ผู้หญิงของเฮมิงเวย์ ใน “แมวกลางฝน”

ผู้หญิงของเฮมิงเวย์ ใน “แมวกลางฝน”

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

เออร์เนสต์   เฮมิงเวย์ ที่มาภาพ http://www.oknation.net/blog/supermodels/2010/06/17/entry-4

 

ดังที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่า เออร์เนสต์   เฮมิงเวย์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้รับการยกย่องให้เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการวรรกรรมอเมริกันมาช้านาน   อย่างไรก็ตามในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของเขาได้ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสตรวจสอบวรรณกรรมชิ้นเอกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  หนักหน่วง  และเข้มข้นในแวดวงวรรณกรรมศึกษาของโลกตะวันตก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักวิชาการสาย เฟมินิสต์แล้วผลงานของเฮมิงเวย์ติดอันดับต้นๆ ของวรรณกรรมชายผิวขาวที่แสดงทัศนะเหยียดหยามผู้หญิงอย่างโจ่งแจ้ง  และกลายเป็นแบบฉบับของงานเขียนที่แสดงทัศนะแบบผู้ชายที่เกลียด/ รังเกียจผู้หญิง

นี่นับเป็นข้อกล่าวที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง  กระนั้นก็ดีแม้แต่ผู้เทิดทูนเฮมิงเวย์ที่มีใจเป็นกลางและไม่ได้เห็นด้วยกับจุดยืนของพวกเฟมินิสต์แต่อย่างใด ยังจำต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลความจริงอยู่ค่อนข้างมาก   ใครเล่าจะปฏิเสธได้ว่าในงานชิ้นเอกของเฮมิงเวย์      ผู้หญิงอย่าง เจดีย์ เบรตต์ ใน  The Sun Also Rises และ มาร์กอต ใน “The Short Happy Life of Francis Macomber” ไม่ใช่ “นังแพศยา” ที่เป็นตัวการทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างชาย และล้างผลาญชีวิตตลอดจนจิตวิญญาณของชายอย่างเลือดเย็น หลายคนมองว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดหนึ่งของเฮมิงเวย์ Men without Women สรุปรวบยอดความหวาดระแวงผู้หญิงซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจของเฮมิงเวย์

หนี่งในความพยายามที่จะกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของเฮมิงเวย์ คือ การชี้ให้เห็นว่างานหลายชิ้นของเฮมิงเวย์ได้แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ชาย และเห็นอกเห็นใจปัญหาที่ผู้หญิงต้องประสบโดยเฉพาะปัญหาอันเป็นผลมาจากการหลงตัวเองและความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจของผู้ชาย เรื่องสั้นอย่าง “Hills Like White Elephant” และ “ Cat in the Rain” ของเฮมิงเวย์ เป็นงานที่เป็นตัวอย่างพิสูจน์จุดยืนดังกล่าวของเฮมิงเวย์

กล่าวเฉพาะเรื่องสั้นชื่อ “แมวกลางฝน”1 แล้ว เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่องก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า เป็นเรื่องที่เอื้ออย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เป็นตัวอย่างแสดงถึงจุดยืนของเฮมิงเวย์ที่เห็นใจและเข้าใจความทุกข์ของผู้หญิง “แมวกลางฝน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันระหองระแหงของคู่สามีภรรยาชาวอเมริกัน ขณะที่พักอยู่ในโรงแรมริมชายทะเลแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี เฮมิงเวย์สื่อโดยนัยถึงความร้าวฉานในชีวิตสมรสของคนคู่นี้ผ่านเหตุการณ์เล็กๆ ในเรื่อง เมื่อหญิงสาวต้องการจะช่วยลูกแมวที่ติดฝนอยู่ข้างนอก จอร์จผู้เป็นสามีแม้จะเอ่ยปากว่าจะออกไปจับลูกแมวให้ แต่เขากลับนอนอ่านหนังสือต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม ตัวละครชายอีกคนหนึ่งได้แก่ชายสูงอายุเจ้าของโรงแรมดูจะเอาใจใส่และรู้ใจหญิงสาวเป็นอย่างดี เขาสั่งให้สาวใช้ออกไปข้างนอกกับเธอช่วยกางร่มกันมิให้เธอต้องเปียกฝนทั้ง ๆ ที่เธอมิได้เอ่ยปากขอแต่อย่างใด

