25 ปีของ “ปีศาจโรงละคร”

 

General

พงศ์พันธ์   ประภาศิริลักษณ์

(เผยแพร่ใน facebook เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553)

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

The Phantom of the Opera 25 ปีของปีศาจโรงละครในลอนดอน

จากความโด่งดังของนิยายเรื่อง   The Phantom of the Opera    แต่งโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส    กาสตง เลอรูซ์ (Gaston Leroux)  เขาแต่งเรื่องนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากข่าวอุบัติเหตุโคมระย้าร่วงในโรงอุปรากรปารีส และการพบทะเลสาปใต้โรงละครแห่งนี้   เลอรูซ์ใช้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นนี้มาเป็นฉากหลังของนิยาย โดยเล่าเรื่องของชายพิการที่มีความสามารถทางดนตรีที่อาศัยและเติบโตอยู่ใต้โรงอุปรากร เขาหลบซ่อนตัวลึกลับราวปีศาจ และตกหลุมรักคริสทีนคอรัสสาวในคณะบัลเลต์ของคณะละคร  เขาเป็นผู้สอนให้เธอร้องเพลงและวางแผนให้เธอเป็นนักแสดงนำ  ความขัดแย้งเกิดขึ้น เมื่อ          ราอูลผู้อุปถัมภ์รายใหม่ของโรงอุปรากร ได้ชมการแสดงของคริสทีน และจำได้ว่าเธอคือเพื่อนในวัยเด็ก เขาตกหลุมรัก        คริสทีนในทันที ทำให้คริสทีนอยู่ระหว่างศึกการแย่งชิงความรักของคนจากสองโลก คนหนึ่งหลบซ่อนในเงามืดและทำทุกอย่างเพื่อความรักแม้กระทั่งเป็นฆาตกร ในขณะที่อีกคนอยู่ในโลกกลางแจ้งที่สว่างไสวสดใสมีทุกอย่างเพียบพร้อม  ซึ่งความขัดแย้งนี้ได้เป็นกลทางการละครชั้นดีที่สร้างความสะเทือนใจให้ผู้อ่านหลายยุคหลายสมัยและทำให้นิยายเรื่องนี้มีชีวิตอยู่มานานแสนนาน

นิยายถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้งตั้งแต่ยุคหนังเงียบขาวดำ และละครเวทีหลายฉบับ ในช่วงปี 1980 The Phantom of the Opera ฉบับละครเพลงของ Andrew Lloyd Webber  เปิดแสดงที่ลอนดอน ละครประสบความสำเร็จตั้งแต่คืนแรกที่เปิดแสดง ดนตรีจากละครเพลงเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของ Andrew Lloyd Webber

ละครเรื่อง The Phantom of the Opera เปิดแสดงอย่างต่อเนื่องที่ลอนดอนมาเป็นปีที่ 25 รวมทั้งที่นิวยอร์คเปิดแสดงต่อเนื่องเป็นปีที่ 24  ทั้งในลอนดอนและนิวยอร์คยังไม่มีแนวโน้มจะปิดการแสดงลง ละครเพลงเวอร์ชั่นนี้ได้เปิดแสดงใน 145 เมืองใน 27 ประเทศ

ล่าสุดมีการจัดคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 25 ปี ในลอนดอน คอนเสิร์ตจัดขึ้นที่ Royal Albert Hall ตามรอยการฉลองครบรอบของละครเพลง Les Miserable ที่เคยจัดไปแล้วสองครั้ง

จากแนวทางเดิมของนิยาย The Phantom of the Opera มีความโดดเด่นในด้านการเล่าเรื่องจากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์  จึงทำให้นิยายเรื่องนี้แทบจะเป็นสารคดีรายงานข่าวสืบสวนกึ่งๆ นิยายเขย่าขวัญ โดยเน้นรายละเอียดที่ตัวปีศาจโรงละครและตบท้ายด้วยความสะเทือนใจของรักสามเส้าโดยที่ละครเพลงเวอร์ชั่นนี้เล่าเรื่องต่างออกไปจากนิยายโดยเน้นเรื่องของความรักเป็นหลัก บทละครมีจุดยืนแข็งแรงอยู่กับความรักทรมานของปีศาจโรงละครกับสาวน้อยนักร้องโอเปร่า  ถือว่าผู้สร้างเลือกจุดยืนได้ถูกทางและทำถึงใจ

