เพิ่งคิดได้ว่า โลกของเพลงไทยสากลกว้างใหญ่นัก

เพิ่งคิดได้ว่า  โลกของเพลงไทยสากลกว้างใหญ่นัก

ศรวณี

เจตนา  นาควัชระ

เมื่อศรวณี  โพธิเทศ ออกแสดงในรายการ “บูชาอาลัย 33 ปี ครูเอื้อ กับ ศรวณี โพธิเทศ” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2557 ณ โรงละครแห่งชาติ  ผมสังเกตได้ว่า เธอพยายามที่จะเลี่ยงแสดงบทบาทที่โดดเด่น และรายการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง  ดังที่ผมได้ให้เหตุผลไว้แล้วในหัวเรื่องของบทวิจารณ์ในครั้งนั้นว่า “เมื่อนางเอกไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็นนางเอก  ทุกคนจึงมีโอกาสได้เป็นเอก”  การแสดงครั้งล่าสุดในรายการ “ผู้หญิงคนนี้ ศรวณี  โพธิเทศ ตอน จะรอรักจากเธอ” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2557 ณ หอประชุมเล็ก   ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ศรวณีแสดงตัวเต็มที่  โดยร้องเพลงเองถึง 15 เพลง  นักร้องหลักเพื่อนของเธอ คือ  ฉันทนา กิติยพันธ์ และสุดา  ชื่นบาน  ก็มาร่วมกับเพื่อนรักอีกเช่นเคย  รวมทั้งวินัย  พันธุรักษ์ ด้วย  การจัดให้เล็กกลับกลายเป็นการสร้างคุณภาพการบรรเลงและการแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม   วงดนตรีที่ใช้เป็นหลักในครั้งนี้ก็จัดได้ว่าเป็นกลุ่มนักดนตรีที่ผ่านการฝึกฝนระดับคลาสสิกมาทั้งหมด  คือมาจากวงดุริยางค์ทหารเรือ  มีทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่า เล่นประกอบกันในรูปของ light classical orchestra  และแน่นอนที่สุดว่า เป็นวงดนตรีที่ได้ซ้อมมาแล้วก่อนขึ้นเวที  นักดนตรีที่ได้รับบทบาทเด่นที่สุด คือผู้เล่นทรัมเป็ต  นอกจากนั้น  ผมยังแอบเห็นว่า โน้ตที่วาทยกรใช้นั้นเป็นโน้ตเต็มรูปที่ระบุเครื่องดนตรีที่แสดงไว้ทั้งหมด (full score)  เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้วที่จะหาวงดนตรีที่ไม่ทำให้นักร้องต้องตื่นตระหนกว่า  ใครจะล่มก่อนใคร  ดังที่เป็นกันอยู่

ระหว่างแสดงผมเห็นคุณหมอวราห์  วรเวช  นั่งอยู่กลางโรง  มีเพลงหลายเพลงของท่านที่ได้รับการนำออกแสดงในวันนี้  เมื่อการแสดงจบลง  ผมจึงรีบเข้าไปหาท่านแล้วบอกท่านว่า  ผมได้คิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเพลงไทยสากลที่มีความสำคัญมากสำหรับตัวผมเอง นั่นก็คือ โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลนัก  ที่ผมติดกับสุนทราภรณ์มาตั้งแต่เด็กจนแก่ก็อาจจะเป็นความคับแคบของผมเอง (และของคุณพ่อและพี่ๆผมด้วย) ผมบอกคุณหมอว่า เพลงของคุณหมอและเพลงอื่นๆ ที่ผมได้รับฟังในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่จะดึงเอาศักยภาพของการสร้างทำนอง การแต่งเนื้อร้อง และ การขับร้องออกมาจากศิลปินไทยได้อย่างเต็มที่  โดยที่มีความแตกต่างไปจากโลกของสุนทรภรณ์  ที่ผมถือว่าเป็นสุดยอดของเพลงไทยสากลมาตลอด  คุณหมอวราห์มีวิธีการตอบผมอย่างผู้ดีจริงๆ  โดยที่ท่านกล่าวว่า “ผมเองก็ยกย่องสุนทราภรณ์” ผมจึงก็ตอบกลับท่านไปว่า “จริงครับ คุณหมอ  แต่ถึงอย่างไร คุณหมอก็เขียนเพลงต่างไปจากสุนทราภรณ์ และวันนี้ผมเพิ่งตื่นขึ้นรับความจริงว่า ทางเลือกอื่นๆ นั้นก็มีคุณภาพเช่นกัน”

ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์เพลงเป็นเพลงๆ ไป  แต่จะขออนุญาตอภิปรายในเชิงมโนทัศน์ (concepts)  เพลงสุนทราภรณ์ที่ผมชื่นชมมาตลอดชีวิตนั้นมีแบบแผนที่ชัดเจน  ครูเอื้อ และผู้ร่วมงานของท่าน โดยเฉพาะผู้แต่งคำร้องทุกท่านที่ผมเรียกว่าเป็นกวีนั้น  มีความคิดแนวคลาสสิก  คือ หาเสรีภาพให้ได้ในกรอบที่รับสืบทอดมา หรือกรอบที่สร้างให้กับตัวเอง  เรื่องนี้เพื่อนผมผู้ล่วงลับไปแล้ว คือ อาจารย์วาสิษฐ์  จรัณยานนท์  ได้เขียนอภิปรายไว้แล้วในบทความชื่อ “พื้นฐานทางดุริยางคศิลป์ของเพลงสุนทราภรณ์:  พื้นฐานดนตรีคลาสสิก” ในการประชุมสุนทราภรณ์วิชาการ ครั้งที่ 1  เมื่อวันที่ 12-17 มิถุนายน 2532 ณ หอสมุดแห่งชาติ  อาจารย์วาสิษฐ์วิเคราะห์ให้เห็นว่า  ครูเอื้อสืบสายสกุลดนตรีสากลมาจาก Franz Schubert (ค.ศ. 1797-1828) เมื่อมาพัฒนาให้เข้ากับวงดนตรีประเภทบิ๊กแบนด์ และเมื่อได้สัมผัสกับเพลงไทยเดิมไปพร้อมกันด้วยนั้น  ก็ยังรักษาความเป็นคลาสสิกเอาไว้ได้  ไม่ว่าจะถ่ายทอดอารมณ์ที่รุนแรงหรือปวดร้าวเพียงใด  ศิษย์ของโรงเรียนพรานหลวงท่านนี้ก็ยังรักษาทางสายกลางเอาไว้ได้  ผมย้อนกลับไปคิดถึงเพลงที่เศร้ามากๆ เช่น “ฉันไม่งาม” ที่วินัย  จุลละบุษปะ ขับร้องนั้น  จะเป็นคนละโลกกับเพลงที่นำมาแสดงในรายการของศรวณีครั้งหลังนี้  เช่นเดียวกับชะตากรรมของหญิงผู้ชอกช้ำ  ก็จะไม่มีวันที่จะ “ระเบิด”อารมณ์ออกมา  แต่จะคร่ำครวญเป็นบทกวี  เพลงสุนทรภรณ์ เช่น “ผู้ที่พระเจ้าลืม” ซึ่งเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี ขับร้อง หรือเพลง “วิมานทะลาย” ที่มัณฑนา  โมรากุล ขับร้อง  เป็นการเลี่ยงการแสดงออกที่รุนแรง และนำความทุกข์ฝังเอาไว้ในใจตนเอง  ถ้าจะพูดตามอาจารย์วาสิษฐ์ก็คงจะต้องสรุปว่า  ครูเอื้อและคณะยังรักษาคุณลักษณะที่เป็นเพลงร้องเชิงศิลปะ (art song) เอาไว้ได้  ถ้าจัดเข้าประเภทตามกวีศาสตร์โบราณของตะวันตก  ก็คงจะเข้าประเภท lyrical มากกว่า dramatic  แม้แต่เพลงที่ใช้ในการแสดงละครเวที เช่น 5 เพลงอมตะจากจุฬาตรีคูณ  ก็ยังมีลักษณะที่เรียกว่า lyrical อยู่เช่นกัน

