วัฒนธรรมการแสดงที่เหมาะสมกับสังคมร่วมสมัย : วง “โจงกระเบน” ที่สยามสมาคม

เจตนา  นาควัชระ

ภาพจากสยามสมาคม

                เรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว  แต่ต้องย้ำอีกเป็นครั้งคราวก็คือ  ดนตรีไทย (เดิม) ของเราแต่เดิมมาไม่ได้ขีดเส้นพรมแดนระหว่างผู้เล่นกับผู้ฟัง  ก็คงจะคล้ายกับ chamber music ของตะวันตก  คือเป็นดนตรีที่เล่นกันในชุมชน  ในหมู่เพื่อนฝูง  หรือในครอบครัว  คนที่นั่งฟังอยู่อาจจะกระโดดเข้าไปเล่นแทนนักดนตรีคนใดคนหนึ่งก็ได้  คือผู้เล่นกับผู้ฟังเป็นกลุ่มเดียวกัน  อาจสลับกันทำหน้าที่เป็นครั้งคราว  ดังนั้นไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะใครต้องไต่บันไดไปหาใคร  ไม่มีความจำเป็นต้องแนะนำ  ไม่ต้องชักชวนชี้ชวนให้ฟัง  ไม่ต้องแถมกลเม็ดใดๆ เพื่อเรียกผู้ฟัง  ผู้ฟังอยู่ตรงนั้นแล้ว  ฝีมือใกล้เคียงกัน  ความรู้เสมอกัน  ความสนใจไปในทางเดียวกัน  ไม่ต้องมีนักวิจารณ์เข้ามาเป็นตัวกลางในการแสดงความคิดเห็นแทนกลุ่มผู้ฟัง  ผู้ที่นั่งล้อมวงอยู่รู้ดีว่าคุณภาพอยู่ ณ ที่ใด  ใครเก่ง  ใครไม่เก่ง  ผู้ฟังและผู้เล่นช่วยกันสร้างกลไกในการ “ประกันคุณภาพ” ได้อยู่แล้ว

          ก็ด้วยพื้นฐานเช่นนี้แหละที่ทำให้ดนตรีไทยยังไม่ตาย  ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมไม่น่าจะเอื้อให้อยู่รอดได้  ดนตรีไทยยังรักษาบทบาทของการเป็น “ดนตรีของผู้เล่น” ไว้ได้  ยังมีผู้เรียนดนตรีไทยอยู่  ยังมีผู้กระหายที่จะเล่นดนตรีอยู่  จะมีผู้ฟังกี่คนก็ไม่สนใจ พวกฉันฟังกันเองก็ได้  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการปรับให้ดนตรีไทยเป็นดนตรีสำหรับผู้ฟัง  ซึ่งเทียบได้กับดนตรีที่เล่นโดย symphony orchestra  นั้น เป็นพัฒนาการในระยะหลัง  และในบางกรณีก็ก้าวไปไกลเสียจนปฏิเสธธรรมชาติที่แท้จริงของดนตรีไทยไป  ดังเช่น “มหาดุริยางค์” ที่รวบผู้เล่นเข้ามาเป็นวงขนาดใหญ่ 300-400 คน  แถมด้วยระบบขยายเสียงที่ไม่เอื้อต่อเสียงของเครื่องดนตรีไทย  จนมีผู้ฟังบางคนตั้งสมญาให้ในเชิงขำขันว่า “แหบยกกำลัง 300 หรือ 400”

          เรื่องของการจัดแสดงดนตรีไทยในรูปของ “คอนเสิร์ต” นั้น  แต่เดิมเป็นการแสดงที่จัดขึ้นในรั้วในวังเป็นพิเศษสำหรับอาคันตุกะต่างประเทศ  ซึ่งคุ้นชินกับดนตรีสำหรับผู้ฟัง  ดนตรีที่นำมาแสดงจึงไม่โลดโผนนัก  ค่อนข้างละเมียด  จนอาจ “แผ่ว” เกินไปสำหรับรสนิยมของชาวบ้านชาวไทย  เมื่อ “คอนเสิร์ต” จำเป็นต้องปรับตัวออกมาเป็นเครื่องเสพของบุคคลทั่วไปนอกรั้วนอกวัง  ก็จำจะต้องมีการปรับปรนให้เกิดความน่าสนใจเป็นพิเศษ  สำหรับกลุ่มคนที่ยืนอยู่อย่างง่อนแง่นบน “แผ่นดินแม่”  และเติบโตมากับดนตรีประเภทป๊อบและร็อคที่แปลงเป็นไทยมาในรูปของดนตรีที่สร้างอารมณ์ดิบและปฏิเสธความงามทางวรรณศิลป์ของไทย  เราจะทำอย่างไรดีกับผู้ฟังจำพวกนี้  จะเอาใจพวกเขาจนกระทั่ง “ผิดครู” กระนั้นหรือ  นักดนตรีไทยที่ “มีครู” ทำไม่ได้  พวกเขาจึงหาทางออกต่างๆ  บางครั้งก็คิดหนัก   บางครั้งก็สุกเอาเผากิน