ตอนท้ายเรื่องหญิงสาวผิดหวังที่ตามหาแมวไม่เจอ ส่วนจอร์จนั้นไม่สนใจไยดีกับเรื่องแมว ไม่ใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของภรรยาแต่อย่างใด สิ่งเดียวที่เขาทำตลอดทั้งเรื่องคือนอนเอกเขนกอ่านหนังสืออยู่บนเตียงนอนในห้องพัก จนในที่สุดหญิงสาวได้ระบายความอัดอั้นตันใจในชีวิตสมรสโดยการพร่ำพูดว่า “ฉันอยาก…ฉันอยาก…ฉันอยาก…” และมาจบลงตรงคำพูดที่ว่า “ฉันอยากได้แมว ฉันอยากได้แมวเดี๋ยวนี้ ถ้าฉันไว้ผมยาว หรือหาความสนุกสนานไม่ได้ ฉันน่าจะมีแมวได้” ในจังหวะเดียวกันนั่นเอง เจ้าของโรงแรมส่งสาวใช้ให้นำแมวสีกระมามอบกับหญิงสาวอเมริกันผู้นี้

นอกเหนือจากการถ่ายทอดปัญหาของผู้หญิงด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ชายสองประเภทได้แก่จอร์จสามีชาวอเมริกันผู้เห็นแก่ตัวและหยาบกระด้าง กับเจ้าของโรงแรมชาวอิตาลีผู้ละเอียดอ่อน เอื้ออาทรต่อผู้หญิง เป็นแบบฉบับของวีรบุรุษแบบเฮมิงเวย์ที่พบเห็นได้จากตัวละครเอกในนวนิยายหลายเรื่องของเขา

ปัญหาหนึ่งของการตีความดังกล่าวข้างต้นก็คือ ในท้ายที่สุด เรื่องสั้นเรื่องนี้ของเฮมิงเวย์ (หรืออย่างน้อยก็ของผู้ตีความในแนวนี้) อดไม่ได้ที่จะหวนกลับไปเทิดทูนศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้ชายอันเป็นแกนกลางของงานเขียนเฮมิงเวย์ ปัญหาผู้หญิงกลายเป็นเพียงเหตุชักจูงที่จะทำให้ผู้ชายในแบบฉบับเฮมิงเวย์ได้แสดงความเป็น “สุภาพบุรุษ” ให้ประจักษ์เท่านั้น ที่สำคัญกว่าการกลับไปเทิดทูนผู้ชาย การตีความบทบาทของชายสองคนในเรื่องนี้ดังกล่าวดูจะเน้นที่ความแตกต่างของชายทั้งสองอย่างค่อนข้างจะผิวเผินและมองข้ามองค์ประกอบหลายๆอย่างที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง โดยเฉพาะองค์ประกอบเรื่องทวิลักษณ์ และบทบาทของพื้นที่ในการกำกับความหมายและสถานะของเพศชายและหญิงในเรื่อง

จากเนื้อเรื่องจะเห็นได้ชัดเจนว่าทวิลักษณ์ (duality) ถือเป็นองค์ประกอบอันโดดเด่นอย่างยิ่ง ปรากฏอยู่ในหลายรูปหลายลักษณะตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครสองคู่ สองเชื้อชาติ ที่สัมพันธ์กันในสองลักษณะ (สามี-ภรรยาชาวอเมริกันและนายจ้างชาย-ลูกจ้างหญิงชาวอิตาลี) แมวสองตัว (ลูกแมวตัวเมียกลางสายฝนและแมวสีกระตัวผู้ในโรงแรม) ชายสองแบบในอิริยาบถสองแบบ (สามีที่เอาแต่นอนอ่านหนังสือ และเจ้าของโรงแรมที่ยืนเด่นอยู่หลังเคาน์เตอร์) สถานที่ 2 ประเภท (ข้างในโรงแรมที่แห้งและข้างนอกโรงแรมที่เปียกแฉะ) วัตถุสองลักษณะ วัตถุแนวตั้ง เช่น ต้นปาล์ม อนุสาวรีย์ และขาหยั่ง วัตถุแนวนอน เช่น ม้านั่ง ชายหาด ทะเล

