ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ในงานศิลปะร่วมสมัย

ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ในงานศิลปะร่วมสมัย

14022200_1218522651533508_7519552164777986967_nThe Making Golden Teardrop โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง

ศุภชัย อารีรุ่งเรือง*

“ศิลปินไส้แห้ง” เป็นประโยคที่นำมาใช้กับนักเรียน นักศึกษาทางด้านศิลปะ ประโยคนี้ได้นำมาใช้ ไม่เกิน 80 ปี หลังจากได้มีการจัดตั้งสถาบันศิลปะในประเทศไทยและใช้คำว่า “ศิลปิน” เรียกผู้ที่มีความ เชี่ยวชาญด้านศิลปะในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม นอกจากนี้ยังได้นำมาใช้เรียกบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการแสดงนับตั้งแต่นักแสดงตลกจนกระทั่งนักร้อง แต่อาจจะไม่ไส้แห้งเหมือนศิลปินที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เนื่องจากมีความสามารถในการหาอาหารดีๆ มาเลี้ยงชีพทั้งตนเองและครอบครัว อาหารมีความสำคัญจนกระทั่งศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกของประเทศไทย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช นำเสนอ “อาหาร” ผ่านผลงานทางทัศนศิลป์ จนเกิดคำถามที่ยังคงความเคลือบแคลงกับความหมายของคำว่า “ศิลปะ” เพราะ “ผัดไทย” ที่เห็นในท้องตลาด ตั้งแต่ตลาดนัดจนถึงร้านอาหารหรูหราในห้างสรรพสินค้านั้นศิลปินนำไปจัดแสดงเป็นงานศิลปะได้ และได้รับการกล่าวถึงทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ศิลปินจัดแสดงผลงานศิลปะด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องครัวพร้อมกับเครื่องปรุงในการทำ “ผัดไทย” ไปจัดแสดงในหอศิลป์มาแล้วทั่วโลก ผลงานของเขาให้ผู้ชมงานศิลปะได้มีส่วนร่วมด้วยการลิ้มรสทางปาก ลิ้น กลิ่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ รับประทานผัดไทยที่ทำเสร็จใหม่ๆ แบบจานต่อจาน ชาวต่างชาติจึงได้ลิ้มชิมรส อาหารที่มีชื่อเรียกจากความเป็น “ชาติ” ผ่านอาหารแบบ “ไทยไทย” หากผู้ชมตีความสิ่งที่เขานำเสนอในผลงาน “ผัดไทย” อาจจะทำให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามสำหรับบทความนี้ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นประเด็น “อาหารกับผลงานศิลปะ” ในงานทัศนศิลป์ที่มีนัยทางประวัติศาสตร์

