ศัตรูที่ลื่นไหล : แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

ศัตรูที่ลื่นไหล : แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

 

เจตนา  นาควัชระ


การบรรยายครั้งนี้เป็นการแสดงทัศนะเกี่ยวกับวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย…ผู้บรรยายใคร่ขออนุญาตหยิบยกวรรณกรรมร่วมสมัยบางชิ้นขึ้นมาพิจารณาโดยไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในประเภทของนวนิยาย ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ประสงค์ที่จะให้ภาพรวมของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ครอบคลุมงานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ยุคใหม่ในทุกแง่ทุกมุม วรรณกรรมส่วนใหญ่ที่อ้างถึง  อาจจัดอยู่ในประเภทที่สมาคมภาษาและหนังสือเรียกว่า “วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม” (ดังปรากฏในหนังสือรวมวรรณกรรมแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ชื่อ “Thai P.E.N. Anthology : Short Stories and Poems of Social Consciousness” (1984)

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าวรรณกรรมในแนวที่กล่าวมานี้ อาจจะมิใช่งานเขียนที่มีผู้อ่านมากนัก จึงเป็นการยากที่นักวรรณคดีศึกษาจะเสนอประเด็นขึ้นมาให้พิจารณาว่า “วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม” สามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสำนึกทางสังคมที่เข้มข้นในวงกว้างได้หรือไม่เพียงใด หรือว่าวรรณกรรมมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากน้อยเพียงใด ผู้เขียนมิได้ตั้งความหวังทางวิชาการไว้สูงถึงเพียงนั้น สิ่งที่นำมาอภิปรายในที่นี้ จึงเป็นเพียงการตีความวรรณกรรมบนรากฐานของตัวบท

ในข้างต้นนี้ จะขอตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับตัวผู้ประพันธ์ เจ้าของงานเขียนที่นำมาพิจารณาในที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนรุ่นหนุ่มสาว อายุอยู่ในช่วง 20–30 ปีเศษ จะว่านักเขียนรุ่นนี้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบนักประพันธ์รุ่นก่อน ก็คงกล่าวได้ยาก แต่ประเด็นที่เราจะมองข้ามไม่ได้ก็คือว่า นักเขียนเหล่านี้ได้รับประสบการณ์อันเข้มข้นของประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่มาแล้ว เขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยช่วงปี 2516–2519 ไม่ว่าจะในฐานะผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ หรือผู้เฝ้ามองประวัติศาสตร์

แม้ว่างานส่วนมากที่นำมาอภิปรายจะเขียนขึ้นในช่วงหลัง พ.ศ. 2519 เราก็คงจะปฏิเสธได้ยากว่า ประสบการณ์อันเข้มข้นของยุคที่เพิ่งผ่านพ้นไป มิได้ทิ้งมรดกทั้งปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ไว้ให้แก่พวกเขาเลย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านักประพันธ์รุ่นหนุ่มสาวบางคน สร้างงานที่โดดเด่นขึ้นมาได้เล่มเดียว ในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นงานที่โลดแล่นด้วยพลัง (tour de force) และก็ดูจะอ่อนระโหยโรยแรงไปหลังจากนั้น ราวกับว่าถ่ายใจออกสอดใส่ในงานวรรณกรรมจนหมดสิ้นแล้ว และ “หมดทุน” ที่จะสร้างงานที่ทรงความหมายและคุณค่าออกมาสู่มหาชนอีก

การบรรยายครั้งนี้พยายามจะให้คำอธิบายในแนวที่ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะมิใช่เป็นเรื่องของการ “หมดลม” หรือ “หมดไฟ” ในทางสร้างสรรค์ แต่อาจจะเป็นช่วงหนึ่งของเส้นทางแห่งการแสวงหาของนักประพันธ์แต่ละคน ซึ่งในแง่หนึ่งอาจจะเป็นทางที่นำไปสู่วุฒิภาวะทางปัญญา และในอีกแง่หนึ่งอาจนำไปสู่ทางตันของวรรณศิลป์ก็ได้ ในคำนำของ P.E.N. Anthology ที่อ้างถึง นิตยา  มาศะวิสุทธิ์ได้ชี้แจงให้เห็นถึงกระแสความคิดที่ต่อเนื่อง ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรม ในการสร้างความสำนึกเรื่องความยุติธรรมในสังคมซึ่งความผันผวนและเหตุการณ์ทางการเมืองไม่อาจหยุดยั้งได้ 1 ผู้เขียนมีความเห็นคล้อยตามนิตยาในแง่นี้

ประเด็นที่เกี่ยวกับความยุติธรรมหรือความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งนิตยา  มาศะวิสุทธิ์ เน้นว่า เป็นแก่นของวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมนั้น จัดได้ว่าเป็นปัญหาที่สมาชิกในสังคมสร้างขึ้นเอง กล่าวในเชิงปรัชญาก็เรียกได้ว่า มนุษย์เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้น วรรณกรรมยุคใหม่เพ่งความสนใจไปสู่ปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งวิเคราะห์กลไกของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคลและสถาบัน นิตยาตั้งข้อสังเกตว่า ตัวละครเอกในวรรณกรรมยุคใหม่คือ ประชาชนผู้ไร้ฐานันดร คนธรรมดาสามัญอยู่ในฐานะที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเป็น ผู้ถูกกระทำ ใครคือศัตรูของประชาชน

ประเด็นนี้คือประเด็นที่เป็นปัญหาของวรรณกรรมร่วมสมัย เพราะดูประหนึ่งว่ายังขาดความชัดเจนอยู่มาก ศัตรูของประชาชนไม่ปรากฏตัวอย่างแจ่มชัด จับให้มั่นคั้นให้ตายไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นศัตรูที่ลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา ปัญหาที่ว่านี้คงจะมิใช่ปัญหาของความไร้ความสามารถของนักเขียนรุ่นใหม่ที่จะวิเคราะห์เจาะลึกลงไปให้ถึงแก่นพยาธิสภาพของสังคม ในแง่หนึ่งนักประพันธ์ต้องเผชิญปัญหาที่เป็นประเด็นของการสร้างสรรค์ ปัญหาของโลกปัจจุบันและของสังคมไทยร่วมสมัย ซับซ้อนเกินกว่าที่จะตีแผ่ออกมาเป็นภาพขาว-ดำ วิภาษวิธีระหว่างผู้ดี-ผู้ร้าย อาจจะเป็นแนวการเขียนที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว

ในหลายกรณี เสน่ห์ของวรรณกรรมร่วมสมัยอยู่ในความไม่ชัดเจนของความหมายหรืออยู่ที่ความหมายซ่อนเร้น ผู้ประพันธ์ไม่ประสงค์ที่จะยัดเยียดสาส์นทางความคิดให้แก่ผู้อ่าน แต่ต้องการให้ผู้อ่านหยุดคิด ฉุกคิด คิดได้เอง หรือคิดต่อด้วยตนเอง ภาพของศัตรูของประชาชนจึงเป็นภาพที่เลือนราง โดยนักเขียนอาจจะหวังว่า ผู้อ่านในสังคมประชาธิปไตย มีสติปัญญาอยู่ในระดับที่จะปรับภาพนั้นให้ชัดขึ้นด้วยตนเอง

จะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม นิคม  รายยวา จัดได้ว่าเป็นนักเขียนที่สร้างงานซึ่งชวนอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะวรรณกรรมของเขาไม่บอกความอย่างตรงไปตรงมา แต่จะสื่อความด้วยสัญลักษณ์ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านตีความวรรณกรรมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ชื่อเรื่องก็เป็นสัญญะที่ท้าทายการตีความอยู่แล้ว เช่น ตะกวดกับคบผุ (2526) ถึงอ่านเรื่องจบแล้ว เราก็คงจะให้คำตอบที่ตายตัวไม่ได้ว่า ตะกวดเป็นสัญลักษณ์ของอะไร และคบผุเป็นตัวแทนของสิ่งใด ตะกวดปรากฏตัวในตอนเริ่มเรื่อง แล้วก็มาปรากฏตัวอีกครั้งในตอนท้ายเรื่อง ฉากที่สมคิดไล่จับตะกวดในตอนนี้ จัดได้ว่าเป็นการเขียนที่น่าตื่นเต้น ตื่นเต้นกว่าตำรวจขับรถไล่ตามผู้ร้ายในภาพยนตร์นักสืบที่สุดแสนจะจำเจ

เรื่องทั้งเรื่องบรรยายถึงสภาพสังคมที่ไร้กฎหมาย กลุ่มผู้มีอิทธิพลข่มเหงประชาชนผู้ประกอบสัมมาอาชีวะ แม้ว่าภาพของ “ศัตรูของประชาชน” จะไม่ชัดเจนนักในตัววรรณกรรม แต่ผู้อ่านก็คงจะนำประสบการณ์ของตนจากแหล่งอื่นมาเสริมภาพนี้ได้ ถ้าจะมองกันในระดับชาวบ้านเราก็คงจะตีความได้ว่า ผู้เขียนคงจะต้องการบริภาษศัตรูของประชาชน ว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทหนึ่ง (โดยที่ยังรักษาความสุภาพไว้ และไม่เอ่ยถึงสัตว์เลื้อยคลานที่ชอบกินศพ ซึ่งเราท่านรู้จักกันดี เช่นเดียวกับในกรณีซึ่งกวีเอกร่วมสมัย อังคาร  กัลยาณพงศ์บริภาษสังคมไทย ด้วยสมัญญา “ไทยแลน” โดยตัด “ด์” ออกเสีย)

