เมื่อคนหนุ่มสาวช่วยหนุนให้คุณทวดได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่: Sir Neville Marriner ที่ Komische Oper Berlin

เมื่อคนหนุ่มสาวช่วยหนุนให้คุณทวดได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่:
Sir Neville Marriner ที่ Komische Oper Berlin

Sir Neville Marriner

(Sir Neiville Marriner)

เจตนา  นาควัชระ

          คุณทวดมีประวัติอันเรืองรอง  ท่านเคยเป็นนักไวโอลิน (ที่ไม่ใช่แถวหน้าๆ) ในวง Philharmonia  Orchestra และวง London Symphony Orchestra ว่างๆ ก็เชิญเพื่อนฝูงมาเล่นเชมเบอร์มิวสิคกัน  ในตอนต้นไม่ได้ตั้งใจจะตั้งกลุ่มถาวร  แต่การเล่นเชมเบอร์เป็นวัฒนธรรมตะวันตกดั้งเดิมที่เติบโตมาจากการเล่นดนตรีด้วยกันในครอบครัวและในหมู่เพื่อนฝูง  ไม่นานนักคุณทวดและเพื่อนๆ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า  การเล่นดนตรีในวงซิมโฟนีขนาดใหญ่ที่ซ้อมน้อยมากนั้นรังแต่จะทำให้ฝีมือตก จึงคิดตั้งวงเชมเบอร์ขึ้นมา  ไม่ช้าไม่นานก็เกาะกลุ่มกันแน่น  ทั้งสนุกและทั้งสร้างความพึงพอใจให้แก่ตนเองในด้านของคุณภาพ  The Academy of St Martin in the Fields (ตั้งชื่อตามชื่อโบสถ์ในกรุงลอนดอน  อันเป็นสถานที่ออกแสดงครั้งแรกเมื่อปี 1959)  เป็นที่รู้จักกันดีและคุณภาพก็เป็นที่ยอมรับ  กลายเป็นวงเชมเบอร์ระดับแนวหน้าของยุโรปไปเลยเมื่อเดิมเล่นกันโดยไม่มีวาทยกร  แต่ต่อมาคุณทวดค้นพบว่าตนเองมีความถนัดในการกำกับวง  ก็เลยหันมาเอาดีในการเป็นวาทยกร  วงดนตรีวงเล็กวงนี้อัดเสียงไว้มากมาย  ออกเดินทางไปแสดงทั่วโลก  จนเป็นที่รู้จักกันว่าถ้าเอ่ยถึงวงเชมเบอร์เมื่อไรละก็  วงดนตรีวงนี้ต้องได้รับการกล่าวขานถึงในระดับต้นๆ