อาหารมีความสำคัญต่อกายภาพของมนุษย์ โดยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต เสริมสร้าง ร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ และอาหารยังนำมาซึ่ง “อำนาจ” การแสวงหาผลกำไรจากการค้า การสร้างอำนาจเพื่อเข้าครอบครองเศรษฐกิจ และปกครองดินแดนอื่น อันนำมาซึ่งความเจ็บปวดด้วยการล่าอาณานิคม การค้าทาส และการทำสงคราม “อาหาร” จึงมีความสัมพันธ์ กับประวัติศาสตร์ในมิติต่างๆมนุษย์พยายามเก็บอาหารภายใต้ความกดดันจากสภาพอากาศที่แตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาคของโลกนี้ “สวาลบาร์ด” (Svalbard global seed vault) คือที่เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่และปลอดภัยที่สุดในโลก  ตั้งอยู่บนเกาะสปิตซ์เบอร์เกน (Spitsbergen) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์พืชมากกว่า 2,000 ล้านเมล็ด ในขณะที่ธนาคารเมล็ดพันธ์แห่งอื่นถูกทำลายเพราะสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือขาดเงินทุนสำหรับ การดำเนินการ[1] ทอม สแตนด์เอจ (Tom Standage)[2]  บรรณาธิการด้านธุรกิจของ The Economist มีผลงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ประวัติศาสตร์ในหกแก้ว (A History of the World in 6 Glasses) ได้กล่าวในงาน An Edible History of  Humanity ว่า ประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กับ “อาหาร” ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดทีศนะใหม่ได้ในด้านของประวัติศาสตร์ อาหารไม่แค่เป็นสิ่งที่ กินเพื่ออยู่ แต่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม องค์กรทางสังคม การแข่งขันทางด้านภูมิศาสตร์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และความขัดแย้งทางในด้านการทหาร เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดเรื่องเล่า ของคนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนมีคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์กับมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์ และประวัติสังคมศาสตร์ ว่ามีประเด็นที่เชื่อมโยงกันได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ ในประเทศไทยกระแสหลักหยุดเวลาให้สังคมไทยได้รับรู้เพียงยุคในโบราณจนถึงยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ได้เน้นหนักไปในยุคสมัยอาณาจักร เช่น สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยยังคงมีการศึกษาน้อย การมองประวัติศาสตร์ ในลักษณะช่นนี้ทำให้มองไม่เห็นประเด็น หรือปรากฏการณ์ที่มีความสลักสำคัญจึงเป็นเพียงการจัดลำดับของเวลาเท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับการเคลื่อนตัวของงานศิลปะสาขาทัศนศิลป์ตลอดช่วงเวลา 50 ปีของไทยที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งกระแสหลักและนอกกระแส นักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์จะนิ่งดูดายได้อย่างไรเมื่อมีสิ่งที่ท้าทายให้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ความจริงมีอยู่ว่าศิลปินสาขาทัศนศิลป์ให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ โดยศึกษาร่องรอยแห่งทรงจำ รวมถึงเรื่องราว ของบุคคล สถานที่ แล้วนำมาปะติดปะต่อกันโดยมีการตีความใหม่ จากมุมมองของทัศนศิลปินผู้สร้างสรรค์

จากที่ได้กล่าวนำในเรื่องของการมองประวัติศาสตร์ผ่าน “อาหาร” กับการเชื่อมโยงกับศิลปะร่วมสมัยเข้าด้วยกัน แม้ว่าดูราวกับว่าเป็นคนละเรื่อง แต่ว่าบทความนี้จะชี้ให้เห็นความน่าสนใจในงานศิลปะ สาขาทัศนศิลป์จากผลงานของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินในแนวคอนเซบป์ชวลอาร์ต (Conceptual Art) ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินทั้งสองทำงานในแนวทางเดียวกัน แต่ผู้เขียนไม่นำผลงานมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพราะอยู่ในบริบทที่ต่างกัน อริญชย์นำประวัติศาสตร์ สมัยพระนารายณ์มาวิเคราะห์ ตีความ และเชื่อมโยงกับเนื้อหาประวัติศาสตร์กับยุคสมัยอื่น งานศิลปะของอริญชย์ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ในแบบภาพปะติดปะต่อ ทั้งภาพทรงจำจากบันทึกลายลักษณ์อักษร และคำบอกเล่าของเหตุการณ์ ผู้เขียนให้ความสนใจในประเด็นที่กล่าวถึงนี้ในหลายลักษณะ กล่าวคือ ศิลปินได้ทำให้เกิดภาพสะท้อนมิติทางประวัติศาสตร์ และมิติกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะร่วมสมัย นับว่าเป็นการส่องทางให้แก่กัน เพื่อเป็นการเปิดพรมแดนให้ศิลปินและนักประวัติศาสตร์ได้ก้าวข้ามพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของตนเองเข้าไปสู่พื้นที่อีกฟากหนึ่ง โดยการนำศาสตร์อื่นไปสำรวจข้อสงสัยเพื่อนำไปสู่การค้นพบประเด็นใหม่ที่สร้างสรรค์

The Making  Golden Teardrop เป็นผลงานการแสดงผลงานเดี่ยวของอริญชย์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2559 ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในชื่อนิทรรศการ “The Golden Teardrop” ผลงานของเขามีความน่าสนใจดังที่ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ได้กล่าวว่า การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของอริญชย์ เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในขนบที่ศิลปินไทยส่วนใหญ่ซึ่งทำงานด้วยวัสดุท้องถิ่น และการใช้ลวดลายในแบบศิลปะประเพณีของกรอบคิดพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง[3] ซึ่งเป็นผลงานศิลปะในมุมมองที่สังคมไทยรับรู้ได้ง่ายมากกว่ารูปแบบของคอนเซปชวลอาร์ต

