ญ่า นิทานร้อยแก้วแห่งพุทธศตวรรษที่ 25

ญ่า   นิทานร้อยแก้วแห่งพุทธศตวรรษที่ 25

 

ธเนศ   เวศร์ภาดา


งานร้อยแก้วของอังคาร กัลยาณพงศ์ ดูจะอาภัพนัก ในเมื่องานกวีนิพนธ์ของเขาโดดเด่นครองใจผู้เสพวรรณศิลป์ไปเสียหมดแล้ว แต่เมื่อลองหยิบงานร้อยแก้วเรื่อง ญ่า มาพิเคราะห์ในด้านลีลา (style) ผู้เขียนได้พบลักษณะเฉพาะของลีลาร้อยแก้วที่อังคารใช้ อีกทั้งพบว่าอังคารเป็นนักเล่านิทานด้วยภาษากวีที่น่าสนใจแห่งพุทธศตวรรษนี้ ที่สำคัญนิทานเรื่อง ญ่า เกิดจากจินตนาการอันพิสุทธิ์และความสำนึกในคุณค่าแห่งโลกธรรมชาติของอังคารเองโดยแท้

กิ่งแก้ว อัตถากร ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ  “นิทาน” ว่าตามความหมายทั่วๆไป “นักเขียนใช้คำนี้เพื่อบ่งชี้ลักษณะของลีลาโวหารเป็นส่วนใหญ่ ลีลาดังที่ปรากฏนั้นเป็นลีลาแบบกันเอง ทำนองการเล่าด้วยวาจา ผู้เล่าถือโอกาสสอดแทรกอารมณ์ และความคิดเห็นลงไปอย่างไม่ลำบากใจ” และได้ขยายแง่มุมของนิทานในเชิงคติชนวิทยาว่านิทานมีหลายรูปแบบ เช่น  เทพนิยาย นิทานวีรบุรุษ นิยายประจำถิ่น นิทานเรื่องสัตว์ เป็นต้น ญ่า อาจจัดเป็นนิทานชีวิตได้อย่างเหมาะเจาะ  เพราะนิทานชีวิตจะ “ดำเนินเรื่องในโลกที่เป็นจริง บ่งสถานที่และเวลาชัดเจน และถึงแม้จะมีความมหัศจรรย์ปรากฏในเรื่อง ก็เป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังคุ้นเคยอยู่ในประสบการณ์”

เรื่อง ญ่า เปิดเรื่องขึ้นด้วยการบ่งเวลาและสถานที่ว่า เกิดขึ้นใน “สายัณห์หนึ่งในวสันตฤดู” และ “เบื้องหลังภูเขาสูง…เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมือง” อังคารสร้างตัวละครหญิงชราอายุแปดสิบเศษเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยให้มีความสัมพันธ์กับเหล่าพฤกษาลดามาลย์อย่างลึกซึ้ง โครงเรื่องไม่ซับซ้อน เพราะอังคารได้จัดวางโครงเรื่องเรียงลำดับเหตุการณ์อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่หญิงชราเพิ่งหายไข้ อยากจะกินข้าวกะแกงเลียงยอดผักหญ้า จึงออกจากกระท่อมเพื่อเก็บผัก ช่วงนี้เป็นช่วงที่นางมีโอกาสพูดคุยกับต้นไม้ใบหญ้า จากความพิศวงแต่แรก ก็เปลี่ยนมาสู่ความตื้นตันใจในความดีงามของเหล่าพฤกษาลดามาลย์ หลังจากนั้นนางก็ล้มเจ็บ ละเมอหลงใหล ลงเก็บผักบุ้งในช่วงวันที่อึมครึม และนางก็เคราะห์ร้ายถูกงูฉกตาย เหล่าพฤกษาลดามาลย์พากันเศร้าใจ หลั่งน้ำตาอาลัยแก่หญิงชราผู้จากไปอย่างเดียวดาย

โครงเรื่องไม่ซับซ่อนนี้ได้เสนอด้วยลีลาภาษาที่ตรงไปตรงมาเช่น

“อยู่มาวันหนึ่ง (ญ่า) เพิ่งหายไข้อยากจะกินข้างกะแกงเลียงยอดผักหญ้า”

“หลังจากนั้น ผักบุ้งในสระก็ทอดยอดงดงาม หญิงชราเก็บไปขายที่ตลาดพอได้เงินซื้อข้าวซื้อกับกิน”

“ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วย เป็นมาเลเรียมาหลายวันแล้ว”

“บังเอิญ ถึงคราวเคราะห์ร้าย (ญ่า) เหยียบปลายหางงูเห่าฉกรรจ์ งูตกใจฉกกัดเอาเต็มที่”

