มนุษยศาสตร์ยังแข็งแกร่งอยู่สำหรับผู้ไม่เพ้อตาม 4.0

มนุษยศาสตร์ยังแข็งแกร่งอยู่สำหรับผู้ที่ไม่เพ้อตาม 4.0

อาจารย์เจตนา นาควัชระ ที่ปรึกษาโครงการฯ สมัครไปประชุม “5th World Humanities Forum” ที่เมือง Busan ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2018 โดยได้เสนอเอกสารชื่อ “The Others as Our Betters : Case Studies from Thailand” ในข้อสังเกตเชิงวิจารณ์ที่เสนอมาข้างท้ายนี้ อาจารย์เจตนาแสดงความประทับใจต่อเจ้าภาพ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเทศหัวแถวหน้าของโลกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังให้ความสำคัญต่อมนุษยศาสตร์อย่างเต็มที่

ข้อสังเกตเชิงวิจารณ์จากการไปประชุม World Humanities Forum ครั้งที่ 5 

ที่เมืองปูซาน (Busan)  ประเทศเกาหลีใต้ 

วันที่ 31  ตุลาคม – 2  พฤศจิกายน 2018

—————–

 1. จ.น. มิได้รู้จักองค์กรวิชาการนี้มาก่อน  และได้รับการแนะนำจากศาสตราจารย์ด้านศิลปะการละครชาวเกาหลีที่ได้รู้จักกันที่  Free University Berlin  เพราะเป็น Fellows  ของสถาบันวิจัยนานาชาติ  “Interweaving Performance Cultures”  ด้วยกัน  เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศเกาหลีอาสารับข้อเสนอของ UNESCO มาดำเนินการด้วยความเต็มใจ  (ดังจะได้อภิปรายโดยพิสดารในข้อ 3 ข้างท้ายนี้)  มีการจัดประชุมกลุ่มวิชาการ (Forum)  นี้ทุกๆ 2 ปี  ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว  โดยกระทรวงศึกษาธิการ  สภาวิจัยแห่งชาติ  และเทศบาลนครปูซานเป็นเจ้าภาพหลัก  และมี UNESCO เป็นผู้ร่วมจัด  โดย UNESCO ส่งเจ้าหน้าที่ทางวิชาการระดับสูงมาร่วม  ซึ่งเป็นผู้ร่วมเปิดการประชุมและกล่าวนำ  เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมบางคาบ  และมีความจัดเจนด้านวิชาการที่เห็นประจักษ์ได้

2. เป็นที่ทราบกันดีกว่า ประเทศเกาหลีใต้มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีสูงมาก  และในบางสาขาอยู่ในระดับผู้นำของโลก  แต่ความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรมก็อยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกัน  คืออยู่ในระดับแนวหน้าของโลกเช่นกัน  ดังตัวอย่างของการแสดงดนตรีคลาสสิกตะวันตก  ซึ่งนักดนตรีชาวเกาหลีชนะเลิศการประกวดระดับนานาชาติอยู่เป็นประจำ  ความสนใจในเชิงวิชาการที่แสดงออกในรูปของมนุษยศาสตร์ย่อมเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนศิลปวัฒนธรรม   แต่กรณีของเกาหลีมีจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ  นั่นคือ  เรื่องของศาสนา  ซึ่งต่างจากไทย  เกาหลีไม่มีศาสนาที่มีผู้คนที่นับถือเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติได้   สัดส่วนระหว่างศาสนาต่างๆ ใกล้เคียงกัน  นั่นคือ  ผู้นับถือพุทธศาสนามี 10% คริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์  8% นิกายคาธอลิค  5%  นอกจากนั้นเป็นขงจื้อ  และลัทธิความเชื่ออื่นๆ   ในด้านกฎหมาย  เช่นเดียวกับฝรั่งเศส  ศาสนานิกายต่างๆ กับรัฐเป็นอิสระต่อกัน  และมหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้รับอนุญาตให้สอนวิชาเทววิทยา   ความสนใจในด้านศาสนามิได้มาจากความเชื่อและศรัทธาส่วนบุคคล  แต่เป็นการเรียนรู้ที่สร้างความมั่งคั่งทางปัญญา   โดยปราศจากข้อผูกมัดที่มักจะถูกกำหนดด้วยความเชื่อที่ตายตัว (dogma)  ของศาสนจักร  นักบวช  หรือผู้ที่เคร่งศาสนา  วิชาการด้านศาสนศึกษา  (Religious Studies) จึงเกิดขึ้นและพัฒนาได้  โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญา  (นักศึกษาจึงไม่ใช่พระเสียเป็นส่วนใหญ่ดังเช่นในประเทศไทย)  ในแง่นี้การที่นักศึกษาไทยเน้นการเรียนเฉพาะภาษาเกาหลีจึงแคบเกินไป  วงวิชาการของไทยน่าจะได้รู้จักศาสนศึกษา  ในแบบของเกาหลีมากกว่านี้   จ.น.  สังเกตได้ว่าผู้ร่วมประชุมชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยมาจากสาขาศาสนศึกษา  แต่เราจะต้องไม่ลืมว่า  แนวทางการศึกษาที่ว่านี้เรียกได้ว่า  “ได้อย่าง  ก็เสียอย่าง”  วาทกรรมทางวิชาการที่ว่าด้วยศาสนาที่ปราศจากฐานของความเชื่อและศรัทธา  อาจจะไม่ชวนให้เกิดความน่าเชื่อถือเท่ากับสิ่งที่ออกจากปากของผู้นับถือปฏิบัติที่เป็นนักคิดที่วิเคราะห์ได้ไปพร้อมกัน

