‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ แสงแห่งความหวังของเด็กน้อย ส่องรอยแผลจากความมืดของสงคราม

โดย … ‘กัลปพฤกษ์’  kalapapruek@hotmail.com

ถือเป็นอีกหนึ่งความแปลกใหม่ของวงการละครเวทีไทย เมื่อกลุ่มผู้สร้างงานรุ่นใหม่นาม Blind Experience จะมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความเท่าเทียมระหว่างพี่น้องผู้บกพร่องทางการมองเห็นกับผู้คนที่มีสายตาดีโดยทั่วไป ด้วยการผลิตละครเวทีหกมิติที่ไม่จำเป็นต้องใช้สายตาในการรับชมชื่อ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ โดยหยิบยืมเรื่องราวสุดสะเทือนใจมาจากบทภาพยนตร์อนิเมชันญี่ปุ่นเรื่อง Grave of the Fireflies (1988) ของ Isao Takahata ซึ่งดัดแปลงเนื้อหาจากเรื่องสั้น Grave of the Fireflies (1967) ของ Akiyuki Nosaka มาอีกทอดหนึ่ง ประกอบกับการใช้เพลง บทเพลงนิทานหิ่งห้อย ของวงเฉลียง เปิดการแสดงครั้งแรกที่ศูนย์มหรสพ Lido Connect ย่านสยามสแควร์ ระหว่างวันที่ ๑๓-๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และจัดแสดงกันอีกครั้งที่ ‘สามย่านมิตรทาวน์’ ระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน-๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

            เนื้อหาใน ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ฉบับนี้เป็นการปรับบริบทให้ใช้ฉากหลังเป็นประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกไทย เกิดความวุ่นวายโกลาหลจากการทิ้งระเบิดจนทำให้บิดาของ ‘ไม้’ พี่ชายคนโต และ ‘น้ำ’ น้องสาวคนเล็ก ซึ่งยังเยาว์วัยด้วยกันทั้งคู่ ได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต โดยก่อนสิ้นลม บิดา ได้ฝากฝังให้ ‘ไม้’ คอยปกป้องดูแล ‘น้ำ’ น้องสาวให้รอดพ้นจากความโหดร้ายรุนแรงของสงคราม และขอให้พยายามออกเดินทางไปหลบภัยยังบ้านคุณยายที่อยู่ต่างเมืองออกไป กลายเป็นเรื่องราวการผจญภัยของสองพี่น้องที่ต้องเผชิญกับบททดสอบกำลังใจอันหนักหน่วงรุนแรงปางตาย ซึ่งต้องกล้าหาญและแข็งแกร่งราวกับแท่งไม้ ฝ่าฟันบรรดาอุปสรรคต่าง ๆ จนสามารถพาน้องไปส่งถึงบ้านยายได้ในที่สุด

            การแสดง ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ จัดแสดงครั้งแรกที่โรงมหรสพหมายเลข 3 ของ Lido Connect โดยก่อนเริ่มการแสดงก็มีการจัดนิทรรศการรอบ ๆ ห้องแสดงให้ผู้ชมที่มาชมได้ร่วมประสบการณ์ต่าง ๆ หลากหลายกับผู้มีความบกพร่องทางสายตา มีทั้งการจัดแสดงงานทัศนศิลป์ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่มองไม่เห็น การสำรวจเล่นกับประสาทสัมผัสอันละเอียดอ่อนอื่น ๆ นอกเหนือจากการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส ไปจนถึงการลิ้มชิมรสสิ่งต่าง ๆ สร้างสำนึกให้ผู้ชมที่มองเห็นทั้งหลายได้ลองให้ความสำคัญกับการรับรู้ในส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากการใช้สายตา  และเมื่อถึงเวลาเริ่มแสดง ผู้ชมก็จะถูกเชิญให้เลือกที่นั่งจากเก้าอี้ที่ตั้งเรียงรายอยู่กลางห้อง โดยทุกคนจะต้องสวมหน้ากากคาดตาซึ่งทางทีมงานได้จัดหามาให้ไปตลอดการแสดง