ในบ่ายวันที่ 3 สิงหาคม 2557  ผมมีโอกาสได้ฟังเพลง “กลกามแห่งความรัก” ที่ฉันทนาขับร้องสด (ซึ่งเวลาผ่านไป 30 ปี  เธอยังร้องได้หนักแน่นเหมือนกับตันฉบับที่เธอสร้างไว้)  นี่มันคนละโลกกับสุนทราภรณ์อย่างชัดๆ เพราะเพลงประกอบภาพยนตร์เพลงนี้สะท้อนชะตากรรมของตัวเอกของเรื่องที่ต้องใช้ชีวิตที่ขมขื่นอย่างสุดๆ   จนต้องจบชีวิตด้วยอัตวินิบาตกรรม  เพลงจึงต้องแหวกกรอบคลาสสิกแบบสุนทราภรณ์ออกมา  ดุดันในบางครั้ง  มีการใช้ภาษาที่ให้ใกล้ที่สุดกับความรู้สึกอันชมชื่นของตัวละคร  แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องยั้ง  การร้องจึงไม่ลื่นไหล  จงใจให้สะดุดเป็นระยะๆ  เพื่อจะได้เปล่งเสียงให้สาสมกับความทุกข์ที่อยู่ในใจ  บางครั้งเพลงเกือบแปรรูปไปเป็นคำพูด  จนแทบจะกลายเป็นประเภทที่วงการดนตรีตะวันตกเรียกว่า “กึ่งร้องกึ่งพูด” (Sprächgesang) อย่างนี้คงต้องจัดเข้าระบบ dramatic มากกว่า lyrical อย่างแน่นอน  ที่ผมยกตัวอย่างเพลง “กลกามแห่งความรัก” มาวิเคราะห์นั้น  เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า  ความรุนแรงที่สร้างขึ้นมาในงานศิลปะหรือให้เป็นงานศิลปะ   ไม่ใช่ความรุนแรงเหมือนในชีวิตจริง  ไม่จำเป็นต้องห้าว  หยาบ หรือ กร้าน  แต่ยังรักษารสนิยมอันดีเอาไว้ได้  นั่นคือ นวัตกรรมทางศิลปะที่น่ายกย่อง

ศรวณีเองก็ร้องเพลงที่แตกต่างออกไปจากเพลงสุนทราภรณ์  ซึ่งเธอเคยฝึกร้องเมื่อตอนที่สมัครเข้าไปเป็น “ดาวรุ่งพรุ่งนี้”   เพลงที่คุณหมอวราห์แต่งให้  เช่น “วิวาห์วาย” หรือ “คำขอร้องครั้งสุดท้าย”  ต้องจัดว่าเข้าในกลุ่มของเพลงประเภท dramatic ไม่ใช่ลักษณะ delicato หรือ grazioso ของแนวดนตรีตะวันตก  แต่มีการเน้นเป็นช่วงๆ  คำร้องโดดเด่นมาก  มิใช่เป็นการให้ทำนองนำแล้วใส่คำร้องภายหลังเช่นเพลงสุนทราภรณ์ส่วนใหญ่  ในการแสดงครั้งนี้  ศรวณีใช้เสียงได้หนักแน่นมาก  ต่างจากการแสดงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เข้าใจว่า คนอายุขึ้นเลข 7 แล้วต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการอุ่นเครื่อง เสียงจึงจะเข้าที่   และในการร้องครั้งหลังสุดนี้  เธอมีโอกาสมากกว่าการอุ่นเครื่องอย่างแน่นอน  แม้ว่าบางเพลงที่เธอร้องเป็นงานต้นแบบของรุ่นพี่  เช่น เพลง “เจ้าหัวใจ” ของ ป. ชื่นประโยชน์ ซึ่งสวลี  ผกาพันธ์ เคยร้องเอาไว้  เธอก็ใช้วิธีร้องในทาง dramatic ได้อย่างน่าทึ่ง

