รุ่งอรุณในยามค่ำคืน กับ The Phillips String Quartet

รุ่งอรุณในยามค่ำคืน กับ The Phillips String Quartet

LeoPhillips-violin

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

นับเป็นครั้งแรกในชีวิตผม ที่ได้มาเยือน British Club ถนนสีลม ซึ่งสมัยก่อนอาจจะถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามที่มีแต่ชาวเกาะบริเตนเท่านั้นถึงจะเข้าไปได้แม้ว่าปัจจุบันได้เปิดกว้างให้เป็นสถานที่สังสรรค์สำหรับทุกเชื้อชาติแล้วด้วยกิจกรรมนันทนาการและอาหารการกินที่หลากหลาย(แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นพื้นที่เฉพาะของคนอังกฤษอยู่ดี) ที่ผมได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากมีการแสดงดนตรีของวง Phillips String Quartet ซึ่งเป็นวงเฉพาะกิจ นำโดยเลโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) นักไวโอลินชาวอังกฤษ ซึ่งได้มาพำนักในประเทศไทยมานานกว่า 10ปีแล้ว และได้แสดงดนตรีอย่างสม่ำเสมอและหลากหลาย ทั้งเป็นผู้แสดงเดี่ยว หัวหน้าวงดุริยางค์ (Concertmaster) นักดนตรีวงเชมเบอร์ และวาทยกรด้วย ซึ่งแฟนๆ คอคลาสสิกรู้จักเป็นอย่างดี ร่วมด้วย รุธ ฟิลลิปส์ (Ruth Phillips) น้องสาวซึ่งเป็นนักเชลโลฝีมือระดับนานาชาติ และมีความเชี่ยวชาญในดนตรีที่หลากหลาย ทัศนา นาควัชระ นักไวโอลินมือต้นๆ ของไทย ซึ่งมักสลับมาเล่นวิโอลาเสมอ ทั้งในวงดุริยางค์ขนาดใหญ่และวงดนตรีเชมเบอร์ รวมถึง รวยชัย แซ่โง้ว นักไวโอลินรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มีผลงานการแสดงร่วมกับวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากมายรับบทบาทเป็นไวโอลินแนวที่สอง

Ruth

การแสดงครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้องสุรวงศ์ British Club โดยมีโปรแกรมที่ค่อนข้างน่าสนใจมาก มีทั้ง Quartet No.17 in B flat Major, K458, “The Hunt”ผลงานของโมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart,1756 – 1791 : คีตกวีชาวออสเตรีย) Chacony in G minorผลงานของเฮนรี เพอร์เซลล์ (Henry Purcell, 1659 -1695 : คีตกวีชาวอังกฤษ) Quartet No.63 in B flat Major Op.76, No.4, “Sunrise”  ผลงานของไฮเดน (Joseph Haydn,1732 – 1809 : คีตกวีชาวออสเตรีย)และปิดท้ายด้วย Andante Cantabileผลงานของไชคอฟสกี้ (PyotrIlyich Tchaikovsky, ,1840 -1893 : คีตกวีชาวรัสเซีย)เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมที่มาจากยุคสำคัญทางดนตรีตะวันตกทั้ง 3 ยุค คือยุคบารอค ยุคคลาสสิก และยุคโรแมนติก แต่ที่เป็นหัวใจสำคัญคือสองเสาหลักแห่งยุคคลาสสิกอย่างไฮเดนและโมซาร์ต ซึ่งหากผมเดาไม่ผิด การตั้งชื่อคอนเสิร์ตนี้ว่า “Sunrise in the East” อาจเป็นความจงใจของผู้จัดงานหรือหัวหน้าวง ที่พยายามเล่นคำกับชื่อเล่นของเพลงของไฮเดน ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของการแสดง และพยายามบ่งบอกว่าดนตรีคลาสสิกตะวันตกก็มาเจิดจรัสดุจดังพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นจากขอบฟ้าที่ดินแดนบุรพทิศอย่างสยามประเทศก็เป็นได้ อีกทั้งย้ำไปบนปกของสูจิบัตรด้วยภาพของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งมีความหมายที่ตรงกับคำว่า sunrise เช่นกัน