ที่สำคัญคือเมื่อพิจารณาจากการสร้างความหมายผ่านพื้นที่ข้างในและข้างนอกโรงแรมเป็นแกน เราจะพบว่าองค์ประกอบเหล่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างมีแบบแผนและมีนัยยะสำคัญในเชิงโครงเรื่อง การสลับฉากระหว่างพื้นที่ข้างในกับข้างนอกโรงแรมมีความสมดุลลงตัวอย่างน่าทึ่ง เรื่องเปิดด้วยการบรรยายฉากนอกโรงแรม โดยมีภาพลักษณ์เด่นที่กำกับอยู่สามประเภทคือ น้ำ (น้ำฝน น้ำทะเล) วัตถุแนวตั้ง (ต้นปาล์ม อนุสาวรีย์ ขาหยั่ง) และวัตถุแนวนอน (ม้านั่ง ทะเล ชายหาด) ตัดมาที่ห้องพักของสองสามีภรรยาชาวอเมริกัน สามีนอน ภรรยามองออกไปนอกหน้าต่าง ตามด้วยบริเวณล็อบบี้ (เจ้าของโรงแรมยืน ภรรยาชาวอเมริกันกำลังเดินออกไปข้างนอก) และออกไปสู่นอกโรงแรม (สาวใช้กางร่มไม่ให้เปียก หาแมวไม่เจอ) จากนั้นก็ย้อนกลับมาเป็นฉากในล็อบบี้ (เจ้าของโรงแรมยืนโค้งให้สาวชาวอเมริกัน) ก่อนจะจบด้วยฉากในห้องพัก (สามียังคงนอนตามเดิม ภรรยากลับไปยืนมองออกไปนอกหน้าต่างตามเดิม) การลำดับ ฉากดังกล่าวทำให้พื้นที่นอกโรงแรมเป็นเสมือนศูนย์กลางของเรื่อง โดยมีพื้นที่บริเวณล็อบบี้และในห้องพักประกบหน้าหลัง (ดูผังประกอบ)


ผังแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในเรื่อง “แมวกลางฝน”

โดยพิจารณาประกอบกับการสื่อความหมายผ่านพื้นที่ข้างในและข้างนอก

เมื่อพิจารณาพื้นที่เหล่านี้เข้ากับตัวละครและภาพลักษณ์ต่างๆที่ปรากฎในแต่ละฉาก เราจะเห็นว่าพื้นที่ทั้งสามสื่อความหมายและสถานะของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ที่เด่นชัดที่สุดคือพื้นที่ข้างนอกโรงแรม จะเป็นพื้นที่ของเพศหญิง(มีแต่ตัวละครสาวชาวอเมริกัน สาวใช้อิตาลี และลูกแมวตัวเมียเท่านั้นที่อยู่ข้างนอก) ส่วนพื้นที่ข้างในนั้นเป็นพื้นที่ของเพศชาย โดยแบ่งย่อยออกเป็นพื้นที่ล็อบบี้โรงแรมเป็นพื้นที่ของชายชาวอิตาลี ส่วนพื้นที่ในห้องพักเป็นของชายชาวอเมริกัน (ความแตกต่างของพื้นที่ทั้งสองจะขยายความโดยละเอียดในภายหลัง) จริงอยู่สาวชาวอเมริกันนั้นก็อยู่ในห้องพักและบริเวณล็อบบี้เช่นกัน แต่ในขณะที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เธอมิได้อยู่ในสถานะของผู้ครอบครองพื้นที่ แต่อยู่ในสภาวะที่ต้องการ/กำลังออกไปข้างนอก เช่น ในห้องพัก เธอจะยืนอยู่ริมหน้าต่างมองออกไปข้างนอก ในบริเวณล็อบบี้ เธอกำลังเดินออกไปข้างนอก

ความหมายของพื้นที่ในและนอก ชายและหญิง จะถูกตอกย้ำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เมื่อนำภาพลักษณ์เรื่อง แห้งและเปียก มาพิจารณาประกอบ ขณะที่หญิงสาวต้องการออกไปข้างนอกที่เปียกแฉะเพราะฝนกำลังตกพรำ ผู้ชายจะเตือนและปกป้องมิให้เธอเปียก โดยออกมาในรูปของคำเตือนของสามีว่า “Don’t get wet” และจากการที่ชายเจ้าของโรงแรมสั่งให้สาวใช้กางร่มออกไปข้างนอกกับเธอ การจงใจเล่นกับความหมายสองแง่ของคำว่า “get well” เอื้อให้ตีความหมายว่าข้างนอกที่ “เปียกแฉะ” นั้นสื่อความหมายถึงพื้นที่ของผู้หญิง