คุณทวดค้นพบตนเองขั้นต่อไปว่า  ท่านก็กำกับวงซิมโฟนีได้เช่นกันและได้มีโอกาสไปฝึกฝนกับปรมาจารย์ชั้นยอด คือ Pierre Monteux  ในสหรัฐอเมริกา  ในที่สุดก็ไปรับงานในหลายประเทศ  และมาลงตัวในเยอรมนี  โด่งดังขึ้นมาในฐานะวาทยกรประจำวงดนตรีประจำสถานีวิทยุภาคใต้ ที่เมือง Stuttgart (Radio– Sinfornieorchester Stuttgart) (เป็นที่น่าแปลกว่าวาทยกรชาวอังกฤษ – อันรวมถึงชาวสก๊อต– มาได้ดิบได้ดีกันในยุโรป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีเป็นจำนวนไม่น้อยเลย  หัวแถวก็คงจะเป็น Sir Colin Davis ซึ่งรับหน้าที่วาทยกรหลักของวงประจำสถานีวิทยุแคว้นบาวาเรีย (Bavarian Radio Symphony Orchestra)และ Sir John Eliot Gardiner ในฐานะวาทยกรประจำวงดนตรีของสถานีวิทยุภาคเหนือที่เมือง Hamburg (NDR – Sinfonieorchester) รุ่นกลางก็คือ Sir Simon Rattle  ซึ่งประสบความสำเร็จมากในฐานะวาทยกรประจำวง Berlin Philharmonic Orchestra (ซึ่งผมเองยังไม่ค่อยจะสนิทใจนักว่าท่านผู้นี้ยอดเยี่ยมจริงดังที่สื่อช่วยกันหนุน)  ล่าสุดวาทยกรชาวสก็อต Donald Runnicles ก็รับงานในฐานะผู้อำนวยการดนตรีของโรง Deutsche Oper Berlin จนทำให้อุปรากรโรงนี้เด่นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ซบเซาไประยะหนึ่ง    สำหรับวาทยกรหนุ่มสุดและฉายแววอัจฉริยะให้เห็นอย่างจริงจังคือ Daniel Harding  ซึ่งเป็นวาทยกรประจำวง Swedish Radio Symphony Orchestra  (ดูบทวิจารณ์ของผมชื่อ  “The Mancunian Connection: Birtwistle and Mahler in Berlin”: www.thaicritic.com) สรุปว่าคุณทวด Sir Neville Marriner มิได้ข้ามช่องแคบอังกฤษมาคนเดียว  เมืองอังกฤษซึ่งเคยถูกพวกเยอรมันเหยียดหยามว่าเป็น “ดินแดนที่ร้างดนตรี”  (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Das Land ohne Musik  แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า the land without music)  มาบัดนี้ได้ผลิตผู้นำในทางด้านดนตรีในฐานะวาทยกรออกไปครอบครองแผ่นดินใหญ่ในยุโรปแล้ว  ผมไม่เคยฟังคุณทวด Sir Neville Marriner กำกับวงในการแสดงสดมาก่อนเลย  การแสดงในคืนวันที่ 9 ตุลาคม 2015  เป็นโอกาสที่ผมพลาดไม่ได้  (เพราะท่านเซอร์อายุ 91 แล้ว  และผมเองก็แค่รุ่นน้องท่านเท่านั้น  ไม่ใช่รุ่นลูกรุ่นหลาน!)  ผมตัดสินใจไปซื้อตั๋วเอาหน้าโรงอุปรากร  Komische Oper แต่พอไปถึงได้รับข่าวร้ายว่า  ตั๋วหมดเสียแล้ว  แสดงว่าท่านเซอร์มีแฟนประจำอยู่ไม่น้อย  โชคดีมีสุภาพบุรุษคนหนึ่งมารับตั๋วที่หน้างานและบอกว่าเพื่อนของเขามาไม่ได้  จึงขายตั๋ว 1 ใบให้ผม  นับเป็นโชคอันมหาศาล  หาไม่ผมอาจจะพลาดโอกาสไปตลอดก็ได้

komiche oper

(Komische Oper Berlin Orchestra)

          สูจิบัตรไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นรายการคีตนิพนธ์ของ Mendelssohn ทั้งหมด  ผมยังสืบค้นไม่ได้ว่า Sir Nerville Marriner เป็นผู้ที่มีความจัดเจนในงานของคีตกวีโรแมนติกเยอรมันท่านนี้เพียงใด  แต่เมื่อดูรายการแล้วก็แน่ใจได้ว่าเพลงที่เลือกมามีความหลากหลายพอที่จะจัดเป็นคอนเสิร์ตที่น่าสนใจขึ้นมาได้  วงดนตรีที่บรรเลงในคืนวันที่ 9  ตุลาคม 2015 เป็นวงประจำโรงอุปรากร Komische Oper และผมเองก็มีใจสวามิภักดิ์กับวงดนตรีประจำโรงอุปรากรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  เพราะนักดนตรีจะต้องปรับตัวตามวาทยกรและโดยเฉพาะตามนักร้องที่เปลี่ยนชุดหรือเปลี่ยนตัวไปทุกคืน  วงประจำโรงอุปรากรที่โดดเด่นที่สุดก็คือ วง Vienna Philharmonic Orchestra  ซึ่งใช้นักดนตรีของโรงอุปรากร  Vienna State Opera เป็นหลัก  พวกเขาไม่มีวาทยกรประจำ  ไม่ต้องการจะมี  และเชิญวาทยกรที่หลากหลายมากำกับวง คือ จะมาแบบไหนก็รับได้หมด  เพราะฝึกปรือมาอย่างดีแล้วกับองคนิพนธ์ทั้งของอุปรากรและทั้งของวงซิมโฟนี   สำหรับ Komische  Oper นั้น  ชื่อบอกว่า  แต่เดิมเดินตามขนบของฝรั่งเศสที่ตั้งโรงอุปรากรเฉพาะด้านที่เรียกว่า Opéra  Comique ขึ้นมาสำหรับแสดงอุปรากรประเภทที่มีทั้งเพลงร้องและบทเจรจา (dialogue) ขนบดั้งเดิมจะจัดอุปรากร เช่น Carmen ไว้แสดงที่ Opéra Comique (เพิ่งจะมาแหวกประเพณีแล้วย้ายมาแสดงที่โรงใหญ่เมื่อไม่กี่สิบปีนี่เอง) ขนบเยอรมันที่เรียกว่า Singspiel คือทั้งร้องทั้งพูดก็ต้องจัดเข้าแสดงที่โรงนี้  เช่น The Magic  Flute ไม่ได้แปลว่าคุณภาพต่ำกว่าโรงใหญ่  และสำหรับ Komische Opera แห่งกรุงเบอร์ลินนั้น  ชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ในเยอรมนี  เมื่อทศวรรษ 1960  รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกภาคภูมิใจกับคุณภาพของคณะอุปรากรนี้มาก  ส่งออกไปแสดงในต่างประเทศอยู่เป็นประจำ  ซึ่งผมเองก็เคยได้ชมมาแล้ว  เมื่อครั้งที่พวกเขามาออกโรงที่เมือง Stuttgart (ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองมหาวิทยาลัย Tübingen ที่ผมเคยศึกษาอยู่)  ในระยะหลังนี้  โรงอุปรากร Komische Opera  ก็โด่งดังขึ้นมาอีกเช่นกัน  เพราะได้รับการจัดอันดับให้เป็นโรงอุปรากร หมายเลข 1 ของเยอรมนีมาถึง 2 ครั้งแล้ว  คงไม่มีใครให้รางวัลโรงอุปรากรหรอก  ถ้าวงดนตรีไม่อยู่ในระดับแนวหน้าเช่นกัน  ผมชอบมาดูอุปรากรที่โรงนี้ เพราะนอกจากวงดนตรีจะดีแล้ว  เขายังมีการจัดแสดง (production) ที่แหวกแนวอยู่เสมอ  บางครั้งอาจจะบ้าตามทิศทาง “ละครของผู้กำกับ”  ที่รู้จักกันในนามของ Regietheater ไปบ้าง  แต่โดยทั่วไปเป็นงานของผู้กำกับการแสดงที่หัวก้าวหน้า แต่ก็เข้ากับวาทยกรและวงดนตรีได้ดี  โรงอุปรากรทุกโรงจะเอาอย่าง  Vienna Philharmonic Orchestra ด้วยการจัดซิมโฟนีคอนเสิร์ตเป็นประจำ  Komische Oper ก็เช่นกัน  ครั้งนี้ต้องการจะพิสูจน์หลักการบางอย่างว่า  ผู้อำนวยเพลงนั้นไม่ว่าจะแก่เพียงไหน  หรือจะเด็กเพียงไหน  ก็ร่วมงานกันได้  (ผู้อำนวยการโรงอุปรากรนี้ในระยะหลังๆ เป็นคนหนุ่มทั้งสิ้น  คนที่เพิ่งย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงอุปรากรแห่งเมืองมิวนิค  คือ Kirill Petrenko ซึ่งต่อไปจะไปรับตำแหน่งวาทยกรประจำวง Berlin Philharmonic Orchestra  ในปี 2018)  ครั้งนี้นักดนตรีกลุ่มนี้พร้อมใจที่จะทำงานร่วมกับคุณทวดอายุ 91 ปี