ผู้เขียนบทและผู้แต่งเพลงยังอาศัยช่องว่างจากนิยายดั้งเดิมเพิ่มเติมรายละเอียดเหตุการณ์ รวมถึงแนวทางการนำเสนอวิธีเล่าเรื่องที่ต่างไปจากตัวบทประพันธ์ดั้งเดิม ทั้งเพิ่มสีสันความสนุกให้เหล่าตัวประกอบที่เป็นนักแสดง ผู้จัดการ และเหล่าทีมงานเบื้องหลังโรงอุปรากรได้ออกมาบนเวทีมีบทเชือดเฉือนวาทะกันสุดมันแกมเฮฮา  ซึ่งสีสันตรงนี้มาช่วยไม่ให้เรื่องรักสามเส้าเลยเถิดเป็นความเลี่ยนหวานจนน่าเบื่อ การเบรคตัวละครหลักด้วยตัวประกอบสีสันฉุดฉาดทำได้ถูกจังหวะพอเหมาะทำให้ละครมีหลากมิติและดูสนุกขึ้น  ทั้งฝ่ายนักแสดงนำในคณะอุปรากร ฝ่ายการจัดการ ทีมงานเบื้องหลังทั้งหลายเป็นภาพสะท้อนที่ราวกับจำลองสังคมจริงมาไว้บนเวที ดังจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องที่มีการขายโรงละครให้กับผู้อุปถัมภ์รายใหม่ทำให้เราเห็นพฤติกรรมตอบสนองเหตุการณ์ที่น่าสนใจจากตัวละครต่างๆ  และผู้คนเหล่านี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลทำให้ ปีศาจโรงละครต้องตัดสินใจกับชะตากรรมของตัวเองในตอนท้ายด้วย ซึ่งหากบทไม่แน่น ทีมนักแสดงรับส่งไม่แข็งแรง การกำกับไม่สมบูรณ์ ความสนุกจากหมู่มวลของละครอาจจะเด่นกลบเรื่องในส่วนรักสามเศร้าไป การแสดงในรอบนั้นทำได้ลงตัวพอเหมาะพอเจาะ

นอกจากบทที่หาจุดยืนได้มั่นคงตามแนวทางของตัวแล้ว ดนตรีและคำร้องประพันธ์ที่โดดเด่นไพเราะติดหู เนื้อร้องที่ถ่ายทอดสารได้อย่างไม่มีที่ติ โดยเฉพาะเนื้อร้องที่บรรยายความรู้สึกสิ่งที่เกิดกับภายในตัวละครได้ล้ำลึก เช่นเพลง The Music of the Night เลือกใช้คำที่อลังการแต่กลับได้ความรู้สึกหวานหยดย้อย ราวนิยายโรแมนซ์โบราณ   หรือเพลง Wishing You Were Somehow Here Again ถ่ายทอดความโหยหาความรัก อาลัยอาวรณ์  เพลงหมู่มวลเล่าเรื่องเช่น Masquerade , Prima Donnaได้เนื้อความเคลื่อนไปข้างหน้าในขณะเดียวกันก็มีความไพเราะติดหู

นักแสดงจะต้องมีความสามารถในการร้องแบบเกือบๆ จะเป็นโอเปราติก ซึ่งเป็นการร้องที่ต้องใช้พลังมหาศาล นอกจากจะรูปงามแสดงเก่งแล้วเสียงต้องถึง แถมต้องแข็งแรงอีกด้วยเพราะหลายๆช่วงในการแสดงมีทั้งวิ่งทั้งร้องไป นางเอกเองโดนเหวี่ยงลงไปกองกับพื้น แล้วต้องคลานกลิ้งไปมาแล้วยังต้องร้องแสดงในฉากสุดท้ายยาวราวสามสิบนาที ทำแบบนี้อาทิตย์ละ 8 รอบ ถ้าไม่เทรนด์การร้อง การแสดง มาอย่างดี คงจะรักษาระดับการแสดงที่มีพลังและมีความสดได้อย่างที่เห็น

