2 ค่อนข้างมีเนื้อหาที่เข้มข้น จะว่าไปแล้วก็เหมือนมีความสัมพันธ์ของคู่พระนาง 2 คู่ นั่นคือคู่ของนางเอกและพระเอก รวมถึงคู่ของพ่อและแม่ของนางเอกด้วย ซึ่งการที่จะช่วยฟื้นความทรงจำของพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์และสูญเสียภรรยาไป นางเอกและพระเอกจึงต้องร่วมกันค้นหาอดีตความรักของทั้งคู่ในเรื่องราวและสถานที่แห่งความทรงจำต่างๆ โดยเฉพาะบทเพลง “ในดวงใจนิรันดร์” ซึ่งเป็นเพลงสำคัญของทั้งคู่ และเนื้อหาของเพลงยังแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย ว่าแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดหรือแม้กระทั่งความทรงจำจะเริ่มสูญเสียไป แต่ความรักของทั้งคู่ก็ยังคงเป็นนิรันดร์ ส่วนตอนที่ 3 นั้น ค่อนข้างจะมีเนื้อหาที่สนุกสนาน เบาสมอง รื่นเริง และเต็มไปด้วยมุกตลกมากมาย พระเอกของเรื่องเป็นนักดนตรีร็อคซึ่งเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด และได้ตั้งวงดนตรีอยู่ประมาณ 10 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงละทิ้งการเล่นดนตรีมาทำงานออฟฟิศ แต่เขาก็มาเจอกับนางเอกและหมู่พนักงานออฟฟิศที่ทำงานอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รักดนตรีและอยากเล่นดนตรี แม้ว่าจะมีฝีมือที่ไม่ค่อยดีก็ตาม พวกเขาจึงอยากให้พระเอกซึ่งเป็นอดีตนักดนตรีอาชีพมาช่วยสานต่อวงของพวกเขา ความรักในการเล่นดนตรีและความพยายามของสมาชิกในวง ทำให้พระเอกเกิดความฮึดสู้ที่จะเล่นดนตรีอีกครั้ง และพยายามช่วยให้วงเล่นให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ขอการสนับสนุนห้องซ้อมดนตรีจากบริษัท และแน่นอนว่าระหว่างการดำเนินเรื่องนั้น ความผูกพันของพระเอกและนางเอกก็เริ่มก่อตัวและสนิทแนบแน่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง จะเป็นการใช้เพลง “พรปีใหม่” ในการสร้างความประทับใจให้แก่กรรมการบริษัทและเป็นการสร้างความสุขของกลุ่มพนักงานบริษัทไปด้วยในตัว เพราะเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายปีใกล้เทศกาลปีใหม่พอดี จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ตอนก็คือหนังสั้นที่จบในตัว มีเนื้อหาหลักของตัวเอง แต่ก็จะมีตัวละครบางตัวเปลี่ยนบทจากตอนหลักของตนไปเป็นตัวประกอบในอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำให้เนื้อเรื่องของทั้ง 3 ตอนเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเดียว

          ในส่วนที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องของดนตรีนั่นเอง ทั้ง 3 ตอนต่างก็อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาเป็นแรงบันดาลใจทั้งในการสร้างเนื้อเรื่อง และบทเพลงในแต่ละตอนก็บรรเลงออกมาได้อย่างน่าฟังและน่าสนใจ ผมคิดว่าเพลงที่น่าจะติดหูผู้ชมมากที่สุดคือเพลง “ยามเย็น” ซึ่งนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการร้องประสานเสียงแบบไม่ใช้เครื่องดนตรี (a cappella) ร่วมกับการใช้ร่างกายทำเสียงประกอบจังหวะ (body percussion) ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมจำนวนมาก ถึงกับอัดคลิปทำ body percussion ตามอย่างหนังลงใน youtube อย่างมากมาย ทั้งนี้น่าจะทำให้เกิดความสนใจต่อการร้องเพลงแบบนี้ในสังคมไทยเพิ่มขึ้นด้วย ในส่วนตอนที่ 2 นั้น เน้นที่เสียงเปียโนบรรเลงเพลง “ในดวงใจนิรันดร์” ซึ่งในเรื่องถือว่าเป็นเพลงโปรดของคู่รักพ่อแม่ และเป็นเพลงที่เล่นในงานแต่งงานของทั้งคู่ ดังนั้นนางเอกซึ่งเล่นเปียโนไม่ค่อยเก่ง จึงต้องหัดเล่นให้คล่องโดยมีพระเอกช่างจูนเปียโนคอยสอนและเล่นกีตาร์คลอไปด้วย ซึ่งในช่วงไคลแมกซ์ของตอนนี้ ทั้งคู่ก็เล่นได้อย่างไพเราะน่าฟัง ซึ่งมองได้ว่าผู้กำกับต้องการสื่อว่าแม้ว่าเสียงเปียโนจะมีความไพเราะของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าได้เสียงกีตาร์มาช่วยเติมเต็มให้กัน ก็จะยิ่งสร้างความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมือนกับตัวนางเอกและพระเอกเอง นอกจากนี้ ผมยังคิดไปไกลว่า ตอนที่พ่อนางเอกได้ยินเสียงเปียโนแล้วรู้สึกมีความสุขและรื้อฟื้นความทรงจำได้บางส่วน หนังน่าจะสื่อถึงการเป็น “ดนตรีบำบัด” (ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีผู้รู้บอกผมว่าดนตรีบำบัดจะต้องทำโดยนักดนตรีบำบัดที่ถูกฝึกมาโดยตรงเท่านั้น) หรือ “ดนตรีเป็นยารักษาใจ” ที่ทำให้พ่อของนางเอกบรรเทาความเจ็บป่วยทางใจได้มากขึ้น ส่วนตอนที่ 3 นั้น ถือว่าเป็นตอนที่เป็นเรื่องของการเล่นดนตรีมากที่สุด เพราะเป็นการรวมวงของพนักงานออฟฟิศซึ่งในเรื่องพยายามสื่อว่าใครเล่นดนตรีอะไรเป็นก็สามารถมาร่วมวงกันได้ ถึงเล่นไม่เก่งก็สามารถฝึกซ้อมและพัฒนาให้เล่นดีขึ้นได้ หรือใครไม่ได้เล่นดนตรีแต่ชอบร้องเพลงก็มาร่วมร้องกับวงได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นวง “สมัครเล่น” ที่เล่นด้วยความรักอย่างแท้จริง โดยเพลงที่นำเสนอในตอนนี้ นอกจากเพลง “พรปีใหม่” ซึ่งเป็นเพลงหลักแล้ว ยังมีเพลง “สาวอีสานรอรัก” (และแปลงเป็นภาษาฮินดีในชื่อ “สาวมุมไบรอรัก” ด้วย) ซึ่งให้บรรยากาศที่รื่นเริงสนุกสนาน ผสมกับความขบขันจากมุกตลกของนักแสดงแต่ละคน และยังมีความเชื่อมโยงกับตอนที่ 2 คือ “ป้าฟ้า” ซึ่งเป็นภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น เป็นอดีตพนักงานออฟฟิศแห่งนั้น และเป็นผู้ที่สอนดนตรีให้แก่พนักงานในออฟฟิศนั่นเอง

          ข้อสังเกตที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้นั้น ผมขออนุญาตมองในมุมของคนสนใจด้านดนตรี เพราะมุมมองอื่นๆ นั้นอาจจะมีผู้อื่นแสดงความเห็นไว้แล้ว (เช่นในประเด็นเรื่อง “การให้” หรือชื่อภาษาอังกฤษของหนังว่า “A Gift” นั้นก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก แต่ขออนุญาตไม่กล่าวถึง) สิ่งที่ผมสังเกตได้คือตัวหนังพยายามสื่อว่า ดนตรีมิใช่เอกสิทธิ์ของนักดนตรีแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ใครก็ตามที่รักในดนตรีก็สามารถสร้างความสุขจากดนตรีได้ด้วยตัวเอง อาจจะในฐานะนักร้องและนักดนตรีสมัครเล่น พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ฟังเสมอไป แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้แสดงเองก็ได้เช่นกัน ที่น่าสังเกตอีกประการคือเท่าที่ผมได้ติดตามเบื้องหลังการถ่ายทำ พบว่านักแสดงหลักของเรื่อง (รวมถึงผู้กำกับ) ก็ไปเรียนดนตรีจริงๆ เพื่อให้เล่นได้อย่างสมบทบาท แต่สิ่งที่พวกเขาได้กลับมาคือความสนุกและความหลงใหลในการเล่นดนตรีด้วยตัวเอง และก็ได้แสดงในเวทีจริงๆ อีกหลายครั้ง คงจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้คนในสังคมสนใจเล่นดนตรีมากขึ้น เพราะทุกคนถ้าได้เรียนดนตรีแล้วก็จะสามารถมีความสุขกับดนตรีได้ด้วยตัวเอง