ผมจงใจเกริ่นนำให้ยาวสักหน่อย  เพราะต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องของขนบการแสดงดนตรีและอุปรากรของยุโรป  เพราะหาไม่จะเข้าใจตามคนยุโรปยุคใหม่ไปว่า  ความใหญ่และความโอ่อ่าคือตัวประกันคุณภาพ  คราวนี้เจ้าตำหรับวงดนตรีวงเล็ก  คือเชมเบอร์ออร์เคสตราคือท่านเซอร์เองมาพบกับวงดนตรีซิมโฟนีของอุปรากรโรงเล็ก  ซึ่งไม่ต้องการจะทำตัวให้เล็กอีกต่อไป  จึงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากันสักพักหนึ่ง  เมื่อคุณทวดปรากฏตัวบทเวทีของโรงอุปรากร  ซึ่งจัดแต่งเสียใหม่  โดยใช้ฝากั้นด้านหลังให้เสียงสะท้อนออกมาด้านหน้า  ผู้คนปรบมือกันอย่างกึกก้อง  เท่ากับเป็นการต้อนรับผู้มีคุณูปการของการดนตรีตะวันตก  คุณทวดเดินขึ้นแท่นกำกับวงอย่างรวดเร็ว โค้งคำนับแล้วยืนตัวตรง  โดยเริ่มบรรเลงทันที  ท่านเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยงานที่ Mendelssohn เริ่มเขียนในรูปของ Concert Overture ตั้งแต่อายุ 17 ปี  คือดนตรีประกอบละครเรื่อง  Midsummer Night’s Dream ของ Shakespeare  จึงมาสำเร็จครบชุดในช่วงท้ายของชีวิตอันสั้นของเขา  ก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่า  Mendelssohn นั้นคือหนูน้อยมหัศจรรย์ในบรรดานักแต่งเพลงคือจัดได้ว่าเป็นทายาทของ Mozart ได้เลยทีเดียว  ดนตรีชุดนี้มีความแจ่มใสสมกับเป็นดนตรีประกอบละครชวนหัว  ผู้เชี่ยวชาญเชกสเปียร์ทราบดีว่าการตีความละครชวนหัว (comedies) ของเชกสเปียร์นั้นยากยิ่งนัก  แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดว่า  คนเยอรมันจับวิญญาณของละครชวนหัวของเชกสเปียร์ได้ดีกว่าชาติอื่นๆ   ดังจะเห็นได้จากบทแปลและงานวิจารณ์ของ August Wilhelm Schlegel (ค.ศ. 1767-1845)  เมนเดลส์โซนเติบโตมาในขนบนี้ และเพลงที่เขาแต่งขึ้นเมื่ออายุ 17  นั้นก็ต้องทำให้คนอังกฤษเองต้องอ้าปากค้างไปเลยว่า  คนเยอรมันจับแก่นของละครเชกสเปียร์ได้อย่างไร คุณทวดเลือกคีตนิพนธ์บทนี้มาบรรเลง  5 ตอน  แต่ผมต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “แป้ก”  ทุกตอน  เพราะขาดความอ่อนไหวและความร่าเริงของวัยหนุ่มสาว  แม้แต่เพลง
มาร์ซงานแต่งงานที่เรารู้จักกันดีก็จืดชืด  ขาดความสง่างาม  คุณทวดเรียงลำดับให้ Scherzo มาเป็นท่อนสุดท้ายของการบรรเลง  โดยคาดหวังว่าจะตรึงคนฟังให้ได้  และผมก็ได้ฟังวง Philharmonia จาก London เล่นเพลงนี้แถมในมหกรรมดนตรีที่กรุงเบอร์ลินเมื่อปี 2013  ซึ่งต้องเรียกว่าสุดยอดอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน (ดูบทวิจารณ์ของผมชื่อ   “ฆ่าไม่ตาย-ข้าไม่ตาย-ค่าไม่ตาย  ว่าด้วยวงฟิลฮาร์โมเนียแห่งลอนดอน” ที่เว็บไซต์ www.thaicritic.com)  ผมว่าวงดนตรีเริ่มใจเสียแล้ว  เพราะถ้าทั้งรายการออกมาจืดสนิทเช่นนี้  คงเสียชื่อแน่  ผมเองก็ใจเสียตามไปด้วย  ไม่อยากจะให้คนเหยียบย่ำคุณทวดว่า  ควรจะเกษียณตัวเองไปนานแล้ว  แต่กลับยังฝืนธรรมชาติอยู่ได้  ในที่สุดคนหนุ่มสาวก็ตัดสินใจร่วมมือกันช่วยปลุกคุณทวดให้ตื่นขึ้นมาให้ได้

Augustin Hadelich

(Augustin Hadeich)

(Soloist)