ผลงานศิลปะโครงการนี้สื่อที่หลากหลายกว่างานวาดระบายสีบนพื้นระนาบทั่วไป แต่เป็นงานจัดวาง (Installation) ประติมากรรมทองเหลือง ไม้ เหล็ก ที่ผ่านการตีความและสร้างคุณค่าโดยศิลปิน เพื่อที่จะสื่อสารนัยทางศิลปะสู่ผู้ชม รวมถึงใช้วิดีโออาร์ต ภาพถ่ายและหนังสือประวัติศาสตร์มาสนับสนุน โดยที่งานศิลปะทั้งหมดทำหน้าที่สื่อสารต่อผู้ชมให้เกิดการรับรู้ที่ต่างกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การสื่อสารประวัติศาสตร์การค้า การล่าอาณานิคม ผ่านการเล่าเรื่องจากประวัติศาสตร์ของ “น้ำตาล” ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์โลก ศิลปินทำหน้าที่เล่าความเชื่อมโยงสังคมของประเทศในทวีปต่างๆ  ที่อดีตกับปัจจุบันทับซ้อนกันอยู่

งานศิลปะนี้มีความสำคัญอย่างไร สิ่งที่ผู้ชมได้รับรู้และมีผลกระทบอย่างไรกับชีวิต ในขณะที่สังคมไทยหลังการปฏิวัติไม่ต้องการให้คนในสังคมตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็น ทางการเมือง “ให้เชื่อผู้นำแล้ว จะดีเอง”  ผู้ที่จะตอบได้คงจะเป็นคนในสังคมว่าจะเชื่อชุดความรู้ใด แต่หากถามว่าสังคมไทยให้ความสำคัญต่อการรับรู้เรื่องศิลปะร่วมสมัย และจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยได้อย่างรูปธรรมหรือไม่ ผู้เขียนประเมินว่ายังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัยเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ และ กลุ่มเดิมเท่านั้น

ผลงานของ อริญชย์ “The Making Golden Teardrop” เป็นงานที่ดีรับการสนับสนุนจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมในปี 2556 เพื่อไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ เวนิซ เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะระดับโลกที่จัดต่อเนื่องยาวนานมากว่าหนึ่งศตวรรษ ด้วยแนวคิดเรื่อง “อาหาร” ผลงานของเขาสอดคล้องกับความคิดหลักที่กระทรวงวัฒนธรรม ต้องการนำเสนอภาพความเป็น “ไทย” เผยแพร่สู่นานาชาติผ่านงานศิลปะร่วมสมัย โดยผลงานของเขา ก่อนหน้านั้นเป็นงานศิลปะในโครงการศิลปินในพำนัก (artist in residence) ของมูลนิธิ ร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ศิลปินไทยนำประเด็นทางประวัติศาสตร์ร่วมของความหลากหลายทางเชื้อชาติมาสร้างเป็นงานศิลปะโดยทำงานร่วมกับศิลปินผิวดำในกรอบของ “ประวัติศาสตร์ของน้ำตาล”