แต่ก็เหตุใดเล่า ผู้เขียนจึงสร้างฉากสุดท้ายให้สมคิด ซึ่งหล่นจากคบไม้ที่หักลงมา แล้วโหนตัวไว้กับหางตะกวด รอดเจ็บตัวไปได้ “เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตะกวด คล้ายใกล้ชิดสนิทสนมกันมานาน”(หน้า 357) และก็เหตุใดเล่า สมคิดจึงพยายามห้ามไม่ให้ประวิงยิงตะกวดตัวนั้น และเมื่อห้ามไม่ทันแล้ว ก็อดที่จะพึมพำออกมาไม่ได้ว่า “มันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น” (หน้า 359)  การกำจัดตะกวดด้วยการยิงทิ้งจึงไม่ได้ผลกระนั้นหรือ ผู้อ่านคงจะฉงนสนเท่ห์ไม่น้อยกว่าตัวละครตัวอื่นในเรื่อง ดังบทสนทนาระหว่างสนองกับประวิง “เขาพูดว่าอะไรนะ ที่ว่ามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น” (หน้า 360) เมื่อคนกับตะกวดได้สัมผัสกัน และคนเกิดความรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตะกวด ประชาชน กับศัตรูของประชาชน ก็เผ่าพันธุ์เดียวกันอีกนั่นแหละ

วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม เป็นวรรณกรรมเรื่องเดียวกับวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงปรัชญา เราจะจับตัวผู้ร้ายที่ไหนมาลงทัณฑ์ ในเมื่อเขากับเราก็กำพืดเดียวกัน วรรณกรรมดูจะทำหน้าที่แต่เพียงชี้ปัญหา แต่มิได้ให้แนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อแก้ปมปัญหาสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองไม่ตก ผู้แต่งก็ฉายภาพของธรรมชาติเข้ามาแทรกเป็นระยะๆ เป็นกลวิธีการเขียนที่น่าสนใจ เพราะภาพ “ภูเขาสูง” และ “สายน้ำตกสีขาวที่พุ่งลงมาเป็นฟองฝอย” (หน้า 327,348,364) ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินเรื่องโดยตรง

ในแง่หนึ่ง ตะกวดกับคบผุ เป็นวรรณกรรมที่ส่อให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน ในการสร้างสรรค์ทางศิลป์อยู่มาก บางครั้งผู้แต่งก็แสดงความปรารถนานี้ออกมา เช่น บึ้งพูดกับลุงเท่งถึงภาพที่สมคิดโหนตัวอยู่กับหางตะกวดว่า “ภาพนี้แหละลุงที่ผมอยากวาด ภาพตะกี้นี้” (หน้า 358) เป็นอันว่าวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องศัตรูที่ลื่นไหลได้กลายเป็นงานวรรณศิลป์ที่ทรงความงามทางจิตรกรรมไปเสียแล้ว

แต่เราคงจะไม่ด่วนสรุปว่า สาส์นในทางสังคมของนวนิยายเรื่องนี้ ได้ถูกกลบไปด้วยความหมกมุ่นอยู่กับปรัชญา และอลังการทางศิลปะไปจนหมดสิ้น เราจะต้องไม่ลืมว่าวรรณกรรมมิใช่การสั่งสอนโดยตรง มิใช่การโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกความสำนึกเชิงสังคมอาจจะทำได้ดีที่สุดด้วยวิธีการของศิลปะก็ได้ เพราะการจะเปลี่ยนใจมนุษย์นั้น คงจะไม่มีวิธีใดดีกว่าจับใจเขาเสียก่อน ด้วยสุนทรียอารมณ์

ทางแสวงหาความหมายของชีวิต ในงานเขียนของนิคม  รายยวาดูจะไม่หยุดอยู่กับที่ เรื่องสั้นชุดคนบนต้นไม้ (2527) ยังใช้วิธีการของสัญลักษณ์ ที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านแสวงหาความหมายต่อไป แต่วรรณกรรมที่ชี้ให้เห็นแนวการเขียนที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ ตลิ่งสูง  ซุงหนัก(ธันวาคม 2527) ซึ่งมีความเรียบง่ายในการดำเนินเรื่อง แม้ว่าจะมีการปรับเทคนิคในการเล่าเรื่อง โดยการสลับลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์อยู่บ้าง ถ้าเทียบกับตะกวดกับคบผุแล้ว วรรณกรรมเรื่องล่าสุดของนิคม มิได้มุ่งที่จะเร้าใจผู้อ่านด้วยเหตุการณ์ภายนอก การเขียนเป็นไปในลักษณะของการรำพึงกับตัวเอง อย่างที่เรียกว่า (monologue intérieur) โลกภายนอกดูจะอยู่คงที่ แต่มนุษย์สิเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง สถานะของ “ประชาชน” ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นและภาพของ “ศัตรูของประชาชน” ก็ดูจะเลือนลางเต็มที่ จะเหมาเอาว่าพ่อเลี้ยงที่ได้กำไรจากการเอาช้างจริงมาแลกช้างไม้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มศัตรูที่ลื่นไหลก็คงจะไม่ยุติธรรมนัก ความพินาศของคำงายกับครอบครัว มิได้เป็นผลของความอยุติธรรมในสังคมที่เห็นได้ชัดแจ้ง ความรู้สึกของคำงายว่าเขา “เป็นส่วนหนึ่งของช้าง และช้างเป็นส่วนหนึ่งของเขา” (หน้า 165) แตกต่างจากความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสมคิดกับตะกวดอย่างแน่นอน จริงอยู่ปัญหาทางสังคมมิได้ถูกมองข้ามไปเสียหมด แต่ตลิ่งสูง ซุงหนัก ได้แปรปัญหาสังคม ให้กลายเป็นประเด็นเชิงอภิปรัชญาไปเสีย

“เราทุกคนมีการเกิดและการตายอย่างละหนึ่งหนเท่ากัน แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้น เราต้องหาเอาเอง

ความจริงส่วนแบ่งต้องเฉลี่ย ไม่ว่าความทุกข์ ความสุข ความดี ความเลว ความหิว ความอิ่ม แต่ละคนมักจะแก่งแย่งกัน จะรับด้านดีให้มากกว่าส่วนแบ่ง และพยายามหลบหลีก ไม่ยอมรับส่วนไม่ดีตามส่วนแบ่ง” (หน้า 166)

สำนวนการเขียนใน ตลิ่งสูง ซุงหนัก ก็ดูจะเปลี่ยนไปด้วย บางครั้งมีลักษณะเป็นกวีนิพนธ์มากกว่าเป็นการเล่าเรื่อง บางครั้งก็มีลักษณะคล้ายหนังสือปรัชญา หรือการเทศน์สั่งสอน ในฐานะที่เป็นเรื่องเล่า ผู้อ่านคงจะอดรู้สึกไม่ได้ว่า ไม่สนุกเท่า ตะกวดกับคบผุ และการใช้สัญลักษณ์ที่ดูจะเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกที จนอาจจะทำให้ผู้อ่านจำนวนหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายได้ ในแง่ของการสร้างความสำนึกเชิงสังคม เราคงจะต้องยอมรับว่า การยกวรรณกรรมขึ้นสู่ระดับอภิปรัชญา ก็คือการปล่อยให้ศัตรูของประชาชน ลื่นไหลหลุดไปจากเงื้อมมือของประชาชนนั่นเอง เพราะอภิปรัชญาย่อมจะมองโลกและมนุษย์จากที่สูงส่งจนไม่อาจแบ่งแยกได้ว่า  ส่วนใดขาวและส่วนใดดำ

ที่ผู้เขียนได้นำตัวอย่างงานของนิคม  รายยวามาอธิบายโดยพิศดารพอสมควรในที่นี้  ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมมิได้หยุดอยู่กับที่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2519 แต่ในแง่หนึ่ง มีวิวัฒนาการที่อาจจะดูจากภายนอกว่า “นิ่ง”ขึ้นทุกที คือ เป็นการนำเอาปัญหาสังคมมาวิเคราะห์ ด้วยวิธีการที่เป็นปรัชญา ความโหดเหี้ยมของชีวิต การที่คนในสังคมประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ยังเป็นประเด็นที่นักเขียนนำมาเป็นแก่นของเรื่อง แต่วรรณศิลป์ได้เปลี่ยนแปรความรุนแรงเหล่านี้ให้กลายเป็น ความโหดเหี้ยมทางปรัชญาไปเสียแล้ว

เส้นทางของนิคม  รายยวาอาจจะสวนกับแนวทางการสร้างสรรค์ของชาติ  กอบจิตติ ซึ่งอาจจะสร้างงานที่ชัดเจนกว่า เนื้อหาแน่นกว่า โดยไม่พะวงกับการใช้ความหมายซ่อนเร้นมากนัก เขาทำหน้าที่เป็นผู้ระบายความกดดันทางอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี ผู้อ่านเป็นจำนวนมากคงอาจจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่คล้ายคลึงกัน เมื่อได้สัมผัสกับวรรณกรรมของเขา คือ “สะใจ” ในกรอบของการศึกษาเรื่อง “วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม” ชาติ  กอบจิตติย่อมจะต้องมีบทบาทอันโดดเด่นที่นักวรรณคดีศึกษาจะมองข้ามเสียมิได้ เสนีย์  เสาวพงศ์ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับงานของชาติไว้ ในคำนำเรื่องจนตรอก (2523) ดังนี้

