บันทึกของนายแก้ว เรื่องดนตรีและมหรสพรับเสด็จ จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ปี 2482

บันทึกของนายแก้ว   เรื่องดนตรีและมหรสพรับเสด็จ

จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ปี 2482

พูนพิศ   อมาตยกุล

อดีตของการดนตรีและมหรสพใน 14 จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะเรื่องเก่าๆ สมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีบันทึกอยู่ในหนังสือน้อยมาก ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 21 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2532 ที่จังหวัดภูเก็ต จัดเป็นเรื่องของดนตรีไทยภาคกลางขนวงขนาดใหญ่มาบรรเลงที่ภูเก็ต โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าทรงดนตรีร่วมกับพสกนิกรนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญ จึงเห็นควรเสนอบทความนี้ เพื่อให้ทราบเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารในสมัยรัชการที่ 5 ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2452 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน เพื่อจะได้ทราบถึงการดนตรีและมหรสพ ที่กรมการเมืองสมัยนั้นจัดขึ้นรับเสด็จ ซึ่งแน่นอนที่สุด จะต้องจัดคณะที่ดี หรือ บุคคลที่มีฝีมือดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในยุคนั้น มาแสดงฝีมือถวายหน้าพระที่นั่ง รวมทั้งจัดงานให้ประชาชนในท้องที่นั้นๆ เข้ามาชมและมีการละเล่นสนุกสนาน ซึ่งนอกจากจะได้คนมาเฝ้ามากมายโดยไม่ต้องกะเกณฑ์แล้วยังเป็นหน้าเป็นตาของเมืองอีกด้วย เชื่อว่าเป็นที่สุด หรือเกือบที่สุดของมหรสพและดนตรีภาคใต้ในยุคนั้นเพราะผู้บริหารราชการและผู้จัดการรับเสด็จในครั้งนั้นย่อมทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดละครและดนตรีเพียงไร

ได้กล่าวมาแล้วว่า จดหมายเหตุนี้เป็นเรื่องชวนหัว ผู้บันทึกคือนายแก้วนั้น แท้จริงคือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้นเอง จึงถือได้ว่าเป็นข้อมูลอันเกิดจากพระราชวินิจฉัยส่วนหนึ่ง ปนกับแนวเขียนชวนหัว ตามธรรมดาพระมหากษัตริย์ มักจะไม่ทรงวิจารณ์สิ่งใดรุนแรงเพราะจะเป็นการทำให้ผู้ที่จัดงานถวายเสียใจได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า การที่ทำนั้นเป็นการไม่สมควรจริงๆ ข้าราชบริพารที่ตามสมเด็จนั้น ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งหมด ที่ควรจะกล่าวไว้เพราะเมื่ออ่านไปพบชื่อท่านเหล่านั้นแล้วอาจสงสัย ชื่อเหล่านั้นคือ

นายเกื้อ คือ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ต่อมาเป็นเจ้าพระยารามราฆพ

ใต้เท้ากรุณา พระยาราชวัลภานุสิษฐ์

หลวงอภิบาล ต่อมาเป็นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง  รจนานนท์)

ท่านประดิพัทธ์ พระยาประดิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง)

สถานที่แห่งแรกที่เสด็จเยี่ยมคือจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2452 ก่อนวันสงกรานต์เพียง 1 วัน มีบันทึกเป็นตอนๆ ซึ่งคัดมาจากต้นฉบับเดิมใจความว่า

“ตอนค่ำมีมหรสพต่างๆ มาเล่นถวายคือเพลง 1 โรง หนังตลุง 1 โรง มโนราห์ 1 โรง คนติดเพลงมากกว่าอย่างอื่นเห็นจะเป็นเพราะเป็นของแปลก นานๆ ได้ดูครั้งหนึ่งและถ้อยคำที่โต้ตอบกันอยู่ข้างจะเผ็ดร้อนถึงใจกันอยู่ด้วย”……