การใช้ “น้ำตาล” เล่าผ่านงานศิลปะร่วมสมัยเป็นเรื่องน่าฉงนสำหรับผู้ชมงานศิลปะ การนำ “น้ำตาล” มาผูกร้อยเรียงเข้ากับประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดของ “ทาส” เป็นประสบการณ์ที่ศิลปินได้รับจากการทำงานร่วมกับศิลปินแอฟริกัน คนไทยคุ้นกับน้ำตาลที่บรรจุคู่กับพริกป่นในถุงก๋วยเตี๋ยว จนบางครั้งไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคุณค่าของน้ำตาลมากนัก ชาวยุโรปได้รับรู้รสหวานของ น้ำตาลผ่านโลกมุสลิมในการทำสงครามครูเสดในศตวรรษที่ 11 น้ำตาลเป็นที่รู้จักมา 8,000 ปีก่อนคริสตกาล “SUGAR” จากรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต คือ “SARKAR” หมายถึง เกล็ดเม็ดเล็กๆ (grain) เมื่อการค้าระหว่างยุโรปกับ ชาวตะวันออกเจริญขึ้น น้ำตาลจึงกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นของที่หายาก ผู้ที่สามารถบริโภคได้คือ “ชนชั้นสูงและร่ำรวย” เมื่อปริมาณการผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอต่อความต้องการอันมิรู้จบของชาวยุโรป จึงเป็นจุดเริ่มให้นายทุนและคนชนชั้นสูงผู้มีอำนาจชาวยุโรป ต้องออกเสาะหา “น้ำตาล” และเป็นเหตุผลหนึ่งในการล่าอาณานิคมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของชาวพื้นเมือง และทาสชาวแอฟริกัน ในช่วงศตวรรษที่ 15-16 การล่าอาณานิคม เพื่อประโยชน์ทางการค้ากับการทหาร จึงแผ่ขยายไปยังแอฟริกา อเมริกา เอเชีย หมู่เกาะในเขตแลนติก เพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรต่างๆ[4]

                “น้ำตาล” ถูกนำมาตีความเป็นงานทัศนศิลป์ที่ไม่ใช่ภาพวาดเพื่อความสวยงามในพื้นที่จัดแสดง หรือพื้นที่ส่วนตัว แต่ศิลปินตีความใหม่ให้เป็นกิจกรรมที่ผู้ชมงานศิลปะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน คือ เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้ร่วมทำงานศิลปะด้วยการทำ “ขนมทองหยอด” จากการที่ศิลปินสร้างงานที่บอกบอกความด้วยภาพปะติดประวัติศาสตร์ของน้ำตาลอันประกอบด้วย การล่าอาณานิคมของโปรตุเกส ชะตากรรมของชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐอเมริกา

กิจกรรมศิลปะลักษณะนี้ยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย และยังคงมีคำถามที่ว่า งานศิลปะชิ้นนี้ จะซื้อจะขายได้อย่างไร เนื่องจากไม่สามารถซื้อไปติดบ้านหรือในอาคารได้ ทั้งนี้ขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญ ของการสร้างสรรค์ผลงาน The Golden Teardrop เพื่อให้เห็นภาพของการเชื่อมโยงและพัฒนาผลงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น

 

การตีความประวัติศาสตร์สู่งานสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

ผลงานทัศนศิลป์ในอดีตเป็นการสร้างภาพแทนเรื่องเล่าของเหตุการณ์แห่งยุคสมัย สะท้อนภาพศาสนา พิธีกรรม การสร้างความเป็นชาติ ศิลปินสร้างภาพโดยการถ่ายทอดจากประสบการณ์ในแต่ละยุคสมัย โดยอาศัยแหล่งข้อมูลต่างๆ เท่าที่จะมีความสามารถค้นคว้ามาได้ แล้วนำมาสร้างงานให้สอดคล้องกับการเลือกใช้สื่อวัสดุ แทนสัญลักษณ์ เพื่อเป็นตัวแทนความหมายในเรื่องที่ต้องการนำเสนอ แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายที่ศิลปินซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมสมัย จะนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากว่าสามศตวรรษมาสร้างภาพสะท้อนอดีต เมื่อเปรียบเทียบกับงานศิลปะสาขาภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นภาพชัด เจนและเข้าใจง่ายกว่า เนื่องจากเป็นศิลปะการเล่าเรื่องโดยลำดับภาพเรียงตามเวลา สร้างภาพจากการศึกษา เอกสารบันทึก ภาพถ่าย ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ตีความ เพื่อทำให้ผู้ชม “เชื่อ” ว่าสิ่งนั้นเป็นจริง แต่สำหรับงานของอริญชย์แม้จะมีงานวิดีโออาร์ตมาเสริม แต่มีความแตกต่างจากภาพยนตร์ที่ไม่ได้เล่าเรื่องตามวิธีการที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นการนำภาพประวัติศาสตร์มาเรื่องเล่าแบบปะติดปะต่อ โดยศิลปินตีความให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