3. ประเด็นที่ว่าด้วย UNESCO น่าสนใจเช่นกัน UNESCO เป็นผู้ให้ความคิดที่จะสร้างกลุ่มวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ขึ้น  และเป็นผู้เชื้อเชิญให้เกาหลีเป็นเจ้าภาพ  ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลกระทบจากการที่สหรัฐอเมริกาตัดเงินอุดหนุนองค์การยูเนสโกลงครึ่งหนึ่ง  ทำให้ประเทศในยุโรป  แอฟริกา  และเอเชียหันมาร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  (แต่เจ้าภาพเกาหลีมิได้กีดกันนักวิชาการอเมริกันเลย  ทั้งนี้เพราะเกาหลีมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกามาแต่เดิม)  และนักวิชาการเกาหลีจำนวนมากเป็นศิษย์ของสำนักอเมริกัน  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐเช่นกัน  โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาของเกาหลีใต้  ซึ่งก็หมายความว่า  รัฐบาลกลางยินดีที่จะสนับสนุนมนุษยศาสตร์  และก็เป็นมนุษยศาสตร์ที่โยงใยกับมนุษยศาสตร์นานาชาติ  อีกองค์กรหนึ่งของรัฐที่เข้ามาสนับสนุนคือ  สภาวิจัยแห่งชาติ ของเกาหลีใต้  ส่วนเทศบาลนครปูซานก็ให้การสนับสนุนให้ด้านธุรการ  พิธีการและการต้อนรับด้วย  กล่าวได้ว่ารัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนมนุษยศาสตร์  ในโลกที่เทคโนโลยีครองความเป็นใหญ่

4. การจัดประชุมตั้งแต่ครั้งที่ 1  ถึงครั้งที่ 3  เป็นการเลือกเชิญนักวิชาการเป็นรายบุคคล  โดยคณะกรรมการกำกับทิศทาง (Steering Committee)  แต่ได้มีการเปลี่ยนระบบนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 4  เป็นต้นมา  โดยมีการเชิญนักวิชาการส่วนหนึ่ง  แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการประกาศทั่วไปให้นักวิชาการทั่วโลกสมัครมาประชุมได้  โดยผู้จัดออกค่าเดินทางและค่าที่พักให้   ในการประชุมครั้งแรกๆ มีนักวิชาการเกาหลีเองมาร่วมน้อยมาก  เนื่องจากขาดความมั่นใจว่าจะมีทวิวัจน์กับนักวิชาการนานาชาติได้   แต่ในครั้งนี้นักวิชาการเกาหลีเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากพอสมควร   และเสนอเอกสารที่มีมาตรฐาน  จ.น.  สังเกตได้ว่า  นักวิชาการจากประเทศเจ้าภาพประเภท “วานรชำราบ”  มีน้อยมาก  ส่วนใหญ่พยายามจะเปรียบเทียบตะวันตกกับตะวันออก  นักวิชาการที่เสนอเอกสารที่น่าสนใจส่วนหนึ่งอยู่ในสาขา Buddhist Studies  ในเอกสารที่นำเสนอ จ.น. เองได้ใช้มุมมองทางพุทธศาสนาในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ระดับข้ามชาติ  และก็ได้รับความสนใจเป็นอันมาจากนักวิชาการทั้งจากประเทศเจ้าภาพและประเทศอื่นๆ   มีนักวิชาการจากไต้หวันคนหนึ่งแสดงความเห็นอย่างหนักแน่นว่า  ทัศนะที่นักวิชาการตะวันตกคิดขึ้นมาในรูปของ “posthuman condition”  อธิบายได้ด้วยแนวคิดของพุทธศาสนาอย่างแน่นอน  กล่าวโดยทั่วไป  การจัดประชุมในครั้งนี้  เวลาไม่เอื้อให้เกิด “ทวิวัจน์ข้ามวัฒนธรรม” (cross-cultural dialogue)  อย่างแท้จริง  ดังจะได้กล่าวต่อไป