          งานชิ้นต่อไปก็ต้องเรียกว่าเป็น “ม้าสงครามแก่” (old warhorse) ของวงการดนตรีคลาสสิกเช่นกัน  เพราะเล่นกันบ่อยเสียจนหาแง่มุมใหม่มาแสดงได้ยากมาก นั่นคือ Violin Concerto in E minor ซึ่งผู้แสดงเดี่ยวคือนักไวโอลินหนุ่มชาวอเมริกัน  Augustin Hadelich  คุณทวดกำกับวงแบบเดิม  คือเป็นงานประจำที่ท่านทำต่อเนื่องมาแล้ว  50 ปีเป็นอย่างต่ำ  (ถ้ารวมเวลาที่ท่านเป็นนักไวโอลินในวงซิมโฟนีด้วยก็ต้องนับได้ถึง 70 ปีขึ้นไป!)  นักไวโอลินคนนี้ไม่ธรรมดา  เขาไม่ “ทึ้ง” คอนแชร์โตบทนี้  แต่พยายามจะไปทางลึก  เจาะหาแก่นของงานให้ได้  แต่ก็แม่นยำในเชิงเทคนิคอย่างหาที่ติมิได้  คุณทวดท่านเคยชินมาอย่างไร  ท่านก็กำกับวงไปตามนั้น  ซึ่งโดยองค์รวมก็ต้องถือว่ามีมาตรฐาน  พอมาถึงตอนที่นักไวโอลินมีโอกาสแสดงเดี่ยวคนเดียวในช่วง Cadenza  เขาก็สื่อความมาอย่างชัดเจนเลยว่าเขาต้องการ Mendelssohn  ที่ไม่เคยแก่  เพราะลีลาเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาของคนหนุ่ม  นักดนตรีนั่งฟังเขาด้วยความสนใจ  และผู้ที่รับสารได้  คือหัวหน้าวง (concertmaster)  เป็นสุภาพสตรีที่เป็นนักไวโอลินมีฝีมือที่ได้รับรางวัลมาแล้ว  อาจจะแก่กว่าผู้แสดงเดี่ยวเล็กน้อย  พอเห็นนักดนตรีรุ่นน้องตกที่นั่งลำบาก  เธอก็ตัดสินใจทันทีว่า  จะต้องร่วมกับชายหนุ่มคนนี้ปลุกคุณทวดให้ตื่นให้ได้  พอจบ Cadenza และวงดนตรีเข้ามาเล่นรับในช่วงสุดท้ายของกระบวนที่ 1  หัวหน้าวงก็เอี้ยวตัวเข้าหาวงแล้วลงมือกำกับวงเสียเองจากที่นั่งหน้าสุดด้านซ้ายของวาทยกรนั่นเอง  เธอกับผู้แสดงเดี่ยวดูจะเข้ากันได้ดีมาก  การบรรเลงเปลี่ยนไปทันที  คุณทวดถูกลากตามไปด้วยโดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ตัวว่า  ท่านได้กลายเป็นนักดนตรีคนหนึ่งไปแล้วที่ถูกกำกับด้วยชายหนุ่ม-หญิงสาวคู่นี้  การบรรเลงน่าตื่นเต้นขึ้นมาทันที  เมื่อจบกระบวนที่ 1 แล้วต่อด้วยกระบวนที่ 2  โดยไม่มีการหยุดพัก (โดยเมนเดลส์โซนเขียนกำกับเอาไว้ให้เครื่องเป่าเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ)  แนวการบรรเลงเปลี่ยนไปแล้ว  นักไวโอลินพยายามไม่ให้น้ำหนักมากนักกับระดับเสียงต่ำของซอ  แต่สร้างความลึกขึ้นมาได้จากความสดใสและหวานซึ้ง  มันเป็นการตีความที่แปลกใหม่สำหรับผม  แต่ผมต้องยอมรับว่าเป็นการทำให้งานชิ้นนี้มีความหมายขึ้นมาในมิติที่เราไม่ค่อยจะได้ยินกัน  พอมาถึงกระบวนที่ 3  ทุกอย่างก็ลงตัว  แต่ผู้ที่กำกับวงที่แท้จริงก็ยังคงเป็นหัวหน้าวงอยู่นั่นเอง  ผมเกือบจะเดาว่านักไวโอลินทั้ง 2 คนมาจากสำนักเดียวกัน  (แต่ไปเปิดดูประวัติแล้วไม่ใช่)  ไม่ว่าไวโอลินเดี่ยวจะไปทางไหนจะเร็วจะช้า  วงดนตรีตามได้หมด  เครื่องเป่าซึ่งในงานชิ้นแรกทำท่าจะล้มลุกคลุกคลาน  พอมาถึงกระบวนที่ 3  ของคอนแชร์โตบทนี้ก็ดูจะมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม Violin Concerto จบลงด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย  ผู้ชมประทับใจมาก  ปรบมือกันอย่างกึกก้อง  ผู้แสดงเดี่ยวกลับมาบนเวทีหลายครั้ง  จนต้องแถมด้วย Caprice  หมายเลข 5 ของ Paganini มาถึงตอนนี้ไม่มีอะไรจะต้องออมแล้ว เขา “ปล่อยของ” ได้เต็มที่  Hadelich มีทั้งเทคนิคและทั้งสไตล์ที่หลากหลาย  น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อคุณทวดตื่นแล้วก็ต้องปล่อยให้ท่านได้แสดงฝีมือตามแบบของท่าน  ท่านกลับมาหลังพักครึ่งเวลาราวกับไปชุบตัวให้หนุ่มขึ้น  30 ปีเป็นอย่างน้อย  Overture: The Hebrides หรือ Fingal’s Cave ลงตัวเป็นอย่างดี  โดยกลุ่มเครื่องสายดำเนินลีลายืนพื้นชวนให้คิดถึงคลื่น  ในขณะที่เครื่องเป่าทำหน้าที่พรรณนาภาพอื่นๆ ไป  ฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่าคุณทวดรู้ตัวเป็นอย่างดีแล้วว่าท่านกำลังกำกับวงซิมโฟนีเต็มรูป  จึงต้องใช้ศักยภาพของวงให้เต็มที่  เครื่องลมไม้  โดยเฉพาะปี่คลาริแนตเล่นได้ดีขึ้นมาก  สรุปได้ว่าเครื่องร้อนแล้ว  พอมาถึงงานชิ้นสุดท้ายของเมนเดลส์โซนที่บรรเลงในครั้งนี้คือ Italian Symphony ก็กล่าวได้ว่าวาทยกรกับวงดนตรีเข้ากันได้เป็นอย่างดี  Marriner มีมโนทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับซิมโฟนีบทนี้  คือเป็นมโนทัศน์ของกลุ่มโรแมนติกเยอรมันที่โหยหาความแจ่มใสของเมืองใต้  และก็ค้นพบสิ่งที่ตนใฝ่ฝันอยากจะได้สัมผัส  ความโดดเด่นของการบรรเลงอยู่ที่การเปล่งคีตกวี (phrasing)  โดยเห็นได้ชัดจากกระบวนที่ 3  ซึ่งแม้จะเล่นค่อนข้างเร็ว  แต่ก็หวานซึ้ง  ครั้งนี้คุณทวดได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ แล้วว่า  ในช่วงเวลาที่ท่านตื่นตัว  ท่านยังทำหน้าที่กำกับวงได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่ท่านเคยทำได้เมื่อ 30 ปีก่อน