ศิลปินมุ่งเสนอประเด็นทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่สำคัญในสมัยสมัยพระนารายณ์ และก่อนหน้านั้น ในกรณีของอริญชย์ผู้เขียนมีความเห็นว่าศิลปินสามารถดึงภาพในอดีตที่ตกตะกอนในห้วงความทรงจำให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยทัศนศิลป์ และยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์โลก เพราะเหตุการณ์ที่งานศิลปินนำเสนอคือ การเดินทางของเหล่านักแสวงหาทรัพยากรด้วยการล่าอาณานิคม ผลประโยชน์จากการเข้าครอบครองดินแดนเหล่านี้ตกอยู่กับประเทศที่มีอำนาจทางการเดินเรือ อันมีศาสนาและกองทัพเป็นสถาบันหลัก ในขณะที่ประเทศเป้าหมายมิได้รับรู้อะไร หรือไม่ผลประโยชน์ใดๆร่วมด้วย แต่ต้องสยบยอมการเข้ายึดครองจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่า ศิลปินได้นำบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ชั้นราชวงศ์มาทำให้ผลงานน่าสนใจ เช่นเรื่องเล่าของมาริ เดอ กีมาร์ กับเรื่องราวของขนม “ทองหยอด” อันมีที่มาจากประเทศในโปรตุเกส จึงทำให้เรื่องเล่าของน้ำตาลมีชีวิตชีวา มีอารมณ์และความรู้สึก ศิลปินมิได้มุ่งเน้นเพียง การมองถึงอดีตที่เกิดขึ้นใยประเทศสยาม แต่ยังเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับประเทศอื่น อันทำให้เกิดเรื่องเล่าที่น่าสนใจยิ่ง

ผลงานของ อริญชย์ เป็นการเปิดโลกทัศน์การรับรู้ด้วยการนำทัศนศิลป์กับประวัติศาสตร์มาสนทนากัน โดยเป็นการนำความรู้หลายชุดมาผูกโยงเข้าด้วยกัน  ศิลปินได้อธิบายตัวงานที่มีการนำส่วนประกอบย่อยๆ ของรูปทรงทองหยอด ที่ผลิตจากทองเหลืองเม็ดเล็กๆ นับพันๆ ชิ้น ที่มีความที่เปราะบาง งานศิลปะมิได้อวดอ้างว่างานสะท้อนความเป็นจริงแบบผูกขาด เพียงแต่แสดงออกซึ่งความเคลือบแคลงต่อประวัติศาสตร์ว่า “ใครเป็นผู้บันทึก” งานศิลปะชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการตั้งถามว่าเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่ผู้ชมสามารถนำส่วนประกอบอันหลากหลายที่ปรากฏในงานศิลปะมาตีความด้วยประสบการณ์ของตนได้อย่างเสรี

 

ถอดรหัส The Golden Teardrop

ผลงานชุดนี้ของ อริญชย์ มีความงามที่มาจากการสร้างรูปทรงประติมากรรมติดตั้ง อันประกอบด้วยหยดน้ำหน่วยเล็กๆ มากกว่า 3,000 ลูก ซึ่งทำจากทองเหลืองและเปล่งประกายเมื่อกระทบแสงไฟ ประกอบกันเป็นประติมากรรมรูปทรงกลมขนาดใหญ่ที่ลอยโดดเด่นอยู่กลางห้องจัดแสดง งานศิลปะชิ้นนี้ผ่านกระบวนการ ออกแบบมาเป็นอย่างดี เพราะมีการกำหนดสัดส่วนอย่างเป็นระเบียบ และรูปทรงทองหยอดก็ผ่านกระบวนการผลิตของระบบอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ศิลปะชิ้นนี้จึงไม่ได้เป็นการสำแดงอารมณ์เท่านั้น ศิลปินได้เลือกวัสดุที่ท้าทายคือ “ทองเหลือง” มาใช้ ซึ่งอาจทำให้การรับรู้ของผู้ชมมีขอบเขตที่กว้างกว่าการเป็น “ศิลปะ” แต่ชวนให้มองถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทองเหลืองในฐานะของวัสดุที่ใช้ในการหล่อพระพุทธรูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับย้อนแย้งกับกระบวนการผลิตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการอิงระบบอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก และในวิดีโออาร์ตยังแสดงภาพกระบวนการผลิตเครื่องประดับ การใช้แรงงาน ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนสังคมที่เป็นโลกาภิวัตน์  ทุนนิยม และอาณานิคมทางเศรษฐกิจ