          จุดขายก็คงจะเริ่มที่การโชว์ฝีมือ  หลับตาตีระนาดบ้าง  เล่นให้เร็วมากๆ บ้าง  แม้แต่วงมาตรฐานของราชการ  เมื่อต้องปรับตัวให้ออก “คอนเสิร์ต” ในรูปของดนตรีของผู้ฟังก็มักจะเน้นความเก่งกาจในด้านฝีมือ (ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “virtuosity”)  มากกว่าอย่างอื่น  ระนาดสองรางมักจะเป็นตัวชูโรง  หรือไม่ก็สำแดงความสามารถในการเก็บลมในการเป่าปี่ที่ใช้ลมเดียวได้เป็นเวลานานอย่างน่าทึ่ง  จะมีก็แต่ในโอกาสที่มีการประชันกัน  หรือในการแสดงในหมู่ผู้รู้ที่มีการโชว์เพลงที่ยากและซับซ้อน  หรือมีการด้นสดที่แสดงถึง “การคิดเป็นดนตรี” แบบไทยอย่างแท้จริง  ผมเองชอบตั้งเกณฑ์ของตัวเองไว้ในใจว่าจะประเมินผู้เล่นด้วยความสามารถในการใช้ปฏิภาณ  จึงมักจะพุ่งความสนใจไปที่ระนาดทุ้ม  ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้รักษาขนบดั้งเดิมไว้เสมอไปด้วยการที่ปรมาจารย์เลือกเล่นระนาดทุ้ม  และคุมวงจากจุดนั้น  โดยให้โอกาสศิษย์เอกสร้างความทึ่งหรือความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมด้วยฝีมือระนาดเอก  (ได้เคยเขียนเล่าไว้ว่า ในวันที่อาจารย์สุดจิตต์  ดุริยะประณีต ถึงแก่กรรม และมีการสวดพระอภิธรรมในวันแรกที่วัดชนะสงคราม  วงดนตรีจากบ้านดุริยะประณีตอาสามาบรรเลงในรูปของพิธีกรรม  แต่เมื่อพระสงฆ์กลับกุฏิกันไปหมดแล้ว  นักดนตรีก็บรรเลงกันต่อไปโดยมิต้องได้รับการร้องขอ  และในโอกาสนั้นเองผมได้ฟังระนาดทุ้มจากฝีมือระดับบรมครูที่นานๆ ครั้งจะมีโอกาสได้สัมผัส)