5. โครงสร้างการประชุมเป็นไปตามแบบแผนตะวันตกที่นิยมใช้กันคือ มีปาฐกถานำ (Keynote Lecture)  ซึ่งแต่เดิมจะมีเพียงปาฐกถานำหลังเปิดประชุมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น  แต่ในปัจจุบันได้กลายรูปไปเป็นปาฐกถานำของแต่ละ Plenary Session  ตามด้วยการบรรยายในห้องประชุมใหญ่ในการประชุมรวม    ขณะนี้เรียกว่า Plenary Sessions) จากนั้นจึงเป็นการบรรยายย่อยด้วยการแยกห้อง  ในครั้งนี้แยกเป็น  5 ห้อง  แต่เนื่องจากไม่มีการรักษาเวลาโดยเคร่งครัด  จึงทำให้ผู้ฟังเปลี่ยนห้องเพื่อรับฟังการบรรยายที่ตนสนใจไม่ได้ตามที่ต้องการ  การจัดกลุ่มโดยมีหัวข้อนำนั้น  ผู้จัดพยายามทำอย่างเต็มความสามารถ  แต่ก็ไม่ได้ผลเต็มที่  เพราะบทคัดย่อ (abstracts)   ที่ส่งไปให้นั้นบางครั้งก็ไม่บอกความที่ชัดเจนพอ  และบางครั้งก็ไม่ตรงกับที่บรรยายจริง  เรื่องที่ จ.น. พยายามมาตลอดที่จะเสนอให้เปลี่ยนในการประชุมทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศก็คือ  การให้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าที่กระทำกันอยู่  คืออย่างมาก 15 นาที (ซึ่งก็เป็นระบบที่ใช้ในครั้งนี้)  แต่ละคาบของกลุ่มย่อยจะมีการเสนอเอกสาร 5 ฉบับ  โดยคาดไว้ว่าจะมีเวลาให้อภิปรายรวมหลังจากนั้นสัก 10  นาที  แต่โดยส่วนใหญ่รักษาเวลาไว้ไม่ได้ (ซึ่งก็น่าเห็นใจ)  และไม่มีเวลาให้อภิปรายและตั้งคำถามเลย  มีเพียงกลุ่มเดียวที่ จ.น. เข้าร่วมที่มีเวลาให้อภิปรายอย่างเต็มที่  เพราะผู้บรรยายขาดไป 1 คน  เป็นการสนทนาที่น่าสนใจที่สุดในหัวข้อ “The Feminist Human Images”  โดยที่ผู้บรรยายไม่ใช่กลุ่มสตรีนิยมแบบสุดขั้ว  

สำหรับ จ.น. เองได้สมัครเข้ารับการคัดเลือก  และได้รับเลือกให้บรรยายใน Plenary Session  ที่ 1 ในหัวข้อ “The Other as Our Betters: Case Studies from Thailand”  (คนอื่นที่เขาเหนือเรา: กรณีศึกษาจากประเทศไทย)  เป็นการชี้ให้เห็นว่าพื้นความคิดของพุทธศาสนาที่ว่าด้วย “สัตว์โลก”  ทำให้ชาวพุทธ (ในอุดมคติ)  ในประเทศไทยก้าวไปไกลกว่าการยอมรับว่า “เรา”  กับ “เขา” เท่ากันเสียอีก  คือไปถึงขั้นยอมรับว่า  “เขา”  เหนือ “เรา”  ในหลายกรณี  และเราพร้อมที่จะเรียนรู้จากเขา  การบริหารเวลาทำได้ด้วยวิธีเดียว  คือ เลือกเฟ้นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม  และวิเคราะห์ตัวอย่างโดยสังเขป  แล้วให้ข้อสรุป  ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีการที่นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้   คือพยายามเขียนความเรียงที่ต่อเนื่องกันด้วยภาษาเขียน  แล้วนำมาอ่านสู่กันฟัง  โดยไม่พะวงว่าผู้ฟังจะจับความได้หรือไม่  เป็นการมาทำหน้าที่เสนอเอกสาร (to present a paper)  ในการประชุมวิชาการ  (ซึ่งในกรอบของอุดมศึกษายุคใหม่ทำให้ได้คะแนนสะสมที่สูงพอสมควร)  และถ้าหลังจากนั้นจะได้มีการตีพิมพ์รวมเล่ม  และจะเป็นผลงานทางวิชาการที่จะนำไปเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการได้    เมื่อความเป็นรูปแบบอันเป็นทางการ (formality)  เข้ามาครอบงำกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงของนักวิชาการยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว   จุดหมายปลายทางของการแบ่งปันความรู้  การรับความรู้  การอภิปรายความรู้เพื่อให้เกิดความเบ่งบานทางปัญญา  จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นรอง  เมื่อทวิวัจน์ทางวิชาการไม่เกิดขึ้นจริง  วิชาการก็มักจะหยุดอยู่กับที่