“…เขามีความสะเทือนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ชายขอบของสังคม เผชิญชะตากรรมไปอย่างเงียบๆ ดิ้นรนอยู่ในตาข่ายที่ครอบคลุมชีวิตของพวกเขา อย่างไม่ทางที่จะหลุดรอดได้ และนั่นคือความเป็นจริงที่น่าจะได้รับรู้กันไว้แม้มันจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวของคนที่อยู่ในฐานะอื่นอีกมากมายก็ตาม และคงจะไม่ใช่ความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะแหวกออกไปจากแนวที่มีการแสดงออกกันอยู่มากแล้วในนวนิยายปัจจุบัน แต่เป็นเพราะความสะเทือนใจและจิตสำนึกทางสังคม ที่ทำให้ผู้เขียนเลือกเนื้อหาจากชีวิตที่ถูกละเลย และดูเล็กกระจ้อยร่อยเหลือเกิน ให้ออกมาเต้นเร่าๆ อยู่ในหน้ากระดาษ เหมือนอย่างที่มันได้ขยุ้มประสาทของเขาให้ตึงเขม็ง ในทุกหยดหมึกที่เขาเขียนออกมา”(หน้า 11)

ที่ผู้เขียนจำเป็นต้องอ้างข้อเขียนของนักเขียนอาวุโสมาโดยพิสดารในที่นี้ก็เป็นเพราะต้องการจะชี้ให้เห็นสถานะพิเศษของชาติ ในวิวัฒนาการของวรรณกรรมรุ่นใหม่ของไทย เรื่องชีวิตอันลำเค็ญที่นักเขียนนำมาพรรณนาในวรรณกรรมนั้นมิใช่ของใหม่ ป.บูรณปกรณ์ได้บุกเบิกในด้านนี้ไว้แล้วเมื่อ 30–40 ปีก่อน งานของ “ลาว คำหอม” เช่น ฟ้าบ่กั้น (2515) ก็ได้รับการยอมรับนับถือในวงกว้าง แต่นักเขียนที่กล่าวมานี้มิได้สร้างแรงกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกได้เท่างานของชาติ  กอบจิตติ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม รวมไปถึงอารมณ์ร่วมของมหาชนผู้รักวรรณกรรมซึ่งพร้อมที่จะตอบสนองแรงกระตุ้นที่มาจากวรรณกรรมแห่งความยากไร้นี้ได้ เสนีย์  เสาวพงศ์ดูจะเน้นความสามารถของชาติที่จะฉายภาพจากชีวิตจริงมากกว่าความเจนจัดในทางศิลปะ ในแง่นี้คุณค่าของวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม (documentary value) ไปด้วย ตัวนักประพันธ์เองก็ดูจะมองบทบาทของตน ในฐานะผู้เขียนพงศาวดารสังคม เขากล่าวเป็นเชิงสรุปว่า “…และข้าพเจ้าเชื่อว่า เรื่องทำนองนี้มิใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบเท่าที่ยังมีสลัม และความยากจนอยู่ในประเทศของเรา…” (หน้า 163)

การสร้างความประทับใจด้วยความรุนแรงของเนื้อหา จึงกลายเป็นแนวทางหลักของการสร้างวรรณกรรมไป ชาติวาดภาพของความยากไร้ วาดภาพของ “ผู้ถูกกระทำ” ได้อย่างชัดเจน เขาสนใจที่จะมุ่งมองสังคมในแง่นี้เสียจนให้ความสนใจต่อกลุ่ม “ผู้ถูกกระทำ” ภาพของศัตรูของประชาชน จึงเป็นภาพที่จางเสียจนมองแทบไม่เห็น เมื่อการวิเคราะห์สาเหตุของความพิการของสังคมเจาะได้ไม่ลึกถึงแก่น ก็จำเป็นต้องพึ่งการอธิบายด้วยปรัชญาของชาวบ้าน

“บุญมาคิดโทษแต่ตัวเอง บุญมาคิดโกรธแต่ตัวเองที่เกิดมาจน เขาไม่รู้หรอกว่าทำไมชีวิตคนจนๆ อย่างเขา ถึงต้องประสบเคราะห์กรรมอยู่เสมอมา เขารู้เพียงว่าชีวิตนี้เป็นเรื่องของเวรกรรม เกิดมาเพื่อชดใช้เวรกรรมเก่าให้หมดไป” (หน้า 152)

เรื่องของความเชื่อในกฎแห่งกรรมซึ่งได้เคยถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดวรรณะในชมพูทวีป ดูจะถ่ายแบบมาสู่สุวรรณภูมิยุคใหม่ได้อย่างเหมาะเหม็ง จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม การ “จนตรอก” ในที่นี้ จึงเป็นการจนตรอกเชิงปรัชญาไปในตัว นักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ของเรา ยังมองไม่เห็นทางที่จะหลักปรัชญามาชี้ทางปลดปล่อยประชาชนผู้ยากไร้จากทางตันในทางสังคมได้ ประชาชนจึงเป็นผู้ที่จนตรอกอยู่ต่อไป ในขณะที่ศัตรูของประชาชนได้ลื่นไหลออกไปทางหัวตรอก ที่เปิดกว้างไปสู่ทางสายใหญ่ โดยปราศจากสิ่งกีดขวาง

เป็นที่สังเกตได้ว่า ชาติ  กอบจิตติก็คงจะตระหนักในจุดบอดนี้ ในนวนิยายเรื่องเอกของเขา คือ คำพิพากษา (2524) เขาจึงให้บทบาทของศัตรูของประชาชนที่แจ่มชัดขึ้นบ้าง ครูใหญ่รับบทเป็น “ตัวโกง”  ในความหมายที่ตรงไปตรงมาที่สุดของคำนี้ ดังที่ผู้เขียนได้เคยให้ข้อวิจารณ์ไว้แล้ว 2 วรรณกรรมเรื่องนี้แสดงทัศนะที่เห็นพ้องกับแนวคิดของนักเขียนและนักปรัชญาฝรั่งเศส ฌอง ปอล ซาร์ตร์(Jean-Paul Sartre) ในข้อที่ว่า “นรกคือคนอื่น” (L’ enfer, c’est les autres!)

เราคงเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า เหตุใดคำพิพากษา จึงเป็นวรรณกรรมหนักสมอง แต่ได้รับความนิยมสูง ทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่องในด้านของกลวิธีการแต่งอยู่มาก ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะผู้แต่งมองปัญหาได้กว้างขึ้น คือให้ภาพของทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ เรื่องของเวรกรรมที่บุญมายอมรับโดยดุษฎีในจนตรอก ได้รับคำพิเคราะห์จากมิติใหม่ในคำพิพากษา เรียกได้ว่าปรัชญาแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับแรงเสริมจากลุ่มแม่น้ำแซนเข้าแล้ว

มันเป็นกรรมเป็นเวร…เคยทำเวรกรรมไว้เมื่อใดเล่า ชีวิตนี้เกิดมา ปลาสักตัวไม่เคยฆ่า เงินสักเฟื้องไม่เคยลักขโมยใคร ลูกเมียใครไม่เคยเสพสม พูดจาหลอกลวงไม่เคยเอ่ย สุรายาเมานั้นอย่าว่าแต่กินเลย มองยังไม่อยากมอง ศีลห้าข้อนี้ประพฤติมาตลอด แล้วทำไมจึงต้องรับเวรรับกรรม หรือว่าเป็นมาแต่ปางก่อน เขาไม่อยากเชื่อเลย เชื่อแน่เพียงอย่างเดียวว่า เคราะห์กรรมที่ประสบอยู่นี้มาจากคนอื่นโดยแท้… (หน้า 52)

นั่นคือการปลดแอกทางความคิดของชาวบ้านมีลักษณะเป็นสำนึกขบถขึ้นบ้างแล้ว สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ในกระบวนการแสวงหาศัตรูของประชาชน แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องคำพิพากษาไปด้วย แม้แต่หลวงพ่อก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ในยามยาก ผู้อื่นจึงมิใช่ผู้ยิ่งใหญ่ที่ประชาชนจะต้องสยบให้อีกต่อไปถ้าจำเป็นต้องยอมสยบในโลกนี้ด้วยเหตุผลทางสังคม ศาลฎีกาในปรโลกก็ยังมี ฟักฝากความหวังไว้กับความเสมอภาคของคนบาป

นึกถึงเวรที่ได้ก่อไว้ในชีวิตที่ได้ผ่านมานี้ เขามีบาปติดตัวอยู่ 3 อย่าง : ฆ่าหมา โกหกหลวงพ่อ ดื่มสุรา ถ้าตายไปเขาคงตกนรกเพราะบาปกรรมอันนี้ แต่ทีคนอื่นได้ก่อกรรมไว้กับเขาเล่า มันมากมายกว่าที่เขาได้ทำไว้เสียอีก และถ้าเป็นจริง เขาคงจะได้เจอกับคนที่รู้จักอีกมากมายในนรก…และเขาจะคอย (หน้า 278)

เราอาจจะสรุปได้ว่า คำพิพากษาเป็นก้าวที่สำคัญ บนเส้นทางของวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม เพราะถึงแม้ฟักจะต้องพ่ายแพ้ แต่ศัตรูผู้ลื่นไหลก็หาได้เล็ดลอดไปโดยปราศจากความบอบช้ำไม่ ถึงอย่างไรก็ตามผู้อ่านคงจะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนักว่ามูลเหตุที่แท้จริงของความพิการของสังคมอยู่ที่ใด เพราะจะอธิบายด้วยบุญกรรมแต่ปางก่อนก็ไม่ได้เสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น  การปลุกความสำนึกด้วยความรุนแรง การใช้วิธีการเยาะเย้ยถากถาง เช่น ตอนทำบุญกระดูก และตอนใช้ศพของฟักทดลองเตาเผาใหม่ อาจจะเป็นการเชือดเนื้อประชาชนเพื่อประชดศัตรูของประชาชนโดยไม่ก่อให้เกิดมรรคผลอันใด

