“คู่กรรม” ฉบับละครเพลง

“คู่กรรม” ฉบับละครเพลง

 

พนิดา ฐปนางกูร

 

 

นวนิยายขายดีเรื่อง คู่กรรม ของ “ทมยันตี” ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นการแสดงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่เป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์และเป็นที่กล่าวขานเสียงทุกครั้งไป ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อโรงละครกรุงเทพร่วมกับกลุ่ม Dream Box ได้นำนวนิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นละครเพลง (musical play) จัดแสดงไปตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 16 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา เรื่องราวของความรักที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาของหญิงไทยกับทหารชาวญี่ปุ่นก็ยังคงสร้างความประทับใจให้กับประชาชนชาวไทยได้อีกครั้ง

ละครเพลงเป็นการสร้างสรรค์ที่เน้นหนักในด้านเนื้อเรื่อง บทร้อง และ ทำนองเพลง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นที่นิยมหรือ “ฮิต” (ไม่เช่นนั้นผู้จัดคงจะต้องขาดทุนเป็นแน่) ในหมู่ผู้ชมที่ต้องการรับความบันเทิงเริงใจ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้เขียนบทและผู้ประพันธ์ดนตรีจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้ละครเพลงเรื่องนั้นๆ ติดตลาดได้หรือไม่ การเลือกเรื่อง คู่กรรม มาปรับให้เป็นละครเพลงจึงเป็นสิ่งที่รับประกันจำนวนผู้ชมได้ในระดับหนึ่ง กระนั้น การเลือกเรื่องที่ติดอกติดใจประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมเป็นความหนักอึ้งของผู้เขียนบทคือ ดารกาวงศ์ศิริ ว่าจะวางโครงเรื่องและเขียนบทร้องให้กินใจได้อย่างไร จะเลือกหยิบเลือกทิ้งส่วนไหนในนวนิยายสองเล่มจบ ให้สามารถเล่าเรื่องเดิมได้อย่างไม่ขาดส่วนสำคัญใดไปในเวลา 3 ชั่วโมง

เรื่องราวระหว่างสงครามกับความรักก็ดูจะเป็นเรื่องที่มีนักเขียนทั้งไทยและเทศหยิบยกขึ้นมาเขียนให้ได้อ่านอยู่ทั่วไป การเลือกเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องเลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ยกขึ้นมาให้โดดเด่นนอกเหนือจากเรื่องของสงครามและความรัก และดารกาก็เลือกประเด็นในเรื่อง “สัญญา” ที่ “อังศุมาลิน” สาวไทยใจห้าวหาญทำสัญญาใจไว้กับ “วนัส” หนุ่มนักเรียนนอกที่ร่วมในขบวนการ “เสรีไทย” ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อ “โกโบริ” นายทหารชาวญี่ปุ่นผู้ทำหน้าที่เป็นวิศวกรต่อเรือ (ถ้าเป็นนักรบแทนที่จะเป็นวิศวกรแล้วละก็ อังศุมาลินคงจะดูกระด้างมากไปกว่านี้เป็นแน่) มาติดพัน ทำให้อังศุมาลินต้องทำสงครามกับสัญญาใจที่มีไว้ให้กับวนัสและทำสงครามกับสำนึกของผู้ถูกรุกราน ด้วยอังศุมาลินเลือกที่จะมองว่าโกโบริคือตัวแทนของ “สงคราม” ประเด็นนี้จะไม่เข้มข้นเลย หากดารกาไม่จัดวางให้ “วนัส” มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับ “โกโบริ” แทนที่จะเป็นเพียง “พระรอง” ซึ่งในขณะที่ภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ฉบับใดๆ ไม่เคยยกวนัสให้ขึ้นแท่นเป็น “คู่แข่ง” ของพระเอกมาก่อน เมื่อละครเพลงได้จัดวางให้โกโบริเข้าใจว่าวนัสคือคนที่อังศุมาลินรักและวนัสก็เข้าใจว่าโกโบริคือคนที่อังศุมาลินรัก และให้ชายหนุ่มทั้งสองได้ประจันหน้ากัน พร้อมร่ำร้องในบทเพลงความในใจชื่อ “นี่หรือคือคนที่เธอรัก” ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสาร และเห็นใจชายหนุ่มทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน นับเป็นการหยิบประเด็นเรื่อง “สัญญา” มาตีความอย่างชาญฉลาดยิ่งของผู้เขียน