6. ในด้านของเนื้อหา หัวข้อรวมของการประชุมคือ  “The Human Image in a Changing World”    มีผู้เสนอเอกสารน้อยคนนักที่ตอบได้ตรงคำถาม  สำหรับ จ.น. นั้น จงใจให้ภาพที่มืดของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและความไร้มนุษยธรรม  ซึ่ง จ.น. เรียกว่า “rapacious predator” (สัตว์ร้ายที่โหดหิว)  และพยายามจะปรับภาพให้แจ่มใสขึ้นด้วยตัวอย่างจากอดีตและปัจจุบันซึ่งชี้ให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์  โดยลงท้ายด้วยความเมตตาของนานาชาติที่มีต่อไทยในกรณีถ้ำหลวง  ปัญหาทางวิชาการปัจจุบันคือการตีความคำว่า “วิจัย”  ในความหมายที่แคบเกินไป  ในกรณีของนักวิชาการรุ่นหนุ่มสาว  มีความจำเป็นที่ต้องวิจัยในหัวข้อที่มีลักษณะเฉพาะ  และมักจะไม่มีความจัดเจนที่จะตีประเด็นที่กว้างได้  การที่จะนำผลงานวิจัยเฉพาะด้านของตนมาเขียนเป็นเอกสารให้เข้ากับโจทย์ของการประชุมไม่ใช่เรื่องง่าย  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ  ในกลุ่มวรรณคดีที่ จ.น. ได้เข้าฟัง  เอกสารที่นำเสนอเป็นการวิเคราะห์งานเฉพาะเรื่อง หรืองานของนักประพันธ์เฉพาะบุคคล  กลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มปรัชญาและศาสนา  ซึ่งมีการเสนองานประเภทเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม  ดังเช่นการเปรียบเทียบความคิดของ Jacques Derrida กับพุทธศาสนา  ซึ่งก็ทาบกันไม่ได้สนิท  ที่น่าสังเกตคือ  นักวิชาการยุคปัจจุบัน  โดยเฉพาะนักวิชาการตะวันตก  ขาดความรู้พื้นฐานด้านวัฒนธรรมและความคิดตะวันตกย้อนหลังไปเกินศตวรรษที่ 20  กรณีของ Derrida กับพุทธศาสนาที่กล่าวมาข้างต้น  ผู้เสนอเน้นมโนทัศน์ที่ว่าด้วย “ความโดดเดี่ยว” (solitude)   และตีความตามนักประพันธ์ฝรั่งเศสผู้นี้ไปในทางลบ ว่าเป็นการผลักไสโดยผู้อื่นให้ตกอยู่ในความโดดเดี่ยวเดียวดาย   

จ.น. เสนอความเห็นว่าสำหรับพุทธศาสนานั้น  “solitude”  เป็นเงื่อนไขของการสร้างความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณ  และมองว่า  Jean-Jacques Rousseau  คือจุดกึ่งกลางระหว่างพุทธศาสนากับ Derrida   แม้จะไม่เกี่ยวพันกันโดยตรง  ทั้งนี้เพราะ  Rousseau ใช้ความโดดเดี่ยวในการสื่อความทางลึกกับธรรมชาติจนไปถึงขั้นอุตรภาพ (transcendence)  ดังเช่นในงานชื่อ Rêveries du promeneur solitaire (Musings of a solitary walker)  อันเป็นฐานของความแข็งแกร่งทางปัญญาและจิตวิญญาณ  เมื่อเกิดความแข็งแกร่งเช่นนี้แล้ว  การเสนอทางออกให้แก่สังคม  ดังเช่นในงานประเภท Discourse on  the Origin of  Inequality และ On Social Contract จึงเป็นประดุจการชี้ทางให้แก่เพื่อนมนุษย์  ปรากฏว่านักวิชาการผู้นั้นไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับกระแสความคิดในศตวรรษที่ 18 เลย   ทั้งๆ ที่นักวิชาการในยุคใหม่ชอบที่จะเอ่ยถึงยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (Age of Enlightenment)  โดยอาจจะไม่ได้เคยสัมผัสกับงานต้นแบบของยุคนี้เลย  เพราะวงวิชาการตะวันตกส่วนหนึ่งปฏิเสธ “ตัวงานที่เป็นฐานหลัก” (canon)  ในนามของการต่อต้านการกดขี่ทางความคิดจากโลกตะวันตก  โดยเฉพาะยุโรป  เพื่อเปิดทางให้แก่งานจากโลกของผู้ที่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก  การรู้เรื่องตะวันตกแบบงูงูปลาปลาก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน  เพราะเมื่อไม่รู้อดีต  ไม่รู้จักเชื่อมโยงกับอดีต  ปัจจุบันก็ดูจะเป็น “เกาะลอย”  ทางความคิดได้  และการเชื่อมโยงทางความคิดก็คงจะอยู่ในระดับผิวเผิน  ไม่อาจก่อให้เกิดทวิวัจน์ในเชิงลึกได้

ในเมื่อการสร้างทฤษฎีของวงวิชาการตะวันตกนิยมพูดถึงยุคที่ “ตามหลังมา” (post…)  เช่น  Postmodernism, Poststructuralism, Posthistory  ก็เหตุใดจึงจะไม่สร้างแนวคิดเรื่อง Posthuman Condition และ Posthumanities  ขึ้นมาบ้าง 

การประชุมคาบสุดท้ายเป็นการอภิปรายกันถึงเรื่องยุค  Posthuman  ในหลายๆ ด้าน  ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ก็คือ  การที่เทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาครองโลก  และมนุษย์ถูกครอบด้วยสมองกลและกำลังจะปลดอาวุธของตนเองด้วย  artificial intelligence (AI)  ความเป็นเอกของมนุษย์ก็กำลังจะหมดไป  และมนุษย์ก็กำลังทำลายตนเองไปด้วยโดยปริยาย  ปาฐกหลักมาจากมหาวิทยาลัย Utrecht ในประเทศเนเธอร์แลนด์  แม้จะได้ศึกษาเรื่องนี้มาและเขียนหนังสือที่ให้หลักวิชาเอาไว้  แต่ความรอบรู้มิได้ทำให้เกิดศรัทธาต่อความคิดกระแสใหม่นี้ไปทั้งหมด  เรียกได้ว่า  มิได้รัก  เพียงแต่สมัครเข้ามาเล่นอย่างเล่นๆ!   เธอกล่าวเตือนไว้ว่า  มนุษยศาสตร์กำลังถูกหลอก  เช่นมีการหลอกด้วยการแย่งงบประมาณไป  เพราะอาศัยคำว่า  Humanities เป็นตัวล่อ  เช่น วิชา Digital Humanities นั้น  ในท้ายที่สุดก็คือ  วิศวกรรมศาสตร์ที่ซ่อนรูปมานั่นเอง  เพราะห่างไกลจากวิญญาณที่แท้จริงของมนุษยศาสตร์มาก   กลุ่มผู้บรรยายในเรื่อง Posthuman  เป็นชาวตะวันตกเกือบทั้งหมด  จึงมีนักวิชาการจากไต้หวันเสนอว่าในโอกาสต่อไปควรจะจัดชุดผู้บรรยาย (panel)  ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่านี้  และในการประชุมครั้งนี้มีการกล่าวถึงพุทธศาสนากันมาก  แต่ไม่ได้มีโอกาสอภิปรายกันในทางลึก  จึงเสนอว่าในการประชุมครั้งต่อไป  เมื่อจัดในโลกตะวันออก   ก็ควรจะให้น้ำหนักกับความคิดตะวันออกอย่างจริงจัง