คำบ่งสถานการณ์ว่า “อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากวันนั้น ขณะนี้บังเอิญ” ช่วยให้โครงเรื่องที่เรียงตามลำดับดังกล่าวถูกนำเสนออย่างกระชับขึ้น ผู้อ่านได้รับรู้สถานการณ์อย่างรวดเร็ว และ

มิพักต้องสงสัยตั้งคำถามสงสัย เช่น ทำไมญ่าต้องเฉพาะเหยียบหางงูเห่าเข้า ทุกอย่างมีคำตอบเรียบร้อยแล้วคือ “ความบังเอิญ”

การเดินเรื่องด้วยภาพพจน์แบบบุคลาธิษฐานทั้งเรื่อง ก็ยิ่งเสริมให้เรื่อง ญ่า มีลักษณะของนิทานมากขึ้น นิทานทั่วๆไปมักเปิดโอกาสให้สิ่งไม่มีชีวิตหรือมีชีวิต แต่ไม่ใช่มนุษย์ พูดจากันได้ จะแปลกอะไร หากพฤกษาลดามาลย์จะสนทนาปราศรัยอย่างมีไมตรีกับหญิงชราในเรื่องนี้ เพราะ “เทพเจ้า” ได้ประทานดวงวิญญาณอันน่ามหัศจรรย์แก่สิ่งเหล่านี้ ผู้อ่านจึงสามารถตัดปัญหาความไม่สมจริงทั้งปวงออกไป เหมือนนั่งฟังนิทานสนุกๆเรื่องหนึ่ง เพราะการฟังนิทาน เราจะไม่ติดข้องอยู่กับเปลือกกระพี้เหล่านี้ หากฟังเอาแก่นสารที่แฝงอยู่

ตัวละครเอกเรื่องนี้ไม่ได้โลดแล่นอย่างอิสระนัก เพราะอังคารได้แสดงน้ำเสียงปรากฏแทรกเป็นเงาอยู่ตลอดเวลา พิจารณาได้จากการบรรยายความรู้สึกของหญิงชรา ในแต่ละช่วงเหตุการณ์ เช่น

“นางให้ พิศวงงงงวย เป็นที่สุด แต่ก็ แข็งใจ ตอบไปว่า…”

“หญิงชรา ตื้นตันใจ จนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม”

“นางฟื้นขึ้นแล้ว พิษไข้กลับย้อนซ้ำอีก อนิจจา ละเมอเพ้อสิ้นสติหลงใหลลงเก็บผักบุ้ง”

“มินานนักฤทธิ์อื่นร้ายแรงของอสรพิษ ก็ทวนกระแสโลหิตให้วัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน

“หญิงชราสิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพลงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์

กลุ่มคำกริยาเช่น พิศวงงงงวย ตื้นตันใจ ละเมอเพ้อสิ้นสติหลงใหล เป็นการบรรยายเชิงอัตวิสัย (subjective description) ของนักเขียนทั้งสิ้น เพราะอังคารได้กรองภาพหรืออิริยาบถของหญิงชรามานำเสนอด้วยมุมมองของตนอีกชั้นหนึ่ง พร้อมทั้งได้มุ่งบรรยายความรู้สึกของนางด้วยความหยั่งรู้ ตัวอย่างของประโยคขยายว่า “อันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกิน” จริงอยู่เป็นการบรรยายตามความเป็นจริงด้านกายภาพ วัยชราย่อมมีกำลังต้านทานพิษงูได้น้อยกว่าวัยฉกรรจ์ แต่การเลือกที่จะเติมส่วยขยายและบรรยายเน้นย้ำว่า “น้อยเหลือเกิน” เป็นความจงใจของผู้เล่า อันแสดงถึงอารมณ์หวั่นไหวคล้อยตามตัวละครไป ตัวอย่างที่ชี้ชัดหนักแน่นยิ่งขึ้น คืออุทานว่า “อนิจจา” และอุปมาว่า “ราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์” เป็นเสียงของอังคารอย่างแน่นอน

แม้ในการพรรณนาสภาพธรรมชาติ อังคารได้สร้างภาพให้ดูเกินจริง เช่น “กระแสลมเริ่มพัด จนรุนแรงจัดขึ้นเป็นพายุกล้าหวั่นไหวไกวเมือง” “สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วฟาดเปรี้ยง สนั่นลั่นโลก” หรือเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของหมู่ไม้ว่า “เสมือนชิงช้ากลางสายฝน”  ล้วนแสดงถึงอารมณ์ไหวสะท้านของอังคารที่มีต่อธรรมชาติขณะที่หญิงชราอยู่ในภาวะล้มเจ็บด้วยโรคมาเลเรีย และเมื่อหญิงชราถึงแก่กรรม อังคารพรรณนาสภาพธรรมชาติว่า