ประติมากรรม “ทรงกลม” ขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจาก “หยดน้ำ” หรือ “ทองหยอด” และการที่ประติมากรรมขนาดใหญ่ลอยอยู่กลางห้อง จึงทำให้พื้นผิวระนาบหายไปเมื่อมองด้วยตา จึงทำให้เกิดเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่ซึ่งก็คือ “ลูกโลก” นั่นเอง ดังนั้นผู้ชมสามารถกำหนดจุดเริ่มต้นในการรับรู้ที่มุมใดก็ได้ อย่างอิสระ และเมื่อผู้ชมเคลื่อนตัวพร้อมกับการเพ่งมองไปยังจุดเล็กๆ ที่เรียงเป็นเส้นตรง จึงทำให้เกิด เส้นสายตาที่เป็นมิติลวงตา จุดรวมสายตาจากช่องว่างระหว่างลูกทองหยอดแต่ละลูกช่วยให้เราว่าศิลปินเรียงลูกทองเหลืองตามแนวเส้นรุ้งและเส้นแวง  ซึ่งเป็นการกำหนดพิกัดเพื่อสร้างแผนที่และการศึกษา “ดาราศาสตร์” อันเป็นองค์ความรู้ของชาวยุโรปที่ชาวสยามรับเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าสิ่งนี้ศิลปินจะไม่สื่อความมาอย่างชัดเจนในงานของเขา

เมื่อกาลิเลโอค้นพบว่า “โลกกลม” อันส่งผลให้เกิดการเดินทางแสวงหาดินแดนอันโพ้นทะเลครั้งใหญ่ของยุโรป พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทรงให้การสนับสนุนให้มีการต่อยอดความรู้ เพื่อประโยชน์ ในการทำแผนที่โลกเพื่อใช้ในการเดินทางติดต่อทำการค้า และขยายอำนาจไปยังดินแดนไกลโพ้น ส่งผลให้ประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระองค์ได้เป็นมหาอำนาจโลกก่อนใคร[5] นโยบายนี้ส่งผลให้องค์ความรู้เรืองโลกกลมและดาราศาตร์ถ่ายทอดมายังอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และพระองค์ทรงเปิดรับความรู้ด้านดาราศาสตร์จากยุโรปด้วยการทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร คืนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228  นับเป็นเวลาได้ 76 ปี 8 วัน หลังจากที่กาลิเลโอส่องกล้องวาดภาพดวงเมื่อวันจันทร์ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2152 [6] และทรงพระราชทานที่ดินในเมืองลพบุรี ให้บาทหลวงนักดาราศาสตร์ชาวยุโรปสร้างหอดูดาว “วัดสันเปาโล” เมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687)