ฉากจากละครเรื่องนี้มีโคมไฟแชนดาเลีย เป็นวัตถุพยานที่สำคัญ หากไม่มีโคมไฟระย้าก็ไม่ใช่ The Phantom of the Opera ฉากที่โคมไฟลอยละลิ่วขึ้นสู่กลางโรงละครพาคนดูย้อนอดีตไปสู่ยุครุ่งเรืองของโรงละครแห่งนี้ การออกแบบให้โคมระย้าลอยขึ้นและตกลงไปสู่กลางเวที เป็นการออกแบบที่ฉลาดและทำได้ดีทีเดียว

นอกจากนี้การเปลี่ยนฉากต่อฉากในหลายๆช่วงที่เกิดขึ้นภายในพริบตา บางฉากใช้วิธีเลื่อนเข้าออก ยกผ้าม่านขึ้นอย่างง่ายแต่สร้างภาพบรรยากาศเป็นฉากใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะฉากที่ปีศาจโรงละครพานางเอกพายเรือผ่านทะเลสาบใต้โรงละครเป็นการออกแบบที่ยอดเยี่ยมที่น่าจดจำเรื่องหนึ่งของละครที่เคยชมมาทั้งหมด

แม้ว่าฉากจะโดดเด่นอลังการแค่ไหน ฉากก็ยังเป็นตัวรับใช้เนื้อหาของละคร เนื่องด้วยตลอดสองชั่วโมงกว่าๆ ผู้ชมยังจดจ่อไปที่ตัวละคร ตัวเรื่อง บทเพลงและความสามารถในการร้องการแสดงของนักแสดง ฉากที่อลังการตรงหน้าหลายฉากจึงไม่สามารถข่ม เนื้อเรื่อง ตัวละครและนักแสดงกลืนหายไปกับเทคนิคอลังการบนเวที

จากการที่ได้มีโอกาสชมละครเรื่องนี้มาสี่ครั้งในรอบยี่สิบปี นักแสดงทุกคนแสดงได้เต็มหน้าที่ ของตนเองในทุกครั้งที่แสดง ทั้งๆที่ผู้แสดงแต่ละคนแสดงบทเดิมๆ มากว่าสามสี่ปีโดยไม่เกิดอาการนักแสดงช้ำหรือแสดงแบบกดปุ่ม เก็บแรง หรือเบื่อๆเซ็งๆ  ต่างจากที่รู้สึกกับนักแสดงเด็กที่รับบทซิมบ้าใน The Lion King ที่แสดงตามบทราวกับท่องมาให้คนดูฟัง

นักแสดงบท ปีศาจโรงละคร ถือเป็นบทที่ใครเล่นแล้วก็เกิดและส่งให้นักแสดงมีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น สมัยปี ค.ศ. 1991 Anthony Warlow นักแสดงออสเตรเลียนและยังเป็นนักร้องโอเปรา เขาร้องเพลงได้ดี แสดงดี แถมหล่อกว่าตัวพระเอกเสียอีก แต่บนเวทีนักแสดงจะโดนเมคอัพทำให้เละจนไม่เหลือความหล่อจากบทปีศาจโรงละคร ทำให้ Anthony Warlow ได้บันทึกเสียงลงในอัลบั้มละครเพลง Jekyll & Hyde ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยเพลงเด่นจากเรื่องนี้ This Is a Moment เพลงเอกจากเรื่องนี้ที่คนมักจะเปิดเสียงของ Anthony Warlow บ่อยๆ รวมทั้ง The Complete Symphonic recording ละครเพลง Les Miserables เขาได้ร้องอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วย

สิบกว่าปีถัดมา (ปี ค.ศ. 2003) ดูละครเรื่องนี้ที่ลอนดอน John Owen-Jones เป็น Phantom ที่หล่อน้อยไปหน่อย แต่ความสามารถในการร้องเพลงและการแสดงสูสีกับคนแรก เขายังเป็นนักแสดงที่รับบทนี้ยาวนานต่อเนื่องคนหนึ่ง และตอนนี้เป็นนักแสดงละครแถวหน้าที่เวสต์เอนด์และบอร์ดเวย์