Arturo  Toscanini  เต็มใจเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 87 ปี  เพราะในการบรรเลงครั้งหนึ่งท่านรู้ตัวว่ามีอาการความจำบกพร่อง (memory lapse) โลกเปลี่ยนไปในด้านของสุขอนามัย  ผมได้เขียนถึงการกำกับวงนี้ยอดเยี่ยมของ Christoph  von Dohnanyi ไปแล้ว  ในคอนเสิร์ตของวง Phiharmonia ที่เบอร์ลินเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2015  อายุ 85 ปีไม่เป็นอุปสรรคอันใดเลย  Sir Neville Marriner เมื่ออายุ 91 ปีก็ดูยังจะไม่พร้อมที่จะเกษียณตัวเอง  และก็มีเหตุผลที่จะสนับสนุนให้ท่านได้ทำหน้าที่วาทยกรต่อไป

ผมกลับมาที่พักแล้วลองเปิด Youtube ฟัง Italian Symphony ที่ท่านอัดเสียงเอาไว้กับวงประจำของท่านคือ Academy of St Martin in the Fields  ผมว่าการบรรเลงของวง Komische Oper มีชีวิตชีวากว่ามากนัก  พวกนักดนตรีหนุ่มสาวในวงอุปรากรวงนี้สามารถหนุนให้คุณทวดสร้างงานที่อยู่ในระดับแนวหน้าขึ้นได้เมื่ออายุ 91 ปี  นี่มันอะไรกันนี่  เรื่องของดนตรีอธิบายได้ยากด้วยเหตุผลจริงๆ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*