          ที่กล่าวอารัมภบทมาค่อนข้างจะพิสดารข้างต้นนี้ก็เพื่อจะปูพื้นมาสู่การแสดงของวง “โจงกระเบน” ณ สยามสมาคม  เมื่อเย็นวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562  ที่เป็นการจัด “คอนเสิร์ต” สำหรับผู้ฟังที่เหมาะกับสังคมร่วมสมัยของเรา  เราอาจจะต้องยอมรับว่า  วงดนตรีวงนี้มีการตั้ง “มโนทัศน์” (concept)  ของการแสดงในครั้งนี้เอาไว้อย่างชัดเจน  และชัดเจนกว่าคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ  คือตั้งชื่อว่า “ดนตรีศรีรัตนโกสินทร์ทศรัชเฉลิมราชย์”  (โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Sound of Rattanakosin: In Celebration of the Ten Reigns”)  เข้าใจว่าคงเป็นการตอบสนองโจทย์ที่ผู้จัดคือ วง Pro Musica  แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เสนอมา เท่ากับเป็นการผูกโยงประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์เข้ากับความโดดเด่นของคีตศิลป์ไทย  และยิ่งไปกว่านั้นผู้จัดยังพยายามเลือกเฟ้นคีตนิพนธ์ที่สามารถทำหน้าที่สะท้อนสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมของรัชกาลนั้นๆ ได้ด้วย  ไทยเราอาจจะโชคดีที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์มิได้ทรงเป็นแต่เพียงองค์อุปถัมภ์ศิลปวัฒนธรรม  โดยเฉพาะดนตรีด้วยเท่านั้น  แต่บางพระองค์ทรงเป็นนักดนตรีหรือคีตกวีที่ทรงสร้างผลงานในระดับแนวหน้าไว้ด้วย  ดังเช่นรัชกาลที่ 2  รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9  เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีเกร็ดที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง  ศาสตราจารย์ William Gedney (ค.ศ. 1915-1999)  ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor  สหรัฐอเมริกา  ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า  พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์มากทรงเป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงในศิลปะสาขาต่างๆ  และในเมื่อระบบการสถาปนาพระมหากษัตริย์ของไทยแต่เดิมเป็นระบบของการอัญเชิญขึ้นครองราชย์  มิใช่ระบบการสืบสันตติวงศ์จากพระบิดามาสู่พระโอรสอย่างตายตัว  คุณสมบัติประการหนึ่งของผู้ได้รับการ “สรรหา” (ถ้าจะกล่าวด้วยภาษาปัจจุบัน) ก็คือความสามารถในทางศิลปะ  ทั้งนี้เพราะคนไทยดื่มด่ำกับศิลปะในชีวิตมาก  และอาจคาดหวังให้พระประมุขของประเทศทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ด้วย  แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรมมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ชาวอเมริกันผู้นี้  ซึ่งอาจจะ “อ่าน” สังคมไทยไปในทางที่ลึกกว่าคนไทยเสียอีก   แต่ก็เป็นสมมุติฐานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  ถ้าศาสตราจารย์ Gedney ยังมีชีวิตอยู่และได้มีโอกาสมาร่วมรายการที่สยามสมาคมเมื่อวันที่มีการแสดงของวง “โจงกระเบน”  ท่านคงจะดีใจมากที่ได้สัมผัสกับหลักฐานด้านคีตศิลป์ที่เป็นรูปธรรม  ซึ่งอาจสนับสนุนแนวคิดของท่านได้

          การแสดงครั้งนี้มีการตระเตรียมมาอย่างดี  ผู้ทำหน้าที่รอบด้านได้อย่างดียิ่งก็คือ หัวหน้าวง “โจงกระเบน”  ร.อ. สมนึก แสงอรุณ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมวง  แสดงเดี่ยวในบางตอน  ดูแลการฝึกซ้อม  คัดสรรเพลงที่พ้องกับมโนทัศน์หลักของการแสดง  ปรับเพลงให้เหมาะกับแต่ละรัชกาล  แต่งเพลงใหม่ขึ้นสำหรับบางรัชกาล  เช่น  รัชกาลที่ 10  และเรียบเรียงเพลงสำหรับกลุ่มเครื่องสายสากลของ Pro Musica ซึ่งความรู้ด้านดนตรีสากลของท่านอยู่ในระดับที่สามารถจะเขียนทางเดี่ยวให้กับ violin และ cello ได้ราวกับเป็น cadenza เลยทีเดียว!  แต่งานที่ควรได้รับความชมเชยเป็นอย่างยิ่งคือการเขียนสูจิบัตร  ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการคิดเชิงวิชาการ  และในการให้ความรู้แก่มหาชน  เท่ากับเป็นการยืนยันว่ารายการนี้ไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรมสดุดีประมุขของประเทศในยุครัตนโกสินทร์ หรือเป็นเพียงสิ่งบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ สำหรับสมาชิกสยามสมาคม (ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่)  ที่ว่าผู้จัดคิดถึงกลุ่มผู้ฟังที่เป็นชาวต่างประเทศด้วยนั้น  มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมมายืนยันได้  นั่นก็คือบทแปลสูจิบัตรเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งอ่านแล้วควรต้องให้ความเห็นใจว่า  การถ่ายทอดข้ามวัฒนธรรมไม่ใช่ของง่ายเลย  จะขอยกตัวอย่างการอธิบายเพลงชุดภาษา  หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ฟังชาวไทยว่า “ออกภาษา”  เพียงแต่คำว่า “ภาษา” ในที่นี้ก็น่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ผู้แปลมาแล้ว  เพราะถ้าใช้คำว่า “languages” มาอธิบาย  ก็คงจะไม่ชัดเจนพอ  เคยมีผู้ใช้คำว่า “dialects”  ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลดคุณค่าของวัฒนธรรมดนตรีต้นแบบของชาติต่างๆ ที่เรานำมาสร้างใหม่ลงไปสู่ภาษาถิ่น  คือมีนัยว่ามิใช่ภาษากลาง  ในที่สุดผู้แปลก็ตัดสินใจใช้คำว่า “vernaculars”  ซึ่งมีประวัติอันเรืองรองมาตั้งแต่
มัธยสมัยของยุโรป  เมื่อชาติต่างๆ สร้างวรรณกรรมด้วยภาษาของตนขึ้นมาแข่งกับงานเขียนที่ใช้ภาษากลางของยุโรปในขณะนั้นคือ  ภาษาละติน   คนยุโรปภาคภูมิใจว่าภาษาพื้นเมืองของเขาใด้สร้างมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ และในระยะต่อมาภาษาบางภาษา เช่นภาษาเยอรมันก็กลายเป็นภาษากลางไปได้  เพราะ Martin Luther  นำไปใช้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างดีเยี่ยม  ในขณะที่ภาษากลางของอิตาลีก็ถือกำเนิดมาจากวรรณกรรมเอกคือ  La Divina Commedia ของ Dante  คำว่า “vernaculars” นี้  ศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมขอยืมไปใช้ก่อนจนเกิดความคุ้นชิน  และการที่ดุริยางคศาสตร์จะขอยืมมาใช้บ้าง  ก็ดูจะเป็นทางที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนได้

