บทวิจารณ์ ละครเวทีเรื่อง “เพลงตามคำขอ” (Wunschkonzert)

บทวิจารณ์ ละครเวทีเรื่อง “เพลงตามคำขอ” (Wunschkonzert)

มุรธา ปริญญาจารย์

 

จัดแสดงขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เวลา 19.30 น. ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล

ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

“จากเสียงสะท้อนของความเจ็บปวดในจิตใจ  สู่การแสดงอันนิ่งงัน เงียบสงัด”

 

ละครเวที “เพลงตามคำขอ” การแสดงเดี่ยวไร้บทพูด ผลงานการแสดงในการวิจัยระดับปริญญาโท โดย สุทธามน วรพงษ์. บทละครเรื่องนี้ได้รับการแปลมาจากบทละครภาษาเยอรมัน เรื่อ“Wunschkonzert” (1971) ของ Franz Xaver Kroetz  มีการดัดแปลงไปตามทัศนคติ และชีวิตประจำวันของนักแสดง เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในห้องพักในเมืองใหญ่ของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งกลับมายังห้อง ทำกิจกรรมต่างๆเรื่อยไป จนกระทั่งจบด้วยการกินยาฆ่าตัวตายในตอนท้าย.

ในแง่ของ “การเลือก” ที่จะดัดแปลงตัวละครนี้ให้ทำกิจกรรมต่างๆภายในห้องโดยไร้บทพูด โดยนักแสดง ได้หยิบยกเอาปัญหาของตัวเอง ที่รู้สึกหลงทางกับชีวิต เรื่อง ความโสด ความรู้สึกต้องการความรัก จึงออกตามหา จนรู้สึกว่าไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทั้งหมดนี้ถือได้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราท่านสามารถเชื่อมโยงและเทียบเคียงกับตัวละครตัวนี้ได้พอสมควร. กิจกรรมต่างๆที่ทำนั้นเป็นกิจวัตรทั่วไป เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้า  รับประทาน  ล้างจาน  ปักผ้า  อาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นไปอย่างเรื่อยๆ ของตัวละคร เสมือนว่าเป็นสิ่งที่กระทำซ้ำๆทุกวัน   เข้าใจว่าผู้แต่งบทละครคงเขียนกำกับทิศทางของการแสดงโดยละเอียด ในทุกอิริยาบถ  ผู้แสดงจึงสามารถถ่ายทอดการแสดงออกมาได้อย่างละเอียดเช่นนั้น

ด้านการแสดงของนักแสดงนั้น สุทธามน สามารถแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับว่าไม่ได้แสดงละครอยู่ต่อหน้าผู้ชม แต่ในความเป็นธรรมชาตินั้นก็มีความเป็นดาบสองคม เนื่องจากภายนอกที่ตัวละครได้ทำกิจกรรมต่างๆนั้น เราไม่เห็นถึงแรงกระตุ้นหรือเหตุผลใดในการขับเคลื่อนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร  แม้กระทั่งในตอนท้ายที่ตัวละครค่อยๆกินยาทีละเม็ด  จนเริ่มรู้สึกว่านี่คือการพยายามฆ่าตัวตาย  ผู้ชมก็ยังไม่เห็นถึงเหตุผลใดที่จะนำไปสู่การกระทำเหล่านั้น  แต่จะสามารถคาดเดาถึงความรู้สึกภายในจิตใจตัวละครได้จาก “บทเพลง” ที่ตัวละครได้เปิดจากวิทยุภายในห้อง ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดหวังในด้านความรักทั้งสิ้น สิ่งนั้นเองทำให้เราสามารถเดาได้ว่าตัวละครกำลังรู้สึกอะไรอยู่ เพลงต่างๆถูกเปิดขึ้นต่อเนื่องจากสถานีวิทยุชื่อดัง ชื่อ Greenwave ซึ่งเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่าเป็นคลื่นวิทยุที่เปิดเอาใจคนอกหัก มองในอีกด้านหนึ่งบทเพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ตัวละครได้ยินจาก “ภายใน” เป็นการสะท้อนความคิด จิตใจของตัวละครที่กำลังตกอยู่ในสภาพของความผิดหวัง  เพลงจึงทำหน้าที่เล่าเรื่องราวที่ตัวละครกำลังประสบอยู่  และเพลงที่ใช้ก็เป็นเพลงไทยร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมของคนวัยรุ่นและวัยกลางคน  นอกจากนั้นจะขอกล่าวถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรม  การที่นักแสดงมีการเปลี่ยนจากการทำสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งนั้น ยังขาดความเชื่อมโยง หรือเหตุผลในการเปลี่ยนกิจกรรมแต่ละครั้ง  แต่สิ่งที่น่าชื่นชมในตัวนักแสดงก็คือ นักแสดงกระทำทุกอย่างในฉากอย่างสมจริงและจริงจังซึ่งดูเป็นการการกระทำของมนุษย์ปกติ เช่นการล้างจาน การกินข้าว การอาบน้ำ การปัสสาวะ และทำความสะอาดจริง  อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแสดงของนักแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ จนอาจจะดู “โมโนโทน”ในบางครั้งก็แสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพของตัวละครออกมาได้ เช่น เป็นคนรักความเรียบร้อยและความสะอาด เนื่องจากตัวละครมักจะเช็ดทำความสะอาดหลายสิ่งที่อยู่ภายในห้องอย่างต่อเนื่อง และ เมื่อมีการใช้อุปกรณ์ที่เป็นผ้าจะพับเก็บเรียบร้อยทุกครั้ง.

สิ่งที่รู้สึกว่าการแสดงครั้งนี้สามารถทำได้ดีก็คือเรื่องของฉากในละคร ฉากละครมีความเรียบง่าย ภายในฉากปรากฏเป็นโครงสร้างของห้องพัก  ทาด้วยสีขาว สิ่งของที่อยู่ภายในห้องสามารถใช้ได้จริงทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น อ่างลางจาน  ห้องอาบน้ำที่มีฝักบัว ตัวละครอาบน้ำให้เห็นได้จริง โทรทัศน์ วิทยุที่ใช้ในฉากก็เป็นของจริง  สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกได้ถึงความจริงรอบตัวเรา เหตุการณ์ต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา หรือ เหตุการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ในวันหนึ่ง

ถ้าจะกล่าวถึงตัวบท  ก็คงจะต้องยอมรับว่า  ผู้แต่งตั้งโจทย์ที่ท้าทายให้กับตนเองและก็สนองโจทย์นั้นได้  นั่นก็คือการดำเนินชีวิตแบบปกติธรรมดานี่แหละที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่อัตวินิบาตกรรมได้  โดยไม่ต้องมีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ มากระทบใจเรา  ในสังคมโบราณ  จุดจบอาจจะไม่เป็นเช่นนี้ก็ได้  เพราะในสังคมตะวันตกมีพระเจ้าเป็นที่พึ่ง  แต่นี่มันโลกที่ “พระเจ้าตายเสียแล้ว”  เมื่อแปลงบทมาเป็นไทยและนำมาแสดงใน ค.ศ. 2016 ก็ชวนให้คิดว่า  เรามีทางออกดีกว่าเขาหรือไม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*