บทเพลงแรกเริ่มต้นด้วยสตริงควอร์เต็ทของโมซาร์ต กระบวนแรก Allegro vivace assai มีท่วงทำนองที่รื่นรมย์ กระฉับกระเฉง ค่อนข้างฟังสบายไม่โลดโผนรุนแรงมากนัก บางช่วงก็เปลี่ยนอารมณ์มาเป็นสงบนิ่งและออกหม่นหมองเล็กน้อย ก่อนจะคลี่คลายกลับมาที่ทำนองหลัก โดยไวโอลินหนึ่ง มีบทบาทสูงมากในการเดินท่วงทำนองหลัก แต่บางครั้งไวโอลินสองก็สลับขึ้นมามีบทเด่นบ้าง รวมถึงวิโอลาและเชลโล ก็ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการบรรเลงแนวทำนองหลักด้วย กระบวนที่สองMenuetto& Trio (Moderato)มีท่วงทำนองกึ่งหวานกึ่งเศร้า กล่าวคือจะรื่นเริงแต่ก็ไม่ถึงที่สุด เพราะมีท่วงทำนองที่ออกแนวเศร้าๆ ในบันไดเสียงไมเนอร์แทรกมาตลอด แต่ก็ฟังได้เพลิดเพลินดี เครื่องสายเสียงต่ำจะเน้นบทบาทในการประคับประคองทำนองหลักของไวโอลินหนึ่งและสอง โดยไม่เน้นเล่นทำนองหลักเอง ส่วนกระบวนที่สาม Adagioมีทำนองที่เนิบช้า กึ่งหวานกึ่งเศร้าเช่นกัน บางช่วงดูสงบเคร่งขรึม บางช่วงก็ดูเปลี่ยวเหงา โดยมีเชลโลเล่นทำนองหลักในช่วงเสียงต่ำเสริมอารมณ์หม่นหมองของแนวทำนองได้เป็นอย่างดี และกระบวนสุดท้าย Allegro assaiเป็นกระบวนที่สนุกสนานที่สุดในบทเพลงนี้ โดยมีท่วงทำนองที่รวดเร็วตื่นเต้นเร้าใจ แต่ก็มีความเรียบร้อยละเมียดละไมอยู่ในที ไม่โฉ่งฉ่างหรือรื่นเริงไปจนสุดทาง  โดยมีการสงวนอารมณ์ไว้บ้าง และบางช่วงก็มีท่วงทำนองและลีลาที่อ่อนหวานน่าประทับใจ โดยที่ไวโอลินหนึ่งและสองจะสลับกันรับบทเด่นในแนวทำนองหลักได้อย่างไพเราะและลงตัว

ในบทเพลงของเพอร์เซลล์ Chacony in G minor เป็นการเล่นเครื่องสายโดยใช้ตัวลดเสียง (mute) เมื่อประกอบกับท่วงทำนองที่ออกแนวหม่นแล้ว ทำให้ฟังดูวังเวงลี้ลับ นับว่าเป็นเพลงที่ได้มาตรฐานเพลงยุคบารอค เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้เล่นท่วงทำนองของตัวเองซึ่งจะสอดประสานไปกับแนวของเครื่องดนตรีอื่นๆ ซึ่งเรียกกันว่า counterpoint ทำให้สามารถกระจายความเด่นของการบรรเลงไปในทุกเครื่องดนตรี แต่เท่าที่ผมสังเกต เชลโลซึ่งมีบทบาทมากอยู่แต่เสียงกลับไม่เด่นเท่าที่ควร อาจเป็นปัญหามากจากพรมของห้องนี้ดูดซับเสียงต่ำ จนนักดนตรีรุธ ฟิลลิปส์ ต้องเค้นเสียงออกมา แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก

เพลงที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของคอนเสิร์ตในวันนี้ คือบทเพลง Quartet No.63 in B flat Major Op.76, No.4, “Sunrise”ของไฮเดนกระบวนแรกของบทเพลง Allegro con spirito ขึ้นต้นด้วยทำนองที่ช้าเนิบ ไวโอลินหนึ่งส่งทำนองอ่อนหวาน และค่อยๆ เริ่มมีอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้น คล้ายสรรพสิ่งทั้งหลายเพิ่งตื่นจากนิทราแล้วพบกับแสงแดดยามรุ่งอรุณ เป็นท่วงทำนองที่รวดเร็ว แล้วเปลี่ยนบันไดเสียงเป็นไมเนอร์ที่มีความหม่นหมองอยู่บ้าง แต่ก็เป็นท่วงทำนองที่สนุกเร้าใจ แล้วค่อยกลับมาที่ทำนองเนิบช้าใหม่อีกครั้ง กระบวนที่สอง Adagioมีทำนองที่เรียบง่าย สงบ นุ่มนวล โดยมีไวโอลินหนึ่งเล่นทำนองหลักได้อย่างไพเราะจับใจ รวมถึงในช่วงท้ายที่ไวโอลินสองก็ได้รับบทบาทเด่นขึ้นมาด้วย ซึ่งรวยชัยก็สามารถเล่นได้เป็นอย่างดี ไม่มีอาการประหม่าขัดเขินแต่ประการใด กระบวนที่สาม Menuetto& Trio (Allegro) เป็นทำนองที่มาจากจังหวะเต้นรำที่รื่นเริง สนุกสนานพอประมาณ แต่ก็เปลี่ยนทำนองไปเป็นวังเวงเล็กน้อยในบางช่วง และสุดท้ายในกระบวนสุดท้ายFinale, Allegro ma non troppoเริ่มต้นด้วยท่วงทำนองที่รุกเร้า สนุกสนาน เน้นการเล่นประสานระหว่างไวโอลินหนึ่งและสองเป็นหลักในการเดินทำนอง ซึ่งรวยชัยก็สามารถเล่นประสานกับเลโอ ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นครูของเขาเองด้วยได้เป็นอย่างดีบางช่วงก็มีลีลาที่ค่อนไปในทางหม่น เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ไม่ให้ไปในทางหฤหรรษ์ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ แต่ในท่อนก่อนจบก็เปลี่ยนมาเป็นทำนองที่ตื่นเต้นรวดเร็วอีกทำนองหนึ่งเพื่อปูทางไปสู่การจบที่ยิ่งใหญ่สง่างามตามแบบนิยมของดนตรียุคคลาสสิก