ภาพจากสยามสมาคม

          ณ จุดนี้ผมจะขอนำท่านผู้อ่านกลับเข้าสู่การแสดง  โดยจะเริ่มต้นด้วยตัวอย่างที่น่าจะชี้ให้เห็นถึงความเพียรพยายามของผู้จัดการแสดง ที่จะทำให้ “คอนเสิร์ต” ครั้งนี้เป็นการประกาศความเชื่อ (profession of faith) ในความมั่งคั่งของดนตรีไทย  การใช้เพลงชุด “สิบสองภาษา”  มาเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมดนตรีของรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น  มีการให้เหตุผลว่า “ในรัชกาลที่ 3 นี้เป็นยุคที่การค้ารุ่งเรือง  มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง  ทำให้การนำเอาสำเนียงภาษาและสำเนียงของเพลงชาติต่างมาประพันธ์เป็นเพลงไทยล้อเลียนสำเนียงเหล่านั้น  นิยมเรียกว่าเพลงออกภาษา” (บทแปลภาษาอังกฤษมีการเติมแต่งเล็กน้อยเพื่อความกระจ่าง : “The reign of Rama III was a prosperous era, characterized by flourishing international trade. Contacts with various cultures brought along familiarity with foreign music of multifarious origins, and Thai musicians enjoyed composing music ‘in the style of’ those nations, known in Thai as ‘music of varying vernaculars.’” ) จะเห็นได้ว่าบทบรรยายมุ่งที่จะขี้ให้เห็นถึงดนตรีที่สร้างขึ้นในยุคที่สยามเปิดประตูออกสู่นานาชาติ  โดยที่คีตศิลป์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการมองโลกและวิถีชีวิตที่ว่านี้  แต่ก็เป็นเรื่องของดนตรีที่แต่งขึ้นใหม่ตามลีลาของ “ภาษา” ของชาติอื่นๆ  ไม่ใช่เป็นการลอกต้นแบบมาโดยปราศจากวิจารณญาณ  นักดนตรีในยุคทองของการเปิดประเทศดูจะต่างจากพวก “วานรชำราบ” (คือพวกที่ซึมซับวิธีการของต่างแดนมาอย่างไม่โงหัว  และทำได้ก็เพียงแค่เล่น “ละครลิง” ในแบบหนึ่งเท่านั้น) ที่ลอกป๊อบและร็อคของฝรั่งแบบโดยไม่รู้จักคิดใหม่ด้วยตนเอง  ด้วยข้อความเพียงไม่กี่บรรทัด  เราก็อดซาบซึ้งมิได้กับปรัชญาชีวิตของไทยที่ว่า  “ประตูบ้านเราเปิดเสมอสำหรับอาคันตุกะ  แต่บ้านยังเป็นของเรา”