“อากาศสงบยะเยือกเย็นลง จนวิเวกวังเวง น้ำค้างเผาะเผาะใบไม้เหลือแต่ดาวดวงหนึ่งระยับระย้าอยู่ในห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์” แสดงความเชื่อของผู้เล่าว่าเมื่อคนดีได้จากไป ดวงวิญญาณจะไปเกิดเป็นดวงดาวบนท้องฟ้าและที่สิงสถิตแห่งดวงจิตหญิงชราในเรื่องนี้  เป็น ห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์ ยิ่งแสดงให้เห็นทัศนะการประเมินค่าตัวละครตัวนี้ของผู้เล่าอย่างถ่องแท้ทีเดียว

นอกจากนี้ การใช้บุคลาธิษฐานดังกล่าว ก็เป็นวิธีหนึ่งที่อาจบ่งชี้ว่ามีเสียงของผู้เล่าปรากฏอยู่ เพราะในการสมมติให้เหล่าพฤกษชาติพูดคุยได้เหมือนมนุษย์นั้น ผู้เล่าจะต้องใส่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น

“เห็นยอดตำลึงไหวๆ ฉะอ้อน กระแสลม”

“มะละกอสุกงอมเหลืองอร่าม ร้องบอกเสียง สั่นเครือ ว่า”

“ขาดคำรำพึงรำพัน เถาตำลึงก็ซ้ำร่ำให้ สะอึกสะอื้น

“…หยดหยาดระรินลง ราวกับกระแสทุกข์โศกาดูร

ที่สำคัญ เมื่อหญิงชราได้สิ้นใจไปแล้วนั้น อังคารยังให้เหล่าพฤกษชาติมีลักษณาการดังนี้

“ถ้าแม้ใครมีหูทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นจากพฤกษาลดามาลย์ในไร่นั้น ยอดผักบุ้ง มะละกอ กระถิน และเถาตำลึงก็ครวญคร่ำร่ำไห้”

การที่ธรรมชาติครวญคร่ำรำไห้ในการจากไปของตัวเอกเช่นนี้นัยหนึ่งเป็นการแสดงน้ำเสียงโศกเศร้าของผู้เล่าเรื่อง อีกในหนึ่งอาจนับเป็นขนบที่ใช้มาแต่เดิมในวรรณคดีโบราณ เช่น ในมหาเวสสันดรชาดก เทพเจ้าต่างหวีดหวาดไม่เว้นองค์ เมื่อชูชกเฆี่ยนตีสองกุมาร หรือในกามนิต ธรรมชาติต่างเงียบสงัดเพื่อแสดงความอาลัยต่อการเสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนัยนี้ อังคารก็ได้สืบสายขนบโบราณเพื่อแฝงเร้นน้ำเสียงของตนได้สอดคล้องและน่าชื่นชมยิ่ง

แม้ว่าลักษณะการแทรกเสียงของผู้เล่า ไม่ใช่กลวิธีของการเล่านิทานเพียงประเภทเดียว เพราะอาจเป็นวิธีของนวนิยาย เรื่องสั้นสมัยใหม่ก็ได้ แต่เมื่อประมวลปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อน การใช้บุคลาธิษฐานทั้งเรื่อง และเสียงของผู้เล่าเรื่องก็สามารถบ่งชี้ว่าเรื่อง ญ่า สามารถจัดเข้าลักษณะนิทานชีวิต ได้อย่างไม่ขัดเขิน

โดยทั่วไป นิทานลายลักษณ์มักมีกระแสธารสืบเนื่องจากนิทานมุขปาฐะอันเล่าสืบต่อกันมาช้านาน เช่น ขุนช้างขุนแผน นิทานทรงเครื่องเลื่องชื่อของไทยเรื่องหนึ่ง เป็นต้น แต่นิทานเรื่อง ญ่า กลับเป็นนิทานที่เกิดจากความนึกคิดของอังคารเอง นิทานเรื่องนี้จึงไม่มีต้นตอจากนิทานมุขปาฐะเรื่องใดอันได้เล่าขานกันมาก่อน

เป็นที่ทราบกันดีว่า แก่นเรื่องสำคัญประเด็นหนึ่งที่อังคารมักเสนอในงานกวีนิพนธ์ของเขาคือ การตระหนักในคุณค่าแห่งโลกธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใหญ่โต เช่น ขุนเขา สายน้ำ ดวงจันทร์ ดวงดาวในมหาจักรวาล หรือสิ่งที่ต่ำต้อยกระจิริด เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า กรวดหินดินทราย ในเรื่อง ญ่า เขาก็ได้เสนอสารดังกล่าวอย่างแข็งขันเช่นกัน