          เช่นเดียวกับการประชุมนานาชาติที่ จ.น. ได้ไปร่วมมาในรอบหลายปีที่ผ่านมา  การที่นักวิชาการที่มิใช่ชาวตะวันตกจะพยายามหาหรือสร้างความเป็นตัวของตัวเองก็ยังมิได้เกิดขึ้น  ปรากฏการณ์ “วานรชำราบ”  แม้จะไม่รุนแรงในการประชุมครั้งนี้  แต่ก็บ่งบอกให้เห็นว่า  การศึกษาวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ยังต้องอิงตะวันตกอยู่มาก  เพราะนักวิชาการจากถิ่นอื่นขาดรากทางวิชาการของตนเอง

    ในปาฐกถาที่ จ.น. แสดงไว้ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  เมื่อวันที่  3  ตุลาคมที่ผ่านมา  จ.น.  ได้แสดงทัศนะไว้ว่า  อุดมศึกษาของไทยเริ่มต้นช้าไปกว่ากึ่งศตวรรษ  ถ้าได้เริ่มเสียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3  เมื่อมีการสร้างองค์ความรู้จาก “แผ่นดินแม่” อย่างเป็นระบบ  เราคงจะไม่หลงทางมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยโรควานรชำราบที่รักษาไม่หาย  จริงอยู่การจัดระบบอุดมศึกษาอาจจะต้องอิงตะวันตกบ้าง  เพราะต้นแบบของตะวันออกที่ตักศิลา  หรือที่นาลันทะ ได้ขาดตอนไปแล้วโดยสิ้นเชิง

7. การไปร่วมประชุม World Humanities Forum ครั้งนี้   จ.น. ได้รับความรู้ใหม่ที่จะต้องนำมาศึกษาต่อไป  และในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความมั่นใจว่า  นักวิชาการตะวันออกได้เริ่มสำนึกแล้วว่า  การศึกษา “แผ่นดินแม่”  เป็นสิ่งที่จำเป็น  ซึ่งก็จำเป็นต้องทำไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้จากตะวันตก  แต่ควรเป็นการเรียนรู้เชิงวิจารณ์   สำหรับ  จ.น.  เองยังคิดเช่นเดิมว่า   การเป็นตัวของตัวเองให้สุดทางนั้น  ในท้ายที่สุดก็จะเป็นทางที่นำไปสู่การมีทวิวัจน์ที่ลึกซึ้งกับวัฒนธรรมอื่นได้โดยวิสัยของผู้ที่เสมอกันในด้านปัญญาความคิด

ทั้งนี้และทั้งนั้นเราคงจะต้องศึกษาวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์ของตะวันตกต่อไป  และต้องศึกษาให้ถึงแก่น  จนสามารถมองลึกถึงขั้นแยกแยะออกว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของเขาอยู่  ณ  ที่ใด  และก็ไม่เป็นที่น่ารังเกียจอันใดที่จะชื่นชมส่วนดีของเขาด้วยความจริงใจตามแนวของความคิดที่ว่า “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเรียน” เหตุใดนักวิชาการไทยจะต้องเดินตามนักวิชาการจากอดีตเมืองขึ้นของตะวันตกที่ยึดเอาปมด้อยและความเกลียดชังเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นคว้า  ดังเช่น  Edward Said  ได้ฝากมรดกอาบยาพิษเอาไว้ใน  Orientalism  ซึ่งเขียนขึ้นด้วยอคติ  และมีข้อผิดพลาดในด้านข้อเท็จจริงมากมาย  วิทยาการแห่งความเกลียดชัง (จ.น. ขอเรียกว่าเป็น  the scholarship of hatred)  ไม่ได้ก่อให้เกิดการเบิกทางใหม่ทางวิชาการอย่างจริงจัง   การทำปมด้อยให้เป็นปมเขื่องไม่น่าจะเป็นทิศทางทางวิชาการที่จะก่อให้เกิดมรรคผลอย่างแท้จริง   สำหรับการประชุมครั้งนี้นั้น  ซึ่งก็เช่นเดียวกับการประชุมอื่นๆ  ไม่มีนักวิชาการผู้ใดที่ได้รับมอบหมายหรือที่อาสาออกมาสรุปผลว่าได้ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด  ความสามารถในเชิงสังเคราะห์ดูจะหลุดลอยไปแล้วจากวงวิชาการ  หรืออาจจะเป็นเพราะความเกียจคร้านในทางปัญญา (mental laziness)  ก็ได้  ดังที่ จ.น. ได้ประสบมาแล้วในการ “ประชุมปิดโครงการ” (Closing Conference) ของสถาบันวิจัยนานาชาติ  “Interweaving Performance Cultures”  ที่เบอร์ลิน  เมื่อเดือนมิถุนายน 2018