ภาพจากสยามสมาคม

          สำหรับรายการในคืนวันที่ 24 กรกฎาคมนั้น  ครูสมนึก  ตีกรอบไว้แต่พองาม  โดยไม่เล่นฉบับเต็มทั้ง 12 ภาษา  แต่จัดชุดย่อเป็นแค่ 6 เพลงภาษา คือ จีน แขก ลาว เขมร พม่า  และฝรั่ง  โดยบรรเลงและขับร้องด้วยปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย  แต่ส่วนที่เป็นดนตรีก็ชวนฟังอยู่แล้ว  แต่นักร้องให้ “ของแถม” ด้วยลีลาท่าทางน้อยๆ พองาม  โดยเฉพาะการส่ายคอไปซ้ายทีขวาทีเมื่อร้องเพลง “สร้อยเพลงแขก”  ซึ่งถูกใจผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง  และเมื่อร้องเพลง “ฝรั่งยีแฮม” ซึ่งเลียนทำนองเพลง “Marching through Georgia” เธอก็แหวกแนวด้วยการร้องเต็มเสียงตามแบบแผนของนักร้องที่ได้รับการฝึกฝนระบบ “voice training” แนวตะวันตกมาอย่างเต็มรูป (ซึ่งโดยปกตินักร้องเพลงไทยเดิมแบบประเพณีไม่ทำกัน หรือทำไม่ได้)  แสดงว่าเธอได้รับการศึกษาทางขับร้องมาทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก  จึงถูกใจพระเดชพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

          เรื่องของ “การออกภาษา” เป็นประเด็นทางวัฒนธรรมเปรียบเทียบที่น่าสนใจยิ่ง  เราเข้าใจว่ากระบวนการสร้างสรรค์ใหม่เป็นเส้นทางวัฒนธรรมที่เดินจากนอกมาสู่ใน  คือไทยเรียนรู้และปรับปรนจากชาติอื่น  แต่เมื่อผมได้ยินพระมอญฝั่งธนบุรีสวดพระอภิธรรมเป็นครั้งแรกก็ตื่นขึ้นมารับความจริงทันทีว่า  เมืองไทยเรานี้คือที่หลอมรวมวัฒนธรรมหลายกระแส  เพราะทำนองที่พระสวดส่วนใหญ่ก็คือเพลงไทยสำเนียงมอญที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง  หมายความว่าเส้นทางของกระแสวัฒนธรรมดนตรีมิใช่การจราจรทางเดียว  แต่เป็นการเดินทางกลับไปกลับมา  และกระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนั้นก็คงจะหาเอกภาพที่ตายตัวไม่ได้  พระมอญเหล่านั้นก็คือคนไทยเชื้อสายมอญที่เกิดในเมืองไทยและเติบโตขึ้นมาในสยามเมืองยิ้มแห่งนี้  ท่านก็คงรับสืบทอดเพลงต้นแบบมาบ้าง  แต่สิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟังมาในชีวิตประจำวันก็คงจะเป็นเพลงไทยที่แต่งใหม่บ้าง แปลงบ้าง  ฟังมาแล้วจำมาบ้าง ประสมปนเปกันในรูปแบบทั้งที่เป็นการบรรเลงเป็นวงและเป็นเพลงประกอบการแสดงของชาวบ้าน  เส้นพรมแดนระหว่างพิธีกรรมทางศาสนากับสิ่งบันเทิงของชาวบ้านก็คงจะเป็นแค่เส้นยาแดง  คิดได้อย่างนี้แล้วก็เกิดความอิ่มเอิบใจ  และการแสดงของวง “โจงกระเบน” ก็คงจะใกล้วิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่ามรดกของการแข็งตัว (ossification) ของศิลปะในกรอบของ “สถาบัน”  ของราชการ ที่เสกสรรปั้นแต่งกันขึ้นมาว่ามีเพียงหนึ่ง และมีความเป็นเอก