จุดเด่นประการแรกสุด คือการจงใจที่จะสะกดคำว่า “ย่า” ซึ่งเป็นคำเรียกหญิงชรา ให้เป็น “ญ่า” ชวนให้นึกประหวัดเทียบกับคำว่า “หญ้า” ซึ่งหมายถึงพืชที่เกิดตามพื้นดินพวกหนึ่ง และมักมีความหมายแฝงถึงสิ่งต้อยต่ำไร้ค่า ดังนั้น การสะกดคำว่า “ญ่า” เช่นนี้ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่อังคารจะมุ่งแสดงสารัตถะไว้ในเบื้องแรกคือหญิงชราผู้นี้มีฐานะเท่าพืชหญ้า ซึ่งขาดการดูแลเอาใจใส่ และถูกตัดขาดจากสังคมมนุษย์ แต่ทว่าสิ่งที่ดูไร้ค่าไม่ว่าจะเป็น “ญ่า” หรือ“หญ้า” ต่างมีคุณความงามดีอันประมาณค่ามิได้

อังคารได้แสดงธาตุความอ่อนโยนแห่งพฤกษชาติทั้งมวลไว้อย่างละเมียดละไมยิ่ง นับตั้งแต่กลุ่มคำนามว่า พฤกษาลดามาลย์ ผักหญ้าพฤกษชาติ สุมทุมพุ่มไม้ แมกไม้ยูงยาง ไปจนถึงกลุ่มคำขยาย เช่น เขียวชอุ่มลออสดใส (มะละกอ) สุกงอมเหลืองอร่าม การใช้คำซ้อนลักษณะนี้ พอจะเห็นได้ว่า อังคารตั้งใจยกคุณค่าของธรรมชาติให้สูงส่ง เพราะเสียงของคำล้วนเป็นเสียงทอดยาวและเมื่อพินิจดูบทสนทนาที่เหล่าพฤกษชาติกล่าวแก่หญิงชราก็ล้วนเป็นคำที่สรรมาอย่างดี เช่น

แรงโอสถ บางอย่างจะล้างลำไส้ของญ่าให้สะอาด”

“(ญ่าจะได้) รื่นอารมณ์ชมชื่น ในแสงรุ้งตะวันเจ็ดสี”

“(ญ่าจะได้) หายใจอากาศสดบริสุทธิ์ ไว้ต้อนรับอุษาเทพเจ้าอ่อนไท้จะประทานประกายปีติทิพย์ มาให้ญ่า”

หรือแม้แต่เมื่อเหล่าพฤกษชาติจะคุยกันถึง “ญ่า” ซึ่งจากไปแล้ว พวกเธอก็กล่าวด้วยวาจาอันไพเราะว่า

“ไม่กี่วัน อสุภซาก นั้นจะเน่าพอง..”

โดยเฉพาะคำลงท้าย “เถอะ” ที่ผักหญ้าต่างๆ ใช้เรียกร้องให้นางเก็บผลผลิตของตนในประโยคว่า “ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ” ถึงประมาณ 5 ครั้งในเรื่อง ต่างช่วยแสดงถึงความอ่อนน้อมและเปี่ยมเมตาของเหล่าพฤกษชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น เมื่อหญิงชราได้มีโอกาส “สนทนาปราศรัย” กับพวกเธอเหล่านั้น นางจึงผูกพันยิ่งนัก ถึงขนาด “กล่าวขอบอกขอบใจ” ในพืชพันธุ์ และกล่าวชื่นชมว่าพวกเธอ “ดูเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาธรรม กว้างขวางนักหนา” จนกระทั่ง “ตื้นตันใจ” ออกปากว่า “ญ่าให้รู้สึก เกรงอกเกรงใจ เต็มที” ที่จะเก็บพืชเหล่านี้มายังชีวิต คำที่ใช้ตัวหนาก็ล้วนเป็นกลุ่มคำซ้อน 4 คำ ซึ่งพอจะเห็นเป็นแนวโน้มกว้างๆในด้านลีลาว่า อังคารตั้งใจเลือกสรรคำขยายซ้อนๆกันเพื่อสื่อความหมายดังกล่าวโดยแท้