รายการครั้งนี้มีความหลากหลาย  สุดา ชื่นบาน  ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งว่า  เธอได้เรียนรู้การสร้างอารมณ์ขันมาจากนักแสดงจำอวด  แต่จากจำอวดแบบประเพณีกว่าจะมาเป็นจำอวดที่แฝงอยู่ในเพลงได้  เธอก็ย่อมจะต้องได้ลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานทีเดียว  การตลกด้วยคำพูดนั้นเป็นอย่างหนึ่ง  แต่ตลกด้วยเพลง ด้วยการร้อง  ด้วยการตีความ  เป็นศิลปะชั้นสูง  สุดากับฉันทนาร้องเพลงคู่ด้วยกันมานานและเข้ากันได้ดี  บางครั้งสลับไปเป็นเสียงประสานได้อย่างเหมาะเจาะ  การแสดงในครั้งนี้จึงไม่ใช่รายการของเพลงคนแก่  ร้องโดยคนแก่ เพื่อคนฟังที่แก่พอกัน  แต่เป็นการประกาศความจริงว่า  วงการดนตรีสากลของเรานั้น สร้างงานที่มีคุณภาพเอาไว้มาก  นักร้องรุ่นหลังจะนำเพลงรุ่นของคุณป้าและคุณย่ามาร้องใหม่ ด้วยการตีความใหม่หรือไม่  นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทาย  ตัวอย่างของ “คลื่นลูกใหม่” ของสุนทราภรณ์น่าสนใจมาก  ชายหนุ่ม-หญิงสาวกลุ่มนี้เป็นนักร้องที่มีคุณภาพอย่างไม่ต้องสงสัย  แต่ก็ยังไปไม่ถึงขั้นที่จะสร้าง “การตีความใหม่”  หรือไม่มีใครที่ชี้ทางให้แก่พวกเขา  เป็นการยากที่ผู้ที่รักดนตรีอย่างผมจะยอมรับว่า  ยุคทองอยู่ในอดีต  และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต  เพลงที่วินัย  พันธุรักษ์ นำมาร้อง  ซึ่งมาจากเพลงของกลุ่ม The Impossible จัดได้ว่าเป็นเพลงรุ่นกลาง  แต่นั่นก็ 20-30 ปีมาแล้ว  ไปฟังคอนเสิร์ตของผู้อาวุโสครั้งใด  ก็เกิดทั้งความรู้สึกชื่นชมว่า  เหตุใดวงการดนตรีไทยสากลถึงได้มีอัจฉริยภาพที่โดดเด่นเช่นนี้  แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้เช่นกันว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา  เรามีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ  จะเรียน voice training ให้ถูกแบบแผนก็ย่อมมีโอกาส  (ศรวณีไม่เคยเรียน voice training แต่ร้องเพลงได้ในระดับกึ่งอุปรากร หรือ semi-operatic)  จะเรียนเครื่องดนตรีอะไร  ก็หาครูสอนที่มีคุณภาพได้  จะเรียนการแต่งเพลง (คลาสสิก)  ก็มีที่ให้เรียนเช่นกัน  โดยมีครูผู้สอนที่จบปริญญาเอก  เหตุใดจึงไม่มีนักแต่งเพลงรุ่นหลังที่เทียบได้กับครูเอื้อและกลุ่มนักแต่งเพลงนอกรั้วกรมประชาสัมพันธ์รุ่นก่อน  ที่สร้างผลงานอันหลากหลายเอาไว้  คำตอบอาจจะเป็นเรื่องของสังคมวิทยาเสียมากกว่า  นั่นก็คือ  สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมบริโภคไปเสียแล้วในแทบทุกด้าน  โดยละเลยการมุ่งเน้นความสามารถในการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*