ในแง่นี้ทางจากคำพิพากษา ไปสู่มีดประจำตัว(2527) จึงเรียกได้ว่าเป็นทางตรง และผู้ที่ชื่นชอบคำพิพากษา ก็อาจจะเริ่มตั้งข้อสงสัยเสียแล้วว่า ชาติ  กอบจิตติกำลังจะหลงทางหรือไม่ ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะตัวเรื่องสั้น “มีดประจำตัว” (ซึ่งใช้เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นด้วย) ความรุนแรงที่เริ่มมาแล้วในจนตรอก ที่แสดงออกอย่างเป็นระบบใน คำพิพากษา ได้รับการพัฒนาไปจนถึงขั้นสุดยอดแล้วในมีดประจำตัว ผู้แต่งอาจจะเกิดความสับสน ระหว่างความโหดเหี้ยมทางปรัชญา กับความโหดเหี้ยมทางกายภาพ การจะปลุกสำนึกในเรื่องของความยุติธรรมโดยใช้วรรณกรรมเป็นสื่อนั้นมีหลายวิธี และวิธีที่ได้ผลที่สุดไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิธีที่รุนแรงที่สุด การจะกล่าวว่า “คนกินคน” ให้สะใจผู้อ่านนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องวาดภาพคนกินคนจริงๆ วรรณกรรมเป็นศิลปะที่ใช้ภาษาเป็นสื่อและทางของวรรณศิลป์ก็คือการสื่อเนื้อความที่รุนแรง โดยที่ยังรักษาอารมณ์สุนทรีย์ไว้ได้ จะจับประชาชนมา “ขึ้นเขียง” เช่นนี้หาได้ทำให้ศัตรูของประชาชนสำนึกผิดได้ไม่ พวกเขาก็คงรักษาสถานภาพอันมั่นคงได้ต่อไป เพราะในกรณีที่ว่านี้ วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมได้กระทำอัตวินิบาตกรรมไปแล้ว

ประเด็นที่ผู้ศึกษาวรรณกรรมไม่น่าจะละเลยก็คือ คุณค่าทางศิลปะของงานวรรณกรรมเพราะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น วรรณกรรมที่จับใจผู้อ่านได้อาจจะมีผลในการกระตุ้นปัญญาความคิดได้ยืนยาวกว่าวรรณกรรมที่สร้างความตื่นเต้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ในแง่นี้ ครูบ้านนอก (2521)ของคำหมาน คนไค ถือได้ว่าเป็นงานที่วิเคราะห์ปัญหาสังคมได้อย่างเฉียบคม

อันที่จริงนวนิยายเป็นประเภทของวรรณกรรมที่เอื้อต่อการพิจารณาปัญหาที่ว่านี้  เพราะผู้ประพันธ์มีเสรีภาพในทางรูปแบบที่จะสร้างเรื่อง สร้างตัวละคร สร้างเหตุการณ์ขึ้นมาในลักษณะที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ด้วยความสมจริง  ภาพของศัตรูของประชาชนในนวนิยายเรื่องนี้ค่อนข้างจะชัดเจน  และการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับศัตรูของประชาชนก็ดำเนินไปอย่างเร้าใจ  ด้วยกลวิธีการแต่งที่มีศิลปะราวกับจะเป็นโศกนาฎกรรมในความหมายสากล  ความพ่ายแพ้ของฝ่าย “ผู้ถูกกระทำ” มิได้เป็นไปอย่างหมดประตูสู้เสียทีเดียว  ผู้แต่งมิได้หาทางออกด้วยการรำพึงถึงบุญบาป  หรือกระทบกระแทกเสียดสีฝ่าย “ผู้กระทำ” แต่มุ่งเน้นความสง่างามของผู้แพ้  ความโหดเหี้ยมเชิงสังคมจึงถูกกลืนเข้าไปในอารมณ์ชดเชย ที่มาจากการฉายภาพความยิ่งใหญ่ของปัจเจกบุคคล3 จริงอยู่ศัตรูของประชาชนก็ลื่นไหลหลุดมือไปได้อีก แต่ความสง่างามของการต่อสู้จากฝ่ายประชาชน ดูเป็นสิ่งที่ปลุกมโนสำนึก และกระตุ้นสัญชาตญาณใฝ่ดีไม่น้อยเลย

กระบวนการแสวงหาศัตรูของประชาชน เป็นไปได้ในหลายรูปแบบ และเราต้องยอมรับว่า กวีนิพนธ์ร่วมสมัยมีบทบาทที่สำคัญอยู่ การที่งานของคมทวน  คันธนู เช่น สำนึกขบถ (2523) นาฏกรรมบนลานกว้าง (2525) ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่าน และไม่ได้รับการขัดขวางในด้านการพิมพ์เผยแพร่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นนิมิตที่ดีในเรื่องของความตื่นตัวทางปัญญาของวงวรรณกรรมไทย และความใจกว้างของผู้ที่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง

คมทวนไม่ลังเลที่จะชี้ชัดลงไปว่า ศัตรูของประชาชนคือใคร ดังเช่นในกวีนิพนธ์ชื่อ “ตุลาเลือดตุลาชัย” (สำนึกขบถ หน้า 139) หรือไม่ก็ประณามแกะดำในสถาบันอันเป็นที่เคารพ อย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นในบทกวี “สำนึกขบถ (2) ทากเหลือง” (สำนึกขบถ หน้า 153–155) ผู้ประพันธ์พร้อมที่จะเสนอตัว เป็นผู้เตือนสติผู้ร่วมอาชีพ เช่นในบทกวี “แด่เพื่อนหนังสือพิมพ์” ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

แอ่นอกทำอวดอ้าง

พอเงินง้างก็เงนโงน

เห็นปืนในมือโจร

ยิ่งอ้ำอึ้งตะลึงเออ!

(นาฏกรรมบนลานกว้าง หน้า 31)

อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านอาจจะอดรู้สึกไม่ได้ว่า คมทวนมองปัญหาเป็นวิภาษวิธีเกินไป เช่น เขามักจะมองเห็นแต่ความโสมมของเมืองกรุง และความบริสุทธิ์ผุดผ่องของชนบท บทกวี “นาฏกรรมบนลานกว้าง” (ใน นาฏกรรมบนลานกว้าง หน้า 65–77) เป็นไปในแนวที่ว่า “ทุกถนนหนทางในบางกอก ฝูงจิ้งจอกจ้องขยี้คนอีสาน” (หน้า 67) ถึงกระนั้นก็ดี วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม ตามแบบของคมทวน  คันธนูก็มีลักษณะเฉพาะ เขาอาจจะใช้วิธี “บริภาษ”สังคม ตามแบบของอังคาร  กัลยาณพงศ์อยู่มาก แต่เขามองเห็นความหลากหลายของปัญหาสังคมได้อย่างชัดแจ้ง เขาอาจจะใช้ทั้งเนื้อหา และถ้อยคำที่รุนแรงในบางครั้ง แต่ความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ของเขา ทำให้ “บริภาษวิธี”ของเขา เป็นงานศิลปะที่ทรงความงามไป

สิ่งที่น่าทึ่งในงานของเขาก็คือ ความสัตย์ซื่อทางปัญญาของเขา ที่ยอมรับว่าศัตรูก็คือพวกเรา หรือเพื่อนเรานั่นเอง ดังที่เราเห็นมาแล้วใน “แด่เพื่อนหนังสือพิมพ์” เช่นเดียวกับนักเขียนร่วมสมัยอื่นๆ เขาไม่อยู่ในฐานะที่จะประกาศชัยชนะของประชาชนในขณะนี้ได้ วรรณกรรมของเขาจึงจำต้องทำหน้าที่ในการประกาศอุดมการณ์ เช่น บทกวี “คำประกาศของคนถือปากกา” (นาฏกรรมบนลานกว้าง หน้า 24–25) หรือวรรณกรรมที่ประกาศศรัทธาในอนาคต

สร้าง วิญญาณสู้              กล้าหาญ

ตำ รวจทหารพาล        อย่ากลัว

นาน วันความชั่ว            จักเผย

ผอง พวกมันเคย            ขี่กด

เฮา ต้องขบถ                คนทราม

เอย นี่คือความ              งามดี

(นาฏกรรมบนลานกว้าง หน้า 75–76)

เป็นอันว่าถึงศัตรูจะลื่นไหลไปได้ในขณะนี้ แต่ในระยะยาวพวกเขาจะชนะไปไม่ได้ เพราะประชาชนพร้อมที่จะอดทนต่อไปอีก “นานวัน” และก็ใฝ่ที่จะใช้วิจารณญาณแยกแยะออกมา ว่าใครคือ “คนทราม” เมื่อใดที่นักเขียนปลอดอคติ และมองเห็นแจ้งอย่างไม่เหมารวม ว่าใครคือศัตรูที่แท้จริงของประชาชน เมื่อนั้นวรรณกรรมแห่งความสำนึก จะทำหน้าที่เป็นแสงสว่างทางปัญญาให้แก่สังคมนี้ได้

การมองปัญหาสังคมปัจจุบันในวรรณกรรมที่เราได้พิจารณามาแล้วนั้นเป็นการมุ่งมองปรากฏการณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยยังมิได้พิจารณาถึงมูลเหตุอย่างจริงจัง  เราจะเรียกร้องให้นักประพันธ์ทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์สังคมอย่างเป็นหลักเป็นเกณฑ์เยี่ยงผู้เชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์คงไม่ได้ นักเขียนชอบที่จะทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นความคิดมากกว่า เรื่องของมูลเหตุเป็นสิ่งที่จับให้มั่นได้ยาก ในที่นี้จะนำตัวอย่างจากวรรณกรรมบางเรื่องมาอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับปฐมเหตุของปัญหาทางสังคม

วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมมักจะนำปัญหาของความยากจนมาเป็นแก่นของเรื่อง และในบางครั้งเราก็อาจจะไม่แน่ใจนักว่า ความยากจนเป็นเหตุหรือเป็นผลของปัญหาสังคม ในแง่นี้เรื่องสั้นเรื่อง “อ่อน” (2523) ของ “วรางคี” (ซึ่งได้รับรางวัลของสมาคมภาษาและหนังสือ และได้รับการนำมาเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษด้วย ใน Thai P.E.N. Anthology) จัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ชวนคิดอย่างยิ่ง เรื่องของการตัดสินใจของเด็กสาวชื่ออ่อน ซึ่งยอมรับเงินค่าทำขวัญ แทนการยินยอมให้นำตัวตำรวจที่ข่มขืนเธอขึ้นศาล เพื่อรับอาญาของบ้านเมือง เป็นประเด็นของการตัดสินใจที่เราคงจะอภิปรายได้ไม่รู้จบสิ้น  แม้ว่าผู้แต่งจะพยายามชี้แนะว่า ความยากจนเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของเธอ ในแง่หนึ่งความยากจนเป็นผลของความพิการของสังคม เพราะจนเธอจึงทนอับอายและยอมสยบต่อ “ศัตรูของประชาชน” ด้วยการรับการประนีประนอม แต่การกระทำของเธอก็เป็นเหตุที่สนับสนุนให้สังคมของเธอพิการต่อไป เพราะผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ในท้ายที่สุดแล้ว ใครคือศัตรูของประชาชนกันแน่ ตำรวจเลวๆ เพียงคนเดียวหรือ ถ้าความยากจนเป็นศัตรูของประชาชน ความยากจนก็เป็นสิ่งเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน แล้วมนุษย์ตนนั้นอยู่ที่ไหน วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่ตั้งคำถามมากกว่าที่จะให้คำตอบ ศัตรูที่ลื่นไหลก็อันตรธานไปอีก

คำถามในทำนองเดียวกันมีอยู่ในเรื่องสั้น “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” (2521) ของอัศศิริ  ธรรมโชติ ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มไว้ใน ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง (2521) ประเด็นของการตัดสินใจกระทำสิ่งที่ผิดประเพณีอันดีงาม (คือการลักของมีค่าจากคนตาย) กับเรื่องของความยากจน ได้รับการนำมาเชื่อมโยงกันอีก ผู้แต่งวาดภาพที่น่าขยะแขยงของศพที่ลอยน้ำ และการที่ “เขา” กรีดเอาสายสร้อยออกมาจากมือของศพที่บวมฉุ เพื่อจะตอกย้ำประเด็นของการตัดสินใจให้เด่นชัดขึ้นอีก ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของความโลภแบบสามัญธรรมดา

…สมบัตินี้ไม่มากก็จริงอยู่ แต่มันก็มากเกินกว่าแตงโมทั้งลำเรือของเขา… ภาพเสื้อลูกไม้ที่แขวนอยู่ตามร้านรวงในตลาดลอยมาให้เมียเขาสวมใส่ และอาจจะได้ผ้าถุงสีสวยจากเมืองเหนืออีกสักผืน เสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับเขาและลูก ก็อาจจะจับจ่ายซื้อกันได้อย่างไม่เสียดายคราวนี้…

…ใบหน้าอันเบิกบานของเมีย และแววตาอันตื่นเต้นของลูก แม้เป็นความสุขชั่วแล่น มันก็มีความหมายต่อชีวิต ชีวิตอันเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ไม่ผิดทุ่งนาร้างฝน (หน้า 97)

เป็นอันว่าเศรษฐศาสตร์แห่งความหิวโหย มีความถูกต้องเหนือกว่าจริยธรรม และประเพณีอันดีงามกระนั้นหรือ ผู้แต่งมิได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ถ้าความยากจนเป็นศัตรูของประชาชน มันก็เป็นศัตรูที่ประชาชนคงเอาชนะได้ยาก ในท้ายที่สุดแล้วเราก็คงจะอดถามไม่ได้ว่าศัตรูที่แท้จริงอยู่ที่ใด “เขาไม่มีเวลาจะคิดว่าศพของเด็กน้อยผู้นี้ลอยมาจากไหนแน่ จะมีใครที่เป็นพ่อเป็นแม่จะมีโอกาสรู้หรือเปล่า ภายในส่วนลึกของเขาเพียงแต่รู้สึกสลด และเสียใจให้กับโชคชะตาของเพื่อนมนุษย์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น” (หน้า 98) การที่เขายังรู้สึกเสียใจ ก็ยังเป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นว่ามนุษยธรรมไม่ได้เหือดหายไปจนหมดสิ้น แต่การที่เขาเสียใจ “ไม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ก็เป็นลางร้ายบ่งบอกสิ่งที่น่าวิตกว่า ศัตรูของประชาชนได้บุกรุกเข้ามาครอบครองจิตใจของประชาชนไปบ้างแล้ว และศัตรูที่อยู่ในใจคนก็คงจะเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง

เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า วรรณกรรมที่ได้นำมาพิจารณาข้างต้นนี้ เป็นงานที่ผู้แต่งตั้งทิศทางในเชิงความคิดเอาไว้ โดยที่ประสงค์จะให้ผู้อ่านคิดตาม หรือคล้อยตามไปทางใดทางหนึ่ง จะโดยโจ่งแจ้งหรือไม่ก็ตาม การที่จะสร้างวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมขึ้นมาให้มีลักษณะเป็นภววิสัยอยู่เต็มรูปนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เรื่องสั้นบางเรื่อง (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง) ในชุดฟ้าบ่กั้น ของ  “ลาวคำหอม” จัดได้ว่าเป็นงานบุกเบิกในด้านนี้ โดยที่สภาพยากไร้ของชีวิตชนบทได้รับการตีแผ่ออกมาอย่างตรงไปตรงมา สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้ โดยที่เราไม่รู้สึกว่าผู้แต่งพยายามจะเข้ามาชี้นำ แต่วรรณกรรมที่จัดได้ว่าเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งที่สุดของวิธีการแห่งภววิสัย ก็เห็นจะได้แก่ ลูกอีสาน (2518–2519) ของคำพูน  บุญทวี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้แต่งคงจะได้กำหนดระเบียบวินัยให้แก่ตนเอง ว่าจะบรรยายสภาพชีวิตที่แร้นแค้นของชาวอีสานโดยไม่ตั้งประเด็นว่า ใครเป็นผู้กระทำหรือใครเป็นผู้ถูกกระทำ ฉากที่ดูจะทำหน้าที่เป็นคำประกาศลัทธิของผู้ประพันธ์คือ ฉากที่หลวงพ่อถามคูนว่า “เกลียดใคร เกลียดอะไรมากที่สุด” และได้รับคำตอบจากเด็กว่า “เกลียดฟ้าครับ” ซึ่งก็ทำให้หลวงพ่อต้องกำราบเจ้าหนูไปด้วยไม้เรียว 1 ที แล้วสำทับว่า “จำไว้ให้ดี จะบอกให้ ต่อไปอย่าเกลียดฟ้า ฟ้าไม่เคยลงโทษใคร จำได้ไหม?” พร้อมทั้งให้โอวาทเพิ่มเติมอีกว่า “จำไว้ให้ดี สิ่งที่ให้โทษคนเฮาคือคน” (ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2523 หน้า 53–55)

เมื่อตั้งกรอบไว้เช่นนี้แล้ว ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องโทษฟ้าโทษดินอีกต่อไป และเมื่อได้ข้อสรุปเชิงอภิปรัชญาไว้แล้วว่า “มนุสโสสิ” ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องไปแจกแจงว่าใครให้โทษแก่ใคร ลูกอีสานจึงดำเนินเรื่องไปในลักษณะของตำราอาหารอีสานอันไม่รู้จบสำหรับโรงครัวของคนยาก

อันที่จริงแล้วความยากจนข้นแค้นที่แสดงออกมาในรูปของการตั้งต้นหาอาหารมาประทังชีวิต เป็นข้อมูลที่มีศักยภาพพอที่จะนำไปสร้างเป็นวรรณกรรมที่วิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อนได้ แต่ผู้แต่งรักษาระเบียบวินัยที่ตนเองเป็นผู้สร้างขึ้นอย่างเคร่งครัด วรรณกรรมที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น odyssey แห่งความยากไร้ จึงก่อตัวขึ้นมาเป็นผลงานทางวรรณศิลป์ที่หาที่เปรียบได้ยาก เป็นการกล่าวความระดับต่ำกว่าความเป็นจริง (understatement) ที่หาได้ยากในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เป็นอนุสาวรีย์แห่งภววิสัยทางวรรณศิลป์ที่น่าทึ่ง ถ้าจะกล่าวด้วยสำนวนของประวัติวรรณคดีสากล ก็คงจะเป็นว่า ลูกอีสาน เป็นนวนิยายแบบที่ Gustave Flaubert อยากเขียน  แต่เขียนไม่ได้3

ในบริบททางวรรณศิลป์ที่กล่าวมานี้ ศัตรูของประชาชนหมดโอกาสที่จะเผยโฉมหน้าออกมาให้ปรากฏ  แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็คงจะมีแต่ผู้อ่านที่ขาดความอ่อนไหวทางอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น ที่จะไม่ให้ความเห็นใจต่อพ่อครัวแม่ครัวผู้หิวโหยเหล่านี้ ถ้าผู้อ่านจะไปสร้างภาพของศัตรูของประชาชนขึ้นมาในจินตนาการของตน ผู้ประพันธ์ก็คงจะต้องกล่าวว่าผู้อ่านคิดมากไปเอง