          จากจุดนี้ก็คงจะกลับไปที่ “เพลงโหมโรงปฐมบรมจักรี”  ที่ครูสมนึกประพันธ์และเรียบเรียงขึ้น  โดยนำเพลงเก่า 3 เพลงมาเรียบเรียงให้เป็นเพลงชุดโหมโรง คือ “เพลงปฐม”  “เพลงนาค” และ “เพลงเทพทอง”  เพลงสุดท้ายน่าสนใจมากสำหรับผม  เพราะสูจิบัตรบรรยายไว้ว่า  “เป็นเพลงร้องเล่นเฉลิมฉลองของชาวสยามมาแต่โบราณ  โดยจะเปลี่ยนคำร้องเล่นไปตามเทศกาล”  ผมเป็นครูภาษาตะวันตก  เป็นศิษย์ฝรั่ง  จึงมิได้เติบโตมาในกรอบของความเชื่อว่า  เพลงบางเพลงเป็นเพลงที่เทวดาแต่ง  และนักดนตรีเป็นผู้รับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาจากเทวดา  (เช่นเดียวกับพระนามของพระคู่บ้านคู่เมืองที่มาแปลกันผิดว่า พระแก้วมรกต  ซึ่งคำสุดท้ายนั้นคือ “อมรกต” [อ่านว่า : อะ-มอ-ระ-กะ-ตะ] แปลว่า “เทวดาสร้าง” ดังที่นักประวัติศาสตร์แนวหน้า ดร. วินัย  พงศ์ศรีเพียร  ได้ช่วยให้ผมหูตาสว่างขึ้น  เพลงหน้าพาทย์ก็คงเป็นเรื่องของความเชื่อเช่นเดียวกับ “อมรกต”)  เขาว่ากันว่า  “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”  พอมาถึงเพลงที่ 3 ผมก็เกิดโล่งใจขึ้นมาว่า  เรายังอยู่บนแผ่นดิน (แม่) แห่งนี้ และก็ยังใกล้กับประชาชน  (ลูกสาวผม  ซึ่งเรียนรำและดนตรีกับครูเขมร ในสหรัฐอเมริกา   เล่าให้ผมฟังว่า  เพลงหน้าพาทย์สำหรับเขมร  แม้จะเป็นเพลงที่เคร่งขรึมก็จริง  แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่มนุษย์สร้างขึ้น  ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับมาจากเทวดา  สำหรับประเด็นที่ว่าคนไทยใช้เทวดาให้เป็นประโยชน์อย่างไรในด้านต่างๆ นั้น  คงจะต้องวิจัยกันโดยพิสดารทีเดียว)  พูดไปทำไมมี  ผมฟังวง “โจงกระเบน” แล้วรู้สึกว่าเขาใกล้มนุษย์มากกว่าเทวดา  เพลงที่เลือกมาบรรเลงก็ดี  วิธีการเล่นและการร้องก็ดี  การประสมวงก็ดี  ชวนให้นึกถึง “สำนักครูบุญยงค์ เกตุคง”  (รวมทั้งศิษย์เอกชาวอเมริกันของท่าน คือ Bruce Gaston)  มากกว่าสถาบัน (กลาง) ที่คนจำนวนหนึ่งพยายามจะยัดเยียดบทบาทของผู้วางมาตรฐานกลางระดับชาติให้  จากการวิจัยที่ผมเป็นคนริเริ่มขึ้น และรุ่นน้องและรุ่นศิษย์ทำต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ในเรื่องของศิลปะสาขาต่างๆ ในประเทศไทย  อันได้แก่  วรรณศิลป์  ทัศนศิลป์  ศิลปะการแสดง  สังคีตศิลป์ และภาพยนตร์นั้น เราพบว่าความคิดเรื่อง “ศูนย์กลาง”  ของการสร้างสรรค์ทางศิลปะนั้น  ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง  ความมั่งคั่งทางความคิด ทางปัญญา และทางศิลปะมีลักษณะที่แผ่กระจายมากกว่ารวมศูนย์