            เมื่อเรื่องราวเริ่มต้น เราจะได้ฟังบทเพลงขับกล่อมจากคณะนักร้องประสานเสียงเป็นอารัมภบทเกริ่นนำเรื่องราว ก่อนจะพาผู้ชมไปพบกับเสียงของตัวละครนำซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยการเล่าและแสดงไปรอบ ๆ ห้อง โดยผู้ชมจะไม่สามารถมองเห็นอะไรและต้องเสพการเล่นของนักแสดงด้วยประสาทสัมผัสอื่น ๆ แทน  ซึ่งองค์ประกอบเพียงอย่างเดียวที่ถูกกีดกันออกจากแสดงชิ้นนี้ก็มีแค่เพียงการมองเห็นเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากการใช้เสียงลำเลียงสถานการณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะละครวิทยุแล้ว การแสดงยังมีการเล่นกับการกระพือของลมพายุและละอองน้ำ การสั่นสะเทือนของพื้นที่และเก้าอี้นั่ง กลิ่นอาหารและดอกไม้โชยติดจมูก แถมเมื่อนักแสดงรายใดเข้ามาใกล้ผู้ชมก็สามารถสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวร่วมเล่นไปกับสถานการณ์ของพวกเขาได้ สมกับเป็นการแสดงที่โอ่เอาไว้ว่าเป็นละคร ๖ มิติ อันประกอบไปด้วย รส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลา และจินตนาการ

            เมื่อผู้ชมต้องใส่หน้ากากคาดตาไว้ตลอดการแสดง ทำให้ไม่อาจเห็นหรือรับรู้ว่ามีผู้ชมรายอื่น ๆ ร่วมประสบการณ์อยู่ด้วยก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความพิเศษให้กับการแสดงชิ้นนี้ เพราะผู้ชมทุก ๆ คนจะรู้สึกราวกับว่าคณะนักแสดงกว่า ๒๐ ชีวิต กำลังร่วมกันสร้างเรื่องราวให้เราได้สัมผัสฟังอยู่คนเดียวแบบ exclusive แม้ในความเป็นจริงจะมีผู้ชมคนอื่น ๆ ร่วมนั่งอยู่เต็มห้องแสดง

            สำหรับการแสดงของนักแสดงในรอบแรก ก็เรียกได้ว่าทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ คณะนักร้องประสานเสียงทั้งชายและหญิงขับกล่อมบทเพลงด้วยแนวประสานได้อย่างไพเราะ นักแสดงกลุ่มหมู่มวลร่วมกันส่งเสียงจนราวกับมีผู้คนอยู่นับร้อย และที่สำคัญคือนักแสดงนำที่รับบทเป็น ‘น้ำ’ และ ‘ไม้’ ที่ร้องและเล่นได้อย่างแม่นยำจนน่าประทับใจ แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นสีหน้าท่าทางของพวกเขาเลย นักแสดงนำทั้งคู่สร้างน้ำเสียงเพื่อบ่งบอกบุคลิกตัวละครของตนได้อย่างโดดเด่น แล้วแสดงให้เห็นการใช้เสียงอันหลากหลายภายใต้น้ำเสียงที่ยังคงเป็นตัวละครนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการโหนเสียงสูงต่ำ เล่นน้ำหนักดังเบาอย่างเข้าจังหวะทุกขณะช่วงการรับส่ง และที่สำคัญคือสามารถถ่ายทอดอารมณ์ภายในของแต่ละช่วงออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะควบคุมรายละเอียดทุก ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กับการสร้างตัวละครให้ผู้ชมหลงรัก ซึ่งคงต้องใช้ทั้งทักษะและประสบการณ์มากพอดู  จนชวนให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วการตัดสินผลงานของนักแสดงอาจไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์อะไรมาก เพียงแค่หลับตาแล้วเปิดหูฟังดูว่าเราสามารถสัมผัสตัวละครที่พวกเขาถ่ายทอดผ่านเสียงได้ถูกต้องชัดเจนเพียงไหน ก็พอที่จะบอกได้แล้วว่าเป็นการแสดงที่ดีหรือไม่ดี