แนวทางของคำพูน บุญทวี อาจจะเป็นเส้นทางที่เพื่อนนักประพันธ์ไม่ถนัดที่จะเดินร่วมทางไปด้วยเท่าใดนัก เพราะการสร้างความเป็นกลางในทางวรรณกรรมในลักษณะนี้ อาจจะเป็นการยั่วยุให้ศัตรูเหิมเกริมขึ้นมาอีก เพราะเข้าใจว่าประชาชนได้ยอมสยบโดยดุษฎีไปแล้ว ความสำนึกเชิงสังคมของคนใบ้ทางวรรณศิลป์ คงจะสร้างผลกระทบไปในทางที่ทำให้สังคมดีขึ้นได้ยาก

กล่าวโดยทั่วไปว่า นักประพันธ์ร่วมสมัยของเราส่วนใหญ่ มีทั้งวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ที่หนักแน่น และมีทั้งฝีปากที่คมคาย ขบวนการเสาะแสวงหาศัตรูของประชาชนด้วยเครื่องมือทางวรรณศิลป์จึงดำเนินต่อไป ทุกข์เข็ญของประชาชนในเมืองหลวงก็ใช่จะยิ่งหย่อนกว่าเพื่อนร่วมทุกข์ในชนบท ดังที่สุจิตต์  วงษ์เทศได้ชี้ให้เห็นใน เสภาน้ำท่วมหาบเร่ (2526) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีคุณค่าเชิงหลักฐานในทำนองเดียวกับ ลูกอีสาน และตามประสาของ “ไพร่” ที่ได้เจริญวัยทางปัญญาขึ้นมาในยุคประชาธิปไตย ผู้แต่งจึงมิได้มองน้ำท่วมเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และในแง่นี้ชื่อเรื่องว่า เสภาน้ำท่วมหาบเร่ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า หาบเร่จ่อมจมลงไปกับกระแสน้ำโสโครกของเมืองหลวง น้ำท่วมเป็นกรอบโครงที่เอื้ออำนวยให้เราเห็นปัญหาของสังคมได้เด่นชัดยิ่งขึ้นอีก

ทั้งน้ำกามน้ำซูเปอร์โกโนเรีย

น้ำเสียจากสำนึกมนุสสา

น้ำกรดน้ำด่างน้ำกลางสภา

และน้ำตาคนร่อนเร่เสภาเอย (หน้า 17)

 

ความในวรรคสุดท้ายก็บอกไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้แต่งไม่ได้ต้องการจะสร้างวรรณกรรมแห่งภววิสัย ดังเช่นที่เราได้เห็นในกรณีของคำพูน  บุญทวี เสภาน้ำท่วมหาบเร่ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าไปด้วยในตัว คือมีตัวละครหลักเป็นผัวเมีย จ่าตำรวจ แม่ค้าหาบเร่ ซึ่งต้องวิวาทกันเพราะอาชีพบีบบังคับให้ต้องเดินทางสวนกัน แต่เช่นเดียวกับวรรณกรรมร่วมสมัยอีกมาก หลายช่องทางที่ประชาชนจะต้องต่อสู้กับศัตรูของประชาชนได้ เป็นเพียง “บริภาษวิธี”

ไอ้คนโกงคนคดในกรมกอง

เอาเงินทองประเทศชาติศาสนา

ทำไมไม่ไปจับเอามันมา

รังแกคนขายค้าเร่ทำไม

………………………………………………..

ก็เจ้านายในกระทรวงทบวงกรม

ล้านเสพสมสุขสมกันสุดสอย

จะขี้เยี่ยวมีขี้ข้าประคองคอย

น้อยหรือเขาจะรู้ถึงลูกเรา (หน้า 79–80)

 

ท่ามกลางความทุกข์ยากที่แก้ไม่ได้และไม่มีผู้ใดช่วยแก้ ชาวบ้านก็หาทางผ่อนคลายด้วยการจัดแข่งเรือ กวีเขียนคำประพันธ์ตอนนี้ได้ยอดเยี่ยม จัดได้ว่าเป็นงานเขียนที่แสดงฝีมือขั้นสุดยอด  ทั้งในด้านเนื้อหา ทั้งในด้านการใช้ภาษา ในด้านความมีชีวิตชีวาของจังหวะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้ายการวิจารณ์สังคมและการเมืองด้วยความหมายกึ่งซ่อนเร้น (หน้า 49–52) และที่เช่นเดียวกับเพื่อนนักประพันธ์ร่วมสมัยอีกหลายคน การนำเรื่องของการเล่นเข้ามาแทรก เป็นไปเพื่อสื่อความหมายเชิงปรัชญา

เหล่าโหราจึงมีข้อขยาย

ว่าแข่งเรือครั้งนี้มีทำนาย

คนเกิดมาแล้วต้องตายไปตามกรรม

……………………………………………..

ที่เรือรั่วแล้วล่มจึงจมลง

เป็นกฎตามพุทธองค์อย่าสงสัย

ชีวิตที่บกพร่องต้องมีภัย

ยังไม่ถึงเส้นชัยก็ตายแล้ว (หน้า 52–53)

 

น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนให้แก่คนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำ (ซึ่งชาวบ้านยืมชื่อมาให้กับเรือแข่ง) ไปจนราษฎรผู้ยากไร้ เมื่อมองโลกเช่นนี้แล้ว ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้ที่อยู่เหนือประชาชนก็ดูจะเลือนลางไป ความตายของแม่ค้าหาบเร่จึงมิได้เป็นสิ่งที่กระตุ้นความสำนึก ว่าเธอเป็นผู้กระทำเท่าใดนัก ในแง่ของวรรณศิลป์ ความตายของมณีเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน จึงเป็นการจบที่สั้นที่สุด แต่ “เลือดสีแดง” ที่ “กระจายในท่อธาร” นั้น (หน้า 86) อาจจะชวนให้เราปลงสังขาร มากกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดความสำนึกที่จะแก้ไขสังคม ศัตรูผู้ลื่นไหลได้อันตรธานไปอีกคำรบหนึ่งแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ศัตรูที่แท้จริงของประชาชน อาจไม่ใช่ศัตรูในคราบของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แต่เป็นค่านิยมหรือความเชื่อที่ครอบงำประชาชนมาช้านานเสียจนมองไม่เห็นว่า แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ใด ลักษณะของความเชื่อถือโชคลางที่มีผลกระทบทางสังคมที่กล่าวมานี้ “ลาว คำหอม” ได้ชี้ให้เห็นไว้แล้วในเรื่องสั้นบางเรื่องในชุด ฟ้าบ่กั้น

ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนวรรณกรรมที่เจาะลึกถึงแก่นของปัญหาที่ว่านี้ เห็นจะได้แก่เรื่องสั้นชื่อ “แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ของอัศศิริ ธรรมโชติซึ่งตีพิมพ์รวมไว้ในเรื่องสั้นชุด ขุนทอง  เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง เพื่อนที่รักกันอย่างแนบสนิท เหินกับนาคต้องห้ำหั่นกันจนตายตกตามกันไปทั้งสองคน ก็ด้วยเหตุที่ “นาย” ซึ่งเป็นพี่น้องกันแท้ ๆ กลายมาเป็นศัตรูกันด้วยเหตุแย่งสมบัติ ความตายของเหินกับนาค จึงเป็นการปลดแอกจากความเป็นทาสของประเพณี ที่มิได้ตั้งอยู่บนรากฐานของมนุษยธรรม ความสวามิภักดิ์ต่อเจ้านายอย่างไร้เหตุผล กลายเป็นจรรยาบรรณของโจรที่คนรุ่นใหม่ต้องปฏิเสธ เหินกับนาคที่พร้อมจะเอาความตายเข้าแลกความเป็นไทให้กับคนรุ่นลูกของเขา

ศัตรูในรูปของความเชื่อที่งมงาย เป็นศัตรูที่มีพลังยิ่งไปกว่าศัตรูที่เป็นบุคคลมากนัก อัศศิริ  ธรรมโชติ ได้ชี้ทางไปสู่อนาคตให้เพื่อนร่วมสมัยของเขาแล้ว การเอาชนะศัตรูที่ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ในระดับบุคคลหรือระดับสังคม แต่เป็นการใช้ปัญญามนุษย์เอาชนะความโง่งมของมนุษย์เอง หน้าที่ของเราคือ การกล่อมเกลาคนรุ่นลูกมิให้ทำความผิดของคนรุ่นพ่อซ้ำอีก

ในท้ายที่สุดแล้ว การวิ่งไล่ตามศัตรูที่ลื่นไหลในวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมของไทยในปัจจุบัน จึงเป็นประดุจการวิ่งทนที่ไม่มีการกำหนดระยะทาง จะว่าเป็นความล้มเหลวของวรรณกรรมยุคใหม่ก็เห็นจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะคุณค่าของวรรณกรรม เป็นคนละเรื่องกับความลึกซึ้งและแม่นยำของสังคมศาสตร์ วรรณกรรมที่จับใจคนอาจจะไม่สามารถส่งผลเชิงปฏิบัติที่เห็นผลทันตาได้ วรรณกรรมที่ประเมินสถานการณ์ทางสังคมที่ใกล้ตัวผิดพลาดอาจจะเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ก็ได้ จะขอยกตัวอย่างกวีนิพนธ์ชื่อ “เพลงกล่อมเพื่อน” (2518) ของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

 