8. ยังมีข้อสังเกตเล็กๆ ที่ จ.น. ใคร่จะฝากไว้ นั่นก็คือผลของข้อบกพร่องทางการศึกษาในระดับประถมและมัธยมได้ส่งผลมาถึงวงวิชาการระดับสูงแล้ว    นักวิชาการเกือบทั้งหมดที่ใช้วิธีการนำเสนอด้วยการอ่านออกเสียงความเรียงที่เขียนมาล่วงหน้า  ขาดทักษะในการอ่านออกเสียงอย่างแน่นอน  มีน้อยคนนักที่ตั้งใจอ่านอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ฟังจับความได้  ส่วนใหญ่ไม่สนใจผู้ฟัง  แม้แต่เจ้าของภาษาเองคือ ผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็อ่านเอกสารของตนโดยไม่เข้าใจที่จะใช้เสียงเพื่อตรึงผู้ฟัง  (งานวิชาการก็มีสุนทรียภาพของตน  เช่นเดียวกับวรรณกรรม หรือบทละคร  จ.น. อาจจะต้องเขียนงานชื่อ “สุนทรียภาพของงานวิชาการ”  ขึ้นมาในอนาคต  ในแนวทางเดียวกับ “สุนทรียภาพของการวิจัย” ที่ได้ทำไปแล้ว)

อนึ่ง  ผู้ที่นำเสนอเอกสารด้วยภาษาแม่  ไม่น่าจะต้องอ่านจากต้นฉบับตามตัวอักษร  วิชาด้านมนุษยศาสตร์ต่างจากวิทยาศาสตร์  ที่มีทั้งสูตรและทั้งข้อมูลเชิงปริมาณที่ผิดพลาดไม่ได้  การ “อ่าน” จากต้นฉบับจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น  (ในปัจจุบันที่มีการฉายภาพและข้อความขึ้นจอได้  การอ่านจากต้นฉบับอาจไม่จำเป็นเสมอไป)  จ.น. ขออนุญาตอธิบายที่มาที่ไปของขนบ “to read a paper” มาด้วย ณ ที่นี้ ขนบการอ่านเอกสารเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบอุดมศึกษาในยุโรป  ซึ่งเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18  เมื่อความสามารถในการใช้ภาษาละตินเป็นภาษาวิชาการเริ่มเสื่อมถอย  นักวิชาการจำนวนมากขาดทักษะที่จะบรรยายเป็นภาษาละติน และทักษะในการฟังของนักศึกษาก็ถดถอยไปเช่นกัน  อาจารย์จึงต้อง “อ่าน”  จากต้นฉบับที่เตรียมมาสอน  ถึงแม้จะมีการปรับมาใช้ภาษาแม่ในการบรรยายในระยะต่อมา  ขนบดั้งเดิมก็ยังคงอยู่    กลายเป็นความขลังชองโลกวิชาการ  แต่ก็กลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารในศตวรรษที่ 21  เมื่อการศึกษาระดับประถมและมัธยมตกต่ำไปดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

9. จ.น.  ต้องขอชมเชยการจัดการประชุมในด้านของงานธุรการ  ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารทางอีเมล์  การอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทาง  ที่พัก   สถานที่ประชุม  การเดินทางระหว่างที่พักกับสถานที่ประชุม  อาหาร  เอกสารการประชุม  พิธีการ  รายการทัศนาจร และรายการบันเทิง   ทุกอย่างลงตัวเป็นอย่างดี  สังเกตได้ว่า  เมื่อเจ้าภาพลงทุนและลงแรงเชิญนักวิชาการนานาชาติมาจากหลายสิบประเทศ  วงวิชาการของเจ้าภาพเองก็ควรจะได้รับประโยชน์  มีการแปลการบรรยายโดยล่ามทันควันเป็นภาษาเกาหลี  เพื่อช่วยนักวิชาการที่อาจขาดความจัดเจนในด้านภาษาอังกฤษ  บทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษที่มีการกำหนดให้ส่งล่วงหน้าก็ได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลีรวมอยู่ใน Programme Book  มีนักวิชาการเกาหลีเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากพอสมควร  รวมทั้งผู้ที่มิได้เสนอเอกสาร  เป็นนักวิชาการที่มาจากสถาบันอันหลากหลาย  แสดงว่าเจ้าภาพใส่ใจที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น  และเท่าที่ จ.น. สังเกตได้  นักวิชาการชาวเกาหลีที่มาเสนอเอกสารในการประชุมครั้งนี้ก็มีมาตรฐานไม่ด้อยกว่านักวิชาการตะวันตก  เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว เรื่องของความกระหายใคร่รู้เราดูจะด้อยกว่าเขา  เพราะเมื่อมีการประชุมนานาชาติในลักษณะนี้จะมีนักวิชาการไทยเข้าร่วมน้อยมาก  โดยเฉพาะผู้ที่มิได้มีโอกาสเสนอเอกสาร  (เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  จึงคงไม่มีค่าลงทะเบียน)