          เท่าที่ทราบมาอีกประการหนึ่งคือ หนังเรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่างค่ายหนัง GDH กับวิทยาลัย
ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ซึ่งเคยร่วมงานกันแล้วในหนังเรื่อง Season’s Change) นี่ก็นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่วิทยาลัยฯ พยายามผลักดันดนตรีให้เป็นกระแสสังคมโดยใช้หนังเป็นสื่อกลาง ซึ่งก็ได้ทีมงานคุณภาพอย่าง GDH (หรือเดิมคือ GTH) มาช่วยสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยใช้ดนตรีเป็นแกนหลักของเรื่อง ในเรื่อง Seasons Change นั้น ตัวเรื่องพยายามเน้นถึงดนตรีคลาสสิกและการเรียนดนตรีอย่างจริงจังของนักเรียนดนตรีที่จะก้าวไปเป็นนักดนตรีอาชีพในอนาคต แต่ในเรื่อง “พรจากฟ้า” นี้ เนื้อหาพยายามสื่อว่าดนตรีมีอยู่ในทุกที่และทุกช่วงของชีวิต ไม่จำเป็นต้องเก่ง หรือต้องเรียนดนตรีอย่างเข้มข้น ก็สามารถมีความสุขกับดนตรีได้ คนรักดนตรีในเรื่องนี้มีหลายระดับ ทั้งนักร้องวงคอรัส (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าวงสมัครเล่นหรืออาชีพ แต่ในความเป็นจริง วงคอรัสสมัครเล่นบ้านเราก็มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ) นักเปียโนสมัครเล่น ช่างจูนเปียโน (เป็นอาชีพที่อยู่กับเสียงดนตรี แต่ไม่ค่อยได้เล่นดนตรีให้ใครฟัง) และพนักงานออฟฟิศ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะก้าวไปถึงระดับไหน แต่สุดท้ายแล้วหนังก็ตอกย้ำกับผู้ชมเสมอว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน คนทุกคนก็สามารถมีความสุขในการเล่นดนตรีได้

          นอกจากนี้ เท่าที่ฟังจากบทสัมภาษณ์ต่างๆ จะบอกว่าหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ใช้วงออร์เคสตราทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ (อย่างที่เมืองนอกเขาเรียกว่า original soundtrack) ซึ่งก็คือวง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั่นเอง ซึ่งประเด็นเรื่องที่ว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจนัก (นึกถึงหนังเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ในปี 2483 ที่มีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้กำกับดนตรี จะถือว่าเป็นเรื่องแรกได้หรือไม่) แต่หากตัดประเด็นความเป็น “เรื่องแรก” ออก ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ทำ OST ออกมาอย่างมีมาตรฐานเช่นเดียวกับภาพยนตร์ต่างชาติ ช่วยเติมเต็มบรรยากาศของหนังให้มีความหนักแน่นมากขึ้น มีเสียงดนตรีที่เข้ากับตัวบทและการดำเนินเรื่องได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือในอีกระดับหนึ่งของวิทยาลัยฯ กับ GDH

          ในท้ายสุดนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ คำว่า “พรจากฟ้า” นี้ เราส่วนใหญ่ก็คงทราบว่ามาจากเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” (…ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปราณี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย…) หากดูจากเนื้อเพลงแล้วก็เปรียบเสมือนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ขอพรจากฟ้า (หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย) ให้แก่ประชาชนไทย แต่ถ้าให้เดาความตั้งใจของทางผู้สร้างแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาคงมองว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นคือ “ฟ้า” หรือพระเจ้าแผ่นดินเอง และพรที่ “ฟ้า” ประทานให้ ก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ที่พระองค์พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยที่ยกมา 3 เพลงนี้ก็เป็นเพียงสังเขปเท่านั้น ซึ่งก็จะไปตรงกับชื่อภาษาอังกฤษ (A Gift) และมโนทัศน์เรื่องการให้ ซึ่งในเรื่องนั้นมีทั้งการให้ความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดี และการสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น อีกอย่างหนึ่งหนังก็ต้องการสื่อว่า เพลงพระราชนิพนธ์นั้นอยู่กับเราตลอดเวลา และใครก็ตามที่เล่นดนตรีเมื่อเล่นได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว ก็มักจะเล่นเพลงพระราชนิพนธ์อยู่เสมอ เพราะเป็นบทเพลงที่ไพเราะ คุ้นหู และท้าทายความสามารถพอสมควร ถึงแม้พระองค์ไม่อยู่กับเราแล้วแต่ผลงานของพระองค์จะอยู่คู่กับเมืองไทยและวงการดนตรีของไทยตราบนานเท่านาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*