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ผักบุ้งในสระหลังกระท่อมจึงฝากฝังหญิงชราให้    “ช่วย ตีฆ้องร้องป่าว ไปด้วยว่าผักบุ้งเป็นโอสถวิเศษ กินแล้วช่วยให้ สายตาดี ขึ้นมาด้วย” ข้อความนี้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องสามัญ เพราะทราบกันดีว่า ผักบุ้งมีแร่ธาตุช่วยเสริมสมรรถภาพแก่สายตา แต่เมื่อพินิจในเชิงวรรณศิลป์ เราจะพบว่า อังคารได้บรรยายดวงตาไว้อีก 2 ครั้งคือ ครั้งที่บรรยายลักษณะกายภาพของหญิงชราไว้ในตอนต้นเรื่องว่า “เว้นแต่ แววตายังวาวแต่ก็ราวกะเวลาโพล้เพล้” และตอนสุดท้ายว่า “ฝูงมดคันไฟกำลังรุมแทะกิน ลูกตาดำๆ ของญ่า” ดังนั้น เราจึงไม่อาจละเลยข้อมูลดังกล่าวไปได้ สายตา ถือเป็นประสาทด่านสำคัญของการรับรู้หรือตระหนักในสิ่งต่างๆ แม้ว่าหญิงชราผู้นี้จะแก่หง่อมมากแล้วเพราะสายตานาง “ราวกะเวลาโพล้เพล้” คือฝ้าฟาง แต่ในความเป็นจริง นางเป็นผู้ที่เห็นแจ้งในสิ่งที่ผู้อื่นไม่อาจเห็นได้ ดังนั้นผักหญ้าทั้งมวลจึงเลือกที่จะพูดคุยกับนาง และเลือกนางเป็นตัวแทนในการ “ตีฆ้องร้องป่าว” คือแพร่กระจายสรรพคุณความดีของธรรมชาติมนุษย์จะได้เห็นแจ้งเลิกหลงมัวเมาในโลกวัตถุ หันมาใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น แต่ท่ามกลางความจริงอันโหดร้าย มนุษย์ก็ยังหลงในกิเลสตัณหา เปรียบเหมือน “งูร้ายกำลังร่านคู่ประสมพันธุ์กัน” ไม่อาจเข้าใจสิ่งที่หญิงชราจักเพียรป่าวประกาศ นางจึงถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตความสิ้นหวังจบลงที่ “ลูกตาดำๆ” ของนางถูกรุมแทะกิน ธรรมชาติจึงถึงกาลวิโยค เพราะสิ้นบุคคลที่จะตระหนักถึงคุณค่าของโลกธรรมชาติอย่าง “ญ่า” เสียแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าตัวละครเอกในเรื่อง ก็คือ ตัวแทนอังคารนั่นเองเพราะสารที่มุ่งเสนอนั้น ก็เป็นสิ่งที่อังคารกล่าวย้ำมาตลอดทั้งในกวีนิพนธ์และคำสัมภาษณ์ตามที่ต่างๆ ธรรมชาติเป็นแม่บทที่จะให้พลังแก่มวลมนุษย์ และเมื่อมนุษย์ไม่รู้ค่า อีกทั้งยังปองร้ายธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อังคารก็จะใช้ความเป็นกวีบริภาษอย่างไม่ปรานี

ประเด็นสุดท้ายคือลีลาร้อยแก้วที่อังคารใช้ ผู้เขียนได้ลองศึกษาพอสังเขป พบว่า อังคารมีลีลาการเขียนร้อยแก้วต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆในปัจจุบัน ขณะที่นักเรียนปัจจุบันนิยมเขียนเรื่องสั้นนวนิยายตามแนวทางของตะวันตก อังคารกลับเขียนงานร้อยแก้วที่มีลีลาคล้ายร่ายยาวกลายๆไม่มีเครื่องหมายคำพูดในบทสนทนาและในบางแห่งตั้งใจสรรใช้ภาษาให้ต่างไปจากภาษาเขียนหรือภาษาพูดที่ใช้ตามปกติในชีวิตประจำวัน

ความถี่จากระบบคำที่พบในเรื่อง ญ่า คือการใช้คำซ้อน 4 คำ ทั้งประเภทมีเสียงสัมผัส ไม่มีเสียงสัมผัส และการสร้างวลีซ้อนกันยาวๆเพื่อขยายความซ้ำๆกัน ตัวอย่างเช่น

  1. คำซ้อน 4 คำ ประเภทมีเสียงสัมผัส

สุมทุมพุ่มไม้ แมกไม้ยูงยาง ไร้ญาติขาดมิตร เก็บผักหักฟืน สนทนาปราศรัย ล่วงสามยามปลาย พิศวงงงงวย รื่นอารมณ์ชมชื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กำลังวังชา สมเพชเวทนา ระทมขมขื่น หวั่นไหวไกวเมือง ตีฆ้องร้องป่าว ละเมอเพ้อเจ้อ โประดกนกหก พฤกษาลดามาลย์ อุปนิสัยใจคอ