สำหรับปาฐกถาเปิดงาน  ซึ่งนักวิชาการอาวุโส  Prof. Lee Han Goo ชาวเกาหลีจาก Kyung Hee University เป็นผู้แสดงนั้น  เป็นการให้ทัศนะเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง  โดยเน้นถึงการที่มนุษย์ในโลกปัจจุบันจะต้องปรับตัวไปสู่ลักษณะซึ่งเขาเรียกด้วยศัพท์ละตินว่า “homo non-clausus” คือมนุษย์ที่ไม่หมกตัวอยู่ในโลกปิด  แต่เปิดใจออกสัมผัสกับโลกอย่างเต็มที่  อันจะเป็นกระแสต้านโลกปิดในลักษณะที่เรียกว่า  anti-dogmatic, anti-exclusive และ anti-fanatical  ข้อเปรียบเทียบกับวงการของไทยก็คงจะเห็นได้ไม่ยากนักว่า  ในปัจจุบัน  วงวิชาการไทยหานักวิชาการอาวุโสที่จะแสดงปาฐกถานำ (Keynote Address)  ได้ยากมาก  เพราะนักวิชาการของเรามุ่งแสวงหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  และมุ่งวิจัยในกรอบที่แคบ  (ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น)  โดยทั่วไป  ผู้เข้าประชุมมักจะคาดหวังว่าปาฐกถานำจะเป็นงานของนักคิดผู้มีวิชา  หรือผู้มีวิชาที่เป็นนักคิด  ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความสนใจแต่ในวิชาเฉพาะของตน  เกาหลีผู้เป็นเจ้าภาพไม่มีปัญหาในเรื่องนี้  เพราะปาฐกแสดงความเป็นนักคิดที่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างดี    แม้ว่าการออกเสียงภาษาอังกฤษของท่านจะมีปัญหาบ้าง  แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เป็นปัญหาต่อผู้ฟัง

10. จ.น.  ขออนุญาตแสดงทัศนะเชิงวิจารณ์เกี่ยวกับกิจกรรมเสริมไว้ ณ ที่นี้ด้วย  สำหรับรายการทัศนาจรเป็นการนำชมวัด Haedong Yongung  ซึ่งตั้งอยู่บนโขดหินขนาดใหญ่ริมทะเล  เปี่ยมด้วยความสง่างาม  สำหรับรายการบันเทิงมี 2 รายการ  คือ  การชมการแสดงละครเพลง “Macbeth King of Joseon” และการชมภาพยนตร์ที่ Busan Cinema Center (ซึ่งใช้เป็นที่จัด Busan International Film Festival)  จ.น. เลือกไปชมละครเพลงที่ดัดแปลงมาจากโศกนาฏกรรมอันเลื่องชื่อของเชกสเปียร์  และก็เป็นรายการเดียวตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 วัน ที่ .จ.น  จำต้องวินิจฉัยลงไปว่าไร้คุณภาพ  ดนตรีที่ใช้เป็นการนำเครื่องดนตรีประเพณีมาเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์  รวมทั้งใช้กลองแบบประเพณีของเกาหลี  และกลองสมัยใหม่  ด้วยการขยายเสียงให้ดังอย่างสุดๆ   การเริงระบำโดยการนำของเก่ามาทำใหม่อย่างที่เรียกว่า jazzed up ก็อยู่ในระดับที่พื้นๆ การร้องเพลงไม่มีอะไรที่โดดเด่นเลย  การดัดแปลงเรื่องก็หาแก่นของการตีความใหม่ไม่ได้  การแสดงของตัวเอกโดยทั่วไปไม่น่าประทับใจแต่ประการใด  สรุปได้ว่าเป็นเพียง “action”  โดยไปไม่ถึงขั้น “acting” เกาหลีมีชื่อในด้านการสร้าง  creative industry  แต่ละครเพลงเรื่องนี้คงสร้างไว้ชมกันเอง  เรียกได้ว่าอวดแขกเมืองไม่ได้อย่างแน่นอน  ละคร musical ของไทย  ส่วนใหญ่  คุณภาพเหนือกว่านี้มาก!  ซึ่งน่าแปลกใจ  เพราะเกาหลีผลิตภาพยนตร์  และละครโทรทัศน์ที่สามารถ “ตีตลาด” ในระดับนานาชาติมาแล้ว

11. สรุปได้ว่า  การประชุม World Humanities Forum  ครั้งที่ 5  ซึ่งเกาหลีเป็นเจ้าภาพ  เป็นการจัดประชุมที่มีคุณภาพในทุกด้าน  แม้เราจะต้องยอมรับว่า  นักวิชาการส่วนใหญ่ที่มาเสนอเอกสารยังไม่สามารถตอบโจทย์อันยากยิ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของภาพลักษณ์ของมนุษย์ได้  ประเด็นที่ จ.น. คิดว่าเป็นคุณูปการของการประชุมครั้งนี้  อาจพอสรุปได้ดังนี้

11.1)   มนุษยศาสตร์ยังคงมีที่อยู่ในโลกวิชาการ และยังเป็นที่ยอมรับของสังคม (อารยะ?)