และเมื่อนำการเปลี่ยนสรรพนามเรียกหญิงสาวชาวอเมริกันผู้นี้มาพิจารณาประกอบ เราจะยิ่งเห็นชัดเจนว่า พื้นที่ข้างนอกที่เปียกแฉะมีนัยยะสื่อถึงความเป็นเพศหญิงอย่างแน่นอน กล่าวคือก่อนเธอจะออกไปข้างนอก คำบรรยายในต้นฉบับภาษาอังกฤษจะเรียกเธอว่า “ภรรยาชาวอเมริกัน” (the American wife) แต่เมื่อเธอออกไปตามหาแมวข้างนอก คำที่ใช้เรียกเธอจะเปลี่ยนมาเป็นเด็กสาวชาวอเมริกัน (the American girl) เมื่อเธอกลับเข้ามาในโรงแรมอีกครั้งเธอยังคงความเป็น “เด็กสาว” ขณะที่อยู่บริเวณล็อบบี้ แต่เมื่อกลับเข้าไปในห้องพัก เธอก็กลับไปเป็น ”ภรรยาของเขา” ตามเดิม

เมื่อพิจารณาจากบริบทข้างต้น คำถามของสาวใช้ชาวอิตาลีขณะที่ทั้งสองอยู่ข้างนอกว่า “คุณผู้หญิงทำอะไรหายหรือคะ” (“Ha perduto quelque cosa, Signora?”) บอกเราอย่างชัดเจน ว่า การที่หญิงสาวชาวอเมริกันออกมาหาแมวกลางสายฝนคือการแสวงหาความเป็นหญิงที่เธอสูญเสียไป ลูกแมวตัวเมียที่ติดฝนอยู่ข้างนอกก็คือตัวแทนของความเป็นหญิงที่เธออยากได้คืนมา

หากการออกไปข้างนอกแท้จริงแล้วเป็นมากกว่าการออกไปหาลูกแมว การพร่ำพูดในตอนท้ายเรื่องว่า เธออยากได้นั่นอยากได้นี่ ไม่ว่าจะเป็น อยากไว้ผมยาว อยากทำผมมวย “ฉันอยากกินบนโต๊ะอาหารพร้อมชุดเครื่องเงินของฉันเองและฉันอยากได้เทียน และฉันอยากให้ตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิ ฉันอยากหวีผมอยู่หน้ากระจก ฉันอยากได้ลูกแมว และฉันอยากได้เสื้อผ้าใหม่ๆ” ก็น่าจะเป็นมากกว่าความอยากมีชีวิตสมรสที่มั่นคงลงหลักปักฐาน ไม่ต้องเดินทางไปเรื่อยๆ เช่นที่เป็นอยู่ สิ่งที่จะต้องไม่มองข้ามคือคำที่เธอพูดซ้ำๆอยู่ตลอดเวลาว่า “ฉันอยาก ฉันอยาก ฉันอยาก” นั้นมีความหมายหนักแน่นมากกว่าวัตถุสิ่งของต่างๆที่เธอเอ่ยถึง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เธออยาก”นั่นเอง

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาสถานะของสามีชาวอเมริกันและเจ้าของโรงแรมชาวอิตาลีในบริบทของพื้นที่ จะเห็นว่าทั้งคู่ครอบครองพื้นที่ในโรงแรมอันเป็นพื้นที่ของความเป็นชาย แต่เมื่อเรานำอิริยาบถประจำตัวของชายทั้งสองมาพิจารณาประกอบกับภาพลักษณ์ของวัตถุที่บรรยายไว้ในต้นเรื่องและประเด็นเรื่องเพศสภาพ เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า การที่จอร์จอยู่ในท่านอนตลอดเรื่องแสดงถึงความเป็นชายผู้ไร้สมรรถภาพ ขณะที่เจ้าของโรงแรมซึ่งอยู่ในท่ายืนตลอดเวลา บ่งบอกถึงความเป็นชายผู้เปี่ยมด้วยสมรรถภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนหนึ่งจะเป็น “ชายเข้มแข็ง” คนหนึ่งจะเป็น “ชายอ่อนเแอ” แต่ทั้งสองต่างก็พยายามขัดขวางมิให้หญิงสาวได้ค้นพบความเป็นผู้หญิงของเธอ ทั้งคู่ต่างปกป้องมิให้เธอต้อง “เปียก” ด้วยวิธีที่ต่างกัน จอร์จใช้วิธีสั่งมิให้เธอ “เปียก” และ “นอนยัน” ให้เธอไว้ผมสั้นเหมือนเด็กชาย ส่วนชายเจ้าของโรงแรมสั่งสาวใช้ให้กางร่มออกไปข้างนอกกับเธอ และส่งแมวสีกระตัวผู้มาให้ที่ห้อง