  1. คำซ้อน 4 คำ ประเภทไม่มีเสียงสัมผัส

สุกงอมเหลืองอร่าม ลี้ลับลึกซึ้ง แปรปรวนอบอ้าว วิเวกวังเวง

  1. คำซ้อน 4 คำ ประเภทมีคำซ้ำอยู่คู่หน้าหรือคู่หลังของคำ

อดมื้อกินมื้อ ขอบอกขอบใจ ดีอกดีใจ ซื้อข้าวซื้อกับ แสงเงินแสงทอง

  1. วลีที่ซ้อนกันยาวๆ

ประกายปีติทิพย์ คับแคบตระหนี่ถี่เหนียว ละเมอเพ้อสิ้นสติหลงใหล กระแสทุกข์โศกาดูร(เราไม่เอาอย่าง) จริต มารยา สาไถยของมนุษย์ เรี่ยรายกลิ้งกระจายกลางทรายดิน น้ำพระหฤทัยประเสริฐเลิศล้ำ ระงมไปด้วยเสียงครวญคร่ำบาดเจ็บสาหัส

ลักษณะดังกล่าวอาจถือเป็นการประดับประดาภาษาให้ดูอลังการ โดยเฉพาะกลุ่มคำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองนั้น ช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อของเสียง ฟังระรื่นในจังหวะจะโคน และวลีที่ซ้อนคำซ้ำๆเข้าไปให้ยาวขึ้น เป็นลักษณะที่มักปรากฏในภาษาร่ายยาว เช่น มหาเวสสันดรชาดก ดังตัวอย่างที่รู้จักกันดีว่า

“ครั้งแสงพระสุริยะส่องระดมให้ดูเด่นดั่งดวงดาววาวแวววะวาบๆ ที่เวิ้งวุ้งวิจิตรจำรัสจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพียงคัคนัมพรพื้นนภากาศ”

นอกจากนี้ ภาษาในบทสนทนาก็ฟังดูแปลกหูไปจากภาษาที่พึงใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น

–          แน่แท้หรอกเจ้า ผู้คนทั้งแผ่นดินนั้นมีพรุ่งนี้ แต่เฉพาะญ่าแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายเสมอ

–          เว้นจากญ่าแล้วเราก็มิพูดด้วย เราเห็นญ่าถูกทอดทิ้ง ขาดน้ำใจจากสังคมมนุษย์จึงสุดที่จะสมเพชเวทนา อดวาจาไว้ไม่ได้

–          แต่เรารักจะเป็นใบ้ ถึงจะมีภาษาก็เสมือนหามีไม่

–          หรือชะรอยเจ้าจะมีน้ำใจ ซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับลึกซึ้ง

–          ญ่าจะมีวันพรุ่งนี้สืบเนื่องไปตามแรงปรารถนาของหัวใจ

ดูเหมือนอังคารจงใจสร้างภาษาบทสนทนาดังกล่าวให้ผิดไปจากความน่าจะเป็น แม้ว่าเรื่องนี้จะมีบุคคล สถานที่ เวลา อยู่ในแดนชีวิตจริง สาเหตุหนึ่งอาจอาจเป็นเพราะการเดินเรื่องด้วยบุคลาธิษฐาน ได้ช่วยเอื้อให้นักเขียนไม่ต้องพะวงถึงความสมจริงอยู่แล้ว แต่สาเหตุสำคัญ น่าจะเป็นเพราะอังคารตั้งใจจะแสดงให้เห็นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะพบได้ทั่วๆไป ความสัมพันธ์ระหว่างญ่ากับพฤกษชาติเป็นเรื่องพิเศษอันควรจารจำกล่าวขานสืบไปด้วยความยกย่อง

หากจะพินิจลงไปอีกขั้นหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าอังคารเขียนร้อยแก้วด้วยภาษากวี ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า “ตัวร้อยแก้วเองก็ต้องร้อยกรอง” การสรรคำที่เป็นคำทำเนียบกวี เช่นคำว่า แรงโอสถ อสุภซาก ปีติทิพย์ แพรวพราว เสี้ยวจันทร์เจ้า ระยับย้อย เป็นต้น หรือการใช้คำซ้อนมีเสียงสัมผัส การสร้างวลีซ้อนกันยาวๆตลอดจนถึงภาษาในบทสนทนาดังกล่าวข้างต้น ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า อังคารได้สืบสายงานร้อยแก้วที่มุ่งเน้นพรรณนาภาพและความรู้สึกอย่างละเอียดลออ จากวรรณคดีเก่าแก่นับตั้งแต่เตภูมิกถา เป็นต้นมาให้ปรากฏอยู่ในวงวรรณอีกครั้งหนึ่ง