11.2)   โครงสร้างทางสถาบันของวิชามนุษยศาสตร์อาจต้องเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม  การจะยึดระบบวิชาหลัก (main disciplines)  กับวิชารอง (sub-disciplines)  อย่างที่ทำมาอาจจะไม่สนองความต้องการที่แท้จริง

11.3)   นักวิชาการจำเป็นต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงของวิชาการ และต้องรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  วิทยากรหลักในคาบสุดท้าย  Prof. Rosi Braidotti ซึ่งเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Utrecht ประเทศเนเธอร์แลนด์ยอมรับว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการตั้งมโนทัศน์  หรือศัพท์แสงใหม่ที่ว่าด้วยยุค Posthuman ไปเสียทั้งหมด  แต่สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยก็ยังต้องนับว่าเป็นเนื้อหาที่จะต้องศึกษา

11.4)   วิชาการที่ดูเป็นตัวนำในการประชุมครั้งนี้คือ  ปรัชญาและศาสนศึกษา (Religious Studies) ซึ่งนำไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างตะวันตกกับตะวันออก  และในกรอบของศาสนศึกษา Buddhist Studies  ดูจะมีความสำคัญเป็นเอก

11.5)   สังเกตได้ว่าทั้งความรู้และความสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ดูจะถดถอยไป  และการขาดความรู้ในด้านนี้  ทั้งฝ่ายตะวันตกและตะวันออกน่าจะเป็นปัญหาต่อการศึกษาในเชิงลึก

11.6)   นักวิชาการตะวันตกเองถูกครอบงำด้วยความคิดที่ต่อต้านตัวงานที่เป็นฐานหลัก (canon)  และหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของปัจจุบันโดยขาดรากทางวัฒนธรรม  ข้อจำกัดที่ว่านี้มีผลต่อผู้ที่ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยตะวันตกอย่างแน่นอน  สังเกตได้จากนักวิชาการไทยประเภทรากขาดและขาดราก

11.7)  บทเรียนในระดับนโยบายและในระดับชาติที่ได้จากเกาหลีก็คือ  ประเทศที่เป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังให้ความสำคัญต่อมนุษยศาสตร์อยู่  การที่ผู้ที่เพ้อคลั่งกับคาถา 4.0 กำลังเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยปัดมนุษยศาสตร์และวิชาที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้ตกเวทีไป  นับได้ว่าเป็นอัตวินิบาตกรรมอย่างแน่นอน

 

—————–

หมายเหตุ

  1. จ.น. คือ ตัวย่อของชื่อผู้เขียนรายงาน เจตนา  นาควัชระ
  2. นิยามของ “วานรชำราบ”

เป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้วในวงการอุดมศึกษาไทย (ดู บทความของ จ.น. เรื่อง “เหลียวหลังแลหน้าอนาคตอุดมศึกษาไทย” [2531] ในหนังสือ เพื่อความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ [2532] หน้า 682) หมายถึงการรับความรู้และทฤษฎีจากตะวันตกมาใช้โดยไม่รู้จักย่อย  คิดต่อ  และคิดใหม่   คำว่า “วานรชำราบ” เลียนเสียงชื่ออำเภอ “วารินชำราบ” จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งหมายถึงน้ำที่ซึมซับมา  “วานรชำราบ” คือกระบวนการซึมซับด้วยวิธีการของลิงซึ่งชอบเลียนแบบมนุษย์  การใช้คำว่า “วานรชำราบ” ในเชิงวิชาการเป็นการช่วยเตือนสติวงวิชาการไทยด้วยความเป็นมิตรว่า  นักวิชาการไทย(โดยเฉพาะผู้ที่จบบัณฑิตศึกษาจากตะวันตกในยุคหลัง)ยังทำตัวเป็นศิษย์ที่ว่านอนสอนง่ายของวงวิชาการตะวันตกมากเกินไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น  นักวิชาการไทยจำนวนมากทำได้แต่เพียงหาข้อมูลไทยไปยืนยันทฤษฎีตะวันตก  การคิดเป็นทฤษฎีจึงยังไม่เกิดขึ้น  เพราะความหมกมุ่นในเรื่องทฤษฎีเป็นไปแต่ในรูปของการนำทฤษฎีของนักคิดหรือสำนักคิดตะวันตกต่างๆมาถ่ายทอด เปรียบเทียบ  หรือโต้แย้งกันเท่านั้น  อันที่จริงนักวิชาการไทยในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้สั่งสมประสบการณ์จากการศึกษาค้นคว้าวิจัย (อันรวมถึงประสบการณ์ “สนาม”) มามากพอที่จะสกัดทฤษฎีออกมาจากประสบการณ์เหล่านั้นได้  ข้อเสนอที่ว่าด้วย “การสร้างทฤษฎีจากแผ่นดินแม่” เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่อาจทำได้

 

(คัดจาก  เจตนา   นาควัชระ.  “มโนทัศน์หลัก”  ใน สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์.  (2552).  ภาคผนวก 1 
บทสังเคราะห์  โครงการวิจัยการวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ ภาค 2)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*