“เมื่อคืนผมได้ดูหนังตลุงนานหน่อยจึงเห็นว่าหนังตลุงนั้นได้เดินตามสมัยใหม่เสียแล้วทำนองที่ร้องและเครื่องต่างๆ ยังคงอย่างเดิม แต่มีที่แก้ไขเปลี่ยนไปตามสมัยมาก เช่นเรื่องก็เป็นเรื่องอะไรอย่างใหม่ๆ ผมดูเหมือนจะได้เคยเห็นลิเกเล่น แต่จำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไรอีกอย่างหนึ่งเจรจาเป็นเสียงชาวบางกอก รวบรวมใจความว่าเป็นลิเกของหนังตลุง โรคนี้ดูข้างจะกำเริบมาก ผมได้ทราบว่าที่บ้านดอน ซึ่งเป็นที่ตั้งว่าการมณฑลชุมพรนี้มีโรงที่ให้เช่าเล่น เป็นอย่างที่เรียกตามภาษาบางกอกใหม่ว่า “วิก” ในขณะนี้กำลังมีลิเกใช้แตรรับร้องเพราะฉะนั้นเห็นว่า บ้านดอนได้เดินทันสมัยแล้ว”…

“การมหรสพก็หาได้ถูกเหลือเกิน เช่นหนังตลุงคืนหนึ่งหาคืนละ 2 บาทเท่านั้นแต่ต้องเลี้ยงให้อิ่ม ถึงกระนั้นก็ดูช่างถูกเสียจริงๆ”…

คำว่าเพลงในที่นี้ คงหมายถึง เพลงพื้นบ้านที่ร้องแก้กันระหว่างพ่อเพลงกับแม่เพลงแต่จะเป็นของภาคกลางหรือภาคใต้มิได้แจ้งไว้ เข้าใจว่าเป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพราะกล่าวไว้ว่า เป็นของแปลกนานๆ ได้ดูครั้งหนึ่ง และส่วนที่ว่าหนังตลุงเปลี่ยนไปตามสมัยนั้นเห็นได้ว่าในการจับเรื่องใหม่ขึ้นแสดงนั้น ได้เริ่มกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

จดหมายเหตุฉบับที่ 2 เขียนขณะเดินทางบกจากชุมพรไปจังหวัดระนองพักแรมที่ท่าไม้ลาย ปากจั่น ล่องเรือดำรงรัฐ จากปากจั่นไปที่ปากน้ำระนอง แล้วถ่ายลงเรือกลาง มีข้อความเกี่ยวกับดนตรีและมหรสพดังนี้

“หนังตลุงของนายนกแก้ว ที่ได้ไปเล่นหน้าจวนเมืองชุมพรตามที่เล่ามาแล้วนั้นได้ตามมาเล่นอีกที่ท่าไม้ลายนี้ คนที่เกณฑ์มาหาบหามอยู่ข้างจะชอบมาก เสียงฮาบ่อยๆ แต่นายเกื้อออกจะไม่ค่อยพอใจ ไม่ยอมหัวเราะเลย ออกความเห็นว่าเสียงกลองเคาะเหมือนครกตำหมาก”

ที่พลับพลาพักแรมริมน้ำปากจั่น มีบันทึกเรื่องน่าสนใจไว้ดังนี้

“การมหรสพเมื่อคืนนี้ (14 เมษายน 2452) อยู่ข้างจะบริบูรณ์มากมีงิ้วโรงหนึ่งหนัง 2 โรงหนัง ที่เป็นสองโรงคือมีนายนกแก้วตามไปด้วยโรงหนึ่ง นายนกแก้วอยู่ข้างจะติดต้อยห้อยตามตลอดมา เดิมผมเข้าใจว่าจะเป็นการลำบากอยู่บ้างในการเดินทาง แต่เจ้าคุณรัษฏาฯ ท่านอธิบายว่าไม่เป็นการลำบากเลย เพราะเป็นธรรมเนียมของพวกหนังก็ดี มโนราห์ก็ดี ถ้าเดินทางไปจนถึงหมู่บ้านใดตีกลองขึ้น ผู้ที่มีกำลังอยู่ในหมู่บ้านนั้นพอได้ยินเสียงกลองก็ต้องเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม พวกหนังพอถึงก็ตรงไป เจ้าของบ้านต้องจัดอาหารเลี้ยง ถ้าใครจะหา ก็เล่นให้ดู ถ้าไม่หาก็ขอกินข้าวอีกมื้อหนึ่งแล้วออกเดินต่อไป เช่นนี้เองพวกหนังและมโนราห์จึงหาเลี้ยงชีพได้ไม่ฝืดเคืองเลย เมื่อแรกถามดูได้ความว่าค่าหาหนังคืนหนึ่งๆ ราว 2 บาทเป็นอย่างสูง ผมเห็นตายร้องไอ๊ย่าแทน แต่มารู้เรื่องราวตลอดเช่นนี้แล้ว จึงได้เข้าใจว่า ค่าหานั้น ไม่เป็นข้อสลักสำคัญอันใด การที่ไปเกณฑ์อาหารได้ทุกแห่งเช่นนี้อยู่ข้างจะได้เปรียบคนธรรมดามาก แม้ที่จริงก็ควรอยู่บ้าง เพราะเป็นผู้ที่มีความชำนาญ เขาว่ามโนราห์จะออกโรงได้ต้องหัดหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ใต้เท้ากรุณา ท่านกล่าวว่า ถ้าจะรำเพียงเท่าที่เห็นที่ชุมพรนั้นรับรองว่าให้หัดสักสามวันเท่านั้นก็ดูเหมือนจะพอสู้ได้…”