ส่วนในเพลงสุดท้าย Andante Cantabileของไชคอฟสกี้ เป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยม ค่อนข้างคุ้นหูนักฟังทั้งหลาย มีลักษณะเป็นเพลง Serenade หรือเพลงยามค่ำคืนที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรัก ทำนองแรกเป็นทำนองที่อ่อนหวานซาบซึ้ง ชวนให้จิตใจสงบ ทำนองที่สองฟังดูอ้างว้างหงอยเหงา ซึ่งไวโอลินหนึ่งเล่นได้อย่างไพเราะ ก่อนจะกลับมาสู่ทำนองแรก แล้วไปสู่ทำนองที่สองอีกครั้ง โดยไวโอลินหนึ่งเล่นสายสี่ซึ่งมีเสียงทุ้มและหนาสุด ในขณะที่เครื่องดนตรีอื่นๆใช้วิธีการดีดสาย (pizzicato) คลอ เพื่อช่วยขับเน้นความงดงามของท่วงทำนองที่บรรเลงโดยไวโอลินหนึ่ง

ในการบรรเลงนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า  นักดนตรีคลาสสิกของเราที่เป็นครูบาอาจารย์ มักจะให้โอกาสคลื่นลูกใหม่ที่มีความสามารถได้แสดงร่วมกับท่าน  ในกรณีนี้คือรวยชัย ซึ่งผมได้ยินชื่อเขามานานแล้ว แต่ไม่เคยได้ฟังแบบใกล้ชิด เพราะส่วนใหญ่เขาจะเล่นไวโอลินแนวหนึ่งหรือแนวสองในวงออร์เคสตรา ซึ่งในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสดียิ่งที่ได้รับฟังการบรรเลงของนักดนตรีรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งบทเพลงที่บรรเลงก็นับว่ามีบทบาทให้ไวโอลินสองมากพอสมควร เราจึงได้ยินท่วงทำนองที่อ่อนหวานจากไวโอลินสองอยู่บ่อยครั้ง และหวังว่าในโอกาสต่อไปอาจจะได้ฟังเขาเล่นไวโอลินหนึ่งหรือเล่นเดี่ยวไวโอลิน ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงห้องแสดงที่ British Club เล็กน้อย ซึ่งผมสงสัยเหลือเกินว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยจัดการแสดงดนตรีเลยหรือ เพราะแม้แต่ห้องพักนักดนตรีก็ไม่มี โดยให้เขานั่งทำสมาธิอยู่ที่พื้นข้างๆ เวที ที่แม้แต่ฉากกั้นสักนิดก็ไม่มีเช่นกัน อีกทั้งในห้องนั้นยังมีพรมและผ้าม่านซึ่งดูดซับเสียง ทำให้ผู้ฟังด้านหลังอาจจะต้องเงี่ยหูฟังมากหน่อย ผมเองไม่แน่ใจว่าทางเลโอ ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษเองจะรู้สึกอย่างไรบ้างกับห้องแสดงของBritish Club นี้ แต่อาจารย์นักฟังอาวุโสที่มากับผมท่านไม่ปลื้มกับบันไดสูงชัน ณ ที่แห่งนี้เอาเสียเลย อย่างไรก็ตามก็คงต้องยกความดีให้ผู้จัดงานซึ่งก็มีส่วนในการสนับสนุนดนตรีคลาสสิกที่ไพเราะ และผู้ฟังในห้องนั้นก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากที่นั่งเกือบเต็ม อีกทั้งยังค่อนข้างมีความรู้ประสบการณ์ในการฟังดนตรีคลาสสิกพอสมควรซึ่งก็หวังว่าท่านเหล่านี้คงจะให้การสนับสนุนวงการคลาสสิกในประเทศไทยต่อไป แม้ว่าจะไปแสดงในที่อื่นก็ตาม

30 มีนาคม 2557   

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*