‘สมเถา’ จับมือ SIAM COMMUNITY ORCHESTRA กับ BRUCKNER ในลีลา Easy Listening

BRUCKNER 9_Kalapapruek

 

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’  kalapapruek@hotmail.com

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์  โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

 

เมื่อเอ่ยชื่อถึง Anton Bruckner แล้ว เชื่อว่าคอดนตรีคลาสสิกหลาย ๆ คนคงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงผลงาน symphony ขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยเส้นสายลายดนตรีอันวิจิตรซับซ้อนชวนฉงนฉงายเรียกร้องสมาธิและวุฒิภาวะในการฟังจากผู้ฟังในระดับไม่เกรงใจจนถือได้ว่าเป็นดนตรีที่ควรค่าแก่การเรียกขานให้เป็น ‘serious music’ กันอย่างแท้จริง symphony ของ Anton Bruckner มักจะมีความยาวราว ๆ หนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่า และมักจะมาในลีลาทำนองที่เลื่อนไหลผันแปรอารมณ์ความรู้สึกตามอำเภอใจจนแทบบางครั้งก็แทบจะวิเคราะห์กันไม่ได้ว่า Bruckner กำลังใช้โครงสร้างทางดนตรีชนิดไหนในการประพันธ์ ความยิ่งใหญ่ใน symphony ทั้งเก้าบทของ Anton Bruckner ทำให้มันกลายเป็นกลุ่มงานระดับ ‘ปราบเซียน’ สำหรับทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง ชนิดอาจต้องย้ำเล่นย้อนฟังกันหลาย ๆ ครั้งจึงจะสามารถสัมผัสเข้าถึงจินตนาการทางดนตรีทั้งหมดของ Anton Bruckner ได้

แต่สำหรับการบรรเลงบทประพันธ์ Symphony หมายเลข 9 ในบันไดเสียง D minor ของ Anton Bruckner โดยวง Siam Community Orchestra ภายใต้การควบคุมของวาทยกรชาวไทย คุณสมเถา สุจริตกุล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ณ หอประชุมมหิศร SCB Park Plaza นั้น นับเป็นการฉีกแนวการบรรเลงผลงานของ Anton Bruckner ไปอย่างไม่น่าจะมีใครคิดฝัน จากผลงานที่มักจะถูกถ่ายทอดอย่างหนักแน่นเข้มแข็งและดุดันก็กลับกลายเป็นการสร้างสีสันทางดนตรีอันวิจิตรงามเน้นความละเอียดละเมียดได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และด้วยความที่ผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้ฟังการควบคุมวงของคุณสมเถา สุจริตกุล มาก่อนแม้จะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมานาน การร่วมฟังคอนเสิร์ตในครั้งนี้จึงไม่มีความคาดหวังว่าการแสดงจะออกมาในทางใด ซึ่งเมื่อสุดท้ายมันเป็นอะไรที่ ‘ใช่’ ผลที่ออกมาจึงกลายเป็น surprise ที่น่ายินดี

Symphony หมายเลข 9 บทนี้นับเป็น Symphony บทสุดท้ายที่ Anton Bruckner ได้ประพันธ์ขึ้น เขาเริ่มลงมือประพันธ์งานชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1887 แต่ก็มาด่วนเสียชีวิตไปเสียก่อนในปี ค.ศ. 1896 หลังจากที่ประพันธ์เสร็จไปเพียงสามท่อนกระบวนเท่านั้น สำหรับท่อนกระบวนสุดท้ายเขาทิ้งเอาไว้เพียงโครงร่างว่าจะเขียนออกมาเป็นอย่างไรทว่ายังไม่ได้ลงรายละเอียด Symphony บทนี้จึงเป็น Symphony ที่ยังไม่สมบูรณ์ ทว่าความหมดจดงามงดของทั้งสามท่อนกระบวนที่ประพันธ์เสร็จแล้วก็ยังอุตส่าห์ทำให้มันกลายเป็น Symphony บทเด่นอีกหนึ่งบทของ Anton Bruckner ได้ต่อให้มันจะเป็น Symphony ที่ไร้ท่อนสรุปก็ตาม

ความแตกต่างสำคัญในการบรรเลงบทประพันธ์ชิ้นนี้โดยคุณสมเถา สุจริตกุล กับวง Siam Community Orchestra ก็คือการให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลิกทางดนตรีของห้วงวลีอย่างวิจิตรบรรจง มากกว่าจะมุ่งเน้นความโฉ่งฉ่างสนั่นดังอย่างที่เราจะได้ยินได้ฟังในงานของ Anton Bruckner โดยทั่วไป คุณสมเถาแสดงความเป็น ‘ศิลปิน’ ของตนด้วยการระบายน้ำเสียงแห่งความเป็น Bruckner อย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่ทว่ามีพลังชวนให้คล้อยตามได้อย่างน่าสนใจมากเลยทีเดียว ความโดดเด่นอันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนมากในท่อนกระบวนแรก I) Feierlich: Misterioso (ขึงขังและลึกลับ) ซึ่งมีการกระจายบทบาทของเครื่องดนตรีในแต่ละกลุ่มกันอย่างสอดคล้องและแพรวพราว โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเป่าทั้งเครื่องลมไม้และเครื่องทองเหลืองซึ่งดูจะมีสีสันที่หลากหลายมาก ซึ่งคุณสมเถา ก็บรรจงลงรายละเอียดสร้างลมหายใจให้กับท่วงทำนองของวรรคตอนต่าง ๆ ได้อย่างมีชีวิตเปล่งประกายความงามออกมาโดยไม่มีการประดิษฐ์หรือคิดจงใจจะจูงกล่อมผู้ฟังแม้แต่เพียงนิดเดียว การบรรเลงที่มุ่งถ่ายทอดความงามของแต่ละแนวทำนองอย่างบริสุทธิ์ซื่อเช่นนี้ส่งผลให้ทุกสุ้มเสียงที่ออกมามีความเป็นธรรมชาติปราศจากจริตปรุงแต่งใด ๆ อย่างที่มักจะเห็นกันได้บ่อยครั้งในการบรรเลงผลงาน Symphony ของ Bruckner