กระนั้น “อาการเกร็ง” ของผู้เขียนบทที่ปรากฏให้เห็น ด้วยการดำเนินเรื่องและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ นั้น ตั้งอยู่บนฐานของสงคราม ผู้เขียนจึงวางฉากสงครามให้สลับไปกับฉากการพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครโดยตลอด ประหนึ่งเกิดความ “รักพี่เสียดายน้อง” การวางบทเช่นนี้ทำให้เส้นกราฟอารมณ์ของผู้ชมขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่ได้คือความเครียดทางอารมณ์ที่ผู้ชมจะต้องปรับไปมา ด้วยการกระตุ้นจากบทร้องและทำนองที่ฉากหนึ่งเป็นรักหวานซึ้ง อีกฉากหนึ่งเป็นความคุกรุ่นของสงคราม ราวกับผู้เขียนบทตัดใจไม่ขาดจากประเด็นสงคราม และในท้ายเรื่องประเด็นของสัญญากับความรักก็แย่งตำแหน่งไปครอง อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของสงครามที่ปรากฏบนเวทีละครนั้นผู้กำกับการแสดงคือ สุวรรณดี จักราวรวุธ ไม่ได้ทำให้ดูดุดัน น่าสะพรึงกลัวเท่าใดนัก และคงจะทำได้ยาก ด้วยจังหวะและทำนองเพลงที่ออกแนวหวานเสนาะของไกวัล กุลวัฒโนทัย อีกทั้งการจัดแสงนั้นสร้างความแตกต่างระหว่างฉากความรักกับฉากสงครามอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก ผู้ออกแบบแสงเลือกใช้แสงสีในฉากสงครามที่ให้ความรู้สึกแห้ง กระด้าง มากกว่าแสงสีที่น่าหวาดหวั่น ซึ่งเป็นการพยายามที่จะให้แสงที่แตกต่างไปจากฉากความรัก จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้ออกแบบแสงมีการตีความแฝงอยู่หรือไม่ในการทำให้ฉากความรักเป็นแสงสีแสดงอารมณ์กับฉากสงครามที่ดูสว่างกระด้างเป็นจริง แต่เมื่อหนึ่งชั่วโมงผ่านไปก็ไม่พบกับการตีความระหว่าง Expressionism กับ Realism เช่นนี้อีก

เป็นธรรมดาของละครเพลงที่จะต้องมีดาราชูโรง ซึ่งจะต้องคัดจากคุณภาพของ “เสียง” เพื่อใช้ในการขับร้องเป็นอันดับแรก และจะต้องมีความสามารถในด้านการแสดงรวมไปถึงการเต้นรำประกอบด้วย สำหรับ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ผู้รับบทสำคัญคือ “อังศุมาลิน” แจ้งเกิดในฐานะนักร้องแน่นอน แต่การเป็นนักแสดงที่จะต้องขับร้องแสดงอารมณ์และตีความลักษณะตัวละครนั้น ยังต้องอาศัยชั่วโมงบินที่เพิ่มขึ้น การคัดเลืกผู้แสดงในบทบาทอื่นๆ ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของเสียงเป็นสำคัญ แน่นอนว่าบทบาทของ “นางเอก” คงจะไม่เป็นของผู้ที่มีเสียแหบพร่า ทุ้ม ต่ำ กระด้างราวนางยักษ์เป็นแน่