แม้ว่าเรื่อง “แมวกลางฝน” จะได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นเรื่องที่นำเสนอภาพของผู้หญิงในเชิงเห็นอกเห็นใจ แต่เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดต่างๆ เรายังพบร่องรอยของความหวาดระแวง “ความเป็นหญิง” ที่ฝังรากลึกอยู่ในงานชิ้นนี้ของเฮมิงเวย์

 

 

ที่มา : ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์. “ผู้หญิงของเฮมิงเวย์ ใน ‘แมวกลางฝน’ ”. สารคดี. ปีที่ 14. ฉบับที่ 168 (กุมภาพันธ์ 2542).

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์  เขียนบทวิจารณ์ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “คนกับหนังสือ”  ในนิตยสาร

สารคดี สลับกับนพพร  ประชากุล  ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน  โดยวิจารณ์ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมต่างประเทศ   ในส่วนของการวิจารณ์วรรณกรรมต่างประเทศ   บทวิจารณ์เรื่องสั้น เรื่อง แมวกลางฝน”  (Cat in the Rain) ของเออร์เนสต์  เฮมิงเวย์  นักเขียนอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นบทวิจารณ์ที่สามารถชี้ให้เห็นว่าผลงานวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่สร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งอาจเอื้อต่อการตีความอย่างหลากหลาย

ชูศักดิ์เริ่มต้นบทวิจารณ์โดยบอกกล่าวให้ทราบว่าในซีกโลกตะวันตก  แม้เฮมิงเวย์จะเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่และได้รับความนิยมยกย่องจากทั่วโลกมากคนหนึ่ง   แต่ก็ไม่พ้นการถูกตรวจสอบจากนักวิชาการวรรณคดีศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการสายเฟมินิสต์ซึ่งโจมตีว่าผลงานของเฮมิงเวย์แสดงทัศนะของผู้ชายที่ชิงชัง  รังเกียจ และเหยียดหยามผู้หญิงอย่างรุนแรง   ในกรณีเช่นนี้มีฝ่ายนิยมเฮมิงเวย์พยายามกอบกู้ชื่อเสียงของนักเขียนผู้นี้  โดยชี้ให้เห็นว่ามีงานเขียนของเฮมิงเวย์บางเรื่องที่แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้หญิง  และชี้ให้เห็นว่าผู้ชายร้ายกาจและเห็นแก่ตัว  หนึ่งในงานเขียนที่แสดงทัศนคติของเฮมิงเวย์ในด้านนี้ คือ เรื่อง “แมวกลางฝน” นั่นเป็นเหตุให้ผู้วิจารณ์นำเรื่องสั้นเรื่องนี้มาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งโดยอิงกับโครงสร้างของการประกอบตัวบทเรื่องสั้นเรื่องนี้  ซึ่งเน้นองค์ประกอบสำคัญ  2  ประการที่ผู้อ่านอื่น ๆ อาจมองข้ามไป  นั่นคือ  ทวิลักษณ์  และพื้นที่   พร้อมกันนั้น  ชูศักดิ์ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า  แท้ที่จริงแล้ว  เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ยังสะท้อนทัศนะอันแสดงความ  “ความหวาดระแวง “ความเป็นหญิง” ที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเฮมิงเวย์”