ผู้แสดงเป็น ปีศาจโรงละคร  Ramin Karimloo เป็นนักแสดงเชื้อสายอิหร่าน เสียงดี หล่อเหลากินขาดกว่าสองคนแรก กลายเป็นนักแสดงที่ขายดีในขณะนี้  Ramin ได้แสดงเป็นนักแสดงชุดแรกใน The Phantom of the Opera ภาค2 ที่ชื่อLove Never Dies  และRamin ยังแสดงเป็น Phantom หลักในการแสดงฉลองครบรอบ 25 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดที่ได้ดู Scott Davies เป็น Phantom ที่เสียงใช้ได้ ทุกอย่างทำได้ลงตัว แม้จะไม่หล่อเหลาเท่าสามคนแรกก็ตาม ส่วนนักแสดงฝั่งหญิงดูจะลอยตัวหมดทุกคน

ครั้งหลังสุดที่ได้ดู The Phantom of the Opera ที่ลอนดอนราวกับว่ามีการปรับเปลี่ยนฉากใหม่สีสดใสกว่าเก่า รวมทั้งระบบแสงที่ชัดคมกว่าแต่ก่อน คงเป็นเพราะการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมายกเครื่องในระบบแสงเสียงของโรงที่เล่นมากว่า 25 ปี แต่ที่น่าเสียดายคือ ระบบเสียงที่ติดตั้งระบบดิจิตัลทั้งโรงละครทำให้เสียงจากวงดนตรีสด เสียงร้องสดได้ถูกส่งออกมาจากลำโพงอีกทางด้วย  ซึ่งแน่นอนว่าระดับเสียงความกระหึ่มชัดคมใส (เกินจริง) ทำให้เสน่ห์ของการฟังดนตรีสดๆ ที่บรรเลงจากหลุมหน้าเวทีหดหายไปไม่น้อยทีเดียว

อีกประการหนึ่งที่รู้สึกได้ว่าละครเปลี่ยนไป เมื่อได้ดูภาคต่อ Love Never Dies (Phantom 2) รายละเอียดในละครที่อาจจะเคยมี แต่ไม่เคยสังเกตจาการชมในครั้งก่อนโน้นๆ หรืออาจจะถูกเพิ่มมาทีหลังคือตัวละคร ราอูลที่ดูจะเปลี่ยนไปจากชายหนุ่มโรแมนติกสุดขั้ว หวานอบอุ่น รักนางเอกมากขนาดยอมตายแทนได้ มาคราวล่าสุดดูตัวละครนี้ ไหงออกแนวเอาแต่ใจตัวเองออกจะขี้โอ่รวยไม่หวานอบอุ่นเหมือนแต่ก่อน จะเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับตัวละครตัวนี้ที่ไปปรากฏตัวในภาคสองหรือเปล่า เพราะภาคสอง ราอูลติดเหล้าติดพนัน และก้าวร้าวเอาแต่ใจ ไหนจะความรู้สึกระหว่างคริสตีนกับปีศาจที่ออกมาวาบหวามมากกว่าก่อนมาก ตั้งแต่ฉากลงไปใต้ดินเห็นภาษากายที่ปีศาจลูบไล้เรือนร่างคริสทีนมากขึ้น การกระทำของสองคนนี้ออกไปทางชู้สาวหนักกว่าคราวก่อนๆที่เคยดู (ช่วงที่ก่อนมีภาคต่อออกมา)  รวมทั้งฉากสุดท้ายตอนร่ำลาของครีสตีนกับปีศาจ  คริสตีนเอาแหวนมาคืนและจูบลาปีศาจ เมื่อครั้งดูคราวก่อนๆ เราคิดว่าฉากนี้คือการพบกันครั้งสุดท้ายของสองคนนี้ น้ำตาผมไหลเป็นเต่าเผา เป็นฉากจบที่โศกแต่งดงามทั้งภาพ การกระทำตัวละคร สีหน้า ดนตรี อารมณ์ แต่หลังจากที่ภาคต่อออกมาและรู้แล้วว่าสองคนนี้จะได้พบกันอีกในเวลาสิบกว่าปีให้หลังในภาคสอง ผมไม่เศร้าไปกับฉากนี้สักนิด และออกจะตลกที่เห็น ปีศาจครวญครางที่เสียคริสทีนไปผมคิดในใจว่า อีกหน่อยก็ไปแย่งคริสตีนกลับมา จะร้องไห้ไปทำไม จบๆไปได้แล้ว ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปเพราะมีภาคต่อ การไปดูครั้งนี้แล้วทำให้ความประทับใจภาคแรกน้อยลง ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*