ดาราชูโรงอีก 2 คนที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้คือ ผู้แสดงนำฝ่ายชายทั้งที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและเมดอินไทยแลนด์นั้น คุณภาพของเสียงยังไม่ได้ระดับของมืออาชีพ เซกิ โอเซกิ ผู้รับบท “โกโบริ” ยังต้องฝึกการจำแนกเสียงด้วยในหลายๆ ท่อนของบทเพลงทั้งหลายนั้น พ่อดอกมะลิยังร้องเพี้ยนไล่เสียงดนตรีไม่ถูก ข้อแก้ตัวก็คงจะเป็นว่า การเลียนสำเนียงภาษาไทยนั้นต้องใช้เวลามากกว่านี้ สำหรับ “วนัส” หรือ วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ นั้น อาจจะดูแลเสียงของตัวเองน้อยไปเสียงร้องที่ออกมาจึงพร่า และขยับปากน้อยไปทำให้อักขระที่ได้ยินจึงไม่ชัดเจนนัก การร้องในหลายๆ เพลงยังติดแนวเพลง Pop ซึ่งขาดการตีความอารณมณ์ หรือบทเพลงไป

สิ่งที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งคือตัวละครชูรส อาทิ ตาผล ตาบัว ยายเมี้ยน เป็นตัวละครที่สร้างความสนุกสนานให้แก่เรื่องได้ ทั้งบทเพลง จังหวะและทำนองเพลงก็ยังเอื้อให้ผู้แสดงได้เล่นกับเสียงร้องของตนเองอยู่บ้าง จะติดขัดก็ด้วยจังหวะของเพลงที่ผู้ประพันธ์หรือผู้ควบคุมวงอาจจะลืมนึกถึงจังหวะการแสดงที่จะต้องมาพร้อมกับจังหวะการร้อง ทำให้ผู้แสดงต้องรอจังหวะดนตรีอยู่หลายครั้ง ฉากตลกจึงไม่ตลกไปด้วย ด้วยความตลกนั้นต้องอาศัยจังหวะที่ถูกต้อง หากช้าไปนิดเร็วไปหน่อยก็จะไม่ได้ความตลก และผู้แสดงก็ยังไม่ได้ใช้เสียงที่หลากหลาย ที่ผู้แสดงจะนำพาความรู้สึกของผู้ชมไปสู่จุดที่สนุกสนาน หัวร่อได้ เสียงของ “ยายเมี้ยน” นำแสดงโดย สุทธิจิต วีระเดชกำแหง ยังออกแนวนางเอกแทนที่จะเป็นนางตลาดปากปลาร้า และในรอบที่ เด๋อ ดอกสะเดา เล่นเป็น “ตาบัว” ก็ยังไม่สามารถจับจังหวะการแสดงรับส่งที่สนุกสนานกับดิเรก ชัยนาน ผู้เล่นเป็น “ตาผล” ได้ดีนัก การเล่นกับเสียงของทั้งสองก็ยังไม่เต็มที่ ทั้งๆ ที่สามารถทำได้มากกว่านี้ จะขอยกตัวอย่างครอบครัว “เตนาร์ดิเย” เจ้าของโรงเตี้ยมที่เห็นแก่เงินในละครเพลงเรื่อง Les Misérables เป็นตัวอย่างการเล่นกับเสียงร้องได้อย่างสนุกสนาน บ่งบอกบุคลิกลักษณะตัวละครได้เป็นอย่างดี ถ้าหากฉากตลกทั้งหลายในเรื่อง คู่กรรม ทำหน้าที่ได้มากกว่านี้ ละครทั้งเรื่องก็จะไม่หนักอึ้งเช่นที่เป็นอยู่