หลังได้ดื่มด่ำกำซาบไปกับความหลากหลายและละลานของการสอนประสานทำนองของเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มในท่อนกระบวนแรกแล้ว สมเถา ก็จะมีโอกาสได้แสดงความแม่นยำจัดเจนในการควบคุมวงกับจังหวะดนตรีอันแข็งแรงและแกร่งกระชับในท่อน II) Scherzo: Bewegt, lebhaft (เพลงขบขัน: เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา) ด้วยลีลาอันคึกคักและกะปรี้กะเปร่าซึ่ง ‘เอาอยู่’ ด้วยทักษะระดับ ‘ชั้นครู’ สามารถแข่งสู้กับใคร ๆ ได้สบาย ๆ การบรรเลงในท่อน Scherzo นี้สามารถสะท้อนศักยภาพในทางทักษะของสมาชิกในวง Siam Community Orchestra ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านความพร้อมเพรียงในการบรรเลงลูกจังหวะอันละเอียดยิบย่อยที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีรสชาติดีเหลือเกิน สำหรับในท่อนกระบวนที่สาม III) Adagio: Langsam, feierlich (ช้าอย่างขึงขัง) คุณสมเถาก็ละเลียดสุ้มเสียงอันไพเราะจากท่วงทำนองอันเนิบช้าออกมาได้อย่างงามสง่า ซึ่งไม่ว่ามันจะอ้อยอิ่งทิ้งช่วงผ่อนหายใจกันอย่าง chilled ๆ สบาย ๆ เพียงใดก็ยังคงแฝงไว้ด้วยความเข้มข้นทางดนตรีที่ไม่ได้จืดชืดหรือน่าเหนื่อยหน่ายเลย ก่อนที่วงดุริยางค์จะเร่งเร้าเข้าสู่ช่วง climax อันกระหึ่มดัง ซึ่งระดับเสียงอันอึงหูของดนตรีในช่วงนี้ก็เป็นความเข้มที่เกิดจากความสามัคคีของเหล่าเครื่องดนตรีที่เปล่งบรรเลงออกมาพร้อม ๆ กันมากกว่าจะเป็นการเค้นดันเพื่อข่มขวัญผู้ฟังอย่างที่มักจะได้ยินกันบ่อยครั้งในการบรรเลงงานของ Bruckner จากนั้นจึงสรุปจบกันอย่างอ่อนหวานกับระลอกทำนองที่ไล่เล่นสู่บทสรุปกันอย่างนุ่มนวล

แนวทางการบรรเลงที่เน้นการระบายสีสันของท่วงทำนองกันอย่างละเอียดประณีตของคุณสมเถาและวง Siam Community Orchestra ในผลงาน Symphony บทนี้ ทำให้ดนตรีที่หลาย ๆ คนอาจเคยมองว่าอุดมไปด้วยความหนักแน่น เข้มข้น และจริงจัง กลับฟังดูไพเราะหยดย้อยและเรียบง่ายไม่ต่างจากการฟังดนตรีแนว Easy Listening ทั้งหลายกันเลย หนำซ้ำโครงสร้างทางดนตรีที่เน้นการเลื่อนไหลอันอิสระของท่วงทำนองราวไม่มีการแบ่งห้องแบ่งวรรคในเชิง structure อะไรใด ๆ ก็ยิ่งทำให้มันคล้ายเป็นการฟังดนตรี medley ของห้วงทำนองอันอ่อนใสสร้างความประทับใจได้อย่างชวนให้รู้สึกอิ่มเอม

ความสำเร็จในระดับมืออาชีพของการบรรเลง Symphony ของ Bruckner ในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนมีอันต้องประหลาดใจเมื่อได้ทราบในภายหลังว่าเหล่าบรรดานักดนตรีของวงดุริยางค์ Siam Community ส่วนใหญ่ก็เล่นดนตรีกันในฐานะมือสมัครเล่นหาได้ประกอบเป็นอาชีพหลักไม่ ทุกคนล้วนมาร่วมบรรเลงกันด้วยใจโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนใด ๆ นอกเหนือจากความภาคภูมิใจในการได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงรอบสยามปฐมทัศน์ของ Symphony บทนี้ ซึ่งก็นับเป็นประเด็นที่น่าฉุกคิดอยู่เหมือนกันว่าบางครั้งการทำอะไรอย่างบริสุทธิ์จริงใจโดยไม่มีปัจจัยทางวิชาชีพมาเป็นแรงกดดันก็อาจส่งผลให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างน่าพอใจเสียยิ่งกว่า คอนเสิร์ตฟรีในครั้งนี้จึงนับเป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า ‘ของดี’ บางครั้งก็มิได้ขึ้นกับ ‘ราคา’ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ‘คุณค่า’ ซึ่งต้องกลั่นมาจากความรักและความทุ่มเท . . .

 

3189910704_07b0b7e88c

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*