จดหมายฉบับที่ 3 นายแก้วเขียนที่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2452 มีข้อความเกี่ยวกับดนตรีและมหรสพดังนี้

“ตอนค่ำมีมโนราห์และหนังมาเล่น หนังนั้นไม่ใช่ของนายนกแก้ว และสู้ของนายนกแก้วไม่ได้ แต่มโนราห์เก่งกว่าที่ชุมพร นายเกื้อ ลงไปดูอยู่นาน กลับขั้นมาออกความเห็นว่า การที่จะหัดรำให้ได้ในสามวัน เห็นจะไม่ไหว ถึงแม้ใต้เท้ากรุณา ก็เหมือนจะยอมแล้วว่าไม่ไหวนายเกื้ออยู่ข้างจะชอบมโนราห์มาก อุตส่าห์ไปนั่งสังเกตจำท่าทางมาได้เป็นหลายท่า”…

วันที่ 18 เมษายน 2452 ตอนค่ำ มีบันทึกต่อไปเกี่ยวกับเรื่องดนตรีและการละเล่นดังนี้

“เวลาค่ำ มีการมหรสพต่างๆ นอกจากมโนราห์กับหนัง ยังมีเพิ่มอีกอย่างคือหุ่นจีนที่ตีนเข้าโรงหนึ่ง กับพวกพม่าได้ขึ้นมาฟ้อนถวายที่พระที่นั่ง พวกพม่าฟ้อนนี้ เมื่อลงมือเล่นคนมาดูกันแน่น เพราะเป็นของแปลก ต่างคนก็อยากเห็นด้วยกันทุกคน แต่พอนั่งดูอยู่ได้ไม่กี่นาทีก็รู้สึกว่า ได้ดูพอต้องการแล้ว ท่าที่รำก็ดูมีน้อย ลำที่ร้องหรือก็ฟังไม่เข้าใจ เลยชวนให้ไม่รู้สึกเพราะ แต่ที่จริงผมยังนึกว่า ถ้าแม้จะหาคนกลางมาตัดสิน ก็คงตัดสินว่าสู้ลำไทยๆไม่ได้ ดีก็มีอยู่แต่กลอง ซึ่งขึ้นให้เป็นเสียงต่างๆ แต่กลองผมก็เคยได้เห็นมามากกว่านี้ ดูเหมือนทุกคนจะเห็นว่าการดูพม่าฟ้อนนี้ เป็นอย่างสนุกน้อยที่สุด บางคนรู้สึกเท่ากับกินยานอนต่างคนต่างเลี่ยงไปทีละคนสองคน ว่าที่จริงก็ไม่ควรจะนึกว่าจะได้ดูละครพม่าอย่างวิเศษเพราะพวกพม่าที่มาอยู่ในเมืองระนองนี้ก็เป็นคนค้าขายไม่ใช่ละเม็งละครอะไรจริงๆ …  ข้อสำคัญมีอยู่ที่ตรงที่น้ำใจ…เมื่อเขากระทำไปได้เพียงไรก็ควรต้องสรรเสริญเขา”… “พูดถึงการเล่นที่ไม่สนุกต่างๆ ทำให้ผมนึกเห็นมหรสพสองอย่าง ที่ผมเห็นว่าไม่สนุกที่สุดคือ มะยงมณฑลปัตตานีอย่างหนึ่ง และมอญรำอีกอย่างหนึ่ง ถึงพม่าฟ้อนให้ดู ยังน่าดูกว่ามะยง หรือมอญรำ…”