การสร้างสรรค์ละครเพลงเพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ นอกจากการกระตุ้นประสาทสัมผัสการฟังของผู้ชมด้วยบทเพลงแล้ว ผู้กำกับการแสดงจะต้องทำงานร่วมกับผู้ออกแบบด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบลีลา (Choreographer) ผู้ออกแบบแสง ผู้ออกแบบฉาก ผู้ออกแบบอุปกรณ์ประกอบฉาก ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้ออกแบบการแต่งหน้า และผู้ออกแบบเทคนิคพิเศษ รวมไปถึงการทำงานกับผู้ควบคุมวงดนตรี นับเป็นการทำงานเพื่อความบันเทิงที่ไม่ง่ายแต่อย่างใดเลย ในด้านการออกแบบนี้ ผู้กำกับจะต้องพิจารณาว่าจุดเด่นควรจะอยู่ที่ใด หากต้องการให้ฉากเด่น ผู้ออกแบบฉากและผู้ออกแบบเทคนิคพิเศษจะต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เช่นในเรื่อง Miss Saigon ที่ได้รับการกล่าวขานถึงฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์ทั้งลำลงจอดบนเวที หรือเรื่อง The Phantom of the Opera อันโด่งดังกับฉากโคมระย้ายักษ์ลอยผ่านศีรษะผู้ชมไปกองอยู่บนเวทีโดยสงบในต้นเรื่อง และอีกหลายๆ ฉากที่ใช้เทคนิคพิเศษให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจ หากต้องการให้เครื่องแต่งกายเด่น ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายจะต้องทำงานร่วมกับผู้ออกแบบแสง ที่จะช่วยให้เครื่องแต่งกายนั้น ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นในแสงไฟ เช่นในเรื่อง Cat และ The Lion King

สำหรับโจทย์ของเรื่อง คู่กรรม ถ้าถามว่าอะไรโดดเด่นในการออกแบบโจทย์ใหญ่ก็จะต้องตกเป็นของการออกแบบฉาก โดย ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ นั่นเอง ที่จะต้องออกแบบฉากร่วมสิบฉาก ที่โดดเด่นที่สุดก็เป็นฉากบ้านกับต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยส่องแสงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน อย่างไรก็ตาม แนวการออกแบบฉากของฤทธิ์รงค์ยังคงอยู่ในแนวระนาบ เมื่อย้อนนึกไปถึงฉากพระราชวังในเรื่อง ลิลิตนิทราชาคริต ที่จัดแสดงโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในเรื่อง คู่กรรม นี้ ก็เช่นเดียวกับฉากที่ทำการของนายพลเซจิ และหลวงชลาสินธุราช รวมถึงฉากแต่งงาน ฉากต้นกล้วยก็ยังจัดวางในแนวระนาบ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเงื่อนไขพื้นที่ของเวทีที่ค่อนข้างตื้น สำหรับการจัดละครหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการทำงานระหว่างผู้ออกแบบฉากกับผู้ออกแบบแสงจะแยกขาดจากกัน ด้วยในหลายๆ ฉากนั้นแสงไม่ได้เอื้อให้ฉากสร้างบรรยากาศได้มากนัก

เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่สุด คือ บทละคร และถ้าหากมีการปรับให้จังหวะดนตรีกระชั้นขึ้นกว่านี้ และจัดแสดงมากรอบขึ้นเพื่อให้นักแสดงไม่กังวลกับการร้อง เพื่อจะได้แสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น เข้าใจว่าตัวละครมากขึ้นและตัดฉากวิญญาณโกโบริซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้มากกว่าความซาบซึ้งแล้วละก็ ละครเพลงเรื่อง คู่กรรม จะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นผลงานสร้างสรรค์โดยคนไทย ด้วยนวนิยายไทยที่น่าดูที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

 

————————-

 

ที่มา :  พนิดา ฐปนางกูร. “ ‘คู่กรรม’ ฉบับละครเพลง”, ขวัญเรือน. (ปักษ์หลัง  พฤศจิกายน 2546).  และพิมพ์ซ้ำใน  คงกฤช  ไตรยวงค์. (บรรณาธิการ)  “ ‘คู่กรรม’ ฉบับละครเพลง”,  ลายลักษณ์แห่งการวิจารณ์  รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย เล่ม 2. กรุงเทพฯ :  ชมนาด, 2550

 

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*