ในการวิเคราะห์เรื่องสั้นเรื่องนี้  ผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาในระดับพื้นผิว  ความหมายที่ส่งผ่านมาจากเนื้อเรื่องดูเหมือนจะแสดงความสงสารเห็นใจความทุกข์ของผู้หญิง   แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงระดับโครงสร้าง  เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ยังมีแนวคิดเทิดทูนความเป็นผู้ชายอยู่นั่นเอง  ผู้วิจารณ์ใช้ข้อพิสูจน์ความคิดนี้  โดยมุ่งไปที่องค์ประกอบสำคัญที่เรียกว่า  ทวิลักษณ์  (duality)โดยเปรียบเทียบตัวละครชาย 2 คนในเรื่อง  คือสามีผู้เห็นแก่ตัวและหยาบกระด้าง  กับชายเจ้าของโรงแรมที่ละเอียดอ่อนและเอื้ออาทร   และชี้ให้เห็นว่าปัญหาของผู้หญิงก็เป็นเพียงเหตุจูงใจให้ผู้ชายแสดงความเป็น “สุภาพบุรุษ” ของตน  บุคลิกของชายเจ้าของโรงแรมดังที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้ดูจะเป็นแบบฉบับของ “สุภาพบุรุษ” ที่เฮมิงเวย์สะท้อนไว้ในงานเขียนอีกหลายเรื่องของเขา

เพื่อให้ทัศนะวิจารณ์นี้ชัดเจนและแหลมคมยิ่งขึ้น  ผู้วิจารณ์ได้ถอดรหัสความหมายของเรื่องสั้นนี้เพื่อให้เห็นสารความหมายระดับลึกที่ผู้เขียนสื่อไว้อย่างแอบแฝงโดยจงใจ  ซึ่งเมื่อพิจารณาไปตามการชี้แนะของผู้วิจารณ์  ผู้อ่านจะเห็นว่าความเป็นเอกภาพขององค์ประกอบตลอดทั้งเรื่องนี้วางรากฐานอยู่บนเรื่องของทวิลักษณ์  ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นในหลายรูปหลายลักษณะ  เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้อธิบายว่าทวิลักษณ์ที่ปรากฏนี้มีความหมายอย่างไรต่อตัวเรื่อง  แต่ก็นับว่าเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านมองเห็นความจงใจในการประกอบสร้างรายละเอียดต่าง ๆ ในงานประพันธ์ที่เสริมเรื่องทวิลักษณ์  และทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงการแฝงความหมายเรื่อง “ความเป็นชาย”  และ “ความเป็นหญิง”  ไว้ในเรื่องสั้นนี้อย่างน่าใคร่ครวญ

ความหมายระดับลึกเรื่อง “ความเป็นชาย”  และ  “ความเป็นหญิง”  จะเห็นได้ชัดมากขึ้นในบทบาทของพื้นที่  ซึ่งเป็นประเด็นที่สองที่ผู้วิจารณ์ชี้แนะให้พิจารณาการสร้างความหมายผ่านพื้นที่ภายนอกและภายในโรงแรมอันเป็นฉากของเรื่องสั้น   ฉาก (setting)  เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเรื่องเล่า  ซึ่งอาจจะมีบทบาทหลายระดับ  ตั้งแต่เป็นสิ่งกำหนดสถานที่  สภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ในเรื่อง  ไปจนถึงเป็นสิ่งที่มีบทบาทในการดำเนินเรื่อง  ผู้ที่อ่านงานเขียนของเฮมิงเวย์จะพบว่านักเขียนผู้นี้ให้ความสำคัญกับฉากมาก  ในบางเรื่องเช่น เฒ่าทะเล (The Old Man and the Sea)  ทะเลไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ในท้องเรื่อง  แต่มีบทบาทราวกับเป็นตัวละครที่ขับเคี่ยวต่อสู้กับชายชราตัวเอกของเรื่องตลอดทั้งเรื่อง

ในเรื่องสั้นเรื่อง “แมวกลางฝน” ก็เช่นกัน  โรงแรมชายทะเลแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี  ที่