โปรดสังเกต คำว่า “ลำ”  หมายถึงเพลงขับร้อง เพลงที่ฟังคำร้องแล้วไม่เข้าใจความหมายนั้น คนฟังจะขาดดนตรีรสไปเป็นอันมาก จึงยากที่จะชื่นชมในดนตรีได้ เพราะผู้ร้องกับผู้ฟังสื่อความหมายกันไม่กระจ่างแจ้ง ที่เมืองตะกั่วป่า มีบันทึกต่อไว้ว่า

ข้อนี้อาจจะพอสรุปได้ว่า ยิ่งลงใต้ไปมากเท่าไร มหรสพและดนตรีการจะเจริญตามไปด้วย

จดหมายฉบับที่ 5 เขียนจากที่ประทับตำบลสามกองจังหวัดภูเก็ต วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2452  เล่าเรื่องเมื่อเสด็จเหยียบภูเก็ต ในส่วนที่เกี่ยวกับการมหรสพและดนตรีไว้ดังนี้

“ในขณะที่เสด็จขึ้นจากเรือนั้น กึกก้องโกลาหลอึงอลไปด้วยเสียงต่างๆ  คือเสียงปืนใหญ่ที่ตำรวจภูธรยิงถวายคำนับ 21 นัดอย่างหนึ่ง เสียงแตรสั้นของตำรวจภูธรอย่างหนึ่ง เสียงปี่พาทย์ตีสรรเสริญพระบารมีอย่างหนึ่ง ปี่พาทย์นี้จะลืมกล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นของแปลก ตั้งแต่เดินทางมานี้ยังไม่ได้ฟังเลย วงที่ไปรับเสด็จวันนี้ได้ทราบว่าเป็นของท่านพระยาจางวางเมืองภูเก็ตคนเก่า ถ้าแม้จะถามว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่าพอรู้ได้ว่าเป็นปี่พาทย์ แต่อย่าซักต่อไปอีกดีกว่า..

ข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า การจะมีวงปี่พาทย์ได้นั้นต้องอาศัยบารมีไม่น้อย เมื่อเจ้าของวงหมดหน้าที่การงานไป เรียกว่าหมดบารมี งานดนตรีก็จะตกต่ำ วงก็แตก ไม่ใช่เฉพาะที่ปักษ์ใต้เท่านั้น ในภาคกลางหรือภาคอื่นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน วงปี่พาทย์ในสายตาของประชาชนยุคนั้นจึงเป็นของสูง สำหรับคนมีเงิน หรือผู้มีบรรดาศักดิ์เท่านั้น

“เวลาเย็นวันนี้ที่พลับพลามีหนังโรงหนึ่ง กับมะยงโรงหนึ่งผมไม่จำเป็นจะต้องกล่าวเพราะไม่ได้ไปดูมะยง เดิมก็ไม่มีโรงมหรสพอยู่เลย แต่คุณหลวงอภิบาล ไปพูดขึ้นกับท่านประดิพัทธ์ว่า สู้ระนองและตะกั่วป่าเขาไม่ได้ ท่านประดิพัทธ์จะยอมแพ้ที่ไหนได้ ก็ต้องไปจัดหาอะไรๆ มามีจนได้ มาปลูกโรงกันขึ้นในตอนบ่ายนี้เอง…”

เรื่องจัดมหรสพรับเสด็จนี้เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองเลยทีเดียว หากเมืองใดอ่อนไป เจ้าเมืองก็เสียหน้า เพราะวัฒนธรรมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความยิ่งใหญ่อันสืบทอดมาช้านาน ของเก่าแก่ ยิ่งงามเท่าใดยิ่งแสดงว่าบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งมั่นคงสามารถหาเงินมารักษาสมบัตินั้นให้อยู่คู่เมืองได้และยังหมายถึงความเป็นหนึ่งหรือเป็นเอกราชของบ้านเมืองนั้นด้วย