          ผมสังเกตได้ว่านักดนตรีและนักร้องของวง “โจงกระเบน” มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน และไม่ได้เล่าเรียนมาจากสำนักเดียวกันทั้งหมด  หัวหน้าวงมีความสามารถสูงมากในการที่จะรวมพลังจากแหล่งต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน  วงนี้ไม่ใช่วงที่นักดนตรีทุกคนอยู่ในระดับ “เซียน”  ผู้เล่นในระดับครูอาจมีอยู่เพียงไม่กี่คน  นอกจากนั้นเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่มารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้จากครู  เรียนรู้จากกัน  และเรียนรู้จากการได้สัมผัสกับมหาชนอันหลากหลาย  ถ้าดนตรีไทยชั้นสูงคือการแสดงความสามารถในการ “ด้น”  การรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ก็เป็นการด้นชีวิตในรูปแบบหนึ่ง  นั่นคือเสน่ห์ของชีวิตไทย  เรามีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เมื่อไรเกิดอหังการขึ้นมาว่า “ฉันมาถึงแล้ว”  เมื่อนั้นก็คือจุดจบของพัฒนาการของศิลปะ

          บทวิจารณ์บทนี้มุ่งอภิปรายหลักการและประเด็นทางวัฒนธรรม  ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมดนตรี และวัฒนธรรมในความหมายที่กว้างออกไป  คือมิใช่เป็นบทวิจารณ์การแสดงแต่ถ่ายเดียว  น่าเสียดายที่สมาชิกสยามสมาคมที่เป็นชาวต่างประเทศมาชมการแสดงกันน้อยมาก  ต่างจากคอนเสิร์ตของวงดนตรีไทยกรมศิลปากร  เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562  อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดว่าพวกเขาได้รับฟังสุดยอดของวงดนตรีไทยไปแล้ว  (แต่กรรมการบริหารสยามสมาคมท่านหนึ่งอธิบายให้ผมฟังว่า  ที่จำนวนผู้ชมโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่มีจำนวนน้อย  เป็นเพราะเป็นช่วงที่ผู้คนเดินทางไปพักผ่อนในฤดูร้อนกัน)  ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม   ในแง่ของผู้จัดและผู้แสดงแล้ว  ผมยืนยันได้ด้วยประสบการณ์ตรงในครั้งนี้ว่า เขาเตรียมตัวมาอย่างดีสุดๆ และการนำเสนอดนตรีไทยในรูปแบบนี้เป็นทางที่จะทำให้ดนตรีไทยก้าวไปได้อย่างมั่นคงในศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน

ภาพจากสยามสมาคม

SUMMARY OF REVIEW

A Performance Culture in Consonance with Our Contemporary Society:  The “Chong Kraben Ensemble” at the Siam Society

Chetana Nagavajara

Following on the success of the Thai classical concert given by the Fine Arts Department Ensemble on 6 June 2019, the Siam Society and the Pro Musica Orchestra of Silpakorn University invited the Thai classical ensemble “Chong Kraben” to a concert on 24 July 2019.  Governed by the concept described as “The Sound of Rattanakosin :  In Celebration of the ten Reigns”, the Ensemble chose to perform compositions that reflect the spirit and socio-cultural conditions of the respective reigns. The most telling illustration is the reign of Rama III, remarkable for its open door policy that welcomed foreigners of multifarious provenances to Siam; thus the compositions known as “the 12 Vernaculars”, composed by Thai musicians ‘in the style of” those nations, served as a tribute to the cosmopolitan spirit of the age. The versatility of the Chong Kraben Ensemble was very much in evidence, as it could perform music of various styles and origins. The evening was further enhanced by the collaboration of a string quintet from the Pro Musica group, for which the leader of the Chong Kraben Ensemble had written string parts that occasionally rose to the level of cadenzas!

As far as the conceptual framework was concerned, it became clear that Thai monarchs of the Rattanakosin era have not been mere patrons of the arts, for some of them were distinguished musicians and composers.  And that reminds me of the hypothesis put forward by the American expert on Thai Studies, the late Professor William Gedney, of the University of Michigan, Ann Arbor, that it could have been that formerly when Thai monarchs were invited by a “Search Committee” to ascend the throne, one of the qualities required of the future king was that he should be adept in the arts. Although the hypothesis remains unproven by documentary evidences, I must confess that I am inclined to side with Professor Gedney.

The concert on 24 July 2019 more than substantiates Acharn Gedney’s thesis. I came out of the Siam Society that evening feeling utterly elated and went on to communicate my secret wish to Phra Siam Thewathirat, the protective deity of this land of smiles, that this should remain true for many, many years to come.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*