สองสามีภรรยาชาวอเมริกันมาพำนักเพื่อพักผ่อน  มีบทบาทในการสื่อความหมายระดับลึกอย่างน่ายกย่อง  ดังที่  ผู้วิจารณ์กล่าวชื่นชมว่า  “องค์ประกอบเหล่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างมีแบบแผนและมีนัยยะสำคัญในเชิงโครงเรื่อง  การสลับฉากระหว่างพื้นที่ข้างในและข้างนอกโรงแรมมีความสมดุลลงตัวอย่างน่าทึ่ง”  ผู้วิจารณ์ใช้ผังแสดงฉากของเรื่องสั้นเรื่องนี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่าผู้เขียนลำดับฉากอย่างจงใจให้มีสมดุลและมีเอกภาพ    จากนั้นผู้วิจารณ์ตีความว่าพื้นที่ข้างนอกโรงแรมเป็นพื้นที่ของเพศหญิง  ส่วนพื้นที่ข้างในโรงแรมเป็นพื้นที่ของเพศชาย  การที่หญิงสาวออกไปหาแมวกลางสายฝนจึงหมายถึงการออกไปหาความเป็นหญิงที่สูญหายไปเพราะการกำหนดกดขี่ของเพศชายนั่นเอง   ข้อสรุปนี้มาจากการตีความหมายที่อิงทฤษฎีโครงสร้างนิยม (Structuralism)  และศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง (Narratology) ซึ่งให้ความสำคัญแก่ภาษาและวัสดุต่าง ๆ ที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเชิงสัญลักษณ์  พร้อมกันนี้ผู้วิจารณ์ยังใช้หลักจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์และยังอาศัยความรู้ในเชิงสังคมวิทยาวัฒนธรรมประกอบการแสดงทัศนะของตนอีกด้วย

จากบทวิจารณ์นี้  จะเห็นได้ว่า  ผู้วิจารณ์ใช้รายละเอียดจากภาษา  แสดงความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้าง  และนำไปสู่การตีความหมายของตัวบท   การถอดรหัสจากการประกอบสร้างตัวบทที่ผู้ประพันธ์จัดวางรายละเอียดไว้อย่างประณีตและจงใจเช่นนี้  ทำให้การอ่านวิเคราะห์ตัวบทในระดับลึกสามารถชี้ให้ผู้อ่านมองเห็นความสัมพันธ์อย่างมีเอกภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องสั้น  และจากหลักเกณฑ์ของศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องทำให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดกำหนดขึ้นโดยไร้ความหมายต่อตัวบท   บทวิจารณ์นี้จึงแสดงให้เห็นศักยภาพของนักเขียนและคุณภาพของงานเขียนที่ได้รับยกย่องกันในระดับสากล  บทวิจารณ์ที่แสดงพลังปัญญาเช่นนี้จึงน่าจะเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นของไทยต่อไป

นอกจากนี้  อีกประเด็นที่ผู้วิจารณ์ให้ความสนใจ  คือแนวคิดเรื่องเพศ (gender)  อันเป็นกระแสนิยมหนึ่งในการสร้างสรรค์และการวิจารณ์วรรณกรรม  บทวิจารณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ตีความทัศนะเรื่องเพศที่แฝงไว้ในงานประพันธ์  ต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างพินิจรอบคอบก่อนที่จะวิพากษ์ตัดสินว่านักเขียนคนใดมีทัศนะเรื่องเพศอย่างไร  เพราะทัศนคติดังกล่าวเป็นปมลึกในจิตใจ  ซึ่งมีทั้งความซับซ้อนและสับสน   ผู้เขียนอาจเผยทัศนคติของตนออกมาทั้งโดยจงใจหรือไม่จงใจ  ผู้วิจารณ์จึงมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ตีความหน่วยความหมายต่าง ๆ ที่ผู้ประพันธ์นำมาประกอบสร้างในงานของเขาว่ามีความหมายเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร   บทวิจารณ์นี้แม้จะเป็นบทวิจารณ์วรรณกรรมต่างประเทศ  แต่ก็เป็นบทวิจารณ์ที่นำประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมมาให้แนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์และการวิจารณ์ของไทยได้อย่างมีพลัง

 

 

รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์   :   ผู้วิเคราะห์

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์


1 เรื่องสั้น “Cat in the Rain” เรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วสองสำนวนด้วยกัน สำนวนแรกแปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ รวมเล่มอยู่ในชุด พ่อของข้าพเจ้า (สำนักพิมพ์แสงดาว, 2540โดยแปลชื่อเรื่องว่า “แมวตากฝน” อีกสำนวนหนี่งเป็นของ ณรงค์ จันทร์เพ็ญ รวมเล่มอยู่ในชุด หิมะแห่งคิลิแมนแจโร (สำนักพิมพ์สมิต, 2539) แปลชื่อเรื่องว่า “แมวตากฝน” เช่นกัน ในการอ้างอิงข้อความจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนบทความเลือกแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของเฮมิงเวย์โดยตรง

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*