น่าสังเกตว่าแนวทางการแสดงโดยรวมของละคร ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ฉบับนี้มีจริตในแบบละครเวทีที่ทุกอย่างต้องชัดต้องคมค่อนข้างสูงจนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเรากำลังชม ‘การแสดง’ อยู่มากกว่าจะอินไปกับสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง แต่เมื่อละครได้สร้างความท้าทายด้วยการเลือกไม่ใช้องค์ประกอบด้านภาพและการมองเห็นใด ๆ และมุ่งอาศัยการใช้ ‘เสียง’ เป็นสำคัญ จริตเชิงละครที่จะต้องแต่งปั้นทุกเสียงที่ได้ยินให้ปรากฏในระดับชัดเจนจึงเป็นสิ่งจำเป็นชนิดไม่อาจเลี่ยงได้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่อธิบายได้อย่างดีว่าเหตุใด ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ จึงต้องอาศัยศาสตร์การละครโดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงกันมากถึงเพียงนี้

            น่ายินดีที่ผู้กำกับหนุ่ม กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ใช้ความละเอียดและประณีตกับการรังสรรค์ประสบการณ์ ๖ มิติ ทั้งการใช้เสียงประกอบต่าง ๆ หลากหลาย การอาศัยกลิ่นและสัมผัสต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ การจัดวางลำดับเหตุการณ์และเรื่องราวได้อย่างชวนให้ซาบซึ้ง สะท้อนถึงรสนิยมการทำละครที่ดีที่ไม่อิงอาศัยการสร้างอารมณ์ฟูมฟายในแบบ sentimental ซึ่งมักจะพบอยู่บ่อยครั้งกับเรื่องเล่าในทำนองนี้

            การแสดง ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ จึงเป็นละครเวทีอีกเรื่องที่แสดงอานุภาพของ ‘เสียง’ ในการถ่ายทอดอารมณ์เรื่องราวได้อย่างทรงพลัง ไม่แพ้ละครเวทีในความมืดสนิทเรื่อง The True History of the Tragic Life and Triumphant Death of Julia Pastrana, the Ugliest Woman in the World จากบทละคร ของ Shaun Prendergast  เป็นการเล่าชะตาชีวิตนางโชว์ที่อัปลักษณ์ที่สุดในโลก ที่คณะละคร Peel the Limelight เคยจัดแสดงในเทศกาล Bangkok Theatre Festival 2015 กำกับโดย Peter O’Neill หรือภาพยนตร์สั้นแนวทดลองเรื่อง ‘ก่อนเดินทาง’ (๒๕๔๘) กับ ‘เอแลน บาลอง’ (๒๕๕๑) โดย ‘อลงกต’ ที่เล่าเหตุการณ์ฆาตกรรมฆ่าหั่นศพอันสยดสยองผ่านการสนทนาของฆาตกร และการใช้น้ำเสียงวิปริตสะท้อนจริตวรรณศิลป์ของ ส. ธรรมยศ ผลงานในแนวนี้ราวกับกำลังพยายามบอกว่า ภาพและการมองเห็นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นฐานสำคัญของงานศิลปะอย่างละครเวทีหรือภาพยนตร์เสมอไป เพราะเสียงและมิติสัมผัสอื่น ๆ ก็อาจทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องอะไร ดั่งการแสดงที่ดูแล้วรู้สึก ‘ครบถ้วนสมบูรณ์ อย่าง ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ ฉบับนี้ ทั้งที่เราไม่ได้เห็นภาพอะไรเลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*