“โลก” ที่ศิลปินได้สร้างขึ้นได้สะท้อนความทรงจำและความความรู้ในท้องถิ่นที่ขัดแย้งและต่อสู้กับความรู้ใหม่ อริญชย์ได้ออกแบบโลกจากมโนภาพของตนเองขึ้นมาในภาวะ “หลังสมัยใหม่”  โลกของเขา เป็นเสมือนภาพความทรงจำจากอดีตที่ก่อกำเนิดขึ้นในสภาวะสมัยใหม่ ที่มนุษย์สามารถออกแบบได้เองนอกเหนือจากสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ ศิลปินนำข้อมูลมาตัดต่อ ร้อยเรื่องราว ทำให้ผู้ชมงานพาตัวเข้าไปในโลกของข้อมูลในฐานะของผู้ที่เชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีต ศิลปินต้องการสื่อว่าผู้ชมสามารถสร้างความสัมพันธ์กับเรื่องราวในอดีตได้ในมิติใดมิติหนึ่ง ผลลัพธ์ที่เกิดจาก การสร้างโลกสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในผลงานชุดนี้คือ ประเทศที่ไม่สามารถต้านทานกำลังทหารจากประเทศ ที่มีอำนาจสูงกว่าจำต้องตกเป็นอาณานิคม ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของคน ทุนเศรษฐกิจ และสงคราม ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกดุจการหมุนของโลกที่โคจรมา ณ จุดกำหนดเริ่มต้น เกิดการกำหนดพื้นที่ แบ่งเป็นเขตแดนชัดเจน และเกิด “ชาติ” ขึ้นมา  แต่ “โลก” ที่อริญชย์สร้างขึ้นไม่มีเส้นเขตแดนกำหนดตำแหน่งของประเทศ หรือ ทวีป แต่ผู้ชมก็น่าจะตระหนักได้ว่า ตนเองอยู่ตรงไหนของแผนที่

กล่าวโดยสรุป งานศิลปะของ อริญยช์ รุ่งแจ้ง ได้ดึงภาพประวัติศาสตร์จากสมัยพระนารายณ์มาจนถึงปัจจุบันมาตีความให้เห็นว่า เหตุการณ์เรื่องเล่าต่างๆ ยังคงดำเนินซ้ำรอยเดิม เป็นรอยที่มนุษย์ได้สร้าง ร่องรอยทิ้งไว้ให้คนรุ่งหลังได้เดินตาม ทั้งในด้านการสร้างสรรค์และทำลาย ในขณะที่ผลงานศิลปะร่วมสมัย ในแบบที่ศิลปินทำในงานศิลปะชุดนี้ น่าจะทำให้ผู้รับงานศิลปะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกศิลปะ ได้ดียิ่ง หรือแม้กระทั่งศิลปินด้วยกันเองก็ควรที่จะศึกษาความเคลื่อนไหว ทางความคิดในการสร้างสรรค์งาน เพราะประเด็นที่ศิลปินนำเสนอไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้น ใหม่ แต่เป็นสิ่งที่รู้ๆกันอยู่ ภาพการอพยพของคนจากประเทศเมียนมาร์ ภาพของแรงงานต่างด้าว การอพยพเคลื่อนย้ายมนุษย์ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของความสำนึกที่ว่าทุนนิยมทำให้เราไม่สามารถหลีกหนีสินค้าที่มาจากแหล่งทุนขนาดใหญ่ได้ นอกเสียจะสามารถผลิตได้เอง การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์แบบขนบเดิมถูกท้าทายด้วย การข้ามกรอบวิธีคิดที่คุ้นชินกันมาอันเป็นการข้ามศาสตร์ระหว่างทัศนศิลป์กับประวัติศาสตร์ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงผลจากผลงานศิลปะร่วมสมัยงานชุดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ใหม่ที่ปราศจากกรอบๆใดๆอันตายตัว

*ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้วิจัยสาขาทัศนศิลป์

[1]           Tom Standage, An Edible History of  Humanity แปลโดย โตมร ศุขปรีชา. ประวัติศาตร์กินได้. กรุงเทพฯ: โอเพนเวิลด์. 2554. น. 299.

[2]           Tom Standage, An Edible History of  Humanity แปลโดย โตมร ศุขปรีชา. ประวัติศาตร์กินได้. กรุงเทพฯ: โอเพนเวิลด์. 2554. น. 12-13.

[3]           กฤติยา กาวีวงศ์ 2559. www.ART-IT.ASIA.THE GOLDEN TEARDROP (ออนไลน์) ดูเมื่อ 14 เม.ย. 59

[4]           etatee333 ประวัติศาสตร์ของน้ำตาลและความหวานสร้างโลก www.cmxseed.com (ออนไลน์) 14 เม.ย. 59

[5]           เรื่องเดียวกัน.

[6]           อารี สวัสดี. 400 ปี ดาราศาสตร์สากล 324 ปี ดาราศาสตร์ลพบุรี ประเทศไทย 35 ปี ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี. ลพบุรี: กรุงไทยการพิมพ์. 2552

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*