ทางยังมืดยืดยาว

เราจะก้าวฝ่าไป

เป็นแสงเทียนส่องไทย

พร้อมเผาไหม้ตัวเอง

เราจะคล้องแขนมั่น

เข้าประจัญไม่หวั่นเกรง

ฆ้องระฆังจะวังเวง

มาอยู่เยือนกับเพื่อนยา

พอเสียงปืนดังเปรี้ยง

เราจะเรียงดาหน้า

ไปสืบทอดเจตนา

ประกาศชัยประชาชน (เพียงความเคลื่อนไหว หน้า 51)

 

เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับตัวเองว่า หน้าที่ทางสังคมของวรรณกรรม อาจจะมิใช่การแก้ปัญหาสังคมในเชิงปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ในระยะสั้น แต่เป็นหน้าที่ของการให้แสงสว่างทางปัญญา ด้วยการสร้างความประทับใจ ในแง่นี้การจับเอาศัตรูของประชาชนมาขึ้นศาลประชาชนให้ได้ จึงมิใช่หน้าที่โดยตรงของงานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์

วรรณกรรมร่วมสมัยของไทย ได้ทำหน้าที่ในการปลุกมโนสำนึกในเรื่องของความถูกต้องและความผิดพลาดเชิงสังคมได้อย่างดีมาตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราในฐานะผู้อ่านน่าจะพึงพอใจ การตั้งประเด็นเกี่ยวกับ “ศัตรูที่ลื่นไหล” ขึ้นมาอภิปรายในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะชักชวนให้เรามาร่วมกันพิจารณาว่า วรรณกรรมของไทยเรามีทิศทางที่เป็นไปในทำนองวิภาษวิธีระหว่างมิตรกับศัตรู ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ระหว่างประชาชนกับศัตรูของประชาชน มากน้อยเพียงใด

คำตอบที่ได้จากการวิเคราะห์วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม  เป็นไปในทางที่ว่าเราไม่อาจเห็นวิภาษวิธีที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจนนัก ถ้าจะย้อนกลับไปพิจารณาวรรณกรรมจากอดีตบ้าง เราอาจจะได้คำตอบที่แน่ชัดยิ่งขึ้นก็ได้ ถ้าเราถามตัวเองว่า เรามีความรู้สึกชิงชังต่อพระมหาอุปราชาใน ลิลิตตะเลงพ่าย ในฐานะอริราชศัตรูหรือไม่ คำตอบก็คงจะเป็นว่าไม่ ในทางตรงกันข้าม เราให้ความเห็นอกเห็นใจต่อตัวละครนี้อย่างแน่นอน

เหตุใดองค์พระผู้ประพันธ์จึงสร้างงานที่กระตุ้นความรู้สึกของเราไปในทางนี้ ในทำนองที่คล้ายคลึงกัน รามายณะฉบับดั้งเดิมของอินเดียโบราณ เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างตัวแทนของธรรมะกับอธรรม แต่ในรามเกียรติ์ของไทย ทศกัณฑ์ได้เบียดพระรามตกเวทีแห่งศิลปะไปตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ระบบความคิดของไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมาไม่เอื้อต่อการมองปัญหาของโลกและสังคมด้วยวิภาษวิธีใช่หรือไม่ ที่ว่ากันว่าพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจของเราให้เป็นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ละหรือ ปัญหาโลกแตกเหล่านี้มีคุณอนันต์ในการช่วยให้เราอ่านหนังสือให้ “แตก” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ศัตรูที่ลื่นไหลจากเราไปนั้นคงจะไม่หายไปไหนไกลนัก เพราะมันอาจจะเข้าไปแอบแฝงอยู่ในตัวเราเองก็เป็นได้ คนกับตะกวดจึงมี “ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ดังที่ผู้แต่งตะกวดกับคบผุได้กล่าวไว้

 

 

ที่มา : เจตนา   นาควัชระ. “ศัตรูที่ลื่นไหล:..แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย”. ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์. เทียนวรรณ. 2530, หน้า 3-33.

 

บทวิเคราะห์

 

บทวิจารณ์นี้เป็นเอกสารวิชาการที่นำเสนอต่อที่ประชุมทางวิชาการเรื่อง “100 ปี นวนิยายไทย” วันที่  30  กรกฎาคม – 1 สิงหาคม  2528  ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร และตีพิมพ์ครั้งแรกใน ถนนหนังสือ สิงหาคม 2529 บทวิจารณ์นี้ก่อพลังทางปัญญาแก่วงวรรณกรรมในช่วงนั้นมาก และยังมีพลังต่อเนื่องสู่นักเขียนและนักวิจารณ์รุ่นใหม่อยู่จนทุกวันนี้ (ดังปรากฏในบทสัมภาษณ์นักเขียน นักวิจารณ์ และนักวิชาการของคณะวิจัยสาขาวรรณศิลป์) บทวิจารณ์นี้เป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมร่วมสมัยหลายเรื่องหลายรูปแบบในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์เพื่อนำมาหาข้อสรุปรวมเชิงทฤษฎี

วรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ผู้วิจารณ์นำมาวิเคราะห์เป็นงานเขียนประเภท “วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม” ซึ่งเขียนโดยนักเขียนรุ่นหนุ่มสาวที่รับประสบการณ์เข้มข้นจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  ตั้งแต่ช่วง  “ฉันจึงมาหาความหมาย”  มาจนถึงช่วง  14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19  ผลงานส่วนใหญ่ที่นำมากล่าวถึงจึงเขียนขึ้นหลัง พ.ศ. 2519 ผลงานที่นำมาวิจารณ์ ได้แก่  ตะกวดกับคบผุ รวมเรื่องสั้นชุด คนบนต้นไม้ และ ตลิ่งสูง ซุงหนัก ของนิคม รายยวา จนตรอก  คำพิพากษา และรวมเรื่องสั้นชุด มีดประจำตัว ของชาติ กอบจิตติ  ครูบ้านนอก ของ  คำหมาน คนไค  สำนึกขบถ และนาฏกรรมบนลานกว้าง ของคมทวน คันธนู รวมเรื่องสั้นชุด  ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของอัศศิริ ธรรมโชติ  ลูกอีสาน ของคำพูน บุญทวี และเสภาน้ำท่วมหาบเร่ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ผลงานที่นำมาวิจารณ์ล้วนเป็นงานที่มีพลังเข้มข้นทางความคิด และมีความโดดเด่นในวงวรรณกรรมร่วมสมัย ทั้งนี้ผู้วิเคราะห์ตัดตอนบทความนี้มาเป็นตัวอย่างเฉพาะส่วนที่วิจารณ์ผลงานของนิคม รายยวา

ผู้วิจารณ์ให้ข้อสรุปชัดเจนว่า วรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคม มีแก่นเรื่องแสดงความ อยุติธรรมในสังคม ซึ่งผู้เขียนสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความรันทดสลดใจในชะตากรรมของประชาชนผู้ยากไร้ว่าเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นผู้ถูกกดขี่ แต่นักเขียนร่วมสมัยไม่ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ใครเล่าคือศัตรูของประชาชน ผู้วิจารณ์ใช้คำว่า “ศัตรูที่ลื่นไหล” เป็นวลีเปรียบเทียบให้เห็นภาพและเกิดความรู้สึก ในความหมายว่าวรรณกรรมร่วมสมัยไม่ได้ชี้ชัดว่าศัตรูของประชาชนคือใคร  และได้รับการต่อต้านอย่างไร ผู้วิจารณ์ไม่ได้ใช้ข้อสรุปนี้ประเมินคุณค่าทางลบต่อวรรณกรรมร่วมสมัย แต่กลับนำข้อสรุปนี้ไปสู่การกล่าวถึงทฤษฎีทางวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความไม่ชัดเจนของความหมาย” และ “ความหมายซ่อนเร้น”  โดยพรรณนาให้เห็นว่ามิใช่นักเขียนไร้ความสามารถในการนำเสนอ แต่ความซับซ้อนของปัญหาในสังคมร่วมสมัยทำให้การสร้างคนร้าย-คนดีให้เป็นภาพดำ-ขาวชัดเจนเป็นกลวิธีการเขียนที่ล้าสมัยไปแล้ว นักเขียนรุ่นใหม่ไม่ประสงค์จะยัดเยียดสารทางความคิดแก่ผู้อ่าน แต่ต้องการให้ผู้อ่านหยุดคิด  ฉุกคิด  คิดเอง  หรือคิดต่อ ดังนั้น ผู้อ่านจะเป็นผู้ปรับภาพศัตรูของประชาชนที่เลือนรางให้ชัดเจนด้วยสติปัญญาของตนเอง ตรงประเด็นนี้เท่ากับว่าผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นว่า สติปัญญาของผู้รับสารมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสติปัญญาของผู้ส่งสาร แม้ว่าวรรณกรรมแห่งความสำนึกเชิงสังคมจะมีวงผู้อ่านไม่มากนัก แต่หากพลังปัญญาของผู้เขียนและผู้อ่านมีคลื่นความคิดตรงกัน วรรณกรรมนั้นก็น่าจะมีผลกระทบในการสร้างพลังแห่งสังคมได้ไม่น้อย ข้อคิดเห็นของผู้วิจารณ์ในประเด็นนี้นำไปสู่ทฤษฎีวรรณคดีในเรื่อง สุนทรียศาสตร์ของผู้รับ (Aesthetics of Reception) ซึ่งผู้วิจารณ์ได้พรรณนาไว้อย่างพิสดารแล้วในบทความและเอกสารทางวิชาการหลายชิ้น เมื่อนำทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ของไทย ก็อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า  ผู้วิจารณ์เห็นว่านักเขียนบางคนจงใจทิ้ง “ช่องว่าง” ทางความคิดไว้ให้ผู้อ่านเติมเต็มด้วยตนเอง ความสนุกในการอ่านวรรณกรรมร่วมสมัยเหล่านี้จึงอยู่ที่ผู้อ่านใช้จินตนาการและประสบการณ์เดิมของตนต่อเติมจินตนาการของผู้เขียนให้เต็มรูป หรือหากจะคิดไกลไปกว่าที่ผู้เขียนคิด  ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ประการใด

นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์ยังประเมินคุณค่าของวรรณกรรมร่วมสมัยว่าได้ยกระดับจากวรรณกรรมแห่งความสำนึกทางสังคมไปสู่วรรณกรรมแห่งปรัชญาและอภิปรัชญา เพราะเมื่อผู้เขียนมองโลกและชีวิตด้วยความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของสรรพสิ่งว่าล้วนมีทุกข์-สุข ดี-เลว ถูก-ผิด ฯลฯ การประกาศชัดแจ้งว่าสิ่งใดหรืออะไรคือศัตรูของประชาชนก็ไม่อาจทำได้อย่างโจ่งแจ้ง แต่การไม่ชี้ชัดกลับทำให้ผู้อ่านตระหนกยิ่งกว่า เมื่อตระหนักว่าศัตรูของเราไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน  แต่เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆนี่เอง อย่างเช่นผู้วิจารณ์ยกตัวอย่างเรื่องตะกวดกับคบผุ โดยชี้ให้เห็นว่า “เมื่อคนกับตะกวดได้สัมผัสกัน และคนเกิดความรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตะกวด ประชาชนกับศัตรูของประชาชนก็เผ่าพันธุ์เดียวกันอีกนั่นแหละ…เราจะจับผู้ร้ายที่ไหนมาลงทัณฑ์ ในเมื่อเขากับเราก็กำพืดเดียวกัน” หรือตระหนักว่าศัตรูของประชาชนอาจอยู่ในใจของเรานี่เอง อย่างในเรื่องสั้น “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” และ “แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ของอัศศิริ  ธรรมโชติ ที่ชี้ให้เห็นศัตรูในรูปของความโลภและความหลงงมงายได้อย่างงดงาม การเป็นวรรณกรรมแห่งสำนึกเชิงปรัชญาก็ทำให้ศัตรูของประชาชนลื่นไหลไป

บทวิจารณ์นี้ยังเสนอให้เห็นว่าบทบาทของวรรณกรรมเป็นอย่างไร ผู้วิจารณ์ไม่ได้คาดหวังให้วรรณกรรมมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม อีกทั้งไม่ได้เรียกร้องให้นักเขียนสามารถวิเคราะห์สังคมอย่างมีหลักเกณฑ์ และไม่ได้คาดคั้นว่าวรรณกรรมจะต้องให้คำตอบอันเป็นทางออกแก่สังคม ผู้วิจารณ์มองบทบาทของวรรณกรรมในระดับกระตุ้นความคิด และสร้างจิตสำนึก เป็นงานเขียนที่ตั้งคำถามเพื่อยั่วยุให้คิด มากกว่าจะเป็นการให้คำตอบ สั่งสอน หรือตัดสินถูกผิด ดังที่ผู้วิจารณ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “หน้าที่ทางสังคมของวรรณกรรมอาจจะมิใช่การแก้ปัญหาสังคมในเชิงปฏิบัติ  หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ในระยะสั้น  แต่เป็นหน้าที่ของการให้แสงสว่างทางปัญญาด้วยการสร้างความประทับใจ” ดังนั้น การที่วรรณกรรมร่วมสมัยปล่อยให้ศัตรูลื่นไหลไปอย่างลอยนวล จึงไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะในฐานะงานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ วรรณกรรมที่ทำหน้าที่ปลุกจิตสำนึกทางสังคมก็สร้างความพึงพอใจแก่ผู้อ่านไม่น้อยแล้ว

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้วิจารณ์แสดงไว้ชัดเจนในบทวิจารณ์นี้คือ การที่ผู้เขียนต้องไม่ละเลยคุณค่าทางศิลปะของงานวรรณกรรม วรรณกรรมอาจมีเนื้อหารุนแรง ผู้แต่งบางคนอาจใช้ลักษณะ “บริภาษวิธี” หรือวรรณกรรมบางเรื่องอาจมีคุณค่าในฐานะเป็นหลักฐานข้อมูลทางสังคมศาสตร์  แต่วรรณกรรมไม่ควรขาดอารมณ์สุนทรีย์ทางวรรณศิลป์ เพราะวรรณกรรมที่จับใจผู้อ่านในเบื้องต้นย่อมนำไปสู่การจับความคิด และอาจพัฒนาไปสู่การปลุกมโนสำนึกในเรื่องความถูกต้องและความผิดพลาดเชิงสังคม ตลอดจนแปรไปเป็นภาคปฏิบัติในเวลาต่อไป

ประเด็นสุดท้ายที่นักวิจารณ์เสนอไว้ในบทความนี้คือชี้ให้เห็นว่าการที่นักเขียนรุ่นใหม่ไม่ได้นำเสนอวรรณกรรมแห่งความสำนึกทางสังคมด้วยวิภาษวิธีอย่างชัดเจน ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่  หากแต่เป็น “สัญนิยมทางวรรณกรรม” ที่มีอยู่แล้วในวรรณคดีไทยแต่โบราณ ตัวละครฝ่ายร้ายในวรรณคดีไทย เช่น ขุนช้าง พระมหาอุปราชา ทศกัณฐ์  ฯลฯ จึงได้รับความสงสารเห็นใจจากผู้อ่านผู้ดูไม่น้อยไปกว่าความชื่นชมในคุณงามความดีของตัวละครฝ่ายดี ผู้วิจารณ์ได้ทิ้งคำถามไว้ว่าระบบความคิดของไทยแต่ดั้งเดิม ไม่เอื้อต่อการมองปัญหาของโลกและสังคมด้วยวิภาษวิธีใช่หรือไม่ เป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาจริงหรือ ผู้วิจารณ์อาจไม่ได้ต้องการคำตอบนัก แต่ก็ชี้ว่า การพยายามขบปัญหาให้ออกจะช่วยทำให้อ่านหนังสือแตก และทำให้เราเข้าใจสารเนื้อหาและความคิดของวรรณกรรมได้ทะลุปรุโปร่งขึ้น  ทัศนะต่างๆของผู้วิจารณ์ที่แสดงไว้ในบทวิจารณ์นี้ แม้จะดูเหมือนชี้ข้อบกพร่องของวรรณกรรมร่วมสมัย  ในด้านที่ปล่อยให้ศัตรูของประชาชนลื่นไหลหลุดมือ  และวรรณกรรมหลายเรื่องมีจุดอ่อนในด้านกลวิธีนำเสนอบ้าง ในด้านแนวคิดเชิงจริยธรรมบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว บทวิจารณ์นี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านและให้กำลังใจนักเขียนรุ่นใหม่ไม่น้อย  ด้วยการเชื่อมโยงข้อสรุปเข้ากับทฤษฎีทางวรรณกรรมอย่างไม่จงใจให้เป็นวิชาการเกินไป นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์ยังแก้ต่างให้กับข้อบกพร่องบางประการของวรรณกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะประเด็น “ศัตรูที่ลื่นไหล” ได้อย่างน่าเชื่อถือ

บทวิจารณ์นี้ต่างไปจากบทวิจารณ์โดยทั่วไป คือ เป็นการวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยจำนวนหนึ่งแทนจะวิจารณ์วรรณกรรมเพียงเรื่องเดียว ทำให้ทัศนะวิจารณ์ที่แสดงไว้เป็นทัศนะจากมุมมองที่กว้างขวาง ผู้วิจารณ์สามารถสรุปประเด็นได้อย่างมั่นใจด้วยตัวอย่างวรรณกรรมที่มีน้ำหนัก ข้อสรุปของผู้วิจารณ์จึงมีพลังหนักแน่น แต่ก็ใช่ว่าผู้วิจารณ์จะปิดโอกาสสำหรับการแสดงทัศนะที่กว้างขวางออกไป การเปิดประเด็น “ศัตรูที่ลื่นไหล” ในการวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยจึงจุดประกายความคิดในการทำงานของนักเขียนและนักวิจารณ์ร่วมสมัยต่อมาอีกยาวนาน

 

 

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ : ผู้วิเคราะห์


1 Thai P.E.N. Anthology : Short Stories and Poems of Social Consciousness, 1984, “Introduction”,pp.(11)-(12).

2 “วิจารณ์คำพิพากษาของชาติ  กอบจิตติ” ใน โลกหนังสือ ปีที่ 5 ฉบับที่ 12 : กันยายน 2525.

3 ดู : เจตนา   นาควัชระ : ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี บทที่ 9 “อารมณ์โศกในวรรณคดี”

3 Gustave  Flaubert  นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศส ในช่วงหลังศตวรรษที่ 19 เสนอความคิดว่านักประพันธ์ควรจะสร้างงานที่มีลักษณะเป็นภววิสัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ตัวผู้ประพันธ์สร้างเรื่องที่ดำเนินไปได้เองด้วยตรรกวิธีภายในเรื่อง  ผู้ประพันธ์ต้องไม่เขียนงานที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าตัวผู้แต่งเข้ามามีบทบาทเชิง “กำกับการแสดง” หรือชักนำในทางความคิด (ดู : ทัศนีย์  นาควัชระ : ชีวิตและผลงานของกุลสตาฟ  โฟลแบรต์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2529 หน้า 327–334

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*