การ “อ่าน” ร้อยแก้วเรื่อง ญ่า ในครั้งนี้ ทำให้พบว่าเรามีวรรณคดีนิทานเป็นลายลักษณ์เกิดขึ้นใหม่ในพุทธศตวรรษนี้ และเป็นวรรณคดีนิทานที่ประดิษฐ์เรียงร้อยด้วยภาษาวิจิตร ความดีเด่นเชิงภาษาและสาระที่กลมกลืนกันของเรื่องนี้ ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่น่าจะได้นำไปเป็นแบบเรียนวรรณคดีแก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งโลกธรรมชาติ และให้สัมผัสอันประณีตในงานวรรณศิลป์ที่แสดงอัจฉริยลักษณ์แห่งภาษาไทย

ที่มา:      ธเนศ เวศร์ภาดา. “ญ่า นิทานร้อยแก้วแห่งพุทธศตวรรษที่ 25).  ดินสอขอเขียน. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ปาปิรัส, หน้า 65-75.


 

บทวิเคราะห์

 

ธเนศ  เวศร์ภาดา  จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)       อักษรศาสตรมหาบัณฑิต และอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อ พ.ศ. 2526  ธเนศเริ่มเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมเมื่อปลายปี 2529  ลงพิมพ์ในถนนหนังสือและสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ช่วงปี พ.ศ. 2530–31   เขียนบทวิจารณ์ประจำในคอลัมน์ “สะดุดตัวหนังสือ” สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอาทิตย์  โดยใช้นามปากกา “อาศิรยุทธนาท” และยังเขียนลงวารสารนิตยสารอื่น ๆ  เช่น  สตรีสาร  ไฮ-คลาส  เปรียว  สีสัน โดยใช้นามจริง   นับเป็นนักวิจารณ์รุ่นใหม่ที่มีมุมมองการวิเคราะห์อย่างมีหลักวิชา  และมีผลงานเผยแพร่สม่ำเสมอ  ธเนศเป็นกรรมการตัดสินการประกวดวรรณกรรมหลายรางวัลและหลายครั้ง  ได้แก่ รางวัลรวีโดมพระจันทร์ ประเภทกวีนิพนธ์  รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์)  ธเนศได้รับรางวัลนักวิจารณ์ดีเด่น จากกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ ปี พ.ศ. 2535   ปีเดียวกับชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์   และรางวัลบทความดีเด่นของกองทุน ม.ร.ว. อายุมงคล  โสณกุล ปี พ.ศ. 2536  ช่วงปี พ.ศ. 2538 – ปัจจุบัน  ธเนศเขียนบทความและบทวิจารณ์วรรณกรรมเป็นประจำในนิตยสารหลายฉบับ  ได้แก่  ซีตี้ไลฟ์ สีสัน  เนชั่นสุดสัปดาห์  วัฎจักร  ฐานสุดสัปดาห์ เป็นต้น  มีผลงานตีพิมพ์แล้ว คือ ดินสอขอเขียน   ทะเลปัญญา และเป็นบรรณาธิการหนังสือประชุมความคิด เจ้าจันทน์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ปัจจุบันธเนศจบการศึกษาปริญญาเอก จากคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์  ประจำภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทวิจารณ์ “ญ่า  นิทานร้อยแก้วแห่งพุทธศตวรรษที่ 25” นับเป็นบทวิจารณ์ที่น่ากล่าวถึงชิ้นหนึ่ง เนื่องจากบทวิจารณ์ชิ้นนี้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นและเข้าถึงงานวรรณกรรมรูปแบบใหม่ของอังคารได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่รู้จักผลงานของอังคารในรูปแบบของกวีนิพนธ์  สำหรับการวิจารณ์ครั้งนี้ ผู้วิจารณ์เน้นไปที่การวิเคราะห์ลักษณะของลีลาภาษาร้อยแก้วที่ผู้เขียนใช้  จากการที่ผู้วิจารณ์เป็นผู้มีความรู้และมีความจัดเจนทางภาษาไทย จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์นิทานร้อยแก้วเรื่องนี้ได้อย่างลุ่มลึกและชัดเจน ผู้วิจารณ์สามารถแจกแจงและอธิบายให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าถึงลักษณะและวิธีการเขียนของอังคารที่สืบขนบการแต่งมาจากงานวรรณคดีโบราณของไทย  พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้แต่งในการผสานและบูรณาการระหว่างขนบการแต่งแบบเก่าเข้ากับการสร้างงานแบบใหม่ในทิศทางและรูปแบบของผู้แต่งเอง จนทำให้เกิดลักษณะนิทานร้อยแก้วในรูปแบบใหม่เช่นนี้ขึ้น