“ตกค่ำวันต่อมา ในเมืองจุดโคมไฟอีก มีการมหรสพเช่นเมื่อคืน แต่มีโนราห์เพิ่มขึ้นอีกโรง นายเกื้อ ไปดูการแสดงมหรสพกลับมาเล่าให้ผมฟังว่า มะยงนั้นทนดูได้ไม่กี่นาทีแต่มโนราห์นั้นดูค่อนข้างจะเก่งมาก คือมีการรวบรวมกันอยู่หลายภาษา เจ้าของโรงและคนอื่นๆ โดยมากเป็นไทย แต่ในพวกแกระ (กรับ) มีเป็นแขกอยู่สองคน ชื่อแขกมีกับแขกมาก กับมีจีนคนหนึ่งชื่อจีนไหล แขกมีแขกมากพูดแขกไม่ได้ จีนไหลพูดจีนไม่เป็น เป็นแต่พูดไทย…”

ถึงวันที่ 29 เมษายน 2452 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปี่พาทย์มหาดเล็กที่ตามเสด็จมาด้วยตั้งวงบรรเลงให้กรมการเมือง และประชาชนฟังบันทึกตอนนี้เล่าว่า

“จะประชันใครที่นี่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะปี่พาทย์ของเมืองภูเก็ตวิเศษเหลือเกิน เมื่อเปิดถนนเทพกษัตรี ท่านเจ้าเมืองท่านว่าตีเพลงนางนาค ถ้าท่านไม่บอกเช่นนั้นก็ไม่มีใครรู้ ตามหัวเมืองแถบนี้ชอบกล การดุริยางค์ต่างๆ ดูบกพร่องมาก ทั้งเมืองภูเก็ตมีปี่พาทย์ไม่เต็มวง คือมีเศษของปี่พาทย์พระยาวิชิตสงครามที่ท่านประดิพัทธ์เพิ่งไปขุดมาใหม่ในครั้งเสด็จมานี้ ในพื้นเมืองไม่มีใครรู้สึกต้องการฟังเพลงแปลกๆ เลยฟังแต่เพลงมโนราห์กับเพลงหนังก็เกินพอเสียแล้ว ดูเหมือนดุริยางค์ในหัวเมืองแถบนี้จะแปลว่าทำให้มีเสียงอึง โครมๆ ครามๆ เท่านั้น ถ้าเช่นนี้ได้นักเลงดนตรีเก่งๆ มาให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดดนตรีดุริยางค์ต่างๆ เห็นจะเป็นประโยชน์มาก…”

คืนวันต่อมาทรงเลี้ยงข้าราชการภูเก็ต โปรดฯ ให้วงปี่พาทย์มหาดเล็กบรรเลง คนฟังนั่งกลางแจ้ง…ปรากฏในบันทึกว่า “นานมาแล้วไม่ได้ฟังอะไรที่อร่อยเช่นนั้น”

บันทึกของนายแก้ว เล่าต่อไปว่าสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม เสด็จประพาสจังหวัดพังงา  กระบี่  แล้วล่องเรือพระที่นั่งไปจังหวัดตรัง ถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2452 ประทับที่ตำหนักจันทร์ มีบันทึกเกี่ยวกับมโนราห์ที่จังหวัดตรังดังนี้

“มโนราห์ที่นี่คนดูกันแน่น อยู่ข้างจะขยัน ลงโรงตั้งแต่บ่ายเรื่อยไปจนดึก มโนราห์ที่นี่มีคนนิยมมาก เจ้าคุณรัษฎาเล่าว่าเมื่อแรกๆ ท่านมาเป็นเจ้าเมืองตรังนี้ เป็นธรรมเนียมผู้ชายไปขอลูกสาว ฝ่ายบิดามารดาถามก่อนสองข้อคือรำมโนราห์เป็นหรือไม่ กับขโมยควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นทั้งสองอย่างก็ไม่ยกลูกสาวให้ เพราะบิดา มารดาฝ่ายหญิงไม่แลเห็นว่าจะเลี้ยงตัวและลูกเมียได้อย่างไร”

ในคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2452 ได้มีการแสดงหน้าพระที่นั่ง บันทึกจดหมายเหตุของนายแก้ว มีดังนี้

“ได้ทอดพระเนตรมโนราห์พิเศษ เป็นโรงผสม เพราะฉะนั้นมีตัวนายโรงสองคน ตัวดีๆ อีก 3 คน และพรานอีก 2 คน ยังมีพวกแกระอื่นๆ รวมเบ็ดเสร็จเห็นจะได้สัก 30 คน แต่ถึงโรงใหญ่เท่านี้ ก็หาด้วยราคาเพียง 2 บาทเท่านั้น ถ้าเป็นละครบางกอกก็ตาย แต่มโนราห์พอแล้วเพราะไม่ต้องไปซื้ออะไรกิน ไปไหนชาวบ้านต้องเลี้ยงตลอดทางราวกับเจ้าหรือขุนนางผู้ใหญ่ ในโรงที่มาเล่นถวายนี้ มีตัวที่เก่งมากอยู่ 2 คนคือนายขาว และนายคลิ้ง นายขาวนั้นเจ้าคุณรัษฎาท่านใช้ติดตัว ครั้งนี้ได้ตามเสด็จและรับใช้เดินโต๊ะเสวยมาตั้งแต่เมืองระนองเรื่อยมา เป็นคนคล่องดีมากแต่ได้เลิกรำเสียนานมาแล้ว พึ่งมาจับรำถวายแต่ก็ยังรำดีมาก นายคลิ้งนั้น เจ้าคุณรัษฎาก็เคยใช้เป็นทนายสนิทอยู่เหมือนกันภายหลังลาออกไปเป็นกำนัน แต่ไม่พอใจลาออกจากตำแหน่งกันกลับไปเล่นมโนราห์อย่างเดิม เมื่อลาออกจากกำนันนั้น กรมหลวงดำรงราชานุภาพถามเหตุผลว่าทำไมจึงลาออก นายคลิ้งทูลชี้แจงว่าเป็นกำนันที่ไหนจะสู้เป็นมโนราห์ได้ อย่าว่าจะให้เป็นแต่กำนันเลย เป็นอำเภอ เจ้าเมืองหรือเทศาก็ไม่ต้องการ สู้เป็นมโนราห์ไม่ได้ มโนราห์จะฆ่าคน เฆี่ยนคน หรือทำอะไรก็ได้เท่ากับเทศา (คือภายในจังหวัดโรงมโนราห์ เวลาเขาเป็นนายโรง อำนาจเขาเต็มที่) แต่เขาดีกว่าเทศาที่ว่า เทศายังมีคนถอดได้ ตัวเขาไม่มีคนถอดได้เลย จะไม่ว่ามโนราห์ดีกว่าอย่างไร พวกมโนราห์อยู่ข้างจะพูดสองง่ามเก่งมาก เช่นเมื่อคืนนี้ ตัวพรานเขาพูดเรื่องเป็นความกัน โจทย์ว่าจำเลยฟันแมวของโจทย์ตาย จำเลยให้โจทย์สาบานให้การว่าข้อที่ว่าจำเลยฟันแมวของโจทย์นั้นฟันแมวขาวหรือดำ โจทย์ตอบว่าฟันแมวดำ จำเลยร้องขึ้นว่าโจทย์ทวนสาบาน ฟันแมวดำมีหรือฟันแมวก็ต้องขาวซี ไม่เชื่อให้ไปแหกปากแมวดูก็ได้….ต้องยอมรับว่าได้ดูมโนราห์สนุกดีจริงๆ วันนี้ท่าทางที่รำก็ขำและเห็นได้ว่ายากมากที่จะหัด 3 วันนั้น เป็นไปไม่ได้…..

วันที่ 21 พฤษภาคม 2452 เสด็จจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ทุ่งสงและร่อนพิบูล มีนักเรียนเข้าแถวรับเสด็จร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี นายแก้วได้บันทึกไว้ว่า

“การรับเสด็จอยู่ข้างจะเอะอะแข็งแรง มีพระสงฆ์สวดและนักเรียนเข้าแถว ที่ทุ่งสงมีร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ต้องเรียกว่าพยายามร้อง ผมต้องบอกตามตรงว่าที่ไม่ร้องดูเหมือนจะดีกว่า”…..   “การรับเสด็จ มีการมหรสพเช่นมโนราห์เป็นต้น และอนุญาตให้ เล่นการพนันได้เหมือนกัน จึงเป็นที่รื่นเริงกันมากอยู่….”

เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น เริ่มร้องถวายมาตั้งแต่ พ.ศ.2431 ใช้บทร้องที่เขียนขึ้นเฉพาะกิจและเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น เสด็จที่ใดก็จะได้ทรงฟังเนื้อใหม่ทุกที่ไป แต่ในตอนท้าย “ขอบันดาล  ธ ประสงค์ใด” นั้นร้องเหมือนกันทุกแห่ง ลงท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ดุจจะถวายชัยฉะนี้” แต่ร้องไม่ชัด เป็นเสียงว่า “ชนี” ทุกคราวไป สิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ให้เป็นบทร้องเดียวกันทั่วประเทศ อย่างที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ แล้วเปลี่ยนคำว่า ฉะนี้ ไปเป็นคำว่า “ชโย” ดังนั้นคำว่าชโย จึงเป็นคำใหม่เกิดสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง

ที่นครศรีธรรมราช มีละครส่วนพระองค์เรื่อง “ปล่อยแก่” เก็บเงินบำรุงการกุศลได้ 800,000 บาท ที่นั่งราคาจาก 30 บาทจนถึง 1 บาท เป็นละครพูดสลับคำ (มีเพลงร้องประกอบด้วย โดยผู้แสดงร้องเอง) จากนั้น ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร

ท่านผู้อ่านที่ติดตามมาโดยตลอดจะเห็นได้ว่า จดหมายเหตุของนายแก้วฉบับนี้มีคุณค่าที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของดนตรีและการละเล่นในหัวเมืองวงปักษ์ใต้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ได้ค่อนข้างกระจ่าง ได้อารมณ์ชวนขัน และอ่านสบายไม่เป็นงานเป็นการเช่นการอ่านจดหมายเหตุของทางราชการ พระราชนิพนธ์ฉบับนี้จึงมีคุณค่าในการเรียนรู้เรื่องประวัติการดนตรีมากที่สุด ยากที่หาอ่านที่ใดได้

เอกสารอ้างอิง

1.จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ    พ.ศ. 2452 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี (โก  สุจริตกุล) วัดเทพศิรินทราวาส 27 มิถุนายน 2502 โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2502

2. พูนพิศ  อมาตยกุล “วงดนตรีวัดน้อยทองอยู่” สยามสังคีต สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2524 หน้า 169

ที่มา:      พูนพิศ อมาตยกุล “ “บันทึกของนายแก้ว” เรื่องดนตรีและมหรสพรับเสด็จฯ   จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ปี 2482” ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 21, 2523. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


บทวิเคราะห์

งานเขียนบันทึกของนายแก้วขึ้นนี้ไม่ใช่บทวิจารณ์ดนตรีเต็มรูปแบบแต่เป็นงานเขียนในลักษณะจดหมายเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ในขณะที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งตามเสด็จฯ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2452 ในช่วงระหว่างวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2452 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคมปีเดียวกัน  โดยบันทึกฉบับนี้นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุลได้คัดเลือกตัดตอนมารวบรวมลงไว้ในสูจิบัตรงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 21 ประจำปี พ.ศ. 2532 อันเป็นบันทึกที่ผสมผสานสอดแทรกแนวคิดทางการวิจารณ์ไว้ในการเล่าเหตุการณ์ ได้อย่างแยบยลสอดแทรกอารมณ์ขัน  บางตอนก็วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา  ซึ่งอาจสะท้อนถึงการวิจารณ์ที่ไม่แยกตัวออกมาจากบทปริทรรศน์ ที่เล่าเรื่องเกร็ดสาระความรู้ ประเพณีวัฒนธรรม ทัศนคติพื้นบ้านที่สะท้อนออกมาด้วยการผสมผสานพระราชวินิจฉัยเชิงวิจารณ์

แนวคิดเชิงวิจารณ์ที่สอดแทรกอยู่ในจดหมายเหตุนี้มีบางครั้งที่ทรงยกคำวิจารณ์ของผู้ร่วมอยู่ในคณะเดินทางตามเสด็จฯมาแสดงประกอบไว้  เช่น คำวิจารณ์ของนายเกื้อ(เจ้าพระยารามราฆพ) ที่วิจารณ์เสียงกลองของคณะหนังตลุงนายนกแก้วว่า “เสียงกลองเหมือนครกตำหมาก” นี้ก็เป็นการวิจารณ์ด้วยการเปรียบเทียบ ซึ่งถือเป็นลักษณะสากล  แต่ในที่นี้ผู้ที่จะเข้าใจการเปรียบเทียบนี้ได้ก็คงต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบริบทของวัฒนธรรมเดียวกันจึงจะทราบได้ว่าเสียงกลองที่เหมือนครกตำหมากนั้นเป็นอย่างไร