ด้วยความช่วยเหลือของนักวิจารณ์ที่วิเคราะห์ วิจารณ์งานอย่างละเอียด โดยพิจารณาในทุกองค์ประกอบของงานวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็น โครงเรื่อง ลีลาการเขียน ภาษา บรรยากาศ ฉาก และองค์ประกอบทางวรรณศิลป์อื่นๆ ของผู้วิจารณ์เช่นนี้ ช่วยให้ผู้อ่าน(ที่ด้อยประสบการณ์และขาดความชำนาญและจัดเจนในภาษาไทย) เข้าถึง มองเห็น พร้อมทั้งยอมรับในอัจริยภาพของผู้แต่ง และอัจริยลักษณ์อันโดดเด่นของภาษาไทยที่นำเสนอและสื่ออารมณ์ ความคิดของเรื่องได้อย่างคมคาย ประณีต และงดงาม โดยแฝงนัยไว้อย่างลุ่มลึกและชวนค้นหา

การวิเคราะห์อย่างละเอียด พินิจในทุกคำ ทุกประโยคของผู้วิจารณ์  เป็นเสมือนแนวทางและบทเรียนให้ผู้อ่านนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ในการอ่านงานวรรณกรรมเรื่องต่อไปของตนได้  เนื่องจากการวิจารณ์ในลักษณะนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักว่า  การอ่านงานวรรณกรรมเพื่อให้เข้าถึงอรรถรส รับรู้ถึงอารมณ์และความคิดที่ผู้แต่งส่งผ่านตัวงานมายังผู้อ่านนั้น ไม่สามารถรับรู้หรือเข้าถึงโดยผ่านการอ่านอย่างฉาบฉวยและผ่านเลยไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องอ่านอย่างตั้งใจ พินิจและพิเคราะห์ในทุกสิ่งที่อ่านผ่านเพื่อจะซึมซับ ซาบซึ้งและดื่มด่ำในความงามทั้งในเชิงภาษาและความคิดที่แฝงเร้นในตัวงานวรรณกรรม ดังที่ผู้วิจารณ์กระทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วในบทวิจารณ์บทนี้

นอกจากการวิเคราะห์ภาษาและองค์ประกอบทางวรรณศิลป์ที่ปรากฏในเรื่องแล้ว ผู้วิจารณ์ยังชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงความคิดแฝงอันสำคัญที่ผู้แต่งตั้งใจจะส่งผ่านมายังผู้อ่าน นั่นก็คือ การชี้ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์มิได้อธิบายขยายความและชี้ให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติที่ผู้แต่งแสดงไว้เฉพาะในงานวรรณกรรมเรื่องนี้เท่านั้น แต่ผู้วิจารณ์ยังเน้นย้ำให้ผู้อ่านรับรู้ว่าแนวคิดหรือแก่นความคิดเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาตินั้น นับเป็นแนวคิดหลักที่ปรากฏและสอดแทรกอยู่ในงานประพันธ์ของผู้แต่งอยู่เสมอ  ด้วยเหตุนี้ การวิจารณ์ที่ผู้วิจารณ์มีความรู้และความเข้าใจต่อพัฒนาการ รวมถึงติดตามอ่านงานวรรณกรรมของนักเขียนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการวิเคราะห์วิจารณ์งานแบบเจาะลึกนั้น นับว่ามีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้อ่านมองทะลุและเข้าถึงงานวรรณกรรมชิ้นนั้นได้อย่างลุ่มลึกและแจ่มชัดมากขึ้น

จากบทวิจารณ์ชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ธเนศ  เวศร์ภาดา เป็นนักวิจารณ์ที่แสดงศักยภาพทางการวิจารณ์และปฏิบัติพันธกิจของนักวิจารณ์ที่มีต่อผู้อ่านได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากผู้วิจารณ์มิได้ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าใจเฉพาะความคิด ความงาม และคุณค่าของงานวรรณกรรมเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังขยายมุมมองและปรับเปลี่ยนทัศนะทางความคิดของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อภาษาไทยด้วยความเข้าใจที่ผิดๆ ได้หันมาตระหนัก มองเห็น เข้าถึงและซาบซึ้งในอัจริยลักษณ์อันโดดเด่นของภาษาไทย  ซึ่งนับว่าเป็นเป็นแนวทางอีกแนวหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนไทย (โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่) รู้คุณค่า สืบสาน และธำรงรักษาลักษณะอันโดดเด่นงดงามของภาษาไทย อันเป็นมรดกทางปัญญาของบรรพบุรุษไทยให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

 

 

อรพินท์   คำสอน :  ผู้วิเคราะห์

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*