การเล่าถึงหนังตลุงที่ได้ทอดพระเนตรที่จังหวัดชุมพร(12 เมษายน 2452) ก็มีแง่มุมของการวิจารณ์ที่สอดแทรกอยู่ที่ทรงวิจารณ์ถึงแนวทางของหนังตลุงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้บทพูดเป็นเสียงแบบคนกรุงเทพฯ ก็ได้ทรงแสดงทัศนเชิงวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมามาก ด้วยประโยคที่ว่า “โรคนี้ดูข้างจะกำเริบมาก”  ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผันเปลี่ยนไป  หรือการเล่าถึงการแสดงการฟ้อน และ “ร้องลำ” ของพวกพม่าที่จัดแสดงถวายและได้ทรงทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2452 ที่ทรงวิจารณ์และทรงอธิบายเหตุผลประกอบอย่างชัดเจนและถนอมน้ำใจคณะผู้แสดง  และเข้าพระทัยถึงข้อจำกัดของคณะนักแสดงว่ามิใช้เป็นมืออาชีพแต่เป็นวาณิชที่มีใจรักสมัครเล่นและจัดแสดงถวายด้วยน้ำใจอันดีงาม

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ทรงแสดง ทัศนะเชิงวิจารณ์ ในบริบทของประเพณีวัฒนธรรมและทัศนคติพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่ด้วย กล่าวคือ ประโยคที่ทรงบันทึก ถึงความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของเมืองตะกั่วป่าว่า “การมีมหรสพมาก แสดงว่าตะกั่วป่าเป็นเมืองที่เจริญมาก”  สะท้อนให้เราได้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมากหรือในประเด็นที่พระองค์ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมทางดนตรีที่ภูเก็ตว่า “…….ดูเหมือนดุริยางค์ ในหัวเมืองแถบนี้จะแปลว่าทำให้มีเสียงอึง โครมๆ ครามๆ เท่านั้น ถ้าเช่นนี้ได้นักเลงดนตรีเก่งๆ มาให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดดนตรีดุริยางค์ต่างๆ เห็นจะเป็นประโยชน์มาก……”  ซึ่งเป็นประเด็นที่พระองค์ทรงต้องการให้คนในพื้นที่มีรสนิยมในการฟังดนตรีดีๆมากขึ้น มิใช่ใช้ดนตรีทำหน้าที่บทบาทเพียงแต่บรรเลงประกอบการแสดงโดยไม่มีความสำคัญใดๆในตัวเอง ทรงปรารถนาที่จะให้ดนตรีมีบทบาทสำคัญเท่ากับการแสดงนั่นเอง  ในด้านวัฒนธรรมที่เป็นชาวบ้านแท้ๆ ที่มีการเจรจาในลักษณะสองแง่สองง่ามซึ่งแสดงออกอย่างฉลาดแยบยลนั้น พระองค์ไม่ทรงถือว่าเป็นการเสียรสนิยมแต่นับเป็นความสามารถในการแสดงออกของชาวบ้าน ดังเช่นที่ทรงเล่าถึงการแสดงมโนราห์ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2452 ที่จังหวัดตรัง สำหรับการแสดงที่ต้องการมาตรฐานที่อยู่ในระดับสากล แต่เป็นการแสดงที่ไม่ได้มาตรฐานก็ทรงวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นที่ทรงวิจารณ์นักเรียนที่ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีรับเสด็จที่นครศรีธรรมราช หรือวิจารณ์ถึงมาตรฐานวงปี่พาทย์ที่ดีไม่ถึงขั้น

บันทึกของนายแก้วนี้จึงเป็นตัวอย่างงานเขียนในรูปของจดหมายเหตุที่แสดงนัยเชิงวิจารณ์สอดแทรกไว้ได้อย่างน่าศึกษาเป็นตัวอย่างของวิธีวิจารณ์ของเจ้านายไทยชั้นสูงที่วิจารณ์บริบทของวัฒนธรรมพื้นบ้าน และทัศนคติต่างๆไว้ได้อย่างครบถ้วน  บูรณาการรูปแบบของงานปริทรรศน์, ทัศนะเชิงวิจารณ์และวิธีวิจารณ์ในกรอบของความประนีประนอมตามแบบวิถีไทย

บวรพงศ์  ศุภโสภณ : ผู้วิเคราะห์

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*